|
ความหลากหลายทางชีวภาพในเมืองขุมทรัพย์ล้ำค่าที่คนเมืองกำลังมองข้าม
โดย
ธารี กาเมือง
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
เมืองยิ่งโต...คนยิ่งโหยหาธรรมชาติ
องค์การสหประชาชาติคาดประมาณไว้ว่า ในปี ค.ศ.2050 หรืออีกประมาณ 40 ปีนับจากนี้ จะมีประชากรตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 70 แต่การขยายตัวของเมืองที่ว่านี้อาจจะมาเร็วกว่าที่คาดไว้ก็เป็นได้ เพราะเท่าที่ผู้เขียนสังเกต พบว่าในระยะเวลาเพียงไม่ถึงปีที่ได้ไปเยือนสถานที่ต่างจังหวัดที่ตัวเองเคยชินอีกครั้ง มักพบการเปลี่ยนแปลงที่แปลกหูแปลกตา พื้นที่ท้องไร่ท้องนาเปลี่ยนเป็นถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง ร้านค้า โรงงาน ไปเสียเกือบหมด คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันจึงโหยหาอดีตที่ตนเองเคยยิงนก ตกปลา หาเด็ดผักหญ้ามาต้มยำทำแกงโดยไม่ต้องออกไปซื้อหาไกลๆ ตามซูเปอร์มาร์เก็ตเช่นในปัจจุบัน แต่ผู้เขียนกลับมองว่าการที่คนในเมืองเริ่มรู้สึกห่างไกลจากธรรมชาติมากขึ้นทุกวัน อาจเพียงเพราะเราไม่รู้จักการรักษาธรรมชาติใกล้ตัวเราและใกล้เมืองเราเอาไว้ เราจึงเริ่มต้องเดินทางไกลขึ้นและไกลขึ้น เพื่อไปสัมผัสธรรมชาติ เห็นชัดเจนจากช่วง ที่มีวันหยุดติดกันหลายวัน ถนนในกรุงก็จะโล่งจนไร้ชีวิต แต่เราจะไปพบคนอยู่กรุง เดินชนกัน แย่งที่เที่ยว ที่พัก ที่กินกันอยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัด ผู้เขียนคาดเอาเองว่าในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สถาน การณ์แบบนี้จะไม่เกิดแต่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่อาจเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ๆ ทั่วไป ที่ผู้คนในเมืองมีความโหยหาธรรมชาติจนต้องออกไปเที่ยวถึงประเทศเพื่อนบ้านที่เขายังดำรงรักษาสภาพธรรมชาติเอาไว้เป็นสมบัติล้ำค่าอย่างยิ่งเสียกระมัง
ถ้าเราลองคิดมองย้อนไปว่า..หากทุกเมืองมีการอนุรักษ์หรือพัฒนาพื้นที่ธรรมชาติที่ยังหลงเหลืออยู่ ให้คงไว้ซึ่งสภาพธรรมชาติ เพียงอาจต้องปรุงแต่งให้ใช้ประโยชน์ได้ มิใช่ปล่อยปละให้รกรุงรังจนเป็นแหล่งก่ออาชญากรรมหรือเสพยาเสพติด จะเล็กบ้างใหญ่บ้างกระจายออกไปเป็นจุดๆ ทั่วทั้งเมือง คนเมืองอย่างเราก็จะสามารถออกไปสัมผัสกับธรรมชาติได้ใกล้ๆ บ้าน ใกล้ชุมชน ซึ่งคงเป็นการดีที่เราไม่ต้องขับรถออกไปไกลๆ ลดการเผาผลาญทั้งน้ำมัน และลดก่อมลพิษจากการบริโภคอย่างมากมาย
จากประสบการณ์ของผู้เขียนเองที่มีโอกาสทำงานกับหลายเทศบาลในบ้านเรา ทำให้ได้ทราบว่ายังพอมีพื้นที่ที่เป็นธรรมชาติที่ยังคงไว้ซึ่ง "ความหลากหลายทางชีวภาพ" รอคอยให้เราได้ไปเรียนรู้และสัมผัส คำว่า "ความหลากหลายทางชีวภาพ" หรือ Biodiversity นั้น ฟังดูอาจจะค่อนข้างเป็นศัพท์วิชาการ แต่แท้จริงแล้วความหมายง่ายๆ ของคำนี้คือ การมีสิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิดมาอยู่รวมกันในแหล่งที่อยู่ใด ที่อยู่หนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น ในป่าชายเลน ซึ่งเป็นระบบนิเวศกึ่งบกกึ่งน้ำและกึ่งน้ำจืด กึ่งน้ำเค็ม มีต้นไม้ที่มีระบบรากหายใจที่โดดเด่น และมีสัตว์ที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่เหมาะสมกับนิเวศดังกล่าวอาศัยอยู่มาก มาย การมีสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดมาอยู่ รวมกันเช่นนี้ จะเกิดการเกื้อหนุนพึ่งพากันเองตามธรรมชาติ ตามระบบห่วงโซ่อาหาร ยิ่งห่วงโซ่อาหารซับซ้อนมากเท่าใด ย่อมหมายถึงความมั่นคงและยั่งยืนของระบบนิเวศนั้นๆ ด้วย
ประเทศไทยของเราถือว่ามีความโชคดีอย่างมากที่มีชัยภูมิประเทศตั้งอยู่ไม่ไกลจากบริเวณเส้นศูนย์สูตร ได้รับอิทธิพลจากแสงอาทิตย์มากหน่อย จึงมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากกว่าประเทศที่ตั้งอยู่ในเขตขั้วโลก เราจึงมีผักหลากชนิดที่สามารถนำมาจิ้มกับน้ำพริก และหากผักชนิดหนึ่งขาด เราก็สามารถเก็บผักอีกชนิดหนึ่งมากินทดแทนได้ แต่ที่ผ่านมาเราพัฒนาระบบเมืองและเกษตรกรรม โดยทำลายพื้นที่ที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอื่นตามธรรมชาติ และยังทำลายความหลากหลายทางชีวภาพปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์เพียงชนิดเดียว ซึ่งย่อมมีความเสี่ยงที่เราจะไม่มีอาหารกินในอนาคต เพราะหากพืชหรือสัตว์ชนิดนั้นถูกโรคแมลงระบาดจนตายหมด เราก็จะไม่เหลืออะไรไว้กินเป็นอาหารเลย ในหลวงของเราจึงสอนเกษตรกรให้ใช้หลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ คือ ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายๆ ชนิดไว้เกื้อกูลกันนั่นเอง เพราะความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเสมือน "ขุมทรัพย์" เพราะเป็นแหล่งกำเนิดปัจจัย 4 ของมนุษย์ คือ อาหาร ที่อยู่อาศัย เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ที่ไม่มีปัจจัยใดที่ไม่ได้มาจากทรัพยากรทางชีวภาพ บางท่านอาจจะคิดว่า ความหลากหลายทางชีวภาพ มีอยู่เพียงตามแหล่งที่มีความอุดมสมสมบูรณ์ห่างไกลจากมนุษย์เท่านั้น เช่น ในเขตอุทยานแห่งชาติ หรือในท้องทะเลลึก แต่ใครสักกี่คนที่จะหันมามองความหลากหลายทางชีวภาพใกล้ตัวที่อยู่ในเมืองของเรา ว่ามีประโยชน์และคุณค่าต่อคนในเมืองมากมาย เพียงใด
เมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนมีโอกาสได้ทำงานด้านการส่งเสริมการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ แต่แปลกกว่าโครงการอื่นๆ คือ เน้นในพื้นที่เมืองเป็นหลัก ในระยะแรกที่เริ่มทำโครงการนี้เป็นการหาพื้นที่ธรรมชาติที่ยังหลงเหลือในเมือง แล้วร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนในการเข้าไปสำรวจศึกษาความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต เพื่อนำมาวางแนวทางการอนุรักษ์และพัฒนาให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน แต่มีเงื่อนไขว่าพื้นที่เป้าหมายของโครงการนำร่อง 3 แห่ง จะต้องเป็นพื้นที่สาธารณะในเมืองที่มีเนื้อที่ไม่ต่ำกว่า 20 ไร่ และยังคงเหลือสภาพธรรมชาติอยู่บ้าง คณะทำงานได้ช่วยกันควานหาพื้นที่ตามเงื่อนไขดังกล่าวในพื้นที่กรุงเทพฯ พบว่ายังพอมีอยู่แต่ส่วนใหญ่มีเจ้าของครอบครองไว้แล้วทั้งสิ้น เราจึงเริ่มต่อรองกับหน่วยงานสนับสนุนว่า ไม่ควรจำกัดความคิดในการอนุรักษ์นี้ไว้เฉพาะใน กทม. แต่ควรมองไปถึงเมืองใหญ่ ที่ยังพอพบพื้นที่ลักษณะดังกล่าวอยู่ด้วย และโชคยังเข้าข้าง ในที่สุดเราก็พบ 3 พื้นที่ ที่มีลักษณะตามสเป็กที่เราตั้งไว้ พื้นที่แรกคือพื้นที่ป่าชายเลนสาธารณะ 60 ไร่ ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน อีกพื้นที่อยู่ริมคลองน้ำเจ็ด ในเขตความรับผิดชอบของเทศบาล นครตรัง และพื้นที่สุดท้ายคือป่าดอยสะเก็น ในเขตเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะขอขยายความเป็นพิเศษในฉบับนี้ เพื่อเล่าถึงความมหัศจรรย์ของธรรมชาติในเมืองแห่งนี้
ดอยสะเก็ด...อยู่ที่เชียงใหม่
แต่ดอยสะเก็น...อยู่เชียงราย
ดอยสะเก็น...เป็นเขาลูกเล็กๆ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลนครเชียงรายล้อมรอบด้วยชุมชนดอยสะเก็น ซึ่งเป็น 1 ใน 60 ชุมชน ในความรับผิดชอบของเทศบาลที่มีพื้นที่ในความรับผิดชอบถึงกว่า 60 ตารางกิโลเมตร คำว่า "ดอยสะเก็น" อาจฟังเพี้ยน ไปเป็นดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ คำว่า "สะเก็น" นั้น ไม่มีความหมายหรือคำจำกัดความปรากฏไว้ในพจนานุกรม แต่ชื่อดอยสะเก็นนั้นเดิม ชาวบ้านเรียกชื่อว่า "ดอยลั๊วะเกี๋ยน" ตามตำนานที่ชาวบ้านได้เล่าสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบันว่า หลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และได้เสด็จไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อโปรดเวไนยสัตว์ ได้เสด็จ มายังภูเขาลูกหนึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของมหาเชตวันวิหาร และทรงประทับรอยพระบาทไว้ ปัจจุบันเรียกภูเขาลูกนั้นว่า ดอยพระบาททุ่งก่อ อยู่ที่ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นจึงเสด็จมาประทับที่ภูเขาอีกลูก หนึ่งทางทิศตะวันตก ซึ่งมีชาวลัวะอาศัย อยู่รอบภูเขา ชาวลัวะนำเครื่องจตุปัจจัยต่างๆ มาถวายแด่พระพุทธองค์ โดยเรียกการถวายดังกล่าวว่า "การเกณฑ์ของ" เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว ชาวลัวะจึงได้สร้างพระธาตุขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่สักการะบูชา ชาวบ้านจึงเรียกดอยหรือภูเขาลูกนี้ว่า "ดอยลัวะเกณฑ์" ซึ่งต่อมาสันนิษฐานว่าเพี้ยนเป็น "ดอยสะเก็น" มาจนถึงทุกวันนี้
คนเฒ่าคนแก่ยังเล่าอีกว่า ในสมัยศึกสงครามต่างๆ เกิดขึ้นนั้น ท้าวผู้ครอง นครเชียงรายและหัวเมืองต่างๆ ได้พาลูกหลานและข้าทาสบริวารขึ้นมาหลบภัยบนดอยแห่งนี้ แล้วนำข้าวของมีค่าติดตัวมาด้วย ซึ่งได้นำมาซ่อนไว้ในถ้ำ บ้างก็ขุดดิน เพื่อฝังของมีค่าและสร้างพระธาตุครอบไว้ เล่ากันว่า หากผู้ใดเดินหลงป่าจะได้เห็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านเรียกว่า "บ่อน้ำทิพย์" บริเวณใกล้พระธาตุ ใช้ดื่มกินแก้กระหาย และอาจจะได้เห็นสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในถ้ำ อาทิ พานเงิน พานทอง ขันเงิน ขันทอง ผ้าไหม ผ้าแพร ปัจจุบันไม่มีใครพบเห็นปากถ้ำดังกล่าว นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีความเชื่อว่า จะเอาอะไรใน ป่านี้ลงไปจะต้องออกปากขอกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสียก่อน เพราะมีวิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์และเทพเทวดาคุ้มครอง พิทักษ์รักษาป่าดอยสะเก็นแห่งนี้ ได้แก่ เจ้าพ่อศรีสมบูรณ์ เจ้าพ่อศรีสุวรรณ เจ้าพ่อเปลวปล่องฟ้า และเจ้าพ่อองค์ดำ ปัจจุบันยังปรากฏศาล เจ้าพ่อเหล่านี้อยู่บนดอย
หลังจากที่เรียกดอยลูกนี้ว่า ดอยสะเก็น จึงเรียกพระธาตุบนดอยนี้ว่า พระธาตุดอยสะเก็น ซึ่งไม่ ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นสมัยใด แต่จากการประเมินจากรูปแบบองค์ธาตุและอิฐที่ใช้ก่อสร้างสันนิษฐานได้ว่า อาจสร้างขึ้นในสมัยอาณาจักรโยนกเชียงแสน ซึ่งเป็นยุคที่พุทธศาสนามีความรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก นอกจากนี้จากการพิสูจน์เศษภาชนะโบราณที่พบระหว่างการบูรณะพระธาตุโดยกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ.2525 ปรากฏว่าเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตที่บ้าน โป่งแดง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีอายุประมาณ 400 ปี
อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า พระธาตุนี้มีอายุเท่าไร สร้างในสมัยใด และใครเป็นผู้สร้างไว้ จึงเป็นเรื่องสำคัญและท้าทายที่ต้องสืบค้นหาข้อเท็จจริงต่อไป แต่เท่าที่มีบันทึกไว้นั้น พระธาตุดอยสะเก็นนี้ได้รับการบูรณะมาแล้ว 5 ครั้ง ปัจจุบัน ชุมชนยังคงมีประเพณีขึ้นพระธาตุในเดือน 8 เหนือ ขึ้น 15 ค่ำของทุกปี เพื่อสรงน้ำและเวียนเทียนนมัสการพระธาตุและปฏิบัติธรรม รวมทั้งมีประเพณีตานก๋วยสลาก เพื่ออุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ตานขันข้าวปีใหม่ และการจุดบอกไฟ (พลุ) บนดอยดังกล่าวเป็นประจำทุกปีในเดือนด้วยป่าใหญ่...กลางใจเมืองที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเหลือรอด
ดอยสะเก็นเป็นพื้นที่ป่าตามพระราช บัญญัติป่าไม้ ปี พ.ศ.2484 ยังดำรงสภาพป่าที่สมบูรณ์มีเนื้อที่รวมถึงประมาณ 75 ไร่ ซึ่งแทบไม่น่าเชื่อว่าในเมืองใหญ่ดังเช่นเทศบาลนครเชียงราย ยังมีพื้นที่ป่าเช่นนี้หลงเหลืออยู่ ด้านบนเนินเขาเป็นที่ตั้งของพระธาตุดอยสะเก็น แต่ยังถือว่ามิได้เป็นวัดหรือสำนักสงฆ์ที่ถูกต้อง โดยมีพระสงฆ์จรมาอยู่อาศัย และสร้างสิ่งปลูกสร้าง ประกอบกับมีการบุกรุกโดยรอบ ดังนั้น ในปี พ.ศ.2547 กรมป่าไม้จึงมอบหมายให้เจ้าอาวาสวัดคีรีชัย ดูแลพื้นที่ภายใต้โครงการ "วัดช่วยงานด้านป่าไม้" จึงทำให้ปัญหาทางสงฆ์หมดไป และยังมีการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมป่าไม้ เทศบาลนครเชียงราย ทำการพัฒนาพื้นที่รอบองค์พระธาตุ เช่น การปลูกต้นไม้เสริม การทำถนน การทำรั้วบางส่วน เป็นต้น ทำให้สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานคู่กับชุมชนแห่งนี้ได้รับการปกป้องมิให้ใครบุกรุกทำลายป่า เราจึงได้เห็น "ป่ากลางใจเมือง" ผืนนี้อยู่รอดมาจนปัจจุบัน
ชาวบ้านเล่าว่า ในอดีตดอยแห่งนี้มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่มากมายหลายชนิด อาทิ ตะเคียน ประดู่ ยาง มะม่วงป่า ฆ้อง เกล็ดปิ้น ฯลฯ ต้นไม้ที่ยังอยู่ในความทรงจำของชาวบ้าน แต่ปัจจุบันไม่พบแล้ว คือ ต้นมะม่วงจิ้งหรีด และมะม่วงฝ้าย ซึ่งเป็นมะม่วงป่าที่มีขนาดผลไม่ใหญ่นัก เนื้อในสีขาว รสชาติหวาน ซึ่งมีผู้พบเห็นต้นมะม่วง ฝ้ายต้นสุดท้ายยืนตายในป่า ได้นำไม้มาทำเป็นอาสนะสงฆ์เก็บไว้ที่วัดคีรีชัยจนถึงปัจจุบัน ส่วนสัตว์ป่าก็เคยมีชุกชุม ได้แก่ เสือ หมี งู แรด นกแร้ง ซึ่งชาวบ้านเล่าว่า เคยมีหนองน้ำที่แรดอาศัยอยู่ด้านล่างของดอย ทางทิศตะวันตกของทางขึ้น ชาวบ้านจึงเรียกหนองน้ำนี้ว่า บวกแรด นอกจากนี้ ชาวบ้านยังเคยเห็นนกแร้งที่ทำรังอยู่ที่ต้นชายผ้าสีดา หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ก่องข้าว อีบา แต่ภายหลังหนีหายไปเพราะชาวบ้าน ไล่และใช้ยาเบื่อนก
สภาพป่าในปัจจุบัน เป็นป่าเบญจพรรณที่ยังค่อนข้างมีความอุดมสมบูรณ์ พบพันธุ์ไม้ขึ้นกระจายอยู่อย่างหนาแน่น ได้แก่ ตะเคียน ยางแดง สัก มะม่วงป่า คอแลน มะแฟน มะขามป้อม มะกล่ำต้น สมอพิเภก กระพี้ มะค่าโมง กระถินยักษ์ นอกจากนี้ยังพบไม้ไผ่ชนิดต่างๆ ปกคลุมอยู่ เช่น ไผ่ซาง ไผ่บง และไผ่หก ปัจจุบัน ชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์จากป่านี้เท่าใดนัก นอกจากใช้เป็นสถานที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แต่ยังมีการใช้เป็นแหล่งอาหารของชุมชน เช่น หน่อไม้ เห็ด แมลง รวมถึงเป็นแหล่งไม้ใช้สอยอยู่บ้าง ซึ่งในการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ดอยสะเก็นนั้น จำเป็นต้องใช้หลักการทางวิชาการซึ่งต้องใช้นักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญ ในขณะเดียวกันโครงการนี้ ได้เน้น "กระบวนการมีส่วนร่วม" อย่างแท้จริงด้วย จึงเป็นโจทย์ที่ค่อนข้างยากว่า จะทำอย่างไรให้ทั้งสองส่วนสำคัญนี้ไปด้วยกัน โดยชาวบ้านและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในกรณีนี้คือ เทศบาลนครเชียงราย จะต้องเป็นผู้ได้รับการถ่ายทอดและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
ความพยายามในการลงสำรวจพื้นที่ ที่จะทำการศึกษาสำรวจร่วมกันพบว่า ป่าแห่งนี้มีเนื้อที่กว้างขวางเกือบหนึ่งร้อยไร่ ดังนั้น การศึกษาสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะความหลากหลายของพันธุ์ไม้ จึงได้ใช้วิธีการ "วางแปลงตัวอย่าง" เป็นหลัก ซึ่งโชคดีที่พื้นที่แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจาก "ส่วนจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย)" สังกัดกรมป่าไม้ และ "สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15" สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งนักกีฏวิทยา ซึ่งเป็นครูโรงเรียนในสังกัดเทศบาลนครเชียงรายมาหนุนช่วยทางวิชาการในการนำสำรวจดังกล่าว เรียกได้ว่า ในการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของพื้นที่ดอยสะเก็นได้มีคณะทำงานในภาคส่วนของชุมชนและเทศบาลเข้ามา "มีส่วนร่วม" ในการดำเนินการในทุกวิธีการ ส่งผลให้เกิดการเรียนรู้และการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการในการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพจากหน่วยงานที่รับผิดชอบมาสู่ชุมชนท้องถิ่นอย่างแท้จริง
ดอยสะเก็น...
ป่าเบญจพรรณกลางเมืองเชียงราย
ที่ยังคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ
จากการสำรวจพบว่าป่าของดอยสะเก็นแห่งนี้ จัดอยู่ในประเภทป่าเบญจพรรณ หรือป่าผสมผลัดใบ (Mixed Deciduous Forest) เป็นป่าผลัดใบที่ต้นไม้ส่วนใหญ่ต่างทิ้งใบหมดในช่วงฤดูแล้ง และเริ่มผลิใบใหม่ในต้นฤดูฝน ประเทศไทย พบป่าเบญจพรรณได้ทั่วไปทั้งภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 1,000 เมตร ป่าเบญจพรรณโดยทั่วไปเป็นป่าที่มีไม้เด่น 5 ชนิด ตามความหมายของคำว่า "เบญจะ" คือ ห้า ได้แก่ ไม้สัก มะค่า แดง ประดู่ และชิงชัน แต่ป่าเบญจพรรณในประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ ป่าเบญจพรรณที่มีไม้สักเป็นไม้เด่น ขึ้นคละกับไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด อาทิ ประดู่ ชิงชัน มะค่าโมง แดง ไผ่ไร่ ไผ่ซางดอย และไผ่หก ส่วนอีกลักษณะหนึ่งคือ ป่าเบญจพรรณที่ไม่มีไม้สัก มีพันธุ์ไม้เด่นชนิดอื่นขึ้นแทน เช่น สมอพิเภก เปล้าหลวง และส้าน เป็นต้น ป่าชนิดนี้มีความเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า เพราะไม่รกทึบเกินไปและมีพืชอาหารมาก จึงดึงดูดนก แมลง และสัตว์กินพืชต่างๆ เข้ามาอาศัย
จากการศึกษาสำรวจป่าดอยสะเก็น แห่งนี้ พบไม้สักจำนวนไม่มาก และจากการสอบถามพบว่า เป็นไม้ที่นำมาปลูกเสริมภายหลัง ป่าแห่งนี้จึงจัดอยู่ในประเภท ป่าเบญจพรรณที่ไม่มีไม้สักเป็นไม้เด่น ผลการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพของป่าดอยสะเก็น พบชนิดของพันธุ์พืชถึง 70 ชนิด โดยต้นไม้ที่พบมากและบ่อยกว่าต้นอื่นๆ คือ ต้นลิ้นจี่ป่า หรือคอแลน ที่เคยเป็นผลไม้กินเล่นของเด็กๆ ในยุคอดีต ปัจจุบันถูกตัดไปปลูกลิ้นจี่พันธุ์ต่างประเทศ เสียมาก แต่บนพื้นที่แห่งนี้เรายังเห็นลูก คอแลนออกลูกสีแดงสดสวยงามให้เห็นในช่วงเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมของทุกปี ส่วนต้นไม้ที่ทำให้เราอึ้งและทึ่งได้มากที่สุด คือ ต้นที่ชาวบ้านเรียกว่า ต้นไม้ก๊องหรือต้นฆ้อง มีขนาดสูงใหญ่ บนกิ่งมีรังผึ้งป่าจำนวนมากกว่า 20 รังแขวนอยู่ ชาวบ้านที่นี่รักและหวงแหนต้นไม้ต้นนี้มาก และได้ช่วยเป็นหูเป็นตาสอดส่องไม่ให้มีคนแปลกหน้าเข้ามาลักลอบตีรังผึ้งของพวกเขา
ส่วนการสำรวจสัตว์นั้น เราพบร่องรอยของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 3 ชนิดที่หาได้ค่อนข้างยากแล้วในเมือง ได้แก่ กระเล็น ขนปลายหูสั้น อ้น และกระรอกหลากสี สำหรับสัตว์ปีกนั้นได้สำรวจนกกับแมลง เพียงการสำรวจคร่าวๆ เราพบนกถึง 20 ชนิด โดยนกที่พบส่วนใหญ่เป็นนกประเภท ที่กินผลไม้เป็นอาหารที่เด่นๆ ก็คือ นกปิ๊ดจะลิว หรือนกปรอด ที่พบหลายชนิด ได้แก่ นกปรอดเหลืองหัวจุก ปรอดทอง ปรอดหัวโขน ปรอดหัวสีเขม่า เป็นต้น ที่น่าสนใจ คือ การสำรวจแมลงที่กินได้จากการเก็บตัวอย่างแมลงระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2552 โดยใช้เครื่องมือต่างๆ ได้แก่ กับดักแสงไฟเพื่อล่อแมลงบิน ใช้สวิงโฉบเพื่อจับแมลงที่อยู่ตามต้นหญ้าและกับดักแบบหลุมตกมีเหยื่อล่อเพื่อดักแมลงคลาน เราพบแมลงกินได้จำนวน 13 ชนิด จาก 10 วงศ์ (Family) 4 อันดับ (Order) โดยพบแมลงจำพวกปีกแข็ง ได้แก่ แมลงกินูน ด้วง และแมลงจำพวกตั๊กแตน (อันเช่น จิ้งหรีด ตั๊กแตน แมลงกระชอน มากที่สุด ส่วนที่เหลือพบเป็นแมลงจำพวกเพลี้ย หรือจั๊กจั่น และจำพวกมดผึ้ง ได้แก่ จั๊กจั่น และแมลงมัน
ทั้งนี้ การเก็บตัวอย่างแมลงได้ดำเนินการในระยะเวลา 2 เดือน ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ทำให้ทราบถึงชนิดแมลงกินได้ที่มีอยู่ในช่วงฤดูกาลนี้เท่านั้น ไม่สามารถเป็นตัวแทนของแมลงกินได้ทั้งหมดของพื้นที่แห่งนี้ ดังนั้น เราจึงได้สำรวจชนิดของแมลงกินได้ที่พบในพื้นที่แห่งนี้จากการสอบถามชาวบ้านร่วมด้วย และผลการสำรวจทำให้ทราบว่า มีแมลงที่ชาวบ้านกินได้ทั้งหมดถึง 33 ชนิด โดย "หนอนเยื่อไผ่ (หรือรถด่วน)" เป็นแมลงที่มีคนกินมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ มดแมลงมัน, แมลงดานา, แมลงกระชอน, จิ้งหรีด, จิ้งหรีดผี, แมลงเม่า, ต่อ, ตั๊กแตน และแมลงกินูน ตามลำดับ โดยช่วงเวลาที่สามารถพบแมลงกินได้มากที่สุด คือช่วงฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาว (เดือนกรกฎาคม ถึงตุลาคม) โดยแมลงที่นำมากินส่วนใหญ่เป็นแมลงที่พบในดิน เช่น จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง แมลงมัน ชาวบ้านมักนำมาปรุงสุกก่อนรับประทานด้วยการทอดหรือคั่ว เป็นส่วนใหญ่ และเป็นที่น่าสนใจว่า ชาวบ้านกินแมลงอย่างสม่ำเสมอแต่ไม่ได้กินเป็นอาหาร เหตุผลส่วนใหญ่ในการกิน เพราะติดใจในรสชาติอร่อยของแมลงที่มีความเค็มๆ มันๆ ปนกัน
หลังจากได้ทราบผลของการสำรวจ ความหลากหลายทางชีวภาพเบื้องต้นของป่าแห่งนี้แล้ว เทศบาลนครเชียงราย และชาวบ้านชุมชนดอยสะเก็น ได้เริ่มมองเห็นลู่ทางที่จะอนุรักษ์และพัฒนาป่าดอยสะเก็น ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยสิ่งแรกที่ชาวบ้านอยากจะร่วมกันทำ คือ การเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้บนป่าดอยสะเก็นมาเพาะขยายพันธุ์ ในรูปแบบธนาคารพันธุ์ไม้ชุมชน เพื่อดำรงไว้ซึ่งความหลากหลายทางธรรมชาติ หลีกเลี่ยงพันธุ์ไม้แปลกปลอมที่จะถูกนำมาปลูกโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และยังเป็นการสร้างรายได้ให้ชุมชนจากการจำหน่ายพันธุ์ไม้หายากเหล่านี้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาป่าและชุมชนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพของเมืองเชียงราย ที่ในอนาคตเด็กๆ ในเขตเทศบาลและใกล้เคียง จะสามารถเข้ามาเรียนรู้สภาพป่าเบญจพรรณธรรมชาติใกล้เมืองของเขา และยังสามารถฝึกการเป็นนักวิจัยน้อยทำการศึกษาวิจัยพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ที่ตนเองสนใจ โดยไม่ต้องให้ครูพาเดินทางออกไปไกลๆ
หากผู้อ่านท่านใดมีโอกาสได้ไปเยือนนครเชียงราย และสนใจขึ้นไปดูต้นฆ้องใหญ่ที่อุดมไปด้วยรังผึ้งป่า หรืออยากช่วยต่อเติมฝันของชุมชนในการรักษาป่ากลางเมืองแห่งนี้ให้อยู่ยั่งยืนไปจนถึงลูกหลานสามารถติดต่อไปที่เทศบาลนครเชียงรายได้โดยตรง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|