|
Free lunch: ของฟรีมีในโลก
โดย
ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ต้นเดือนกรกฎาคม ผมเดินทางไปตรังแบบฉุกละหุก ก่อนเดินทางผมแวะร้านหนังสือต่างประเทศร้านหนึ่ง เหลือบเห็นหนังสือ Free: The future of a radical price หนังสือเล่มใหม่ล่าสุดของคริส แอนเดอร์สัน (Chris Anderson) ผมซื้อ Free ทันทีโดยไม่ต้องคิดอะไรมาก อาจจะเป็นเพราะผมเป็นแฟนหนังสือของคริสมาตั้งแต่อ่านนิตยสาร Wired จนถึงหนังสือ The Long Tail หรือในใจลึกๆ ผมคิดว่ามันแจกฟรี (ฮา)
ถ้ายังจำกันได้ ผมเคยเขียนถึง The Long Tail มาบ้างในบทความก่อนหน้านี้ The Long Tail เป็นความพยายามของคริสในการก้าวข้ามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า "ทรัพยากรมีจำกัด แต่ความต้องการไม่จำกัด" หรือที่เรียกว่าเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการขาดแคลน (Scarce Economy) ไปและเข้าสู่แนวคิดของเศรษฐศาสตร์ว่าด้วยความเหลือเฟือ (Abundance Economy) แทน โดย The Long Tail หรือหางที่ยาวนี้เป็นหางของกราฟเส้นดีมานด์ที่เริ่มแบนราบลงและตลาดมีขนาดเล็กลง คริสต้องการจะบอกให้ ผู้ผลิตสินค้ารายใหม่ๆ หาช่องทางในการสร้างตลาดใหม่โดยการสร้างสำหรับสินค้าเฉพาะหรือ niche ซึ่งมีคนกลุ่มหนึ่งพยายามผลักดันมาโดยตลอด
อาจจะกล่าวได้ว่า The Long Tail มีอิทธิพลอย่างสูงต่อวิธีคิดของอุตสาหกรรม ไอทีหรือเทคโนโลยีสารสนเทศ ในยุคที่คริสเรียกว่าโลกของอะตอม ซึ่งเป็นยุค bricks-and-mortar นั้น ต้นทุนการทำการตลาดและการกระจายสินค้าสูงมาก ทำให้องค์กรธุรกิจสร้างผลกำไรโดยการขาย สินค้าที่เป็นที่นิยมไม่กี่ชิ้นเป็นจำนวนมากๆ แต่ในยุคดิจิตอลซึ่งเป็นยุคของข้อมูลข่าวสารนั้น ต้นทุนของการทำการตลาดและการกระจายสินค้าต่ำมาก ทำให้บริษัทห้างร้านสามารถสร้างผลกำไรจากการขายสินค้าที่มีความแตกต่างและเฉพาะตัวจำนวนไม่กี่ชิ้นได้
แนวคิดนี้ถือว่าสร้างความฮือฮาและสะใจให้กับหลายๆ คน องค์กรธุรกิจชื่นชอบแนวคิดนี้เพราะเป็นการอธิบายสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญและก้าวข้ามผ่านธุรกิจ อินเทอร์เน็ตที่ถือว่าเป็นธุรกิจของโลกอนาคต เหล่าครีเอทีฟก็ชื่นชมเพราะมันทำให้พวกเขามีโอกาสมากขึ้นในการสร้างรายได้จากสินค้าจำนวนน้อยชิ้นที่ต้องการไอเดียและการสร้างสรรค์ของพวกเขา และรวมถึงเพลงแปลกๆ ที่ฟังกันเฉพาะในคนกลุ่มเล็กๆ แต่ไม่ได้เป็นที่นิยมในวงกว้างก็จะสามารถขายได้ ผู้คนในแวดวงศิลปวัฒนธรรมก็มองว่า หนังสือ เพลงและหนังบางส่วนซึ่งปกติไม่ได้ถูกเสพอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นปรัชญา เพลงลูกทุ่งยุคเก่าๆ รวมไปถึงภาพยนตร์แนวเอ็กซ์เพรสชั่นนิสต์ ซึ่งล้วนเป็นตัวสร้างหางที่ยาวของเส้นกราฟ ดีมานด์
ในขณะที่หนังสือ Free: The future of a radical price เป็นอีกความพยายาม หนึ่งของคริส แอนเดอร์สัน ในการอธิบายถึงเทคโนโลยีด้านดิจิตอลที่กำลังจะมาเปลี่ยนแปลงชีวิตและธุรกิจของเราโดยการนำเสนอสินค้าที่มีราคาเกือบเป็นศูนย์ หรือที่คริสเรียกว่า radical price
ปัจจัยที่เป็นตัวผลักดันทำให้เกิดโลกของของฟรีขึ้นนั้นเกิดจากต้นทุนของเทคโนโลยีสามอย่างที่ราคาถูกลงอย่างเหลือเชื่อ ได้แก่ เทคโนโลยีการประมวลผล, การเก็บข้อมูลดิจิตอล และแบนด์วิธของการส่งผ่านข้อมูล ซึ่งส่งผลให้การทำซ้ำและส่งข้อมูลดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา, เพลง ซอฟต์แวร์ รูปภาพ รวมถึงภาพเคลื่อนไหวสามารถเกิดขึ้นได้อย่างแพร่หลายและมีราคาถูกมากในระดับที่คริสใช้คำว่า ถูกเกินกว่าจะมานั่งคิดราคากัน นั่นคือ ราคาเข้าใกล้ศูนย์มากๆ นั่นเอง
กล่าวได้ว่า ต้นทุนเพิ่มของการผลิต สินค้าทางด้านดิจิตอลหรือต้นทุนการส่งสินค้าที่ก๊อบปี้เพิ่มอีกหนึ่งชิ้นที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า marginal cost นั้นเข้าใกล้ ศูนย์ อย่างไรก็ตาม แม้ต้นทุนคงที่ หรือ fixed cost ของการผลิตสินค้าชิ้นแรกจะสูงมาก เช่นเดียวกับต้นทุนของการจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการส่งผ่าน ข้อมูลจะเป็นเงินจำนวนมหาศาล แต่หลังจากนั้นแล้ว การผลิตและการส่งจะมีค่าใช้จ่ายที่ต่ำมากๆ จนเกือบเป็นศูนย์
ดังนั้น คำถามที่สำคัญที่สุดก็คือ ธุรกิจเหล่านั้นจะรักษาต้นทุนคงที่ให้ต่ำที่สุดได้อย่างไร
จริงๆ แล้ว ที่ผ่านมาก็มีองค์กรธุรกิจที่ดำเนินธุรกิจอยู่ได้โดยการนำเสนอสินค้าฟรีให้กับผู้บริโภค ที่เห็นชัดๆ ก็อย่างเช่น สถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุ โดยธุรกิจเหล่านั้นก็จะได้ผลตอบแทนในรูปของจำนวนคนชมและคนฟังที่จะกลายเป็นรายได้มหาศาลจากค่าโฆษณาที่มาลงกับสถานีโทรทัศน์และสถานีวิทยุนั้นๆ
คริสบอกว่า สินค้าฟรีได้เริ่มแพร่หลายกระจายไปทั่วเนื่องจากความแตกต่างทางด้านพื้นฐานที่สำคัญระหว่างโลกของ bricks-and-mortar (หรือที่คริสเรียกว่าโลกของอะตอม) กับโลกของดิจิตอล (หรือ ที่คริสเรียกว่า โลกของบิต)
ในโลกของอะตอมนั้น สินค้าแต่ละชิ้นแต่ละอย่างนั้นมีต้นทุนสูงในการผลิตและกระจายสินค้า แต่ในโลกของบิต ต้นทุน เหล่านั้นได้ลดลงต่ำจนเหลือเกือบเป็นศูนย์ ซึ่งความแตกต่างด้านพื้นฐานที่สำคัญนี้ทำให้เกิดผลตามมา ได้แก่ โมเดลการกำหนดราคามีความหลากหลายมากมาย เนื่องจากต้นทุนการก๊อบปี้แทบจะเท่ากับศูนย์ ทำให้การละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด คนธรรมดาทั่วไปสามารถแต่งเรื่อง เพลง หรือภาพยนตร์แล้วส่งต่อหรือกระจายสินค้าไปให้คนอื่นได้โดยแทบจะไม่มีค่าใช้จ่าย
การพังทลายของต้นทุนการผลิตและการกระจายสินค้าล้วนก่อเกิดประโยชน์ กับเหล่าผู้บริโภคอย่างเราๆ แต่กลับทำให้บริษัทผู้ผลิตเริ่มล้มหายตายจากไป ยกตัวอย่างเช่น Wikipedia นำเสนอรายละเอียดทุกสิ่งทุกอย่างในโลกและจักรวาลให้กับทุกคนที่สามารถต่ออินเทอร์เน็ตได้สามารถเข้ามาอ่านดูได้ แต่ Wikipedia ก็กำลังทำลายธุรกิจสารานุกรมจนล่มสลายไป
File sharing ก็ทำให้เราสามารถเก็บไฟล์ได้ฟรีๆ แต่กำลังทำให้อุตสาหกรรม เก็บรักษาข้อมูลสั่นสะเทือน เช่นเดียวกับการก๊อบซีดีหรือดีวีดีเถื่อนที่ทำให้คนจีนหลายล้านคนได้ชื่นชมหนังฮอลลีวู้ดในขณะที่ผู้ผลิตหนัง เพลง หรือซอฟต์แวร์ไม่สามารถขายสินค้าได้ในประเทศจีน
เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมหนังสือ พิมพ์ที่มีรายได้มาจากสองส่วนด้วยกัน คือ โฆษณาที่มาลงและจากยอดขาย แต่เมื่อมีอินเทอร์เน็ตเกิดขึ้น อินเทอร์เน็ตกลับมาทำให้รายได้ทั้งสองส่วนนั้นหายไป การโฆษณาดูจะเป็นไปได้ดีบนโลกแบบออนไลน์ มากกว่าในหน้าหนังสือพิมพ์ และคนอ่านก็ดูจะต้องการเสพข่าวที่ทันสมัยซึ่งอินเทอร์ เน็ตสามารถตอบโจทย์นี้ได้ลงตัวมากกว่า เช่นเดียวกับคนธรรมดาสามัญก็ดูเหมือนจะอยากบอกเล่าเรื่องราวและความรู้สึกของพวกเขาให้คนอื่นฟังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการส่งข้อความผ่าน Twitter หรือโชว์รูปถ่ายผ่าน Flickr
การย้ายโฆษณาไปอยู่บนอินเทอร์เน็ตรวมถึงการเติบโตอย่างรวดเร็วของเว็บไซต์ข่าวและข้อมูลต่างๆ ที่เป็นมาอย่างต่อเนื่องก็กำลังจะมาทำลายวงการหนังสือพิมพ์ ซึ่งทำให้หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักรต้องปิดตัวลงไป จริงๆ แล้วมีการวิเคราะห์และทำนายมานานแล้วตั้งแต่เมื่อเราค่อยๆ เข้าสู่โลกของดิจิตอลเมื่อ 15 ปีก่อน เช่นเดียวกับหลายๆ คนในวงการเพลงและภาพยนตร์ที่หวาดกลัวอย่างหนักเพราะรู้ถึงความง่ายดายที่จะก๊อบปี้งานของพวกเขาได้ ในขณะที่หลายๆ คนในวงการนี้กลับยังไม่รู้เนื้อรู้ตัวและไม่คาดคิดว่าจะเกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวง กับพวกเขา
Wikipedia และซอฟต์แวร์ประเภท โอเพ่นซอร์สก็เป็นตัวอย่างของการเอาสิ่งที่เรียกว่าเป็นงานของคนกลุ่มนึงมาเป็นของฟรีแจกจ่ายกันทั่วไป ทางหนึ่งมันก็เป็นเหมือนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ หรือทำให้เกิดการร่วมมือการพัฒนาเทคโนโลยี แต่มองในมุมกลับ นั่นอาจจะเป็นการทำลายความคิดสร้างสรรค์ในทางอ้อมเพราะทำให้ผู้สร้างสรรค์ขาดแรงจูงใจในการสร้างงาน ซึ่งก่อนหน้านี้อาจจะเคยถูกผลักดันด้วยผลตอบแทนมหาศาล
อาจจะกล่าวได้ว่า การเผยแพร่ของฟรีเหล่านี้อาจจะทำให้โลกของเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น แม้การที่อุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์อาจจะล่มสลายไปซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามากนั้น แต่เมื่อต้องแลกกับการใช้เทคโน โลยีอินเทอร์เน็ตที่สามารถเผยแพร่ข่าวสารได้ดีกว่าก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอยู่ไม่น้อย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีย่อมจะส่งผลทำให้ธุรกิจเก่าสูญสลายไป แต่ส่งผลดีต่อผู้บริโภคอย่างเราๆ นั่นคือ จะเกิดหน่วยทางธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้น นั่นคือ บริษัทใหม่ๆ จะเกิดขึ้นและมนุษยชาติก็จะก้าวไปข้างหน้าต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีเรื่องเล่าที่อาจจะขำไม่ออกเมื่อมีคนค้นพบว่า หลายๆ ข้อ ความในหนังสือเล่มนี้ถูกก๊อบปี้มาจากเว็บไซต์ Wikipedia และเมื่อความจริงนี้ถูกเปิดเผยออกมาก็ทำให้คริสต้องออกมาขอโทษขอโพยเป็นการใหญ่ แม้เขาจะเขียน ไว้ในบทนำของหนังสือเล่มนี้ว่า ขั้นตอนหลายๆ อย่างของการผลิตหนังสือเล่มนี้พยายามทำให้ไม่เกิดค่าใช้จ่ายขึ้นเพื่อให้เข้ากับคอนเซ็ปต์เรื่องของฟรี แต่การอ้างใน ภายหลังถึงความผิดพลาดของการอ้างอิงข้อมูล ก็ทำให้เราพอจะเห็นว่าของฟรีอาจจะไม่มีในโลกจริงๆ (ฮา)
อ่านเพิ่มเติม:
1. Anderson, Chris, 2009, 'Free: The Future of a Radical Price,' Random House Business Books 2009: London.
2. Postrel, Virginia, 'What you pay for $0.00,' The New York Times Sunday Book Review, July 10, 2009,
3. Maslin, Janet, 'Absolutely, Positively Free... if you think you can afford it,' The New York Times, July 5, 2009, http://www.nytimes.com/2009/07/06/books/06maslin.html?ref=review
4. Duncan, Emma, 'Who pays the price of a free-for-all,' The Observer, Sunday 28 June 2009, http://www.guardian.co.uk/books/2009/jun/28/review-free-chris-anderson
5. Anderson, Chris, 'Tech is too cheap to meter: It's time to manage for abundance, not scarcity,' Wired Magazine: 17.07, June 22, 2009, http://www.wired.com/techbiz/it/magazine/17-07/mf_freer
6. Anderson, Chris, 'My Next Book: 'Free','The Long Tail, May 20, 2007, http://www.longtail.com/the_long_tail/2007/05/my_next_book_fr.html
7. Anderson, Chris, 'More Long Tail debate: mobile music' The Long Tail, May 20, 2007, http://www.longtail.com/the_long_tail/2007/05/my_next_book_fr.html
8. Rich, Motoko, 'Wired Editor Apologizes for Copying From Wikipedia in New Book,' The New York Times,' July 12, 2009, http://mediadecoder.blogs.nytimes.com/ 2009/06/24/editor-of-wired-apologizes-for-copying-from-wikipedia-in-new-book/
9. ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์, 'เมื่อของฟรีช่วยสร้างรายได้,' นิตยสารผู้จัดการ เดือนพฤษภาคม 2551
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|