|
โอกาสที่เปิดรออยู่ในลาว
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
"โอกาสใน สปป.ลาว ยังเปิดอยู่" เป็นประโยคปิดท้ายเรื่องนำของ Indochina Vision ในนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับที่แล้ว แต่ "โอกาส" ที่ว่านั้น จะมีอะไรบ้าง ทูตพาณิชย์ไทยประจำ สปป.ลาว ได้ให้รายละเอียดเอาไว้อย่างน่าสนใจ
ผู้จัดการ 360 ํ มีโอกาสสนทนากับเฉลิมพล พงศ์ฉบับนภา อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) สำนักงาน
ส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ สถานเอก อัครราชทูตไทย ณ นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อไม่นานมานี้ ถึงภาพรวมการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และโอกาสในการลงทุนของคนไทยในประเทศ เพื่อนบ้านแห่งนี้
เนื้อหาต่อจากนี้เป็นบทสนทนาที่ได้ถอดความมานำเสนอโดยละเอียด (อ่านเรื่อง "การสร้างบ้านแปงเมือง อย่างมีนัยสำคัญของลาว" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือนกรกฎาคม 2552 หรือใน www.gotomanager.com ประกอบ)
ภาพรวมการค้าการลงทุน
"การค้าระหว่างไทยกับลาวนั้น ในอดีต ตัวเลขตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ไทยเราประสบปัญหาเศรษฐกิจจนถึงปี 2546 นั้น การขยายตัวของการส่งออกของไทยมาลาว เฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 3.6% เพราะว่าประชากรของลาวมีไม่มาก ประมาณ 6 ล้านคน รายได้ต่อหัวของเขาขณะนั้น 390 กว่าเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี ซึ่งต่ำมาก
ผมมารับตำแหน่งที่นี่ปี 2547 ก็ดูว่าเราจะค้าอะไรกับลาวได้บ้าง เพราะกำลังซื้อของเขาไม่มาก มันก็เหมือนกับการเล่นไพ่ เมื่อเล่นกันจนหมดหน้าตักแล้วเจ้ามือก็กินทุกรอบ
บังเอิญว่าปี 2546 รัฐบาลขณะนั้น ได้ลงนามในกรอบ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) ช่วงแรกก็มีกรอบที่จะให้นักลงทุนไทยไปลงทุนในต่างประเทศ ทำ contract farming อะไรพวกนี้ได้ หลังจากนั้นก็พยายามที่จะทำอย่างไรที่จะให้นักธุรกิจไทยเข้ามาลงทุนทางด้านการเกษตรที่นี่ แล้วก็ไปดูบริเวณชายแดนเพื่อให้รู้ว่าทำไมเมื่อในปี 2546 เรามีกรอบอันนี้ แต่ยังไม่มีการเคลื่อนไหว
ก็ปรากฏว่าทางลาวเองนั้น เขาก็ยังไม่มีบทเรียน เขาก็ยังไม่กำหนดอำนาจในการออกใบ C/O ต่างแขวง ไม่ได้ผ่องถ่ายการลงนามต่างๆ ทุกอย่างยังอยู่ที่เวียงจันทน์ ก็ต้องไปคุยกับฝ่ายลาวว่าเขาจะกระจายอำนาจนี้อย่างไร เพราะการที่คนไทยจะมาปลูกสินค้าพวกนี้ แล้วนำเข้ากลับเมืองไทย แขวงก็ต้องสามารถอนุมัติในการเคลื่อนย้ายสินค้าได้
อีกอย่างคือเขาไม่มีงบประมาณในการทำอย่างนี้ก็ต้องพาข้าราชการลาวมาดูงานที่เรา หลังจากนั้นเขาก็โอเค
พอโอเค ก็พบว่ายิ่งเราเพิ่มรายได้ให้เขาเท่าไร เขาก็ซื้อจากเรามากขึ้น การส่งออกของเรามาลาวก็เพิ่มขึ้นมาจนถึง ณ วันนี้และเพิ่ม 2 หลักตลอด 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ตลอด
ปีที่แล้ว (2551) การส่งออกของเรามาที่ลาวตก 58,000 กว่าล้านบาท แล้วเราก็ซื้อเขาประมาณ 2 หมื่นล้านบาท รวมการค้าไทย-ลาวประมาณ 78,000 กว่า ล้านบาท ปีที่แล้วเป็นปีที่เพิ่มสูงสุด ถึง 35.47% จากเดิมแค่ 3.6% อันนี้ก็เห็นชัดว่า เขายิ่งร่ำรวยเท่าไร เราก็ยิ่งดีเท่านั้น
อีกอย่างหนึ่ง บังเอิญช่วงที่ผมมา เป็นจังหวะที่ดีคือ ลาวเพิ่งปรับยุทธศาสตร์ จาก land lock เป็น land link ด้วยเส้นทางยุทธศาสตร์หมายเลข 9 หมายเลข 3
การเข้ามาลงทุนของไทยในช่วงแรก เป็นเรื่องเกษตร เพราะที่นี่สามารถเช่าพื้นที่แปลงใหญ่ในระยะยาว 30-50 ปีได้ ช่วงนั้น ธุรกิจใหญ่ๆ อย่างของมิตรผล ดั๊บเบิ้ลเอ ซีพี ก็มากัน จนวันนี้พื้นที่แปลงขนาดใหญ่ที่ว่า หาได้ยากขึ้น เพราะว่ามีหลายประเทศที่เข้ามาลงทุน ไม่ใช่มีแต่ไทย
แล้วตัวเลขการลงทุน ก็สลับกัน ปี 2549 ไทยเป็นอันดับ 1 ตามมาด้วยจีน เวียดนาม พอปี 2550 กลายเป็นจีนอันดับ 1 ตามมาด้วยเวียดนามและไทย ปีที่แล้ว ก็กลายเป็นเวียดนามอันดับ 1 ไทย อันดับ 2 จีนอันดับ 3 อันนี้มันก็แสดงให้เห็นว่าของไทยใกล้ชิดก็มาก่อน ถัดมาก็เป็นจีนที่เข้ามา แล้วก็เวียดนาม
แต่ว่าพอมาแล้ว บางครั้งการเข้ามา ลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังไม่พร้อมทุกด้าน อย่างสาธารณูปโภคไม่พร้อม ระบบโลจิสติกส์ไม่ดี ภาคปฏิบัติมันก็ไม่เหมือนกับในทฤษฎี ก็เลยทำให้ช่วงนี้การลงทุนก็เริ่มแผ่วลง ทุกประเทศที่มาในลาว เริ่มแผ่วลงบ้างในบางสาขา
ธุรกิจที่น่าสนใจ
ธุรกิจที่มาแรงตั้งแต่ปีที่แล้วจนถึงปีนี้ ผมคิดว่าเป็นธุรกิจธนาคาร เพราะว่าลาววันนี้เริ่มเปิด เขากำลังจะเข้าเป็นสมาชิก WTO เพราะฉะนั้นข้อกฎหมายต่างๆ ของเขาต้องเปิดมากขึ้น แล้ววันนี้กฎหมายทาง การเงินอย่างธนาคาร บริษัทประกันภัยก็เปิด เลยเป็นโอกาสให้ประเทศต่างๆ เข้ามาลงทุนเปิดสาขาธนาคารเพิ่มกันมาก ธนาคารของไทยนั้น ผมว่ามีมากที่สุดในลาว คือมี 5 แห่ง แต่อยู่เฉพาะในนครหลวงเวียงจันทน์ ผมเคยบอกทางเราว่า วันนี้เราควรจะกระจายไปยังแขวงต่างๆ เพราะว่าคนอื่นเขาเริ่มเข้ามา แต่ว่า การเปิดนั้น แน่นอน ทุกธนาคารที่เข้ามา ก็จะมุ่งไปที่จุดสำคัญ ไม่ได้เฉพาะแต่ที่นครหลวง แล้วลาวเองก็มีธนาคารท้องถิ่นของเขาเอง อย่างธนาคารพงสะหวัน ที่มีสาขาในนครหลวงเวียงจันทน์ 5-6 แห่ง แล้วยังไปเปิดที่สะหวันนะเขต ที่จำปาศักดิ์ ที่บ่อแก้ว จุดยุทธศาสตร์ R3a และที่หลวง พระบาง ซึ่งมีการท่องเที่ยวที่ดี
จากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีผลกระทบไปทั่ว ผมเป็นห่วงว่าธนาคารของเราในส่วนกลางนั้น อาจลังเลที่จะมาต่างประเทศ เพราะเอกชนเขาจะดูในเรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก ผมเลยเป็นห่วง เพราะวันนี้เป็นจังหวะที่ดี ความจริงเราน่าจะใช้โอกาสนี้ในการขยายมาประเทศเพื่อนบ้าน มาวางยุทธศาสตร์ไว้ก่อน เพราะต่อไปคนอื่นเข้ามาก็จะเต็ม อีก 2 ปีก็เต็ม
หรืออย่างบริษัทประกันภัยนี่ก็สำคัญ เพราะว่าวันนี้เราไม่ใช่การขายสินค้าอย่างเดียว แต่มันเป็นการขายระบบ ผมพูดว่าขายระบบคนฟังก็อาจดูรุนแรงไป แต่ขายระบบในที่นี้ผมหมายถึงว่าถ้ามีบริษัทประกันภัยของเราอยู่ที่นี่ เมื่อนักลงทุนของเราเข้ามาก็จะสะดวก เช่นรถก็ใช้ประกันภัยแบบเดียวกับที่เมืองไทยก็สะดวก แต่เข้ามาแล้วต้องใช้ประกันของเวียดนามของเกาหลี หรือของประเทศอื่น เราก็จะเหนื่อย
ตลาดหลักทรัพย์ก็เช่นกัน ตอนนี้ตลาดหลักทรัพย์ของไทยได้เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงช่วยลาวในการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์ ถ้าเขาเลือกใช้โปรแกรมที่คล้ายๆของเรา ก็จะยิ่งดีต่อเรา
คำแนะนำในการลงทุน
ผมอยากให้ทุกหน่วยงาน ไม่ใช่เฉพาะด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว ให้เข้ามาช่วยเขา สมมุติว่าอะไรที่เขาอยากจะเรียนรู้ ก็ควรที่จะพาเขาไปเรียนรู้ แล้วเนื่องจากลาวนั้นเป็นประเทศที่มีงบประมาณน้อย คนไทยไม่เข้าใจ เงินเขามีจำกัด เวลาเขาจัดสรรงบประมาณ ก็จัดไปในจุดที่สำคัญก่อน เงินก็ไม่พอ ถ้าเขาจะเดินทางไปไทย เขาไม่มีงบ จริงๆ เราต้องกล้าออกให้ เพื่อพาเขาไปเรียนรู้ ก็จะเป็นระบบเดียวกันกับ เรา ก็จะเป็นประโยชน์แก่เรา เราต้องถือเป็นต้นทุนหนึ่งของการลงทุน เพราะถ้าเราไม่ทำ ประเทศอื่นเขาก็ทำ
เพราะว่าในลาวนั้นยังมีโอกาสในระยะต่อไป เพราะการมองลาววันนี้ ต้องมองทะลุไปถึงเวียดนามและจีน เพราะว่ารอบด้านของเขา เป็นตลาดที่ใหญ่ทั้งนั้น แล้วประชากรละแวกนี้ก็มาก เฉพาะรอยตะเข็บชายแดนก็ 200 ล้านคน แล้วรอบด้านก็เป็นประเทศที่มีศักยภาพ วันนี้เขาเป็นแลนด์บริดจ์ที่เชื่อมประเทศเหล่านี้อยู่ แล้วต่อไปแน่นอน เขาก็ต้องเปิดพวกนี้ทั้งหมด
ผมเคยบอกหลายครั้งว่าคนไทยเวลามาลาวนั้น ลาวเป็นประเทศหนึ่ง เป็นประเทศที่น่าอยู่ แล้วผู้คนก็น่ารัก อันนี้เราต้องเคารพกฎ กติกาซึ่งกันและกัน แต่ว่าคนไทยมาแล้วกลับนึกว่าไปต่างจังหวัด เพราะภาษาที่มันเหมือนกัน จนเราลืมคำนึงถึงเขา บางครั้งเราคิดด้วยบริบทของเรา ว่าทำไมเขาไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนี้ ถ้าเขาด้อยการพัฒนากว่าเรา เราก็ไปมองว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ทั้งๆ ที่จริงเราต้องเปลี่ยนมุมมอง มานั่งในด้านของเขาบ้าง
แล้วข้อมูลต่างๆ นั้น ในอดีตมักถูกเขียนด้วยคนไทย เวลาคนไทยเขียนข้อมูลลาว 100 ข้อ ก็จะว่าเขาไม่ดีเสีย 60-70 ข้อ บอกลาวไม่ดีอย่างนั้น ไม่ดีอย่างนี้
ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองมาในด้านของเขา ผมนั้นพยายามฟังผู้ประกอบการลาวว่าเขาติงอะไรเราบ้าง สมมุติว่าเขาติงเรา 40-50 ข้อ เราไปแก้ มันก็หมดไป มัน ก็อาจจะมีของใหม่มาอีก แต่เรามาค้าขาย เรามาขายของ แน่นอน เราต้องเอาใจลูกค้า ว่าเขาคิดอย่างไร แล้วบางครั้งถ้าเรามานั่งในมุมมองของเขา เราก็จะเข้าใจสิ่งเหล่านี้มากขึ้น ว่าทำไม
อย่างคนไทยก็อาจสงสัยว่าทำไมคนลาวคบกับทางเวียดนาม หรือจีนมากกว่าไทย ต้องเข้าใจว่าด้วยพื้นฐานของชาวบ้านนั้น เขาจะรักคนไทย เข้ากับคนไทยง่าย เพราะว่าเรามีประเพณี วัฒนธรรม ที่เป็นรากเหง้าเดียวกัน แต่แน่นอน ในช่วงที่เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง ที่เกิดสงครามกัน เขาก็มีประเทศเพื่อนมิตรอย่างเวียดนาม หรือจีน เขาก็ส่งคนไปศึกษาที่นั่น วันนี้คนเหล่านี้ได้เป็นใหญ่บางคนมีภรรยา มีสามี เป็นคนเวียดนามบ้าง เป็นคนจีนบ้าง ก็แน่นอน เพราะเขาไปศึกษาที่นั่น เหมือนกับเราที่ไปศึกษาทางตะวันตกก็รับวัฒนธรรมเหล่านี้มา
อีกประเด็นหนึ่ง คิดว่าในช่วงสงครามนั้น ประเทศเหล่านี้ก็ให้การช่วยเหลือเขา เขาก็ต้องตอบแทนบ้าง ซึ่งคนไทยต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้
ผมคิดว่าสังคมที่อยู่อย่างเครือญาติ นั้นก็มีไทย-ลาว ที่อยู่กันอย่างสงบ เป็นเพื่อนบ้านที่อยู่กันอย่างสงบ ถ้าเราไปเทียบกับประเทศใกล้เคียงอื่นๆ เราต้องรักษาตรงนี้ให้ดีที่สุด อยู่อย่างคนไป-มา แล้วกลมกลืนกัน
โอกาส
โอกาสในการค้า การลงทุนในลาวผมว่ายังมีอีกมาก คนไทยถ้าจะทำตลาดในลาว ผมอยากให้เข้ามาดู มาศึกษาสักหน่อย เพราะคนไทยนั้นเวลาจะทำการค้าต่างประเทศ บางทีก็แค่อีเมลมา หรือมาถึงก็แค่มาถามทูตพาณิชย์ เช่นว่ารองเท้ายี่ห้อนั้นควรไปวางตรงไหน บางครั้งถามถึงชุดชั้นในอย่างนั้น อย่างนี้จะขายที่ร้านไหน
จริงๆ แล้วต้องเข้ามาเซอร์เวย์ก่อน ต้องมาดูให้เห็นกับตา แล้ว คนลาวนั้นโดยปกติเขาอยาก จะรู้จักกันก่อน ต้องรู้จักนิสัยใจคอกันก่อนว่าเป็นอย่างไรบ้าง ถึงจะค้าขายกัน ก็เหมือนกับคนไทยในชนบทนั่นแหละ
ส่วนสินค้าที่มีโอกาสนั้น ผมเรียนว่า ก็ยังมีอีกหลายอย่าง วันนี้พวกเครื่องจักร กลการเกษตรก็ยังขายดีอยู่ เพราะว่าการเกษตรเขาดีขึ้น พวกสินค้าเกี่ยวกับความงาม เครื่องสำอาง อย่างนี้ คนลาวยังนิยม เรื่องความงาม เขาเห็นทางทีวีของเรา เขา ก็ใช้สิ่งเหล่านี้กันมากอยู่ พวกเคมีภัณฑ์ ที่ใช้ในเหมืองแร่ต่างๆ ก็ยังต้องการกันมาก การก่อสร้างของเขา วันนี้ผมคิดว่าพวกปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้างก็ยังต้องการ
วันนี้คนลาวมีรายได้ถึง 728 เหรียญ ต่อคนต่อปี จากเดิม 390 กว่าเหรียญเมื่อ 6 ปีที่แล้ว เขาก้าวขึ้นเร็ว วันนี้สิ่งเหล่านี้ต้องการใช้ในลาวมาก พวกธุรกิจบริการต่างๆ พวกอู่ซ่อมรถอย่างนี้สามารถมาได้ โรงแรมนั้นในแหล่งที่สำคัญก็ยังเป็นที่ต้องการ
ลาวนั้น วันนี้เขาก็ผ่องธุรกิจที่เป็นของรัฐ ไปสู่รัฐวิสาหกิจหรือเอกชน เราก็ควรจะเข้ามาขอสัมปทานบ้าง เพราะว่าเมื่อได้สัมปทานไปแล้ว ผมคิดว่า 30 ปี มันเป็นระยะยาว ถ้าประเทศไหนได้ไป โอกาสที่จะเป็นเบอร์ 2 นี่ มันอีกนาน
แต่ว่าก็น่าภูมิใจที่ตอนนี้คนไทยเข้ามาลงทุนก็มากพอสมควร เมื่อวานผมมาจากแขวงบ่อแก้ว ทางตอนเหนือของลาว ก็ทราบว่านักธุรกิจไทยเข้าไปสัมปทาน พวกโรงแรมหลายแห่ง ที่เขาเรียกว่าเป็นเรือนพัก หลายที่ปรากฏว่าเมื่อถามลึกๆ ดูแล้วก็เป็นคนไทยไปทำ แต่ว่าทำในนามคนลาว
อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ดี อยากจะฝากนักธุรกิจไทยว่า "วันนี้ลาวนั้นเขายังเป็นประเทศที่ยังขาดแคลนหลายๆ ด้าน ทำอย่างไรถึงจะมาเติมเต็มสิ่งเหล่านี้ แล้วให้เกิดประโยชน์กันทั้ง 2 ฝ่าย เขาก็ได้ เราก็ได้ แล้วเวทีตรงนี้ ถ้าเรามาสร้างกิจกรรม ก็ยังมีเงินช่วยเหลือระหว่างประเทศอีกมาก ถ้าเรามาเขียน มาทำแผนให้ ก็เอาเวทีนี้มา ทำธุรกิจร่วมกัน แต่แน่นอนที่สุด ก็ต้องได้ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย"
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|