ดีไซเนอร์รุ่นเยาว์หาญสู้รุ่นใหญ่


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ห้องเสื้อหรูรายเล็กอาศัยฝีมือแหวกสภาวะเศรษฐกิจท้าชนรุ่นพี่อย่าง Chanel และ Dior

บรรยากาศห้องเสื้อของดีไซเนอร์รุ่นใหม่อย่าง Dominique Sirop อาจไม่เริ่ดหรูอลังการเหมือนกับห้องเสื้อของดีไซเนอร์รุ่นใหญ่อย่าง Dior, Gaultier หรือ Valentino แต่ถ้าพูดถึงเกียรติยศและความสำเร็จ เขาก็ไม่เป็นสองรองใคร Sirop ได้รับการคัดเลือกให้เข้าเป็นสมาชิก Chambre Syndicale de la Couture สมาคมดีไซเนอร์อันทรงเกียรติของฝรั่งเศส ดีไซเนอร์คนใดที่ผ่านหลักเกณฑ์คัดเลือกอันเข้มงวดและได้เข้าเป็นสมาชิก ก็เปรียบเสมือนกับได้รับการรับรองวิทยฐานะอย่างเป็นทางการ ในการเป็นนักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูง

ผลงานการออกแบบของ Sirop ไม่ได้ด้อยไปกว่า Karl Lagerfeld แห่ง Chanel บางทีความแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างชุดราตรีจากห้องเสื้อ Sirop กับชุดราตรีของ Chanel อาจเป็นเพียงราคาเท่านั้น ในขณะที่ชุดราตรีสุดหรูของ Chanel มีราคาสูงถึง 200,000 ยูโร แต่ชุดที่เริ่ดหรูไม่แพ้กันของ Sirop อาจมีราคาเพียงไม่กี่หมื่น ยูโร

นักออกแบบซึ่งเป็นที่รู้จักน้อยกว่าเหล่านี้อาศัยเพียงฝีมือเท่านั้นในการสร้างชื่อและทำให้ตัวเองมีที่ยืนหยัดอยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นสูง ซึ่งล้วนแล้วไปด้วยคนที่บ้าแบรนด์ การไม่มีงบลงโฆษณา ทำให้พวก เขาไม่ค่อยได้รับการเหลียวแลจากนิตยสารแฟชั่น ฐานลูกค้า มาจากการบอกปากต่อปากเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ดูเหมือนว่าการที่มีรายจ่ายน้อยกว่าและสินค้ามีราคาถูกกว่า จะทำให้ห้องเสื้อขนาดเล็กเหล่านี้มีโอกาสดีกว่าที่จะอยู่รอดต่อไปได้

การควบคุมรายจ่ายเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จสำหรับ ห้องเสื้อรายเล็กๆ ดีไซเนอร์บางรายยังคิดค้นเทคนิคการตัดเย็บใหม่ๆ เพื่อให้สามารถประหยัดทั้งเวลาและรายจ่าย แต่ยังคงสามารถรักษาคุณภาพการตัดเย็บไว้ได้ดีดังเดิม Becca Cason Thrash สาวไฮโซชื่อดังใน Houston ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าโปรดปรานชุดที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่บอกว่า ดีไซเนอร์เหล่านี้คืออนาคต นอกจากชุดที่พวกเขาออกแบบจะมีราคาไม่แพงแล้ว ดีไซเนอร์ฝีมือดีเหล่านี้ยังขยันออกแบบชุดใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา และมีความพยายามมากกว่าดีไซเนอร์ชื่อดังบางคน

ดีไซเนอร์ที่ดังน้อยกว่าทว่าดูดีมีอนาคต นอกจาก Sirop แล้วก็ยังมีอีกหลายคน จำชื่อพวกเขาไว้ให้ดี เพราะในอนาคต พวกเขามีสิทธิ์ที่จะขึ้นมาแทนที่ดีไซเนอร์ชื่อดังที่เราเคยคุ้นมานาน Stephane Rolland คือ

ดีไซเนอร์คนที่คิดค้นเทคนิคการตัดเย็บใหม่ๆ ดูจะมีอนาคตไกล ที่สุด นอกจากนี้ยังมี Franck Sorbier, Adeline Andre, Maurizio Galante อีกหลายคนที่ได้รับการรับรองสถานะการเป็นนักออกแบบอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้วตั้งแต่หลาย ปีก่อน นักออกแบบรุ่นเยาว์กว่านี้ก็ยังมี Christopher Josse และ Alexis Mabille

ชุดสุดหรูของพวกเขามีราคาถูกกว่าห้องเสื้อชั้นสูงชื่อดังอย่างลิบลับ ชุดของ Rolland เริ่มต้นที่ 20,000 ยูโร โดยราคาเฉลี่ย อยู่ที่ประมาณ 35,000 ยูโร Sorbier กับ Josse เริ่มที่ 8,000 ยูโร โดยมีราคาเฉลี่ยต่อชุดที่ประมาณ 15,000 ยูโร ราคานี้ถูกเท่ากับราคาเสื้อสำเร็จรูปบางชุดด้วยซ้ำไป แต่เสื้อสำเร็จรูปไม่มีมูลค่าเพิ่มในเรื่องของการออกแบบและการดูแลลูกค้า อย่างชุดที่ออกแบบโดยห้องเสื้อรายเล็ก ยิ่งถ้าเทียบราคากับห้องเสื้อชื่อดังอย่าง Dior หรือ Chanel ซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่ชุดละประมาณ 100,000 ยูโร ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ชุดที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์รุ่นใหม่ ดูน่าซื้อขึ้นมาอีกพะเรอ

แม้ว่าเสื้อผ้าแฟชั่นชั้นสูงโดยรวมจะมียอดขายโตขึ้นในปี 2008 แต่ห้องเสื้อรายเล็กเป็นกลุ่มที่มียอดขายเติบโตมากที่สุด ยอดขายของ Sorbier เพิ่มขึ้นประมาณ 10% ทุกปีมาตั้งแต่ปี 2005 Josse เพิ่มขึ้นถึง 35% ต่อปี Rolland เพิ่มขึ้น 30% ต่อปีตั้งแต่ปี 2007 และเขาน่าจะเป็นดีไซเนอร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด ในบรรดาดีไซเนอร์รุ่นเล็กด้วยกัน ลูกค้าคนสำคัญของเขา คือราชวงศ์ในแถบตะวันออกกลาง ในขณะที่ Josse กับ Sorbier มีลูกค้าคนสำคัญคนหนึ่งคือ Ivana Trump ไฮโซสาวชื่อดังของอเมริกา

แม้ว่าห้องเสื้อดังๆ จะมีพนักงานมากกว่า มีการตลาดที่แข็งแกร่งกว่า ยังไม่รวมงบการผลิตแบบไม่อั้นแต่บรรดาดีไซเนอร์ รายเล็กก็มั่นใจว่า ตัวเองมีดีที่ไม่เหมือนใครและสามารถจะท้าสู้กับห้องเสื้อขนาดใหญ่ได้ ทั้งในเชิงกลยุทธ์และปรัชญาความคิด Rolland ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่ดูมีอนาคตไกลที่สุดบอกว่า ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งยุ่งยากและเสี่ยงกว่า ในขณะที่เขาและพนักงานในร้านของเขาเป็นเหมือนครอบครัวเล็กๆ ที่เพิ่งเริ่มสร้างตัว และมีความสดใหม่ กว่า Rolland คิดว่า สิ่งที่ยากเมื่อคุณเติบโตขึ้นก็คือ การพยายาม ที่จะรักษาแนวคิดการเป็นครอบครัวเดียวกันแบบนี้เอาไว้ และเขาก็ต้องการให้ร้านของเขามีความเป็นมนุษย์อย่างนี้ต่อไป

ฝ่ายธุรกิจของดีไซเนอร์ Josse บอกว่า ไม่สามารถจะเปรียบเทียบกับ Chanel หรือ Dior ได้ เพราะ Josse มีเป้าหมายในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างไปจากห้องเสื้อขนาดใหญ่ Josse มีปรัชญาว่า โลกนี้จำเป็นต้องมีความแตกต่าง และทุกคนอยากเป็นคนพิเศษ วิธีหนึ่งที่จะทำให้ตัวเองพิเศษก็คือ การสวมใส่ เสื้อผ้าที่พิเศษ แต่จะพิเศษยิ่งไปกว่านั้นอีก ถ้าได้สวมใส่เสื้อผ้าที่ออกแบบโดยดีไซเนอร์ใหม่ๆ ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

ส่วน Didier Grumbach ประธาน Federation Francaise de la Couture ซึ่งเปรียบเสมือนผู้รักษาประตูของวงการดีไซเนอร์ ทำหน้าที่รับรองความสามารถของดีไซเนอร์อย่างเป็นทางการเตือน ให้ไม่ลืมว่า กว่าจะมาเป็นนักออกแบบชื่อดังอย่างในวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น Dior, Ungaro หรือ Balenciaga ต่างก็เคยเริ่มต้นจากการเป็นดีไซเนอร์เล็กๆ ที่ไม่มีใครรู้จักมาก่อนในช่วงทศวรรษ 1950 และเคยต้องต่อสู้กับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ในยุคนั้นอย่างเช่น Worth และ Lanvin มาแล้วเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่บรรดาดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่กำลังเริ่มสร้างชื่อในปารีสต้องเผชิญ ไม่ได้มาจากดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ในฝรั่งเศสหรืออิตาลีอย่างเดียว แต่ยังมาจากดีไซเนอร์รุ่นเล็กกว่า ที่ยังไม่ถึงขั้นได้รับการรับรองจากสมาคมนักออกแบบด้วย อย่างเช่น George Hobieka จากเลบานอน ซึ่งมีกลุ่มลูกค้าเป็นเศรษฐีตะวันออกกลางที่โปรดปรานชุดหรูราคาไม่แพงของเขา โดยไม่สนใจว่าเขาจะเป็นดีไซเนอร์ชื่อดังหรือมีแบรนด์หรือไม่ อย่างไรก็ตาม จุดนี้เป็นจุดที่ดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้รับประโยชน์เท่าๆ กัน บรรดาเศรษฐีใหม่จากตะวันออกกลาง รัสเซีย จีน อินเดียและละตินอเมริกา กำลังกลายเป็นฐานลูกค้าที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นสูง แซงหน้าลูกค้าชาวอเมริกันและฝรั่งเศสไปเสียแล้ว ลูกค้าเศรษฐีใหม่กลุ่มนี้ไม่ค่อยสนใจชื่อเสียงของดีไซเนอร์มากนัก สิ่งที่พวกเขาต้องการคือชุดหรูที่สามารถเตะตาคนอื่นได้ในทันที

การคงอยู่ของห้องเสื้อขนาดเล็กนี้ คงจะเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า แฟชั่นชั้นสูงยังไม่ตาย อย่างที่มีหลายคนพยายาม จะบอก แม้ความดังของบรรดาดีไซเนอร์รุ่นใหม่อาจจะยังไม่เทียบเท่า Yves Saint Laurent แต่พวกเขาก็ยืนหยัดอยู่ได้ แม้ Vogue จะเมินชุดที่พวกเขาออกแบบ แต่จะแคร์อะไรกับ Vogue ในเมื่อมีลูกค้าระดับราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย คอยอุดหนุนด้วยเงินหลายล้านดอลลาร์ อาจจะไม่เป็นที่น่าแปลกใจนัก ถ้าหากหลายปีต่อจากนี้ บรรดาห้องเสื้อแบรนด์เนมชื่อดังอาจจะดังน้อยลง แต่บรรดาดีไซเนอร์โนเนมกลับจะอยู่รอดต่อไปได้อย่างมั่นคง


แปล/เรียบเรียง เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
เรื่อง นิวสวีค 6/13 เมษายน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.