อาณาจักรไทยรุ่งเรืองเมื่อเถ้าแก่หลิ่นยังอยู่..เจ้ายุทธจักรอุตสาหกรรมน้ำตาลย่อมยั่งยืน


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ไม่เคยมีอะไรใหม่เลย สำหรับกลุ่มโรงงานน้ำตาลใหม่ไทยรุ่งเรือง ภายใต้การนำของสุรีย์ อัษฎาธร ผู้ทำตัวเหมือนกระแสน้ำที่กลายเป็นคลื่น ไหลขึ้นไหลลงอย่างนี้ชั่วนาตาปี บางครั้งอยู่ยอดคลื่น บางครั้งลงต่ำเป็นคลื่นเล็ก จริงหรือ?? ที่บางคนบอกว่า ไทยรุ่งเรืองคืออาณาจักรหรือมรดกในอุตสาหกรรมน้ำตาล หรือที่เรียกว่า "แมวเก้าชีวิต"!?

เกือบกึ่งศตวรรษจาก พ.ศ.2489 สู่สมัยปัจจุบัน ที่ไทยรุ่งเรืองกรุ๊ปยักษ์ใหญ่ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยเติบโตขึ้นมาอย่างอุกอาจ กับผลประโยชน์ที่เป็นรายได้เข้าสู่ประเทศสูงถึงสี่หมื่นล้านบาทต่อปี หลังสงครามมหาเอเชียบูรพา จอมพล ป. และกลุ่มซอยราชครูครองเมืองพ่วงด้วยอำนาจเบ็ดเสร็จของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

กลุ่มไทยรุ่งเรืองถูกสร้างขึ้นมา หากนับเป็นมูลค่าปัจจุบันประมาณ 5,000 ล้านบาท โรงงานน้ำตาลในเครือทั้ง 7 โรงตั้งตระหง่านอยู่แถบพื้นที่เมืองกาญจน์และศรีราชารวมแล้วไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งคนรุ่นหลังแห่งอาณาจักรนี้บอกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคุณภาพเครื่องจักรล้วนเป็นนวกรรม (INNOVATION) ของอดีตนายช่างเก่าแก่ซึ่งเป็นเจ้าของผู้บุกเบิกสร้างขึ้นมา ฝีมือช่างชั้นดีถูกถ่ายทอดถึงคนรุ่นที่สองกระทั่งรุ่นที่สาม ชิ้นส่วนราคาแพงหลายตัวล้วนเกิดจากการประยุกต์เป็นเมดอินไทยแลนด์อาศัยแบบต่างชาติที่เคยไปดูแล้วเกือบทั่วโลก หากเป็นการนำเข้าในปัจจุบันจะไม่ต่ำกว่าโรงงานละ 500-1,000 ล้านบาทขึ้นไป

ท่ามกลางการตกต่ำของราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ดิ่งลงเหวมาแต่ พ.ศ. 2523 เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 7 ปี ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลยักษ์ใหญ่หลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบ้านโป่งของ วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ กลุ่มวังขนายของ อารีย์ ชุนฟุ้ง และกลุ่มมิตรเกษตรของวิเทศ ว่องวัฒนะสิน ล้มลงอย่างไม่เป็นท่าเงินจาสกธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับอุตสาหกรรมนี้ไม่น้อยกว่า 15 แห่งไหลลงท่อไปไม่ต่ำกว่า 15,000 ล้านบาท รวมทั้งที่เป็นการปล่อยกู้เพื่อรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมน้ำตาลในปี 25/26 อีกจำนวน 78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเป็นหนี้ยังไม่ได้รับการชำระจนตราบเท่าทุกวันนี้

บรรดาโรงงานน้ำตาลในปัจจุบันทั้งระบบมี 46 แห่ง ไม่น้อยกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ล้วนมีปัญหาด้านการเงิน แต่กลุ่มไทยรุ่งเรืองกลับออกมาโต้ลมหนาวหลังสิ้นบทเฉพาะกาลในระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานอย่างท้าทายพร้อมนโยบายรัดเข็มขัดอย่างเต็มที่เพื่อรองรับฤดูหีบอ้อยปี 30/30 ที่กำลังมาถึง ซึ่งคาดว่าปริมาณอ้อยทั้งประเทศจะน้อยกว่าปีที่แล้วจาก 22 ล้านตันลดลงเหลือเพียง 18 ล้านตัน

ขณะข้อตกลงเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ของชาวไร่กับโรงงานเป็นสงครามที่ยืดเยื้อ กลุ่มไทยรุ่งเรืองตกเป็นเป้าสายตาว่า คือผู้นำฝ่ายโรงงานที่ไม่เห็นดีกับมติคณะรัฐมนตรีที่ออกมาเป็นบรรทัดฐานให้ปฏิบัติตาม ด้วยอาการอีหลักอีเหลื่อกับสถานการณ์ คนวงในตั้งข้อสังเกตว่า ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรุ่งเรือง กรุ๊ปกำลังจะผละจากอุตสหกรรมน้ำตาลเพื่อ DIVERSIFIED ไปสู่ธุรกิจอื่นหรือจะถือเอากับจังหวะที่โรงงานคู่แข่งหลายแห่งกำลังหกคะเมน เข้ายึดพื้นที่ผูกขาดอุตสาหกรรมนี้ตลอดไป

อาณาจักรไทยรุ่งเรืองที่ใหญ่โตขึ้นมาได้ล้วนเป็นฝีมือการค้าของคนที่ชื่อ สุรีย์ อัษฎาธร ชื่อเดิมเรียก "กว๊าน หยิ่นหนิ่น" (ภาษาจีนสำเนียงกวางตุ้ง) ซึ่งสำหรับเมืองไทยน้อยนักที่จะเห็นพ่อค้าจีนโพ้นทะเลสายเลือดกวางตุ้งประสบความสำเร็จจริงๆ นับว่าสุรีย์ เป็น PIONEER ให้กับอุตสาหกรรมน้ำตาลเมืองไทยคนแรกที่เบียดขึ้นมาอยู่หน้าแถวได้

เฉกเช่น มา บูลกุล หรือ ม้า เลียบคุน คนกวางตุ้งที่สร้างอาณาจักรมาบุญครองจนใหญ่โตให้ใครๆ ได้รู้จัก จะแตกต่างก็คงเพราะสุรีย์เป็นคนเก็บตัวเงียบ เขาค่อนข้าง LOW PROFILE ถึงกับคนรุ่นที่สามของตระกูล "อัษฎาธร" บอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เขายอมเปิดตัวกับสื่อมวลชนขณะวัย 80 ปีที่ต้องนั่งเป็นเสาหลักในฐานะประธานบริษัทในเครือไทยรุ่งเรืองอยู่

อาจเพราะอุตสาหกรรมน้ำตาลเมืองไทยที่ผูกอยู่กับอำนาจและผลประโยชน์พ่อค้าอย่างเขาจึงถูกมองด้วยสายตาว่าเป็นคนลึกลับ คอยใช้สมองวางแผนงานอย่างละเอียดสุขุมกับราคาวัตถุดิบที่ต้องอาศัยชาวไร่นับล้านคนคอยผลิตให้

ย้อนหลังการเกิดไทยรุ่งเรืองกรุ๊ปหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โรงกลึงเหล็ก พ่วยกี่" ของสุรีย์รับซ่อมเครื่องยนต์ทั่วไปงานหลักคือทำเครื่องจักรเรือกลไฟซึ่งรับบรรทุกข้าวจากฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาส่งขึ้นเรือใหญ่เขตอ่าวไทย รวมถึงรายได้ซ่อมเครื่องจักรโรงสีไฟทั้งในกรุงและต่างจังหวัด กับธุรกิจโรงงานน้ำแข็งขนาดเล็กแถววัดน้อยย่านฝั่งธนฯ

สุรีย์เองก็คงไม่คิดว่าสักวันหนึ่งเขาจะได้นั่งบริหารธุรกิจโรงงานน้ำตาลที่มีสินทรัพย์ในเครือสูงเป้นพันๆ ล้าน หลังภัยสงครามกับการขาดแคลนสินค้า มันเป็นธรรมดาที่น้ำตาลบริโภคในประเทศเริ่มขาดแคลนสูง แม้จะมีโรงงานรัฐวิสาหกิจเกิดขึ้นในปี 2480 ที่ลำปางและอุตรดิตถ์ในปี 2485 ก็ไม่เพียงพอ ต้องนำเข้าน้ำตาลทรายขาวจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย ทั้งอเมริกาและดัทช์เข้าไปสร้างโรงงานให้กับอาณานิคมเหล่านั้น

"การค้ายุคนั้นเพียงหาดผู้มีอำนาจไม่เห็นด้วย ก็ยากที่ใครจะเกิดขึ้นมา" คนค้าขายรุ่นเก่าคนหนึ่งเล่าให้ฟังถึงธุรกิจรุ่นบุกเบิกที่ต้องอิงกับผู้มีอำนาจ ซึ่งสุรีย์เข้าใจพอที่จะหาจุดร่วมกับคนเหล่านั้น ภายหลังปี พ.ศ. 2500 เขาเดินสายการเมืองผ่านทั้ง โอสถ โกสิน และ บรรเจิด ชลวิจารณ์ ที่ล้วนเป็นคนของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่เข้ามาบริหารงานในบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย ผูกขาดการส่งออกน้ำตาลเพียงผู้เดียวเป็นเวลาถึง 22 ปี (นับตั้งแต่ พ.ศ. 2496-2518) และสุรีย์ก็ได้นั่งเป็นกรรมการคนหนึ่งในบริษัทนี้

การอิงฐานผุ้มีอำนาจนั้นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้พ่อค้าหลายคนในยุคนั้นอยู่ได้แต่ก็ไม่ใช่ฐานที่ผลักดันไปสู่ความสำเร็จทั้งหมดคงเป็นเพียงเรื่องของหมูไปไก่มา สุรีย์ อัษฎาธร ก็เช่นกัน เบื้องหลังความสำเร็จเขาได้รับการช่วยเหลือจาก ชิน โสภณพนิชและ โรเบิร์ต ก๊วก ราคาคอมโมดิตี้ทั้งในมาเลเซียและสิงคโปร์ เจ้าของธุรกิจข้ามชาติเคอรี่เทรดดิ้งนั้นล้วนเป็นส่วนเกื้อหนุน

สำหรับโรเบิร์ต ก๊วก แล้ว หลายคนบอกว่า สุรีย์ไดรับอิทธิพลความรู้ด้านการขายน้ำตาลในตลาดโลกโดยตรง ซึ่งประสบการณ์นี้ได้สอนถึง "ชนิดา อัษฎาธร" ลูกสะใภ้ ซึ่งถือว่าเป็นคนเก่งคนหนึ่งในด้านการขายน้ำตาลต่างประเทศในเมืองไทยเวลานี้

CONNECTION เหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้กลุ่มไทยรุ่งเรืองแข็งแกร่งขึ้นมาได้ จาก "ร่วมกำลาภ" โรงงานแรกที่ทำด้วยการเคี่ยวน้ำตาลจากต้นตาลแถวซอยพร้อมพงษ์ย่านบางกะปิ สุรีย์อาศัยแปลนแบบจาก "พูน" ช่างแบบอีกคนทำเป็นหม้อเคี่ยวน้ำตาลขายเรื่อยมาจนวัตถุดิบต้นตาลย่านนั้นหมด

"โรงงานที่บางกะปิต้นตาลหมดเราขาดวัตถุดิบ ผมไปศรีราชาเพื่อหาแหล่งใหม่ ที่นั่นมีคนปลูกอ้อยกัน จึงเข้าไปจับจองที่ดินกว่าสามพันไร่เราเป็นโรงงานแรกของเอกชนที่ผลิตน้ำตาลออกมาจากอ้อย" การดิ้นรนหาแหล่งวัตถุดิบใหม่รวมทั้งวิธีจับจองที่ดินมือเปล่ามันบ่งบอกถึงความเป็นพ่อค้ายุคบุกเบิกอย่างเขาพอควร

แหล่งโรงงานแห่งนี้เป็นฝีมือของสุรีย์ที่อาศัยการชำนาญที่ได้โอกาสดูตัวอย่างเครื่องหีบอ้อยของโรงงานรัฐวิสาหกิจที่อุตรดิตถ์ เขาก็กลับมาหล่อลูกเหล็กหีบออกใช้เป็นโรงงานเอกชนแห่งแรกที่มีลูกหีบอ้อยเหล็กใช้ใน พ.ศ.2496 ซึ่งเป็นที่เขาต้องเดินทางประจำจากโรงร่วมกำลาภถึงบรนิษัทน้ำตาลทรายศรีราชา จำกัด และมีศูนย์กลางออฟฟิศบริหารแถววัดไตรมิตรย่านโอเดี้ยน

ขณะนั้นสุรีย์มีเลขาฯคู่ใจอยู่คนหนึ่งชื่อ วิสิทธิ์ สุจริตวงศานนท์ คอยร่วมงานไม่ว่าจะเป็นการสั่งซื้ออุปกรณ์เพื่อต่อเติมโรงงาน กระทั่งเซ็นออร์เดอร์น้ำตาลให้กับบรรดายี่ปั๊วน้ำตาล สำหรับสุวัฒน์ อัษฎาธรลูกชายคนโตปัจจุบันอายุ 59 ปีสมัยนั้นต้องอยู่โรงงานเพื่อฝึกด้านเครื่องจักร

ปีที่สุรีย์สร้างโรงงานน้ำตาลทรายศรีราชาขึ้นมานั้นเอง จอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ประกาศจัดตั้งบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำกัด ขึ้นมาทำหน้าที่จัดจำหน่ายและนำเข้า รวมถึงการส่งออกแต่เพียงผู้เดียว มีจอมพลผิน ชุลหะวัณนั่งเป็นประธานบริษัทคนแรก และเลื่อน บัวสุวรรณ เป็นผู้จัดการ

ก่อนที่จอมพล ป. จะตั้งบริษัทแห่งนี้ขึ้นมา การค้าน้ำตาลตลาดภายในประเทศเป็นไปอย่างคึกคัก เกิดยี่ปั๊ว และโรงงานน้ำตาลทรายแดงแถวยานนาวาขึ้นนับสิบๆ ราย และกลุ่มที่แข่งขันกันสูงสุดคือ สุรีย์ อัษฎาธร กลุ่มไทยรุ่งเรืองกับ ชวน ชินธรรมมิตร กลุ่มกว้างสุ้นหลีในยุคที่ยังอาศัยซื้อน้ำตาลจากไทยรุ่งเรืองขายป้อนตลาดให้กับผู้ค้ารายเล็กภายหลังสรางโรงงานขึ้นผลิตแข่งสุรีย์

ชวน ชินธรรมมิตร เป็นคนจีนแต้จิ๋วเก่งด้านเก็งกำไรสูงโดยเฉพาะขอบข่ายตลาดยี่ปั๊วน้ำตาลในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแต้จิ๋วด้วยกัน ความฉกาจฉกรรจ์ด้านตลาดของชวนนั้นสุรีย์ถึงกับขยาดไม่อยากส่งน้ำตาลให้ และภายหลังชวนก็คิดสร้างโรงงานโดยได้ไอเดียด้านเครื่องจักรจากโรงงานของไทยรุ่งเรืองนั่นเอง

วิธีการค้าค้าน้ำตาลในตลาดของสองกลุ่มในยุคนั้นก็คือ ทำสัญญาขายน้ำตาลจำนวนที่แน่นอนกับยี่ปั๊วที่มาติดต่อ วิธีนี้มีข้อดีคือจะได้เงินล่วงหน้ามาหมุนทำธุรกิจ ยี่ปั๊วก็รู้ว่าโรงงานมีน้ำตาลขายในจำนวนที่แน่นอน จึงทำให้ครองตลาดได้นานที่สุดกับยี่ปั๊วเก่าๆ

แม้ตลาดภายในจะเริ่มดี แต่ฐานอุตสาหกรรมก็เป้นเพียงการเริ่มต้นที่ยังอาศัยเงินทุนเข้ามาอุดหนุนอยู่ ประกอบกับสายตาอันยาวไกลของผู้บริหารธนาคารอย่างชิน โสภณพนิช ที่ไม่มองข้าม อุตสาหกรรมยุคบุกเบิก เขากระโดดเข้ามาร่วมกับกลุ่มไทยรุ่งเรืองอย่างเต็มที่ซึ่งการรู้จักกับชินนั้นสุรีย์คุ้นเคยตั้งแต่ชินยังเป็นเสมียณอยู่ในโรงไม้ด้วยวัยที่ไล่เลี่ยกัน ชินอายุอ่อนกว่าสุรีย์หนึ่งปี

เงินทุนขยายโรงงานกลุ่มไทยรุ่งเรืองจึงได้จากธนาคารกรุงเทพโดยตรง พ.ศ. 2501-2502 สุรีย์ก็โดดข้ามฟากจากเขตตะวันออกศรีราชาเข้าสู่เขตตะวันตก เป็นผู้นำอุตสาหกรรมน้ำตาลลงสู่พื้นที่กายจนบุรีเป็นคนแรก ชื่อโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรมที่อำเภอท่ามะกาปี 2501 และโรงงานน้ำตาลสหการน้ำตาลชลบุรีที่อำเภอบ้านบึงขึ้นอีกแห่งปี 2502

"เราขยายไปเมืองกาญจน์ เพราะผมไปดูสภาพว่ามันมีน้ำก็คิดว่าน่าจะทำอุตสาหกรรมน้ำขึ้นมา ซึ่งหัวใจสำคัญต้องมีน้ำเดินไปกับคุณเจริญ แต่ก่อนถนนเป็นลูกรัง คนแถวนั้นยังไม่ใส่รองเท้า" สุรีย์บอกถึงการพบลำน้ำแม่กลองกับ เจริญ สินธวณรงค์ เพื่อนร่วมงานที่อยู่มาด้วยจนปัจจุบัน

แม้เมืองกาญจน์จะเหมาะกับการตั้งโรงงาน แต่ก็ยังไม่มีวัตถุดิบมากนัก สุรีย์ถึงกับลงทุนออกความคิดจูงใจคนพื้นบ้านให้หันมาปลูกอ้อยป้อนโรงงานด้วยวิธีปล่อยเงินเชื่อให้นำไปลงทุนก่อนก้อนหนึ่ง ซึ่งต่อมาเรียกกันว่าเงิน "เกี๊ยวอ้อย" จนปัจจุบัน

"ปี 2502 ใครๆ ก็อยากตั้งโรงงานหลายคนวิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจในยุคนั้นพอดีกับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ตั้งคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนขึ้น" คนเก่าแก่ของโรงงานน้ำตาลบอกถึงลางร้ายของพ่อค้าที่คิดสร้างโรงงานน้ำตาลแข่งกัน บวกกับการส่งเสริมที่ไม่ดูความพอเหมาะพอดีของตลาดน้ำตานในยุคนั้นส่งผลให้ใน พ.ศ. 2504 โรงงานที่รับการส่งเสริมเกิดขึ้นเป็นกอบเป็นดอกเห็ดกว่า 40 แห่ง ซึ่งก่อนนั้นบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทยที่มี บรรเจิด ชลวิจารณ์เป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ ได้สั่งนำเข้าน้ำตาลจากไต้หวันถึง 260,000 กระสอบ

สุรีย์เองที่เพียงต้องการบุกทะลวงเข้าไปข้างหน้า การขยายโรงงานมาหมาดๆ โดยไม่ได้คิดว่าน้ำตาลจะล้นตลาด ปีนั้นจึงเป็นปีที่เขาได้รับบทเรียนอย่างเจ็บปวดเป็นครั้งแรกที่ใหญ่หลวงที่สุด กลุ่มไทยรุ่งเรืองจึงโดนวิกฤติเข้ากระแทกให้ล้มทั้งยืน เงินทุนที่ขยายโรงงานบวกกับกาารปล่อยเงินเกี๊ยวเพื่อหวังวัตถุดิบเข้าป้อนโรงงานทั้งสี่แห่งไม่ว่าจะเป็น ร่วมกำลาภ, ศรีราชา, ไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม และโรงงานน้ำตาลสหการน้ำตาลชลบุรีนั้นเป็นเงินนับหลายสิบล้าน

"ตลาดภายในมีทั้งการลอบนำจากฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียเข้ามา ช่วงนั้นมีการเล่นตั๋วซื้อขายล่วงหน้ากันมาก และเจ้าสัวชินก็หนีจอมพลสฤษดิ์ไปอยู่เมืองนอกไม่มีใครคุมเกมพ่อค้า คุณชวนเขาวางแผนล่วงหน้าเหนือชั้นกว่าเถ้าแก่หลินมากทีเดียว ยิ่งตลาดกำลังปั่นป่วนแกยิ่งทำกำไรมาก ขณะที่ไทยรุ่งเรืองยุ่งกับการขยายโรงงานก็ตามไม่ทัน วิธีการปั่นราคาขึ้นไปแล้วปล่อยให้ทิ้งดิ่งลงมาทำให้ไทยรุ่งเรืองปีนั้นเกือบล้มพับฐานไป ใครๆ ก็คิดว่าเสร็จแน่ไม่มีฟื้น" อดีตยี่ปั๊วน้ำตาลแถวเมืองกาญจน์เล่าถึงการรบในตลาดระหว่าง "ชวน" กับ "สุรีย์" ขณะกำลังโดนมรสุมซึ่งใครๆ เรียกเขาสั้นๆ ว่า "เถ้าแก่หลิ่น"

ปัญหาของไทยรุ่งเรืองครั้งนั้นทำให้ สุวัฒน์ อัษฎาธร ได้รับรู้ถึงรสชาติของความยากลำบากที่กว่าจะมาเป็นไทยรุ่งเรืองในวันนี้มากพอควร ซึ่งเขาต้องนั่งบนโรงพักคอยรับแจ้งความเกี่ยวกับปัญหาเช็ค คงเป็นเพราะการเป็นลูกชายคนโตที่ผ่านการเจ็บปวด เขาจึงได้รับการวางใจจากสุรีย์ผู้พ่อในปัจจุบันที่จะรับช่วงภาระเป็นหัวเรือของกลุ่มไทยรุ่งเรืองต่อไป

การทรุดอย่างกระทันหันครั้งนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับอุตสาหกรรมยุคเริ่มต้นในสมัยที่แบงก์ดูโหงวเฮ้งลูกค้าก่อนปล่อยสินเชื่อ โดยเฉพาะลูกหนี้รายใหญ่แล้วนั้นหมายถึงหนี้สูญของธนาคารกรุงเทพจะมากขึ้น โรงงานจึงถูกเข้าควบคุมบริหารงานโดยธนาคารกรุงเทพแทนตระกูล "อัษฎาธร" ครั้งนั้นเองที่ ประสิทธ์ กาญจนวัฒน์ ต้องเข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริหารด้วย

วิกฤติเกิดขึ้นกับจังหวะที่ชิน โสภณพนิช กำลังหนีภัยการเมืองเตร็ดเตร่ไปทั่วย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สุรีย์ต้องรับภาระหนักในการแก้ปัญหาด้านการเงินโดยเฉพาะการซ่อมบำรุงเครื่องจักร ขณะนั้นเขาถูกร้านขายเหล็กหลายแห่งปฏิเสธให้การช่วยเหลือ กระทั่งได้รับความเห็นใจจากเชื้อ มั่นคงเจริญ พ่อค้าร้านเหล็กย่านโอเดี้ยนแถวเดียวกับออฟฟิศบริษัทน้ำตาลทรายศรีราชาของสุรียืตั้งอยู่ บุญคุณของคน "มั่นคงเจริญ" คราวนั้นเขาทดแทนโดยให้เป็นหุ้นส่วนมาจนถึงรุ่นลูกอย่าง ทินกร มั่นคงเจริญ ปัจจุบันเป็นรองผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยรุ่งเรืองอุตสาหกรรม

"การสร้างโรงงานสมัยก่อนก็ใช้แบงก์กรุงเทพ แบงก์อื่นเขาไม่รู้จักเราดีแบงก์กรุงเทพเอาเท่า ไหร่เขาก็ให้ ปีที่เรามีปัญหาคุณชินไม่อยู่เราปล่อยเงินเกี๊ยวออกไปเป็นจำนวนมากแต่ไม่ได้กลับคืนมา ธนาคารเข้ามาควบคุมเราบอกคุณเอาไปเลย หลังคุณชินกลับมา เขาบอกเราเป็นนักอุตสาหกรรมต้องให้เราทำต่อ" เถ้าแก่หลิ่นเล่าถึงอดีตที่ล้มลงและได้รับการผ่อนปรนจาก ชิน โสภณพนิช โดยคืนโรงงานให้สุรีย์เข้าดำเนินการต่อ บุญคุณครั้งนั้นเขายังจดจำได้ดี แม้การล้มป่วยครั้งล่าสุดก็เข้าเยี่ยมชินถึงโรงพยาบาล

หลังตระกูลอัษฎาธรเข้าบริหารงานอีกครั้ง กลุ่มไทยรุ่งเรืองก็ได้ สนิท ทองวานิชมือบริหารด้านบัญชีจากธนาคารกรุงเทพเข้าช่วยอีกคนโดยการขอร้องจากสุรีย์ ซึ่งชินเองก็ไม่ขัดข้อง สนิทจึงเป็นกุนซือคนสำคัญของกลุ่มไทยรุ่งเรืองที่ร่วมงานกับ วิสิทธ์ สุจริตวงศานนท์ เลขาฯสุรีย์ที่ใครๆ บอกว่าเขาทำงานด้านมวลชนกับชาวไร่ได้เป็นอย่างดีความจำของวิสิทธ์ชาวไร่คนไหนรับเงินเกี๊ยวจากโรงงานไปแล้วคนๆ นี่จำหน้าได้หมด

และการได้รับการช่วยเหลือจากชิน โสภณพนิช ครั้งนั้นนั่นเองที่ทำให้ สุรีย์ อัษฎาธร ต่อสายป่านทางการค้าถึง มร.โรเบิร์ต ก๊วก (เจ้าของก๊วก บราเธอร์บริษัทคอมโมดิตี้ที่ใหญ่ที่สุดทั้งในมาเลย์และสิงคโปร์) การล้มลงก่อนหน้านั้นเขาลุกขึ้นมายืนได้พร้อมสายสัมพันธ์อันยาวไกลออกไปที่ยากจะหาใครโชคดีเช่นสุรีย์

"เจ้าสัวชินหนีจอมพลสฤษดิ์หลบไปอยู่ทั้งใน ฮ่องกง, อินโดนีเซีย, สิงคโปร์, มาเลเซีย, มาเก๊า และฟิลิปปินส์ ที่สิงคโปร์เจ้าสัวได้พบกับโรเบิร์ต ก๊วก ตอนนั้นเขาเป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลเล็กๆ ใน ปีนัง มีการค้าคอมโมดิตี้ทั้งในมาเลย์และสิงคโปร์ เจ้าสัวหนีเรื่องการเมือง ก๊วกเองก็วิกฤติเรื่องเงิน และ ก๊วกก็ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าสัวชิน" อดีตพนักงานเก่าแก่แบงก์กรุงเทพที่ใกล้ชิดกลุ่มไทยรุ่งเรืองเล่าให้ฟัง

กล่าวกันว่าการช่วยเหลือของชินต่อก๊วกครั้งนั้น มีผลต่อการค้าของก๊วกมากถึงขนาดก๊วกได้รับเชิญให้เข้าแข่งขันตำแหน่งกรรมการน้ำตาลระหว่างประเทศ และเขาได้ที่นั่งทันทีในฐานะคนเอเชียคนแรกเขาจึงมีโอกาสรู้ความเคลื่อนไหวของตลาดโลกและสร้างอำนาจในการต่อรองธุรกิจได้มาทีเดียว

"ความสัมพันธ์สายตรงระหว่างก๊วกกับชินตรงนี้เองที่โยงมาถึงเถ้าแก่หลิ่นตอนหลัง เถ้าแก่หลิ่นก็ได้ไปเป้นช่างวางแปลนโรงงานน้ำตาลให้กับก๊วกในอินโดนีเซีย เป็นโรงงานของซูฮาโตด้วย" อดีตพนักงานแบงก์คนเดิมกล่าวต่อถึงสายสัมพันธ์ของชินที่ผลักดันให้ประธานกลุ่มไทยรุ่งเรืองเข้า ถึงมร.โรเบิร์ต ก๊วก ซึ่งภายหลังได้มีส่วนเข้ามาพลิกฟื้นฐานะไทยรุ่งเรืองเข้าเป็นหุ้นส่วนในโรงงานน้ำตาลไทยเพิ่มพูล (โรงหนึ่งในเครือไทยรุ่งเรืองจนปัจจุบัน)

สายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งนี้ สุรีย์ อัษฎาธรบอกว่าเขาเริ่มต้นให้ความซื่อสัตย์ทางการค้ากับ มร.โรเบิร์ต ก๊วก ขนาดที่มีการติดต่อซื้อขายน้ำตาลเป็นจำนวนนับล้านกระสอบกับกลุ่มไทยรุ่งเรืองโดยที่ก๊วกไม่ต้องออกแรงเซ็นสัญญา

"รับปากขายให้เขาล้านกระสอบพอเรือมารับเราก็ส่งให้ ถ้าเป็นคนอื่นไม่ให้ก็ได้เพราะสัญญาก็ยังไม่ได้เซ็น เราถือคำพูดสำคัญรับปากแล้วต้องให้เขา ได้กำไรก็ดีใจ มาติดต่อเราเรื่อยๆ อย่างนี้ต่อไปการค้าก็เชื่อใจกัน ทำโรงแรมเขาก็มาเชิญ ถือว่าเราคือคนไทย เขาก็ชำนาญ เป็นความคิดของก๊วกเอง ชวนทำอย่างอื่นเราไม่ทำงานเราเยอะ" สุรีย์เผยถึงความสัมพันธ์ทางการค้ากับราชาคอมโมดิตี้ ซึ่งเขาต้องควักกระเป๋าเป็นเงินกว่า 200 ล้านบาทร่วมทุนสร้าง แชงกี-ลา อินเตอร์เนชั่นแนล สาขากรุงเทพฯ เมื่อถูกก๊วกชวนทำโรงแรมระดับนำ ซึ่งเปิดตัวในเดือนตุลาคม 2528 ที่ผ่านมา

การช่วยเหลือจาก เชื้อ มั่นคงเจริญและชิน โสภณพนิช นั้น นอกจากจะเกิดทุนและบุคลากรระดับมันสมองแล้ว มร.โรเบิร์ต ก๊วก ก็ยังให้ความรู้การค้าน้ำตาลในตลาดโลกช่วยทำให้หูตาของคนชื่อสุรีย์มองตลาดกว้างไกลมากยิ่งขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ระยะแรกอาศัยตลาดเพียงภายในประเทศซึ่งในยุคนั้นเจ้าของโรงงานน้ำตาลน้อยคนนักที่จะมีโอกาสอย่างเขา

มันเป็นจังหวะเดียวกับก่อนหน้านั้นไทยรุ่งเรืองเข้าไปถือหุ้นในบริษัททส่งออกที่ชื่ออุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย จำกัด ที่ บรรเจิด ชลวิจารณ์ เป็นกรรมการผู้จัดการอยู่ หลังบรรเจิดเข้ามาน้ำตาลไทยที่ล้นตลาดภายในจากปี 2503-2504 บรรเจิดเปิดขายน้ำตาลให้กับต่างประเทศในปี 2505-2526 ทั้งบริษัทมารูเบนีและมิตซุยของญี่ปุ่นรับซื้อไปทั้งสิ้น 75,000 ตัน

หมากการค้าที่สอดคล้องต้องกัน ได้สะท้อนให้เห็นถึงสายตาที่แหลมคมของพ่อค้าอย่างสุรีย์ที่เข้าไปถือหุ้นอยู่ในบริษัทแห่งนี้แม่ยุคแรกที่บริหารงานโดยกลุ่มซอยราชครูนั้นจะไม่ค่อยได้ส่งน้ำตาลออกมากนัก แต่ไม่ถึง 5ปีดีนักหลังจากที่จอมพลสฤษดิ์เข้ายึดอำนาจก็เป็นการอยู่อย่างถาวรของ บรรเจิด ชลวิจารณ์ และ โอสถ โกสิน (รัฐมนตรีอุตสาหกรรม) ที่เข้านั่งเป็นประธานบริษัทสุรีย์ก็ใกล้ชิดกับคนทั้งสองในภายหลังได้เป็นสายป่านทางการเมืองต่อจากจอมพลสฤษดิ์งยุคจอมพลถนอม-ประภาส

"เขาฟื้นขึ้นมาอีกในฤดูการผลิตปี 06/07 น้ำตาลปีนั้นราคาภายในประเทศกระสอบละ 400 บาท ขณะซื้ออ้อย 110-120 บาท/ตัน โรงงานที่ฟลุ๊คอยู่กันตลาดภายในก็พอแล้ว เขามีทั้งคุณสนิทและคุณเชื้อที่เครดิตดีมากเข้ามาช่วย ปีนั้นปีเดียวคือทุนแถมยังมีกำไรด้วย หลังจากนั้นกลุ่มไทยรุ่งเรืองนี่เรียกว่าโตไม่หยุดตลอดมาเลยปัจจุบัน" คนปลูกอ้อยแถวเมืองกาญจน์เล่าถึงราคารับซื้ออ้อยในยุคนั้นที่แล้วความพอใจของฝ่ายโรงงาน

และปี พ.ศ. 2506 นั้นเองที่กลุ่มไทยรุ่งเรืองย้ายโรงงานน้ำตาลร่วมกำลาภจากบางกะปิมาที่เมืองกาญจน์อีก กล่าวว่าครั้งสุรีย์ลงทุนสร้างเครื่องจักรใหม่หมดทั้งสิ้นเป็นเงินกว่า 20 ล้านบาทเวลานั้นจึงเป็นเวลาที่ไทยรุ่งเรืองพุ่งขึ้นมาตั้งหลักด้วยฐานที่แน่นหนา ขณะที่กลุ่มกว้างสุ้นหลีของชวน ชินธรรมมิตร ที่ก่อนนั้นไม่มีอุปสรรคใดๆ ก็ขยับตัวมาติดๆ พร้อมกลุ่มโรงงานที่เกิดขึ้นไล่หลังมา ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง วิเทศ ว่องวัฒนสิน, พี ผาณิตพิเชฐวงศ์ และ กมล ว่องกุศลกิจ ได้ร่วมจับมือกันตั้งห้างหุ้นส่วนมิตรผลขึ้นมา (ภายหลังกลุ่มนี้แยกตัวออกเป็นกลุ่มบ้านโป่งของ วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ กลุ่มมิตรเกษตรของ วิเทศ ว่องวัฒนสิน และโรงงานมิตรผลเป็นโรงงานของตระกูล ว่องกุศลกิจ)

อุตสาหกรรมน้ำตาลในยุคนั้นก็โตขึ้นมากับบรรยากาศที่รัฐบาลส่งเสริมขณะนั้นมีโรงงานน้ำตาลเกิดขึ้นถึง 41 โรง วันที่ 18 พ.ย. 2507 ไทยรุ่งเรืองกรุ๊ปก็เป็นผู้นำโรงงานทั้งหมดจัดตั้งเป็นสมาคมน้ำตาลไทย วัตถุประสงค์เพื่อให้บริการแก่สมาชิกโรงงานด้วยกัน รวมถึงกับงานที่ต้องติดต่อกับราชการโดยตรงมีนายกสมาคมชื่อ สุรีย์ อัษฎาธร

การเกิดสมาคมขึ้นครั้งนั้นนับเป็นการรวมตัวของโรงงานน้ำตาลที่จะปกป้องผลประโยชน์ตนเองโดยตรง ขณะที่ตลาดต่างประเทศกำลังบุกเบิกโดยบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทย

"ตลาดต่างประเทศช่วงนั้นน้อยคนที่จะรู้ถึงความเคลื่อนไหว แม้โรงงานด้วยกันไม่กี่คน ส่วนมากเป็นการแข่งขันกันในประเทศมากกว่า ยิ่งชาวไร่ไม่รู้เรื่องไม่มีใครออกมาเดินขบวนหรอก" ผู้ค้าน้ำตาลคนหนึ่งบอกถึงธุรกิจอ้อยและน้ำตาลในขณะนั้นที่ไม่ค่อยมีปัญหากันมากนัก

ปี 2510 และ 2513 ไทยรุ่งเรืองก็สร้างโรงงานน้ำตาลกรุงไทย โรงงานน้ำตาลไทยร่วมเจริญและโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลกาญจนบุรีขึ้นอีกสามแห่งในอำเภอท่ามะกา

ปริมาณน้ำตาลภายในประเทศจากปี 2510 ล้นสต๊อกมาถึงปี 2513 แต่ภาคีน้ำตาลโลกกลับไม่อนุญาตให้นำออกขายน้ำตาลภายในเหลือถึง 2 ล้านกระสอบ บรรเจิด ชลวิจารณ์ ผู้จัดการบริษัทส่งออกขณะนั้นถึงกับคิดหาทางออกโดยการนำไปทิ้งทะเล จนที่สุดจอมพลถนอม กิตติขจร ก็เปิดไฟเขียวให้ไทยลาออกจากภาคีน้ำตาลโลกนำน้ำตาลออกขายให้กับโอเปอร์เรเตอร์ค้าน้ำตาลในตลาดลอนดอน หลังจากนั้นมาตลาดน้ำตาลไทยก็บูมมาตลอดจนกลายเป็นความภูมใจของบรรเจิดเอง

"น้ำตาลที่ล้นตลาดตอนนั้น โรงงานก็แข่งขันกันสูง ต่างคนก็ต่างพยายามรักษาตัวรอด โรงงานหลายแห่ง โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานน้ำตาลธนบุรีเขาต้องการที่จะมีบทบาทในตลาดส่งออกให้มากขึ้น" คนในวงการน้ำตาลคนหนึ่งเล่าถึงบรรยากาศในสมาคมโรงงานน้ำตาลไทยที่เริ่มจะขุ่นมัว

ในที่สุด พ.ศ. 2514 กลุ่มโรงงานน้ำตาลธนบุรีของ ชวน ชินธรรมมิตร (ที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นธนราช) ก็ร่วมกับ ศิริชัย เหลียงกอบกิจ เจ้าของโรงงานน้ำตาลทรายเพชรฯจับมือกับกลุ่มมิตรผลซึ่งขณะนั้นมีมือบริหารที่เป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่อย่าง วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ จบปริญญาโทรการเกษตรจากสหรัฐฯพร้อมกับ วิฑูรย์ ว่องกุศลกิจ จบเภสัชจากจุฬาฯเข้าร่วมเป็นแรงกับ วิเทศ ว่องวัฒนะสิน, พี ผาณิตพิเชฐวงศ์ และกมล ว่องกุศลกิจ รุ่นพี่ซึ่งบุกเบิกงานอยู่ก่อนแล้วแยกัวออกมาตั้งสมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทย (กลายเป็นกลุ่มโรงงานที่ทีกำลังการผลิตสูงถึง 60% ของโรงงานน้ำตาลทั้งประเทศ ต่อมาถูกเรียกว่ากลุ่ม 60 โดยมียงศิลป เรืองศุข เป็นนายกสมาคม)

การแยกตัวของโรงงานที่มีสมาคมสองแห่งคราวนั้น ทำให้โรงงานน้ำตาลไทยที่สุรีย์ อัษฎาธร นั่งเป็นนายกสมาคมอยู่กลายเป็นกลุ่มที่มีกำลังการผลิตเหลือเพียง 40 เปอร์เซ็นของการผลิตทั้งประเทศ จึงถูกเรียกว่ากลุ่ม 40 นับแต่นั้นมา

ในปี 2516 สุรีย์ อัษฎาธรก็สร้างโรงงานน้ำตาลไทยเอกลักษณ์พร้อมกับมร.โรเบิร์ต ก๊วกสร้างโรงงานน้ำตาลไทยเพิ่มพูนขึ้นที่กาญจนบุรี

"โรงงานทั้งสองกลุ่มต่างก็แข็งพอๆ กันกลุ่ม 40 จะมั่นคงกว่าก็ตรงที่ไทยรุ่งเรืองกุมสายป่านทางการเมืองได้มากกว่า แต่ก็มีจุดอ่อนตรงที่เป็นการบริหารของคนรุ่นเก่าขณะกลุ่ม 60 มีคนรุ่นใหม่เข้ามารุกทางธุรกิจอย่างต่อเนื่องและรู้การเดินเกมมากขึ้น เขามองว่าบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทยเป็นเสือนอนกิน" ยี่ปั๊วเก่าแก่แถวเมืองกาญจน์เล่าถึงผลประโยชน์อุตสาหกรรมน้ำตาลในยุคนั้นที่โรงงานต่างก็จะเข้ามารับส่วนแบ่งให้มากที่สุด

ประจวบกับช่วงนั้นความขัดแย้งเรื่องการบริหารงานในบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทยระหว่างบรรเจิด ชลวิจารณ์กรรมการผู้จัดการและชลอ สัมพันธารักษ์ก็ปะทุขึ้น ซึ่งฝ่ายชลอมองว่าสัญญาขายน้ำตาลต่างประเทสที่บรรเจิดทำนั้นฝ่ายไทยเสียเปรียบ

ครั้งนั้นถึงกับชลอ สัมพันธารักษ์ออกมาสนับสนุนสมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทยร้องขอจัดตั้งบริษัทส่งออกเป็นแห่งที่สองและการร้องเรียกก็มีวิบูลย์ ผาณิตวงศ์เข้ามาร่วมงานอย่างเต็มที่พร้อมด้วยอำนวย ปะติเส, นักวิชาการที่เป็นคนของวิเทศ ว่องวัฒนะสิน

ชลอ สัมพันธารักษ์คนเก่าแก่ที่เข้าใจการค้าต่างประเทสมาก่อนวางแผนผลักดันให้ ยงศิลป เรืองศุข, เสนอเรื่องเข้าหารัฐบาลขณะนั้นที่ค่อนข้างจะรับฟังความเห็นของเอกชน สมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทยจึงได้รับอนุมัติให้ตั้งบริษัทค้าผลผลิตน้ำตาลจำกัดเป้นบริษัทส่งออก

ทำให้คนหนุ่มอย่าง วิบูลย์ ต้องเข้านั่งเป็นกรรมการผู้จัดการมีชลอ สัมพันธารักษ์เป็นกรรมการผู้จัดการและยงศิลป เรืองศุขเป็นประธานบริษัทค้าผลผลิตน้ำตาลจำกัด

พ.ศ.2519 กลุ่มไทยรุ่งเรืองก็สร้างอาคารสำนักงานใหญ่ถาวรที่เรียกว่าบริษัทไทยรวมทุนคลังสินค้า เป็นที่ทำการมาจนปัจจุบันพร้อมกับโรงงานน้ำตาลไทยอุตสาหกรรมซึ่งเป็นโรงสุดท้ายในเครือ

บริษัทส่งออกทั้งสองแห่งไม่ว่าจะเป้นบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทยและบริษัทค้าผลผลิตน้ำตาลจำกัด ต่างชิงดีหักล้างกันกับตลาดต่างประเทศถึงกับมีการประมูลขายน้ำตาลซ้อนในวันเดียวกัน ส่งผลให้ราคาน้ำตาลต่ำเสียเปรียบต่างประเทศ

การแข่งขันที่เกินขอบเขตถึงกับยุ่งยากในการควบคุมบริษัทส่งออกทั้งสองแห่งถึงกับ เกษม จาติกวณิช รัฐมนตรีกระทรววงอุตสากรรมเสนอคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาที่บริษัทส่งออก ทั้งสองมีนโยบายแตกต่างกันที่คัดค้านและสนับสนุนการเข้าเป็นภาคีองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศจนรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ มีนโยบายไม่ให้เพิ่มบริษัทส่งออกขึ้นมาอีก

พ.ศ.2523 รัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็เกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาลทั้งประเทศ บุญชู โรจนเสถียรรองนายกฝ่ายเศรษฐกิจและตามใจ ขำภโตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ต้องแก้ปัญหาด้วยการแลกเปลี่ยนน้ำตาลกับบริษัทแทรดแอนด์ไลน์และเคอร์รี่เทรดดิ้งถึง 2 ล้านกระสอบ

"โรงงานพากันกักตุนน้ำตาลเก็งตลาดลอบส่งออกต่างประเทศ ช่วงนั้นราคาสูงจริงๆ" พ่อค้าน้ำตาลเก่าคนหนึ่งบอกถึงการลอบส่งออกน้ำตาลโดยเปิดแอล/ซีเป็นสัญญาขายจากปีที่ผ่านมาในราคาที่ต่ำไว้เพื่อแก้ปัญหานำน้ำตาลลงเรือขณะรัฐบาลห้ามส่งออก

"รัฐบาลเองก็ปล่อยข่าวว่าจะนำน้ำตาลเข้ามาร่วมทุนตลาดเพื่อให้มีการปล่อยน้ำตาลออกตลาด แต่ก็ไม่ได้ผล" พ่อค้าคนเดิมกล่าวถึงการที่รัฐบาลพยายามที่แก้เคล็ดพ่อค้า

ในที่สุดวันที่ 15 สิงหาคม 2523 ดนัย ดุละลัมพะ อธิบดีกรมการค้าภายในขณะนั้นก็ปฏิบัติการแจ้งข้อหาจับกุมผู้จัดการโรงงานน้ำตาล 8 แห่งซึ่งส่วนใหญ่สังกัด "สมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทย" หรือเรียกกลุ่ม 60 ทั้งวิบูลย์ ว่องกุศลกิจ (โรงงานน้ำตาลมิตรเกษตรและน้ำตาลไทย) วิบูลย์ ผาณิตวงศ์ (โรงงานน้ำตาลบ้านโป่ง) ศิริชัย เหลียงกอบกิจ (โรงงานน้ำตาลสหไทยรุ่งเรือง) สลิลทิพย์ ธารวณิชกุล (โรงงานน้ำตาลราชบุรีอุตสาหกรรม) เกียรติ วัธนเวคิน (โรงงานน้ำตาลตะวันออก) และผานิต ชีวมงคล (โรงงานรวมผลอุตสาหกรรมนครสวรรค์)

"เจ้าของโรงงานที่โดนออกหมายจับต่างหนีหลบเข้าไปอยู่ในบ้านคุณสุนทร" พ่อค้าคนเดิมกล่าวถึงสุนทร โภคาชัยพัฒน์ที่ปรึกษากฎหมายสมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทยซึ่งวิเทศ ว่องวัฒนะสิน ดึงตัวเข้ามาช่วยงาน โดยเฉพาะการตรวจชำระบัญชีภาษีแล้วเขาไดรับการเชื่อถือในกลุ่มร้านค้าย่านสำเพ้ง จึงเป็นหน้าที่อีกอย่างของสุนทรที่ต้องทำให้กลุ่มโรงงาน 60

ภายหลังนั้นมา สุนทร โภคาชัยพัฒน์มีบทบาทถึงกับเป็นผู้ตรวจร่างพ.ร.บ.แบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ที่เสนอผ่าน จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา โดยคนโรงงานกลุ่ม 60 ไม่ว่าจะเป็น อำนวย ปะติเสนักวิชาการโรงงานมิตรเกษตรของวิเทศ ว่องวัฒนะสินร่วมกับประสาน โอภาส-ปกรณ์กิจเลขาธิการสหพันธ์ชชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยซึ่งเป้นแรงสนับสนุนขณะนั้น

บทบาททั้งสุนทร, อำนวยและประสานล้วนเป้นแรงผลักดันให้จิรายุรัฐมนตรีที่รับผิดชอบนโยบายอ้อยและน้ำตาลเห็นด้วยให้การช่วยอย่างเต็มที่ กระทั่งกลุ่มไทยรุ่งเรืองด้องจับมือกับ ยงยุทธ ตันติพิริยะกุลหรือที่ใครๆ แถวอำเภอท่าเรือเรียกว่าผู้ใหญ่ยุทธผู้นำชาวไร่อีกปีกหนึ่งผนึกกำลังกลุ่มหนุ่มสาวท่าเรือที่เรียกว่า ยังเติร์กออกมาคัดค้านพ.ร.บ.ฉบับนั้น จนนำเข้าสู่สภาและตั้งกรรมาธิการร่างออกมาใหม่

ต่อมาสุนทรก็ประกาศลาออกจากวงการอุตสาหกรรมทุกตำแหน่งภายหลังที่สูญเสียประสาน โอภาสปกรณ์กิจในปี 2527 จนกระทั่งกลุ่มโรงงานมิตรเกษตรของวิเทศ ว่องวัฒนะสิน ล้มลง สุนทรก็เข้าเป็นทนายให้กับธนาคารมหานครฟ้องเรียกหนี้สินจนวิเทศเองก็แทบกระอัก

ผลจากการขาดแคลน คนต้องกินน้ำตาลแพงถึงกก.ละ 25 บาท ราคาอ้อยที่ชาวไร่ได้รับสูงถึง 650บาท/ตัน ปีรุ่งขึ้นอ้อยก็ขึ้นถึง 30 ล้านตันพร้อมๆ กับการตกต่ำของราคาอ้อยในตลาดโลก ขณะไทยเหลือโควต้าส่งออกจากภาคีน้ำตาลเพียง 1.12 ล้านตัน แต่ผลผลิตน้ำตาลทรายมี 2.6 ล้านตัน

เดือนเมษายน พ.ศ.2524 ก็มีการปรับปรุงคณะรัฐมนตรีพร้อมการเข้ามาสรับผิดชอบนโยบายอ้อยและน้ำตาลลของรัฐมนตรีช่วยกระทรวงอุตสาหกรรมจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา งานแรกที่จิรายุผลักดันขึ้นมาก็คือสำนักงานกลางจัดจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวภายในประเทศ มีสุนทร โภคาชัยพัฒน์เป็นกรรมการผู้จัดการและอำนวย ปะติเสเป็นผู้ช่วยจัดการพร้อมด้วยประสาน โอภาสปกรณ์กิจรองประธานกรรมการ

ในสำนักงานกลางครั้งนั้น กลุ่มไทยรุ่งเรืองมีเพียงสุวัฒน์ อัษฎาธรที่เข้าไปเป็นกรรมการร่วมกล่าวกับ การเกิดสำนักงานกลางทั้งประสานและสุนทรมีส่วนร่วมกันมากทีเดียว หลังปี 2528 อบ วสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมก็สั่งยุบสำนักงานกลางแห่งนี้ มีการสอบสวนการใช้จ่ายเงินของผู้บริหารซึ่งทั้ง โภคาชัยพัฒน์และอำนวย ปะติเสตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาจนปัจจุบัน

"ไม่ว่าจะเป็นการเกิดสำนักงานกลางและจุดเริ่มระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ล้วนเป็นการที่ทั้งประสาน, อำนวยและสุนทรได้เข้าไปใกล้ชิดกับรัฐมนตรีจิรายุทั้งนั้น" อดีตข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรมบอกถึงการเปิดเกมของกลุ่มโรงงานสมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทยที่นำหน้ารุกฝ่ายไทยรุ่งเรือง

กลุ่มไทยรุ่งเรืองเป็นฝ่ายรับ ขณะกลุ่ม 60 มีทั้งนักวิชาการอย่างอำนวย ปะติเส, ดร.พิชัย คณิตวิชาภรณ์ ซึ่งทั้งสองคนนี้เป็นคนของวิเทศ ว่องวัฒนะสินและนักกฎหมายอย่างสุนทรที่มีประสานผู้นำชาวไร่มีตำแหน่งเป็นเลขาธิการสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทยขณะนั้นร่วมผนึกอยู่

ประสานเป็นคนท่าเรือที่ร่วมก่อตั้งสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อยเขต 7 กับมงคล กีพานิชนายกสมาคมยุคแรก ประสานเคยเป็นผู้จัดการโรงงานน้ำตาลไทยอุตสาหกรรมของกลุ่มไทยรุ่งเรืองกล่าวว่า เหตุที่ต้องออกมาเพราะเกี่ยวกับผลประโยชน์ในโรงงานแห่งนั้นซึ่งประสานผูกใจเจ็บเอากับกลุ่มไทยรุ่งเรืองเอามาก ๆ

ที่สุดไทยรุ่งเรืองตอบโต้ด้วยวิธีการประกาศขายโรงงานน้ำตาลในเครือทั้งหมดทางหน้าหนังสือพิมพ์ ซึ่งเรื่องนี้สุรีย์ อัษฎาธรบอกว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการกู้เงิน 78 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เข้ามาตามนโยบายรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมน้ำตาลขณะนั้นที่ทั้งโรงงานและชาวไร่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน

"สิ่งที่ไทยรุ่งเรืองแสดงออกมาช่วงนั้นก็คือตัดสินใจขายโรงงานทิ้งโดยไม่ไยดี เถ้าแก่หลิ่นตัดสินใจลาวงการอย่างเด็ดขาด เถ้าแก่เนี้ยเสียใจเครียดมากถึงกับดวงตาพิการ คุณชนิดาต้องหาทางออกด้วยการเข้าวัดนั่งวิปัสนา ไทยรุ่งเรืองยุคนั้นมอไม่ออกว่าอนาคตจะไปทางไหน ใครเป็นผู้นำกลุ่ม" คนเก่าแก่วงกาน้ำตาลเล่าถึงยุคที่ไทยรุ่งเรืองตกต่ำกระทั่งอารีย์ภรรยาคนแรกของสุรีย์ต้องดวงตาพิการ

กลุ่มโรงงานสมาคมการค้าผู้ผลลิตน้ำตาลไทย (กลุ่ม 60) เรียนรู้การเดินเกมได้รวดเร็วไล่ต้อนเอาฝ่ายกลุ่มโรงงาน 40 ที่มีไทยรุ่งเรืองเป็นหลักถอยร่นจนมุมอับเสียจริงๆ และเวลานี้เองที่กลุ่มไทยรุ่งเรืองต้องสูญเสียคนสำคัญอย่าง วิสิทธิ์ สุจริตวงศานนท์ เลขาคู่ใจของสุรีย์ไปจากการลอบสังหาร

"มันเป็นสัญลักษณ์ของความเถื่อนที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอ้อยที่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อกันในยุคทมิฬที่เคยมีมาแล้ว" ผู้รู้เรื่องคนหนึ่งกล่าวถึงลักษณะที่ด้อยพัฒนาในการต่อสู้ทางการค้า

ยุคข้อต่อในการเปลี่ยนแปลงระบบอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยรุ่งเรืองกรุ๊ปจึงรับเอาบทเรียนที่เจ็บปวดเป็นครั้งที่สองจากการล้มลงใน พ.ศ.2504 การสรุปบทเรียนกับอุตสาหกรมที่เริ่มมีเกมในเชิงซ้อนมากขึ้นนี้เอง ต่อมากลุ่มไทยรุ่งเรืองได้พลิกตำราโดยใช้พลังชาวไร่อีกปีหนึ่งตอบโต้คู่แข่งจนเสียหละกยับเยินไปเหมือนกัน

"ช่องโหว่ของระบบ 70/30 ที่ยังเป็นปัญหาจนปัจจุบันก็คือ การขาดเอกภาพในองค์กรชาวไร่อ้อย ซึ่งกลายเป็นที่แสวงหาประโยชน์ของผู้นำระดับหัวหน้าโควต้าบางคนที่มีผลประโยชน์อยู่กับโรงงาน บางครั้งก็เอาประโยชน์เล็กน้อยที่จะทำได้" อดีตผู้นำชาวไร่บอก

กลุ่มไทยรุ่งเรืองเองก็เข้าใจในความเปราะบางของฝ่ายชาวไร่ด้วยการเสนอเงื่อนไขเป็นที่พอใจมาตลอดด้วยการเพิ่มราคาอ้อยสูงกว่าราคาที่ตกลงกัน ประกอบกับพลเอกไพจิตร สมสุวรรณได้ออกมาแสดงบทบาทในฐานะตัวแทนไทยรุ่งเรืองภายหลังที่เกษียณจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก นับว่าครั้งนี้มีกุนซือที่เป็นทหารโดยตรงเข้ามาร่วมงาน

และงานแรกที่พลเอกไพจิตรเริ่มเคลื่อนไหว คือบทบาทของกลุ่มโรงงานค้าผลผลิตและรัฐมนตรีจิรายุต่อระบบแบ่งปันผลประโยชน์ ว่าไม่สามารถทำให้ชาวไร่อ้อยมีชีวิตที่ดีขึ้นนับมีผลสูงมากทีเดียว เป็นการพลิกสถานการณ์ โดยเฉพาะไทยรุ่งเรืองใช้ยุทธวิธีด้วยการเพิ่มราคาอ้อยให้กับชาวไร่เป็นเงินสดทันทีซึ่งโรงงานอื่นไม่มีใครทำได้

ช่วงเวลานี้นี่เองที่ไทยรุ่งเรืองเริ่มตั้งตัวได้ จังหวะที่ราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ตกต่ำลงมาตลอด ซึ่งมีผลต่อการตั้งหลักพื้นฐานของไทยรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นฝ่ายนำขณะโรงงานอื่นๆ เริ่มอ่อนแรงเพราะปัญหาการเงินกับธนาคารเจ้าหนี้บวกกับเงินทุนจากการประกาศขายโรงงานของกลุ่มไทยรุ่งเรือง ก่อนหน้านั้น ซึ่งวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ เข้าซื้อทั้งโรงงานน้ำตาลไทย และร่วมกำลาภอันเป็นโรงงานเถ้าแก่โรงแรกในเครือไทยรุ่งเรืองไป

สถานการณ์ที่กลับมาครั้งนั้นทำให้ไทยรุ่งเรืองกรุ๊ปเริ่มดำเนินกลยุทธในเชิงรุกต่อคู่แข่งขันมากขึ้น พ.ศ.2527 หลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ.2526 อบ วสุรัตน์ก็เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและ พ.ศ.นี้เองที่ไทยรุ่งเรืองก็ผลักดันกระทั่งสามารถมีบริษัทส่งออกเป็นของตัวเอง จากการเสนอของ อบ วสุรัตน์ซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มี "บริษัทส่งออกน้ำตาลสยาม จำกัด" ในวันที่ 19 มิถุนายน 2527

ปี พ.ศ.2527 ที่ใครๆ คิดว่าราคาน้ำตาลในตลาดโลกจะสูงขึ้น แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร พลิกกลับไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ (ราคาที่เคยสูงสุดของปี 26 ซึ่งขึ้นมาในระยะสั้นในเดือนมิถุนายน ที่ราคา 12 เซนต์/ปอนด์ หลังจากนั้นก็ล่วงลงมาตลอดถึงมีนาคมปี 27 สูงสุดที่ราคา 5-6 เซนต์/ปอนด์)

การคาดหมายราคาน้ำตาลในตลาดโลกด้วยการรอคอยของโรงงานหลายกลุ่มเมื่อเวลามาถึงกลับไม่เป็นอย่างที่คิด พอเข้าปี พ.ศ.2528 ก็เป็นปีของความอับโชคสถานการณ์เลวร้ายกันไปใหญ่ ราคาน้ำตาลดิ่งลงมาที่ 2-3 เซนต์/ปอนด์ ทำให้โรงงานหลายกลุ่มถึงกับเซไปตามๆ กัน

โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานในสมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทยหรือกลุ่ม 60 นั้นได้เริ่มอ่อนตัวลงหลังจากที่ชวน ชินธรรมมิตรเจ้าของกิจการกว้างซุ้นหลีได้เสียชีวิตกลุ่มกว้างซุ้นหลีเองก็ถูกแบ่งกงสีกระจัดกระจายส่งลที่จะเข้ามามีบทบาท ในสมาคมอันเป็นศูนย์รวมพลังงานของกลุ่ม 60 น้อยลง

ขณะในปี 2528 คนหนุ่มไฟแรงของสมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทยที่เขาขยับขยายอาณาจักรบ้านโป่งจนใหญ่โตที่ชื่อวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ก็ถูกเจ้าหนี้ธนาคารถึง 15 แห่งเข้าเจรจาเรื่องหนี้สินร่วม 7 พันล้านบาท

ตามด้วยปัญหาของวิเทศ ว่องวัฒนะสินเจ้าของโรงงานกลุ่มมิตรเกษตรในปี พ.ศ.2529 ที่ธนาคารมหานครและรวมถึงแบงก์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นศรีอยุธยาและไทยพาณิชย์ต้องเข้าไปแบกรับภาระหนี้สินพร้อมตั้งบริษัทกลางขึ้นมาบริหาร

หลังจากการสูญเสียชวน ชินธรรมมิตรพร้อมกับปัญหาด้านการเงินของ วิเทศ ว่องวัฒนะสินและวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ กลุ่มสมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทยหรือกลุ่ม 60 ก็กลายเป็นเสือสิ้นลายที่ขาดความแข็งแกร่งลงแม้กระทั่งสำนักงานกลางจัดจำหน่ายน้ำตาลทรายขาวภายในประเทศ ที่มีทั้งสุนทร โภคาชัยพัฒน์, อำนวย ปะติเส และประสาน โอภาสปกรณ์กิจ จิรายุก็ประกาศล้างมือจากวงการอ้อยและน้ำตาล พร้อมกับการลาวงการน้ำตาลทุกตำแหน่งที่มีอยู่ของ สุนทร โภคาชัยพัฒน์

นับจากวันนั้นจนปัจจุบัน นายกสมาคมน้ำตาลไทยที่ชื่อ สุรีย์ อัษฎาธรก็นั่งตีขิมเป็นโรงงานยักษ์ใหญ่ที่มีทั้งทุนทรัพย์และความมั่นคงที่สุดในปัจจุบัน กระทั่งการสิ้นสุดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับการแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 ที่ยืดเยื้อมาถึงวันที่ 9 พ.ย. 2530 ที่ผ่านมาไทยรุ่งเรืองก็เป็นกลุ่มนำโรงงานทั้งหมดเข้าต่อรอง

และการตกลงของคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่มีทั้งตัวแทนจากชาวไร่และโรงงานรวมทั้งส่วนราชการพร้อมการรอคอยของชาวไร่อ้อยที่เดินขบวนเข้ามาเรียกร้องในวันนั้น ณ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม ผู้นำชาวไร่อดีตยังเติร์กซึ่งทำหน้าที่คุมม็อบในวันนั้นต่างผิดหวังไปตามกัน เพราะข้อเรียกร้องไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ นับเป็นชัยชนะของไทยรุ่งเรืองอีกครั้ง

แม้ สุรีย์ อัษฎาธร จะอายุ 80 ปีแล้วเขาก้อยู่เบื้องหลังเรื่องราวต่างๆ ในฐานะประธานกลุ่มไทยรุ่งเรืองผู้ไม่ยอม "ล้างมือในอ่างทองคำ"

"กว๊าน หยิ่นหนิ่น" เป็นคนจีนโพ้นทะเลเกิดในอำเภอกวางเจา เขาได้รับการศึกษาเบื้องต้นที่มณฑลกวางตุ้งก่อนเดินทางเข้าประเทศไทยใน พ.ศ.2462

เขาเข้าเมืองไทยเมื่ออายุ 11 ปี อยู่นานถึง 37 ปีถึง พ.ศ.2499 จึงโอนสัญชาติพร้อมเปลี่ยนชื่อเป็นสุรีย์ อัษฎาธร ครอบครัวดั้งเดิมของสุรีย์เป็นช่างกลึงหล่อเหล็กพ่อเขาชื่อ "กว๊าน แหย่ง" เดินทางเข้าเมืองไทยก่อนสุรีย์พร้อมน้องชายอีกคนชื่อสุธีร์ อัสดาธร (นามสกุลเขียนไม่เหมือนกัน) จะติดตามมา

เขาเข้าฝึกงานครั้งแรกในอู่ "หวั่งหลี" แถวเชิงสะพานพุทธเป็นเวลา 3 ปี ทำงานที่นั่นและย้ายเข้าทำงานที่โรงกลึงสามเสน ต่อมาที่อู่ "เฮงหลง" ไทหวอและเม่งเฮงซึ่งล้วนเป็นอู่ใหญ่ในสมัยนั้น ความชำนาญของสุรียืเขาสามารถสร้างเครื่องจักรโรงงานน้ำแข็งขึ้นมาได้ขณะวัย 25 ปีที่เขาเริ่มมีอู่เป็นของตัวเอง

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาขายโรงงานน้ำแข็งถึงสามแห่งเพื่อเป็นทุนสร้างโรงงานน้ำตาลแห่งแรกชื่อ "ร่วมกำลาภ" นับว่าเป็นโรงงานเอกชนรายที่ 3 ซึ่งขณะนั้นมีโรงงานของพระยามไหสวรรค์และมังกรสามเสนเกิดขึ้นก่อน ภายหลังเลิกกิจการไปทั้งสองแห่ง

สุรีย์มีภรรยาสองคน ภรรยาคนแรกชื่อ อารีย์ อัษฎาธร มีลูกด้วยกัน 8 คน ๆ โตชื่อสุวัฒน์ อัษฎาธร ปัจจุบันได้รับความไว้วางใจมีบทบาทที่จะรับช่วงต่อจากการบริหารงานของสุรีย์ ที่จะเป็นหัวเรือใหญ่ให้กับอาณาจักรเครือไทยรุ่งเรือง

ภรรยาคนที่สองเป็นคนที่ออกสังคมกับเขาชื่อ สุรีย์ (ชื่อเดียวกัน) กล่าวว่าภรรยาคนนี้อดีตเป็นเลขาส่วนตัวของเขา มีลูกชายด้วยกันคนเดียวชื่อ ชนะ อัษฎาธร ปัจจุบันทำงานอยู่ที่ภัทรธนกิจเป็นคนสุดท้องที่เกิดจากสุรีย์ อัษฎาธร

อู่แห่งแรกของสุรีย์เองอยู่ย่านตลาดน้อย ส่วนใหญ่รับงานจากโรงสีไฟและโรงเลื่อย เขาบอกวันหนึ่งต้องรับงานหลายสิบแห่ง โดยเฉพาะงานจากโรงเลื่อยแถวคลองบางลำภูซึ่งส่วนมากเป็นโรงเลื่อยไม้สักเกือบตลอดคลอง

"ก่ำเต่ยเหย่าโสย" ปรัชญาการค้าการกดำเนินชีวิตที่ชาวจีนโพ้นทะเลสายเลือดกวางตุ้งอย่าง "กว๊านหยิ่นหนิ่น" หรือสุรีย์ อัษฎาธรยึดถือเป็นยิ่งนัก ถูกถ่ายทอดให้กับคน "แซ่กว๊าน" ต้นตระกูลอัษฎาธรจากรุ่นที่สองถึงรุ่นที่สามมาจนปัจจุบัน

"หมายถึงวิธีวายน้ำให้เท้าติดพื้นหรือดำเนินธุรกิจที่ไม่สุ่มเสี่ยง" คนรุ่นที่สามของครอบครัว อัษฎาธรบอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงความหมายของ "ก่ำเต่ยเหย่าโสย" ที่ไทยรุ่งเรืองกรุ๊ปถูกสร้างขึ้นมาจนยิ่งใหญ่จากปรัชญาดังกล่าว

วัย 80 ปีของสุรีย์ อัษฎาธร ดูเหมือนเขาจะเป็นห่วงอาณาจักรไทยรุ่งเรืองอยู่ไม่เบาที่ปัจจุบันยังต้องมาร่วมตัดสินใจงานสำคัญๆ กับอาณาจักรแห่งนี้ที่กำลังจะตกทอดไปอยู่ในมือของคนรุ่นที่สอง มันคงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ที่มารับภารกิจอุตสาหกรรมนี้ต่อไป เพียงหากมองย้อนหลังดูการสร้างฐานธุรกิจที่มีลักษณะแตกต่างไปจากธุรกิจอื่นๆซึ่งสัมพันธ์กับนโยบายทางการเมือง

"ธุรกิจอ้อยและน้ำตาลเป็นธุรกิจการเมือง โรงงานใหญ่โตจริง แต่หากไม่มีศิลปะในการบริหารแล้วก็กลายเป็นเศษเหล็กได้ง่าย" คนในวงการอ้อยให้ทัศนะ

ซึ่งกลุ่มไทยรุ่งเรืองเองกว่าจะมใาถึงวันนี้ได้ก็สร้างสายป่านจนสุดขั้ว ไม่ว่านักการเมืองที่เข้ามารับผิดชอบอุตสาหกรรมด้านนี้โดยตรงในแต่ละยุคสมัย การมีกุนซือที่ร่วมเป็นร่วมตายอย่างสนิท ทองวานิช และพลเอกไพจิตร สมสุวรรณ ที่เข้ามาเป็นเหมือนนักรบออกเป็นหัวหอกชนกับนโยบายซึ่งสวนทางกับผลประโยชน์เฉพาะหน้าบางครั้งบางคราว

เพียงเท่านี้หากยังไม่รวมถึง CONNECTION ที่เขามีกับ ชิน โสภณพนิช ซึ่งให้การสนับสนุนทางด้านทุนในยามที่ล้มลุกคลุกคลานในอดีตสายป่านนี้ต่อมาจนปัจจุบันที่ธนาคารกรุงเทพฯเข้าไปร่วมหุ้นอยู่ในแชงกรี-ลา รวมทั้งการเข้าไปถือหุ้นส่วนตัวของชาตรี โสภณพนิชที่เข้าไปนั่งเป็นกรรมการอยู่ด้วย

ความสัมพันธ์ทางการค้าที่บ่งบอกถึงลักษณะการให้ความไว้วางใจผู้อื่นสูงอย่างสุรีย์ที่เขาได้ผูกพันธ์กับก๊วกบราเธอร์ ที่มาจนปัจจุบันนั้นก็คงไม่ง่ายนักที่จะหาคนมาทดแทนและทำได้อย่างพ่อค้าที่ชื่อ สุรีย์ อัษฎาธร แม้ผู้ที่จะขึ้นมารับภารกิจที่เขาจะส่งมอบให้นั้นก็ยังเหมือนกับยังต้องเรียนรู้วิธีการบริหารงานจาก สุรีย์ อีกหลายด้าน

จากชั้นเชิงทางการค้าที่สลับซับซ้อนในวันนี้ ไทยรุ่งเรืองจึงมีบริษัทในเครือถึง 11 แห่ง มีสินทรัพย์รวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท สุวัฒน์ อัษฎาธรทายาทคนโตวัย 59 ปี ปัจจุบันเขาได้รับมอบหมายให้มาบริหารงานในสำนักงานใหญ่และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ของบริษัทในเครือทั้งหมดรองจากสุรีย์ อัษฎาธร

นอกจากนี้ สุวัฒน์ยังควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัทไทยอุตสาหกรรมน้ำตาลจำกัด, บริษัทไทยรวมทุนคลังสินค้าและยังเป็นกรรมการบริหารโรงแรมแชง กรี-ลาและประธานกรรมการบริษัทส่งออกน้ำตาลสยามจำกัดและกรรมการบริหารสมาคมโรงงานน้ำตาลไทยหรือกลุ่ม 40 ในอดีตที่เป็นเวทีต่อสู้กับผลประโยชน์ของโรงงานด้วยกันรวมถึงกรรมการที่ปรึกษาบริษัทอุตสาหกรรมน้ำตาลแห่งประเทศไทยที่กลุ่มไทยรุ่งเรืองกลับเข้าไปครอบครองอีกครั้งในยุค อบ วสุรัตน์

สุวัฒน์ อัษฎาธรจึงเป็นทายาทคนแรกที่กำลังเข้ามาจ่อคิวที่จะดูแลกิจการที่สร้างขึ้นมาแล้วกว่าช่วงหนึ่งชีวิตคนร่วมกับน้องๆ อีก 8 คน และก็ดูเหมือนจะมีชนิดา อัษฎาธรสะใภ้คนเดียวที่ออกมามีบทบาทรับงานด้วยพร้อมการตรึงขุมกำลังของคนรุ่นที่สองที่เข้ามาบริหารงานอยุ่ในสำนักงานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สมเกียรติ อัษฎาธร (น้องชายสุวัฒน์) กรรมการผู้จัดการอุตสาหกรรมน้ำตาลกาญจนบุรี สุรินทร์ อัษฎาธร (น้องชายอีกคน) กรรมการผู้จัดการโรงงานไทยเพิ่มพูนและสุทิน อัษฎาธร (สามีชนิดา) กรรมการผู้จัดการโรงงานไทยรุ่งเรือง

นับว่าไทยรุ่งเรืองสมัยปัจจุบันได้สร้างสัดส่วน ในอุตสาหกรรมน้ำตาลเอาไว้อย่างหนาแน่น ขณะเดียวกันคนรุ่นที่สามอีกส่วนหนึ่งก็คงคลุกงานด้านเครื่องจักรอยู่ในโรงงานซึ่งล้วนได้รับการศึกษาด้านเอ็นจิเนี่ยมาโดยเฉพาะ

ท่ามกลางการจับตามองบทบาทครั้งล่าสุด ไทยรุ่งเรืองได้รับการยอมรับจากบรรดาโรงงานเกือบทั้งหมดรวมทั้งวกลุ่มสมาคมการค้าผู้ผลิตน้ำตาลไทยหรือกลุ่ม 60 ในอดีตที่เป็นคู่แข่งขันขับเคี่ยวกันมาตลอดให้เป็นฝ่ายนำโรงงานเข้าต่อรองกับระบบการแบ่งปันผลประโยชน์โดยเฉพาะซึ่งสิ่งที่ปรากฎก็คือในวันที่ 9 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ กระทรวงอุตสาหกรรม ฝ่ายโรงงานเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขที่ผู้นำชาวไร่หลายคนได้ยอมรับเอาโดยดุษฎี

ในวันนี้ไทยรุ่งเรืองได้รุ่งเรืองกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่มั่นคงที่สุด พร้อมที่จะเข้าผูกขาดและตรึงกำลังกุมอุตสาหกรรมอ้อนแลบะน้ำตาลของประเทศไทยเอาไว้อย่างมั่นคงขณะที่หลายโรงงานกำลังจะกลายเป็นเศษเหล็กที่ธนาคารเจ้าหนี้หลายแห่งกำลังเข้าควบคุมอยู่

ไทยรุ่งเรืองจึงเป็นมรดกทางธุรกิจที่สุรีย์ได้สร้างไว้ให้กับคนรุ่นที่สองและรุ่นที่สามของตระกูล อัษฎาธร ที่จะรับต่อไปนั้นนับว่ายิ่งใหญ่พอควรหากแต่เพียงยังมีผู้กังขาว่าเขาเหลานั้นจะทำได้ดีเหมือนเถ้าแก่ "หลิ่น" หรือไม่…..



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.