เยาวราช ถนนสายทองคำ ยุคสมัยเปลี่ยน การค้าเปลี่ยน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

หากตั้งใจไปซื้อทองคำบนถนนเยาวราชในวันนี้จะเห็นพฤติกรรมการซื้อทองของคนไทยเริ่มเปลี่ยนไป จากซื้อทองรูปพรรณกลายเป็นซื้อทองคำแท่ง จากเป้าหมายเพื่อออมกลายเป็นเก็งกำไร

"ในอดีตลูกค้าจะซื้อทองคำรูปพรรณ 95% ซื้อทองแท่ง 5% แต่ตอนนี้สลับกันซื้อทองคำแท่ง 95% และซื้อทองรูปพรรณ 5%" จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมทองคำ ผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการค้าทองคำบนถนนเยาวราชมานานกว่า 50 ปีเล่าผ่านผู้จัดการ 360 ํ

เมื่อย้อนกลับไปมองในอดีตจะเห็นได้ว่าทองคำใช้เป็นเครื่องประดับเป็นหลักและเก็บออมบางส่วนด้วยการเก็บสะสมทองทีละเล็กทีละน้อย ผู้บริโภคซื้อทองคำจะมีฐานะปานกลางในขณะที่ผู้บริโภคมีฐานะจะไม่นิยมซื้อทองเพื่อสวมใส่

พฤติกรรมของผู้บริโภคหันมาซื้อทองคำแท่งเพิ่มมากขึ้นเริ่มเห็นเมื่อ 7-8 ปีที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะข่าวสารที่เข้าถึงได้ง่ายแม้จะอยู่กันคนละซีกโลก

สิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่าการติดตามข่าวสารราคาทองคำในตลาดโลกคือ คนไทยยืนเข้าแถวซื้อทองคำแท่งเป็นจำนวนมากเมื่อเดือนสิงหาคม หลังจากราคาทอง ลดลงมาอยู่ที่ 12,000 กว่าบาท โดยก่อนหน้านี้ราคาอยู่ที่ 15,000 บาท แต่หลังจากเวลาผ่านไปเพียงข้ามเดือนลูกค้าก็เทขายเพื่อทำกำไร

ปรากฏการณ์แจกบัตรคิวและประกาศเปลี่ยนราคาทองคำขึ้น-ลง 10 ครั้งต่อวัน รวมไปถึงร้านค้าทองต้องปิดร้านในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์เพราะไม่มีเงินที่จะซื้อทองกลับคืนได้จำนวนมากเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นในหน้า ประวัติศาสตร์ของตลาดทองคำไทยมาก่อน

สังคมไทยกลายเป็นยุค "ตื่นทอง" ที่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกตื่นเต้นกับผลกำไรระยะสั้น ส่งผลให้บรรยากาศซื้อขายทองคำคึกคักไม่น้อย

ราคาทองที่ผันผวนค่อนข้างแรงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ในปี 2550 และปี 2551 อัตราการปรับขึ้นราคาทองกระโดดไปถึง 30 เปอร์เซ็นต์ จากก่อนหน้านั้นมีอัตราเฉลี่ยปีละ 10 เปอร์เซ็นต์

กระแสตื่นทองทำให้ผู้บริโภคหันมาลงทุนทองเพื่อเก็งกำไรมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการทองคำเพิ่มเท่าตัว และจากตัวเลขของกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยการนำเข้าทองคำ แท่งเมื่อปี 2551 เพิ่มเป็น 240 ตันจากปี 2550 นำเข้าทองคำ 111 ตัน

แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนไปแต่คนไทยเชื้อสายจีนผู้ค้าทองคำบนถนนเยาวราช สำเพ็ง และสัมพันธวงศ์ หรือเรียกกันว่าย่านไชน่าทาวน์ มีร้านค้าทองคำ 130 แห่ง แตกสาขาออก เป็นร้านขนาดเล็กตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกันรวมถึงร้านค้าย่อยทั่วไปที่จำหน่ายทอง ทั่วประเทศเกือบ 6,000 ร้าน เป็นส่วนหนึ่งช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยและในปีที่ผ่านมาทองคำนำเข้ามาภายในประเทศมีมูลค่า 202,727.67 ล้านบาท

ผู้ที่มีบทบาทสำคัญขับเคลื่อนธุรกิจทองคำในเมืองไทยคือสมาคมค้าทองคำ (Gold Traders Association) ที่ก่อตั้งมาเป็นระยะเวลา 19 ปี โดยก่อนหน้านั้นเป็นชมรมกลุ่มเยาวราชรวมกลุ่ม 11 ห้างทอง

แต่เพื่อขยายหน้าที่ให้มีขอบเขตมากขึ้นจึงรวมกันเป็นสมาคมค้าทองคำ ที่มีร้านค้า ทองคำทั่วประเทศกว่า 900 ร้านเข้าร่วมเป็นสมาชิกและกลุ่มผู้ค้าทองรายใหญ่

เป้าหมายการก่อตั้งสมาคมเพื่อเผยแพร่ข่าวสารและสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้ค้าทองรวมไปถึงการต่อรองผลประโยชน์ให้กับสมาชิก

ที่ผ่านมาสมาคมได้ต่อรองกับภาครัฐยกเลิกภาษีหลายประเภทและประสบความสำเร็จ ภาษีที่ได้รับการยกเว้น เช่น ภาษีโภคภัณฑ์ 3.3% ยกเลิกภาษีทองคำขาเข้าจากกรมศุลกากร 30% และได้รับการยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

แต่บทบาทสำคัญที่สุดของสมาคมค้าทองคำก็คือ การกำหนดราคาทองคำแท่งและรูปพรรณเพียงรายเดียวในประเทศ ไทย จนทำให้ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพล ต่อการกำหนดราคาทอง

สมาชิกของสมาคมจะแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 5 ราย ทำหน้าที่กำหนดราคาทองทุกวัน ด้วยการร่วมกันประชุมทุกเช้าเพื่อประกาศราคาทองรายวัน โดยคณะกรรมการโหวตเสียง 3 ใน 5 ตัดสินลงมติเป็นเอกฉันท์แล้ว ประกาศราคาทุกเช้าในเวลา 9.00 น.บนเว็บไซต์ของสมาคม ทองคำ เพื่อให้ร้านทองหรือร้านตู้แดงเขียน ประกาศราคาติดไว้หน้าร้าน

คณะกรรมการทั้ง 5 ราย ประกอบ ด้วย 1. ห้างทองจินฮั้วเฮง 2. ห้างทองฮั่วเซ่งเฮง 3. ห้างทองเลี่ยงเส็งเฮงพาณิชย์ 4. ห้างทองหลูชั้งฮวด 5. ห้างทองแต้จิบฮุย

วิธีกำหนดราคาทองของสมาคมฯ คำนวณจากหลายส่วน เช่น ราคาทองคำในตลาดโลก หรือที่เรียกว่า Gold Spot ค่าพรีเมียม ค่าเงินบาท ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และปัจจัยดีมานด์ ซัปพลายภายในประเทศ และพิจารณาจากปริมาณราคาจากการซื้อขายระหว่างผู้ลงทุนอีก 6 ราย คือ ผู้นำเข้าหรือผู้ส่งออกทองคำ ร้านค้าทองเยาวราช ร้านค้าส่งทองคำ ร้านค้าปลีกทองคำ ผู้ลงทุนทองคำรายใหญ่และผู้ลงทุนทองคำรายย่อย

การกำหนดราคาทองคำของสมาคม ค้าทองคำสร้างความเคลือบแคลงให้กับร้านค้าทองรายย่อยหรือผู้บริโภคบางรายมองว่ากำหนดราคาทองคำสูงเกินไป โดยเฉพาะค่าพรีเมียมที่มีการกล่าวถึงว่าเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อนำเข้าหรือส่งออกรวมถึงค่าขนส่ง ค่าความเสี่ยง ดอกเบี้ยธนาคาร ค่าประกันภัยต่างๆ ที่บอกว่าเป็นต้นทุนการนำทองเข้ามาจำหน่าย

ความสงสัยที่เกิดขึ้นอาจเป็นเพราะว่าคณะกรรมการของสมาคมค้าทองคำเป็นผู้ค้าทองคำรายใหญ่ที่ทำธุรกิจครบวงจร เป็นทั้งผู้นำเข้าและส่งออกทองคำ เป็นร้านค้าปลีกและค้าส่งและมีโรงงานผลิตทองคำย่อมมีวิสัยทัศน์ในการเห็นทิศทางราคาทองคำในตลาดโลก ทำให้สามารถวางแผนล่วงหน้าในการสั่งนำเข้าทองคำและเลือกจังหวะในการส่งออกทองคำ

แต่จิตติ นายกสมาคมค้าทองคำยืนยันว่าการกำหนดราคาทองคำของสมาคมมีมาตรฐาน และค่าพรีเมียมไม่ได้เกิดจากฝั่งของผู้ค้าสมาคมฯ เพียงรายเดียวแต่เกิดจากผู้ค้าในต่างประเทศเป็นผู้กำหนด

เช่น ในช่วงที่ทองขาด ตลาดโลกจะกำหนดค่าพรีเมียม 1-2 ดอลาร์สหรัฐ หากสถานการณ์ราคาทองผันผวน ความต้องการซื้อทองมีมากขึ้น ค่าพรีเมียมจะบวกเพิ่มตั้งแต่ 5 ดอลลาร์ไปจนถึง 20 ดอลลาร์สหรัฐ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาทองคำจะผันผวนขึ้นลงอย่างเร็ว แต่ผู้ค้ารายใหญ่ที่มีเงินทุน สูงแม้จะได้รับผลกระทบบ้างแต่ก็ไม่เท่ากับร้านค้าทองตู้แดงในประเทศไทยมีกำไรไม่มาก

กำไรของร้านตู้แดงรายย่อยเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้มาจากค่ากำเหน็จและดอกเบี้ยจากการจำนำทองของลูกค้า แต่ไม่ได้สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับธุรกิจมากมาย หลังจากที่ผู้ซื้อทองคำหันมาซื้อทองคำแท่งมากขึ้นกำไรที่เคยได้จากค่ากำเหน็จทองรูปพรรณจะลดน้อยลงไป

ร้านทองตู้แดงส่วนใหญ่จะมีทองรูปพรรณเป็นหลักแต่หลังจากทองคำแท่งเริ่มเข้ามาก็เข้ามาเบียดพื้นที่มากขึ้น ในไม่ช้าทองคำแท่งจะกลายเป็นสินค้าหลักในตู้แดงก็อาจเป็นไปได้

ความกังวลของผู้ค้าทองคำไม่ได้มีเพียงเฉพาะการเข้ามาแย่งพื้นที่ทองคำแท่งในตู้แดงเท่านั้น แต่ความกังวลที่มากกว่าคือการลงทุนรูปแบบใหม่ที่กำลังคืบคลานเข้ามาและจะส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมค้าทองคำทั้งระบบ นั่นก็คือ Gold Futures

โกลด์ฟิวเจอร์สเป็นสัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้าโดยไม่ต้องครอบครองทองคำจริงๆ และบริษัท ตลาดอนุพันธ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ TFEX ในฐานะศูนย์กลาง การซื้อขายสินค้าฟิวเจอร์สผลักดันมาร่วมปีจนสามารถเปิดให้บริการได้เมื่อ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

แม้ว่าโกลด์ฟิวเจอร์สจะเปิดบริการไปแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่สมาคมปรารถนาและพยายามเรียกร้องกับทีเฟ็กซ์มาตลอด คือให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางซื้อขายทองคำจริง แต่เป็นการซื้อขายล่วงหน้าเหมือนตลาดลอนดอน ฮ่องกง เพราะปัจจุบันประเทศไทยมีการซื้อขายทองคำมากกว่าฮ่องกงจึงมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นศูนย์กลางทองคำอีกแห่งหนึ่ง

สมาคมฯ ชี้ให้เห็นว่าตลาดโกลด์ฟิวเจอร์สไม่ได้ทำให้ธุรกิจเกิดความคล่องตัวเพราะ การซื้อขายที่เกิดขึ้นทั้ง 2 ฝั่ง ฝั่งผู้ซื้อและฝั่งผู้ขาย แต่พฤติกรรมคนไทยจะซื้อหรือขายในฝั่งเดียวกันทำให้ไม่สามารถจับคู่กันได้ง่าย

สมาคมฯ ยังมีความเป็นห่วงว่าลูกค้าในฝั่งที่บริโภคทองคำจริงจะไหลไปลงทุนในฝั่งของโกลด์ฟิวเจอร์สมากขึ้น เพราะเป็นการลงทุนเก็งกำไรระยะสั้นจนส่งให้มีการบริโภค ทองคำจริงลดน้อยลง

อติ อติกุล ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารอนุพันธ์ บมจ.หลักทรัพย์กิมเอ็ง (ประเทศไทย) บอกว่าลูกค้าที่เทรดโกลด์ฟิวเจอร์สจะแตกต่างจากลูกค้าที่เทรดทองคำแท่ง เพราะทองแท่ง จะซื้อนานเกิน 6 เดือนเมื่อราคาปรับขึ้นสูงก็จะขายเป็นการเล่นฝั่งขาขึ้นอย่างเดียว กลุ่มคนเหล่านี้จะอนุรักษนิยม ราคาทองถูกจะซื้อเก็บไว้แต่เมื่อราคาทองขึ้นจะขายเพื่อทำกำไร กลุ่มนี้จะเก็บทองไว้นาน

"ไม่ได้ตั้งใจจับลูกค้าทองแท่งแต่จะเน้นลูกค้าลงทุนทำกำไรระยะสั้นหรือ ทำกำไรบนความเคลื่อนไหวของราคา ถ้าลูกค้ามองเทรนด์ของสินค้าได้ ไม่ว่าจะเป็นราคาหุ้นโกลด์ฟิวเจอร์ หรือ SET 50 futures ถ้าลูกค้าชำนาญอ่านราคาสินทรัพย์ใดๆ ก็สามารถเล่นได้ทุกสินค้า"

แม้ว่าผู้ค้าทองคำจะไม่สนับสนุนโกลด์ฟิวเจอร์สอย่างเต็มที่แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้เต็มร้อยเพราะเป็นเรื่องยากที่จะทัดทานกระแสโลกและยุคเปลี่ยนผ่านจากการลงทุนทองคำกำลังจะเปลี่ยนไปสู่ investment อย่างแท้จริง

จึงทำให้ผู้ค้าทองคำโดยเฉพาะรายใหญ่ปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ด้วยการขยายธุรกิจจากเป็นผู้นำเข้า ส่งออกทองคำ หรือค้าส่งค้าปลีกมาก่อตั้งบริษัทฟิวเจอร์สเพื่อทำหน้าที่เป็นโบรกเกอร์และให้บริการโกลด์ฟิวเจอร์สเพียงอย่างเดียว

แต่การเป็นโบรกเกอร์ต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง มีเงื่อนไขกำหนดไว้สำหรับผู้ค้าทองคำจะเข้ามาให้บริการต้องมีทุนอย่างต่ำ 100 ล้านบาท จึงทำให้ผู้ค้าทองคำรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อร่วมทุนจัดตั้งบริษัท

ปัจจุบันผู้ค้าทองคำที่ผันตัวเองไปเป็นโบรกเกอร์มีทั้งหมด 5 ราย ประกอบด้วยบริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด บริษัท ที.ซี. ออสสิริส ฟิวเจอร์ส จำกัด บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด การรวมกลุ่มผู้ค้าทองคำเป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจให้ขยายกลุ่มลูกค้าเพิ่ม มากขึ้น เช่น บริษัท จีที เวลธ์ แมเนจเมนท์ จำกัด เกิดจากการรวมตัวผู้ค้าทองคำที่มีประสบการณ์ทั้งค้าปลีกและค้าส่งกว่า 50 ปีจำนวน 13 ราย และมีจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เป็นประธานกรรมการบริษัท และสาธิต วรรณศิลปิน เป็นกรรมการผู้จัดการ

ส่วนบริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ ฟิวเจอร์ จำกัด มีนายแพทย์กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ ประธานกลุ่มบริษัท แม่ทองสุก เอ็มทีเอส โกลด์ จำกัด เป็นหัวเรือใหญ่ เมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านได้แนะนำตัวแทนสนับสนุนการซื้อขายสัญญาโกลด์ฟิวเจอร์ส จำนวน 11 ราย

ผู้ค้า 11 รายเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า Selling Agent หรือ SA เป็นผู้ขายทองคำอยู่ในต่างจังหวัดครอบคลุม 5 ภาค คือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคใต้ นอกจากนี้บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ในกลุ่มวายแอลจี ผู้ค้าทองรายใหญ่ได้เปิดตัวตัว SA จำนวน 22 รายทั่วประเทศ

การปรับตัวของผู้ค้าทองรายใหญ่ไม่ได้เพียงก้าวไปเป็นโบรกเกอร์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ผู้ค้าทองอาจกลายเป็นผู้เล่นโกลด์ฟิวเจอร์สด้วยตนเองเพราะจากความรู้ประสบการณ์ที่คลุกคลีในธุรกิจทองคำอาจเป็นส่วนหนึ่งทำให้คาดการณ์ทิศทางราคาตลาดทองคำได้แม่นยำ

แม้ว่าผู้ค้าทองคำจะขยายตัวไปเป็นโบรกเกอร์แต่ธุรกิจค้าทองคำแท่งและรูปพรรณ ก็ยังให้ความสำคัญเช่นเดียวกัน และเพื่อให้ธุรกิจยังคงอยู่รอดผู้ค้าทองได้ใช้กลยุทธ์สร้างแบรนด์ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะผู้ค้ารายใหญ่ย่านเยาวราชที่อาศัยตำนานการทำธุรกิจที่มีมายาวนาน อย่างเช่นห้างทองตั้งโต๊ะกัง มีอายุร่วม 140 ปี ห้างทองจินฮั้วเฮง ห้างทองฮั่วเซ่งเฮง ที่มีอายุมากกว่าครึ่งศตวรรษและการอยู่บนถนนเยาวราชสร้างความได้เปรียบด้านความเชื่อถือมากขึ้น

ห้างทองจินฮั้วเฮง ใช้ความได้เปรียบที่มีโรงงานของตัวเองสร้างมาตรฐานผลิตทองคำให้สูงกว่ามาตรฐานทั่วไปพร้อมกับติดแบรนด์ลงไปในทองคำแท่งและรูปพรรณเมื่อลูกค้านำทองมาขายก็จะให้ราคาสูงกว่านำไปขายร้านอื่น

เทคนิควิธีการทำตลาดเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับห้างทองจินฮั้วเฮงเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับร้านค้าทองคำรายใหญ่กว่า 10 รายที่มีอยู่ในตลาดในขณะนี้

นอกจากการสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดแล้วการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาโดยเฉพาะ หันมาผลิตทองคำแท่งขนาดน้ำหนัก 1 สลึง 50 สตางค์ หรือ 1 บาท ไปจนถึงน้ำหนัก 1 กิโลกรัม เป็นการรองรับความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาซื้อทองคำแท่งเพิ่มมากขึ้น การปรับตัวของผู้ค้าทองคำรายใหญ่เป็นส่วนหนึ่งเพื่อความอยู่รอดในอนาคต ทว่า ผู้ค้าทองคำรายย่อยที่มีเงินทุนไม่มากจึงเป็นเรื่องที่ยากจะปรับตัวได้ทันและมีโอกาสล้มหายไปได้ง่าย

สัญญาณการลดจำนวนร้านตู้แดงที่เพิ่มมากขึ้นจาก 1 หมื่นราย เหลือ 6 พันกว่ารายในปัจจุบัน และในอีก 10 ปีข้างหน้าคาดว่าจะเหลือประมาณ 1 พันราย

ร้านค้าทองมีความผูกพันกับชุมชนเป็นระบบพึ่งพายามยากของประชาชนที่ขัดสน เป็นสัญลักษณ์ของความเจริญ เพราะตำบลไหนหรืออำเภอใดที่มีร้านทองไปเปิดแสดงให้เห็นว่าผู้คนพอมีอันจะกิน

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป อะไรๆ ก็เปลี่ยนตาม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.