การเมืองเรื่องขำขันกับพรรคโจ๊กในนิวซีแลนด์

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รายการหนึ่งที่ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายท่านชอบดูคงต้องมีรายการสภาโจ๊กรวมอยู่ด้วย เพราะว่าการเมืองเป็นเรื่องเครียดๆ แต่ถ้ามีรายการตลกเอามาเล่นก็จะช่วยคลายเครียดไปได้ในส่วนหนึ่ง ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบนั้นนอกจากจะมีรายการแบบสภาโจ๊กแล้ว พวกเขายังไม่มีการห้ามประชาชนตั้งพรรคการเมืองที่มีแนวคิดพิลึกพิสดาร เพราะเขาเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องความชอบของประชาชน

ในประเทศเที่พัฒนาแล้ว ก.ก.ต.หรือแม้แต่ศาลเองก็ไม่มีอำนาจที่จะมาจำกัดสิทธิในการที่ประชาชนจะตั้งพรรคที่มีนโยบายพิสดาร รวมทั้งไม่มีอำนาจในการไปยุบพรรคการเมืองใดๆ เพราะเขาเชื่อว่าพรรคการเมืองมาจากการสนับสนุนของประชาชน ถ้าคนไม่เลือกแล้วเงินหมดก็จะยุบพรรคกันไปเอง

พรรคการเมืองที่เข้าแข่งในสนามเลือกตั้งนั้นเดิมทีมีสามแบบ คือพรรคเชิงนโยบาย (Ideology Party) พรรคเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Party) กับพรรคเฉพาะกิจ (Catch all Party) แต่ในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดการแตกตัวออกมาอีกสองแบบ คือพรรคนโยบายเดียว (Single policy Party) ซึ่งพวกเขาไม่คิดว่านโยบายของตนเองเป็นตัวตลกหรือพิสดารอะไร แต่ในสายตาของคนทั่วไปมักจะมองว่า เป็นตัวตลกหรือเพี้ยน แต่ถ้าได้รับเลือกพวกนี้ก็จะเป็นพวกตกขอบ อย่างเช่นพรรคกรีนที่เน้นนโยบายธรรมชาตินิยมจนตกขอบ ในหลายๆ ประเทศ ผมได้คุยกับนักวิชาการท่านหนึ่งซึ่งให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ประชาชนไม่ตอบรับแนวคิดในการอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะการกระทำที่เกินขอบเขตความพอดีของพวกกรีน เขาชี้ว่า การกป้องธรรมชาติเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็น แต่การประท้วงไปทุกเรื่องโดยเฉพาะผู้นำการประท้วงมักจะเป็นพวกที่กล้าแสดงออกแต่มีปัญหา คือถ้าไม่เป็นพวกหัวรุนแรงจนตกขอบ ก็จะเป็นคนที่ไม่รู้จริงและทำให้ประเด็นไขว้เขว จนทำให้คนที่อยู่ตรงกลาง ไม่เอาด้วยเพราะผู้นำดันเป็นพวกที่ถ้าไม่หลักการรุนแรงจนลืมมองดูโลกของความเป็นจริง ก็เป็นพวกที่ไม่รู้จริงเอาแต่ฟังขี้ปากแล้วเอามาพูดจนคนเอือมระอา ตรงนี้เป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่าคะแนนนิยมของพวก NGOs ในต่างประเทศอยู่ในช่วงขาลง ไม่เหมือนกับเมื่อสิบปีก่อนที่องค์กรอิสระเฟื่องฟู

นอกจากธรรมชาตินิยมแล้วยังมีพรรคการเมืองนโยบายเดียวจำนวนมากในต่างประเทศ เช่น Legalize Cannabis หรือพรรคเสพกัญชาเสรี พรรคอนาธิปไตย พรรคเพื่อชนกลุ่มน้อย พรรคศาสนาที่เน้นคุณธรรม ซึ่งโดยมากพรรคพวกนี้จะมีฐานเสียงแน่นอน เช่น คนที่เคร่งศาสนา นักอนุรักษ์ ธรรมชาติ ชนกลุ่มน้อย และพวกขี้ยา

เนื่องจากประชาธิปไตยเต็มใบคือการปกครอง ที่เน้นความเท่าเทียมกันของประชาชน พร้อมกับการยอมรับการตัดสินใจของคนส่วนมากของประเทศ ดังนั้นประชาชนไม่ว่าจะยากดีมีจน จบอนุบาล หรือ ปริญญาเอก เป็นผู้เคร่งคุณธรรมหรือพวกขี้ยา ต่างมีสิทธิเท่าเทียมกัน นั่นคือสิทธิของการเป็นมนุษย์ประชาธิปไตยไม่ได้เป็นระบบปกครองที่ลำเอียงว่าคุณเป็นคนมีศีลธรรมแล้วจะมีสิทธิเหนือกว่าคนติดยา คุณเป็นคนรวยแล้วต้องมีสิทธิมากกว่าคนจน ดังนั้นประชาชนทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกันและคนที่แพ้ต้องยอมรับในการตัดสินใจของคนหมู่มาก

การตั้งพรรคการเมืองก็เช่นกัน แม้แต่คนขี้ยา ก็ตั้งพรรคได้ ในประเทศนิวซีแลนด์พรรคการเมือง ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งมีสิบสองพรรค ที่น่าสนใจคือพรรคเหยียดสีผิวที่ได้รับเลือกทุกครั้งก็มาสอบตกในคราวนี้ พรรคคริสเตียนได้คะแนนมากกว่าพรรคพี้ยา เสรีไม่กี่พันเสียง กอดคอกันสอบตก พรรคอนาธิปไตยยังมีคนสนับสนุนเป็นพันคน พรรคคอมมิวนิสต์แนวใหม่ได้คนสนับสนุนเก้าร้อยกว่าคน พรรครณรงค์ ระบอบสาธารณรัฐตกม้าตายเพราะได้คนมาโหวตให้แค่สามร้อยกว่าคน แต่นั่นหมายความว่ารัฐบาล ก.ก.ต.และศาล ไม่ต้องมาเสียเวลาและเสี่ยงต่อการถูกด่า เพื่อที่จะยุบพรรคเหล่านี้ ประชาชนเขาสามารถตัดสินใจเองได้ว่าพรรคสาธารณรัฐหรือคอมมิวนิสต์เป็นเรื่องไร้สาระพอๆ กับพรรคขี้ยากับพรรคคุณธรรม ตกขอบก็ไม่เป็นที่นิยมพอ จึงต้องเก็บของกลับโบสถ์ไปพร้อมๆ กับพลพรรคขี้ยาของพรรคกัญชาเสรีที่ต้องคว้าบ้องลงใต้ดินไปดูดปุ๊นรอกันต่อไปอีกสามปี

พรรคการเมืองแบบที่สอง เป็นพรรคการเมือง ที่ตั้งมาเพื่อให้คนที่เบื่อการเมืองและอยากจะโนโหวต ออกมาเลือก เรียกว่าเลือกเอาสนุก แบบ Protest votes ซึ่งเรียกกันว่าพรรคโจ๊ก และในบรรดาพรรคที่สอบตกของนิวซีแลนด์นั้น ปรากฏว่าพรรคโจ๊กได้คะแนนสนับสนุนมากเป็นอันดับที่สอง ตามด้วยพรรคเหยียดสิผิว และได้คะแนนมากกว่าพรรคนโยบายเดียวที่สอบตกทุกพรรค

พรรคโจ๊กในนิวซีแลนด์นั้นมีจุดเริ่มต้นจากบรรดานักศึกษารัฐศาสตร์ในยุค 70 ที่มีแนวคิดต่อต้านสงครามเวียดนาม โดยไม่พอใจนโยบายตามก้น อเมริกาของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยเริ่มจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ซึ่งแทนที่จะไปประท้วงแบบในอเมริกา พวกเขานำแนวคิดการเอาสงครามมาล้อเล่น โดยการทำสงครามแบบตลกๆ เรียกว่าสงครามเพื่อความสงบ โดยเริ่มจากการตั้งกองทัพเล่นๆ เพื่อรบกันเอง โดยเริ่มจากกลุ่มที่เรียกตนเองว่า Alf Imperial Army ซึ่งเป็นกองทัพพิทักษ์ราชวงศ์ และจักรวรรดิอังกฤษ โดยมีเครื่องแบบคล้ายคลึงกับ กองทัพบกของจักรวรรดิอังกฤษในสมัยพระนางเจ้าวิคตอเรียช่วงปลายศตวรรษที่ 19 โดยแนวคิดดังกล่าวได้ลามมาที่นิวซีแลนด์โดยเริ่มจากนักศึกษามหาวิทยาลัยแคนเทอเบอรี่ โดยเล่นตลกต่อโดยตั้งพ่อมดแห่งไครส์เชิร์ช ซึ่งเป็นนักพูดเสียดสีสังคมให้เป็น Archwizard of Canterbury เลียนแบบ Archbishop of Canterbury

แนวคิดเพี้ยนๆ ดังกล่าวได้ลามไปยังมหาวิทยาลัยโอทาโก ซึ่งอยู่ที่เมืองดันเนดิน ในนิวซีแลนด์นั้นมีเมืองสองเมืองด้วยกันที่นำผังเมืองของอังกฤษและสกอตแลนด์มาวางผัง โดยไครส์เชิร์ช ได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความเป็นอังกฤษนอกราชอาณาจักรมากที่สุด ในขณะที่ดันเนดินเองก็เป็นเมือง ที่เป็นสกอตติชมากที่สุดนอกสกอตแลนด์ เมื่อนิสิตแคนเทอเบอรี่เอาความเป็นอังกฤษมาสร้างกองทัพขำขันเพื่อราชวงศ์วินเซอร์ ชาวดันเนดินก็ตั้งกองทัพ McGillicuddy Highland Army ขึ้นมาแข่งโดยเอาแนวคิดขำขันว่าตนเป็นสกอตก็ต้องสู้เพื่อล้มล้างราชวงศ์วินเซอร์ที่สืบเชื้อสายมาจากสายฮันโนเวอเรียนของเยอรมนีและกอบกู้ราชวงศ์สจ้วต ซึ่งเป็นเชื้อพระวงศ์สายจาโคไบน์ ซึ่งสิทธิการครองราชย์มาเปลี่ยนมือหลังรัชสมัยพระนางเจ้าแอน โดยนักประวัติศาสตร์ต่างทราบดีว่าในอดีตราชวงศ์สจ้วตนั้น เป็นราชวงศ์ของสกอตแลนด์ เคยทำสงครามแย่งชิง ราชบัลลังก์โดยเจ้าชายชาร์ล เอ็ดเวิร์ด สจ้วต กับพระเจ้าจอร์จที่สองมาแล้ว ทำให้เกิดตำนานมากมาย ทั้งการหนีของเจ้าชายชาร์ล เอ็ดเวิร์ด กับตำนานรักของฟรอลา แมคดอนัลต์ สงครามคัลโลเดนและพิชัย สงครามของดยุค คัมเบอร์แลนด์ นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์สมัยใหม่หลายเรื่อง รวมทั้งตลกอย่างจอนนี่ อิงลิช ที่แสดงโดยโรวาน แอตกินสัน หรือมิสเตอร์บีน ที่มีโครงเรื่องว่าเจ้านายสายจาโคไบน์ วางแผนโค่นล้มราชวงศ์วินเซอร์เพื่อกอบกู้ราชวงศ์สจ้วต

นักศึกษาจากดันเนดินเอามุกชาวสกอตมาเล่น เรียกว่ากองทัพเพื่อกอบกู้ราชวงศ์สจ้วตและขนนักศึกษาในช่วงรับน้องออกมารบกับนักศึกษาแคนเทอเบอรี่อย่างสม่ำเสมอ โดยทั้งสองฝ่ายจะเริ่มจากการฝึกแถวทหาร ยุทธการรบ ในมหาวิทยาลัยของตนเอง ก่อนที่รุ่นพี่จะตั้งแม่ทัพนายกอง มีเครื่องแบบ และแบ่งการรบเป็นหลายรอบ เช่น รอบยุทธการโบราณทั้งสองกองทัพจะเอากระดาษแข็งและม้วนหนังสือพิมพ์ต่างดาบและโล่เข้าไล่ตีกัน ส่วนสงคราม สมัยใหม่จะใช้ปืนฉีดน้ำ โดยพวกปืนขนาดเล็กแบ่งเป็นกองทหารราบ พวกปืนฉีดน้ำขนาดใหญ่เรียกว่าทหารปืนใหญ่ แล้วเอามายิงกันสนุกสนานคล้ายเทศกาลสงกรานต์ มีการชนะและแพ้แบบสงครามจริงๆ แต่ทำกันแบบขำขัน ในช่วงรับน้องใหม่ แนวคิดตลกดังกล่าวลามไปถึงมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่นทางโอ๊กแลนด์ เริ่มแนวคิดไม่เอาทั้งสองราชวงศ์ประกาศตั้งกองทัพสาธารณรัฐ ออกมาเล่นตลกบ้าง ซึ่งในประเทศอย่างนิวซีแลนด์ การเอาแนวคิดแบบนี้มาเล่นนั้นไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด โดยนักศึกษาที่โดนยิงต้องไปรักษาตัวด้วยการกินยา ซึ่งก็คือเบียร์นั่นเอง

ต่อมาในยุค 80 บรรดานักศึกษาปรับแนวคิดใหม่มาตั้งชมรม เรียกว่า Killing as Organised Sport (KAOS) มีการขยายไปมหาวิทยาลัยวิคตอเรียเป็นแห่งที่สี่ โดยแบ่งกองกำลังกันเองในมหาวิทยาลัย นอกจากเป็นการรับน้องใหม่แล้วยังออกรบแบบขำขันร่วมกับศิษย์เก่าและพวกกองทัพโจ๊ก เป็นกิจกรรมยอดนิยมอย่างหนึ่งในชีวิตนักศึกษา ซึ่งผมเองก็ไม่แน่ใจว่าแนวคิดทหารเสือปะทะเบรฟฮาร์ตนี้มีผลต่อวงการรักบี้ขนาดไหน เพราะว่าสโมสรรักบี้ยอดนิยมของไครส์เชิร์ชมีการปรับแมสคอตใหม่เป็นอัศวินอังกฤษขี่ม้าขาว มีชื่อเล่นใหม่ว่าครูเซเดอร์ ซึ่งเป็นทหารเสือของพระเจ้าริชาร์ดใจสิงห์ ขณะที่ทีมจากดันเนดินก็เป็นอัศวินสกอต เรียกทีมตนเองว่าไฮแลนเดอร์ มีการทาหน้าเป็นธงสกอตแบบเบรฟฮาร์ตจนถึงทุกวันนี้

ในช่วงนี้เองบรรดานักศึกษาตั้งแต่ยุค 80 เริ่มแข่งกันนอกมหาวิทยาลัย เริ่มจากพ่อมดแห่ง ไครส์เชิร์ชประกาศตั้งพรรค Imperial British Conservative Party ซึ่งมีนโยบายปกป้องราชบัลลังก์ ขับไล่พวกสาธารณรัฐ ต่อต้านโลกาภิวัตน์ ฟื้นฟูจักรวรรดิอังกฤษและล่าอาณานิคม ซึ่งเป็นแนวคิดหลุดๆ ขำขัน รวมทั้งแนวคิดให้ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เลือกเอาเจ้าหญิงแอนมาเป็นควีนของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยแยกเป็นราชวงศ์วินเซอร์สายดาวน์อันเดอร์

ต่อมาพวกสกอตเอามาเล่นบ้างโดยตั้ง McGillicuddy Serious Party โดยมีนโยบายขำขันแข่งกับพรรคอิมพีเรียล โดยเวลาไปหาเสียงถ้าเจอผู้สมัครพรรคคู่แข่งมักจะท้าดวลกันด้วยดาบและโล่กระดาษแข็งแบบอัศวินในหนัง เพื่อเรียกเสียงฮาจากประชาชน โดยการเลือกผู้ลงสมัครของพรรคโจ๊กเหล่านี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนพอสมควร เช่นการให้ผู้ที่ต้องการจะลงสมัครในนามพรรคต้องมาดวลดาบกระดาษ หรือปืนฉีดน้ำกัน บางครั้ง ก็มีการแข่งเก้าอี้ดนตรีกลางเมือง หรือลองไซส์รองเท้าแบบซินเดอเรลลา เพื่อหาผู้ลงสมัครและเสนอ นโยบายเพี้ยนๆ ตั้งแต่เปลี่ยนราชวงศ์ไปถึงการตั้งสังฆราชแบบทิเบต แนวคิดบ๊องๆ เหล่านี้ได้ดึงดูดพวกชอบโนโหวตให้มาเลือกบรรดานักศึกษา ต่อมาเมื่อพรรคอิมพีเรียลทำท่าจะไปไม่รอด บรรดาผู้นำพรรคโจ๊กเลยเอาทั้งสองพรรคมารวมกันในนามแมคกิลิคัดดี้ซีเรียส โดยเสนอนโยบายเพี้ยนๆ เสียดสีการเมืองแทนเรื่องราชวงศ์อังกฤษ

ในยุคที่ผ่านมาพรรคโจ๊กออกนโยบายขำขัน เช่น ถ้ากลัวภาวะเงินเฟ้อก็เลิกใช้เงินเอาช็อกโกแลต มาใช้แทน เมื่อโดนถามเกี่ยวกับนโยบายคนตกงาน พรรคโจ๊กจะตอบว่าถ้าอย่างนั้นก็เอาคนตกงานมาเป็นทาสเพื่อลดอัตราการตกงาน หรือไม่ก็ทำไมต้องไปกลัวคนตกงานให้ตกงานไปทั้งประเทศจะได้เลิกกลัว เมื่อพวกสิทธิสตรีออกมาเรียกร้องสิทธิ พรรคโจ๊กจึงเสนอนโยบายสิทธิบุรุษ รวมทั้งต่อมาเอามุกนี้มาเล่นซ้ำ เช่น นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่มอบสิทธิสตรีและมีนายกรัฐมนตรีผู้หญิงสืบทอดตำแหน่งกัน ดังนั้นชาวนิวซีแลนด์ควรเข้าใจ ว่าประเทศไม่ได้มีประชากรแค่ผู้หญิงและผู้ชาย แต่มีประชากรเม่นเป็นจำนวนมาก จึงเห็นควรให้เม่นมีสิทธิเลือกตั้ง ต่อมาเมื่อพรรคกรีนเสนอนโยบายธรรมชาติ พรรคโจ๊กจึงเสนอนโยบายให้ต้นไม้มีสิทธิ เลือกตั้งโดยให้แบ่ง ส.ส.ต้นไม้เป็นเขตเลือกตั้งต้นไม้ ฝรั่งกับเขตเลือกตั้งต้นไม้เมารี นโยบายให้ยกเลิกกองทัพนิวซีแลนด์ เพราะไม่มีใครมารุกรานแล้วและให้กองทัพโจ๊กเป็นกองทัพแห่งชาติ โดยไม่ต้องไปเสียงบประมาณซื้ออาวุธ

เมื่อนักการเมืองพูดถึงการสร้างสังคมที่มีคุณภาพ พรรคโจ๊กออกนโยบายการสร้างสังคมด้อยคุณภาพ แตกแยก และไร้สาระ เมื่อพรรคต่างๆ ออกทีวีถกเถียงกันถึงปัญหาเศรษฐกิจ พรรคโจ๊กจะออกนโยบายว่า ถ้ากลัวเศรษฐกิจล่มให้ติด Airbag เมื่อนักการเมืองถกเถียง เรื่องการทำแท้งเสรี พรรคโจ๊กก็โต้ว่ากลัวทำไม ไม่ต้องกลัวเรื่องศีลธรรมหรือแท้งเสรี แค่ออกกฎหมายใหม่ว่าห้ามทำแท้งแต่ให้แม่ฆ่าลูกได้ถ้าไม่พอใจจะเลี้ยงไว้ในช่วงสิบแปดปีแรกก็พอ เมื่อมีการให้สรุปนโยบายบรรดาพรรค การเมืองจะสรุป เช่น เราพูดจริง ทำจริง เรายึดมั่นในอุดมการณ์ เราเชื่อมั่นในระบบรัฐสภา แต่พรรคโจ๊กจะบอกว่า เราไม่มีนโยบาย เราไม่สัญญา ถ้าเราสัญญาอะไรไว้เราก็จะไม่รักษาสัญญา ดังนั้นคุณจึงไม่มีวันผิดหวังกับพวกเรา นอกจากนี้จะมีการพูดเสียดสีนักการเมือง เช่น ประชาชนเลือกนักการเมือง น้ำเน่าเข้าสภา เข้าไปก็ไม่รักษาสัญญาสักที เลือกเราดีกว่า เรียกได้ว่าเป็นพรรคตัวป่วนการเลือกตั้งที่เรียกเสียงฮาให้กับผู้ชมทางบ้านได้เสมอ

เมื่อโดนถามว่าทำไมถึงมาลงเลือกตั้ง พรรคโจ๊กต่างตอบว่า ดีจะตาย เสียแค่พันดอลลาร์ แล้วได้ออกทีวีคุณว่าคุ้มไหมล่ะ แถมถ้าได้เสียงเกินหมื่นเสียง ก.ก.ต.จะคืนเงินให้อีก เราจึงขอเสนอนโยบาย ซื้อเสียงออกทีวีเลย ถ้าได้เกินหมื่นเสียงเราจะเอาเงินที่ได้คืนจาก ก.ก.ต.ไปจัดปาร์ตี้ให้คนที่เลือกเรามาก๊งเบียร์ฟรีหนึ่งคืนในเมืองที่เราได้รับคะแนนมากที่สุด

แน่นอนครับ เลือกตั้งทีไรพรรคโจ๊กได้เงินคืน มาก๊งเหล้าทุกที โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดบรรดาพรรคโจ๊กซึ่งตัดสินใจยุบพรรคไปหมดออกมารวมกันในนามพรรคบิลแอนด์เบน โดยให้ดาราสภาโจ๊กสองคนออกมานำพรรค ผลปรากฏว่าแจ๊กพอตไปตก ที่เมืองอินเวอร์คาร์กิล ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของดันเนดิน เพราะพรรคโจ๊กได้รับเสียงจากเมืองนี้มากที่สุดจึงได้ปิดบาร์ให้ชาวอินเวอร์คาร์กิลออกมาดื่มฟรี

พรรคโจ๊กไม่ได้มีแค่ในนิวซีแลนด์และออสเตรเลียเท่านั้น แต่มีอยู่ในประเทศที่มีประชา ธิปไตยเต็มใบทั่วโลก เช่น พรรค Nee ในเบลเยียมที่มีนโยบายฮาๆ เช่น ช่วงที่พรรคการเมืองเน้นเรื่องการจ้างงาน (job) สี่แสนงาน ผู้ลงสมัคร ส.ว.สาวหน้าตาดีของพรรคโจ๊กเสนอว่า ถ้าได้รับเลือกจะทำ blowjob ให้คนที่เลือกสี่หมื่นคนแรกแถมมีวิดีโอคลิปให้ดูทางยูทูป (ปัจจุบันโดนปิดไปแล้ว) นอกจากนี้ยังมีพรรคแรด (Rhino Party) ในแคนาดาที่เสนอนโยบายฮาๆ เช่น ประกาศสงครามกับเบลเยียม เพราะแตงแตง พระเอกของการ์ตูนเบลเยียมฆ่าแรด ไขน้ำจากแม่น้ำให้ท่วม นครมอนทรีออล จะได้ทำให้เป็นเวนิสของอเมริกา รบกับอเมริกาเพราะ Southpark แก้ปัญหาคนทำผิดกฎหมายด้วยการยกเลิกกฎหมายทั้งหมด สั่งให้เนยเป็นสินค้าผิดกฎหมาย เพราะประชาชนติดการเอาเนยทาขนมปัง ให้ถือว่าเนยเป็นยาเสพติดและสร้างไขมันซึ่งสามารถ ทำให้คนตายได้ นอกจากนี้ในอังกฤษก็ยังมีพรรค Scottish Jacobite Party มีนโยบายเพี้ยนๆ แบบ พรรคแมคกิลิคัดดี้ของนิวซีแลนด์ พรรคนางงามอังกฤษให้ผู้สมัครนางงามอังกฤษไปลงสมัครรับเลือกตั้งเพื่อสร้างสีสันให้กับการเมือง

การที่ประเทศต่างๆ มีพรรคโจ๊กออกมาก็เพื่อลดความเครียดของประชาชนที่มีต่อการเมืองและลดแรงกดดันกับความแตกแยกทางการเมืองเพราะพรรคโจ๊กเอาความแตกแยกทางการเมืองมาเป็นกิจกรรมคลายเครียด เมื่อเกือบยี่สิบปีก่อนมีผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่า กทม.รายหนึ่งเสนอแนวคิดฮาๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหารถติดด้วยการเปิดไฟเขียวทุกช่องทางใครมาก่อนไปก่อน ทำให้ลดความเครียดทางการเมืองในกรุงเทพฯ ไปได้มากถึงขนาด ที่มีรายการตลกรายการหนึ่งเอามาเล่นว่า ถ้ารถมาพร้อมกันก็ต้องมาวัดใจกัน ผมเชื่อว่าการเมืองแม้จะเป็นเรื่องเครียดแต่ถ้าสนามเลือกตั้งมีการทำให้มันสนุกสนานขึ้นก็อาจจะเป็นทางออกให้ประชาชนกลุ่มหนึ่งและอาจจะลดความแตกแยกทางสังคมก็เป็นได้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.