การล่มสลายของสถาบันการเงินเกิดขึ้นในยุคสมัยของ กำจร สถิรกุลมากที่สุด
จนหลายคนวิจารณ์เขาว่า เป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติที่ไม่กล้าตัดสินใจแก้ปัญหาแบบเฉียบขาด
แต่กำจรก็เป็นตัวของเขาเองที่มีสไตล์การทำงานที่ไม่เหมือนใคร เขาบอก "ผู้จัดการ"
ว่า "ผมเหมือนลูกฟุตบอล ใครจะเตะ ก็ได้"
"ผู้จัดการ" ฉบับเดือนกันยายน 2527 เคยเขียนถึงกำจร สถิรกุลไว้ตอนหนึ่งว่า
ก่อนหน้าที่กำจรได้รับการแต่งตั้งจากสมหมาย ฮุนตระกูล รมต.คลังสมัยนั้นให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ
"กำจรได้ทำงานชิ้นหนึ่ง เพื่อช่วยสมหมายในเรื่องเกี่ยวกับนิพัทธ พุกณะสุต
ซึ่งมีศักดิ์เป็นหลานชายของสมหมาย โดยที่นิพัทธ ซึ่งเคยถูกกระทรวงการคลัง
ส่งไปเป็นกรรมการของบริษัทไทยเดินเรือทะเล และถูกคณะกรรมการ ป.ป.ป.สอบสวนในกรณีที่จัดทำสัญญาเช่าเรือมารีนไทล์อีเกิล
บรรทุกน้ำมันให้ปตท.ซึ่งสัญญาเสียเปรียบเจ้าของเรือทำให้รัฐสูญเสียเงินโดยใช่เหตุ
และกำธร พันธุลาภ ซึ่งเป็นประธานป.ป.ป.สอบสวนแล้วว่ามีความผิดจริงจึงส่งเรื่องคืนต้นสังกัดโดยกำจร
สถิรกุล เป็นประธานในการสอบสวนและกำจรได้ชี้ลงไปว่า นิพัทธไม่มีความผิดเพราะถูกยืมตัวไปทำงาน
หลังจากนั้นกำจรก็ส่งนิพัทธไปเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ที่กรุงวอชิงตัน นิพัทธจึงรอดตัวไป…"
เหตุการณ์ช่วงนั้น กำจร สถิรกุล ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
กระทรวงการคลัง กล่าวกันว่าผลงานชิ้นนี้ของกำจรเป็นที่สบอารมณ์ของสมหมายมาก
การโยกย้ายกำจรไปแทนที่นุกูล ประจวบเหมาะ ในตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติกระแสข่าวหลายวงการในขณะนั้นเชื่อว่าสมหมายยิงกระสุนนัดเดียวได้นก
2 ตัว กล่าวคือ เอาคนอย่างกำจรซึ่งสมหมายรู้ดีว่าเป็นข้าราชการที่ไม่รู้จักปฏิเสธคำขอร้องของผู้ใหญ่มาเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ
โอกาสที่กำจรจะสร้างความขัดแย้งกับตนย่อมเป็นไปได้ยากขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้มนัส
ลีวีระพันธุ์ซึ่งขณะนั้นเป็นรองผ.อ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่เปรียบเสมือนเป็นมือขวาของตนได้ขึ้นตำแหน่งแทนกำจรในตำแหน่ง
ผ.อ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
จากวันนั้นถึงวันนี้ 3 ปีเศษแล้วรัฐมนตรีคลังได้เปลี่ยนจากสมหมาย ฮุนตระกูลมาเป็นสุธี
สิงห์เสน่ห์ กำจร สถิรกุล เด็กจากปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ผู้ผ่านการศึกษาอบรมด้วยทุนของรัฐบาลของมหาวิทยาลัยมิชิแกน
ในสาขาเศรษฐศาสตร์ และเป็นผู้ที่คนในวงการศุลกากรยอมซูฮกให้ในความเป็นผู้รู้มากคนหนึ่งในการบบริหารกิจการศุลกากร
ด้วยประสบการณ์การเป็นลูกหม้อในศุลกากรถึง 22 ปี เริ่มต้นเงินเดือนที่ 1,900
บาทก่อนหน้าที่จะถูกโยกย้ายมากินตำแหน่ง ผ.อ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลังในระยะเวลาสั้นเพียง
3 ปี
กล่าวกันว่า ช่วงที่กำจร สถิรกุล ขึ้นมากินตำแหน่งแบงก์ชาติแบบ "บุญหล่นทับ"
มีเพื่อนฝูงเขาหลายคนกระเซ้าเขาว่าจะทำหน้าที่นี้ได้หรือในเมื่อเขาเป้นผู้เชี่ยญชาญแต่ด้านศุลกากรจับของเถื่อน
กำจรก็ได้แต่ยกประวัติของ ADAM SMITH มาตอบคำถามเพื่อนฝูงอย่างเนืองๆ ว่า
"รู้ไหมว่าตอนที่ ADAM SMITH เขียนเรื่อง THE WEALTH NATION ซึ่งเป็นคัมภีร์ของระบบทุนนิยม
ที่ใช้อ้างอิงกันแพร่หลายตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน ADAM SMITH ทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ศุลกากรอยู่นะแล้วไฉนคนอย่างกำจรจะเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติไม่ได้"
…ก็นับว่า คำตอบของกำจรเช่นนี้คมคายไม่เบา เฉียบแหลมพอๆ กับความสามารถในการดูพระดูพลอยที่เขาพูดอยู่เสมอว่า
เป็นงานอดิเรกพักผ่อนของเขาทีเดียว….
ประสบการณ์ 22 ปีในกรมศุลกากรเป็นห้วงเวลาที่กำจร สถิรกุล ถือว่ามีคุณค่ายิ่งสำหรับตัวเขาในชีวิตรับราชการ
ความรู้ต่างๆ จากงานศุลกากรเขาได้นำมาปรับใช้กับภารกิจในการกำกับนโยบายรักษาความมั่นคงสถาบันการเงิน
ซึ่งในสมัยของเขาในตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติถือได้ว่า เป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินนโยบายของธนาคารชาติ
เพราะปัญหาความไร้เสถียรภาพของสถาบันการเงิน ที่หมักหมมมาก่อนหน้าสมัยของเขาได้ประทุกันอย่างต่อเนื่องมาในสมัยของเขาเป็นระลอกคลื่น
จนเขาได้ปรารภกับ "ผู้จัดการ" อย่างยอมรับว่า ในชีวิตราชการของเขา
ช่วง 3ปีที่เป็นผู้ว่าแบงก์ชาติรู้สึกอิ่มแล้วทั้งลาภ ยศ สรรเสริญ การติฉินนินทา
และการทำงานหนัก
เขากล่าวว่า ปัญหาการตรวจสอบของสถาบันการเงิน เป็นเรื่องที่ต้องใช้แนวทางวิธีการตรวจสอบคล้ายๆ
กับการบุกจับสินค้าเถื่อนในงานศุลกากรงานข่าวกรองเป็นเรื่องสำคัญ กรณีตัวอย่างแบงก์มหานครเมื่อปี
2529 ทันทีที่กำจรได้กลิ่นไม่ดีเขาได้จัดส่งปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่แบงก์ชาติระดับสูง
จากสาขาภาคเหนือเข้าไปกินตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์มหานครเพื่อสอบดูว่าแบงก์มหานครมมมีปัญหาอะไรและอยู่ตรงไหน
ขณะเดียวกันเพื่อมิให้เกมข่าวกรองนี้สร้างความตื่นตระหนกแก่สาธาณะชน ภายนอกกำจรได้จัดฉากประชาสัมพันธ์ไปในทำนองว่า
ปกรณ์ลาออกจากแบงก์ชาติไปอยู่แบงก์มหานครเพื่อให้แบงก์นี้บริหารแบบมืออาชีพมากขึ้น
เมื่อเกมข่าวกรองทำได้ระยะหนึ่งโดยปกรณ์ ได้รายงานผลต่อกำจรอยู่ทุกระยะจนกำจรแน่ใจว่าวิธีแก้ปัญหาแบงก์มหานครต้องใช้อำนาจทางกฎหมายพ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ปี
2528 ลดทุนจากหุ้นละ 100 บาทเหลือ 5 บาท แล้วเพิ่มทุนเข้าไป 1,000 ล้านบาท
เพื่อตัดหนี้สูญบางส่วนที่ตรวจสอบในขณะนั้นประมาณ 4,600 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน กำจรก็ดันปกรณ์ขึ้นไปกินตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่แทน "โคโร่"
หรือ คำรณ เตชะไพบูลย์ ผู้กุมตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่เดิม โดยให้คำรณไปนั่งตำแหน่งลอยที่ปรึกษาและประธานกรรมการธนาคาร
ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ปัญหาที่ว่าดำเนินไปได้สะดวก
ปกรณ์ทำงานในหน้าที่ที่กำจรมอบหมายให้เพียงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ถึงปีกำจรก็สั่งปกรณ์ให้ถอนตัวออกมา
แล้วให้สุนทร อรุณานนท์ชัย จากสินเอเชียซึ่งเป็น PROXY ของชาตรี โสภณพนิช
ตามความเชื่อของแหล่งข่าวหลายกระแสตอนนั้นขึ้นแทนปกรณ์ขณะเดียวกัน กำจรก็ไม่ปล่อยมือเสียทีเดียว
ส่งมาโนช กาญจนฉายา และวิทวัฒน์ อุสินโน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของแบงก์ชาติเข้าไปกินตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและกรรมการบริหารคุมสุนทรอีกทีหนึ่ง
เกมข่าวกรองสไตล์กำจร กรณีแบงก์มหานครจบลงในขั้นแรกตรงนี้ ซึ่งเท่ากับที่กำจรเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟัง เขาแสดงความรู้สึกภาคภูมิใจในสิ่งที่ตนทำอย่างเห็นได้ชัด
มันคล้ายๆ กับว่า กำจรได้ใช้วิทยายุทธงานข่าวกรองและปฏิบัติการจับของเถื่อนที่เคยทำมามากต่อมากในสมัยอยู่ศุลกากรอย่างไรอย่างนั้น
แต่งานนี้ กำจรก็ถูกโจมตีจากคนภายนอกมากว่า เงื้อดาบนานเหลือเกินก่อนจะตัดสินใจฟัน
เพราะกินเวลานานถึง 1 ปีเต็ม ส่วนหนึ่งเหตุผลเพราะกำจรต้องการรออำนาจก.ม.ธนาคารพาณิชย์ฉบับแก้ไขใหม่ที่ประกาศใช้เดือน
พ.ย. 2528 แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่อยู่ก้นบึ้งของกำจรเองคือ สไตล์ของเขาเองในการจัดการปัญหา
ที่เขาเองยอมรับว่า เขาเป็นคนที่ไม่ชอบใช้ดาบ ชอบที่ใช้การเจรจาเพื่อการจูงใจมากกว่า
ด้วยเชื่อว่า การใช้ดาบนั้นไม่สามารถทำให้ทุกคนพึงพอใจได้ "ผมเป็นคนที่มีนิสัยเปิดโอกาสให้เวลาไม่ชอบบังคับ"
เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ" สไตล์การจัดการปัญหาแก้ไขวิกฤติการณ์ความมั่นคงสถาบันการเงินแบบนี้ของกำจรเป็นสไตล์ที่ขัดแย้งกันเอามากๆ
กับนุกูล ประจวบเหมาะ ผู้ว่าการแบงก์ชาติคนก่อนหน้า ที่เป็นคนกล้าตัดสินใจใช้ดาบอย่างไม่เกรงกลัวอำนาจบารมีใคร
ดังกรณีตัวอย่างแบงก์เอเชียทรัสต์เมื่อช่วงปี 2527
สถานภาพของ ผู้ว่าแบงก์ชาติอยู่ในสภาพที่หนัก ไม่มีใครปฏิเสธเพราะบุคลิกภาพ
อำนาจบารมีของผู้ว่าการเป็นตัวสะท้อนภาพสถาบันธนาคารกลาง กำจรก็อยู่ในกรอบนี้เช่นกันเขาต้องใช้ศิลปะอย่างมากในการสร้างดุลยภาพ
ระหว่างการเจรจาจูงใจกับการใช้อำนาจตามกฎหมาย วิธีการดำเนินศิลปะแบบนี้ กำจรได้สรุปด้วยคำพูดสั้นๆ
ในวิธีการของเขาว่า "เขาจะทำตัวเป็นลูกฟุตบอลให้ทุกคนเตะให้น่วมเสียก่อน
เพื่อจะได้รู้ว่าแต่ละคนที่เตะนั้นมีความต้องการอย่างไร แล้วจึงค่อยตัดสินใจดำเนินการ"
สิ่งนั้นหมายความอย่างไร
คำตอบมี 2 ประเด็น คือ หนึ่ง-สะท้อนถึงสไตล์ของกำจรได้แจ่มชัดมากกว่าเวลาเผชิญปัญหาเขาไม่หนีปัญหาแต่เขาจะปล่อยให้สถานการณ์มันสุกงอมเอง
ไม่ว่าจะกินเวลานานเท่าไร สอง-สะท้อนว่ากำจรเป็นคนชอบแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและพร้อมที่จะดูทิศทางลมอยู่ตลอดเวลา
ก่อนตัดสินใจดำเนินการ
กรณีตัวอย่างแบงก์นครหลวงไทยระหว่างปี 2528-2529 เป็นตัวอย่างแจ่มชัดอีกอันหนึ่งที่บุญชู
โรจนเสถียร ไม่อาจลืมได้ชั่วชีวิตนี้!!!
กำจรได้ยับยั้งการลาออกของบุญชูโดยรับปากว่าจะส่งคนแบงก์ชาติเข้ามาควบคุมดูแลแบงก์อย่างใกล้ชิด
ด้วยเหตุผลของบุญชูที่รายงานให้กำจรทราบตลอดมาว่าเขาถูกขัดขวางแผนการปฏิรูปธนาคาร
5 ปีจากกลุ่มมหาดำรงค์กุล ที่กำจรลงนามอนุมัติเห็นชอบด้วยแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม
2527
กล่าวกันว่าคำร้องของกำจรครั้งนั้น บุญชูเชื่อ แต่แล้วก็ต้องผิดหวังเมื่อกำจรถูกอำนาจจากกระทรวงการคลัง
ทำให้ต้องบิดพริ้วตามทิศทางลมเบื้องบน กำจรกล่าวในภายหลังว่า ปัญหาแบงก์นครหลวงไทยเป็นเรื่องภายในที่ขัดแย้งกันเองของกลุ่มผู้ถือหุ้น
"เป็นเรื่องของผัวเมียทะเลอะกัน" มันกลับกลายเป็นว่า ไม่ใช่เรื่องของความขัดแย้งที่เกิดจากหลักการและความถูกต้องที่อีกฝ่ายหนึ่ง
(บุญชู) ปฏิบัติตามเงื่อนไขของแบงก์ชาติแต่ถูกขัดขวางอีกฝ่ายหนึ่ง (มหาดำรงค์กุล)
ไปเสียฉิบ (อ่านรายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมได้จาก "ผู้จัดการ"
ฉบับ พฤษภาคม 2528)
สไตล์การแก้ปัญหาของกำจรในลักษณะเช่นนี้ที่ว่า "ทำตัวเป็นแบบลูกฟุตบอล"
มันอันตราย มันเหมือนคล้ายๆ กับว่า กำจรเต้นระบำตามเพลงของผู้มีอำนาจในกระทรวงการคลังมากกวาเต้นตามเพลงของตัวเองจุดนี้เองีท่มีการพูดกันมาก
ในยุคสมัยของกำจรว่า สมควรที่จะต้องมานั่งทบทวนปัญหาสถานะภาพและความมีอิสระ
(ที่แท้จริง) ของแบงก์ชาติกันอย่างจริงจัง
แหล่งข่าวระดับสูงในแบงก์ชาติเคยตั้งข้อสังเกตกับ "ผู้จัดการ"
ว่า การทำงานของกำจรนั้น มีลักษณะทุ่มเทให้กับงานมากจัดว่าเป็นผู้ว่าการที่มีความขยันมากคนหนึ่ง
จะมาทำงานตั้งแต่เช้า 7.30 น. เพื่อประชุมรับทราบรายงานสถานการณ์และดำเนินงานด้านต่างๆ
จากสต๊าฟระดับสูงของเขา
"มันเป็น INFORMAL MEETING ที่เจ้าหน้าที่ระดับผู้อำนวยการฝ่ายขึ้นไปจะมานั่งพูดคุยดื่มกาแฟกัน
ปรึกษาหารือในเรื่องงานต่างๆ มากกว่าจะประชุมกันอย่างเคร่งเครียด" แหล่งข่าวบรรยายให้ฟังถึงการทำงานของกำจรในช่วงภาคเช้า
ในช่วงสายถ้าไม่มีการติดนัดประชุมสำคัญ กำจรจะนั่งทำงานในห้องทำงานไปเรื่อยๆ
และจะรับประทานอาหารเที่ยงในห้องทำงานของตนเอง เป็นกิจวัตรโดยใช้เวลาสั้นๆ
ไม่กี่นาที หลังจากนั้นถ้าช่วงบ่ายไม่มีนัดประชุม เขาจะอาศัยเวลาช่วงพักเที่ยง
ก่อนเข้างานในตอนบ่าย แวะไปดูพระเครื่องเพื่อผ่อนคลายแถวๆ วัดมหาธาตุข้างสนามหลวงเขากล่าวให้
"ผู้จัดการ" ฟังว่า ในหลายครั้งขณะที่เขากำลังผ่อนคลายดูพระเครื่อง
SOLUTION ในงานหน้าที่ที่คิดไม่ออกก็เกิดการ "ปิ๊ง" ขึ้นมาได้
ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมากสำหรับตัวเขา
"ผมจำไม่ได้แล้วว่ามัน "ปิ๊ง" ขึ้นมาด้วยเรื่องอะไรบ้าง
มันมากหลายครั้ง" กำจรเล่า
สไตล์การทำงานของกำจร บางคนอาจจะมีความรู้สึกว่าเขาไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน
หลายคนรู้สึกแปลกใจที่คนระดับผู้ว่าการเลือกวิธีผ่อนคลายโดยเล่นพระเครื่อง
แทนที่จะเล่นกอล์ฟ ทั้งๆ ที่ในวัยเด็กของกำจรสมัยเรียนอยู่วชิราวุธเขาเป็นนักกีฬารักบี้ตัวยง
ทุกวันนี้ กำจรนั่งทำงาน โดยไม่คิดอะไรมากเกี่ยวกับอิสรภาพและสถานะภาพของแบงก์ชาติ
หรือแม้แต่ความมั่นคงในตำแหน่งของตัวเอง เขามีความคิดว่าในฐานะผู้ว่าการ
ต้องพร้อมเสมอที่จะลงจากเก้าอี้ ถ้าผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังเห็นควร
"มันเป็นเรื่องไกลเกินไปสำหรับท่านผู้ว่าการที่จะเข้าไปแตะเรื่องนั้น
เพราะท่านสำนึกอยู่เสมอว่า ท่านเป็นข้าราชการ ที่จะต้องเดินตามผู้บังคับบัญชา
คุณจะสังเกตเห็นได้ว่า ตั้งแต่ท่านเป็นผู้ว่าการมา 3 ปี ท่านไม่เคยแสดงการทุบโต๊ะกับทางกระทรวงการคลังเลย"
แหล่งข่าวให้ข้อสังเกต ซึ่งก็มีส่วนจริงไม่น้อย เพราะกำจรหลีกเลี่ยงเสมอที่จะเผชิญหน้ากับอิทธิพลของนักการเมืองเข้าทำนองรู้หลบเป็นปีก
รู้หลีกเป็นหาง
นุกูล ประจวบเหมาะ อดีตผู้ว่าการก่อนหน้ากำจร เคยตั้งข้อสังเกตว่า แบงก์ชาติในยุคกำจรมีความหย่อนยานในวินัยทางการเงินมาก
(THE LENDER OF LAST PESORT) มีการอัดฉีดเงินเพื่อเข้าไปช่วยเหลือความอ่อนแอของสถาบันการเงินบางแห่ง
และปฏิบัติตมคำขอร้องของรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือเพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญบางชนิดอย่างต่อเนื่องทุกปีทั้งๆ
ที่สภาพคล่องส่วนเกินในปริมาณเงินของระบบมีอยู่สูง เดชะบุญที่ระบบเศรษฐกิจไม่ประสบปัญหาแรงกดดันของอัตราดอกเบี้ยแพงและน้ำมันแพง
จึงหลีกเลี่ยงผลกระทบตามมาในปัญหาเงินเฟ้อได้
แน่นอน! กำจร ฉลาดพอที่จะคาดการณ์สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจในยุคสมัยเขาได้ว่า
อยู่ในสภาวะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงพอต่อการรองรับปริมาณเงินที่เพิ่มขึ้น
โดยไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อ
กำจร มีความเห็นว่า ในยุคสมัยของเขาปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญยิ่งไม่ใช่เรื่องของอิสรภาพ
หรือสถานภาพของแบงก์ชาติ แต่เป็นเรื่องของการรู้จักใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมต่อการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับสถาบันการเงินที่กำลังอ่อนเปราะ
มันเป็นหน้าที่หน้าที่หลักของผู้ว่าโดยตรงเลยที่จะต้องทำงานแก้ปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินให้สำเร็จ
และดูเหมือนว่ากำจรก็รู้สึกพึงพอใจในผลงานด้านนี้ของเขาอยู่มากโดยไม่แคร์ว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร
เขากล่าวกับ "ผู้จัดการ" ว่า ในอดีตเขาเคยบรรยายวิชาเศรษฐมิติให้กับนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์
จุดหนักของวิชาที่บรรยาย พยายามเน้นถึงความพอดีหรือ OPTIMUM และหลักการนี้เป็นสิ่งที่เขายึดถือมาตลอดในสไตล์การทำงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ความเชื่อและสไตล์การบริหารของกำจรจะเป็นเช่นนั้น แต่เขาก็ให้ความสำคัญกับตัวบุคคลที่ทำงานในแบงก์ชาติมาก
ด้วยความเชื่อว่าการบริหารงานที่แบงก์ชาติในยุคสมัยของเขาจะให้ผลออกมาดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับคุณภาพของเจ้าหน้าที่เป็นสำคัญเหตุนี้
เมื่อจรัส ชูโต อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ปูนซิเมนต์ไทยเข้ามาเป็นกรรมการแบงก์ชาติในยุคสมัยของกำจร
กำจรจึงสนับสนุนอย่างเต็มที่ในความเชี่ยวชาญของจรัส ชูโต ในงานด้านการบริหารงานบุคคล
โดยกำจรลงทุนขอร้องให้จรัส ชูโต เป็นที่ปรึกษาในงานด้านพัฒนาบุคลากรในแบงก์ชาติด้วย
ซึ่งจรัส ชูโต ก็ไม่ขัดข้องที่จะทำเรื่องนี้
งานปรับปรุงการบริหารงานบุคคลในแบงก์ชาติที่เกิดขึ้นขณะนี้ กำจรถือว่าเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับพนักงานแบงก์ชาติมาก
และดูเหมือนกำจรเองก็มีความสุขมากที่มีส่วนสนับสนุนงานนี้อย่างเต็มที่
อนาคตของกำจร สถิรกุล ในตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติยังไม่มีผู้ใดคาดการณ์ได้ว่าจะจบสิ้นเมื่อใด
บางทีอายุราชการที่เหลืออีก 6 ปี เขาอาจจะอยู่ในตำแหน่งนี้ต่อไปก็ได้แม้นว่าตัวรมต.คลังจะเปลี่ยนไปก็ตาม
เหตุผลสำคัญ คงไม่ใช่เพราะกำจรมีบารมีและศิลปะการโน้มน้าวจูงใจอย่างที่ ดร.ป๋วย
อึ้งภากรณ์ มีอยู่เต็มตัว แต่เป็นเพราะกำจร สถิรกุลมีศิลปะในการทำงานสไตล์ที่ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน
"เป็นลูกฟุตบอลให้เขาเตะจนน่วม" นั่นแหละมากกว่าเหตุผลอื่นใด