การศึกษาระดับอุดมศึกษา ร้อยแปดปัญหาที่ต้องแก้

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

'550 ล้าน' คือตัวเลขประชากรวัยต่ำกว่า 25 ปีของอินเดีย อันหมายถึงจำนวนประชากรที่รัฐบาลอินเดียจะต้องดูแลในเรื่องการศึกษา และประชากรที่จะเป็นอนาคตของอินเดียในทศวรรษต่อๆ ไป ซึ่งผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษาต่างตระหนักดีว่า การศึกษาโดยเฉพาะระดับอุดมศึกษาคือกุญแจสำคัญต่อความปรารถนาของอินเดีย ที่จะผงาดขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาที่มั่งคั่งและมั่นคง แต่เมื่อสำรวจดูแล้วกลับพบว่ามีปัญหาร้อยแปดที่ต้องแก้ ทั้งผูกเงื่อนโยงใยจากเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ไปจนถึงปรัชญาและทิศทางของระบบการศึกษา

จากจำนวนประชากร 550 ล้านดังกล่าวพบว่าเกือบร้อยละ 10 หรือราว 120 ล้านคนเป็นประชากรอายุระหว่าง 18-23 ปี หรือเยาวชนคนหนุ่มสาวที่น่าจะอยู่ระหว่างการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่ในความเป็นจริงแล้วมีเด็กจบชั้นมัธยมเพียง 1 ใน 9 ที่ได้เรียนต่อในวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยหรือถือเป็นร้อยละ 11 ของจำนวนประชากร เป็นผลให้อินเดียติดกลุ่มประเทศที่มีเปอร์เซ็นต์การศึกษา ต่อระดับอุดมศึกษาต่ำ ไล่เลี่ยกับปากีสถานและไนจีเรีย และน่าใจหายอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่มีเปอร์เซ็นต์สูงถึงร้อยละ 83

เมื่อย้อนไปดูการศึกษาระดับประถมและมัธยมจะพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มิติด้านปริมาณดีขึ้นมาก เช่น การเข้าเรียนในระดับประถมศึกษา จากการสุ่มสำรวจพบว่าอยู่ระหว่างร้อยละ 80-95 แต่มิติด้านคุณภาพโดยเฉพาะในภาคชนบทไม่ได้พัฒนาเท่าที่ควร โรงเรียนจำนวนมากขาดแคลนครูและมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่ไร้ทิศทางและเฉื่อยเนือย

ขณะเดียวกัน การสอบในระดับมัธยมปลายเพื่อเข้าศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา มีการแข่งขันเข้มข้นอันเนื่องจากจำนวนที่นั่งในวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยที่มีอยู่จำกัด กดดันให้เกิดภาวการณ์ของเด็กอัจฉริยะ เช่นผลคะแนนในการสอบคัดเลือกเข้าวิทยาลัยชั้นนำของเดลี ปี 2009 มีเด็กทำคะแนนได้สูงถึง 98.75 เปอร์เซ็นต์ ทั้งพบว่าจำนวนเด็กฆ่าตัวตายจากแรงกดดันในการสอบระดับมัธยมปลายทวีจำนวนสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ

หากเทียบในมิติด้านปริมาณ พบว่าในช่วง 62 ปีหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ สถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่มีวิทยาลัย 700 แห่ง ในปี 2005 เพิ่มขึ้นเป็น 17,625 แห่ง ส่วนมหาวิทยาลัยเดิมมี 25 แห่ง ปัจจุบันทั้งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนมี 479 แห่ง แต่มิติด้านคุณภาพโดยรวมยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง โดยเฉพาะปัญหาเรื่องหลักสูตรที่ค่อนข้างล้าหลัง เพราะโดยเฉลี่ยแล้วมหาวิทยาลัยของอินเดียมีการปรับปรุงหลักสูตรกัน 5-10 ปีต่อครั้ง ขณะที่บางแห่ง อย่างเช่นมหาวิทยาลัยแห่งเมือง Pune ยังคงเรียนและสอนกันด้วยหลักสูตรเก่าของเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

ตามแผนพัฒนาแห่งชาติฉบับที่ 11 อินเดียตั้งเป้าหมายทางการศึกษาว่าจะเพิ่มจำนวนผู้เข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาจากร้อยละ 11 ให้เป็นร้อยละ 15 เป็นอย่างน้อย ภายในปี 2012 และนั่นหมายถึงสถานศึกษาที่จะต้องก่อตั้งขึ้นใหม่เพื่อเข้ามารองรับอีก 1,500 แห่ง หมายถึงเงินงบประมาณราว 2,264,100 ล้านรูปี ขณะที่ปัจจุบันรัฐบาลมีจัดสรรให้เพียง 779,330 ล้านรูปี และในความเป็นจริงแล้วก็เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลประเทศใดจะสามารถทำตามเป้าหมายดังกล่าวได้ ภายในเวลาเพียง 4-5 ปี

ปัญหาเรื่องจำนวนสถานศึกษาที่ไม่พอเพียง ซึ่งยังไม่พูดถึงเรื่องคุณภาพนั้น เป็นปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาของอินเดียมานานแล้ว ทำให้นักศึกษาอินเดียจำนวนมากเลือกไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ทั้งกลุ่มที่มีกำลังทรัพย์และกลุ่มที่ใช้ทุนกู้ยืม ดังมีตัวเลขว่าทุกปีมีนักศึกษาอินเดียราว 60,000 คน ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ คิดเป็นเงินทุนราว 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ขณะเดียวกันก็มีสถานศึกษาแบรนด์นอกจำนวนมากที่เข้ามาเปิดกิจการในลักษณะการลงทุนร่วมกับสถานศึกษาเอกชนของอินเดีย ซึ่งผู้สังเกตการณ์ด้านการศึกษาเรียกว่าเป็นการเข้ามาเปิด "หน้าร้าน" มากกว่าเป็นการเปิด "สาขา" โดยจะเห็นได้จากสโลแกนโก้เก๋ตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่ว่า "Top Ranked UK/US Degree in India" พร้อมด้วยภาพสถานศึกษาพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกระดับห้าดาว ห้องเรียนที่ใช้ระบบถ่ายทอดการบรรยายสดจากประเทศต้นสังกัด โอกาสเข้าถึงห้องสมุดต้นสังกัดแบบออนไลน์ การได้รับปริญญาบัตรลงประทับตราสถานศึกษาต้นสังกัด ซึ่งผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นเสริมว่า หลายแห่งเป็นเพียงมหาวิทยาลัย "ห้องแถว" ที่ไม่ได้มีชื่อเสียงอะไรในประเทศของตน

สถานศึกษาเอกชนของอินเดียเองก็เบ่งบานยิ่งกว่าดอกเห็ด และจำนวนไม่น้อยก็เป็นสถานศึกษากำมะลอ ดังตัวอย่างที่พบในรัฐชัตติสการ์หเมื่อ 5 ปีก่อน ที่มีการใช้ช่องบทบัญญัติพิเศษของรัฐ ทำให้มีมหาวิทยาลัยเอกชนเกิดขึ้นถึง 112 แห่ง ต่อมามีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลสูง จนมีการสอบสวนพบว่า ส่วนใหญ่ไม่เป็นมหาวิทยาลัยแต่ในนาม ก็เปิดสำนักงานในอพาร์ตเมนต์ห้องเดียว แล้วเปิดสอนสารพัดหลักสูตรพร้อมทั้งเปิดสาขาในรัฐอื่นๆ โดยไม่มีการก่อตั้งวิทยาเขตขึ้นแต่อย่างใด ศาลสูงจึงมีคำสั่งว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการใช้สิทธินอกขอบเขตของรัฐธรรมนูญ และให้มหาวิทยาลัยเหล่านั้นไม่ยุบตัวไปก็ให้รวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ก่อนหน้า

สถานศึกษาอีกลักษณะที่กำลังตกเป็นข่าวคือบรรดา 'deemed universities'หรือ 'ว่าที่มหาวิทยาลัย' ซึ่งมีต้นกำเนิดแนวคิดและถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่ปี 1948 โดยที่ The University Grants Commission (UGC) หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีอำนาจในการกลั่นกรองและประกาศให้สถาบันใดๆ ที่เดิมไม่ได้มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัย แต่มีมาตรฐานการทำงานหรือการเรียนการสอนทางวิชาการเฉพาะด้านเทียบเท่ากับมหาวิทยาลัยทั่วไป ให้มีสถานะเป็น deemed university อันหมายถึงสามารถทำการสอนและมอบวุฒิบัตรได้เทียบเท่ากับมหาวิทยาลัย

ที่ผ่านมา สถาบันที่ได้รับการยกวิทยฐานะโดย UGC อาทิ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งเมืองเบงกาลอร์ สถาบันวิจัยเพื่อการเกษตรแห่งชาติ สถาบันตาต้าด้านสังคมศาสตร์เมืองมุมไบ สถาบันเบียร์ล่าด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ และโรงเรียนเหมืองแร่เมืองดานบัด เป็นต้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าสถาบันเหล่านี้มีคุณูปการและอุทิศตนแก่งานด้านวิชาการและการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาตลอด หลายทศวรรษ

แต่เรื่องของว่าที่มหาวิทยาลัยกลายเป็นประเด็นขึ้นมา เนื่องจากจำนวนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ดังพบว่าระหว่างปี 1956-1995 มีการประกาศ deemed universities เพียง 36 แห่ง แต่นับจากปี 1995 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2008 จำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 103 แห่ง และมีสถาบันที่ยื่นความจำนงถึงราว 400 ราย

จากรายงานการศึกษาล่าสุดของคณะกรรมาธิการที่ปรึกษาด้านนวัตกรรมและฟื้นฟูการศึกษาระดับอุดมศึกษาแห่งชาติ ที่ได้รับการมอบหมายหน้าที่โดยกระทรวงทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนา นำทีมโดยศาสตราจารย์ยาช ปัล นักฟิสิกส์ที่มีชื่อเสียง และอดีตประธานของ UGC พบว่า deemed universities กลายเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งในระบบการศึกษาของอินเดีย เนื่องจากมีสถาบันหลายแห่งที่ไม่มีความเหมาะสม แต่อาศัยการคอร์รัปชั่นและความหละหลวมของคณะกรรมการกลั่นกรอง จนได้รับสถานะมหาวิทยาลัย อันหมายถึงสิทธิในการเปิดสอน กำหนดค่าเล่าเรียน อัตราเงินเดือนบุคลากร และมอบวุฒิบัตร นัยหนึ่ง 'ทำเงิน' จากระบบการศึกษา ซึ่งหลายแห่งขาดความพร้อมทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและความเชี่ยวชาญเชิงวิชาการ บางแห่งได้รับสถานะทั้งที่ยังไม่สามารถ ทำตามเงื่อนไขบางข้อของ UGC คณะกรรมาธิการชุดศาตราจารย์ยาช ปัล จึงเสนอให้ระงับการประกาศ สถานะ deemed university ไว้ชั่วคราว ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ฯ ก็ขานรับ ทั้งสั่งให้ทบทวนการประกาศของ UGC ในหลายกรณี

ประเด็นอื่นๆ ที่กำลังถกเถียงกันมากในช่วงนี้ คือเรื่อง 'Privatization' การศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยลักษณะที่พูดถึงกันมากคือการเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามาลงทุนก่อตั้งสถานศึกษามากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อีกประเด็นคือการปรับทิศทางการศึกษาให้เน้นทักษะวิชาชีพมากขึ้น เพื่อให้เท่าทันกับความต้องการของตลาดแรงงานในปัจจุบัน ดังที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า

"แผนการศึกษาที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้เป็นมรดกอายุร้อยปีของอังกฤษ ซึ่งอังกฤษเองเลิกแยกการศึกษาเป็นสายวิชาชีพกับวิชาการมากว่าทศวรรษ แล้ว เราเองน่าจะผสมผสานทักษะวิชาชีพเข้าไว้ในหลักสูตรระดับมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น"

ดูเหมือนว่าการศึกษาระดับอุดมศึกษาของอินเดียจะมาถึงทางตัน ที่ความเห็นในทิศทางอาจหลากหลาย แต่คำตอบร่วมน่าจะหมายถึงการยกเครื่องครั้งใหญ่และเร่งด่วน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.