“เราเซฟโลกแล้วใครเซฟเรา”


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( สิงหาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

"เราเซฟโลกแล้วใครเซฟเรา" ข้างต้นเป็นวลีของ "วิเชียร เมฆตระการ" กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS ในวันที่ฝ่าฝนฟ้าคะนองพานักข่าวไปชมเสากังหันลม ณ ชายหาดบ้านอำเภอ เทศบาลตำบลนาจอมเทียน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี

ปัจจุบันกังหันลมต้นนี้ไม่เพียงทำหน้าที่ผันกระแสลมเข้ามาผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในการทำงานของสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ AIS แต่ยังกลายเป็นฉากรักในงานแต่งของคู่วิวาห์หลายคู่จนชายหาดที่เคยร้างนักท่องเที่ยวกลายเป็นสถานที่พักผ่อน แห่งใหม่ในเวลาอันสั้น

การนำชมสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่กังหันลมของ AIS เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากปีที่แล้ว ซึ่ง AIS พาสื่อมวลชนขึ้นเขาไป ชมสถานีฐานพลังงานแสงอาทิตย์ถึงโครงการหลวงขุนแปะที่เชียงใหม่ โดย "สถานีพลังงานทางเลือก" ทั้ง 2 รูปแบบเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Green Network แคมเปญรณรงค์ลดภาวะโลกร้อน อันเป็นขบวนการ CSR ที่ได้รับความนิยมและ "สร้างภาพ" ได้ดีที่สุด ณ เวลานี้

ทั้งลมและแสงอาทิตย์ล้วนเป็นแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสภาพแวดล้อมและสามารถนำมาใช้ได้อย่างไม่รู้จบ รวมทั้งยังปราศจากต้นทุนการผลิตพลังงาน ทว่าต้นทุนราคาแพงกลับอยู่ที่อุปกรณ์และค่าติดตั้ง โดยเฉพาะตัวกังหันลม

กังหันลมใบพัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 10 เมตร ความสูงของเสา 20 เมตร กำลังการผลิตไฟฟ้าสูงสุดที่ 5 กิโลวัตต์ ณ ความเร็วลม 6 เมตรต่อวินาที และค่าเฉลี่ยในการผลิตไฟฟ้าอยู่ที่ 2.5 กิโลวัตต์ แม้สามารถจ่ายไฟฟ้าเลี้ยงการทำงานของสถานีฐานได้ทั้งหมด และยังมีกระแสไฟฟ้าเหลือพอ ไปจ่ายเป็นระบบแสงสว่างบริเวณสวนสาธารณะริมชายหาดบริเวณเสากังหันลม แต่ด้วยต้นทุนอุปกรณ์ และค่าติดตั้งราว 4.5 ล้านบาท จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้บริหารของ AIS จะกล่าวทิ้งท้ายว่า

"พลังงานทางเลือกค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงยังไม่ใช่พลังงานหลัก แม้พลังงานอื่นจะก่อมลภาวะบ้าง แต่ก็ถูกกว่าเลยยังเป็นพลังงานหลักอยู่ เพราะ ถ้าเรามัวแต่จะใช้พลังงานทางเลือกเพื่อเซฟโลก บริษัทนี้ก็อยู่ไม่ได้เพราะไม่มีใครเซฟเรา เราก็ต้องรอดด้วย การทำตรงนี้จึงถือเป็น Social Contribution ช่วยกันคนละมือจะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางธุรกิจ แต่ถ้าพลังงานตรงนี้ถูกลงเมื่อไรเราก็คิดจะทำตรงนี้เยอะๆ"

ถึงแม้ AIS ยังใช้พลังงานสะอาดในสัดส่วนที่น้อย แต่ก็น่าชื่นชมว่าอย่างน้อยก็ยังพยายาม เพราะการ "เซฟโลก" เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยกัน โดยเฉพาะกลุ่มที่แสวงใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติมากกว่า ก่อมลภาวะแก่โลกมากกว่า ก็ควรจะต้องรับผิดชอบมากกว่า

แต่ถึงนั้น รัฐบาลไทยก็ควรแสดงให้ความสำคัญกับวาระแห่งมนุษยชาตินี้อย่างจริงใจ ด้วยการออกมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมแกมบังคับกลุ่มธุรกิจมากขึ้น เพื่อที่วันหน้าจะไม่มีการแอบอ้างว่าเป็น "การตอบแทนสังคม" เพราะจริงๆ แล้ว สิ่งเหล่า นี้ควรถูกบัญญัติไว้หน้าแรกในธรรมนูญของทุกบรรษัทว่าเป็น "ภาระหน้าที่และความรับผิดชอบ" จะเหมาะสมกว่า!!


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.