หมอชัยยุทธ กรรณสูตปีทองของอิตัลไทยกรุ๊ปสูงสุดคืนสู่สามัญ!!??


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ภารกิจในการสร้างสรรค์ความรุ่งโรจน์ จากหยาดเหงื่อและมันสมองของ หมอชัยยุทธ กรรณสูต ที่มีต่อ "อิตัลไทยกรุ๊ป" นั้นเสมือนหนึ่งเดินทางมาถึงห้วงสุดท้ายแล้วในขณะนี้ ปีทองที่เป็นจริงซึ่งผ่านการเคี่ยวกรำอย่างหนักหน่วงมาหลายสิบปีกลายเป็นมุมมองส่วนตัวของหมอชัยยุทธเองว่า หนทางข้างหน้าจะเป็นเช่นใดหนอ!!?

ช่วงเวลาที่บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวลลอปเมนท์ (ไอทีดี) กระโจนเข้าสู่วงการก่อสร้างในปี 2501 นั้นนับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะเจาะเสียจริงๆ เพราะ หนึ่ง-ยุคนั้นอัศวินผ้าขาวม้าแดงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศตามแผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 ด้วยการเปิดประตูต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา จึงทำให้งานพัฒนาด้าน INFRSTRUCTURE เกิดขึ้นอย่างมาก เช่นการสร้างทางสายยุทธศาสตร์ในชนบท และเป็นเรื่องบังเอิญโดยเจตนาที่ว่าสายสัมพันธ์ทางใจของ น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต ผู้ก่อตั้งไอทีดี กับอัศวินผ้าขาวม้าแดงนั้นลึกซึ้งกินใจกันเอามากๆ ดังนั้นจึงไมาเป็นเรื่องแปลกที่งานทั้งหลายจะไหลมาสู่ไอทีดีเป็นว่าเล่น สอง-อุตสาหกรรมก่อสร้างในยุคนั้นว่าไปแล้วยังมิได้ถูกกำหนดบทบาทหรือรองรับอำนาจแบบเบ็ดเสร็จอย่างที่ไอทีดีกำลังเป็นอยู่ ในขณะนี้ผู้รับเหมาที่มีอยู่เป็นเพียงมดตะนอยที่ไร้สิ้นซึ่งความแข็งแกร่งน่ายำเกรง

ช่องว่างได้เปรียบดังกล่าวในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีก็สามารถผลักดันให้ไอทีดี. ประกาศศักดิ์ศรีของตัวเองก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของวงการเป็นบริษัทก่อสร้างของคนไทยที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งรับงานได้ถึงปีละพันๆ ล้านบาท กระทั่งเป็นที่ครั่นคร้ามของบริษัทต่างชาติทั้งหลายในกาลต่อมา และไอทีดีก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของ "อิตัลไทยกรุ๊ป" ไปโดยปริยาย นัยว่าชั่วดีถี่ห่างอย่างไรบริษัทแห่งนี้จะ "ล้มไม่ได้" เป็นอันขาด!!!???

ไอทีดี.อาจอาจเป็นความภูมิใจสูงสุดที่แม้แต่วาระสุดท้ายของหมอชัยยุทธก็ปรารถนาที่จะมองเห็นความรุ่งเรืองสุกใสต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ "เห็นหมอแกไม่ใช่เอ็นจิเนียร์โดยกำเหนิดก็จริงอยู่กับจะเรียกว่าบ้าก็ไม่ผิดนักบางทีเห็นง่วนอยู่กับงานที่ฟิลด์ (FIELD) ตลอดเวลา บางครั้งขึ้นไปนั่งห้างสั่งก็ยังมี แกขวนขวายเรียนรู้อย่างไม่ขาดระยะอย่างไอทีดีรับงานสร้างอุโมงค์ส่งน้ำประปาที่ไม่มีความชำนาญก็ตัวหมอเองนั้นแหละทามาขอเรียนงานด้านนี้กับเรา ใช่อาจถูกหยามในทีทว่าความสำเร็จที่ปรากฏทำให้แกหัวเราะได้ดังกว่า " มือเก่าของวงการท่านหนึ่งที่เป็นคู่แข่งกล่าวชมไอทีดีและหมอชัยยุทธอย่างเจ็บลึกกับ "ผู้จัดการ"

ในปี 2522 ที่ไอทีดีมีอายุครบ 20 ปี สามารถทำรายได้สูงถึง 1,200 ล้านบาทนับเป็นประวัติการณ์ของวงการก่อสร้างไทยก่อนที่จะเผชิญกับห้วงเวลาที่เลวร้ายยากหยั่งคิดในช่วงปี 2522-26 เพราะผลกระทบจากการรุกรานของบริษัทต่างชาติที่พร้อมใจกันตบเท้าเข้ามาแย่งชิงงานไปได้เป็นสำคัญ ในสิ้นปี 2527 รายได้ของไอทีดีทรุดฮวบเหลือเพียง 1,738 ล้านบาทซึ่งก็เป็นครั้งแรกหลังจากที่ก่อตั้งบริษัท

จากวิกฤติศรัทธาดังกล่าวสอนให้หมอชัยยุทธรู้จัก "ปรับเปลี่ยนสี" ได้อย่างแนบสนิท เพราะแรกเริ่มถูกตีชิ่งก็หมอชัยยุทธนี่หละเสียงแข็งออกมาชักธงรบคัดค้านอย่างสุดใจขาดดิ้น เข้าทำนองยอมไม่ได้ที่จะถูกสนตะพายให้เดินตาม เรียกได้ว่าทุกงานที่ได้รับเชิญไปอภิปราย ปัญหานี้จะถูกหมอหยิบยกขึ้นมาพูดกระแทกแดกดันผู้มีอำนาจของแผ่นดินอย่างปวดแสบปวดร้อนเลยทีเดียว

"ไม่มีผลมันเหมือนเอาหัวชนฝาหรือเอาก้อนอิฐโยนลงน้ำ มันเป็นคลื่นเข้ามาแล้วก็หายไปชั่วพริบตา" หมอชัยยุทธเคยกล่าวอย่างอ่อนระทวยโรยแรงกับ "ผู้จัดการ" (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในผู้จัดการฉบับที่ 33 เดือนมิถุนายน 2529)

แต่เพียงเพียงแค่ออกแรงชกลมวืดๆ ไม่กี่ยกเหงื่อยังไม่ทันออกดีหมอก็ทำให้คนในวงการ "ช็อค" กันเป็นทิวแถวเมื่อไอทีดีประกาศตัวเข้าร่วมทุนกับญี่ปุ่นในชื่อเรี่ยมเร้ใหม่อีกแห่งว่า "โตโยไทยเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด" นับเป็นการปิดฉากความอหังการที่หวงแหนสิทธิเสรีภาพในการทำมาหากินของคนไทยบนแผ่นดินไทยสำหรับคนอย่างหมอโดยสิ้นเชิง!!!

"ผมเป็นบริษัทเอกชน ผมต่อสู้พยายามหาทางออกทุกวิถีทาง พยายามพูดให้เคลียร์ มันไม่มีผล… ผมคิดว่าเราต้องอยู่ถ้าไม่มีงานเราก็อยู่ไม่ได้" หมอเคยให้เหตุผลสั้นๆ กับ "ผู้จัดการ" ต่อการตัดสินใจแบบหักมุม 180 องศาที่ไม่ผิดเลยในทางธุรกิจทว่าในแง่ศักดิ์ศรีนักสู้แล้วนั้นหลายคนกังขาและยอมรับไม่ได้!!

และเมื่อถึงเวลานี้ที่หลายฝ่ายกำลังตระหนักถึงหายนะทางเศรษฐกิจ จากการที่บริษัทก่อสร้างญี่ปุ่นสำแดงอำนาจ "เถื่อน" โดยชอบธรรมภายใต้แรงประสานจากโครงการเงินกู้และช่วยเหลือจากญี่ปุ่น (OECF) รุกคืบเข้าครอบงำเพื่อความเป็น "นาย" ในบริษัทก่อสร้างไทยอย่างโจ๋งครึ่มโดยฟาดฟันการประมูลโครงการต่างๆ ไม่น้อยกว่า 40 โครงการมูลค่ามากำกว่า 10,000 ล้านบาทจนผู้เกี่ยวข้องคนไทยทุกหน่วยงานโดยเฉพาะสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างต้องเร่งทำหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อรัฐบาล เรื่องนี้ในฐานะที่ไอทีดีเป็นบริษัทใหญ่ของคนไทยและตัวหมอชัยยุทธเองก็เคยผ่านการเป็นนายกสมาคมฯมาแล้ว 2 สมัย ทว่าท่าทีต่อเรื่องนี้กับ "เพิกเฉย" จนหลายคนคลางแคลง

"ก็ของหมอแกสบายไปแล้วนี่หลายโครงการร่วมกับญี่ปุ่นทั้งสิ้น ตอนนี้นะหาเวลาไปคุยกับแกเรื่องนี้ยังยากที่จะเจอตัวเลย เหมือนไม่อยากพบ" กรรมการของสมาคมฯท่านหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

อันที่จริงปรากฏการณ์เช่นนี้ใช่ว่าจะไม่ค่อยเกิดขึ้นกับไอทีดีและหมอชัยยุทธอย่างครั้งหนึ่งในปี 2526 ที่ชมรมรับเหมาก่อสร้างรวมตัวกันคัดค้าน พ.ร.บ.กกส.2522 (พระราชบัญญัติประกอบอาชีพงานก่อสร้าง) ซึ่งเตรียมที่จะคลอดออกมา เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทรับเหมาขนาดใหญ่ (ไทย) ที่ดิ้นหาหนทางไปประมูลงานในต่างประเทศ

การต่อสู้ในครั้งนั้นคนที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดก็คือ "หมอชัยยุทธ" เพราะได้ข่าวว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลัง พ.ร.บ.ฉบับนี้เป็นอย่างมาก เนื่องจากภาวะการณ์ในขณะนั้นไอทีดีกำลังซวดเซอย่างหนักจึงต้องดิ้นหาทางอื่นเพื่อปรนะคองตัวให้พ้นภัย " มันก็เข้าทำนองเดียวกันนั่นล่ะ ตอนที่จะออก พ.ร.บ.หมอไม่สนใจความเดือดร้อนของผู้รับเหมารายย่อยอย่างใด คราวนี้กับญี่ปุ่นก็เช่นกัน" ผู้รับเหมารายหนึ่งกล่าวอย่างสิ้นหวัง

ของพรรค์นี้สำหรับหมอชัยยุทธและไอทีดีในทางธุรกิจแล้วมันก็ไม่ผิดอีกนั่นล่ะ!??

การตกร่องปล่องชิ้นกับญี่ปุ่น ไม่เพียงทำให้โครงสร้างการบริหารของไอทีดี และอิตัลไทยกรุ๊ปที่แบร์ลิงเจียรี (เพื่อนต่างชาติผู้ร่วมก่อตั้ง) ได้วางรากฐานมานับนาน ต้องเปลี่ยนไปในแง่ที่แต่งตั้งผู้บริหารไทยประกบฝรั่งแล้วนั้น ยังส่งผลให้ไอทีดีฟื้นตัวจากการตกต่ำได้อย่างทันใจ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างเด่นชัดแล้วในปี 2530 นี้ที่ถูกระบุว่าเป็น "ปีทอง" ที่รุ่งโรจน์ที่สุดของไอทีดีและอิตัลไทยกรุ๊ป

ในปีนี้ไอทีดีคว้างานประมูลทั้งภาครัฐบาลและเอกชนได้ร่วม 6,000 ล้านบาทดังรายละเอียดต่อไปนี้คือ

งานก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนใหม่มาบตาพุด 476,189,976 บาท

งานก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง 1,921,162,679.39 บาท

งานก่อสร้างท่อส่งน้ำหนองค้อแหลมฉบัง 102,343,500 บาท

งานก่อสร้างตึก ภปร.โรงพยาบาลจุฬาฯ 363 ล้านบาท

งานก่อสร้างท่าเรือนครสวรรค์ของกรมเจ้าท่า 143 ล้านบาท

งานก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา 170 ล้านบาท

งานก่อสร้างลานจอดเครื่องบิน สนามบินภูเก็ต 65 ล้านบาท

งานก่อสร้างปรับปรุงโรงกลั่นน้ำมันบางจาก 300 ล้านบาท

งานก่อสร้างวางท่อส่งน้ำ การประปานครหลวงช่วงถนนรัชดาภิเษก-ประชาอุทิศ 72.4 ล้านบาท

งานก่อสร้างวางท่อส่งน้ำประปาช่วงถนนวิภาวดีฯ 20.8 ล้านบาท

งานก่อสร้างวางท่อสายตอนบนขององค์การโทรศัพท์ 2,000 ล้านบาท

งานก่อสร้างโรงงานคอมพิวเตอร์ของบริษัทดาต้า เจอเนอรัล 57.9 ล้านบาท

งานก่อสร้างโรงแรมอมันปูร์ ภูเก็ต 65 ล้านบาท

งานก่อสร้างโรงแรมแหลมพันวาภูเก็ต 27.8 ล้านบาท

งานก่อสร้างโรงแรมดุสิตลากูน 60 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังเป็นปีแรกที่ไอทีดีสยายปีกเข้าสู่วงการเรียลเอสเดทอย่างจริงจังขนานใหญ่ ด้วยการวิ่งเต้นติดต่อขอกว้านซื้อที่ดินตามต่างจังหวัดชานเมืองหลายแห่งเพื่อลงทุนทำหมู่บ้านจัดสรร ที่เริ่มลงมือแล้วคือที่ จ.สมุทรสาคร ติดกับสนามกอล์ฟเอกชัยโดยวางกลุ่มลูกค้าระดับเกรด เอ. เป็นหลักนับว่าเป็นการรุกคืบอย่างแข็งกร้าวเหลือกำลังจริงๆ!!!!

ทว่าที่กำลังจะเป็นไปนี้หาได้ทำให้ไอทีดีและหมอชัยยุทธอิ่มเอิบใจอย่างมากที่สุดไม่!? ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า หนึ่ง-หลายโครงการที่ได้มามากไปด้วยข่าวฉาวโฉ่ โดยเฉพาะโครงการในแผนงานอีสเทิร์นซีบอร์ดที่มีข่าวเล่น "เส้น" กันอย่างครึกโครม สอง-งานประมูลนั้นยังมีมูลค่าต่ำ ในเรื่องนี้ เปรมชัย กรรณสูต ลูกชายคนเล็กของหมอชัยยุทธยังเคยเปรยๆ ว่า "เรายังรับงานได้อีกสบายๆ พันล้าน"

คงด้วยเหตุผลและความต้องการนี้กระมัง "ผู้จัดการ" ได้รับทราบมาล่าสุดว่าหลังจากที่ห่างเหินไปจากงานก่อสร้างทางร่วมกับกรมทางหลวงมาเสียนาน บัดนี้ไอทีดีได้ย้อนมาผูกรัก ให้หวานชื่นอีกครั้งด้วยการจะร่วมทุนกับบริษัททรานสลูทของฝรั่งเศสเข้าประมูลโครงการยกระดับถนนวิภาวดีรังสิตมูลค่า 2,000 กว่าล้านบาท

เป็นที่น่าสังเกตมากว่าไอทีดีแทบจะ "ผูกขาด" งานโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดเพียงรายเดียว ซึ่งชัยชนะที่ได้มานั้นก็เป้นที่ยอมรับกันมากว่าสะเด็ดยาดกันเสียจริงเพราะโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ดนั้นต้องพึ่งพาเงินกู้ OECF เป็นหลักซึ่งงานก่อสร้างต่างๆ ก็มีบริษัทญี่ปุ่นเสนอตัวเข้าแข่งขันหลายบริษัทและบางบริษัทได้เสนอราคาต่ำกว่าของไอทีดี กอปรกับมีชื่อเสียงเป็นที่ไว้วางใจค่อนข้างมากกว่า ทว่าในที่สุดของการตัดสินใจกลับเป้นไอทีดีที่ได้รับเลือกจนกลายเป็นเรื่องอื้อฉาวฟ้องร้องรัฐบาลต่อรัฐบาลมาแล้วในความน่าสงสัยต่างๆ อย่างที่เกิดขึ้นกับโครงการท่าเรือแหลมฉบังเป็นต้น

โครงการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ที่สุดของอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งบริษัทก่อสร้างที่ผ่านความเห็นชอบจากบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาตามผลวิเคราะห์ยื่นเสนอราคา (TENDEER EVALUATION REPORT) มี 4 รายคือ ฮุนได เสนอราคา 1,874,470,635.00 บาท อิตาเลียนไทยไดโฮ-ไดโต เสนอ 1,921,162,679.39 บาท โอบายาชิกับเพนตา โอเชียน เสนอ 1,967,738,629.10 บาท ชิโยดะ-นิชิมัตสึโตโย-รินไก-มารูบีนี เสนอ 2,115,554,950.00 บาท

ดูจากราคาที่เสนอควรจะเป็นฮุนไดที่ชนะและในรายงานเสนอแนะของบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาก็ระบุไว้ค่อนข้างแจ่มชัดว่า "ในรายอิตาเลียนไทยไม่มีความเป็นไปได้ที่จะทำ" (ดูรายละเอียดในล้อมกรอบ) ทว่าผลการตัดสินก็เป็นไอทีดี (อิตาเลียนไทย) เป็นคนได้งานไปสรางความขุ่นเครืองใจให้กับฮุนได และรัฐบาลเกาหลีใต้เป็นอย่างสูงที่ชวนให้สนเท่ห์มากขึ้นไปอีกก็ต่อเมื่อ คณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณเรียก พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ รองนายกรัฐมนตรี ฐานะผู้รับผิดชอบกับบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาไปชี้แจง คำตอบกลับพลิกโผออกมาว่า "อิตาเลียนไทยพอทำได้" (คำชี้แจงนี้หลังจากผ่านการเซ็นสัญญาที่กินเวลายาวนานถึง 9 ชั่วโมง)

งานก่อสร้างท่าเรือพิษแห่งนี้มีเรื่องตลกที่น่าสนใจอีก 2 ประการคือ หนึ่ง-ในวันเซ็นสัญญา (2 ตุลาคม) ที่จัดอย่างเอิกเกริก ณ โรงแรมโอเรียลเต็ล (ธุรกิจในเครืออิตัลไทยเช่นกัน) ตอนแรกทางคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณได้ทักท้วงให้เลื่อนวันซึ่งก็ได้รับการตอบรับเห็นชอบจาก รมว.บรรหาร ศิลปอาชา ทำเอางานที่ตระเตรียมเป็นอย่างดีต้องฝันค้างไปชั่วขณะร้อนถึง พล.ต.ชาติชาย ต้องวิ่งเข้าชี้แจงกับรองนายกฯ พิชัย รัตตกุล (รักษาการนายกฯ) จนเรื่องผ่านไปได้อย่างทุลักทุเลกินเวลาร่วม 9 ชั่วโมง นับเป็นการรอคอยที่ยาวนานที่สุดของหมอชัยยุทธ ทว่าก็จบลงด้วยความหหรรษ์เหลือที่จะกล่าว สอง-ได้มีการเปิดโอกาสให้อิตาเลียนไทยได้แก้ไขสัญญา 3 ประการคือ 1. ระยะเวลาก่อสร้างจาก 36 เดือนไปเป็น 44 เดือน 2. ราคา 3. การวางแผนก่อสร้าง ซึ่งการแก้ไขสัญญานี้เป็นการละเมิดระเบียบว่าด้วยการรับรองประกวดราคาข้อ 39 ของกระทรวงการคลังที่ห้ามแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้นหลังจากมอบหีบบรรจุหลักฐาน -(ครั้งแรกอิตาเลียนไทยเสนอไป 2,029,425,769.35 บาท)

ถึงอย่างไรสำหรับอิตาเลียนไทยกับหมอชัยยุทธแล้วนั้นทุกอย่าง "ง่าย" ได้ไม่ยากเย็น!!!

"มันจะตายกันหรือถ้าไม่เซ็นกันในวันนั้น เลื่อนออกไปอีกสักอาทิตย์ให้เรามีโอกาสตรวจสอบเพื่อทำความเข้าใจกับเกาหลีใต้ที่เขาร้องเรียนมาทางออกมันน่าจะสวยกว่า แต่นี่ทำกันกลัวชาติจะล่มจมกันหรือไง" ส.ส.กรรมาธการท่านหนึ่งกล่าวอย่างเหลืออดกับ "ผู้จัดการ"

นอกจากนี้ในโครงการนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนใหม่มาบตาพุดก็มีข้อชวนให้สงสัยอีกเหมือนกันว่า จากผลวิเคราะห์การเสนอราคาครั้งแรกไม่ปรากฏชื่ออิตาเลียนไทยอยู่ในข่ายถูกคัดเลือก แต่สุดท้ายก็เป็นอิตาเลียนไทยที่เสนอราคา 476,189,976 บาทอีกนั่นล่ะที่ได้รับเลือกเฉือนเอานิชิมัตสึที่เสนอราคาต่ำสุดเพียง 470,904,326 บาทไปอย่างหน้าตาเฉย!!?

ว่ากันว่าโครงการนี้รู้ผลล่วงหน้ามาแล้ว 2 เดือนว่าอิตาเลียนไทยจะเป็นผู้ชนะถึงกับตัวแทนวัสดุก่อสร้างได้ติดต่อขายของให้แล้ว "พูดไปมันก็เจ็บปวดเปล่าๆ" คนในวงการท่านหนึ่งกล่าว

เบื้องหลังความสำเร็จอย่างหาใครเทียบทานพิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วว่า "คนอย่างหมอชัย-ยุทธนั้นเป็นชายชราเขี้ยวตันเป็นตะเกียงที่ไม่ไร้น้ำมันซึ่งพร้อมจะสว่างวาบทุกวินาที"!!!!

เหตุผลที่ปักใจเชื่อแน่ถึงความสำเร็จเหล่านี้ นอกจากจะเป็นราคาที่ค่อนข้างจะต่ำแบบไม่กลัวขาดทุนที่ไอทีดีเสนอแล้วนั้น ยังอาจเป็นไปได้ว่าหมอชัยยุทธมีความกลมเกลียวเป็นอย่างดีกับผู้มีอำนาจของแผ่นดินเพราะตัวหมอก็ได้รับเชิยให้เป็นวุฒิสมาชิก

"คิดดูสิว่า ดร.สาวิตต์ โพธิวิหคผู้อำนวยการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ได้ช่วยเป็นธุระให้อย่างจริงจัง เราเรียกมาชี้แจงข้อสงสัยก็แก้ต่างให้ในทุกประเด็น นอกจากนี้ยังมีข่าวว่ามีญาติคนหนึ่งของผู้อำนวยการท่าเรือแห่งประเทศไทยทำงานอยู่ในไอทีดีอีกด้วย" ส.ส.ท่านเดิมบอกข้อสงสัยเพิ่มเติม

ถ้าเหตุผลเหล่านี้มีความเป็นไปได้ที่เป็นจริง เห็นทีต้องน้อมคำนับแล้วว่า CONNECTION ของหมอชัยยุทธนั้นไม่เคยผุกร่อนไปตามกาลเวลา เริ่มจจากทีไอทีดีก้าวสู่วงารก่อสร้างแล้วอาศัยฐานความสัมพันธ์กับจอมพลสฤษดิ์สร้างความรุ่งเรืองจนเป็นที่กล่าวขาน จวบจนสู่ปัจจุบันก็ด้วยความสัมพันธ์ระดับสูงของประเทศอีกนั่นล่ะที่ทำให้ไอทีดีไม่มีใครเทียบรัศมีได้อีกแล้ว

พิชัยยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจเยี่ยงรู้หลบเป็นปีก รู้หลีกเป็นหาง ของหมอชัยยุทธที่แม้บางครั้งจะเป็นโล่กำบังเก็บเบี้ยบ้ายเป็นกำไรนิดหน่อยก็ตามดี ย่อมเป็นกรณีศึกษาเพื่อการปรับตัวสู่ความสำเร็จอย่างเอกอุได้เป็นอย่างดี!!!!

ถึงแม้ในปีนี้จะเป็นปีทองของไอทีดีแต่มุมมองมีท่น่าหวาดเสียวก็แฝงตัวอยู่เงียบๆ หลายประการ จนบางคนตั้งคำถามกันเล่นๆ ว่า "จะเป็นปีทองที่บอบช้ำในวันข้างหน้าของไอทีดีหรือเปล่า"!?

จากทุกโครงการที่ไอทีดีเข้าไปคั่วมาได้นั้นจะพบว่า ราคาที่เสนอค่อนข้างต่ำกว่าราคากลางที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ก็มี ซึ่งพฤติการณ์เยี่ยงนี้แทบจะไม่เคยปรากฏขึ้นในวงการก่อสร้างไทย ไยไอทีดีจึงอาจหาญชาญชัยถึงเพียงนั้น!?

อย่างเช่นโครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลาตั้งราคากลางไว้ที่320 ล้านบาท แต่ราคาที่ไอทีดีเสนอได้รับคัดเลือกกลับลดต่ำลงเหลือ 170 ล้านบาทห่างกันเกือบเท่าตัว เรียกได้ว่ามองไม่เห็นหนทางทำกำไรได้เลย หนำซ้ำอาจต้องกินเนื้อตัวเองอย่างบานเบอะ แต่ไอทีดีก็ทำไปแล้วซึ่งมีบางคนตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "อาจมีข้อตกลงลับ"

"คิดดูเอาเถิดราคาห่างกันเพียงนี้ถ้าทำกำไรก็ยอดคนแล้ว โครงการท่าเรือแหลมฉบังก็เช่นกันทำไมไอทีดีจึงยอมหั่นราคาในครั้งที่ 2 เหลือแค่พันเก้าร้อยกว่าล้านจากที่เสนอไปตอนแรกสองพันกว่าล้านกระทั่งเข้าวินไปในที่สุด มันน่ามีเลศนัยไม่น้อย" แหล่งข่าวท่านหนึ่งกล่าว

เงียบๆ ลับๆ กับเรื่องทำนองนี้เคยมีข่าวเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อไม่นานมานี้ที่ไอทีดีเป็นผู้ชนะการประกวดก่อสร้างขยายสนามบินดอนเมืองในราคาที่ต่ำแสนต่ำ ปรากฏว่าหลังจากที่ทำไปไได้ไม่นานทางไอทีดีได้เสนอขอเปลี่ยนแบบก่อสรางบางส่วนเช่นเปลี่ยนวัสดุจากคอนกรีตเสริมเหล็กเป้นแอสฟัสต์ที่ทุ่นค่าใช้จ่ายไปได้มาก ซึ่งก็ผ่านความเห็นชอบเป็นอย่างดีจากบอร์ดการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.)

"การเปลี่ยนแบบที่ไม่เกินวงเงิน 16 ล้านบาทอยู่ในดุลพินิจของบอร์ดที่จะพิจารณาได้ แล้วทีนี้หมอเขาซื้อใจได้ทั้งหมดก็ง่ายขึ้น ก็เปลี่ยนกันไปตลอดหลังการประมูลต้นทันมันต่ำลงกำไรที่ว่าจะไม่ได้ๆ เลยกลายเป็นจริง ใครว่าเขาเสี่ยงที่ให้ราคาต่ำเกมนี้ต้องเล่นแบบลึกๆ" แหล่งข่าวท่านหนึ่งกล่าว

หรือแม้งานก่อสร้างลานจอดเครื่องบิน สนามบิมนภูเก็ต ก็มีข่าวว่าไอทีดีซิกแซกลดต้นทุนร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมการบินพาณิชย์ด้วยการระเบิดหินภายในบริเวณก่อสร้างนำมาเป้นวัสดุก่อสร้างเพื่อปประหยัดรายยจ่ายทางอ้อม ซึ่งการระเบิดหินมาใช้นี้จะขออนุญาตแล้วต้องจ่ายค่าภาคหลวงให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดด้วย จนคณะกรรมาธิการพิจารณางบประมาณต้องเข้าไปสอบ

เกี่ยวกับการตั้งราคาประมูลในแต่ละโครงการของไอทีดีกล่าวกันว่าตัวหมอชัยยุทธจะเข้ามาควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดร่วมกับวิศวกรที่คลุกคลีตีโมงกันมายาวนาน จึงทำให้รู้ช่องว่างของงานระเอียดยิบว่าสามารถตกแต่งหรือเพิ่มเติมราคาในภายหลังกันได้อย่างไร!?

หมอชัยยุทธในระยะหลังซึ่งมีกลิ่นไม่สู้ดีกับงานประมูลทั้งหลาย กลายเป็นคนธรรมะธัมโมไปเสียแล้ว ความดื้อรั้นที่เคยมีกลับกลายเป็นความเยือกเย็น นิ่ม และรู้จักจังหวะตอบโต้ได้อย่างถูกต้อง ดังจะเห็นได้จากวันเซ็นสัญญาก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบังที่กินเวลา 9 ชั่วโมง วันและคืนนั้นหมอชัยยุทธรอคอยด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่ปล่อยแม้คำแย้งกับบริษัทที่ร้องเรียนไป

หรือว่านี่จะเป็นการพลิกบุคลิกภาพที่น่าสะพึงกลัวในอีกรูปแบบหนึ่ง!!!

จุดที่น่ากลัวอีกอย่างของไอทีดีในอนาคตอันใกล้คงไม่พ้นเรื่องวัสดุก่อสร้างพากันถีบตัวสุงขึ้นไปจากเดิมกว่า 20% ซึ่งจะมีผลทำให้มูลค่างานทุกงานต้องเพิ่มเป็นทบเท่ากอปรกับราคาของไอทีดีส่วนใหญ่จะต่ำกว่าปกติเมื่อต้องเจอกับปัญหานี้คงต้องปวดหัวแน่!?

เห็นทีคนปราดเปรื่องอย่างหมอชัยยุทธต้องขบคิดหนัก กำไรที่แทบหาไม่ได้อยู่แล้ว (ยกเว้นในกรณีที่เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขได้) บางครั้งอาจต้องขูดเนื้อตัวเองโดยไม่จำเป็นเสียอีกด้วย หรือว่านี่จะเป็นกงกรรมกงเกวียนที่ย้อนมาประสบโดยไม่เจตนา!!!!

ก้าวกระโดดอย่างโฉ่งฉ่างของหมอชัยยุทธเมื่อปี 2530 ไม่เพียงแต่แสดงออกกับไอทีดีเพียงบริษัทเดียว ในเครืออิตัลไทยในปีนี้อาจเป็นปีแรกที่ว่า พร้อมใจกันรุกคืบเกือบทุกสาขาธุรกิจที่ได้วางรากฐานไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

ปี 2521 ที่อิตัลไทยกรุ๊ปเปิดแนวรบใหม่ในวงการอุตสาหกรรมด้วยการร่วมทุนกับ ORIENTAL MARINE และ LAMINATES ตั้งบริษัทอิตัลไทยมารีนเพื่อดำเนินกิจการอู่ต่อเรือ-ซ่อมเรือขนาดใหญ่โดยมีคู่ค้าคนสำคัญคือกองทับเรือจนเป็นเจ้าประจำผู้ผูกขาดได้สร้างความฮือฮากันมาแล้ว ปีนี้อิตัลไทยมารีนได้ประกาศตัวเข้าร่วมกับบริษัทวอสเปอร์ แห่งอังกฤษ ซึ่งเป็นยักษ์ในวงการธุรกิจต่อเรือเพิ่มเติม

การเจรจาร่วมทุนระหว่างอิตัลไทยมารีนกับวอสเปอร์ชี้ให้เห็นถึงความชาญฉลาดของหมอชัยยุทธอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากในข้อตกลงที่มีต่อกันทางอิตัลไทยมารีนจะรับต่อเรือเฉพาะเรือฟรีเกตขนาดเล็กที่มีละวางขับไม่เกิน 4,000 ตัน โดยการประมาณงานทั่วโลกจะเป็นหน้าที่ของวอสเปอร์

ที่อิตัลไทยมารีนเลือกเฉพาะเรือฟรีเกตไม่เกิน 4,000 ตันเป็นเพราะงานประเภทนี้ฟันกำไรได้สบายและวอสเปอร์ก็มีงานนี้รองรับอยู่ไม่น้อย ส่วนเรือที่มีขนาดใหญ่ราคาที่วอสเปอร์เสนอในการประมูลมีราคาสูงบางทีทำแล้วไม่คุ้มทุนหรืออาจไม่ได้งานมาเลย ภาษาการค้าก็ต้องบอกว่างานนี้ "กำไรขอมีเอี่ยว ขาดทุนเสี่ยวรับไปก็แล้วกัน"

งานแรกที่รับไปแล้วก็คือการต่อเรือดำน้ำ 1 ลำมูลค่า 1,933 ล้านบาทซึ่งงานนี้อิตัลไทยมารีนเฉือนอีก 15 บริษัทที่เสนอตัวแข่งขันไปท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกเช่นเคย!!!

ในปีนี้อีกที่อิตัลไทยกรุ๊ปโหมหนักด้านเครื่องมือกลอุตสาหกรรมหนัก ทั้งนี้เพื่อให้ขอบข่ายงานครบวงจร โดยรับเป็นตัวแทนเครื่องมือกล PLOTO จากอเมริกาและร่วมลงทุนกับ 5 บริษัทใหญ่ญี่ปุ่นคือบริษัทไทยนิปปอนสตีล คอร์ปอเรชั่น บริษัทมิตซุย บริษัทนิชโชอีวาย บริษัทโตโยเมนก้า และบริษัทนิตทัตสึ จัดตั้งบริษัทไทยนิปปอนสตีล เอ็นจิเนียริ่ง คอนสตัคชั่น คอร์ปอเรชั่นโดยอิตัลไทยกรุ๊ปถือหุ้น 62% ในนามเครื่องจักรกลสยาม เพื่อลงทุนผลิตโครงสร้างเหล็กและโลหะ

เรียกว่าถ้างานทุกอย่างแล้วเสร็จสมบูรณ์จะมีผลต่อไอทีดีที่จะเซฟต้นทุนการก่อสร้างลงไปได้อีก อันเป็นหนทางที่ ที่ผู้เล็งผลร้ายในวงการก่อสร้างว่าจะนำไปสู่การผูกขาดโดยปราศจากเงื่อนไขต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นวิถีหนทางเดียวที่คนในวงการก่อสร้างคาดหมายว่า "แล้วในที่สุดจะเหลือเพียงไอทีดีรายเดียวเท่านั้นในวงการก่อสร้างเมืองไทย"

หมอชัยยุทธได้ใช้เวลายาวนานกว่า 30 ปีทั้งร่วมกับแบร์ลิงเจียรีและต่อสู้อย่างโดเดี่ยวลำพังปุกปั้นอิตัลไทยกรุ๊ปให้ขึ้นมาโดดเด่นในธุรกิจ 5 สาขาหลักคือ หนึ่ง-การค้า สอง-ก่อสร้าง สาม-โรงงาน สี่-โรงแรมและที่ดิน ห้า-หนังสือพิมพ์ ผลพวงของการเติบใหญ่อย่างยั้งไม่หยุดเหล่านี้อาจเป็นจริงอย่างที่หมอเคยบอกว่า "ไม่ใช่กรรมหรอกคุณ…เป็นบุญ มันเป็นความสุข"

ก็หวังว่าคงเช่นนี้ หาไม่ย่อมไม่ใช่กรรมของหมอชัยยุทธคนเดียว!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.