มองหุ้นกลุ่มแบงก์ยังมีอัพไซด์ หลังไตรมาส 2 ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(27 กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

มองหุ้นแบงก์ยังถูก แม้ปรับตัวขึ้นมาเยอะแล้วก็ตาม พบราคาในเชิง PB มีส่วนลดกว่า 11% เมื่อเทียบกับวิกฤติการเงินปี 40 และ 26% จาก PB เฉลี่ย 6 ปีย้อนหลัง ชี้จุดต่ำสุดได้ผ่านไปแล้วในไตรมาส 2 โบรกฯปรับเพิ่มการลงทุนเป็น"มากกว่าตลาด" แนะลงทุน 5 แบงก์ใหญ่

ความเสี่ยงเกี่ยวกับปัญหาวิกฤตการเงินโลกและความกังวลเกี่ยวกับสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวได้เริ่มคลายตัวลงเมื่อเทียบกับต้นปีที่ผ่านมาทำให้หุ้นแบงก์ปรับตัวขึ้นมากกว่า 59% โดยปรับตัวสูงกว่า SET ถึง 22% แต่บทวิเคราะห์จาก บล.เคจีไอ ก็มองว่าหุ้นแบงก์ยังมีการซื้อขายที่ค่า PB(อัตราส่วนราคาต่อมูลค่าทางบัญชี) เพียง 1.1เท่า และยังถูกว่าค่า PB Multipleเฉลี่ยหลังวิกฤตการเงินเอเชียในปี 40-41 อยู่กว่า 11%

โดยแม้ว่าธนาคารไทยจะมีฐานะทางการเงินที่ดีกว่าช่วงนั้นซึ่ง NPL ลดลงเหลือ 6-7%จากกว่า 50% และเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่ 11-12% เทียบกับขณะนั้นที่ 6-7% และยังไม่มีไม่มีสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่อการปรับลดมูลค่า นอกจากนั้น เมื่อเทียบกับค่า PB เฉลี่ยในรอบ 6 ปีที่ผ่านมาที่1.45เท่า หุ้น ณ ปัจจุบันก็ยังมีระดับซื้อขายที่ต่ำกว่าถึง 26% หากวัดจากจุดสูงสุดที่ค่า PB 2 เท่าจะทำให้ส่วนลดสูงถึง 45% แม้ความเสี่ยงในด้านการเมืองจะยังอยู่ แต่ก็ยังมีโอกาสอีกมากที่หุ้นจะปรับตัวขึ้นไปสู่แค่ค่าเฉลี่ยที่ควรจะเป็น(Mean Reversion) และก็ยังเชื่อว่าราคาของหุ้นธนาคารไทยที่ระดับปัจจุบันยังไม่สูงเกินไปแม้จะวิ่งขึ้นมามากแล้วก็ตาม

เมื่อเทียบกับหุ้นธนาคารอื่นๆในภูมิภาค หุ้นธนาคารไทยยังมีการซื้อขายในระดับต่ำกว่าค่า PB ภูมิภาคเฉลี่ยที่ 1.5เท่า ถึง 23% แม้ว่าราคาที่ต่ำกว่าดังกล่าวจะสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านการเมืองในประเทศที่ยังมีอยู่และแนวโน้มกำไรสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) ที่ปรับลดลงมาจากค่าเฉลี่ยในอดีต ซึ่งปรับตัวลดต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2547 จากการสิ้นสุดของสิทธิพิเศษทางภาษีและการเปลี่ยนไปใช้กฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้ธนาคารบันทึกค่าใช้จ่ายสำรองเพิ่ม เช่น IAS39

ในความเห็นของฝ่ายวิจัย บล.เคจีไอ ส่วนลดของราคาธนาคารไทยต่อธนาคารในภูมิภาคต่างๆยังคงสูงเกินไป ประเมินได้จากสัดส่วน ROE/PB ยังอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยในหลายๆประเทศ แม้ว่ายังจะมีมุมมองที่ยังไม่ดีมากต่อการเมืองไทยบ้างแต่ก็เชื่อว่าช่วงที่เลวร้ายที่สุดน่าจะได้ผ่านไปแล้ว

นอกจากนี้ ในแง่ของค่า PE Multiple ธนาคารไทยยังคงซื้อขายอยู่ในอันดับต่ำมากที่เพียง 10เท่า ในปี 2552 ซึ่งถูกกว่าหุ้นอื่นในภูมิภาคที่ 15เท่า กว่า 30% ในขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจฟื้นตัว แม้ว่าจะเกิดขึ้นในอัตราที่ไม่ได้เร็วมาก ฝ่ายวิจัยก็ยังประเมินว่าส่วนลดของธนาคารไทยน่าจะแคบลงได้อีกเมื่อเทียบกับหุ้นธนาคารอื่นๆในภูมิภาค

ทั้งนี้ แม้จะคาดว่าช่วงเลวร้ายที่สุดได้ผ่านไปแล้วในครึ่งแรกของปี 2552 ตลาดคงไม่ฟื้นตัวเป็นรูปตัว V และในระยะสั้นตลาดจะยังได้รับผลกระทบจากผลประกอบการไตรมาส2/2552 ที่คาดว่าจะอ่อนตัวจากแรงกดดันด้านส่วนต่างดอกเบี้ย อัตราการขยายตัวของสินเชื่อในระดับต่ำ สำรองที่เพิ่มขึ้น และรายรับค่าธรรมเนียมที่ลดลง ในภาพรวมทั้งปี 2552 ผลประกอบการน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็คงไม่เป็นเรื่องแปลกสำหรับตลาดเนื่องจากตลาดได้คาดไว้แล้วว่ากำไรจะลดลง 6% ในปีนี้

อย่างไรก็ตามครึ่งหลังของปี ฝ่ายวิจัยเริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีและสัญญาณการฟื้นตัวของปัจจัยบวกต่อกำไรกลุ่มธนาคาร เช่น อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ ส่วนต่างดอกเบี้ย รายรับค่าธรรมเนียม ซึ่งก็จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ผลของการฟื้นตัวเริ่มชัดเจนขึ้นมากในปีหน้าโดยค่าประมาณการณ์ผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROAE) จะเริ่มปรับขึ้น และกำไรจะขยายตัวดีถึง 17-18% ดังนั้นจึงคาดว่าจากแนวโน้มดังกล่าวหุ้นธนาคารยังมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก

นอกจากนี้ ฝ่ายวิจัยยังได้ปรับลดค่าความเสี่ยงที่ใช้ประเมินมูลค่าหุ้น (Risk premium) ต้นทุนการลงทุน (COE) ลดลงจากกว่า 12-13% เป็นประมาณ 11-12% และได้ราคาพื้นฐานที่สูงขึ้น แต่ราคาพื้นฐานใหม่ส่วนมากยังถูกกว่าค่า PB เฉลี่ย 6 ปีอยู่กว่า 15% ซึ่งสะท้อนถึงความเชื่อที่ว่าการประเมินมูลค่าที่เพิ่มขึ้นสะท้อนถึงแนวโน้มระยะยาวของหุ้นธนาคารไทยที่ดีขึ้น

จากการฟื้นตัวในระยะกลางถึงยาว และการคาดการณ์เกี่ยวกับส่วนลดต่างของมูลค่าในปัจจุบันกับในอดีตหรือเทียบกับตลาดภูมิภาคจะน้อยลง ฝ่ายวิจัยจึงปรับเพิ่มน้ำหนักกลุ่มธนาคารเป็น"มากกว่าตลาด" จาก "เท่ากับตลาด" และยังคงเลือกลงทุนในธนาคารขนาดใหญ่ เช่นKBANK, SCB, KTB, BBL, BAY ส่วนในกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก ฝ่ายวิจัยเลือก TISCO และยังคงแนะนำ "เก็งกำไร"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.