หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 กลุ่มข้าราชบริพารสมเด็จพระปกเกล้าฯ
กลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย หลวงดำรงดุริตเรขรองสนิท โชติกเสถียร หลังจากลาออกจากการเป็นข้าราชบริพาร
ได้ไปชวนพ่อค้าคนจีนคนหนึ่งชื่อ นายเทียน เหลียวรักวงศ์ ร่วมลงทุนทำกิจการหนังสือพิมพ์สยามนิกรและสยามครอนิเคิลและโรงพิมพ์ชื่อไทยพาณิชยการ
โดยอาศัยทุนทรัพย์ส่วนหนึ่งจากการกู้ยืม หม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล ซึ่งเป็นอดีตข้าราชบริพารในสมเด็จพระปกเกล้าฯ
ด้วยผู้หนึ่ง การดำเนินกิจการธุรกิจสิ่งพิมพ์ได้ดำเนินมาอย่างไม่ประสบผลสำเร็จ
จนถึงปี 2488 ทั้ง 3 ท่านก็มีแนวคิดว่า ในสมัยนั้นกิจการธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่ดีมีอนาคตและทำกำไรได้ดี
อีกทั้งกิจการธุรกิจประกันภัยที่อยู่ในมือคนไทยก็มีเพียงแห่งเดียวเท่านั้น
คือ บริษัทไทยประกันชีวิต ส่วนใหญ่กิจการดังกล่าวตกอยู่ในมือของฝรั่งต่างชาติ
จึงได้ร่วมกันออกไปชักชวนเพื่อนฝูงที่รู้จักมักคุ้นกันให้มาร่วมลงทุนทำกิจการประกันภัย
โดยคนที่เป็นตัวจักรวิ่งเต้นก็คือ หลวงดำรงดุริตเรช (ดำรง เสรีนิยม) และนายรองสนิท
โชติกเสถียร
ทั้ง 2 ท่านได้ชักชวน พยัพ ศรีกาญจนา พระยาปรีชานุสาสน์ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภาณุพัน
ยุคล หม่อมเจ้ากมลีสาน ชุมพล ให้มาร่วมลงทุนและก่อตั้งบริษัทประกันภัยที่ชื่อ
อาคเนย์ประกันภัย ได้เป็นผลสำเร็จในปี 2489 หรือ 41 ปีล่วงมาแล้วนับจากปัจจุบันนี้
นับเป็นกิจการประกันภัยที่อยู่ในมือคนไทยรุ่นบุกเบิกเป็นรายที่สองที่แข่งขันกับกิจการประกันภัยของชาวต่างชาติ
กล่าวกันว่า กลุ่มเป้าหมายลูกค้าของบริษัทในสมัยยุคแรก ๆ นั้น อยู่ในกลุ่มข้าราชบริพารเก่า
และพระบรมวงศานุวงศ์ที่อาศัยความสัมพันธ์ทางส่วนตัวของหลวงดำรงดุริตเรข และรองสนิท
โชติกเสถียร เป็นหลักใหญ่ไปชักชวนมา ส่วนกลุ่มลูกค้านักธุรกิจคนจีนนั้นก็อาศัยสายสัมพันธ์ของ
พยัพ ศรีกาญจนา ซึ่งกว้างขวางในกลุ่มพ่อค้าคนจีนด้วยความเป็นคนชอบเข้าสังคมอยู่เนืองนิตย์
และมีพื้นฐานการงานที่เคยเป็นพนักงานของบริษัทคาเนโบแห่งญี่ปุ่น และเซ้าท์
อิสต์ เทรดดิ้ง มาก่อน อีกทั้งอาศัยความสัมพันธ์ในหมู่คนจีนของนายเทียน เหลียวรักวงศ์
ด้วยเป็นแกนหลัก
ตลอด 41 ปี บริษัทอาคเนย์มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเพียง 3 ครั้ง คือ ครั้งแรกจาก
1 ล้านบาท ในปีก่อตั้ง 2489 เป็น 4 ล้านบาท ในปี 2492 จากหลักฐานบันทึกการประชุมคณะกรรมการบริษัทในสมัยนั้นได้ระบุว่า
"เพื่อต้องการนำไปใช้เป็นทุนขยายงานธุรกิจด้านประกันชีวิต และเป็นหลักประกันที่ใช้สร้างหน้าตาให้กับบริษัทเวลาติดต่อทางธุรกิจกับต่างประเทศ"
หลังจากการเพิ่มทุนครั้งแรกต่อมาอีก 2 ปี ในปี 2494 บริษัทได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก
4 ล้านบาทเป็น 10 ล้านบาท จนธุรกิจดำเนินต่อมาอีก 25 ปี คือ ในปี 2519 บริษัทได้มีนโยบายให้พนักงานที่ทำงานมากับบริษัทเป็นเวลายาวนาน
มีสิทธิ์ถือหุ้นได้โดยบริษัทขายหุ้นในส่วนที่เพิ่มทุนอีก 10 ล้านบาทเป็น
20 ล้านบาทนี้ในราคาหุ้นละ 100 บาท จำนวน 60,000 หุ้น จากส่วนหุ้นที่เพิ่ม
100,000 หุ้น นรฤทธิ์ โชติกเสถียร กรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจประกันชีวิต
เล่าให้ "ผู้จัดการ" ว่าการเพิ่มทุนครั้งนี้ ผู้บริหารและคณะกรรมการบริษัทมีเจตนาให้พนักงานที่ทำงานมานานกับบริษัทได้มีโอกาสถือหุ้นบ้าง
ไม่ได้เกี่ยวกับเหตุผลทางธุรกิจแต่อย่างใด
"เหตุผลการเพิ่มทุนที่เกิดจากความจำเป็นทางธุรกิจมีเพียงประการเดียวเท่านั้น
คือ การประกอบการประสบการขาดทุนหรือไม่มีส่วนเกินมากพอที่จะจ่ายเป็นผลให้แก่ลูกค้าที่ถือกรมธรรม์ครบกำหนดในอัตรา
1.5% ของทุนประกันและปันผลแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งผลการประกอบการของบริษัทอาคเนย์อยู่ในฐานะที่มีส่วนเกิน
(SURPLUS) มากพอโดยตลอด"
ธุรกิจสายประกันชีวิต ประกันวินาศภัย และประกันเบ็ดเตล็ดของบริษัทอาคเนย์ประกันภัยเท่าที่ดำเนินงาน
มีส่วนเกินในเงินกองทุนที่สามารถจ่ายปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในอัตราอย่างต่ำ 40%
โดยตลอด…แน่ล่ะ คงหาธุรกิจประเภทใดที่จ่ายปันผลงาม เช่น ธุรกิจประกันภัยคงยากไม่น้อย
!
บริษัทอาคเนย์ฯ มีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายสำคัญ ๆ อยู่มากถึง 11 กลุ่ม โดยแต่ละกลุ่มถือสัดส่วนปริมาณหุ้นที่แตกต่างกันไม่มากนัก
เงื่อนไขเช่นนี้ทำให้โครงสร้างอำนาจในการบริหารภายในบริษัทมีลักษณะคะคานกันอย่างสมดุล
ซึ่งเป็นปมเงื่อนสำคัญที่มีส่วนอย่างสำคัญต่อการช่วยให้การประสานกลมกลืนในสไตล์การบริหารของแต่ละคนเข้ากันได้อย่างสนิท
ทั้ง ๆ ที่แต่ละกลุ่มมีพื้นเพของวิถีชีวิตและประสบการณ์ในการทำงานที่แตกต่างกัน
จะเรียกว่า ลักษณะการถ่วงดุลอำนาจแบบนี้ เป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อันหนึ่งของบริษัทอาคเนย์ก็ไม่ผิดนัก
!
เมื่อบุคคลรุ่นก่อตั้งเข้าวัยแก่ชราตามกฎแห่งธรรมชาติ การสืบทอดอำนาจจากชนรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกก็เกิดขึ้น
ซึ่งในบริษัทอาคเนย์กระบวนการถ่ายทอดอำนาจจากชนรุ่นพ่อสู่รุ่นลูกเกิดขึ้นในปี
2516 เป็นต้นมา กล่าวคือ
ปี 2516 หลวงดำรงดุริตเรข ประธานคณะกรรมการบริษัทคนแรก ถึงแก่กรรมที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเดือนกรกฎาคม
2516 มีมติแต่งตั้ง อำพน เสรีนิยม บุตรชายหลวงดำรงฯ ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทที่มีอำนาจลงนามแทน
จวบจนกระทั่งปี 2527 อำพน เสรีนิยม ก็ขอลาออกจากกรรมการบริษัทเป็นเพียงแค่ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริษัท
ด้วยเหตุผลปรารถนาเป็นผู้มีอำนาจลงนามแทนบริษัทที่บริษัทอาคเนย์ธนกิจ ซึ่งในขณะนั้นเขาเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่แต่เพียงแห่งเดียว
ในปี 2520 นายเทียน เหลียวรักวงศ์ ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทรุ่นก่อตั้งถือหุ้นอยู่
9,450 หุ้น (ข้อมูลปี 2506) ชราภาพมากไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่กรรมการบริษัทได้และขอลาออกเป็นครั้งที่สองเพื่อให้บุตรชาย
คือ ประพันธ์ เหลียวรักวงศ์ ซึ่งในปี 2520 ถือหุ้นอยู่ 12,600 หุ้น เข้ามาเป็นกรรมการบริษัทแทน
ที่ว่านายเทียนขอลาออกเป็นครั้งที่สองนั้นก็เพราะว่าในปี 2506 เขาได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทด้วยเหตุผลไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดและได้ขายหุ้นของตนเองให้แก่
พยัพ ศรีกาญจนา ไปทั้งหมด 9,450 หุ้น ซึ่งอย่างไรก็ดีในภายหลังเมื่อปี 2510
ก็กลับเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทใหม่อีกครั้งหนึ่งตามคำเชื้อเชิญของพยัพ พร้อมเปลี่ยนชื่อนามสกุลใหม่เป็น
"เธียร สิงหวาณิช"
ปี 2523 รองสนิท โชติกเสถียร ประธานคณะกรรมการบริษัท ซึ่งรับตำแหน่งสืบต่อจากหลวงดำรงฯ
ตั้งแต่ปี 2516 ถึงแก่กรรมลง ในฐานะที่รองสนิทซึ่งมีอดีตทำงานในตำแหน่งต้นห้องรองเสวกโท
ในราชสำนักของสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นหนึ่งกรรมการผู้ก่อตั้งบริษัท คณะกรรมการบริษัทได้เรียกประชุมกรรมการทันทีและแต่งตั้งให้
พยัพ ศรีกาญจนา ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารสืบทอดตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทแทนรองสนิทควบคู่กันไปด้วย
พร้อมกันนี้ก็ได้แต่งตั้งให้นรฤทธิ์ โชติกเสถียร บุตรชายรองสนิท ซึ่งในเวลานั้นกำลังทำงานอยู่ที่บริษัทอาคเนย์ประกันภัย
ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทแทนบิดา หลังจากนั้นอีก 2 ปี คือ ในปี 2525
นรฤทธิ์ก็ย้ายมาทำงานที่บริษัทอาคเนย์ประกันภัยในตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการคุมสายงานธุรกิจประกันชีวิต
จนอีก3 ปีต่อมาในปี 2528 ก็ได้รับแต่งตั้งขึ้นเป็นกรรมการบริหาร
ปี 2524 ภักดี นิวาตวงศ์ ซึ่งเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทในปี 2503 ตามคำชวนของพยัพและถือหุ้นอยู่ในขณะนั้น
6,615 หุ้นได้ขอลาออกเนื่องจากมีปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคทางสมอง คณะกรรมการบริษัทได้แต่งตั้ง
วิชัย นิวาตวงศ์ บุตรชายเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทแทนพ่อ ขณะที่ในช่วงเวลานั้น
วิชัยนั่งบริหารงานในฐานะกรรมการผู้จัดการบริษัทส่วนตัว ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตยารักษาโรค
จนกระทั่งอีก 4 ปีต่อมาในปี 2528 คณะกรรมการบริษัทก็ประชุมมีมติแต่งตั้งให้วิชัย
นิวาตวงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการรองผู้จัดการฝ่ายบริหารพร้อมนรฤทธิ์
ปี 2525 พิทักษ์ บุณยรักษ์ ซึ่งเป็นเถ้าแก่โรงสีข้าวในจังหวัดนครสวรรค์
และเป็นเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกับ พยัพ ศรีกาญจนา ที่ St'STEVEN ฮ่องกง ถูกพยัพชวนเข้ามาซื้อหุ้นบริาทอาคเนย์ประกันภัยสมัยเพิ่มทุนครั้งแรกในปี
2492 จำนวน 374 หุ้น พร้อมทำโรงสีข้าวของตนเข้าทำประกันกับบริษัทอาคเนย์ฯ
ในเวลาเดียวกันด้วย พิทักษ์มปัญหาสุขภาพและชราภาพมาก ได้ขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท
พยัพ ศรีกาญจนา จึงชวน ดร.ศักดา บุณยรักษ์ บุตรชายพิทักษ์เข้ามาเป็นกรรมการแทน
ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทก็ไม่ขัดข้อง และอีก 3 ปีต่อมา ดร.ศักดา บุณยรักษ์
ก็ได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการและกรรมการบริหาร ควบคุมดูแลสายงานด้านบัญชีและตรวจสอบ
"ดร.ศักดา เป็นคนที่มีความสามารถด้านวิเคราะห์ข้อมูล ตัวเลขต่าง ๆ
มาก" นรฤทธิ์ โชติกเสถียร เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังถึงความเหมาะสมในคุณสมบัติของ
ดร.ศักดา ในช่วงขึ้นดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารควบคุมดูแลสายงานด้านตรวจสอบ
ในช่วงปี 2525 เวลาเดียวกับที่ ดร.ศักดา เข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ม.ร.ว.พฤทธิสาณ
ชุมพล บุตรชายหม่อมเจ้ากมลลีสาน ชุมพล กรรมการบริษัท ผู้ก่อตั้งด้วยผู้หนึ่ง
ซึ่งในปีนั้นเพิ่งจะสำเร็จ PH.D. สาขาสังคมวิทยาการเมือง จากมหาวิทยาลัยโมนาช
ออสเตรเลีย ก็ได้รับแต่งตั้งเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทแทนบิดา
"ผมเข้ามาเป็นกรรมการเพราะต้องแบกรับมรดกสืบทอดจากบิดาด้วยเป็นประเพณีปฏิบัติของบริษัทที่เมื่อบิดาซึ่งเป็นกรรมการลาออกไป
ตำแหน่งก็จะตกมาถึงลูก" หม่อมพฤทธิสาณ ชุมพล กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ด้วยน้ำเสียงหัวเราะดังลั่นตามสไตล์
กลางปี 2530 วัย วรรธนะกุล กรรมการผู้จัดการคนแรกของบริษัทตั้งแต่ปี 2489
เป็นผู้หนึ่งที่ก่อตั้งบริษัทอาคเนย์ฯ ลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัท หลังจากที่เคยลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทมาแล้วเมื่อปี
2510 ด้วยเหตุผลชราภาพมาก คณะกรรมการบริษัทจึงมีมติแต่งตั้งให้ ชัย วรรธนะกุล
บุตรชายของวัยเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทแทนบิดา โดยชัยมีธุรกิจส่วนตัวที่บริหารอยู่คือ
บริษัทไทยชิปบอร์ด แต่หลังการประชุมวิสามัญกลุ่มผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2530
ชัย วรรธนะกุล ก็ถูกปลดออกจากการเป็นกรรมการบริษัท ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งกรรมการบริษัทเพียงแค่
2 เดือนเท่านั้น
การเข้าแบกรับภาระหน้าที่สืบทอดต่อจากบิดาของบรรดาชนรุ่นลูกในบริษัทอาคเนย์ประกันภัย
ซึ่งมีโครงสร้างสัดส่วนการถือหุ้นและอำนาจการบริหารจัดการกระจายออกไปอย่างสมดุลนี้เอง
ที่เป็นรูปแบบหนึ่งที่หาได้น้อยรายเหลือเกินในบรรดาผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยในเมืองไทย
และเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมอีกสิ่งหนึ่งในบริษัทอาคเนย์ที่เป็นเอกลักษณ์ตลอด
41 ปีที่ผ่านมา