อัญมณี "เถื่อน" ข้ามลำน้ำเมย สีสันน้ำเนื้อจากลำไส้ถึงปลายนิ้ว!!!


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

เรื่องราวหลากหลายที่ปรากฏเหนือแผ่นดินพม่า คงเชยไม่เสร็จถ้าละเลยไม่พูดถึง "อัญมณี" เพราะพม่าได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งอัญมณีอันงามวิจิตร เสน่ห์เลอค่าของทับทิม หยก ไพลิน ยี่หระ เพอริดอท สปินแนล อะคัวมารีน ที่ประทับตราเมด อิน เบอร์มา ถูกยกย่องว่าเป็นเลิศหาความงามใดเสมอเหมือน

ตำนานผลประโยชน์ที่เกิดจากอัญมณี ซึ่งหลายช่วงเวลาเป็นไปท่ามกลางกลิ่นคาวเลือดและเสียงปืนแผดคำรามเหนือสองฟากฝั่งลำน้ำเมยนั้นมีความสำคัญต่อผู้คนไม่น้อย อัญมณีที่ทลักจากพม่าสู่ชายแดนไทยไม่เพียงแต่จะเป็นการค้าที่ทำกำไรให้แก่ผู้เกี่ยวข้องด้วยวงเงินมหาศาลเท่านั้น

หากด้านหนึ่งของความงามกลับกลายเป็นความน่ากลัว น่าสยดสยองที่ได้ฉุดคร่าอิสรภาพให้ชาวพม่าบางคนยอมเสี่ยงเอาชีวิตและความตายของตนเป็นเดิมพัน!!!

ลึกเข้าไปจากฝั่งลำน้ำเมยสู่เขตที่ราบสูงฉาน บริเวณนี้อุดมไปด้วยเทือกภูสลบับซับซ้อนมากมายในระดับความสูงเหนือน้ำทะเล 2-8,000 ฟุต ซึ่งเป็นที่ตั้งของเทือกเขานี้แผ่รัศมีกินวงกว้างถึง 600 ไมล์อยู่เฉียงทางด้านภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองมัณดะเลย์

ทิวเทือกโมกอคแม้การเดินทางที่ต้องเสี่ยงภัยนานับประการ ก็หาได้สร้างความหวั่นหวาดให้นักเดินทางแสวงโชคระทดท้อไปได้ทุกคนหวังเพราะที่นั่นมันคือ แหล่งกำเหนิดอัญมณีสำคัญที่สุดของพม่า อัญมณีที่ขุดพบจากเทือกเขานี้มีสีสันน้ำเนื้อแพรวพราวเป็นหนึ่งในโลกโดยเฉพาะทับทิม

สมัยพระเจ้ามินดุงใครที่ขุดค้นพบทับทิมราคาพันรูปีต้องนำขึ้นถวาย ไม่เช่นนั้นแล้วหากตรวจพบจะถูกบวยแส้กันกลางเมืองมัณดะเลย์ พม่าจะมีหอการค้าทับทิมทำหน้าที่สืบราชการลับและไล่เบี้ยภาษีโดยตลอดระยะทางจากมัณดะเลย์ถึงเหมืองจะมีคนของหอการค้าประจำตามด่านต่างๆ มากมาย

ไม่ว่าจะมีของมีค่าชิ้นนี้เหลือล้นเพียงใด แต่พม่าก็เข้มงวดไม่ปราณีปราศรัยเช่นเดิม ปัจจุบันการตรวจจับการลักลอบนำอัญมณีออกนอกประเทศยิ่งเพิ่มความรุนแรงเฉียบขาดมากขึ้น เช่นเดียวกันแม้ว่าจะต้องเสี่ยงกับทัณฑ์ทรมานที่โหดร้ายทารุณกรรมเพียงใด คนพม่าก็ยังพร้อมใจที่จะวัดดวงเพราะความหมายของการนำอัญมณีแต่ละเม็ดมาส่งพ่อค้าคนไทยมันบ่งบอกถึงการกินดีอยู่ดีของเขาไปตลอดชีวิต

ความล้มเหลวของระบบโชเชียลลิสต์แบบพม่าๆ สอนให้พวกเขาต้องทำอย่างนั้น!!!

นอกจากเทือกเขาโมกอคที่มีอัญมณีมากมายแล้ว พม่ายังมีบ่ออัญมณีอีกหลายสิบแห่ง และ 15 แห่งที่เป็นบ่อทับทิมอยู่ใน 3 เขตคือมัณดะเลย์ คะยา และมยิคทคียา ก็เป็นทับทิมที่ดีที่สุดในโลก ชนิดที่มีชื่อเสียงมากก็คงเป็นทับทิมสี "แดงเลือดนกพิลาบ" นัยว่าทับทิมชนิดนี้บ่งบอกถึงความรักความซื่อสัตย์ที่ยั่งยืน ผู้หญิงที่ร่วงรู้คุณค่าต่างปรารถนาที่จะมีไว้ในครอบครอง

ลักษณะการทำเหมืองของพม่ามี 3 แบบคือ หนึ่ง-"หลุดวิน" เป็นการทำเหมืองทับทิมที่อยู่ตามซอกในโพรงหินปูนต้องเจาะอุโมงค์เข้าไปค้นหาแบบนี้มีโอกาสพบทับทิมน้ำงาม 25% สอง- "หมิย่อดวิน" เป็นการทำเหมืองทับทิมซึ่งปนอยู่กับหินปูนซึ่งถูกน้ำเซาะพัดพามาทับถมตามไหล่เขา ลักษณะนี้คล้ายกับทำเหมืองแล่นปล่อยให้กระแสน้ำไหลพากรวดทรายไปลงตะแกงแล้วค่อยคัดเลือกหาอัญมณีหรือทับทิม สาม-"ทวินลอน" เป็นการทำเหมืองที่ปล่อยลงสู่ลานแร่ที่อยู่ลึกลงไปจากปล่อง 15-30 ฟุต

พม่าและคนพม่าต้องอับโชคเพราะความไร้เดียงสาทางความคิดของผู้นำประเทศบางคนที่ไม่ลืมหูลืมตามองดูความรุ่งเรืองของโลกภายนอก ขังประเทศไว้กับความอุดมสมบูรณ์ที่ไม่ได้รับการพัฒนาเป็นเวลายาวนานหว่า 30 ปี ทั้งที่พม่าเป็นราชาอัญมณีทว่ารัฐบาลก็มิได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมประเภทนี้มากนัก ปีหนึ่งครั้งเดียวที่เปิดให้พ่อค้าภายนอกเข้าไปประมูลซื้อขายกันกลางกรุงย่างกุ้ง

ปีนี้ก็ผ่านไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา อนิจจามหามิตรอย่างไทยที่พม่ากล่อมด้วยยาหอมว่าดีสุดแสนดี เป็นเพื่อนบ้านที่น่ารักเอามากๆ กลับไม่ได้รับเชิญนั่นเป็นเพราะอะไรและนี่หรือคือความรักอันบริสุทธิ์งดงามที่มีต่อกัน

ผู้เชี่ยวชาญอัญมณีหลายท่านบอกว่าถ้าพม่าใจกว้างให้มีการส่งออกอัญมณีเหมือนไทยแล้ว คงใช้เวลาไม่นานนักที่จะกอบโกยเงินตราเข้าประเทศเป็นฟ่อนๆ หรืออาจทำให้พม่ากลายเป็นศูนย์กลางอัญมณีโลกแท้จริงไม่ใช่อิตาลี ฝรั่งเศส หรือไทย

เมื่อเงื่อนไขจากรัฐบาลเฮงซวยทำให้อัญมณีพม่าจำนวนไม่น้อยต้องลักลอบออกมาขายโดยคัดเลือกส่งผ่านจุดชายแดนแม่สอดของไทยเป็นสำคัญ คนพม่าจะลอบนำอัญมณีที่ขุดพบซากมาบเสื้อผ้า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายเพื่อหลบลี้สายตาเจ้าหน้าที่ตามด่านต่างๆ บางคนถึงกับกลืนลงกระเพาะแล้วค่อยมาถ่ายออกพร้อมอุจระที่ฝั่งไทย หรือถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงก็อาจส่งถ่ายขายให้กับพ่อค้าตามเมืองมัณดะเลย์ ย่างกุ้ง และเมาะละแหม่งนั้นเลย

แต่ที่ผ่านๆ มาขายส่งมายังที่ฝั่งไทยรู้สึกจะได้ราคางดงามกว่ากันหลายเท่าตัว!!!

เส้นทางลำเลียงอัญมณีเข้าไทยส่วนมากพอออกจากเมือง พ่อค้าจะอาศัยเส้นทางที่อยู่ในเขตอิทธิพลกะเหรี่ยงเป็นหลัก โดยจ่ายค่ากหัวคิวให้กับทหารกะเหรี่ยง ที่จะไม่ทำอันตรายต่อพ่อค้าเด็ดขาด เส้นทางที่ใช้ประจำก็คือสายวังข่า เกาะกริก จนมาถึงเมียวดีที่อยู่ตรงข้ามกับแม่สอด "ค่าก๊อก"

คนสำคัญที่ทำหน้าที่ขนลำเรียงคือ "กุลี" หรือพม่าเรียก "แกลี" พ่อค้าเพชรพลอนที่เดินทางเข้าไปซื้ออัญมณีพม่าจะจ่ายเงินค่าของให้ส่วนหนึ่งก่อนตามเปอร์เซ็นต์ราคาเช่น 5-15% ส่วนที่เหลือ "แกลี" จะเป็นคนจ่ายเอง ที่ต้องทำอย่างนี้เพื่อเป็นหลักประกันของพ่อค้าไทยว่า "จะไม่ถูกโกง"

แกลีจะรักษาอัญมณีทุกชนิดด้วยชีวิตพวกนี้สนิทสนมกับกะเหรี่ยงเป็นอย่างดีหลังผ่านทุกด่านก็จะนัดแนะให้พ่อค้าไทยไปรับ ในการซื้อขายอัญมณีบางชนิดเช่นหยกพ่อค้าจะเสนอขายลูกค้าก่อนจะได้ของ ซึ่งถ้าเที่ยวใดไม่สามารถติดต่อลูกค้าได้ทันเวลานัดกับแกลี ก็จะถูกแกลีริบเงินค่าจ้างที่จ่ายล่วงหน้าทันที และแกลีก็มีสิทธิ์ที่จะนำอัญมณีนั้นไปขายให้ใครก้อได้

ทว่าส่วนใหญ่แล้วไม่มีรายการ "นัดแล้วทำไมไม่มา" เกิดขึ้นบ่อยครั้งนักหรอกเพราะคนซื้อคนขายต่างก็มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันสูง เพราะผิดพลาดเพียงเสี้ยวเดียวหรือส่อพิรุธให้ทางการจับได้ ล่วงรู้ข้อมูลนั้นก็เท่ากับเป็นการปิดฉากชีวิตนักค้าอัญมณีไปในบัลดล!!!!

ก็รู้กันอยู่ว่าคุกขี้ไก่หรือระบบการจองจำของพม่านั้นไร้เหตุผลกันเพียงใด คนไทยไม่น้อยที่ต่างพลัดหลงเข้าไปเผชิญชะตากรรมนั้น หลายรายถูกขังลืมไปเลยก็มี

ในรอบปีนี้และปีก่อนที่สงครามการสู้รบขับเคี่ยวพม่า-กะเหรี่ยงดุเดือดมากขึ้นมีผลทำให้การค้าอัญมณีหยุดนิ่งไปไม่น้อย บรรดาแกลีไม่กล้าลักลอบขนออกมาซึ่งบางทีปฏิบัติการทางการค้าแบบลับๆ เช่นนี้อาจยุ่งยากยิ่งขึ้น เนื่องจากพม่าได้โหมกำลังที่จะยึดพื้นที่คืนจากกะเหรี่ยงให้ได้ในหลายๆ จุด

แต่ไม่ว่าพม่าจะเปิดพรมแดนทางการค้ากับฝั่งไทยอย่างเป็นทางการหรือไม่นั้น เชื่อว่านักค้าอัญมณีคงไม่ยินดีอะไรมากนักเขาเหล่านั้นคงเสาะแสวงหาหนทางที่จะหลบเลี่ยงด่านต่างๆ กันต่อไป เพราะสิ่งนี้หมายถึงผลกำไรที่ตกมาสู่อุ้งมือมากกว่าการที่จะต้องเสียภาษี!!

คุณเคยมองและนึกเฉลียวใจกันบ้างไหมว่า เบื้องหลังความงามวิจิตรที่ประดับอยู่บนเรียวนิ้วของคุณนั้น บางทีมันได้ผ่านกระบวนการจากลำไส้ของคนบางคน และทุกเม็ดคือความงามที่มีความตายเป็นฐานรองรับ!!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.