กะเหรี่ยง เสี้ยนตำหัวใจพม่า แนวรบด้านนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ชนชาติกะเหรี่ยงได้เปิดฉากสู้รบเพื่อเอกราชของตนมาเป็นเวลาร่วม 40 ปี นับเป็นชนกลุ่มน้อยที่สร้างความหนักใจแก่รัฐบาลพม่ามากที่สุด และถ้าพม่ายังไม่แก้ไขนโยบายปกครองภายในให้มีเนื้อหาสาระรับใช้ชนทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค การเข่นฆ่าคนที่มีเลือดเนื้อเชื้อไขเดียวกันคงสานต่ออีกยาวนาน

กะเหรี่ยงนั้นประกาศหนักแน่นแล้วว่า จะยึดหลักมั่น 4 ประการไม่เปลี่ยนแปรเช่นกัน คือ

หนึ่ง - สำหรับชนชาติกะเหรี่ยงแล้วนั้น ความพ่ายแพ้อยู่เหนือปัญหา

สอง - รัฐกะเหรี่ยงต้องถูกสร้างให้เป็นจริงและได้รับการยอมรับอย่างถูกต้อง

สาม - กะเหรี่ยงจะคงไว้ซึ่งอาวุธทุกชนิดอย่างครบครันต่อการพิทักษ์ภัย

สี่ - โชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ ชนชาติกะเหรี่ยงจะตัดสินลิขิตด้วยตนเอง

ชนชาติกะเหรี่ยงนั้น มีความเชื่อมั่นในกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างสูงถึงกับตอกย้ำยุวชนของเขาทั้งหลายว่า "เสรีภาพมีไว้เพื่อผู้กล้าหาญและยอมตายในสนามรบดีกว่าที่จะมีชีวิตอยู่อย่างอดสูเป็นทาสพม่าไม่มีที่สิ้นสุด"

"ไม่มีคนเลวที่น่าเกลียดน่ากลัวเท่ามันอาชญากรโหดของโลกที่ไม่ควรพึงให้อภัย หลายปีที่คนเลวผู้นี้ครองอำนาจเขาไม่เพียงแต่ทำลายสันติสุขของชนกลุ่มน้อย ยังนำพาสังคมพม่า คนพม่าไปสู่ความวิบัติ ประชาชนต้องทนอยู่อย่างอดอยากปากหมอง" พ.ท.ตาหม่อง ผู้บัญชาการหน่วยรบวังข่า พูดถึงผู้นำพม่ากับ "ผู้จัดการ"

ความร้าวฉานของพม่ากับชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ นอกจากจะเชื่อมโยงถึงประเทศไทยให้วางตัวอย่างลำบากแล้วนั้น ยังเป็นที่น่าเสียดายอีกมาก เพราะถ้าไม่มีปัญหาเหล่านี้แล้ว ด้วยความพร้อมของทรัพยากรนานาชนิดคงผลักดันให้พม่าก้าวไปสู่ความเป็นประเทศชั้นนำของโลกไปแล้วก็ได้

ทุกคนที่สนิทสนมกับพม่าต่างสรุปพ้องกันว่า "พม่าจะไปโลดก็ต่อเมื่อหมดยุคเนวิน" แต่ดูๆ ไปก็เป็นเรื่องยากไม่น้อย เพราะนายพลเนวินได้วางสายอำนาจของตนไว้เสร็จสรรพและค่อนข้างยาวนานเสียด้วย

ในสังคมโชเชียลลิสต์แบบพม่า กลุ่มที่เถลิงอำนาจทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ ก็ได้แก่ กลุ่มนายทหารชั้นนำทั้งหลาย พวกนี้จะมีความกินดีอยู่ดีและเป็นสมุนของนายพลเนวินเกือบทั้งสิ้น !!!

"แต่ไม่มีใครให้กดดันตลอดไปหรอก ขณะนี้ทางฝ่ายพลเรือนที่คุมการบริหารงานบางส่วน ซึ่งมีโอกาสไปยังประเทศต่าง ๆ และได้เห็นความแตกต่างกันลิบลับกับพม่าต่างพยายามเรียกร้องให้มีการทบทวนนโยบายต่าง ๆ เสียใหม่" มร.ไวแมน อดีตวิศวกรประจำโรงงานประกอบรถยนต์ "ฮีโน่" ในกรุงย่างกุ้ง กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

ปีศาจที่หลอกหลอนรัฐบาลพม่าให้ขวัญผวาอยู่เนือง ๆ เช่น ชนชาติกะเหรี่ยงนั้นมิหมายความเพียงแค่การสู้รบในสนามสงครามที่แม้ว่าพม่าจะอาศัยความได้เปรียบทุก ๆ ด้านแล้วก็ยังไม่อาจกำราบความกล้าหาญชาญชัยของกะเหรี่ยงลงไปได้เท่านั้น แต่กล่าวโดยแง่เศรษฐกิจ กะเหรี่ยงก็ยังเป็นเสี้ยนที่ทิ่มแทงหัวใจพม่าให้ปวดหนึบ ๆ เล่น ๆ ได้ตลอดเวลาเช่นกัน

กะเหรี่ยงขนานนามแผ่นดินที่พวกเขาอาศัยอยู่ว่า "กอลาห์" อันหมายถึงดินแดนที่เขียวขจี พรั่งพร้อมด้วยความอุดมสมบูรณ์โดยไม่อดอยากชั่วนาตาปี ซึ่งในความเป็นจริงพวกเขากล่าวโดยไม่ผิดเพี้ยนแต่อย่างใด รัฐบาลพม่าเองก็เข้าใจซึ้งถึงข้อนี้ ดังนั้นจึงทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อจะยึดครอบพื้นที่กะเหรี่ยงให้ได้

ตลอดแนวแม่น้ำเมย 360 กิโลเมตร นับตั้งแต่ตอนใต้ที่วะเลย์ไล่ไปจนถึงแม่ตะวอ คิซาลู จนไปบรรจบแม่น้ำสาละวินตรงรอยต่อกับเขต จ.แม่ฮ่องสอนของไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งชุมชนกะเหรี่ยงและกองบัญชาการใหญ่ตามเทือกเขาที่ตั้งเหล่านั้นเต็มไปด้วยทรัพยากรที่สำคัญมากมาย เช่น ป่าไม้สัก ลิกไนท์ วุลแฟรม หินน้ำมัน น้ำมัน และอัญมณี

อย่าว่าแต่พม่าที่มองตาเป็นมันเลย นายทุนพ่อค้าไทยก็จ้องมองด้วยความกระสันต์อยากดุจเดียวกัน บางรายถึงกับเจรจากับผู้นำกะเหรี่ยงขอเข้าไปทำเหมืองอย่างลิกไนท์ (ในเขตทาคิยะ) ทั้งนี้ทั้งนั้นเพียงขอให้มีความปลอดภัยระดับหนึ่ง ไม่ต้องวิ่งแจ้นหนีทหารพม่าที่อาจบุกโจมตีไม่รู้ตัว

ถ้าพม่ายึดกะเหรี่ยงได้สำเร็จเมื่อใด คนที่อาจแฮปปี้อีกรายก็คือ "ญี่ปุ่น" ที่มุ่งหวังอย่างมากกับการจะเข้าไปพัฒนาทรัพยากรในเขตอิทธิพลกะเหรี่ยงให้มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจที่เป็นจริง

กองทัพบกไทยเคยได้รับข่าวสาร "ลับ" จากเจ้าส่ายหว่าย อดีตเลขาธิการพรรครัฐฉานก้าวหน้า (SSPP.-SHAN STATE PROGRESSIVE PARTY) ของกลุ่มกองทัพรัฐฉาน (SSA.-SHAN STATE ARMY) เกี่ยวกับการกวาดล้างกะเหรี่ยงอย่างหนักของพม่าว่าเกิดขึ้นเพราะ "พม่าได้รับความสนับสนุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะรัสเซียเป็นหลัก ซึ่งโซเวียตมองว่า ถ้าได้พม่ามาเป็นพวกทำลายกองกำลังกะเหรี่ยงให้อ่อนล้าลง ก็จะง่ายต่อการขยายอิทธิพลในอินโดจีน"

เจ้าเสือหว่าย รายงานว่า "พม่าไม่มีทางทำได้ด้วยตนเอง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่ดีมาโดยตลอด ไม่มีสมรรถนะทางอุตสาหกรรมหรือการลงทุนใด การโจมตีอย่างบ้าคลั่งที่ต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมากมายภายใต้สภาพการณ์รันทดทวยทางเศรษฐกิจไม่น่าจะทำได้หากขาดการช่วยเหลือ"

ไทยเองก็เชื่อว่า รัสเซียได้ให้การช่วยเหลือพม่าอย่างลับ ๆ มาตั้งแต่ปี 2527 แต่รัฐบาลพม่าก็ยังประสบความล้มเหลวในการทำลายกะเหรี่ยง จนเดี๋ยวนี้รัสเซียเริ่มเบนตัวออกห่างและมีข่าวบางสายบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ได้หันกลับไปช่วยเหลือกะเหรี่ยงแทนด้วยการส่งครูฝึกการสู้รบและช่วยพัฒนาอาวุธให้กองทัพกะเหรี่ยง

ขณะที่รัสเซียปลีกตัวออกห่างพม่าก็ได้ผู้ช่วยเหลือรายใหม่อย่างญี่ปุ่นที่สนับสนุนการเงินอย่างแข็งขัน เนื่องจากญี่ปุ่นไปร่วมลงทุนในพม่าไว้มากจึงต้องการให้สะสางปัญหาความมั่นคงภายในโดยเร็ว "มีโรงงานผลิตอาวุธในย่างกุ้งหลายแห่ง และนี่พม่าก็กำลังซื้อเครื่องบินรบอีกหนึ่งฝูง" แหล่งข่าวกรองของ "ผู้จัดการ" ในพม่ารายงาน

เบื้องหลังของการมุ่งทำลายกะเหรี่ยงอย่างเอาเป็นเอาตายที่ "ผู้จัดการ" ได้รับรายงานคือว่า มีบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่งติดต่อขอเข้าไปสำรวจแหล่งน้ำมันในเขตอิทธิพลกะเหรี่ยง (ด้านตรงข้าม อ.แม่สอด) ซึ่งบริษัทแห่งนี้เชื่อว่าจะต้องพบบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ค่อนข้างแน่นอน

โรงกลั่นน้ำมันแห่งที่ 3 ของพม่าจึงเป็นการคาดหวังว่าควรจะเกิดขึ้นในพื้นที่นี้ !!

แต่เรื่องของเรื่องมันไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะเขตอิทธิพลกะเหรี่ยง ๆ ได้ย้ำหนักแน่นแล้วว่า "จะไม่มีวันปล่อยให้พม่ามาทำผลประโยชน์ได้เด็ดขาด" !!!

เสี้ยนที่ตำหัวใจพม่าอย่างกะเหรี่ยงนี้นับวันยิ่งจะร้อนแรง !!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.