สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์คนดีที่ถูกลืม!!


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

ร.ต.อ.สุรัตน์ โอสถานุเคราะห์ อดีต รมว.พาณิชย์ อาจเป็นชื่อหนึ่งของการตัดสินที่พิจารณากันอย่างผิวเผิน คงจำกันได้ว่าเป็นเพราะแรงบีบคั้นจากเรื่องไม้พม่าที่มีการชักฟอกกันกลางสภาในปีที่ผ่านมา แม้ว่าอดีตรัฐมนตรีสุรัตน์จะได้รับเสียงไว้วางใจให้ปฏิบัติงานในหน้าที่ต่อ แต่ด้วยความมีสปิริตทางการเมืองทำให้คนผู้นี้จำต้องถอนตัวไปอยู่วงนอก

ความเดิมของเรื่องนี้ที่ผูกพันมาจนถึงปัจจุบันมีอยู่ว่า อดีตรัฐมนตรีสุรัตน์เป็นคนที่เซ็นคำสั่งอนุมัติให้ 2 บริษัทคือ บริษัทสหกสิกิจวิศวการ จำกัด กับบริษัทสการ์บี้ จำกัด นำเข้าไม้จากฝั่งพม่าเพื่อนำมาแปรรูปและส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศได้ โดยที่ไม้ของสองบริษัทนี้ได้รับการยืนยันจากกองทัพภาคที่ 3 อย่างหนักแน่นแล้วว่า "เป็นไม้ที่ตัดมาจากฝั่งพม่าจริง"

อดีตแม่ทัพภาคที่ 3 ที่ใช้ชีวิตราชการส่วนใหญ่อยู่ในเขตพื้นที่ จ.ตาก-จ.แม่ฮ่องสอน ท่านหนึ่งได้ย้ำว่า ไม้ที่นำมาจากฝั่งพม่านั้นเป็นประโยชน์ที่เมืองไทยไม่ควรจะปล่อยทิ้งเพราะนอกจากจะได้มาแบบไม่สิ้นเปลืองมากนักแล้ว ยังเป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรของประเทศมิให้ร่อยหรอเร็วขึ้นอีกด้วย

แต่เป็นที่น่าเสียดายมากกว่าทั้งเหตุผลและข้อเท็จจริงต่างๆ ที่ยืนยันจากหลายหน่วยงานซึ่งคลุกคลีในเรื่องนี้โดยตรงมิได้มีผลทำให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เชื่อมั่นจนต้องมีการพลิกโผถอนใบอนุญาตของ 2 บริษัทดังกล่าว ซึ่งเรื่องนี้มีข่าวว่า พล.อ.เปรม เป็นคนที่ลงมือสั่งการเองโดยในที่ประชุม ครม.นัดหนึ่ง (ปี 2526 ภายหลังมีคำสั่งอนุมัติ) ซึ่งการประชุมนัดนี้อดีตรัฐมนตรีสุรัตน์ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย ในวันนั้นมีเสียงกล่าวว่า พล.อ.เปรมได้เดินทางไปหานายไพโรจน์ ไชยพร รมช.พาณิชย์แล้วบอกว่า

"คุณไพโรจน์ นี่รัฐมนตรีว่าการเขาไม่อยู่คุณอย่าปล่อยไม้ออกไปนะ ของโจรนะ ทำอย่างนี้ไม่ได้" เหตุผลของ พล.อ.เปรม ในเรื่องนี้ก็เพื่อรักษาน้ำใจและสัมพันธภาพกับรัฐบาลพม่าเนื่องจากเห็นว่าไม้ที่จะทะลักออกมานั้นเป็นการซื้อขายกับกะเหรี่ยงอิสระ

"ผู้จัดการ" ได้รับการยืนยันเรื่องนี้อีกครั้งว่า คนที่ดำเนินการมิให้ไม้พม่าออกมาหาผลประโยชน์ได้นั้นนัยว่าตัวพล.อ.เปรม มีส่วนสำคัญไม่น้อยเรื่องนี้นายกฯคนซื่อคอเอียงเล่นอย่างไม่ไว้หน้าใครทั้งสิ้น เพราะแม้แต่บริษัท สหกสิกิจวิศวการนั้น ถึงจะมีน้องชายคนเล็กของพล.อ.เปรม คือวีระณรงค์ ติณสูลานนท์ร่วมอยู่ด้วย ก็ถูกฟันอย่างไม่ไยดี โดยวีระณรงค์ดึงนักลงทุนจากฮ่องกงเข้ามาร่วมทุนถึง 400 ล้านบาท ทั้งนี้หากสามารถนำไม้พม่าออกมาได้จริงจะฟันกำไรเหนาะๆ ล็อตหนึ่งๆ หลายร้อยล้านบาท

แต่เมื่อเหตุการณ์พลิกตาลปัตรไปหมดเลยต้องเจ็บสะบักสะบอมขาดทุนไปหลายสิบล้าน (มีข่าวว่าวีระณรงค์ยังไม่เข็ดเขี้ยวคงขึ้นล่องกรุงเทพกับตาก-แม่ฮ่องสอนเพื่อหาลู่ทางอีกหน)

ภายหลังที่ พล.อ.เปรมกำชับหนักหนาว่าไม้พม่าเป็นไม้โจร และให้มีการยกเลิกใบอนุญาตทางพรรคฝ่ายค้านก็ได้ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจอดีตรัฐมนตรีสุรัตน์เมื่อ 25 กันยายน 2529 โดยหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นวิพากษ์สำคัญ จนกลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่ทำให้อดีตรัฐมนตรีสุรัตน์ต้องถอนสมอออกจากเก้าอี้ในที่สุด

เหตุการณ์ในครั้งนั้นอดีตรัฐมนตรีสุรัตน์ได้แสดงความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวออกมาให้เป็นที่ประจักษ์อย่างมากด้วยการประกาศหัวชนฝาว่า "ไม้พม่านี้ตนยินดีสนับสนุนทุกคนเพราะมันเป็นประโยชน์ที่เราสมควรจะได้รับ ตนต้องการทำถูกต้องตามกฎหมายซึ่งไปขัดขวางกระบวนการขัดขวางผลประโยชน์บางคนจึงสร้างเรื่องขึ้นมาโจมตี"

ที่น่าคิดมากก็คือว่า จากเดือนที่อดีตรัฐมนตรีผู้นี้ต้องพ้นไปจากเก้าอี้จนถึงขณะนี้สภาพการณ์ที่เป็นไปได้บ่งฟ้องเป็นอย่างดีแล้วว่า ความคล่องตัวทางเศรษฐกิจของเมืองชายแดน 3-4 แห่งที่เคยอยู่ได้เพราะการค้าไม้นั้นต้องเหี่ยวเฉาไปกับนโยบายห้ามนำเข้าหนักหนาสาหัสสากรรจ์ขนาดไหน??

หอการค้าตาก ระนอง กาญจนบุรี ไม่สามารถนิ่งดูดายเรื่องนี้ต่อไปได้อีก ต้องผนึกกันทำหนังสือชี้แจงผ่านสภาหอการค้าฯให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าวเสียใหม่ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้ไขมากกว่านี้

หรือแม้แต่ผู้นำพรรคฝ่ายค้านที่เปิดฉากคารมหวดกระหน่ำอดีตรัฐมนตรีสุรัตน์จนยับเยินอย่างบุญชู โรจนเสถียร เมื่อได้ดูสภาพความเป็นจริงของขบวนการค้าไม้ที่ชายแดนแม่สอดโดยข้ามไปฝั่งพม่าตรงด่านวังข่า ถึงกับยอมรับว่า "เรื่องนี้ไม่เห็นว่าจะเป็นเรื่องเสียหายต่อประเทศไทยอย่างใดไม่ หนำซ้ำกลับเป็นผลดีที่ควรค่าแก่การสนับสนุนเสียอีก"

บุญชูยังรับปากกับพ่อค้าว่าจะพยายามวิ่งเต้นช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน!!

ก็เรื่องนี้ถ้าจะให้ความเป็นธรรมกับอดีตรัฐมนตรีสุรัตน์กันสักหน่อย ไม่มองกันด้วยสายตาและความคิดที่เป็นอคติเกินขอบเขต ทั้งๆ ที่คุณสุรัตน์ก็บอกแล้วว่า "ยินดีสนับสนุนทุกคนให้ทำถูกต้องตามกฎหมาย" เชื่อว่าป่านฉะนี้คงไม่ต้องมานั่งขบคิดและต่อสู้กันให้ปวดหัว ปล่อยให้รายได้มหาศาลต้องหลุดลอยไปอย่างน่าเสียดายยิ่งนัก



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.