บลจ.บีที พาเรด 10 กองทุนใหม่ หวังดันสินทรัพย์บริหารหมื่นล้าน


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ซีไอเอ็มบีไทยตั้งเป้าหวังใช้เครือข่ายช่วยดันบริษัทลูก บลจ.บีที เล็งเป้าสินทรัพย์บริหารหมื่นล้านบาท จากปีที่ผ่านมาเจอกองทุนครบกำหนดทำยอดหดไปเกือบ 3 พันล้าน ช่วงปีที่เหลือเตรียมเข็นอีก 10 กองสู่ตลาด ประเดิมโกลด์ลิงค์ ฟันด์ 5 ออกขายผลตอบแทน 3-4% ต่อปี

สุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า กลุ่มผู้ถือหุ้นพร้อมสนับสนุนธุรกิจกองทุนของ บลจ.บีทีซึ่งเป็นบริษัทลูกอย่างจริงจัง โดยปีนี้ตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจกองทุนรวมว่า จะมีสินทรัพย์รวม 1 หมื่นล้านบาท และในปี 2553 เพิ่มเป็น 2 หมื่นล้านบาท

โดยขณะนี้ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย มีฐานลูกค้าเงินฝาก 120,000 ราย มีสาขา 150 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 100 สาขา และตามหัวเมืองใหญ่อีก 50 สาขา ซึ่งถือว่ากลุ่มคนที่มีเงินที่จะลงทุนเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในเมืองและหัวเมืองใหญ่อยู่แล้ว ดังนั้นในแง่ของเครือข่ายของธนาคารถือว่ามีความพร้อมในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ที่ครบวงจรให้กับลูกค้า

ทั้งนี้ ธนาคารซีไอเอ็มบี มีนโยบายเน้นฐานลูกค้ารายย่อย โดยจะการให้บริการการเงินแบบครบวงจร โดยธุรกิจจัดการกองทุนของ ซีไอเอ็มบี ในมาเลเซียมีมูลค่าสิน ทรัพย์รวม 2-3 แสนล้านบาท

ขณะที่ เจิดพันธุ์ นิธยายน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านจัดการลงทุน บลจ.บีที กล่าวว่า สินทรัพย์ภายใต้การบริหาร(Asset Under Management: AUM) ของบริษัทเมื่อสิ้นปีที่แล้ว มีประมาณ 9 พันล้านบาท แต่ลดลงมาเหลือ 6 พันล้านบาทในกลางปีนี้ เนื่องจากมีการครบอายุของกองทุนตราสารหนี้และกองทุน FIF ที่ครบกำหนด

ส่วนแผนในครึ่งหลังของปีนี้ จะรุกการออกกองทุนให้มีความหลากหลายครบถ้วนมากยิ่งขึ้นและตั้งเป้าที่จะเพิ่มสินทรัพย์สุทธิปลายปี 2552 ที่ระดับ 1 หมื่นล้านบาท ให้ได้ โดยกองทุนที่จะออกยังคงเน้นไปที่กองทุน Structure Fund ที่มีการคุ้มครองเงินต้นและอ้างอิงผลตอบแทนกับทองคำหรือสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ซึ่งจะพยายามออกให้ได้เดือนละกอง นอกจากนี้ยังมีแผนจะออกกองทุนหุ้นที่ลงทุนในกลุ่มอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ในกลางเดือนหน้าด้วย โดยจะเป็นการลงทุนผ่านกองทุนหลักของ CIMB ในมาเลเซีย เพราะเป็นตลาดที่มีศักยภาพดีช่วงที่ผ่านมา

"ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงเตรียมแผนการออกกองทุนหุ้นที่ลงทุนในจีนและอินเดียอีก 2 กองทุน ,กองทุนหุ้นที่ลงทุนในดัชนี SET50, กองทุนสินค้าโภคภัณฑ์รวมถึงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ด้วย เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของบริษัทมีความหลากหลายและครบถ้วนมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของกองทุนหุ้นจะทยอยออกในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ ขณะที่กองทุนอสังหาริมทรัพย์อาจจะเป็นช่วงไตรมาสที่ 4 "

ล่าสุด บริษัทได้จัดตั้ง “กองทุนรวมบีที FIF โกลด์ลิงค์ ฟันด์ 5” มูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท อายุ 2 ปี เป็นทางเลือกให้นักลงทุนที่พลาดโอกาสจองซื้อพันธบัตรไทยเข้มแข็ง โดยเปิดขายถึงวันที่ 24 ก.ค.นี้ ลงทุนขั้นต่ำ 5,000 บาท

กองทุนดังกล่าวมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากคุ้มครองเงินต้นและปิดความเสี่ยงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปลงทุนในสกุลเหรียญสหรัฐ โดยกองทุนจะลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ในต่างประเทศที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือระดับ BBB+ ขึ้นไป โดยผลตอบแทนอ้างอิงกับราคาทองคำหรือเรียกว่าสตรักเจอร์โน้ต

กองทุนนี้ผลตอบแทนจะอ้างอิงความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในสกุลเงินเหรียญสหรัฐในแต่ละไตรมาส หรือจำนวน 8 งวดในช่วง 2 ปี หากวันสุดท้ายของแต่ละไตรมาสราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบ 0-15% จากราคาทองในวันแรกที่ลงทุนผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนตามจริงในไตรมาสนั้นๆ จน ครบ 8 ไตรมาสแล้วนำมารวมกัน กองทุนก็จะจ่ายผลตอบแทนคืนให้แก่ผู้ลงทุนเมื่อกองทุนครบอายุ

“หากทุกไตรมาสกองทุนอยู่ในกรอบที่กำหนดจะได้ผลตอบแทน 7.5% ต่อปี หากชนะ 50% จะได้ 3.8% ต่อปี ซึ่งจากข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี พบว่าชนะ 40% ดังนั้นถ้า 2 ปีข้างหน้ากองทุนชนะแค่ 40% ก็จะได้ผลตอบแทน 3% ต่อปี ซึ่งเรามองว่าราคาทองตอนนี้โอกาสชนะ 40-50% มีสูง จึงคาดการณ์ ผลตอบแทนไว้ 3-4% ต่อปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.