|

ฝ่าวิกฤต'โลว์คอสต์' การตลาดแรง!...กระตุ้นเดินทาง
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(20 กรกฎาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2552 ธุรกิจส่วนใหญ่ประสบกับภาวะชะลอตัว บางธุรกิจมีทิศทางถดถอยตามภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนักสำหรับในภาคบริการ หลายธุรกิจประสบปัญหา โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยวสายการบิน ที่เผชิญมรสุมหลายด้านทั้งวิกฤตเศรษฐกิจโลกถดถอย ปัญหาความไม่สงบทางการเมืองภายในประเทศ และการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 และจากปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้างนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปสู่ธุรกิจที่พึ่งพาตลาดผู้บริโภคในประเทศส่งผลทำให้การเดินทางลดลง
การชะลอตัวด้านการท่องเที่ยวจากปัจจัยลบต่างๆที่เกิดขึ้นกอปรกับเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซัน ทำให้ในขณะนี้สายการบินต้นทุนต่ำ ต่างงัดกลยุทธการดัมพ์ราคาและจัดโปรโมชันต่างๆออกมามากมาย เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงนี้เพื่อประคองธุรกิจให้อยู่รอดในยุควิกฤติ
ขณะที่สถานการณ์ท่องเที่ยวหัวเมืองหลักๆยังคงไม่ดีนัก สังเกตได้จากอัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมใหญ่ในภูเก็ต เชียงใหม่ ที่มีไม่ถึง 40% นั้น การบริหารธุรกิจการบินจึงไม่ง่ายนักและที่สำคัญต้องเผชิญมรสุมปัจจัยลบหลากหลาย ซึ่งนับเป็นบทพิสูจน์ศักยภาพ บริหารและความแข็งแกร่งของธุรกิจได้เป็นอย่างดี
แม้ภาพของสายการบินต้นทุนต่ำที่ผ่านสื่อต่างๆ ยังดูคึกคักเต็มไปด้วยสีสันการตลาด ที่ใช้ต่อเนื่องตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ในส่วนลึกกลับพบว่าสายการบินโลว์คอสท์ ที่มีจุดขายเรื่องราคานั้น ต้องประสบปัญหาอย่างรุนแรง จากต้นทุนน้ำมันที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบให้ทั้งรายได้ และจำนวนผู้โดยสารพลาดเป้า ลดลงจากที่ประเมินการณ์ไว้
การฟันฝ่าวิกฤติด้วยการเลือกใช้ยุทธวิธีทาง 'การตลาด' เป็นเครื่องมือหลัก โดยเน้นการสร้างนวัตกรรมทางการตลาดออกมาอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ ที่สำคัญต้องใหญ่และใหม่ เพื่อสร้างบรรยากาศการท่องเที่ยวให้คึกคัก ต้านกระแสความเครียดจากปัจจัยลบต่างๆ และต้องสามารถตอบโจทย์ได้ว่า สะดวก และประหยัดจริงๆ ซึ่งเชื่อว่าเป็นสุดยอดความต้องการของผู้บริโภคทั้งในยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาการให้ราคาถูกเคยสร้างสีสันกับวงการสายการบินมาแล้ว ขณะที่การมองหาทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคเพื่อนำเสนอความคุ้มค่า ด้วยการซื้อตั๋วโดยสารแถมห้องพักนั้น เชื่อว่าแม้ปัญหาหลักของเศรษฐกิจจะทำให้ผู้บริโภคมีเงินในกระเป๋าลดลง แต่ความต้องการในการเดินทางยังคงมีเสมอ หากมีความประหยัดและคุ้มค่าเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกับสถานการณ์นั้นๆ
นโยบายการเดินหน้าอัดการตลาดที่สม่ำเสมอ อาจต้องใช้งบการตลาดสูงลิ่ว แต่สำหรับสายการบิน นกแอร์ ยืนยัน ว่าไม่ได้มีงบการตลาดที่สูงมากนัก ทำให้นกแอร์ต้องอาศัยความชาญฉลาดในการบริหารจัดการงบที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อให้ได้กระแสการตลาดที่แรงกว่าเดิม
ล่าสุดมีการออกแคมเปญจองตั๋วผ่าน call Center จะได้ที่พักฟรีในเส้นทางภูเก็ตและเชียงใหม่ เมื่อรวมกับความคึกคักของตลาดในประเทศแล้ว ก็ยิ่งเห็นความเคลื่อนไหวจากการออกหมัดการตลาดนั้นๆ ชัดเจนขึ้น ถึงขณะนี้นกแอร์ สามารถข้ามวิกฤติมาได้ โดยอาจสูญเสียบุคลากรไปบ้าง หรือแม้แต่ต้องหั่นงบการตลาด ซึ่งอาจจะมีผลกำไรลดลงบ้าง นับเป็นผลข้างเคียงจากเกมการตลาดที่รุนแรง แต่ในแง่จำนวนผู้โดยสารที่ยังพอรักษาระดับ หรือเติบโตมากขึ้นเล็กน้อยนี้ ทำให้นกแอร์ พอมีรายได้ประคองธุรกิจไปได้อย่างไม่ต้องเจ็บตัวมากนัก
หากพลิกกลับไปที่กลยุทธ์ขายตั๋วราคาเดียวในทุกเส้นทางของ วันทูโก ที่ใช้กระตุ้นตลาดยังคงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้ต้องออกแคมเปญบิน 2 ที่นั่ง แถม 1 ที่นั่ง เพื่อหวังเจาะกลุ่มผู้โดยสารคนไทยท่องเที่ยวเป็นครอบครัวขึ้นมาอีก โดยเฉพาะเส้นทางที่กำลังทำเงินในปัจจุบันคือเส้นทางบินกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ที่เพิ่มอีก 1 เที่ยวบินโดยเกาะกระแสแพนด้าน้อยฟีเวอร์และเตรียมมอบสิทธิพิเศษให้กับผู้โดยสารเข้าชมสวนสัตว์ฟรีเมื่อใช้บริการ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวในช่วง 6 เดือนแรกของสายการบินไทยแอร์เอเชีย แม้ว่าจะมีอัตราเฉลี่ยการบรรทุกอยู่ที่ร้อยละ70 ก็ตาม ลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีตัวเลขไม่ต่ำกว่า 78% ทำให้ไทยแอร์เอเชียต้องปรับกลยุทธ์ธุรกิจเน้นในเรื่องการทำตลาดมากขึ้น เพื่อเพิ่มจำนวนผู้โดยสารมากกว่าการเน้นกำไร ซึ่งจะสอดคล้องกับความเป็นจริงหากมีจำนวนผู้ใช้มากเทียบเท่ากับเครื่องบินหรือปริมาณเที่ยวบินที่มีการรองรับ ก็จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจมีคุณภาพ แม้จะได้กำไรน้อยลงแต่ก็ถือว่าอยู่ในขั้นดี
โดยก่อนหน้านั้น ไทยแอร์เอเชียมีการกระตุ้นยอดขายด้วยการยกเลิกเก็บธรรมเนียมน้ำมัน ทำให้ผู้โดยสารสนใจเดินทางเพิ่ม 15-20% ล่าสุดก็ได้ยกเลิกเก็บค่าธรรมเนียมการจอง ทำให้การเดินทางกับไทยแอร์เอเชียผู้โดยสารจ่ายเพียงแค่ราคาตั๋วกับค่าภาษีสนามบินเท่านั้น ว่ากันว่าออกโปรโมชันดังกล่าวและการเลิกเก็บค่าธรรมเนียมการจอง จะทำให้ผู้โดยสารประหยัดได้ 270-300 บาทต่อที่นั่ง โดยรวมราคาตั๋วจะเหลือเพียงเริ่มต้นที่ 1,000 บาทเศษ สำหรับเส้นทางในประเทศ
กลยุทธ์ไทยแอร์เอเชียจึงไม่ได้เน้นรายได้ที่การขายตั๋วโดยสารเพียงอย่างเดียว แต่ปัจจุบันยังมีรายได้เสริมอันเกิดจากส่วนอื่น เช่น การขายโฆษณา การขายอาหารเครื่องดื่ม ของที่ระลึกต่างๆ บนเครื่อง ซึ่งว่ากันว่ารายได้กลุ่มนี้แม้จะไม่ถึง 10%ของรายได้ทั้งหมดก็ตาม แต่ในอนาคตเชื่อว่าน่าจะมีสัดส่วนรายได้มากขึ้นเป็น 15% ในช่วง 5 ปี รวมถึงรายได้จากส่วนอื่นๆ อีก อาทิ การขายที่นั่งพิเศษ การเก็บค่าน้ำหนักกระเป๋า เป็นต้น ก็เป็นอีกทางที่ช่วยเสริมรายได้หลัก
เพราะวันนี้ การใช้กลยุทธ์ราคาและขยายเครือข่ายที่กว้างขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งระบบอย่างเห็นผล การเติบโตของสายการบินต้นทุนต่ำนับเป็นดัชนีสำคัญในการขยายตัวด้านการท่องเที่ยวที่น่าสนใจ...ตราบใดที่นักท่องเที่ยวยังเข้ามานั่นคือโอกาส!...
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|