ชำนาญ เพ็ญชาติ-สุระ สายสัมพันธ์มรดก "ช่วยสุระเท่ากับช่วยตัวเอง"


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

เศรณี เพ็ญชาติ อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงในแบงก์อย่างน้อยก็ 2 แห่ง คือ แบงก์แหลมทอง และสหธนาคาร เพราะว่าเขาเป็นหนุ่มไฟแรง ซึ่งผ่านการอบรมจากตำราบริหารธุรกิจแบบไม่ปรองดองจากสหรัฐฯ หรือเพราะความที่เคยเป็นทหารกระนั้นหรือ ??? แต่เจ้าตัวบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าการกระทำของเขาสืบเนื่องจากมรดกที่บิดาของเขามอบหมาย…

ทุกครั้งที่มีเรื่องราว ฝ่ายชลวิจารณ์มักจะยกเรื่อง สุระ จันทร์ศรีชวาลา เป็นหนี้สหธนาคารผ่านมาทาง ชำนาญ เพ็ญชาติ ขึ้นฟื้นฝอยหารตะเข็บเกือบทุกครั้งแม้ว่ากระบวนการอนุมัติสินเชื่อดังกล่าวจะถูกต้อง แต่ในส่วนลึกของเพ็ญชาติเองก็ต้องการล้างเสี้ยนหนามตำใจนี้

จนกลายเป็น "ถลำลึก" กับสุระมากขึ้นของเพ็ญชาติ ตั้งแต่ชำนาญผู้พ่อมาจนถึงลูกชายคนโต-เศรณี เพ็ญชาติ เขาต้องเขาคลุกคลีกับแขกจนใคร ๆ ครหา การเข้าไปของเศรณีมิได้มีอากัปกิริยาดุจเจ้าหนี้คนอื่นแต่เขาเข้าช่วยสุระ จันทร์ศรีชวาลาอย่างมาก ๆ

ภูมิหลัง เริ่มขึ้น ณ ตึกโชคชัย ถนนสุขุมวิท ขณะนั้นเป็นช่วงก่อนเหตุการณ์14 ตุลา 2516 ฐานทัพสหรัฐ ฯ ตั้งอยู่หลายจุดในประเทศไทย ทุกวันนี้ผ่านไปตึกโชคชัยซึ่งเคยได้ชื่อว่าสูงที่สุดของกรุงเทพ ฯ เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ยังพอเห็นร่องรอย เสาอากาศเก่า ๆ ยังหลงเหลืออยู่บ้าง นั่นคือสำนักงานของหน่วยงายของสหรัฐ ฯ ในสมัยนั้นแทบจะยึดตึกนี้ทั้งตึก

ตึกโชคชัย เป็นของโชคชัย บูลกุลพี่ชายศิริชัย บูลกุล ผู้อื้อฉาวนี่เอง

ห้วงเวลานั้นโชคชัยดำเนินธุรกิจก่อสราง สร้างงานโยธาสนามบินต่าง ๆ ของสหรัฐ จนร่ำรวยอู้ฟู้เป็นนักธุรกิจโด่งดังมาก หากเทียบสมัยนี้ ศิริชัย น้องชายของเขายังเทียบไม่ติด เพราะได้ร่ำเรียนวิชาด้านสัตวบาลจากสหรัฐ ฯ โชคชัยจึงคิดขยายธุรกิจคือกิจการโคนม เขาประกาศแต่ครั้งนั้นว่าฟาร์มโคนมที่หมวกเหล็ก โคราชแห่งนี้ ต้องใหญ่ที่สุดในประเทศ (ตอนนั้นตึกโชคชัยก็สูงที่สุดในประเทศ) โชคชัยมาติดต่อชำนาญ เพ็ญชาติ ขอกู้เงินจำนวนหนึ่งโดยใช้ตึกโชคชัยค้ำประกัน

ขณะนั้นหากใครไม่ปล่อยสินเชื่อให้โชคชัยก็นับว่าเป็นนายธนาคารที่โง่มาก ?

ทุกอย่างมาสะดุดเพราะสหรัฐ ฯ แพ้สงครามเวียดนาม ติดตามเป็นคลื่นลูกใหญ่กระหน่ำด้วยเหตุการณ์ 14 ตุลาในกรุงเทพ ฯ อันส่งผลให้ฐานทัพสหรัฐ ฯ ในประเทศต้องถอนออดไป โชคชัยกลับเป็นคนโชคร้ายอย่างมาก ๆ ธุรกิจหลายอย่างเขาพังลงเป็นแถบ ๆ

ชำนาญ เพ็ญชาติ ในฐานะผู้มีส่วนสำคัญในการปล่อยสินเชื่อรายนี้ก็โดนหางเลขไปด้วย เงินกู้ไม่ได้คืน ตึกโชคชัยก็แทบจะเป็นตึกล้างเพราะหน่วยงายเอกชนของสหรัฐ ฯ ถอนกลับไป ด้วยความรับผิดชอบชำนาญ นำบริษัทครอบครัวชื่อเดียวกับชื่อของเขาเข้ารับภาระจ่ายดอกเบี้ยสหธนาคารไป

พร้อม ๆ กันก็ประกาศขายตึกนี้ มันเป็นเรื่องยากมาก ๆ ในขณะนั้น ตั้งแต่ปี 2516 ใช้เวลาถึงประมาณ 8 ปีตึกนี้จึงขายออก ผู้ซื้อก็คือสุระ จันทร์ศรีชวาลา ฉายา "แขกผู้ซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า" ในราคา 125 ล้าบาท สุระจ่ายเป็นเงินสดและตั๋วอาวัลโดยกรุงไทย สมัยตามใจเรืองอำนาจ

ชำนาญก็นอนตาหลับครั้งแรก พร้อม ๆ กับได้ลูกค้ารายใหม่ชื่อเสียงกำลังคับกรุงเทพ ฯ เข้าสวมแทนลูกค้าสำคัญบางรายที่ถอนออกไป โดยเฉพาะซัมมิท เจ้าของโรงกลั่นน้ำมันแห่งแรกของไทย (ต่อมาขายให้เอสโซ่) เจ.ซี.ฮวงเจ้าของโครงการหันไปจับธุรกิจนี้ที่สิงคโปร์แทน

ในเวลาใกล้เคียงกันนั้นลูกชายคนโตของชำนาญ-เศรณี เพ็ญชาติก็เดินทางกลับจากการศึกษาที่สหรัฐฯ ภายหลังการใช้ชีวิตที่นั่นรวม 15 ปีเต็มพอดี

เศรณี เพ็ญชาติ เริ่มเรียนระดับประถมที่โรงเรียนเซ็นคาเบรียลเจริญรอบตามผู้เป็นพ่อ แต่อุปนิสัยของเขาแตกต่างกับพ่อราวฟ้ากับดินตั้งแต่เด็ก ในวัยเด็กไม่ค่อยสนใจการเรียน ชำนาญเห็นว่าขืนปล่อยไปเช่นนี้อาจเสียคนได้ จึงตัดสินใจส่งไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกา ทั้ง ๆ ที่เรียนได้เพียงประถม 6 อายุก็เพียง 9 ขวบ

พลเรือเอกสุภา คชเสนี ผู้เป็นน้าเป็นทูตทหารเรืออยู่ที่นิวยอร์ก จึงเป็นธุรกิจหาโรงเรียนชั้นดีเพื่อจะอบรมหลานชาย ได้แก่ THE FESSENDEN SCHOOL, MASSACHUSETTS ซึ่งถือกันว่าเป็นโรงเรียนระดับต้นที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในสหรัฐฯ นักเรียนส่วนใหญ่จะเป็นลูกผู้ดีมีเงิน เศรณีบอกว่า ส่วนใหญ่เป็นพวกเห็นแก่ตัว เอาแต่ใจตัวเอง เจอเข้ารูปนี้เขาก็เลยกลายเป็นคนดีไป !

เขาได้ชื่อเป็นคนไทยคนที่ 2 เคยเรียนโรงเรียนนี้ คนแรกคือพระองค์เจ้าอาทิตย์ฯ

3 ปีภายใต้แรงกดดัน ถูกมองว่าเป็นคน "คนละสีผิว" กับชนส่วนใหญ่ โลกทัศน์ของเขาจึงกว้างขึ้น ทดแทนความรู้สึกความเป็นหลานชายจอมพลถนอม กิตติขจร ผู้เรืองอำนาจในประเทศไทยในช่วงนั้น เศรณีต้องพึ่งตนเองอยู่โรงเรียนประจำ และต้องทำใจได้กับการนอนแกร่วในหอพักวันหยุดในขณะลูกเศรษฐีเขาเที่ยวรอบโลกกัน

จากนั้นก็เข้าเรียนระดับมัธยมที่ PHILIPS EXETER ACADEMY เป็นรุ่นน้องบัณฑูร ล่ำซำ 3 ปี ที่นี่กล่าวกันอีกว่า โรงเรียนมัธยมที่ดีที่สุดในสหรัฐฯ ได้ชื่อเป็นโรงเรียนของพวกหัวกะทิประมาณ 40% เป็นนักเรียนทุนเรียนดี ซึ่งมีตั้งแต่คนจนที่สุดจนถึงรวยล้นฟ้า เขาเล่าว่า สภาพห้องเรียนเป็นโต๊ะกลม ชั้นหนึ่งมีแค่ 12 คน โรงเรียนพยายามสร้างบรรยากาศให้ต้องแข่งขันกันตลอดเวลา เขามองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ค่อย ๆ หดหายไป

เมื่อเรียนจบเศรณี เพ็ญชาติก็มาเช่าอพาร์ทเม้นท์อยู่คนเดียว และเข้าเรียน BOSTON UNIVERSITY ระดับปริญญาตรีด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งใคร ๆ ก็เรียกกันว่าเป็นสถาบันการศึกษาของพวกยิว อันอบอวลด้วยบรรยากาศของการค้าขายก่อนจะกลับเมืองไทยประมาณ 2 ปี เขาเข้าเรียนระดับปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ (เอ็มบีเอ) ที่ UNIVERSITY OF NORTH EASTERN ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัเยปิด ใคร ๆ ก็เรียกว่าเป็น "ราม" ของสหรัฐอเมริกา เขาพบคนทุกประเภททุกชั้นและหลายชาติ "ผมค้นพบคนอเมริกาทั้งหมดที่นี่" เศรณี เพ็ญชาติกล่าว

เขาเรียนบริหารธุรกิจตามคำสั่งของชำนาญ เพ็ญชาติ ผู้พ่อซึ่งหมายมั่นปั้นมือจะให้เขามาสืบทอดกิจการธนาคาร แต่ด้วยความสนใจส่วนตัว เศรณีก็แอบเรียนภาษารัสเซียและวิชาการเมืองเป็นวิชาโทโดยได้เรียน COMMUNISM มาพอสมควร

ปี 2523 เศรณี เพ็ญชาติเดินทางกลับเมืองไทยจึงเข้ารับราชการทหารตามความเรียกร้องของตนเอง อันเนื่องจากสั่งสมมาในชีวิตที่เติบโตมาจากครอบครัวทหาร ในกรมข่าวกรอง กองบัญชาการทหารสูงสุด เขาเองชอบชีวิตทหารมาก มากกว่าชีวิตนายแบงก์เสียอีก "ผมต้องเป็นลูกน้องคนอื่นอีกหลายคน ต้องอยู่ในระเบียบวินัย" เขาว่าภาษารัสเซียนก็ได้ใช้ตอนนี้ ทำงานอยู่ 3 ปีก็ต้องเดินตามคำเรียกร้องของผู้เป็นพ่อ พอติดยศร้อยเอกไม่กี่วันก็ลาออกเป็นกองหนุนกินเงินเดือน 1,300 บาท ซึ่งหมายความว่า เขาสามารถกลับเข้ารับราชการได้ทุกเมื่อ

ก่อนหน้าจะเข้าทำงานแบงก์ เศรณี เพ็ญชาติ ได้รับรู้เรื่องราวความเป็นไปในสหธนาคารตลอด เคยได้พบปะกับสุระ จันทร์ศรีชวาลา ซึ่งตอนนั้นกลายเป็นลูกค้ารายใหญ่ไปแล้ว สำหรับชำนาญนั้น เมื่อลูกชายเข้ามาในแบงก์ เขาก็พยายามผลักดันให้รับรู้งานอย่างรวดเร็ว เพราะเขารู้สึกตัวเองว่า ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาทำงานมาหนักแล้ว อยากจะรีไทร์โดยเร็ว เขายังคิดอยู่จนทุกวันนี้ว่า "ไม่น่าจะมีเรื่องขัดแย้งอะไรกันเลย ผมรู้สึกเหนื่อยขึ้นอีกหลายเท่า"

สุระ จันทร์ศรีชวาลา ไม่หยุดแค่นั้น เขานำแผนการซื้อและปรับปรุงโรงแรมรามาทาวเวอร์มาโชว์กับ ชำนาญ โรงแรม 500 ห้อง บนที่ดิน 11 ไร่ ริมถนนสีลม โดยแจ้งความจำนงว่าต้องการการสนับสนุนทางการเงิน 400 ล้านบาท ชำนาญ คิดสะระตะแล้วโรงแรมขนาดนี้มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาทบวกที่ดินเฉพาะก่อสร้าง 5 ไร่ 2 งานรวมทั้งสิ้นประมาณ 700 ล้านบาท นั้นก็น่าจะคุ้ม

แผนการพัฒนาโรงแรมของสุระจึงได้รับความเห็นชอบจากชำนาญอาวัลสินเชื่อเป็นเงิน 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สั่งจ่ายไปยังแบงก์ต่าง ๆ ในต่างประเทศ สุระบอกว่า เขาเองเตรียมเงินไว้แล้ว 8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่

ชำนาญ เพ็ญชาติ โชคร้ายอีกครั้งเนื่องจากการลดค่าเงินบาทในปลายปี 2527 สุระประสบปัญหาการขาดทุนจากลดค่าเงินบาททันที 80 ล้านบาท ไม่หยุดเพียงแค่นั้น จวบกับวิกฤติศรัทธาสถาบันการเงิน ซึ่งซัดกระหน่ำมาถึงกิจการบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ของสุระด้วย กิจการเหล่านี้คือ เค้าหน้าตักที่แท้จริงของเขา สุระจึงทุ่มเททุกอย่างเพื่อพิทักษ์รักษากิจการดังกล่าว แผนการก่อสร้างโรงแรมดังกล่าวจึงคาราคาซังมาหลายปี

เศรณี เพ็ญชาติ รู้เรื่องราวเหล่านี้โดยตลอด เขาเองไม่เคยดูแคลนแขก และได้เห็นความตั้งใจประกอบกับมีแนวความคิดเจ้าหนี้จะต้องให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ให้ช่วยตัวเองดำเนินธุรกิจไปได้ การชำระหนี้ก็ตามมาเช่นเดียวกันเมื่อสุระเกิดทำสงครามแย่งแบงก์แหลมทองกันด้วยความทรหด จนสุระสามารถรวบรวมหุ้นอยู่ในกลุ่มตัวเองประมาณ 25% เศรณีเห็นว่า หากเขาได้เข้าช่วยอีกแรง เมื่อสุระสามารถมีกิจการแบงก์ของตนเองหนี้สินอันเป็นหนามตำใจที่ฝ่ายชลวิจารณ์ชอบยกมาอ้างนั้นจะได้หมดไปเสียที

เศรณี จึงตัดสินใจโดดเข้าช่วยสุระอย่างเต็มตัว ข่าวแพลม ๆ ออกมาเริ่มในช่วงซุมม่าแบงก์ให้การสนับสนุนทางการเงินในสงครามต้นปี 2528 ย้อนจับภาพชัด ๆ เศรณีเข้ามาช่วยสุระในช่วงเดียวกันกับเขา จับมือกับอัศวินวิจิตรกลุ่มนี้มีหุ้นในแหลมทองอยู่ประมาณ 3% พร้อม ๆ กับการซุ่มเงียบซื้อหุ้นสหธนาคารตามแผนการรุกคืบกิจการเข้าสู่ธุรกิจธนาคารของตระกูลอัศวินวิจิตร เมื่อกรพจน์ อัศวินวิจิตร พบกับ เศรณี แผนการสร้างพันธมิตรก็เกิดขึ้น ทำให้อัศวินวิจิตรเบนหัวเรือเข้าสองแบงก์พร้อมกันมามุ่งหนักสหธนาคารแห่งเดียว ข้อตกลงสุภาพบุรุษขั้นแรกก็คือ อัศวินวิจิตรขายหุ้นของแหลมทองทั้งหมดให้สุระ ส่วนเพ็ญชาติตกลงจะขายหุ้นสหธนาคาร 10% ให้อัศวินวิจิตร

แผนการอันแยบยลของเศรณีเริ่มต้นมีความหมายลึกซึ้ง DEAL เพียงครั้งเดียวสามารถมองเห็นลู่ทางการแก้ปัญหาทีเดียวใน 2 แบงก์

ครั้งที่สอง เศรณีช่วยเจรจาซื้อหุ้นจากกลุ่ม พยัพ ศรีกาญจนา โดยอาศัยความเป็นเพื่อนกับลูกสาวของพยัพ (ศิริกาญจน์ ศักดิเดชภานุพันธ์ ณ อยุธยา) จำนวน 5% พร้อมกันนี้ พยัพก็ชักชวนให้ปิยะ ภิรมย์ภักดี และคณิต ยงสุกุลขายหุ้นด้วยส่วนหนึ่ง

รวมแล้วเขาช่วยหาหุ้นให้สุระเพิ่มรวดเดียวถึง 8% จนมาถึงรายวรวิทย์ สุธีรชัยเท่านั้นที่ความแตก จนทำให้กลุ่มซุมม่าจากอินโดนีเซียถอนตัวออกไป และสมบูรณ์ตั้งหลักได้

แผนการเผด็จศึกล่าสุด เขาก็เข้ามาพัวพันแต่แรก จนมีข่าวออกมาเขากำลังจะเป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ของแบงก์แหลมทอง จนเจ้าตัวออกมาปฏิเสธในที่สุด

ประสบการณ์ในธุรกิจธนาคารของเศรณี เพ็ญชาติ แม้ไม่มากปี แต่ก็ผ่านเรื่องราวมากมาย จนได้ชื่อว่า มีความชำนาญเรื่อง "เทคโอเวอร์" คนหนึ่งของธุรกิจไทย แต่ในชีวิตของเขา เขากลับเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว ไม่ออกสังคมนายแบงก์เลยก็ว่าได้ ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ชอบอยู่บ้านจนหลายคนหาว่า กลัวภรรยา สำหรับวันหยุดแล้ว เขาจะพักผ่อนกับเรือเร็วท้าทายความสามารถที่อ่าวพัทยาโน้น

คนใกล้ชิดบอกว่า เขาเป็นคนแปลกคนหนึ่ง ชอบอาหารอีสาน "ผู้จัดการ" เคยถามเขาบอกว่า ตอนเด็กคนเลี้ยงเป็นคนอีสานเลยได้ลองและชอบมาทุกวันนี้ แม้ช่วงศึกษาต่างประเทศ พอกลับมาเยี่ยมบ้านก็ได้ลิ้มรสเป็นประจำ

ตาของเขาได้แก่ จอมพลถนอม ซึ่งเคยถูกนักศึกษาขับไล่เมื่อเดือนตุลาคม 2516 นักศึกษากลุ่มนั้นถูกเรียกว่าฝ่ายซ้ายก็เป็นเรื่องแปลกหลานชายคนนี้ของจอมพลถนอมมีอาการหลายอย่างเหมือนนักศึกษาเหล่านั้น เขาชอบฟังเพลงเพื่อชีวิต และมีความคิดแอนตี้สังคมอยู่ด้วย บทสนทนา ซึ่งเขาพูดกับคนถูกคอจะเป็นเรื่องสวัสดิสังคม เขาบอกว่า กึ่ง ๆ สังคมนิยมอะไรทำนองนั้น

ระหว่างเดือนมิถุนายน 2530 นี้เป็นต้น เขาแทบไม่มีเวลาว่าง ทั้ง ๆ ที่งานสหธนาคารก็ไม่มากเหมือนระดับผู้ช่วยผู้จัดการคนอื่น แต่เขาต้องทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน บางคืนในการวางแผนเพื่อการเปลี่ยนแปลงของแบงก์ 2 แห่ง จนถึงวันนี้ แบงก์แหลมทอง ปัญหาต่าง ๆ ก็ค่อย ๆ ผ่อนคลายไปมากแล้ว

ก็หวังว่า หนามตำใจอันเกิดจาก สุระ จันทร์ศรีชวาลา คงจะถอนออกในไม่ช้านี้

งานที่หนักที่สุดในชีวิตของเขารอคอยอยู่เบื้องหน้าที่สหธนาคารนี้เท่านั้น !?



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.