2544-2545 เศรษฐกิจไทย เติบโตท่ามกลางความเสี่ยง


นิตยสารผู้จัดการ( มกราคม 2544)



กลับสู่หน้าหลัก

มุมมองต่อเศรษฐกิจไทย ได้เปลี่ยนแปลงไปจากภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ที่ยังมีความผันผวน โดยเฉพาะความเสี่ยงของปัจจัยภายนอก ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น อัตราเงินเฟ้อ ที่ต่ำตลอดปี 2543-2545 นำมาสู่การทรงตัวของภาวะดอกเบี้ยต่ำ ซิตี้แบงก์ และซาโลมอน สมิธ บาร์นีย์ ได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยใหม่ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยระยะยาว

สถาบันทั้งสองได้ร่วมกันเสนอบทวิเคราะห์ Asian Economic Out-look and Strategy และได้รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศไทย โดยได้แนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุน (under-weight) ตราสารหนี้ต่างประเทศของ ไทย และให้สถานะ ที่เป็นกลางหรือไม่เปลี่ยนแปลงน้ำหนัก (neutral) ตราสาร หนี้สกุลเงินท้องถิ่น

เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ดัชนีการบริโภคภายในประเทศแสดงให้เห็นว่า ยังอยู่ในภาวะ ที่อ่อนแอประชาชนยังคงมีความระมัดระวังเกี่ยวกับการใช้จ่าย สังเกตได้จากยอดขายรถยนต์ 15.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2542 หลังจากปีก่อนหน้าอยู่ในภาวะวิกฤติ และผู้บริโภคยังไม่ค่อยมั่นใจในสถาน การณ์ทางเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ยืน ยันตัวเลขของผลิตภัณฑ์มวลรวมภาย ในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยในปีที่แล้วกับปีนี้ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง แต่ ในปี 2545 คาดว่าอัตราการขยายตัวของ GDP จะเริ่มเห็นชัดเจนมากยิ่งขึ้น

มีบางสิ่งบางอย่างที่ซิตี้แบงก์ และซาโลมอน สมิธ บาร์นีย์ คาดว่าจะมี การขยายตัวเกิดขึ้น และจะทำให้เศรษฐ- กิจระดับมหภาคเติบโตสูงขึ้นตามไปด้วย ถึงแม้ว่าการบริโภคของภาคเอกชนจะระมัดระวังอยู่ก็ตาม

โดยคาดว่าในปี 2545 จะโตประมาณ 4.8% เพิ่มขึ้นจากปี 2543 ที่คาดการณ์ไว้ ที่ 4.4% สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เกิดจากประชาชนยังมองเห็นความเสี่ยงในระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าใช้จ่ายของภาครัฐบาลอยู่ ที่ 3% ซึ่งเติบ โตขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านการลงทุนของภาคเอกชน ตัวเลข ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2543 เป็นที่น่าพอใจ ซึ่งคณะกรรมการ ส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอคาดว่าตัวเลขการลงทุนสิ้นปี 2543 อยู่ ที่ 250 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับ 169 พันล้านบาท

บทวิเคราะห์ดังกล่าว คาดว่าปีนี้เม็ดเงินสำหรับการลงทุนจะยังคงอยู่ในระดับนี้ เพราะได้แรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ อย่างไรก็ตามในปี 2545 การลงทุนบางสิ่งบางอย่างจะลดลงไปบ้าง ส่วนการส่งออกสถาบันทั้งซิตี้แบงก์ และซาโลมอน สมิธ บาร์นีย์ยังมองโลกในแง่ดีตลอดสองปีนี้

สำหรับอัตราเฉลี่ยของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI inflation) คาดว่าปี 2543 ตัวเลขจะอยู่ระดับ 1.6% จาก 2.1% ในปีก่อนหน้า ส่วนปีนี้คาดว่าตัวเลข CPI จะอยู่ระดับ 2.7% และจะเพิ่มขึ้นในปีหน้าไปอยู่ ที่ระดับ 3.5%

หากพิจารณาถึงตลาดเงิน จากอัตราเงินเฟ้อ ที่อยู่ในระดับอ่อน เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น ซึ่งยังคงอยู่ในระดับต่ำด้วย เชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงรักษาระดับตัวเลขดังกล่าวให้ต่ำไว้อยู่ แม้ว่าจะผ่านการเลือกตั้งไปแล้วก็ตาม

ทางด้านสภาพคล่องยังคงมีมาก มายในระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเม็ดเงินจากการลงทุนจะสูงขึ้นมากกว่าเดิม อัตราดอกเบี้ย ที่ต่ำเป็นไปได้ ที่จะทำให้ค่าเงินบาทไม่ค่อยมั่นคงต่อไป

นอกจากนี้ บทวิเคราะห์ได้วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงในปี 2545 ว่าจะผ่อนคลายลงพอสมควร โดยคาดการณ์ ว่าการเติบโตของอเมริกาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้เศรษฐกิจอเมริกาจะโตประมาณ 3.1% และ 4.4% ในปีถัดไป และการลงทุนโดยตรงจะไหลเข้ามากกว่า ที่คาดการณ์ไว้เสียอีก

อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยนับตั้งแต่พรรคไทยรักไทยได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง จนกระทั่งมาถึงหัวหน้าพรรค ดร.ทักษิณ ชินวัตร ถูกตรวจสอบความไม่ชอบมา พากลของการโอนหุ้น แต่ก็ได้รับการคาดหมายว่าขบวนการตรวจสอบจะใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งหมายความว่าหากพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง ดร.ทักษิณ ชินวัตรก็จะได้เป็นผู้บริหารประเทศอยู่



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.