แบงก์แหลมทอง-สหธนาคารร่องรอยประวัติศาสตร์และทางแยก


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

นักประวัติศาสตร์ธุรกิจมักจะสรุปความเห็นสอดคล้องต้องกันว่า ยามใดที่เกิดวิกฤตการณ์ความขัดแย้งที่ธนาคารแหลมทองแล้ว มักจะติดตามมาด้วยสหธนาคาร วนเวียนเช่นนี้เรื่อยไป แม้สงครามล่าสุดในธนาคารแหลมทองใกล้ยุตินี้นั้น เรื่องราวในสหธนาคารก็ทำท่าจะใกล้จุดไคลแม็กซ์เข้าไปทุกที

ตามครรลองนี้ไม่ง่ายนักที่จะเข้าใจว่าความแตกต่างขอความขัดแย้งมีธาตุเช่นไร ?

วันที่สุระ จันทร์ศรีชวาลา กับเล็ก นันทาภิวัฒน์ ลาออกจากกรรมการธนาคารแหลมทอง เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2530 นั้น แผนเผด็จศึกของฝ่ายเขาต่อสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ได้ร่างขึ้นเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนแล้ว

สมบูรณ์ นันทาภัฒน์ น่าจะรู้จักแขกดีกว่านี้ สงครามนั้นก่อตัวแล้วชัดเจน ส่วนสหธนาคารกำลังอยู่ในภาวะสงบเงียบต่อสายตาคนภายนอก แต่ส่วนลึกแล้ว ชำนาญ เพ็ญชาติ กำลังเร่ขายหุ้นของตนออกไป

ณ เวลานั้น ทั้งสุระ จันทร์ศรีชวาลา และตระกูลเพ็ญชาติต่างมีหุ้นในแบงก์ในคนละแบงก์จำนวน 43% เป็นจุดตั้งต้นสำคัญเท่ากัน หรือเรียกว่า STRATEGIC PERCENTAGE

วันที่สุระประกาศลาออกนั้น หากนับจากวันประลองกำลังครั้งสุดท้าย ซึ่งเขาไม่สามารถฝ่าด่านเข้าแบงก์แหลมทองได้ก็หนึ่งปีพอดี วันนั้น (28 มีนาคม 2529) เขาผิดหวังครั้งใหญ่จนแทบจะมองไม่เห็นทางชนะอีก

จากนั้น 4 เดือนเต็ม สุระสงบนิ่งอยู่เงียบ ๆ มิได้คิดทำการอย่างไรต่อไป แต่ในจิตใจของเขานั้นพลุ่งพล่านไม่สงบสุข ผู้ใกล้ชิดคนหนึ่งบอกว่าเขาไม่มีกะจิตกะใจจะทำอะไรเลย ครุ่นคิดอยู่เพียงเรื่องเดียวเท่านั้น คู่คิดคนหนึ่งในการวางกลยุทธ์ก็คือ เศรณี เพ็ญชาติ ลูกชาย ชำนาญ เพ็ญชาติ ในฐานะเป็นเจ้าหนี้คนสำคัญ และแล้วแผนการเก่าจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง

นั่นก็คือ ร่วมมือหรือซื้อหุ้นจากกลุ่มอื่นเพื่อครอบครองหุ้นเกิน 50% ขึ้นไป

เป้าหมายแรกของกลุ่มสุระ จันทร์ศรีชวาลา คือ วรวิทย์ สุธีรชัย กับวานิช ไชยวรรณ คนแรกนั้นแม้ว่าสุระจะเคยเจอฤทธิ์เดชมาครั้งหนึ่งแล้ว ก็ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา วรวิทย์เป็นเจ้าของธีรชัยทรัสต์เข้ามาถือหุ้นแหลมทองไม่นานนัก เนื่องจากต้องการเป็นกรรมการธนาคาร โดยผ่านทางสมบูรณ์ ขณะนั้นสงครามต่อต้านฝ่ายสุระถึงจุดเข้าไคลแมกซ์แล้ว และก่อนการประชุมเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2529 ซึ่งสุระพ่ายแพ้นั้น วรวิทย์เป็นตัวแปรสำคัญที่สุด เนื่องจากวรวิทย์มีหุ้นในแหลมทองประมาณ 5% เศรณี เพ็ญชาติ เป็นคนมาเจรจาซื้อหุ้นจากเขาเอง การเจรจาเข้าถึงจุดจะตกลงกันแล้ว วรวิทย์ใช้ชั้นเชิงขอดูหลักฐานจำนวนหุ้นของกลุ่มสุระในคืนวันนั้นเอง วรวิทย์ก็เข้ารายงานให้สมบูรณ์รู้สถานการณ์ แผนการเพิ่มทุนอย่างกะทันหันจึงเกิดขึ้นในครั้งแรกจนสุระตั้งตัวไม่ติด ผลงานคราวนั้นสมบูรณ์บำเหน็จความดีให้วรวิทย์ เข้าเป็นกรรมการธนาคารสมใจนึก

กลุ่มสุระรู้ดีว่า คน ๆ นี้เป็นนักธุรกิจเต็มตัว อย่างไรก็ตาม การเจรจากับวรวิทย์ถึง 3 เดือนก็ยังไม่มีผลคืบหน้า เป้าต่อไปก็คือ วานิช ไชยวรรณ ประธานกรรมการบริษัทไทยประกันชีวิต กลุ่มนี้ถือหุ้นกว่า 10% สุระมิได้ติดต่อด้วยตนเอง การเจรจาผ่านคนกลางมีขึ้นทั้งที่กรุงเทพฯ และฮ่องกง วานิช ไชยวรรณ เสนอเงื่อนไขคือขายหุ้นทั้งล็อต ในราคา 600 บาทขาดตัว เท่านั้นเองสุระก็ถอยหลังกรูด

ผู้รู้เรื่องดีเล่าว่า แม้จะมีการเจรจาขอซื้อหุ้น แต่สุระเองก็รู้ตัวเองดีว่ามีภาระทางการเงินหนักหน่วง กลุ่มเขามองต่อไปว่าภาระข้างหน้าใหญ่หลวงจะต้องมีการตระเตรียมเงินทองจำนวนหนึ่งไว้ก่อน ในช่วงปลายปี 2529 ต่อต้นปี 2530 เป็นช่วงเวลาสุระกับกุรดิษฐ์เดินทางเป็นว่าเล่น เพื่อหาแหล่งเงินกู้ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ฮ่องกง หรือสหรัฐอเมริกาการเดินทาง่อยครั้งซึ่งดูเหมือนจะยาวไกลออกไปทุกที

พวกเขาเหน็ดเหนื่อยกันมาก แต่โอกาสสำเร็จก็ยังมองไม่เห็นกำลังใจหดหายไปมาก !

พอดีได้ข่าวจากมาเลเซียว่า กลุ่มปาล์มโก้ของดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชาน กำลังมีปัญหาทางการเงิน กลุ่มสุระ จันทร์ศรีชวาลาจึงเกิดความหวังขึ้นมาอีกครั้ง ข่าวขยายความว่าเมื่อบริษัทแม่มีปัญหา ทางแก้ก็คือตัดการลงทุนที่ไม่จำเป็น หรือผลตอบแทนออกไปนโยบายนี้กระทบมาถึงการลงทุนในแบงก์แหลมทองประเทศไทยอยู่ด้วย ซึ่งดาโต๊ะไม่ค่อยจะพอใจอยู่ การลงทุนในแบงก์แหลมทองมีผลตอบแทนต่ำ เมื่อเทียบกับราคาที่ซื้อจากฝ่ายสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์

กลุ่มสุระเช็คข่าวนี้อยู่พักหนึ่ง ก็ได้รับคำยืนยันว่า เป็น

สุระจึงทำแผนการใหม่เพ่อการเจรจาซื้อหุ้นจากกลุ่มดาโต๊ะ ในเบื้องต้นจะต้องผ่านคนกลางโดยมิให้ดาโต๊ะรู้ว่าผู้ซื้อคือสุระการเจรจาคืบหน้าไปมาก มีแนวโน้มว่าไม่มีปัญหาติดเพียงรายละเอียดเท่านั้น

1 ปีพอดีความหวังสุระ กลับคืนมาอีกครั้ง และจากจุดนี้เอง แผนการสร้าง SMOKE SCREEN เพื่ออำพรางฝ่ายสมบูรณ์จึงเกิดขึ้น ขั้นแรกสุดก็คือการประกาศลาออกจากกรรมการของสุระ จันทร์ศรีชวาลากับเล็ก นันทาภิวัฒน์ พร้อม ๆ กับการออกมาแถลงข่าวถึงแผนการพัฒนาที่ดินเพื่อชำกระหนี้สินต่าง ๆ ภายใน 5 ปี นั่นแสดงว่าสุระไม่อยู่ในฐานะจะมีเงินมากว้านซื้อหุ้นเพื่อยึดแบงก็แหลมทองได้อีก สมบูรณ์ก็เลยตายใจ

ตามข้อตกลงการซื้อหุ้นระหว่างฝ่ายสมบูรณ์กับดาโต๊ะนั้น ระบุไว้ชัดว่า หากฝ่ายดาโต๊ะจะขายจะต้องเสนอขายต่อสมบูรณ์ก่อน และห้ามขายให้แกฝ่ายสุระ ในห้วงเวลานั้นเองดาโต๊ะ มาเสนอขายหุ้นคืนให้กับสมบูรณ์ ฝ่ายสมบูรณ์มองสถานการณ์ฝ่ายสุระเห็นว่าไม่อยู่ในฐานะจะต่อสู้ได้ เขาจึงไม่ซื้อ จากนั้นจึงเป็นความชอบธรรมที่ดาโต๊ะจะขายให้กับใครก็ได้ ซึ่งมิใช่ฝ่ายสุระ

นั่นคือที่มาของบริษัทบอสตัน เอเยนซี่ จดทะเบียนในฮ่องกง

มีคนอย่างน้อย 2 คนเข้ามามีส่วนเชื่อมการซื้อขายครั้งนี้ คนแรก สมชาย ไชยศรีชวาลา ซึ่งรู้จักสุระอย่างดีตั้งแต่สุระซื้อบริษัทเอเชียไฟเบอร์ สมชายนี้รู้จักสำนักงานทนายความซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของกลุ่มปาล์มโก้ในมาเลเซีย คือ LIM CHENGPOH, LIM & RAHIM และมิสเตอร์ลิมคนนี้ก็คืออีกคนหนึ่งมีบทบาทอย่างสูงเมื่อเขาได้รับการแนะนำให้รู้จักกับสุระ และฝ่ายสุระก็จ้างเขาเป็นทนายความในการซื้อหุ้นครั้งนี้

วันที่ 16 มิถุนายน 2530 ก็คือวันเริ่มต้นการดำเนินการด้านเอกสาร จนถึงวันที่ 23 เดือนเดียวกัน ข้อตกลงการซื้อขายจึงได้มีการลงนามทั้ง 2 ฝ่าย

วันที่ 17 มิถุนายน ดาโต๊ะ ทำหนังสือถึงอนุตร์ อัศวานนท์ กรรมการรองผู้จัดการแบงก์ทหารไทยอ้างถึงการขายหุ้นของกลุ่มเขาจำนวน 532,886 หุ้น (ประกอบด้วย PALMCO INTERNATIONAL (HK) LTD., PALMEX INDUSTRIES (HK), PALMCO OIL MILL และMEDIA INVEST AG.) จำนวนเงิน 214,154,400 บาท (ราคาทางการ 400 บาท/หุ้น) โดยมีการมัดจำไว้แล้ว 21,315,440 บาทเพื่อขอให้ธนาคารซึ่งรับจำนำหุ้นไว้ยินยอมการขายหุ้นครั้งนี้

วันที่ 18 มิถุนายน ผู้แทนแบงก์ทหารไทยตอบจดหมายของดาโต๊ะแจ้งให้ทราบว่าจำนวนหุ้นที่จำนำไว้กับแบงก์ทหารไทยมีทั้งหมด 427,886 หุ้น ขณะเดียวกันนั้น บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์ ได้ทำหนังสือขายหุ้นของบริษัททั้งหมด 94,266 หุ้นให้ดาโต๊ะ หรือผู้อื่นแล้วแต่ดาโต๊ะเห็นชอบแท้จริงก็คือการดำเนินการทางกฎหมายเท่านั้น และวันเดียวกันนี้ วานิช ไชยวรรณ ได้แต่งตั้งดาโต๊ะเป็นตัวแทนขายหุ้นของตนออกไป เมื่อเขารู้ว่าใครเป็นคนซื้อ แต่ปรากฏว่าไม่สำเร็จ

วันที่ 23 มิถุนายน ก็คือวันลงนามในสัญญาซื้อขายอย่างแท้จริง ระหว่างดาโต๊ะ โรเบิร์ต ชานวูตคุน กับแมนเซอ บิน อับดุล รามาน จากบอสตัน เอเยนซี่ การลงนามมีขึ้นที่สิงคโปร์

และวันที่ 24 มิถุนายน ธนาคารทหารไทย ได้ออกใบรับเงินจำนวน 21,315,440 บาท BOSTON AGENCY LTD., เพื่อเป็นการชำระเงินมัดจำค่าโอนหุ้นธนาคารแหลมทองจากสัญญาซื้อขายกันในวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา

งานนี้เป็นที่รู้ว่า ดาโต๊ะได้ประโยชน์ที่สุดราคา 400/หุ้น นั้นคือ ราคาทางการที่พอดีกับราคาจำนำกับธนาคารทหารไทย นอกจากนี้มีการกระซิบกระซาบว่า ดาโต๊ะยังได้เปอร์เซ็นต์อีกประมาณ 60 ล้านบาทจากงานนี้

เอกสารเหล่านี้ก็คือ "อาวุธ" สำคัญที่สุระนำมาใช้หาแนวร่วม และแหล่งเงินทุนเพื่อชำระค่าหุ้นที่เหลือภายใน 2 เดือน ต้นเดือนกรกฎาคมหนังสือพิมพ์ในมาเลเซียเสนอข่าวการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ และติดตามมาด้วยหนังสือภาษาไทย-ภาษาอังกฤษยักษ์ใหญ่ 2 ฉบับ ซึ่งกล่าวกันว่า มีความสัมพันธ์อันดีกับสุระ จันทร์ศรีชวาลา ได้ประสานเสียงรับ

ในที่สุด ก็ปรากฏชื่อวิเชียร จิรพจชพร เจ้าของกิจการก่อสร้าง ซึ่งอดีตเป็นผู้จัดการสาขาธนาคารนครหลวงไทย มือขวา วิศิษฐ์ ศรีสมบูรณ์ ผู้โดนคดีความเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ กับธนาคารนั้น วงในรู้กันว่า วิเชียรเป็นแนวร่วมคนใหม่ของฝ่ายสุระ ผู้รู้กล่าวว่า กุรดิษฐ์ ติดต่อกันมาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว

ความสำเร็จของสุระ คราวนี้นอกจากบุคคลอื่น ๆ จำนวนหนึ่งที่กล่าวมาแล้ว คนที่สุระจะต้องปรึกษาและวางกลยุทธ์ตลอดมาก็คือ เศรณี เพ็ญชาติ มีคนถามกันต่อมาว่า ทำไมเศรณีจึงช่วยสุระ ?

แต่ที่แน่เพราะฝ่ายเพ็ญชาติ มีส่วนเกี่ยวข้องกับสุระนี่เอง รูปลักษณ์ของการต่อสู้ในสหธนาคารจึงมีคล้าย ๆ กัน โดยเฉพาะยุทธวิธี การช่วงชิงอำนาจของฝ่ายเพ็ญชาติต่อฝ่ายชลวิจารณ์ ทั้งนี้ยังมิได้พิจารณาถึงความเก่าแก่ของบรรเจิด ชลวิจารณ์ กับสมบูรณ์ นันทาภิวัฒน์ ที่นั่งทับเก้าอี้ตัวใหญ่ของธนาคารจนนึกว่าเป็นบ้านของตนเองไปในทำนองเดียวกัน

เช่นเดียวกันการขายหุ้นของตระกูลเพ็ญชาติให้กับ ARAB BANKING CORPERATION (เอบีซี) เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2530 จำนวน 25% นั้น มีคนตีความหมายแตกต่างกันไป ดุจเดียวกันกับที่สุระ จันทร์ศรีชวาลา ลาออกจากกรรมการแบงก์แหลมทองอย่างไงอย่างงั้น บางคนบอกว่า เพ็ญชาติถอยแล้ว แต่แท้ที่จริง วงในรู้กันว่า เพ็ญชาติเพิ่งตั้งหลักสู้จริง ๆ เป็นการต่อสู้อันพร้อมเพรียงกัน มีเพียงลูกชื่อ เศรณี เพ็ญชาติ เท่านั้น โดยชำนาญ ผู้พ่อคอยปราม ๆ เอาไว้ จนฝ่ายชลวิจารณ์รอดตัวครั้งใหญ่มาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2528 อีกแล้ว และที่สำคัญ แนวความคิดในการต่อสู้ของฝ่ายเพ็ญชาติ มิได้มุ่งแสวงหาอำนาจการบริหารแบงก์แบบเบ็ดเสร็จอย่างที่อีกฝ่ายหนึ่งกระทำ กลุ่มนี้ดูตามประวัติศาสตร์บ่งชัดว่า ต้องการพัฒนาแบงก์ให้ก้าวหน้าทันสมัยปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ

พวกเขาทนกับสิ่งเก่ามานานแล้ว โดยเฉพาะชำนาญ เพ็ญชาติ ค่อนชีวิตเขาเลยทีเดียว !

เท้าความให้กระชับก็คงตอนเศรณี เพ็ญชาติ เข้ามาทำงานในสหธนาคารครั้งแรกในปี 2526 ซึ่งก่อนหน้าทางฝ่ายชลวิจารณ์เคยให้สัญญาว่า จะให้ฝ่ายเพ็ญชาติคุมงานด้านต่างประเทศ โดยลูกชายของบรรเจิดคือ ปิยะบุตรจะถอนตัวออกไปคุมกิจการสาขาแทน พอเอาเข้าจริงปี 2524 ก่อนเศรณีเข้าทำงานแบงก์ 2 ปี ลูกเขยของบรรเจิด รังสิน สืบแสง ก็เข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศ เมื่อเศรณีเข้ามาก็เป็นเพียงรองผู้อำนวยการฝ่าย ยิ่งไปกว่านั้นพอปี 2527 ปิยะบุตร ชลวิจารณ์ พุ่งพรวดขึ้นเป็นกรรมการธนาคารและเป็นผู้ช่วยผู้จัดาร

ความไม่พอใจเริ่มตรงนั้น !

ในตอนนั้นหนุ่มไฟแรงอย่างเศรณีคิดด้วยตัวคนเดียว เพื่อจะเอาชนะตามกฎทั่วไปของธุรกิจ คือ ต้องสามารถครอบครองหุ้นในจำนวนมากกว่า จากทะเบียนเขาพบว่า ตระกูลอัศวินวิจิตรถือหุ้นในจำนวนมากและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับเลขานุการของเขาคนหนึ่งนามสกุลอัศวินวิจิตร ในที่สุด กรพจน์ อัศวินวิจิตร กับเศรณี เพ็ญชาติ ก็ได้สนทนากัน เขาทั้งสองพบว่า มีแนวคิดในการบริหารธุรกิจคล้าย ๆ คือ ต้องการให้แบงก์บริหารด้วยมืออาชีพ มิใช่ตระกูลหรือระบบครอบครัว ซึ่งดำรงมาเกือบกึ่งศตวรรษแล้ว

จากตัวคนเดียว เศรณีเริ่มมีแนวร่วมใหม่ในปี 2528 และตามมาด้วยแผนการกว้านซื้อหุ้นอย่างเงียบ ๆ จากบุคคล เช่น อาจิณ ตั้งสิน เจ้าของโรงแรงแม่น้ำ เล็ก สินสมุทร (เจ้าของสยามคอนโดมิเนียม) ซึ่งแต่เดิมเป็นลูกค้าของบรรเจิด ชลวิจาณณ์เอง และส่วนหนึ่งผ่านตลาดหุ้น ฝ่ายอัศวินวิจิตรก็ได้หุ้นจากบรรเจิดด้วย เนื่องจากการเพิ่มทุนติดกันหลายครั้ง บรรเจิดจึงจำต้องหาสมัครพรรคพวกมาเสริม

ข้อตกลงของแนวร่วมเพ็ญชาติ-อัศวินวิจิตรก็คือ ทั้งสองจะต้องตัดสินใจร่วมกัน สัญญาข้อตกลงนี้ลงนามก่อนที่เพ็ญชาติจะขายหุ้นจำนวน 10% ให้อัศวินวิจิตร

เมื่อเดือนมีนาคม 2528 วันประชุมสามัญประจำปี ซึ่งสบโอกาสดีมาก บรรเจิด ชลวิจารณ์ต้องออกตามวาระ หากผู้ถือหุ้นไม่โหวตให้กลับเข้ามาก็เป็นอันว่า ฝ่ายชลวิจารณ์ก็ต้องตกเวทีไป ในช่วงเวลานั้นเพ็ญชาติอัศวินวิจิตร ครอบครองหุ้นในมือประมาณ 49% ซึ่งถือได้ว่ามากเป็นประวัติการณ์และก็สามารถโค่นอีกฝ่ายหนึ่งได้อย่างไม่ต้องสงสัย

ก่อนการประชุม 7 วัน หนังสือพิมพ์ลงข่าวเกี่ยวกับความร่วมมือของแนวร่วมใหม่ บรรเจิดตกใจอย่างรุนแรงแต่ก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว แต่ทว่าความที่ชำนาญ เพ็ญชาติ อยู่ร่วมกับบรรเจิดมานาน เขาไม่ต้องการความแตกร้าวมิตรภาพอันยาวนาน เช้าก่อนประชุม ชำนาญยื่นคำขาดกับลูกชายว่า "หากโค่นบรรเจิดจะตัดพ่อตัดลูก"

นั่นเป็นสงครามครั้งแรกที่บรรเจิดรอดตัวมาอย่างหวุดหวิด !

ถึงแม้ตระกูลอัศวินวิจิตรจะได้ตำแหน่งกรรมการหนึ่งคน แต่ฝ่ายชลวิจารณ์ก็มิได้มีความรู้สึก SHARE MANAGEMENT กับใครเหมือนเดิม บรรเจิดเรียกอวยชัย อัศวินวิจิตรมาบริภาษ พร้อมกับปลดนายทะเบียน ซึ่งคนเก่ารู้เห็นเป็นใจกับเพ็ญชาติในทรรศนะของเขา จากนั้นฝ่ายชลวิจารณ์ก็สรุปบทเรียนครั้งใหญ่ระดมซื้อหุ้น จนก้ำกึ่งกันตราบเท่าทุกวันนี้

เหตุการณ์ครั้งนั้นให้บทเรียนแก่คนหนุ่มอย่างเศรณี-กรพจน์อย่างมาก พวกเขาจะต้องรอบคอบมากยิ่งขึ้น เวลาผ่านไปฝ่ายชลวิจารณ์ผู้ถือหุ้นเพียง 43% แต่ครอบครองการบริหารแบบไว้ในมือเกือบทั้งหมดไม่ยอมรับ SHARE MANAGEMENT อยู่ดี รังสิน สืบแสง ลูกเขยได้เข้าเป็นกรรมการอีกคน ฝ่ายเพ็ญชาตินั้นมีส่วนเฉพาะงานสำนักงานบริหารเงินที่ตั้งใหม่ แม้เศรณี เพ็ญชาติจะได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยผู้จัดการ แต่ไม่มีสายงานขึ้นตรง มิหนำซ้ำฝ่ายอัศวินวิจิตรถือหุ้นกว่า 10% ก็ถูกบรรเจิดเบรคไม่ให้เข้ามาบริหารกิจการธนาคาร

เศรณีเคยบอกผู้ใกล้ชิดว่า แผนการเข้าครอบครองหุ้นข้างมากในสหธนาคารจะต้องใช้บทเรียนจากแหลมทอง ซึ่งเข้ามีส่วนวางแผน เขาถือว่าเป็นสนามทดลองเริ่มต้นตามสูตรที่ว่า แสวงหาพันธมิตรให้กว้างขึ้น นั่นหมายถึงกำลังสมองและกำลังเงินควบคู่กันไป "ผมต้องดูทีมงานก่อนเงิน" เขาเคยกล่าว

แผนการต่อสู้ครั้งต่อไปถูกกำหนดไว้แล้วก็คือ แสวงหาพันธมิตรดังกล่าวเพื่อมาปรับปรุงกิจการธนาคาร อย่างไรก็ตามขั้นตอนการดำเนินการทุกขั้นตอน ฝ่ายเพ็ญชาติอัศวินวิจิตรจะต้องบอกแก่ฝ่ายชลวิจารณ์เสมอ "เราต้องการแสดงสปิริตเพื่อทุกอย่างอาจจะดีขึ้น" กระแสข่าวฝ่ายนั้นกล่าวอ้าง

ข่าวเพ็ญชาติจะขายหุ้นจำนวน 25% จากทั้งหมด 31% ค่อย ๆ กระจายไปในแวดวงธุรกิจอย่างลึก ๆ ปรากฏว่ามีทั้งแบงก์ต่างประเทศ และคนไทยแสดงความจำนงเข้ามาหลายราย เช่น กฤษณ์ อัสสกุล ซึ่งเสนอซื้อในราคาสูงถึง 400 บาท/หุ้น เฟิร์สแปซิฟิคของหลิมซิวเหลียง เศรษฐีอินโดนีเซีย เสนอมาหลายราคาตั้งแต่ 300-440 บาท/หุ้น และเอบีซี เป็นต้น

เมื่อปลายปี 2529 ฝ่ายเพ็ญชาติบอกต่อบรรเจิดว่า เขาจะขายหุ้น หากบรรเจิดต้องการจะขายให้ก่อนคนอื่น ชลวิจารณ์เสนอซื้อราคาต่ำมากจึงไม่เป็นที่ตกลง ทั้งเสนอ MERRILL LYNCH โบรคเกอร์ระดับโลก ซึ่งมีตัวแทนอยู่ในสิงคโปร์ มาเป็นโบรคเกอร์ โดยให้ทั้งเพ็ญชาติและชลวิจารณ์ลงนามแต่งตั้งเป็นตัวแทนในการเจรจาแบงก์ญี่ปุ่นมาร่วมทุน ซึ่งหมายถึงซื้อหุ้นของเพ็ญชาติไป แผนการนี้ฝ่ายชลวิจารณ์ใช้มาสกัดกั้นมิให้ฝ่ายอัศวินวิจิตรเข้ามามีบทบาทมากเกินในการหาผู้ซื้อหุ้นจากเพ็ญชาติ ชำนาญเองก็ถูกเรียกมาต่อว่าต่อขาน จนเขาสับสนกันไปพักหนึ่ง

ในที่สุด ต้นปี 2530 แผนการขายหุ้นของเพ็ญชาติก็เดินเครื่องอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้มาทบทวนพิจารณาผู้ซื้อรายเก่าทั้งหมด พวกเขาได้ข้อสรุปว่า หนึ่ง-หากเป็นกลุ่มไทยสมุทร ของกฤษณ์ อัสสกุล แบงก์ไม่อาจแสวงหาโนว์ฮาวการบริหารกิจการธนาคารสมัยใหม่ ทั้งกลุ่มนี้มีเงื่อนไขมากเกินไป สอง - เฟิร์ส แปซิฟิค เป็นกลุ่มธนาคารเล็ก ๆ เป็นธนาคารระดับภูมิภาคเท่านั้นเมื่อเทียบกับเอบีซี

และแล้วกรพจน์ อัศวินวิจิตร ก็ได้รับการแต่งตั้งจากตระกูลเพ็ญชาติ ให้เป็นผู้มีอำนาจในการเจรจาขายหุ้น 25% นั้นให้กับเอบีซีโดยกำหนดราคาไม่ต่ำกว่า 250 บาท/หุ้น

ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ฝ่ายบรรเจิดก็พอจะรู้เรื่องราวคร่าว ๆ แต่พวกเขาคาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มเฟิร์สแปซิฟิคในทรรศนะของพวกเขากลุ่มนี้ไม่น่ากลัว

เงื่อนไขตามพันธสัญญาก่อนจะมีการลงนามซื้อขายหุ้นระหว่างเพ็ญชาติกับเอบีซีนั้น จะต้องลงนามข้อตกลงร่วมกันในลักษณะเดียวกันกับที่เพ็ญชาติเคยกระทำกับอัศวินวิจิตร แต่คราวนี้เป็นการลงนาม 3 ฝ่าย

สัญญาซื้อขายในราคาที่สูงกว่าประกาศเป็นทางการเล็กน้อยลงนามกันที่บริษัทไทยเศรษฐกิจประกันชีวิต อาคารสาธรธานีประมาณปลายเดือนกรกฎาคม 2530 โดยฝ่ายเพ็ญชาติขอร้องให้เก็บเรื่องนี้ไว้เป็นความลับ รอให้การเพิ่มทุนของสหธนาคารจาก 400 ล้านบาทเป็น 500 ล้านบาทเสร็จสิ้นเสียก่อน เรื่องราวการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ถูกปิดเงียบเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม ๆ โดยไม่มีใครแพร่งพรายแม้แต่น้อย

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวนี้ ฝ่ายเพ็ญชาติอัศวินวิจิตรได้รายงานต่อรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและผู้ว่าการแบงก์ชาติตลอดเวลา จึงมิใช่เรื่องแปลกใจเลยเมื่อทุกอย่างลงตัว ทางการไฟเขียวตลอด แม้ฝ่ายบรรเจิดจะคัดค้านเพียงไร ก็ไร้ผล

ในสายตาของนักการธนาคารมองว่า ABC เป็นธนาคารที่เข้มแข็งมาก เพราะเป็นการร่วมทุนของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน 3 ประเทศ (ลิเบีย คูเวต และอาบูดาบี) แม้จะตั้งขึ้นเพียง 7 ปีแต่สินทรัพย์ปัจจุบันก้าวถึง 4.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ มีความชำนาญด้านการเงิน โดยมีสาขากระจายอยู่ทั่วโลกและเพิ่งซื้อกิจการธนาคารซันฮุงไกในฮ่องกงเมื่อเร็ว ๆ นี้ (เปลี่ยนชื่อเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล แบงก์ ออฟ เอเชีย) นโยบายของเอบีซีแจ่มชัด คือ การขยายการลงทุนในเอเชียทดแทนในย่านลาตินอเมริกาซึ่งกำลังเผชิญปัญหาหนี้เสียอย่างมาก

ฝ่ายเพ็ญชาติ-อัศวินวิจิตร คาดหวังว่า เมื่อเอบีซีมาร่วมสหธนาคารจะได้ประโยชน์หลายประการ นอกเหนือจากเงินทุนจำนวนมากพร้อมจะเพิ่มทุนอยู่ตลอดเวลา หนึ่ง - พัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งสหธนาคารยังมิได้ดำเนินการ สอง - สหธนาคารสามารถขยายกิจการสนับสนุนการส่งออกหรืออุตสาหกรรมก่อสร้างในตะวันออกกลางได้ สาม - โนว์ฮาวการบริหารธุรกิจธนาคาร

การต่อสู้ของเพ็ญชาติ แตกต่างกับสุระตรงนี้อย่างเห็นได้ชัด กรณีแหลมทองหลายคนพูดถึงการล้างแค้นกับคำพูดสบประมาทอันฝังใจของแต่ละฝ่าย ส่วนสหธนาคารเพ็ญชาตินั้นได้คะแนนจากสาธารณชนค่อนข้างมาก รวมทั้งการดำเนินแผนการตามขั้นตอนเป็นที่ยอมรับของฝ่ายทางการตลอดมา

ก็คงเป็นตามที่ เศรณี เพ็ญชาติ เคยกล่าวเอาไว้ว่า เขาศึกษาและสรุปบทเรียนจากกรณีแหลมทอง โดยเนื้อแท้แล้ว เขายืนยันว่า การพัฒนาธนาคารเช่นว่ามิได้หมายความว่าเพ็ญชาติร่วมมืออัศวินวิจิตรเตะฝ่ายชลวิจารณ์ออกไปจากสหธนาคาร แท้ที่จริงก็คือ การ SHARE MANAGEMENT และการเสริมด้านโนว์ฮาวการธนาคารสมัยใหม่เข้าไปเท่านั้น

การเจรจาประนีประนอมกันเป็นสิ่งที่ฝ่ายเพ็ญชาติ-อัศวินวิจิตรดำเนินควบคู่ไปกับการทะลวงซื้อหุ้น ยุทธวิธีหลังนั้น มักจะเกิดขึ้นในกรณีแรกใช้ไม่ได้ผล กล่าวอีกนัยการเพิ่มสัดส่วนหุ้นก็เพียงกดดันให้ฝ่ายชลวิจารณ์ยอมรับการเปลี่ยนแปลง

การเพิ่มทุนครั้งสำคัญของสหธนาคาร เมื่อกลางเดือนสิงหาคมอีก 100 ล้านบาท ที่ต้องการขายแก่บุคคลภายนอกจำนวน 500,000 หุ้น ราคาที่ถูกกำหนดโดยสินเอเชีย 220 บาท ภายหลังประลองกำลังทั้งสองไป 1 ยก ข่าวกล่าวว่าฝ่ายบรรเจิดต้องการขายหุ้นให้บุคคลภายนอกผ่านสาขาอันเป็นรู้กันว่า ฝ่ายตนคุมอำนาจฝ่ายเพ็ญชาติ ให้ทิสโก้เสนอราคาเท่ากับที่บรรเจิดโดยเสนอขาย UNDERWRITER โดยมีรายที่ 3 คือ สินเอเชียเสนอมาในราคาสูงกว่า 20 บาท คือ 220 บาท/หุ้น "แรก ๆ ก็ไม่รู้หรอกว่า สินเอเชียอยู่ฝ่ายไหน แต่ภายหลังเป็นแผนของเพ็ญชาติ" แหล่งข่าวว่า อย่างไรก็ตาม บรรเจิดชอบทำตามอำเภอใจเสมอ เห็นด้วยให้ขายผ่าน UNDERWRITER แต่ต้องใช้สหธนกิจไทยตัวแทนของเขาและทิสโก้ตัวแทนของเพ็ญชาติเป็นแกนนำ

การระดมซื้อหุ้นทั้งสองฝ่ายดำเนินไปอย่างคึกคัก ถึงขั้นละเมิดกฎเกณฑ์ที่กำหนดของบางฝ่าย สุดท้ายเฉลี่ยกันได้เพียง 48 หุ้น จนถูกรายย่อยและ UNDERWRITER โวยอยู่พักหนึ่ง ผู้คลุกคลีในตลาดหลักทรัพย์บอกว่า ยุทธการระดม PROXY จากทั้งสองเป็นคนนับหมื่นคนนั้น่าอัศจรรย์ใจมาก "เท่าที่ผมรู้ฝ่ายบรรเจิดเอารายชื่อพนักงานโรงงานซิว-เนชั่นแนลของลูกเขย คือ คุณพรเสก กาญจนจารี ส่วนเพ็ญชาติเอามาจากโรงงานดูราเกรส" แหล่งข่าวคนเดิมระบุ

ในที่สุดก็คือ สัดส่วนที่เพิ่มขึ้น 5% สำหรับคนนอกนั้น ทั้งสองฝ่ายก็คงรักษาสัดส่วนเดิมกันต่อไป หลายคนมองว่า ฝ่ายชลวิจารณ์เป็นมวยมากขึ้น และตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งสองกลุ่มนับวันจะ "แรงมาแรงไป" มากขึ้นด้วยเช่นกัน

สงครามทั้งสองฝ่ายเข้มข้นมากขึ้นทุกวัน ปัจจัยเร่งอยู่ที่ หนึ่ง - ความเร่งรีบของฝ่ายเพ็ญชาติ-อัศวินวิจิตร-เอบีซี ในการเข้ามามีส่วนพัฒนาแบงก์ สอง - ความยึดถือว่า แบงก์เป็นกิจการส่วนตัวและกิจการสุดท้ายที่เหลือของชลวิจารณ์ โดยมีตัวแทนกระทรวงการคลังยืนดู วงการก็หวังกันว่ากระทรวงการคลังคงไม่กระโจนออกมาลุ้นฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจนออกนอกหน้า ทุกวันนี้ก็เท่ากับกระทรวงการคลังอนุรักษ์สิ่งเก่าอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม สหธนาคารยังมีอนาคตมากกว่าแหลมทองตรงที่การต่อสู้ยังไม่นำพาให้ธนาคารบอบช้ำอย่างน้อยก็ในสายตาของสาธารณชน แต่สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองธนาคาร คือ ต้นแบบของการเข้าครอบครองกิจการ (ACQUISITION) ของธุรกิจอันมีคนหนุ่มถือตำราเอ็มบีเอกับกลยุทธ์พลิกแพลงนำมาใช้ย่อมจะเป็นตัวอย่างที่ควรศึกษากันต่อไป !



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.