เจ้าของบำรุงเมืองแฉเลห์PLE ค้างค่าจ้าง400ล.สุดท้ายถูกฮุบกิจการ


ASTVผู้จัดการรายวัน(13 กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

“มะลิ” เจ้าของเดิมบำรุงเมืองพลาซ่าโวยจ้าง “เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง” สร้างอาคาร มูลค่างาน 880 ล้านบาท ค้างค่าจ้าง 400 ล้านบาท เอาหุ้นค้ำประกัน สุดท้ายถูกฮุบกิจการ คนสร้างกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 97% แฉตั้งใจยึดกิจการเหตุเรียกร้องค่าก่อสร้างสูงถึง 1,500 ล้านบาท ทั้งที่เหลือเงินที่ต้องจ่ายจริงแค่ 557.94 ล้านบาท

แหล่งข่าวระดับสูง จากบริษัทบำรุงเมืองพลาซ่า จำกัด หรือ BMP เจ้าของโครงการโบ๊เบ๊ ทาวเวอร์ แหล่งช็อปปิ้งย่านถนนบำรุงเมือง กล่าวว่า โครงการดังกล่าวที่เช่าที่ดินจาก สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อายุการเช่าจำนวน 30 ปีซึ่งโครงการนี้มีปัญหามานานมาก โดยเมื่อปี 2546 ได้ว่าจ้างให้บริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE เป็นผู้ก่อสร้างให้ มูลค่างานประมาณ 885 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จภายใน 660 วัน ซึ่งเจ้าของโครงการเดิมในขณะนั้นคือ กลุ่มของนางมะลิ เอกอริยะกุล

"ทาง PLE ได้ก่อสร้างไประยะหนึ่ง จนกระทั่งทางบำรุงเมือง หรือ BMP ค้างค่าก่อสร้าง 5 งวด เป็นเงินประมาณ 310 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 11 ก.พ.2548 ทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงร่วมกันว่า จะชำระหนี้จำนวนนี้ให้ แต่ถ้าไม่สามารถชำระได้ ก็ยินยอมให้เอาหุ้น 49% เป็นหลักประกันค่าก่อสร้าง ปรากฏว่า ก็ยังไม่สามารถชำระเงินจำนวนดังกล่าวได้ จนกระทั่งถึงวันที่ 14 ก.ย.48 ก็ค้างชำระเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 400 ล้านบาท"

จากจำนวนหนี้ค้างชำระที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้องมีการเจรจารอบใหม่ โดยทาง PLE จะยินยอมเป็นนายทุนก่อสร้างให้แล้วเสร็จ โดยจะเป็นผู้หาเงินทุนมาใช้ในการก่อสร้างจนแล้วเสร็จ แลกกับการโอนหุ้นเพิ่มเติม พร้อมกับกำหนดการก่อสร้างจะต้องแล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิ.ย.2549 หากไม่เสร็จจะยินยอมให้ปรับในอัตราร้อยละ 0.1 ต่อวันของมูลค่าการก่อสร้าง

นอกจากนี้ PLE ยังได้ทำการเปลี่ยนแปลงบัญชีผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดเป็นของตนเองคือ จำนวน 85% เหลือไว้ให้กลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมเพียง 15% และเมื่อเดือนมิ.ย.2549 ได้ขอกู้เงินจากแบงก์กรุงศรีอยุธยาจำนวน 500 ล้านบาท โดยเอาหุ้นของ BMP เป็นหลักประกัน มีผู้ค้ำประกันเงินกู้คือ PLE, นางมะลิ เอกอริยะกุล และลูกชาย 2 คน คือ นายกฤษณะ วนิชชีวะ กับนายกฤษฎา วนิชชีวะ โดยในกลุ่มของนางมะลิ เป็นการค้ำประกันส่วนตัว และยังได้มีการเพิ่มทุนเฉพาะกลุ่มของตน จนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ PLE สูงถึง 97%

"PLE ได้แสดงเจตนาชัดเจน ว่าต้องการตึกแห่งนี้เป็นของตนเอง โดยไม่ยอมเจรจาว่าตนเองมีค่าก่อสร้างเท่าไหร่ และยังไม่ยอมเสียค่าปรับในส่วนที่ตนเองทำการก่อสร้างล่าช้า ก่อนหน้านี้เคยขอซื้อสิทธิจากคุณมะลิมาแล้ว จำนวน 250 ล้านบาท ตกลงกันได้แล้ว แต่ทางฝ่าย PLE ก็ไม่ยอมจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้ กระทั่งเมื่อเดือนตุลาคม 2550 จะขอจ่ายค่าสิทธิให้คุณมะลิ จำนวน 50 ล้านบาท ซึ่งทางคุณมะลิก็ไม่ยอม เพราะผิดข้อตกลง" แหล่งข่าวกล่าว

ในระหว่างที่ขอซื้อสิทธินั้น ทาง PLE ยังได้ทำการปรับปรุงเพิ่มพื้นที่ก่อสร้าง ด้วยการเปลี่ยนแบบไปจำนวนมาก และไม่ได้ทำการปรึกษาทางคุณมะลิ ทำให้มีพื้นที่ก่อสร้างมากขึ้น ค่าก่อสร้างก็เพิ่มขึ้น จนปัจจุบัน BMP มีหนี้ค่าก่อสร้างตามที่ PLE เรียกร้องคือ 1,300-1,400 ล้านบาท ทั้งที่ก่อนหน้าได้ใช้เงินกู้จากธนาคารกรุงศรี ไปจำนวน 500 ล้านบาท

"เท่าที่พูดคุยกับคุณมะลิ เอกอริยะกุล เธอยินดีที่จะจ่ายค่าก่อสร้างให้กับ PLE แต่ขอให้คิดราคาค่าก่อสร้างด้วยราคาที่เป็นธรรม และขอให้คิดค่าเสียหายในส่วนที่การก่อสร้างมีความล่าช้า ไม่เป็นไปตามข้อตกลง เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2549 ให้กับเราด้วย เพราะการก่อสร้างล่าช้า ทำให้เราเสียประโยชน์ที่จะนำพื้นที่ดังกล่าวไปทำธุรกิจ เพื่อนำเงินมาจ่ายให้กับ PLE และยังเป็นการชดเชยกับความเสียหายในส่วนของสัญญาที่ขาดไป 2 ปี"

จากข้อมูลทางการเงินในการก่อสร้าง ข้อตกลงเหมาจ่ายทั้งหมด 885 ล้านบาท, ค่า Main Equipment จำนวน 12 ล้านบาท, ค่าลิฟท์ บันไดเลื่อน 30 ล้านบาท, ค่าประกอบบ้านทรงไทยพร้อมวัสดุเพิ่มเติม 15 ล้านบาท รวมแล้วเป็นเงิน 942 ล้านบาท บวกภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จำนวน 65.94 ล้านบาท รวมเป็นค่าก่อสร้างทั้งสิ้น 1,007.94 ล้านบาท และเมื่อหักเงินกู้จากธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวน 450 ล้านบาท ทำให้คงเหลือเงินคงค้างจำนวน 557.94 ล้านบาท ขณะเดียวกัน PLE ได้ฟ้องร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ให้ทาง BMP ต้องชำระหนี้จำนวน 1,540.64 ล้านบาท และนางมะลิ เอกอริยะกุล ได้แย้งต่อศาลว่า ยอดหนี้ค้างชำระที่ควรจะเป็นก็คือ 557.94 ล้านบาท และต้องมีค่าปรับที่การก่อสร้างล่าช้าอีกประมาณ 3 ปี ในอัตรา 0.1% ต่อวันอีกด้วย

"ที่ผ่านมาศาลได้นักไกล่เกลี่ยแล้ว แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ รวมทั้งยังมีเรื่องที่กำลังอยู่ระหว่างฟ้องร้องกันในศาลอีกหลายคดี โดยเฉพาะการดำเนินงานของ PLE ที่เข้ามาถือหุ้นใหญ่ แล้วจัดหาทีมผู้บริหารมาบริหารโครงการ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และยังมีการเพิ่มทุนกันเอง จนทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นเดิมคือ กลุ่มของนางมะลิ เอกอริยะกุล และลูกชาย เหลือสัดส่วนการถือหุ้นเพียง 3% โดยกลุ่มของ PLE ถือหุ้นในอัตรา 97% รวมทั้งการปรับเปลี่ยนแบบแปลนการก่อสร้างทั้งหมด หากไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารโครงการจะเป็นภาระกับ PLE เอง และมาคุยกันถึงหนี้ค้างชำระในราคาที่เหมาะสม ทุกอย่างจะได้จบ"

อนึ่งโครงการบำรุงเมืองพลาซ่า ทางสภากาชาดไทยได้ตรวจรับมอบอาคารและอนุญาตให้ BMP เปิดใช้อาคารได้ ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2551 นอกจากนั้นทางกรุงเทพมหานครได้อนุมัติให้เปิดใช้อาคารได้ตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2550 ปัจจุบันสามารถเข้าดำเนินการได้ปกติ เพียงแต่มีหลายเรื่องที่อยู่ระหว่างการตัดสินของศาล ทำให้การบริหารโครงการไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.