ถ้าไม่นับเรื่องโรคเอดส์แล้ว เรื่องที่จัดว่าเป็น "ทอล์ค ออฟ เดอะ
ทาวน์" คงจะเรื่อง "ล็อคเลข"
ท่ามกลางข่าวเรื่องล็อคเลขที่อื้อฉาว มีคน ๆ หนึ่ง ซึ่งโดดเด่นเป็นพิเศษ
ไม่ใช่เชิดไชย นวะมะรัตน์ อดีตผู้อำนวยการกองสลากผู้ปฏิเสธตลอดมาว่า "ไม่มีการล็อคเลข"
ไม่ใช่ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลัง สังกัดพรรคชาติไทยคนที่ไปแถลงข่าวเปิดโปงการล็อคเลข
ตัดหน้า รมต.พรรคประชาธิปัตย์ไปเส้นยาแดงผ่าแปด
ไม่ใช่สินชัย โพธิ์รัง ประธานสหภาพพนักงานสลากกินแบ่ง ฯ ที่นั่งเบนซ์
แต่เป็นโกศล เพ็ชร์สุวรรณ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ซึ่งไม่น่าจะเป็นคนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ "ผมไม่เคยเข้าไปเกี่ยวข้องกับวงการนี้เลย
ล็อตเตอรี่ก็ไม้เคยซื้อ หวยก็ไม่เคยเล่นกับเขา" โกศลออกตัว
โกศลได้ปริญญาตรีและปริญญาเอกทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้าจาก IMPERIAL COLLEGE
OF SCIENCE AND TECHNOLOGY เก่งขนาดไม่ต้องเรียนปริญญาโทเพราะได้เกียรตินิยมอันดับหนึ่งปริญญาตรี
โกศลเป็นอธิการบดีมาตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2529 นี้ เป็นคนที่น่าจับตาอยู่ไม่น้อย
เขาเคยเข้าไปร่วมกับสภาวิจัยและสามเหล่าทัพ ร่วมกันทำระบบนำวิถีเห่าฟ้า
เห่าไฟ จรวดเมดอินไทยแลนด์
ประดิษฐ์เครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกร่วมกับ ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม เมื่อปี
2526 เขาได้รับรางวัลนักวิจัยและนักประดิษฐ์ดีเด่น จากสภาวิจัยและไอบีเอ็มจากการประดิษฐ์เครื่องวัดความชื้นข้าวเปลือกร่วมกับดอกเตอร์คนเดิม
"ลาดกระบังสนใจโครงการสร้างขวัญและกำลังใจโดยมองไปข้างหน้า" เขาเล่าให้ฟังวันที่
16 ตุลา วันที่ประดิษฐกรรมชิ้นล่าสุดที่ฮือฮาที่สุดปฏิบัติงาน
วงล้อออกล็อตเตอรี่แบบใหม่ ที่เรียกว่า "ซีทรู" เข้าทดสอบแทนของเก่าที่ถูกล็อค
และเป็นที่พอใจทุกฝ่าย
"เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่าวันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม นักข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งมาถามผมว่าถ้าให้ออกแบบวงล้อใหม่จะเอาไหม
ทำให้ซับซ้อน ทันสมัยไปเลย ผมบอกไม่ได้ ถ้าผมจะทำผมต้องทำให้มันง่ายที่สุด
เพราะปัญหามันอยู่ที่ศรัทธา ผมจะสร้างให้ง่ายที่สุดโจ่งแจ้งที่สุด"
โกศลเท้าถึงความเป็นมาของกระบวนการออกวงล้อใหม่ให้ฟัง
หลังจากนั้นข่าว 9 ก็มาสัมภาษณ์ อย่างที่ในหนังสือพิมพ์ลง แล้วสมหมาย โชติรักษ์
รองผู้อำนวยการกองสลากโทร.มาแล้วโกศลก็ไปพบกับเมธี ภมรนานนท์ที่กองสลาก
เมธีให้ทำเลย โกศลขอเวลา 2 อาทิตย์กับการทำ 15 วงล้อแต่กองสลากต้องการให้เสร็จภายใน
2 อาทิตย์
และโกศลให้อาจารย์ภาควิชาศิลปอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 10 ท่านทุ่มเทกันทำวงล้อตัวอย่างใหม่เสร็จภายใน
24 ชั่วโมง
แล้ววันที่ 13 ตุลาคม วงล้อแบบใหม่ทั้ง 15 วงล้อเสร็จสามารถส่งมอบภายในวันที่
14 วันที่ 15 ก็สามารถทดลองออกวงล้อได้
วงล้อใหม่ซึ่งก็ไม่ได้แตกต่างกับวงล้อเก่าเท่าใดนัก จะมีแตกต่างก็เพียงเป็นพลาสติกโปร่งใสเท่านั้น
แต่ก็ยังมีส่วนที่เป็นโลหะอยู่ "ผมว่ามันก็ยังล็อคกันได้อยู่นั่นแหละ
ภายใน 3 เดือนนี้ โดยใช้ใยแสงซึ่งเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง" โกศล พูดถึงวงล้อใหม่
โครงการที่โกศลให้ความเห็นคือ "ผมอยากให้มีการวิจัยตลาดว่าชาวบ้านชอบวงล้อแบบใด
ให้เปลี่ยนวงล้อไปเรื่อย ๆ ถ้ามันล็อคได้ได้อีกก็ให้มันรู้ไป"
วงล้อตัวหนึ่งใช้เงินเกือบหมื่นบาท 15 วงก็ประมาณ 150,000 บาท โกศลกล่าวว่าเทคโนลาดกระบังทดลองจ่ายไปก่อน
โกศลนั้นนับว่าไวมากกับการเข้ามาช่วยกองสลากไว้ในครั้งนี้ และก็นับว่าเขาเสี่ยงมากกับการที่สถาบันการศึกษาเข้ามาเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าเป็น
"การพนันโดยรัฐบาล" ซึ่ง "ผมก็รู้ว่าจะต้องถูกโจมตีเรื่องนี้แต่ว่าเราต้องเข้ามาช่วยเพราะไม่ทำคนอื่นก็ทำ
แล้วอาจจะเกิดปัญหาได้อีก"
เรียกว่างานนี้โกศลเสียสละ โดยไม่ได้หวังผล เพียงแต่ "ถ้าทางกองสลากเห็นว่าความรู้ทางเทคโนโลยีมีความจำเป็นและสามารถช่วยเหลือได้ในยามยาก
รายได้อันมหาศาลของกองสลากก็น่าที่มาอุดหนุน เจียดเป็นกองทุนให้สถาบันศึกษาทางด้านการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีบ้าง"
โกศลตอบท้ายอย่างเสือปืนไว