คณะกรรมการเจ้าหนี้ เมินข้อเสนอผู้บริหารแผนฯทีพีไอ ที่ขอลดการจ่ายดอกเบี้ย ลงกว่า
100 ล้านบาท/เดือน จากเดิมที่ต้องชำระประมาณ 320 ล้านบาทหรือ 8 ล้านเหรียญ แม้จะยื่นข้อเสนอทยอยจ่ายดอกเบี้ยย้อนหลังจนถึงเม.ย.
อ้างไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการ แถมยังไม่รับปากปล่อยเครดิตไลน์
80 ล้านเหรียญภายในเดือนนี้ตามที่ทีพีไอร้องขอด้วย
วานนี้ (18 ก.ย.) คณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
จำกัด (มหาชน) (TPI) โดยมีพล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ เป็นประธานฯ ได้ลงนามสัญญาว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน
คือ บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ Morgan Stanley Dean Witter Asia (Singapore) วงเงิน
5 ล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัทที่ปรึกษาทางเทคนิค คือ บริษัท เอบีบี จำกัด วงเงิน
1.1 ล้านเหรียญ
นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธาน เจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย
จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าในการหารือร่วมกับคณะกรรมการเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 17 ก.ย.ที่ผ่านมา
ทางผู้บริหารแผนทีพีไอได้เสนอที่จะชำระดอกเบี้ยให้เจ้าหนี้ในกลุ่ม Tier1 งวดก.ย.
พร้อมดอกเบี้ยย้อนหลัง นับจากบริษัทฯระงับการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้มาตั้งแต่เดือนเม.ย.
2546 ในช่วงที่นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ เป็นผู้บริหารแผนฯชั่วคราว
ผู้บริหารแผนทีพีไอได้เสนอขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยจ่ายลงจากเดิมที่ต้องชำระในอัตรา
MLR+2% หรือประมาณเดือนละ 8 ล้านเหรียญสหรัฐ (320 ล้านบาท) เพื่อให้บริษัทไม่มีปัญหาสภาพคล่องและทำให้การบริหารงานสะดวกขึ้น
เช่น หากจะชำระดอกเบี้ยในอัตรา MLR ทีพีไอต้องชำระดอกเบี้ยเดือนละ 230 ล้านบาท
ลดลงไปเกือบ 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ ทีพีไอได้เตรียมที่จะชำระดอกเบี้ยจ่าย ในงวดแรกเริ่ม สิ้นก.ย. นี้ พร้อมดอกเบี้ยค้างจ่าย
2 เดือน คือ ก.ค.-ส.ค. 46 งวดถัดไปจะจ่ายดอกเบี้ยของเดือนต.ค. พร้อมดอกเบี้ยค้างจ่ายเดือนมิ.ย.
46
งวดเดือนถัดไป จ่ายดอกเบี้ยของเดือนพ.ย. และดอกเบี้ยค้างจ่ายพ.ค. 46 และงวดธันวาคม
ก็จะจ่ายดอกเบี้ยพร้อมดอกเบี้ยค้างจ่ายเดือนเม.ย. 46 เนื่องจากหนี้ทีพีไอมีทั้งหมด
2,800 ล้านเหรียญสหรัฐ มีหลายสกุลเงิน ดังนั้นการขอปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะมีความแตกต่างกันไป
ซึ่งยังไม่ทราบว่าเจ้าหนี้จะเห็นด้วยหรือไม่
นายปกรณ์ กล่าวต่อไปว่า ทีพีไอยังได้ขอให้คณะกรรมการเจ้าหนี้ปล่อยเงินทุนหมุนเวียน
(เครดิตไลน์) จำนวน 80 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากได้ระงับการปล่อยเงินทุนหมุนเวียน
มาตั้งแต่นายประชัยได้รับแต่งตั้งให้เข้ามาเป็น ผู้บริหารแผนชั่วคราวเมื่อวันที่
21 เม.ย.ที่ผ่านมา คาดว่าเจ้าหนี้จะอนุมัติให้วงเงินดังกล่าวในเดือนนี้ เพื่อนำมาเป็นเงินทุนในการสั่งซื้อวัตถุดิบ
ทำให้บริษัทฯมีสภาพคล่องและรายได้เพิ่มสูงขึ้นเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ย
เจ้าหนี้ยังไม่ปล่อยเครดิตไลน์
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเจ้าหนี้ กล่าวว่าทางทีพีไอได้เสนอขอปรับลดการจ่ายดอกเบี้ยเจ้าหนี้ในกลุ่ม
Tier 1 ลงจากเดิมจ่าย MLR+2% ลงเหลือ MLR-1% โดยระบุว่าบริษัทมีเงินสดไม่เพียงพอ
โดยดอกเบี้ยส่วนต่างที่ค้างไว้จะมาพิจารณาภายหลังจากที่ปรึกษาฯศึกษาแก้ไขแผนฟื้นฟูฯเสร็จแล้ว
แต่คณะกรรมการเจ้าหนี้เห็นว่า ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการรวมทั้ง
การขอปรับลดอัตราดอกเบี้ย ลงในแต่ละสกุลเงินมีความไม่เท่าเทียมกัน จึงให้ทีพีไอกลับไปทำข้อเสนอมาใหม่ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
ส่วนการปล่อยเครดิตไลน์ จำนวน 80 ล้าน เหรียญสหรัฐนั้น ทางคณะกรรมการเจ้าหนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะปล่อยกู้ภายในก.ย.นี้
เนื่องจากเห็นว่ากระชั้นชิดมาก เพราะต้องขอความเห็นชอบจากเจ้าหนี้อื่นๆ จึงให้ทีพีไอไปศึกษาว่ามีช่องทางอื่นนอกเหนือจากการขอวงเงินเครดิตไลน์
"ทีพีไอได้เสนอขอให้คณะกรรมการเจ้าหนี้ปล่อยเครดิตไลน์ เพื่อนำมาใช้ซื้อวัตถุดิบ
ซึ่ง จะทำให้บริษัทฯมีรายได้เพียงพอที่จะนำมาชำระคืนดอกเบี้ยในอัตราที่เสนอนั้น
แต่เจ้าหนี้ต้องการภาพที่ชัดเจนกว่านี้ เช่น การให้เงินหมุนเวียน ดังกล่าว ทำให้ทีพีไอมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น
สร้างรายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร รวมถึงความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยด้วย ซึ่งคณะกรรมการเจ้าหนี้จะทำหนังสือถึงทีพีไอเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องดังกล่าวในวันศุกร์นี้"
อย่างไรก็ตาม หากเจ้าหนี้ยังไม่ปล่อยสินเชื่อ เงินทุนหมุนเวียน เชื่อว่าทีพีไอจะนำกระแสเงินสด
ในบริษัทฯที่มีอยู่ มาสั่งซื้อน้ำมันดิบแทน ทำให้ตัวเลขการจ่ายดอกเบี้ยที่เสนอต้องลดลงมา
เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาพคล่อง
ขีดเส้นได้ข้อสรุป 3 เดือน
นายพละ สุขเวช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด
(มหาชน) กล่าวว่ากำหนดระยะเวลาให้ที่ปรึกษาเข้ามาทำงานโดยให้ข้อสรุปภายใน 3 เดือน
ซึ่งที่ปรึกษาทั้ง 2 ด้านจะทำงานควบคู่กันไป หลังจากนั้นจะพิจารณาว่าด้านเทคนิคจะมีการปรับปรุงอย่างไรให้กิจการทีพีไอที่มีทั้งโรงกลั่นน้ำมันและปิโตรเคมี
ปรับปรุงสร้างรายได้ผลตอบแทนให้ดีที่สุด โดยที่ปรึกษาทางการเงินจะนำเรื่องเทคนิคมาประกอบการพิจารณาการปรับปรุงด้าน
การเงิน
หลังจากนั้นคณะผู้บริหารแผนฯจะนำเรื่องทั้งหมดมาทำแผนฟื้นฟูกิจการ เพื่อนำไปเจรจากับเจ้าหนี้ต่อไป
นายพละ กล่าวว่า โรงกลั่นทีพีไอวางแผนการกลั่นนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ธันวาคมนี้
เฉลี่ยประมาณ 1.45 แสนบาร์เรลต่อวัน โดยในเดือนสิงหาคมบริษัทมีกำไรก่อนหักค่าดอกเบี้ย
ค่าเสื่อมและภาษี (EBITDA) สูงสุดนับตั้งแต่ทีมผู้บริหารแผนฯเข้ามาบริหารงาน อยู่ที่ประมาณ
1 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โรงกลั่นทีพีไอจะหยุดซ่อมบำรุงชั่วคราว ทำให้กำลังการกลั่นลดลง
ซึ่งในปีที่แล้วที่มีการซ่อมบำรุงโรงกลั่น ผลิตเพียง 6 หมื่นบาร์เรล/วัน ดังนั้นในเดือนตุลาคมนี้
โรงกลั่นทีพีไอจะเดินเครื่องสูงกว่า 1.5 แสนบาร์เรล/วัน