|
3กูรูมองหุ้นครึ่งปีหลังผันผวน อย่าเพิ่งแน่ใจเศรษฐกิจฟื้นจริง
ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 กรกฎาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
3 กูรูประเมินหุ้นครึ่งปีหลังยังผันผวน เหตุภาพรวมยังไม่มีความชัดเจนว่าจะฟื้นได้จริง โอกาสถูกเทขายทำกำไรยังมีอยู่ ประเมินเคลื่อนไหวในกรอบ 550-600 จุด
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ทิสโก้ ประเมินว่า ทิศทางตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังยังมีความผันผวน โดยเฉพาะในไตรมาส 3 ที่ดัชนีมีแนวโน้มจะปรับตัวลดลง เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ความไม่ชัดเจนว่าจะสามารถฟื้นได้จริง รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยในอนาคตที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากการที่รัฐบาลหลายประเทศยังคงมีแผนจะกู้เงินและการออกพันธบัตรเพื่อประคองสถานะประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ เพราะฉะนั้นมีโอกาสที่หุ้นจะถูกเทขายเพื่อทำกำไรเป็นปัจจัยกดดันอยู่ และจากปัจจัยดังกล่าวเชื่อว่าจะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยด้วย
สาเหตุที่ทำให้ดัชนีสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงที่ผ่านมา เกิดจากกระแสเงินลงทุนที่ไหลเข้ามาในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งสภาพคล่องในระบบยังคงมีอยู่มาก อย่างไรก็ตามมองว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้ามาในช่วงนี้เป็นการพักฐานหรือไหลเข้ามาเพียงระยะสั้นๆ และมีโอกาสที่ดัชนีจะขึ้นไปทดสอบระดับสูงสุดที่ 630 จุดอีกครั้ง ทั้งนี้คาดว่าปลายปีดัชนีจะแตะที่ระดับ 550 จุด เนื่องจากเชื่อว่าจะมีการเทขายทำกำไรเป็นระยะ เพราะเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่ชัดเจน โดยจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจโลกน่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4/2552
ทั้งนี้หากมองภาพรวมปัจจุบันถือว่าแนวโน้มเศรษฐกิจโลกดูดีขึ้นจากตัวเลขบางตัวมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้น แต่ถือว่ายังอยู่ในภาวะถดถอย ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะยังมีความผันผวน ตราบใดที่เศรษฐกิจสหรัฐยังไม่มีความชัดเจนว่าจะฟื้นตัวอย่างแท้จริงหรือไม่ จึงต้องจับตาฐานะสถาบันการเงินสหรัฐว่าจะมีความมั่นคงขึ้นมากน้อยแค่ไหน และจะเริ่มปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ภาคธุรกิจในระยะต่อไปได้หรือไม่ หากไม่สามารถดำเนินการได้ความคาดหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืนคงเป็นไปไม่ได้
หากเศรษฐกิจสหรัฐยังไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง ก็มีโอกาสที่เศรษฐกิจจะปรับตัวลดลงได้อีกรอบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่มีโครงสร้างอิงอยู่กับเศรษฐกิจต่างประเทศ เพราะไทยมีการส่งออกไปยังต่างประเทศสูงถึง 70% ของจีดีพี และท่องเที่ยว 10% อีกของจีดีพี หากเศรษฐกิจโลกไม่ฟื้นเศรษฐกิจไทยก็ฟื้นลำบาก และยังขึ้นกับว่ารัฐบาลจะสามารถผลักดันโครงการไทยเข้มแข็ง 2555 ตามนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน
ส่วนสถานการณ์การเมืองขณะนี้มีความเสี่ยงมากขึ้นกว่าในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะหากมีการเปลี่ยนรัฐบาล เพราะจะเกิดความกังวลมากขึ้น และหากไม่มีรัฐบาลมาผลักดันโครงการต่างๆ ให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่เป็นช่วงตกต่ำมาก จะทำให้ทุกอย่างชะงักทันที ส่วนแผนการออกพันธบัตร 5 หมื่นล้านบาทคงไม่มีปัญหา เพราะสภาพคล่องในระบบมีมาก ซึ่งมองว่าในระยะต่อไปอัตราดอกเบี้ยจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงจากการที่รัฐบาลทั่วโลกออกพันธบัตรจำนวนมากเพื่อนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจ
ด้าน ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้นหรือลงประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ ราคาน้ำมัน ทิศทางค่าเงินดอลลาร์ และ ตลาดหุ้นเอเชีย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปัจจัยที่ยังไม่ชัดเจนในการฟื้นตัวจริงของเศรษฐกิจสหรัฐการลงทุนที่ดีควรที่จะกระจายการลงทุนประเภทอื่นนอกเหนือจากการถือเงินสดและหุ้น เช่น ทองคำ น้ำมัน หุ้นในต่างประเทศ อย่างตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิค เป็นต้น
"ราคาหุ้นในปัจจุบันถือว่าสะท้อนการปรับตัวรับข่าวไปก่อนหน้านี้แล้วที่ปรับขึ้นกว่า 40% และเท่าที่ดูปัจจัยพื้นฐานการปรับขึ้นที่ผ่านมาก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริงเพราะเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยไม่ได้ฟื้น แต่กลับเป็นการปรับขึ้นจากราคาน้ำมันและค่าเงินที่อ่อนค่าลงมากกว่า"
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 3.3% โดยไตรมาส 2/2552และ 3/2552ยังมีตัวเลขติดลบแต่จะปรับตัวดีขึ้น และเริ่มพลิกกลับมาเป็นบวกในไตรมาส 4/2552ประมาณ 1-2% พร้อมทั้งประเมินว่าในปีหน้าเศรษฐกิจมีโอกาสที่จะเติบโต 3.5% จากปัจจัยสำคัญคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ระยะยาวมาตรการดังกล่าวอาจไม่ได้ส่งผลอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามภาคการส่งออกที่ยังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากมีสัดส่วนสูงถึง 65% ของจีดีพี ซึ่งผู้ประกอบการวควรมีการปรับปรุงกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจโดยการสร้างตลาดการส่งออก รวมถึงรัฐบาลควรมีมาตรการที่สร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดส่งออกได้ ขณะที่กระแสความแบ่งแยกทางการเมือง ซึ่งถือเป็นปัญหาแม้ที่ผ่านมาจะมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ก็ยังไม่สามารถช่วยแก้ปัญหา
"สิ่งที่ต้องติดตามซึ่งหากเศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวกลับมา เศรษฐกิจไทยอาจจะไม่เติบโตตามทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจโลกจากในอดีตในปี 1987-1994 เศรษฐกิจของไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 9% สูงกว่าเศรษฐกิจโลกที่เติบโต 3% แต่เมื่อปี 2549 อัตราเติบโตของเศรษฐกิจไทยได้มีทิศทางเติบโตน้อยกว่าเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจไทยเติบโตที่ 4.2% ขณะที่เศรษฐกิจโลกเติบโต 4.5%"
ด้าน ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในครึ่งปีหลังขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แมัที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 40% แต่ก็ยังอ่อนไหวต่อปัจจัยที่เข้ามากระทบ โดยเชื่อว่าดัชนีจะปรับตัวลดลงอีกครั้ง แต่ในช่วงสั้นให้พิจารณาจากงบไตรมาสมาส 2 ซึ่งจะเป็นตัวชี้ชะตาในช่วงสั้น
ทั้งนี้ในส่วนอัตรากำไรสุทธิต่อหุ้น(EPS) ของบริษัทจดทะเบียนในปีนี้เฉลี่ยจะอยู่ที่ 53% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ติดลบ 27% เนื่องจากปีก่อนได้รับผลกระทบจากธุรกิจน้ำมันขาดทุนจากสต็อกในปลายปี แต่ขณะนี้ได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และประเมินในปีหน้า EPS จะเติบโตประมาณ 12%
หากประเมิน EPS เฉลี่ยกลุ่มในปีนี้ฝ่ายวิจัยมองว่ากลุ่มที่ให้กำไรสูงสุด 10 อันดับแรก คือ กลุ่มพลังงาน 82% , กลุ่มวัสดุก่อสร้าง 60% , กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 52% , กลุ่มสื่อสาร 41% , กลุ่มสถาบันการเงิน 31%,กลุ่ม ICT 18%, กลุ่มบันเทิง 17% ,กลุ่มอาหาร 10% ,กลุ่มโรงพยาบาล 5% และกลุ่มท่องเที่ยว 3%
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในระยะยาว ให้มองหุ้นที่มีการเติบโตสูง ผู้บริหารที่มีประสิทธิภาพ ประกอบกับต้องมีการพิจารณาจังหวะการลงทุนให้เหมาะสม โดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางมีความน่าสนใจมีพื้นฐานดี ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้นมองว่าน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 550-600 จุด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|