พลิกโผเปิดซองสายสีม่วง กลุ่ม PAR เบียด ITD คว้าสัญญา 3


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลเปิดซองสัญญา 3 สายสีม่วงพลิก กลุ่ม PAR ตัดหน้า ITD ในราคา 6,399.67 ล้านบาท ต่ำกว่าเพียง 479 ล้านบาท รฟม. ยันวงเงินก่อสร้างยังอยู่ในกรอบ 36,000 ล้านบาท คมนาคมฯ จี้ต้องเจรจาราคาให้ต่ำที่สุด

กลายเป็นเรื่องพลิกโผ เมื่อมีการเปิดเผยผลการประกวดราคาในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ สัญญา 3 งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงและอาคารจอดรถ ประกอบด้วยงานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่บางใหญ่ อาคารจอดแล้วจร 4 แห่ง ได้แก่ สถานีแยกนนทบุรี 1 สถานีท่าอิฐ สถานีสามแยกบางใหญ่ และสถานีคลองบางไผ่ ปรากฎว่า กลุ่มพีเออาร์ จอยท์เวนเจอร์เป็นผู้ชนะการประมูลไปในราคา 6,399.67 ล้านบาท

จากก่อนหน้านี้ที่มีการคาดการณ์ว่า ตัวเก็งที่น่าจะชนะสัญญาดังกล่าวน่าจะเป็นบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) (ITD) แต่เมื่อเปิดซองพบว่า ITD เสนอราคา 6,878 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่ม PAR เป็นผู้เสนอราคาต่ำที่สุด โดยต่ำกว่า ITD ถึง 479 ล้านบาท ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่เข้าร่วมประมูล ได้แก่ กลุ่ม CKTC(ช.การช่างและโตคิว คอนสตรัคชั่น จากญี่ปุ่น) เสนอราคา 7,636 ล้านบาท และกลุ่มทาเกนากะ-ฤทธา จอยท์เวนเจอร์ เสนอราคา 8,809 ล้านบาท

ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มพีเออาร์ จอยท์เวนเจอร์ ประกอบด้วย บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ASCON) บริษัท รวมนครก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งในอดีตแอสคอนเคยเข้าไปพัวพันกับชื่อของ 'เจ๊แดง-เยาวภา วงศ์สวัสดิ์' น้องสาวอดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถือหุ้นรายหนึ่งในบริษัท ในขณะที่กลุ่มบริษัท CKTC มีกลุ่ม ช.การช่าง (CK) ของตระกูลศรีวิศวเวทย์เป็นตัวนำ และมีเบื้องหลังเป็นหนึ่งในแกนนำที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ชนะการประมูลก่อสร้างในสัญญา 1 โครงสร้างยกระดับส่วนตะวันออก ระยะทาง 12 กม. ในราคา 14,842 ล้านบาทไปแล้ว งานที่เหลือจึงมีการเก็งกันว่าน่าจะตกเป็นของ ITD ของตระกูลกรรณสูต ซึ่งเป็นที่รู้ดีว่าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ของวงการ มีประสบการณ์จากงานราชการมากและส่วนใหญ่จะได้งานก่อสร้างโครงการใหญ่ของรัฐบาลทุกยุค เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ แต่สุดท้ายกลับพลิกโผตกเป็นของกลุ่ม PAR ที่เสนอราคาต่ำกว่าแทน

ชูเกียรติ โพธยานุวัตร ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่มวลชนกรุงเทพ (รฟม.) กล่าวว่า คณะกรรมการฯ จะทำการตรวจสอบและประเมินข้อเสนอราคาในรายละเอียดตัวเลขต่าง ๆ ที่ผู้รับเหมาเสนอมาว่า แต่ละรายการมีความถูกต้องหรือไม่ ก่อนจะเจรจาต่อรองราคา ทั้งนี้หลังจากเปิดองราคาครบทั้ง 3 สัญญา มั่นใจว่าจะสามารถเจรจาต่อรองราคาวงเงินก่อสร้างให้อยู่ในกรอบวงเงิน 36,500 ล้านบาทตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้

ก่อนหน้านี้โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ได้ผู้รับเหมาไปแล้ว 2 รายคือ กลุ่ม CKTC ที่มี ช.การช่างเป็นแกนนำ ได้งานในสัญญา 1 ราคา 14,842 ล้านบาท และบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (STEC) ของตระกูลชาญวีรกูล ได้งานในสัญญา 2 งานโครงสร้างยกระดับส่วนตะวันตก ในราคา 15,320 ล้านบาท

สำหรับสัญญา 4 ซึ่งเป็นงานระบบราง กรอบวงเงิน 4,000 ล้านบาท ต้องรอให้องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (ไจก้า) ยืนยันการให้กู้เงินกลับมายังกระทรวงการคลังก่อน จึงจะเปิดขายแบบและประกวดราคาได้ คาดว่าไจก้าน่าจะตอบกลับมาในเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งหลังจากนี้ รฟม. จึงจะเปิดขายแบบและประกวดราคาได้ ใช้เวลาในดำเนินการ 2-3 เดือนในการยื่นซองประกวดราคาเหมือนกับสัญญา 1-2-3 ส่วนระบบอาณัติสัญญาณต้องรอให้ ครม.อนุมัติ เพราะเป็นการลงทุนโดยเอกชน ในรูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชน (PPP)

ส่วนความคืบหน้าการเจราต่อรองราคาของสัญญา 2 คณะกรรมการฯ ได้ตรวจสอบรายการตัวเลขต่าง ๆ แล้วพบว่า มีความคลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย จากที่ราคาเสนอ 15,320 ล้านบาท เมื่อตรวจสอบตัวเลขที่ถูกต้อง คือ 15,314 ล้านบาท แต่ก็ไม่ส่งผลกระทบ เพราะยังเป็นตัวเลขราคาที่ต่ำที่สุดอยู่ โดยคณะกรรมการฯ ได้เริ่มเจรจากับซิโน-ไทยฯ แล้ว คาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ตามกรอบเวลาการเจรจากับผู้รับเหมาทั้ง 3 สัญญาจะเสร็จในช่วงกลางเดือน ก.ค. จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังกระทรวงคมนาคม นำเข้าที่ประชุม ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนจะมีการเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาในเดือน ส.ค. นี้ ทั้งนี้ยืนยันว่าวงเงินก่อสร้างทั้ง 3 สัญญาจะไม่เกินกว่ากรอบวงเงินโครงการที่รัฐบาลกำหนดไว้

ด้านโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า หลังจากที่เปิดสัญญาทั้ง 3 สัญญาแล้วในส่วนของงานโยธา ได้ให้นโยบายกับ รฟม. เร่งเจรจาต่อรองราคากับผู้รับเหมาในแต่ละสัญญา เพื่อให้รู้ว่าจะมีเหลือเงินมาลงทุนในระบบรางหรือไม่ ซึ่งถ้ามีเงินเหลือก็สามารถก่อสร้างได้ทันที โดยไม่ต้องขอเพิ่มวงเงิน ซึ่งเดิมตามนโยบายนายกรัฐมนตรีกำหนดไว้ที่ 36,500 ล้านบาท ซึ่งหาก รฟม.เจรจาต่อรองราคาครบทั้ง 3 สัญญา กระทรวงคมนาคมก็จะนำเสนอเข้า ครม.ทันที


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.