ข้าวถุงย้ายแนวรบ ฟัดเดือดในช่องทางดั้งเดิม


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(6 กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

* สมรภูมิข้าวถุงย้ายแนวรบ หลังถูกโมเดิร์นเทรดโขกสับจนทนไม่ไหว
* ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เนื้อหอม หลายค่ายรุมตอม เหตุผู้บริโภคชอบมากกว่า ทั้งราคาถูก ทั้งได้ของถูกใจ
* จับตาข้าวออร์แกนิค เซกเมนต์ใหม่ ที่กำลังโตขึ้นทุกวัน
* NURIZ เตรียมชิงตลาดข้าวอินทรีย์ด้วยสินค้า 3 รูปแบบ ชูคุณภาพ และราคาที่โดนใจกว่า

การแข่งขันในสมรภูมิข้าวถุง หากคิดเฉพาะในช่องทางการค้าปลีกสมัยใหม่ คาดว่าจะมีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทในแต่ละปี ชักไม่สนุกเสียแล้ว เมื่อผู้เล่นทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ที่แห่เข้าไปช่วงชิงยอดขายเริ่มออกอาการหน้าดำหน้าแดง อันเนื่องมาจากมาร์จิ้นที่นับวันจะยิ่งสาละวันเตี้ยลง เตี้ยลง จนแทบไม่เหลืออะไร ขณะเดียวกันยังเจอสินค้าเฮาส์แบรนด์ของยักษ์ค้าปลีกเข้ามาแข่งสู้ด้านราคาเข้าไปอีก ทำให้ค่ายยักษ์ใหญ่อย่าง ซี.พี.อินเตอร์เทรด เจ้าของแบรนด์ 'ตราฉัตร' เริ่มเบนเข็มหันไปเล่นในสนามที่เป็นช่องทางการค้าแบบดั้งเดิม หรือTraditional Trade แทน ซึ่งสอดรับกับผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้อข้าวจากยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เพิ่มขึ้นเช่นกัน

เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมามีการประเมินว่าตลาดข้าวถุงมีมูลค่าราว 6,000 ล้านบาท แต่ ณ วันนี้มูลค่าของตลาดกระโดดไปถึงหลักหมื่นล้าน เนื่องจากอัตราการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น กับราคาของข้าวถุงที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การแข่งขันที่รุนแรงอยู่แล้ว ยิ่งรุนแรงเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากมีแบรนด์เล็กแบรนด์น้อยเกิดขึ้นมากมายในตลาดเพื่อขอเอี่ยวในส่วนแบ่งตรงนี้ เพราะการจะเข้ามาเล่นในตลาดข้าวถุงไม่ใช่เรื่องยากเย็นอันใด ผู้แล่นแทบทั้งหมดล้วนแต่เป็นผู้ที่อยู่ในวงการข้าว และมีโรงสีเป็นของตนเองแทบทั้งนั้น โดยแบรนด์ที่ติด 1 ใน 5 ผู้นำตลาดในเวลานี้ก็คือ หงส์ทอง มาบุญครอง เกษตร ตราฉัตร และแสนดี

ตามปกติสินค้าข้าวถุง ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าประเภท Commodity แทบจะไม่มีความแตกต่างกันเท่าไร กลยุทธ์การตลาดหลักๆ จึงเน้นไปที่จุดขาย หลายปีที่ผ่านมาบรรดายี่ปั๊ว ซาปั๊ว จึงเป็นเจ้าของช่องทางจำหน่ายที่ได้รับการเอาอกเอาใจจากบรรดาผู้ประกอบการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงสีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กที่หันมาทำตลาดข้าวภายในประเทศมากขึ้น ด้วยการใช้ราคามาเป็นตัวดึงดูด และการทำ Trade Promotion เพื่อให้ร้านค้าผลักดันสินค้าของตนเอง แต่เมื่อช่องทางการค้าปลีกสมัยใหม่เข้ามามีบทบาท ทำให้รูปแบบการทำตลาดของ 'ข้าวถุง' เริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากหลายค่ายหันมาให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์มากขึ้น เพื่อตอกย้ำความมแตกต่างของแบรนด์ในใจผู้บริโภค มีทั้งที่นำในเรื่องของ Functional มาเล่น และการใช้ Emotionalมาเป็นตัวสร้างความต่าง ซึ่งประเด็นหลังนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก

ไม่ว่าจะเป็นผู้นำตลาดอย่างมาบุญครองก็มีการขายแบรนด์ ไอเดีย ที่ชัดเจนว่าเป็นข้าวที่แม่เลือก เพื่อที่จะยืนยันถึงคุณภาพว่า คนเป็นแม่แน่นอนย่อมรักลูก และอยากให้ลูกได้รับแต่สิ่งที่ดีๆ ยังเลือกข้าวมาบุญครอง จากเดิมที่เคยพูดถึงความสะอาดทุกถุง และหุงขึ้นหม้อ ขณะที่ข้าวตราเกษตรของค่ายไทยฮา เมื่อปีที่ผ่านมาก็เพิ่งยิงโฆษณาออกมา 3 เรื่อง คือ เคารพข้าว ฟ้าลิขิต และธรรมชาติ เป็นการพูดถึงความผูกพันระหว่างสังคมไทย และข้าว เป็นการตอกย้ำสโกแกนของแบรนด์ที่ว่า ปลูกด้วยรัก คัดด้วยใจ หรือโฆษณาชุดล่าสุดของข้าวตราฉัตร ชุดไปนอก ที่ต้องการบอกว่าข้าวตราฉัตร มาตรฐานแน่นอนทุกถุง เหมือนกันทั่วโลก เรียกว่าได้ใจคนดูไปไม่น้อย

เปลี่ยนสังเวียนจากสมัยใหม่สู่ดั้งเดิม

แต่ไหนแต่ไรมา การแข่งขันในสมรภูมิข้าวถุงเริ่มต้นฟัดกันในช่องทางยี่ปั๊ว ซาปั๊ว มาเก่าก่อน กระทั่งเมื่อโมเดิร์นเทรดข้ามชาติ อย่าง เทสโก้โลตัส บิ๊กซี คาร์ฟูร์ ยาตราทัพเข้ามาเมืองไทย สมรภูมิข้าวถุงจึงเปลี่ยนสังเวียนจากยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ไปสู่ห้างยักษ์ใหญ่ที่ดูทันสมัยกว่า เพราะเชื่อว่าจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ได้ดีกว่า สามารถโกยยอดขายได้เป็นกอบเป็นกำกว่า จากช่องทางจำหน่ายที่กระจายไปทั่วไปประเทศจนถึงปัจจุบันมีจำนวนหลายร้อยสาขา

'การเปิดตัวของแบรนด์เริ่มเยอะขึ้นตั้งแต่โมเดิร์นเทรดเข้ามา ส่งผลให้ข้าวเข้าไปในช่องทางนี้มากขึ้นด้วย เพราะผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมไปซื้อของในห้างมากขึ้น แบรนด์ก็ต้องตามเข้าไปมากขึ้นด้วย เพราะประโยชน์ของโมเดิร์นเทรดมันได้ในแง่ของวอลุ่ม เพราะสมมติขายในเทสโก้โลตัส ขายตู้มเดียวเสร็จ แต่มาร์จิ้นน้อยมาก เพราะผุ้ผลิตเขามีกำลังการผลิตมากเขาก็ไม่สามารถไปกระจายตามยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ซึ่งอาจจะมีเป็นพันๆราย เมื่อเทียบกับการเข้าโมเดิร์นเทรดเพียงแค่เจ้าเดียว' เป็นคำกล่าวของ เบ็ญจพร ตรังคานุกูลกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีไทยใหม่การเกษตร จำกัด

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าเมื่อโมเดิร์นเทรดเข้ามาบรรดาผุ้ประกอบการข้าวถุงทั้งหลายจะเลิกคบค้าสมาคมกับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เพราะถึงอย่างไรช่องทางแบบดั้งเดิมก็ยังมีอิทธิพลในการกระจายสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคสูงกว่า และกว้างขวางกว่า ทั้งเขตตัวเมือง ชานเมือง ไปยันชายแดน ทั้งที่เป็นร้านอาหารทั้งเล็ก และใหญ่ กระทั่งผู้บริโภคในครัวเรือนตั้งแต่ระดับกลางถึงระดับล่าง เนื่องจากข้าวที่ขายผ่านยี่ปั๊ว ซาปั๊วจะมีหลากหลายราคามากกว่า และราคาถูกกว่า เนื่องจากไม่ต้องเสียเงินกินเปล่า และค่าจีพี จึงสามารถนำเงินส่วนนี้มาลดให้กับยี่ปั๊ว ซาปั๊วได้

อีกทั้งการที่ผู้ประกอบการข้าวค้าขายกับช่องทางค้าแบบดั้งเดิมมานาน ทำให้มีความสัมพันธ์แนบแน่นกว่า และไม่ค่อยมีปัญหาเหมือนกับค้าขายกับโมเดิร์นเทรดอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ เพราะซื้อขายกับยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ไม่ต้องมีการเปิดใบสั่งของ และใช้เวลาเพียง 10-15 วันก็สามารถรับเงินได้ แต่ถ้าเป็นโมเดิร์นเทรด เครดิตเทอมประมาณ 45-60 วัน

ทั้งนี้ หากลองเดินเตร็ดเตร่เข้าไปในร้านแบบดั้งเดิมก็จะพบว่า ข้าวในร้านก็จะมีแบรนด์อยู่หลากหลายแบรนด์ แม้จะไม่เทียบเท่ากับในโมเดิร์นเทรด เพียงแต่ต่างขนาดกัน คือในร้านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว จะเป็นข้าวถุงขนาด 15, 24 และ 49 กิโลกรัม เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน คือ ถ้าเป็น 15 กิโลกรัม สำหรับกลุ่มที่ซื้อไปบริโภคเองที่บ้าน ส่วน 49 กิโลกรัมตอบสนองร้านอาหารหรือผู้ที่ซื้อไปหุงข้าวขาย เป็นต้น

ขณะที่โมเดิร์นเทรดเกือบทั้งหมดจะเป็นขนาด 5 กิโลกรัม ซึ่งข้อดีของการไปซื้อสินค้าที่ไปยี่ปั๊ว ซาปั๊ว คือ จะสามารถซื้อข้าวในลักษณะขายปลีกแบบเป็นกิโลได้ ซึ่งเหมาะกับคนที่ทำงานประเภทหาเช้ากินค่ำ นอกจากนี้การซื้อข้าวในยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ยังสามารถตอบสนองต่อผู้บริโภคบางกลุ่มที่ชอบดูข้าวว่าเมล็ดขาว เมล็ดหัก หรือเมล็ดสวยหรือไม่ ขณะที่ในโมเดิร์นเทรดไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ ด้วยทั้งหมดจะบรรจุอยู่ในถุง ทำให้ไม่สามารถรู้ได้ว่าข้าวในถุงมีคุณภาพดี หรือไม่ดีอย่างไร

แต่ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคหันไปซื้อข้าวกับยี่ปั๊ว ซาปั๊วมากขึ้น เป็นเพราะหลายคนมองว่าสินค้าในโมเดิร์นเทรดคุณภาพไม่ดีเหมือนเดิม ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะการที่เจ้าของสินค้าถูกบรรดาโมเดิร์นเทรดบีบคั้นต่างๆนานา ทั้งต่อรองราคา ทั้งโปรโมชั่น แต่ชนิดที่หนักที่สุดก็คือ ซื้อ 1 แถม 1 ทำให้เจ้าของสินค้าทนไม่ไหวต้องดิ้นหาทางรอด ด้วยการผสมข้าวนำข้าวหอมปทุมไปผสมกับข้าวหอมมะลิเพื่อให้ต้นทุนถูกลง เมื่อผู้บริโภคซื้อไปแล้วรู้สึกว่าไม่เหมือนเดิมจึงเปลี่ยนไปซื้อที่อื่นแทน เช่น โรงสีที่ซื้อจากแกษตรกรโดยตรง หรือร้านยี่ปั๊ว ซาปั๊ว เป็นต้น

แม้การเข้าไปขายในโมเดิร์นเทรดจะสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับแบรนด์ได้ และสามารถสร้างยอดขายที่ดีในระดับหนึ่งก็ตาม แต่จากการพูดคุยกับบรรดาผู้ประกอบการในวงการข้าวที่ค้าขายในโมเดิร์นเทรดกลับพบว่า หากเข้าโมเดิร์นเทรดเพื่อหวังทำกำไรนั้น ให้เลิกคิดได้เลย เพราะมาร์จิ้นข้าวถือว่าต่ำมากประมาณ 3% หากเป็นในภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดี หรือห้างต้องแข่งกันเพื่อดึงลูกค้าอย่างเช่นในปัจจุบันจะอยู่แค่ 1% แต่ถ้าได้ 5% ถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องเลี้ยงฉลองกันทั้งวงการ สิ่งที่ได้อย่างเดียวก็คือ ภาพลักษณ์เพราะผู้คนจะเห็น และรู้จักในแบรนด์

'ตอนนี้หงษ์ทอง กับตราฉัตร เริ่มกลับเข้าไปเจาะในเทรดดิชั่นแนล เทรด กันหมดแล้ว คือเหมือนกับว่าเข้าไปในโมเดิร์นเทรดแล้วโดนค่าจีพีกินจนไม่เหลืออะไรแล้ว ไหนต้องมาทำโปรโมชั่นอีก ตอนนี้โมเดิร์นเทรด เป็นตลาดที่ไม่น่าสนใจสำหรับข้าว ถามว่าอยากเข้าหรือไม่มีใครอยากเข้าไป แต่ต้องเข้าเพราะจำเป็นสำหรับภาพลักษณ์ของบริษัท ทำให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์ แล้วไปกระจายตามเทรดดิชั่นแนล เทรด เป็นลักษณะนี้มากกว่า' แหล่งข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการข้าว กล่าวกับ 'ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์'

ลุยหาช่องทางขายใหม่

ปัจจุบันตลาดข้าวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 เซกเมนต์หลัก คือ ตลาดบนมีสัดส่วนประมาณ 15-20% ผู้เล่นในตลาดนี้มีหงส์ทอง ตราฉัตร มาบุญครอง ตลาดระดับกลาง มีสัดส่วนประมาณ 40-50% และตลาดของสินค้าเฮาส์แบรนด์ ซึ่งเป็นตลาดที่กำลังโตวันโตคืน มีสัดส่วนประมาณ 20%

จากอัตราการเติบโต และสัดส่วนการครองตลาดของข้าวเฮาส์แบรนด์ที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับมาร์จิ้นของผู้ประกอบการข้าวรายอื่นที่ลดน้อยถอยลงทุกวัน ทำให้หลายรายเริ่มมองหาช่องทางในการขายอื่น ไม่ว่าจะเป็นข้าว 'พนมรุ้ง' ของค่ายชัยทิพย์ ที่หันไปลุยตลาดฟู้ดเซอร์วิส หรือกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร จนวันนี้อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมากที่สุดในตลาดนี้ โดยเน้นจุดเด่นในเรื่อง 'คุณภาพข้าวสายที่นุ่มอร่อยคงที่' ขณะเดียวกันก็ยังใช้ช่องทางจำหน่ายหลักๆอย่างโมเดิร์นเทรด และยี่ปั๊ว ซาปั๊ว โดยให้ล็อกซ์เล่ย์ เทรดดิ้ง เป็นผุ้กระจายสินค้าให้

สำหรับ ซี.พี. อินเตอร์เทรด เจ้าของแบรนด์ตราฉัตรก็เป็นอีกค่ายหนึ่งที่หันเข้าไปลุยในช่องทางจำหน่ายแบบดั้งเดิมอย่างหนักหน่วง ด้วยการอัด Trade Promotion ให้กับร้านค้าด้วยกลยุทธ์ซื้อ 6 ถุง แถม 1 ถุง และหากข้าวหมดยังสามารถนำถุงใส่ข้าวไปแลกเป็นเงินสดได้อีก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในวงการค้าส่ง จากเดิมวงการข้าวจะเน้นให้ส่วนลดกับร้านค้าเป็นหลัก นอกจากนี้ยังพยายามสร้างความสัมพันธ์อันดีกับบรรดาร้านค้าปลีก และค้าส่ง ด้วยการเข้าไปตกแต่งร้านโชห่วยขายข้าวที่มีอยู่กว่า 3 หมื่นแห่งทั่วประเทศให้ทันสมัยเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันตกแต่งไปแล้ว 1 หมื่นแห่ง แถมพ่วงด้วยการมีสัญลักษณ์ของข้าวตราฉัตรด้วย

การกระทำดังกล่าวของซี.พี. แม้ดูเหมือนจะเป็นการสร้าง CRM (Customer Relationship Management) กับกลุ่มผู้ค้า แต่เอาเข้าจริงๆกลุ่มร้านค้าหลายรายกลับกังวลว่าต่อไปร้านของตนจะถูกกลืนกลายเป็นร้านของ ซี.พี. จึงพยายามถ่วงดุลและสร้างอำนาจการต่อรองด้วยการไปหาสินค้าของรายอื่นเข้ามาขายเพิ่มขึ้นด้วย

สร้างเซกแมนต์ใหม่ ภาพลักษณ์ดี แถมมาร์จิ้นเยอะ

หากมองเข้าไปในตลาดข้าวช่วงเวลานี้ จะเห็นว่าหลายค่ายเริ่มพยายามที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับข้าว ด้วยการทำเป็นข้าวกล้อง ข้าวงอก เพื่อเจาะกลุ่มคนที่รักสุขภาพ หรือแม้แต่การทำแพกเกจจิ้งเป็นถุงฟอยด์ ถุงสุญญากาศ หรือถุงพลาสติกเคลือบ metallic สร้างความแตกต่าง และสร้างภาพลักษณ์เป็นสินค้าข้าวระดับพรีเมียม

แต่ข้าวที่กำลังมาแรงในช่วงเวลานี้เห็นจะไม่มีใครเกินข้าวอินทรีย์ ข้าวกล้อง ข้าวงอก ที่หลายค่ายกำลังฮิต และมีแนวโน้มการเติบโตสูง เนื่องจากสามารถทำราคาขายได้ดีกว่า และมีตลาดต่างประเทศคอยอ้าแขนรับเพียบ แม้วันนี้ในเมืองไทยจะเป็นนิช มาร์เก็ต แต่ก็มีผู้เล่นเข้ามาในตลาดมากหน้าหลายตา

สำหรับรายแรกที่กระโดดเข้ามาในตลาดข้าวออร์แกนิค หรือข้าวอินทรีย์ เป็นเจ้าแรกน่าจะได้แก่นครหลวงค้าข้าว เบอร์หนึ่งในบรรดาผุ้ค้าข้าวของเมืองไทย ซึ่งค่ายนี้ได้ลงทุนปลูกข้าวประเภทนี้เองบนพื้นที่กว่า 5 พันไร่ ขณะที่ค่ายอื่นๆจะใช้วิธีคอนแท็กต์ ฟาร์มมิ่ง ซึ่งเหตุที่หลายค่ายลงมาเล่นในข้าวประเภทนี้เนื่องจากต่างประเทศต้องการให้ไทยส่งเสริมการปลูกข้าวประเภทนี้เพื่อนำไปผลิตเป็นอาหารเด็ก ขณะเดียวกันผู้บริโภคในต่างประเทศเองก็ให้ความสนใจกับอาหารประเภทนี้มากเห็นได้จากการมีร้านขายสินค้าออร์แกนิคเปิดกันหลายแห่ง และแต่ละแห่งก็มีผู้เข้าไปซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ราคาสินค้าค่อนข้างสูง

นอกจากค่ายนครหลวงค้าข้าวและก็มีข้าวของค่ายอื่นๆ เช่น ค่ายเจียเม้ง เจ้าของแบรนด์หงษ์ทองก็กระโดดเข้ามาเล่นในตลาดนี้ด้วยเช่นกัน เพียงแต่วันนี้ยังไม่เด้น และดัง เท่ากับค่ายแรก ส่วนอีกค่านหนึ่งที่กำลังให้ความสนใจในตลาดนี้ก็คือ คือ ค่ายศรีไทยใหม่การเกษตร เจ้าของแบรนด์ 'ล้อบิน' ที่เป็นเจ้าตลาดข้าวเหนียว เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่ทำตลาดอยู่ในภาคอิสานมากว่า 50 ปี

'ตอนนี้ที่เป็นหลักคือล้อบิน มีมาร์เก็ตแชร์ประมาณ 1% เนื่องจากผู้เล่นเยอะมาก ไม่มีผู้นำ ขึ้นอยู่กับกำลังผลิตของแต่ละโรงสี ในภาคอิสานมีโรงสีอยุ่ประมาณ 2 หมื่นกว่าโรง ดังนั้นผุ้นำก็จะสลับกันขึ้นลง แต่ถ้าจะเทียบเป็นภาคแล้ว ข้าวเหนียวของภาคอิสานจะเยอะกว่าภาคอื่น' เบ็ญจพร ตรังคานุกูลกิจ กรรมการผู้จัดการ และ รัชนีนันท์ ตรังคานุกูลกิจ รองประธานกรรมการ บริษัท ศรีไทยใหม่การเกษตร จำกัด อธิบาย

หากมองการแข่งขันในตลาดข้าวเหนียวเมื่อเทียบกับข้าวเจ้าจะเห็นว่า ข้าวเหนียวจะไม่ค่อยมีการแข่งขันในช่องทางที่เป็นโมเดิร์นเทรดมากนัก เนื่องจากกลุ่มผุ้บริโภคข้าวเหนียวจะเป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะซื้อผ่านช่องทางขายแบบดั้งเดิม ทำให้เวลานำข้าวเหนียวไปขายผ่านโมเดิร์นเทรดมักจะขายไม่ค่อยได้ ส่วนมากมักจะเป็นข้าวเหนียวที่ใช้ทำขนม แต่ก็มีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้จากการที่ข้าวเจ้าพื้นที่ในการเพาะปลูกมากกว่าและคนนิยมบริโภคมากกว่าจึงทำให้การแข่งขันในตลาดข้าวเจ้าจึงมากตามไปด้วย ขณะที่พื้นที่ปลูกข้าวเหนียวให้ได้คุณภาพดีจะอยู่ที่ภาคเหนือกับอิสานเท่านั้น

เหตุผลการเข้ามาลุยในตลาดข้าวอินทรีย์ของกลุ่มศรีไทยใหม่การเกษตร เนื่องมาจากมีลูกค้าของบริษัทเดินทางมาเมืองไทยเพื่อเยี่ยมเยียนและดูแหล่งผลิตของบริษัทว่าใช้ปุ๋ยอะไร จากนั้นจึงแนะนำให้บริษัทส่งเสริมทำข้าวอินทรีย์ อีกทั้งในบริเวณนั้นมีเกษตรกรกลุ่มหนึ่งริเริ่มทำข้าวเหนียวอินทรีย์อยู่ก่อนแล้ว จึงเข้าไปส่งเสริมและหาตลาดให้

'2-3 ปีที่แล้วเราเห็นแล้วว่าอนาคตต้องเป็นอย่างนี้หมดแน่ๆ พอเรามองเห็นปั๊บเราก็พยายามวิ่งหาหน่วยงานราชการ ว่ามีที่ไหนที่จะสนับสนุนเราบ้าง ปรากฏว่ามีขึ้นมาแต่โครงการ แต่ไม่มีการดำเนินงาน ไม่มีอะไรเกิดขึ้น มันเหมือนกับเป็นการตั้งท่าสร้างภาพ แต่ไม่มีอะไรตามมา ดังนั้น จึงคิดว่าในเมื่อเรามีลูกค้าอยุ่แล้ว จึงทำของเราเองดีกว่า' 2 พี่น้องผู้บริหาร บริษัทศรีไทยใหม่การเกษตร อธิบาย

เมื่อจะทำข้าวอินทรีย์เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าที่ห่วงใยสุขภาพ จึงต้องออกแบรนด์ใหม่เพื่อขายในราคาที่สูงขึ้น เนื่องจาก 'ล้อบิน' เป็นแบรนด์สำหรับสินค้าแมสไปแล้ว เพราะตลาดในประเทศไม่ค่อยสนใจเรื่องข้าวอินทรีย์มากนัก แต่จะให้ความสนใจเรื่องราคาถูกเพียงอย่างเดียว

'NURIZ' คือแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นเพื่อลุยตลาด ภายใต้การทำตลาดของบริษัท ข้าวศรไทยใหม่ จำกัด มีผลิตภัณฑ์ 3 ประเภท คือ 1.ข้าวกล้องงอกสามกษัตริย์ (ผสมข้าว 3 ชนิด คือ ข้าวกล้องงอกหอมมะลิกาบา, ข้าวหอมมะลิแดง และข้าวหอมนิล) 2.ข้าวกล้องงอกหอมมะลิกาบา 100% และ 3.ข้าวฮางหอมมะลิ 'ที่ออก 3 ประเภทเพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้า เนื่องจากคุณค่าไม่เหมือนกัน'

ทั้งนี้ ข้าวกล้องงอก หรือข้าวกาบา ได้รับความนิยมอย่างมากมาเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี โดยเน้นกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นเด็ก และผู้สนใจสุขภาพ เนื่องจากข้าวกล้องงอกมีคุณค่าทางโภชนาการสูง

ตอนนี้ 'นูริซ' ยังไม่เริ่มทำการตลาดอย่างจริงจัง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น เซ็นทรัล และกลุ่มเดอะมอลล์ วางจำหน่าย 2 ขนาด คือ 450 กรัม และ 800 กรัม โดยข้าว 3 กษัตริย์จะมีราคาแพงที่สุด คือ 160 บาท เนื่องจากในท้องตลาดข้าวหอมนิลจะมีราคาแพงที่สุด สำหรับข้าวกล้องหอมมะลิธรรมดา 140 บาท และข้าวฮางราคา 90 บาท

'ไซส์ขนาด 450 กรัมเราออกมาทั้ง 3 ประเภท โดยสติ๊กเกอร์มันจะเป็นสีน้ำตาล เพราะเราตั้งเป็นโครงการเกื้อหนุนเกษตรกรในท้องถิ่น คือถ้าเกษตรกรผลิตอะไรที่เพิ่มมูลค่าในข้าวได้ ก็ผลิตขึ้นมาให้ได้มาตรฐาน เราจะรับซื้อทำตลาดภายใต้แบรนด์ นูริซ'


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.