กองทุนกรุงไทยถือกำเนิดเพื่อกู้วิกฤติแห่งศรัทธาของตลาดหลักทรัพย์ ปี 2522
ไม่ให้ตลาดล่มสลาย เวลาผ่านไป 8 ปี ตลาดหลักทรัพย์กลับบูมขึ้นอีกครั้ง กองทุนหมดหน้าที่
จึงจัดการผ่องถ่าย แล้วโบรคเกอร์อย่างธนชาติก็รับไปท่ามกลางปริศนา ?
670…
646…
เลข 3 ตัวทั้งสองชุดนี้ มิใช่เลขท้าย 3 ตัวของหวยงวดต่อไป !!
แต่เป็นตัวเลขแสดงมูลค่าที่บริษัทนายหน้าเสนอเข้าประมูล "หุ้นกองทุนกรุงไทย"
ในยกแรก
ณ ห้องประชุมชั้น 5 ของธนาคารกรุงไทย วันนั้นถูกกำหนดให้เป็นสนามแข่งขันชิงความเป็นเจ้าของหุ้นเกือบ
5 ล้านหุ้น
เวลา 9.30 น. ของวันที่ 19 มิถุนายน กรรมการเปิดซองประมูล ภุชงค์ เพ่งศรี
อธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะรองประธานกรรมการแบงก์กรุงไทย มาโนช กาญจนฉายา
ผู้ช่วยผู้ว่าการแบงก์ชาติ และเธียรชัย ศรีวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่แบงก์กรุงไทย
เดินทางมาถึง การประมูลเริ่มขึ้น
นาทีระทึกใจเมื่อกรรมการเปิดซองประมูล ประเสริฐ ธีรนาคนาท หัวหน้าส่วนอำนวยสินเชื่อ
4 ของกรุงไทย ซึ่งรับผิดชอบเป็นผู้ดูแลกองทุนนี้ เป็นผู้เขียนตัวเลขบนกระดาน
670,312,305 บาท โดบร่วมเสริมกิจ สินเอเชีย ธนไทย พัฒนสิน
กลุ่มบริษัททิสโก้ ไทยค้า และนวธนกิจ ซึ่งเดิมทำท่าว่าจะเข้าร่วมด้วย ปรากฏว่าไม่ได้ส่งตัวแทนมา
ถ้าดูจากตัวเลข จะเห็นว่ากลุ่มแรกซึ่งเสนอราคาสูงกว่า ก็น่าจะตีปีกได้เพราะราคาท่เสนอได้ต่ำกว่าราคาตลาดวันที่
19 ราว 10%
แต่เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแล้ว เห็นว่าต่ำกว่าราคากลางที่กำหนด (ใช้สูตรจากกระทรวงการคลัง)
ก็เลยประกาศ "ยกเลิกการประมูล" !!
ท่ามกลางความรู้สึกเซ็งของบรรดาโบรคเกอร์ที่เตรียมตัวมาด้วยความเหน็ดเหนื่อย
หลังจากนั้นหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับวิพากษ์วิจารณ์เชิงตำหนิติเตียนว่า การตัดสินใจของกรรมการเป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด
เพราะราคาที่ประมูลก็จัดอยู่ในเกณฑ์ที่สูงพอสมควร ต่ำกว่าราคาตลาดไม่มาก
ถ้าประมูลอีกอาจจะไม่ได้ราคาเท่านี้ !?
ดังนั้น อีกสองสัปดาห์ วันที่ 6 กรกฎาคม 2530 พบกันใหม่ตามกติกาของทางราชการ
ใครจะประมูลได้และราคาจะแย่ลงอย่างที่วิจารณ์กันหรือไม่ ??
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2518 ด้วยมูลค่ารวมของการซื้อขายหลักทรัพย์
1,522 ล้านบาท และเติบโตอย่างรวดเร็ว ปี 2520 มูลค่าสูงกว่าปี 2519 ถึง 18.5
เท่า
ปี 2521 นับเป็นปีที่ตลาดหุ้นเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด มีมูลค่าตลอดปี 2521
สูงถึง 57,272.40 ล้านบาท ระดับราคาหลักทรัพย์ก็พุ่งตัวสูงขึ้นอย่างฉับพลันจากดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่
1 สิงหาคม 2521 ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของปีนั้นเท่ากับ 180.79 จุด เพิ่มเป็น
266.2 ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2521
การเพิ่มขึ้นของภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ในช่วงนี้เอง มีการอธิบายปรากฏการณ์ว่า
เป็นผลพวงมาจากความไม่เข้าใจเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ความไม่พร้อมของระบบกลไกควบคุมของทางการ
และมีการเก็งกำไรจากการค้าหลักทรัพย์ด้วยการให้สินเชื่ออย่างมหาศาล กระทั่งระดับราคาหุ้นสูงเกินความเป็นจริง
22 สิงหาคม 2522 บริษัทราชาเงินทุนซึ่งเป็นบริษัทนายหน้ารายใหญ่ ซึ่งเป็นตัวนำ
(LEADER) อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ล้ม ขณะนั้นราชาเงินทุนเกิดขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
เช็คหลายใบที่สั่งจ่ายโดยราชาเงินทุนไม่สามารถขึ้นเงินได้
ระดับราคาของหุ้นราชาเงินทุนตกอย่างฮวบฮาบ ! ทำให้หุ้นทุกตัวตกหมด เกิดเป็นวิกฤตการณ์ตลาดหลักทรัพย์
มีแต่คนต้องการขาย ไม่มีคนต้องการซื้อ ตลาดหลักทรัพย์เกิดวิกฤตการณ์อย่างหนัก
เพื่อช่วยแก้วิกฤติแห่งศรัทธา แก้ปัญหาขาดความเชื่อมั่นและเสถียรภาพในราคาหลักทรัพย์
โดยการเข้าไปเพิ่มดีมานด์
"กองทุนกรุงไทย" เป็นหนึ่งในมาตรการของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้จัดการกองทุนทุกอย่างอยู่ในชื่อของกรุงไทย เป็นผู้ออกหน้าในการทำนิติกรรม
โดยธนาคารชาติให้เงินกู้ 3,000 ล้าน
บทบาทของกองทุนกรุงไทย คือ การเข้าไปซื้อหุ้นในตลาดได้ทุกหุ้น ยกเว้นหุ้นของธนาคารพาณิชย์
เพราะ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ ห้ามถือหุ้นต่างธนาคาร
รับซื้อในหุ้นสองประเภท คือ หุ้นที่ถือโดยลูกค้าของบริษัทที่วางประกันการกู้เพื่อซื้อหลักทรัพย์
หรือเรียกว่าเล่นหุ้นแบบมาร์จิน ตัวอย่าง คือ มีเงินไปฝากไว้ที่บริษัทเงินทุน
30 บาท บริษัทจะให้เล่นหุ้นได้ในวงเงิน 100 บาท ซึ่งขณะนั้นมีคนเล่นหุ้นในกรณีนี้เป็นจำนวนมาก
อีกประเภทคือหุ้นที่อยู่ในมือของบริษัทสมาชิกตลาดหลักทรัพย์
โดยที่ลักษณะการขายเป็นแบบขายฝาก
"ทางการมีกำหนดให้สามารถซื้อคืนได้ภายใน 3 ปี ในราคาทุนบวกดอกเบี้ย
9 เปอร์เซ็นต์ต่อปี พอราคาหุ้นดีขึ้นก็มีมาซื้อคืน ตอนหลังก็ยืดเวลาให้อีกปี
ก็เหลืออยู่พันกว่าล้าน" เธียรชัย ศรีวิจิตร เล่ากับ "ผู้จัดการ"
จนถึงวันประมูลมีหุ้นเหลืออยู่ทั้งหมด 9,949,830 หุ้น เป็นหุ้น 56 ตัว (เดิมมี
57 แต่เนื่องจากหุ้นกองทุนสินภิญโญ 1 ครบอายุการลงทุน คือ 10 ปี ทางบริษัทจึงไถ่ถอนไปตามกำหนด)
ในจำนวนหลักทรัพย์ 56 ตัวมีหลักทรัพย์ที่อยู่ในเกณฑ์ดี คือ ความสามารถในการทำกำไรดี
และราคาตลาดสูงกว่าต้นทุนซื้อมากจำนวน 41 หลักทรัพย์ หุ้นที่ผลประกอบการแย่ลงมี
6 บริษัท ส่วนอีก 8 บริษัทถูกสั่งให้ออกจากตลาดเนื่องจากผลประกอบการแย่ลงมาก
ๆ มีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินมีราคาตลาดเท่ากับศูนย์
การขายครั้งนี้เป็นแบบเหมาคละกันไปทั้งส่วนดีและไม่ดี ประมูลครั้งแรกแบ่งครึ่ง
คือ นำ 4,974,915 หุ้นมาประมูลก่อน
"ที่เราเลือกใช้วิธีประมูล เพราะถ้าเข้าตลาดตูมเดียวอาจจะทำให้ตลาดปั่นป่วนได้เพราะอยู่
ๆ ก็มีซัพพลายเป็นพันล้าน ทีแรกเราให้ประมูลครึ่งหนึ่ง เพราะปริมาณซื้อขายแต่ละวันประมาณ
400-500 ล้านบาท ตอนหลังมันสูงมากถึง 500-900 ล้าน เพราะมีนักลงทุนต่างประเทศเข้ามามาก
เราคิดว่า เขารวมกลุ่มกันได้ เราเลยคิดว่าประมูลไปทีเดียวทั้งล็อทเลยก็น่าจะได้"
เธียรชัยอธิบายเหตุผล
ยิ่งใกล้วันที่ 6 กรกฎาคม 2530 บริษัทนายหน้าวิ่งหาลูกค้ากันอย่างเหน็ดเหนื่อย
เพราะคราวนี้วงเงินพันกว่าล้านสำหรับกลุ่มภัทรธนกิจ มีการเตรียมการอย่างคึกคักด้วยหมายมั่นจะเป็นผู้ประมูลได้
"เราเปิดซองประมูลสำหรับลูกค้าในกลุ่ม 30-40 ราย เราเปิดซองไปเรื่อยตั้งแต่
5 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม ลูกค้าที่เข้าประมูลส่วนใหญ่เสนอประมูลบางหลักทรัพย์ที่ตนสนใจ
ถ้าราคาที่ประมูลต่ำกว่าราคาตลาดเกิน 10% เราจะตัดออก นอกนั้นเราก็เอาราคามาเปรียบเทียบกันดูว่าใครสูงกว่า"
วิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการภัทรธนกิจ เล่าวิธีคิดราคาเสนอประมูลกับ "ผู้จัดการ"
ส่วนธนชาตินั้น สามารถหาลูกค้าจากต่างประเทศได้เพียงรายเดียว แต่ตัวธนชาติ
ซึ่งมีหุ้นของตัวเอง 5.3% ในกองทุนด้วยได้ร่วมเป็นหนึ่งในผู้ประมูลในกลุ่มของภัทรธนกิจ
การประมูลครั้งที่สอง ณ ที่เก่าเวลาเดิม
1,665 ล้านบาท เสนอโดย ธนชาติ
1,521.5 ล้านบาท เสนอโดย กลุ่มภัทรธนกิจ
1,472 ล้านบาท เสนอโดย กลุ่มร่วมเสริมกิจ
คราวนี้ไม่มีการยกเลิก เป็นอันว่าธนชาติประมูลได้ไป ด้วยราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ
5%
การประมูลครั้งที่สองนี้นับว่า ถูกจังหวะมากเพราะอยู่ในช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์กำลังบูมมาก
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์กำลังเพิ่มสูงขึ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าประมูลครั้งนี้สูงกว่า
เมื่อเทียบกับสองเท่าของคราวที่แล้วถึง 315 ล้าน
ต้นทุนของกองทุนกรุงไทยคิดจากต้นทุนเฉลี่ย 1,181,588,340.00 บาท ราคาประมูล
1,655 ล้านบาท กำไรขั้นต้นได้ประมาณ 437 ล้านาท
แบงก์ชาติได้เงินต้นคืน บวกดอกเบี้ย 6%
กรุงไทยได้ค่า MANAGEMENT FEE 1% ในช่วง 4 ปีแรก ส่วน 4 ปีหลังได้ค่า CUSTODION
COST (รับฝากใบหุ้น) 0.1% ของราคาทุน ใบหุ้นทั้งหมดใช้ตู้เอกสารทั้งหมด 7
ใบ
หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดมีเงินเหลือเข้าคลังอีก 400 กว่าล้าน ซึ่งนาน ๆ ทีที่มาตรการการแก้ปัญหาของรัฐจะประสบความสำเร็จ
แถมยังมีเงินเหลือเข้าพกเข้าห่ออีก
งานนี้หากธนชาติคิดค่านายหน้าตามอัตราซื้อขายปกติ คือ 0.5% จะได้ค่านายหน้าคิดเป็นเงิน
8,275,000 บาท เป็นเงินมากโขอยู่สำหรับการซื้อขายเพียงครั้งเดียว และถ้าเจ้าของต้องการสั่งขายต่อไปก็คงต้องใช้บริการของธนชาติอีก
ส่วนใบหุ้นนั้นฝากไว้ที่ไทยพาณิชย์ แหล่งข่าวในไทยพาณิชย์บอก "ผู้จัดการ"
ว่า CUSTODION COST สูงกว่า 0.1% แน่เพียงแต่ไม่อยากเปิดเผยว่าใสเท่าไหร่
ก็ดูน่าจะแฮปปี้กันทุกฝ่าย แต่ผู้บริหารบางกิจการอาจจะหนาวร้อน ๆ เพราะหุ้นบางตัว
เจ้าของใหม่ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ซึ่งสามารถใช้สิทธิ์เข้าไปร่วมบริหารได้
เช่น ที่เอเชียไฟเบอร์ถืออยู่ 423,000 จาก 1,500,000 หุ้น คิดเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับหนึ่งมีสัดส่วน
28.26% มาบุญคอรงมีหุ้นอยู่ 605,150 จาก 7,335,000 คิดเป็นอันดับ 3 มีสัดส่วน
8.3% ซึ่งเท่าเพิ่มสัดส่วนให้กับฝ่ายเจ้าหนี้ซึ่งนำโดยธนชาติ ซึ่งกำลังเป็นกรณีพิพาทอยู่ในขณะนี้
หุ้นอื่น ๆ ความสำคัญก็ขึ้นอยู่กับอัตราส่วนการถือครอง
ส่วนหุ้นที่อยู่นอกตลาดซึ่งถือว่ามีมูลค่าเป็นศูนย์ เช่น รามาทาวเวอร์ เฟิสท์ทรัสต์
ซึ่งถือหุ้นอยู่มากพอสมควรทีเดียว จะจัดการอย่างไรก็คงอยู่ที่เจ้าของที่แท้จริงว่าเป็นกลุ่มใด
ถึงตอนนี้ก็ยังเป็นปริศนาอยู่ว่าใครคือผู้ซื้อตัวจริง ?!
หลังจากประมูลได้มีผู้ใหญ่กระทรวงการคลังคนหนึ่ง ให้ข่าวในเชิงว่าที่ธนชาติแจ้งนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ประมูลทั้งหมดแท้จริงแล้วต่างชาติประมูลไปเพียง
25%
บันเทิง ตันติวิท ผู้จัดการใหญ่ของธนชาติ ซึ่งปกติไม่ค่อยยอมให้สัมภาษณ์คราวนี้ถึงกับจัดแถลงข่าวโต้ผู้ใหญ่คลังว่า
บริษัทประมูลให้แก่ลูกค้าซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติเพียงรายเดียว ซึ่งข้อมูลรายละเอียดการประมูลครั้งนั้นรายงานให้กับแบงก์ชาติทราบแล้ว
"เรื่องข่าวที่ผิดพลาดทั้งที่ความจริงผู้ให้ข่าอยู่ในฐานะที่ตรวจสอบได้นั้นก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อบริษัท
นอกจากนั้นก็อาจจะสร้างความเสียหาย รวมทั้งอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ผู้ลงทุน"
บันเทิงกล่าว
สำหรับใครที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงยังไม่เป็นที่แน่ชัด เพราะทางธนชาติปิดปากเงียบถือว่าเป็นผลประโยชน์ของลูกค้า
มีการคาดกันว่า อาจจะเป็นกลุ่ม ที.ซี.ซี. โมนินี่ ขณะที่แหล่งข่าวในตลาดหลักทรัพย์บอกว่า
เท่าที่โอนไปแล้วบางส่วนอยู่ในชื่อ SKANDINAVISKA ENSKILDA BANKEN ประเทศสวีเดน
ที่ค่อนข้างแน่นอนก็คือ เงินก้อนนี้ส่งเข้ามาทางธนาคารอินโดสุเอซ "ลูกค้าติดต่อจากธนาคารอินโดสุเอซที่ฮ่องกง
ให้ทางเราเป็นผู้จ่าย" ศักดิ์ ปัญจพงษ์ ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารอินโดสุเอซ
เปิดเผย "ผู้จัดการ"
ก็ยังคงปริศนาต่อไปว่า ใครคือเจ้าของที่แท้จริง เราคงจะต้องติดตามความเคลื่อนไหวหลังจากมีการโอนหุ้น
(ซึ่งเสียเวลาค่อนข้างมาก เพราะหลายบริษัทเป็นนายทะเบียนของตัวเอง) ว่านักลงทุนกลุ่มนี้เป็นนักเก็งกำไรหรือนักลงทุนระยะยาว
?