|
ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ภาพที่นำมาประกอบพื้นที่นี้เป็นป้ายโฆษณารณรงค์ให้ประชาชนลาวร่วมกันเป็นเจ้าภาพที่ดีสำหรับการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25 ซึ่ง สปป.ลาว เป็นเจ้าภาพครั้งแรก
สปป.ลาวคาดหวังว่ากีฬาซีเกมส์ที่จะเริ่มในเดือนพฤศจิกายนนี้จะกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของลาวให้คึกคักขึ้น หลังจาก สปป.ลาวเพิ่งเปิดประเทศอย่างจริงจังมาได้ประมาณ 10 ปี
การสมัครเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาค ถือเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นรายได้ที่ไม่ต้องลงทุนในวงที่สูงมาก เพียงแต่ต้องหาจุดเด่นของประเทศ เพื่อนำมาใช้เป็นจุดขาย ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา และนำเงินเข้ามาจับจ่าย ประชาชนภายในประเทศก็จะได้รับอานิสงฆ์จากรายได้จากนักท่องเที่ยวดังกล่าวด้วย
นอกจากนี้ การเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งกีฬา ยังกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเศรษฐกิจภาคอื่น เห็นได้ชัดคือการก่อสร้าง ไม่ว่าจะเป็นสนามกีฬา บ้านพักนักกีฬา โรงแรม ร้านอาหาร เพื่อรองรับแขกบ้านแขกเมืองที่จะเดินทางเข้ามา ถือเป็นการกระจายรายได้สู่ประชากรได้อย่างทั่วถึง
ถือว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่มีการวางแผนเอาไว้อย่างเป็นระบบ เพราะ สปป.ลาวยังเป็นประเทศที่ไม่มีรายได้สูงมาก การจะกระตุ้นให้คนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยว ยังไม่สามารถใช้เงินซื้อสื่อโฆษณาได้เหมือนประเทศอื่น
สปป.ลาว เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับไทย ที่เริ่มหันมาจริงจังกับนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวไม่ต่างจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ อาทิ กัมพูชา หรือมาเลเซีย จะเว้นก็แต่พม่าที่ยังไม่สามารถจัดการกับปัญหาภายในได้อย่างลงตัว
ขณะที่กัมพูชาและมาเลเซียได้ให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวมาระยะหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะกัมพูชาที่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา มีการว่าจ้างเอเยนซี่ระดับโลก สร้างสรรค์งานโฆษณายิงผ่านสื่ออย่าง BBC อย่างต่อเนื่อง
มิต้องมองถึงมาเลเซียที่แคมเปญ Malaysia Truly Asia เป็นวลีที่คุ้นหูสำหรับคนที่ติดตามสื่อมาโดยตลอด
แม้กระทั่งการถ่ายทอดการแข่งขันเทนนิสวิมเบิลดันจากประเทศอังกฤษ ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปไม่นานนี้ก็มีสปอตโฆษณาการท่องเที่ยวประเทศมาเลเซียออกมาเป็นระยะ
ในการแข่งขันเทนนิสรายการเดียวกัน นอกจากสปอตโฆษณาของประเทศมาเลเซียแล้ว ยังมีสปอตโฆษณาของการบินไทย ปรากฏออกมาด้วยเช่นกัน และดูเหมือนจะยิง ถี่กว่าสปอตโฆษณาของประเทศมาเลเซียเสียอีก
เพียงแต่เมื่อได้ดูสปอตโฆษณาของการบินไทยชุดนี้มีประเด็นที่ติดใจอยู่ 2-3 ประเด็นด้วยกัน
ประเด็นแรก การโปรโมตการท่องเที่ยวประเทศน่าจะมีเจ้าภาพในการรณรงค์ที่ชัดเจน และเป็นการรณรงค์อย่างบูรณาการ จึงสงสัยว่าขณะที่สปอตของประเทศมาเลเซีย ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวมาเลเซีย แต่ของไทย ทำไมจึงให้การบินไทยต้องจ่ายเงินเพียงผู้เดียว
ประเด็นที่ 2 การรณรงค์การท่องเที่ยวของไทย ยังคงใช้วลีที่ว่า Amazing Thailand ซึ่งเป็นวลีที่ใช้มาไม่น้อยกว่า 10 ปีแล้ว ทำไมจึงไม่พยายามค้นหาจุดเด่น หรือจุดขายใหม่ๆ ให้กับประเทศ
ประเด็นที่ 3 ในสปอตชุดนี้ ภายใต้วลี Amazing Thailand ยังมีวลีต่อท้ายอีกบรรทัดหนึ่งว่า Amazing Value ทำให้เกิดความสงสัยว่าคำว่า Value ในที่นี้หมายถึงอะไร
เพราะหากดูจากความรู้สึกของชนินทร์ โทณวณิก แห่งดุสิตธานีที่สะท้อนออกมาในเรื่องจากปกของนิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับนี้ ที่บอกว่า "นโยบายของหลายรัฐบาลที่ผ่านมาทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก" ด้วยแล้ว
ยิ่งเป็นห่วงว่ายุทธศาสตร์พัฒนาการท่องเที่ยวของไทย ที่กำลังทำในช่วงที่ประเทศต้องเผชิญกับวิกฤติรอบนี้
เดินมาถูกทางหรือเปล่า?
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|