|
สยามสแควร์ หลากรสนิยมของคนหลากรุ่น
โดย
ธนิต วิจิตรพันธุ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
การดับร้อนของผู้คนในสมัยโบราณจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาพื้นบ้าน หรือใช้หลักการทางธรรมชาติที่จะช่วยในการขจัดความร้อนออกจากร่างกาย เรื่องของอาหารการกินจะเน้นในเรื่องของการปรับรสอาหารให้จืด หรืออาจจะมีรสขมบ้างเพื่อการลดพิษร้อน การถอนพิษไข้ และรสเผ็ดเล็กน้อยเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความอยากที่จะรับประทานอาหาร
แต่สมัยนี้ ร้อยทั้งร้อยโดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพมหานครจะคลายร้อนด้วยการชอปปิ้งตามศูนย์การค้าเพื่อพักผ่อนหย่อนใจ คลายเครียด จากพิษเศรษฐกิจ การงาน ปัญหารอบตัวรุมเร้าเข้ามา ซึ่งไม่เพียงดับร้อนจากกายเพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องของความร้อนใจมาเพิ่มอีกต่างหาก
ศูนย์การค้าคือการรวมร้านค้า ข้าวของเครื่องใช้ ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบก็ว่าได้ มาไว้ ณ ที่เดียวกัน เพื่อความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอย มีร้านอาหาร สถานบันเทิง กีฬา ดนตรี สถาบันการเงิน คลินิกเสริมความงาม ตลอดจนตลาดสดติดแอร์พร้อมสรรพ เพื่อความเพลิดเพลินเจริญใจและที่จอดรถอย่างเพียงพอ เป็นศูนย์กลางการคมนาคมหรือเส้นทางรถไฟฟ้าวิ่งผ่าน
เราได้ยินชื่อศูนย์การค้าต่างๆ กัน จนคุ้นหูมาตั้งแต่เด็ก อย่างเช่น ใต้ฟ้าเยาวราช วังบูรพา ไนติงเกล โอลิมปิกบนถนนตรีเพชรใกล้ศาลาเฉลิมกรุง ราชดำริ อินทราประตูน้ำ ไทยวายที ปากซอยอารีย์ พหลโยธิน เซ็นทรัลพลาซา สีลมคอมเพล็กซ์ เซ็นเตอร์วัน เซ็นจูรี เอ็มโพเรียม หรือศูนย์การค้าเพลินจิต สี่แยกถนนวิทยุ เปิดถึงสว่าง เพราะมีสถานบันเทิงชั้นใต้ดิน
สมัยผู้เขียนยังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยหัวเมือง ช่วงปิดภาคเรียนกลับบ้านกรุงเทพฯ นัดเพื่อนเที่ยวกลางคืน พอดีมีพี่ชายเพื่อนเป็นนักดนตรีสมาชิกวงรอแยล สไปร์ ซึ่งดังมากสมัยนั้นซื่อนิเวศน์ ไพรสณท์จึงพากันไปนอนบ้านเพื่อน ตื่นตี 1 ขอติดรถไปดิ้นด้วยจนสว่าง และไปต่อด้วยข้าวมันไก่ตอน ปาท่องโก๋น้ำเต้าหู้ที่ประตูน้ำจึงกลับบ้านนอน
ศูนย์การค้าแต่และแห่งจะตั้งชื่อตามสถานที่ หรือมีความหมายตามเจ้าของกิจการ หรือความโดดเด่นของห้างแต่ละแห่ง แต่มักจะไม่พ้นคำต่อท้ายที่ว่าคอมเพล็กซ์ เซ็นเตอร์ อาเขต สแควร์ มอลล์ พลาซ่า หรือความหมายที่หมายถึงความยิ่งใหญ่ อลังการ ศูนย์การค้าบางแห่งยังคงอยู่ ยังคงกระพันจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน บางแห่งล้มหายตายจาก หรือปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปเป็นอื่นตามกาลเวลา
ศูนย์การค้าเกิดขึ้นไปทั่วทุกมุมเมือง อาจจะใหญ่บ้างเล็กบ้างแต่ยังคงคอนเซ็ปต์คือความสะดวกสบายเป็นประการสำคัญ
สยามสแควร์ ตั้งอยู่หัวมุมถนนพญาไทและถนนพระราม 1 ฝั่งตรงข้ามคือศูนย์การค้ามาบุญครอง ก่อนที่จะมาเป็นศูนย์การค้า จำได้ว่าเป็นที่ตั้งโรงเรียนเอกชนเล็กๆ ที่ชื่อสตรีปทุมวัน ซึ่งเป็นโรงเรียนกวดวิชาเตรียมสอบเข้าเตรียมทหาร หรือมหาวิทยาลัยเช่นทุกวันนี้ ซึ่งฮิตในยุคนั้น โรงเรียนกวดวิชาเหล่านี้ยังไม่ได้คืบคลานเข้าไปอยู่ภายในศูนย์การค้า (ยังมีสถานกวดวิชาชื่อ เจยูที่มหิดล หรือโรงเรียนสมถวิล ราชดำริ และที่โรงเรียนเตรียมอุดม เป็นสถานที่ทบทวนความรู้เพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยสำหรับพวกที่เรียกกันว่า "เด็กค้างปี" คือเอนฯ ไม่ติด ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีมหาวิทยาลัยตลาดวิชารองรับ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง ซึ่งเปิดการสอนเมื่อปี 2514)
ศูนย์การค้าสยามสแควร์ ด้านหลังติดกับถนนอังรีดูนังต์ มี "รอแยลสปอร์ตคลับ" ซึ่งเปิดเมื่อปี 2444 วัตถุประสงค์เพื่อการเพาะพันธุ์ดูแลม้าและการเล่นกีฬา เช่น กอล์ฟ ว่ายน้ำ ฟิตเนส ตลอดจนเป็นที่พบปะสังสรรค์ของเหล่าบรรดาเมมเบอร์โดยเฉพาะผู้ที่เกษียณแล้ว เช่น ถ้าวันไหนเตรียมตัวไปงานเลี้ยงไปดูละคร คอนเสิร์ต จะพากันไปเตรียมตัวที่คลับ เช่น อาบน้ำ แต่งตัว แต่งหน้า ทำผม เพราะตั้งอยู่ใจกลางเมืองไปไหนมาไหนสะดวกสบาย
ทิศตะวันออก ติดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทย ถือกำเนิดมาจากโรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง พุทธศักราช 2442 พร้อมพระราชทานอนุญาตให้อัญเชิญ "พระเกี้ยว" เป็นเครื่องหมายประจำโรงเรียน
วันที่ 26 มีนาคม 2459 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยและพระราชทานนามว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเป็นอนุสาวรีย์สมพระเกียรติแห่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับยกย่องเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกทั้งในสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การแพทย์ สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนในสาขาต่างๆ สำนักวิชา บัณฑิตวิทยาลัย วิทยาลัย และสถาบันต่างๆ กว่า 190 สาขาวิชา หลักสูตรนานาชาติรวมกว่า 70 สาขาวิชา และได้จัดตั้งสถาบันวิจัยขึ้นภายในมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งเพื่อการวิจัยในศาสตร์ต่างๆ อีกด้วย
ถนนพระราม 1 เป็นเส้นทางหลัก ฝั่งตรงข้ามคือ วังสระปทุม สยามดิสคัฟเวอรี (ซึ่งอีกด้านหนึ่งจะติดถนนพญาไท) สยามเซ็นเตอร์ สยามพารากอน และวัดปทุมวนาราม
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานที่ดินให้เป็นที่สร้างวังของสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนสงขลานครินทร์ พระราชโอรส ซึ่งประสูติแต่สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า หลังการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าได้เสด็จออกมาประทับนอกพระบรมมหาราชวัง ทรงสร้างพระตำหนักขึ้น พระองค์ทรงโปรดที่ดินวังสระปทุม
แม้ว่าขณะนั้นที่ดินผืนนี้จะอยู่ห่างไกลความเจริญ ยากลำบากในเรื่องการคมนาคม พื้นที่โดยรอบวังเป็นที่สวน สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงโปรดให้ปลูกพืชผักหลายชนิด โดยนำผลผลิตต่างๆ สำหรับตั้งโต๊ะเสวย พร้อมทั้งพระราชทานไปยังวังเจ้านายต่างๆ ส่วนที่เหลือนำออกจำหน่าย มีรายได้หลายร้อยบาทต่อปี ส่วนหนึ่งพระองค์ทรงใช้เลี้ยงดูข้าราชบริพารและใช้ทะนุบำรุงวังสระปทุม พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสิทธิในที่ดินในเวลาต่อมา
วังสระปทุมเป็นสถานที่จัดงานอภิเษกสมรส ระหว่างสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถอีกด้วย
ปัจจุบัน วังสระปทุมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี
ถ้าเดินทางมาจากราชเทวีสู่สี่แยกปทุมวันจะต้องผ่านสะพานเฉลิมหล้า 56 หรือที่รู้จักในชื่อสะพานหัวช้าง ซึ่งสร้างข้ามคลองแสนแสบ
รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ 56 ทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดสะพานเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2452 ซึ่งพระองค์ทรงเจริญพระชนมพรรษาเท่าพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบรมอัยกาธิราช จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีพระชนมายุมงคลเสมอรัชกาลที่ 2
เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีช้างเผือกในแผ่นดินถึง 4 เชือกจึงพระราชทานนามว่า สะพานเฉลิมหล้า ซึ่งมาจากพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
สะพานเฉลิมหล้า 56 มีลักษณะคอนกรีตเสริมเหล็กคาน เป็นรูปโค้ง มีรายละเอียดงดงาม หัวสะพานทั้ง 4 มุม มีรูป ประดับเป็นช้างเผือก 4 หัว กลางสะพานมีพระปรมาภิไธย จปร.
จากสะพานหัวช้างก่อนถึงสี่แยกจะพบสยามดิสคัฟเวอรี่ตั้งตระหง่านอยู่ทางด้านซ้ายมือ จะเป็นลานจอดรถของสยามเซ็นเตอร์ (ในอดีต)
เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระราม 1 จะพบสยามเซ็นเตอร์และสยามพารากอน ก่อนที่จะเป็นสยามพารากอนนั้นพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ซึ่งมีสถาปัตยกรรมที่สวยงามแปลกตาเป็นหน้าเป็นตา คอยต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองมาแล้วนับไม่ถ้วน วันสุดท้ายก่อนปิดดำเนินกิจการ ผู้เขียนและเพื่อนๆ ยังได้มีโอกาสไปร่วมรับประทานอาหาร เพื่อเก็บไว้ในความทรงจำ
วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เขตต่อจากสยามพารากอน เป็นที่ประดิษฐานพระเสริม พระแสน และพระสก มีพระเจดีย์ประดิษฐานพระบรมอัฐิ พระราชสรีรางคาร และพระอัฐิของพระเจ้าอยู่หัวอานันมมหิดล และพระราชวงศ์ในราชสกุลมหิดลหลายพระองค์ (วันว่าง เช่น เสาร์ อาทิตย์ พวกเราจะชวนกันเข้าวัดนั่งสมาธิให้จิตสงบ)
พลเอกประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขณะนั้น มีแผนพัฒนาที่ดินซึ่งเป็นสวนผักบริเวณย่านสยาม สแควร์ ในพื้นที่ดินขนาด 63 ไร่ ให้เป็นแหล่งค้าขายเมื่อปี 2505 หลังจากเกิดเหตุการณ์ไฟไหม้ชุมชนแออัดและชาวบ้านได้ออกจากพื้นที่นี้ไป
ปี พ.ศ.2507 บริษัทเซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้างได้รับมอบหมายจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาที่ดินเป็นศูนย์การค้า พื้นที่เปิดโล่ง อาคารพาณิชย์สูง 3-4 ชั้น ชั้นล่างใช้ทำมาค้าขาย ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ประกอบด้วยโรงภาพยนตร์ โบว์ลิ่ง ไอซ์สเกต และมีห้องกว่า 600 ห้อง ช่วงแรกใช้ชื่อว่าปทุมวันสแควร์ ภายหลังเปลี่ยนมาเป็นสยามสแควร์
ธุรกิจในสยามสแควร์มีความหลากหลาย เป็นศูนย์รวมโลกของแฟชั่น โรงภาพยนตร์ เป็นร้านเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า เครื่องประดับ ตัดผม หนังสือ บันเทิง ภัตตาคาร ร้านอาหารหรู ฟาสต์ฟู้ด ข้าวแกง ร้านกาแฟ โรงแรม โรงเรียนสอนดนตรีกวดวิชา ร้านซีดี สื่อโฆษณาที่แปลกใหม่ใช้เป็นสถานที่ในการประชาสัมพันธ์สินค้า สื่อการตลาด โดยเฉพาะเป็นที่จัดอีเวนต์เพื่อเปิดตัวสินค้าทดลองตลาดจะเกิดขึ้นที่นี่อยู่เสมอ
สยามสแควร์ยังเป็นจุดศูนย์กลางการคมนาคม เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายเส้นทางรถไฟฟ้าบีทีเอส ทั้งยังมีศูนย์การค้า โรงแรม ตั้งอยู่เรียงรายล้อมรอบเชื่อมต่อกันหลายแห่ง
โรงภาพยนตร์สยาม ก่อสร้างโดยบริษัทโรงภาพยนตร์รามาจำกัด เมื่อประมาณต้นปี พ.ศ.2510 โดยพิสิษฐ์ ตันสัจจา "เสี่ยชัว" ผู้ซึ่งมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ผู้ประสบความสำเร็จจากโรงภาพยนตร์เฉลิมไทย (ปัจจุบันคือบริเวณใกล้เคียงพลับพลาเจษฎาบดินทร์ ถนนราชดำเนิน) มีความคิดสร้างสรรค์ พัฒนาวงการให้ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ตามยุค โรงหนังลิโดและสกาลา เกิดขึ้นในเวลาต่อมาเมื่อ 16 มีนาคม 2536 ได้เกิดเพลิงไหม้ "ลิโด" จึงสร้างขึ้นใหม่ 3 โรง อย่างที่เห็นในปัจจุบัน
ว่ากันว่าถ้าใครไม่อยากตกเทรนด์การแต่งตัวของวัยรุ่นยุคนี้ต้องไปเดินสยามสแควร์ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย
การเปิดตัวสยามสแควร์นั้น คนที่มาใช้บริการนอกจากนิสิตนักศึกษาแล้วจะเป็นนักธุรกิจทั่วกรุงเทพฯ เช่น ย่านสำเพ็ง สีลม เจริญกรุง เหตุผลหนึ่งคือสะดวกสบายในเรื่องที่จอดรถ คนส่วนใหญ่ในสมัยก่อนจะมารับประทานอาหาร ดูหนัง เล่นโบว์ลิ่ง ร้านอาหาร ร้านค้า มาจากสีลม สุรวงศ์ วังบูรพา ราชดำริ ร้านอาหารจะเป็นร้านเล็กๆ หรือเป็นภัตตาคารใหญ่ไปเลย ซึ่งจะมีโลโก (อาหาร) เป็นของตนเอง
ร้านเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่แรกเริ่ม ปัจจุบันบางร้านปรับปรุงให้เข้าเทรนด์ บางร้านคงสภาพเดิมแต่ปรับให้ดูสะอาดตา แต่ยังคงคุณภาพเรื่องอาหารและการบริการเช่นเดิม
นิวไล้ท์ บริการด้วยอาหารจีน โดยเฉพาะอาหารฝรั่ง เป็นเจ้าแรกของที่นี่ เป็นที่กล่าวขานและเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้
ภัตตาคารกิเลน อาหารจีนกวางตุ้ง ขนมเปี๊ยะ ไก่อบเกลือ หูฉลามน้ำแดง ยังคงความอร่อยจนปัจจุบัน
ก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด จะโดดเด่นในเรื่องก๋วยเตี๋ยว หรืออาหารจานเดียวอย่างข้าวมันไก่ศิริวรรณ ดำเนินงานโดยชาญ ศิริวรรณ หรือวัฒนผล เด่นในเรื่องผัดไทยเส้นจันทน์ ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเลียง เปาะเปี๊ยะทอดสูตรน้ำจิ้มรสเด็ด
ข้าวต้ม 24 น. ใต้ถุนโรงหนังลิโด เปิดขายตลอดคืน
แต่ผู้เขียนจะฝากท้องไว้กับสีฟ้า (เวลาหิว) ลูกชิ้นจุฑารส สุกี้ซินเซียร์
ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่นเดียวกับสยามสแควร์ บางร้านที่เคยเป็นจุดนัดพบของวัยรุ่นแต่ละยุค กลับกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว
ยุคแรกเปิดศูนย์การค้าจะมีร้านขายผ้าเป็นเมตร เพื่อนำไปตัดเสื้อหรือตัดชุดสุภาพสตรี เช่น คิคูยา ทำให้มีห้องเสื้อเกิดขึ้นมากมาย
สยามสแควร์ซอย 10 มีห้องเสื้อกายทิพย์ ปัจจุบันกลายเป็นร้านอาหารเวียดนาม ชาบู ยำแซบ และอีกหลายร้าน อีกตัวอย่างคือ เซ็นเตอร์พอยท์ ศูนย์รวมเด็กแนววัยรุ่น ลานน้ำพุที่สร้างสีสันความคึกคักมาตั้งแต่ปี 2541 ได้ปิดตัวลงเพราะหมดสัญญาเช่าเมื่อปี 2550 ทำให้เกิดโครงการดิจิตอลเกทเวย์
ว่ากันว่าเจ้าของลิขสิทธิ์โครงการนี้เป็นผู้ใหญ่ใจบุญ ที่เลื่องลือในเรื่องซื้อทุกอย่างที่ขวางหน้า โดยมีเรื่องเล่าว่าท่านผู้นี้นั่งรถไปมองเห็นที่บริเวณหนึ่งดูดี เกิดความสนใจอยากซื้อจึงสั่งลูกน้องตรวจสอบและได้รับรายงานว่า "ของท่านเองครับ"
ได้คุยกับนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์สมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้วถึงการชอปปิ้งที่สยามสแควร์ ป้าตุ้ม นิรมล เรียบร้อยเจริญ วัยเกษียนบอกว่าช่วงเปิดใหม่ๆ มีทั้งร้านอาหาร เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องประดับ รองเท้า ฯลฯ เป็นที่โปรดปรานของหนุ่ม-สาววัยรุ่นในสมัยนั้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสาวจุฬาเดินกันขวักไขว่จนจำได้ว่าร้านไหนอยู่ซอยไหน เป็นศูนย์การค้าในดวงใจ พักเที่ยงต้องมาหาของทาน ก๋วยเตี๋ยวรสเด็ด นิวไลท์ หมูเลียงเนื้อเลียง ผัดไทยเส้นจันทน์ เปาะเปี๊ยะทอดที่ศิริวรรณ ถ้าวันไหนมีสตางค์หน่อยจะนั่ง Thompson
เสาร์-อาทิตย์จะอุดหนุนโรงหนังรอบ 10 โมงเช้าวิ่งอีกโรงรอบเที่ยง โดยหาซื้ออาหารของว่างเข้าไปทานด้วย
พันเอกหญิงอ้อมพร หูราพันธุ์ วัย 50 ปี ลูกพ่อขุนบอกว่า สมัยนั้นศูนย์การค้ามีอยู่ไม่กี่แห่ง เป็นแหล่งพบปะกันนั่งคุยทานอาหาร ชอปปิ้งหาซื้อการ์ดอวยพรหรูๆ ที่ร้านแคท ดูหนังเสร็จจะต่อด้วยสุกี้ แล้วจะไปร้านรองเท้า Scan ซึ่งเป็นร้านประจำของกลุ่ม ซื้อตุ้มหู กุ้ง หอย ปู ปลา ที่รูบี้แอนด์แซม และลงเอยที่ UFM ขนมเค้ก ร้านอยู่ตรงข้ามโรงหนังสกาลาเป็นอันเสร็จภารกิจหนึ่งวันในสยามสแควร์
ผึ้ง นิรัญชา ลิ่วเฉลิมวงศ์ อดีตนักเรียนสาธิตจุฬาฯ และนิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ ปัจจุบันอายุใกล้เลข 3 เข้าไปทุกทีแล้ว เล่าว่าสมัยเด็กชอบไปศูนย์หนังสือกินอาหารเช้าที่ UFM ก่อนไปโรงเรียน
ช่วงมัธยม พ.ศ.2539 ทานข้าวสังสรรค์ ชอปปิ้ง ร้านขายเยลลี ทอฟฟี่น่ารัก ร้าน Kanom Tart Ibery ถ่ายรูปเก๋ๆ ที่ Prino Studio ช่วงเรียนอยู่มหาวิทยาลัย เรียนโทเฟล จีแมท เลี้ยงรุ่นน้อง ชอปเสื้อผ้า ซีดี ชุดนิสิต ที่ร้าน 29 Plaza& Bananza หรือ Karaokai Imggine ถ่ายรูป Digital ทำของเก๋ ร้องเพลงอัดลงเทปพร้อมทำปก
หลังจบอยู่ในสถานะประชาชนเต็มขั้น จะมานั่งดื่มกาแฟที่สตาร์บัคส์ หรือ True Coffee ล้างรถ ทำผม รับประทานอาหารกับเพื่อนๆ และเดินเล่นตลาดนัดแบกะดินยามค่ำคืน
จะเห็นได้ว่า สยามสแควร์เป็นศูนย์รวมกิจกรรมในทุกๆ ด้านของคนทุกวัยทุกระดับ
ปัจจุบันมีร้านอาหารมากกว่า 150 ร้าน ตั้งแต่ข้าวราดแกงจนกระทั่งร้านที่มีสูตรเด็ดเคล็ดลับหลายชนชาติให้ได้ชิมกัน
สยามสแควร์ซอย 5 เป็นศูนย์รวมโรงเรียนกวดวิชามากมาย เดินจากปากซอยมาสักระยะ มองด้านซ้ายมือจะเห็นตัวแมสคอทเปเปอร์มาเช่ยืนเด่นสะดุดตา เสมือนยืนคอยเรียกลูกค้าให้เข้าไปเยือน
OHO Katsu ร้านอาหารญี่ปุ่น มองดูโล่งโปร่งตาสไตล์ญี่ปุ่นโมเดิร์น เมื่อเข้าไปนั่งในร้านแล้วจะได้กลิ่นอายประดุจดังได้นั่งรับประทานอาหารญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว
ผู้เขียนได้พบกับจิโรจ และไปรยา พิสุธิกุล ซึ่งเพิ่งกลับจากการไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์หมาดๆ จากแดนซากุระ ด้วยรอยยิ้มซึ่งเต็มไปด้วยมิตรภาพ เริ่มโยนคำถามทันที ทำไมจึงชื่อร้านว่า OHO ทั้งเปาและปลายหัวเราะ บอกว่าเป็นคำถามที่ต้องตอบอยู่เสมอ คำนี้เป็นคำกลางๆ เวลาพูดหรือเขียนจะมีน้ำเสียงการพูดดี น่าฟัง มีความรู้สึกเป็นบวกหนักเบากำลังดี ความรู้สึกดี ทั้ง 2 ยังชี้ให้ดูชื่อร้านที่เป็นภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย เพื่อขจัดความสงสัยในเรื่องของทำเลที่ตั้ง เพราะบริเวณนี้จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการสูงมาก โดยเฉพาะค่าเช่า สำหรับที่นี่กิจการพออยู่รอด มีลูกค้าตลอด 7 วัน ถ้าเทียบกับบางแห่งจะขายได้เพียงเฉพาะศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ เท่านั้น
กลางวันลูกค้าจะเป็นนิสิตนักศึกษา มื้อเย็นจะเป็นคนทำงานแล้วหรือชาวต่างชาติ สำหรับวันหยุดวันเสาร์และอาทิตย์เป็นที่นิยมของนักเรียน เด็กแนว เหล่าบรรดานักชอปปิ้ง หรือพวก Look aronnd หรือ Shopping window บรรดาพ่อแม่ผู้ปกครอง หรือมากับครอบครัว
เปาจบปริญญาตรีทางด้านอินทีเรียร์ดีไซน์จาก New Haven University และโทสาขา Innovation of Technolagy จาก Boston สหรัฐอเมริกา และเคยทำงานที่บริษัทไทยเบฟฯ
ส่วนปลายศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ จากซิดนีย์ ออสเตรเลีย และปริญญาโทสาขาเดียวกันจากจุฬาฯ และเคยทำงานที่บริษัทเอสโซ่ สแตนดาร์ด เพราะความชอบทำและทานอาหารมาตั้งแต่เด็กโดยเฉพาะอาหารญี่ปุ่น ช่วงที่ไปศึกษาอยู่อเมริกา กิติยา มารดากลัวลูกๆ อดอยาก จึงทำอาหารส่งไปให้อยู่เสมอ จำได้ว่าครั้งแรกทำน้ำจิ้มสุกี้ส่งไปให้ อยู่ไปๆ ลูกๆ พยายามศึกษาปรับเปลี่ยนดัดแปลงวัตถุดิบในท้องถิ่นจนเชี่ยวชาญ ทำทานกันเอง
เคยหุ้นกับเพื่อนๆ เปิดร้านอาหารฝรั่ง เค้ก และร้านไวน์ แถวพหลโยธินซอย 7 แต่ไม่ได้เป็นแนวที่ชอบ เลยชวนกันเปิดร้านอาหารญี่ปุ่น โดยคิดว่า เมืองไทยนั้นคนไทยยังไม่ให้ความสำคัญในเรื่องของอาหารตามแบบวิถีการกินอย่างคนญี่ปุ่นให้กับเด็กวัยรุ่น โดยเปิดร้าน OHO Katsu ที่สยามสแควร์ซอย 10 ซึ่งถือว่าเป็นร้านอาหารแนว Katsu ร้านแรกในสยามสแควร์
หลังดำเนินการครบ 1 ปี ได้มีโอกาสเปิด OHO Currey ที่เอ็มโพเรียม แต่ยังคงคอนเซ็ปต์เดียวกันคือไม่ขายอาหารหลากหลาย
OHO Currey จะมีข้าวแกงกะหรี่เป็นสูตรของแม่เพื่อนชาวญี่ปุ่นแท้ โดยจัด Segment อยู่ในช่วง Premium กว่าร้านอื่นๆ ในสยามสแควร์
เมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา OHO Katsu มาเปิดตัวอยู่สยาม สแควร์ซอย 5 เป็นอาคาร 3 ชั้น แบ่งกิจการเป็น 2 ร้าน คือ Kampai Yakiniku บนชั้น 2 และ 3 มีสโลแกน "หัวไม่เหม็น" เมนูเนื้อย่างสไลด์ญี่ปุ่นแท้ เอกลักษณ์ความอร่อยอยู่ที่การใช้เนื้ออย่างดี น้ำจิ้มสูตรใหม่ที่พัฒนามาจากคนญี่ปุ่นที่ชำนาญด้านน้ำจิ้มโดยเฉพาะ
เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางร้านเปิดเมนูบุฟเฟต์ (Buffet) และอาหารจานเดียวเลือกสั่ง (A la Cate) เนื้อวัวเป็นเนื้อจาก Thai-French น้ำซอส Home Made เป็นที่ถูกใจของลูกค้า ซึ่งในอนาคตทางร้านกำลังจะผลิตออกจำหน่าย
เมนูมีให้เลือกมากมาย อาทิ คาราวาน Katsu
อาหารจานแนะนำ
ข้าวหน้าแกงกะหรี่หมูทอด ข้าวหน้าเนื้อใส่ไข่ ข้าวหมูทอด Ton Katsu จิ้มน้ำซอสใส่งา (นั่งบดเอง) มีกลิ่นงา ทำให้ทั้งหอมและหวาน
สูตรข้าวหน้าเนื้อ ใช้ซอสเทริยากิ สาเก โชยุ นำมาผสมกันจะได้ซอสข้าวหน้าเนื้อ
วิธีทำ ผัดหัวหอมที่หั่นไว้กับน้ำมันจนนิ่ม ใส่เนื้อสไลด์เติมน้ำซุปพอประมาณ ราดลงบนข้าวสวยญี่ปุ่น วางไข่ลวกโรยด้วยสาหร่ายต้นหอมซอยและงาคั่ว
ซอสหมูทอด Ton Katsu นั้น Home Made เช่นกัน ทำจากผลไม้ 7 ชนิดนำมาเคี่ยวใช้เวลานาน 6 ชั่วโมง
Kampai Yakiniku เริ่มเวลา 11.00-14.00 น. จะเป็น Lunch Set ในราคา 189 บาท และ 289 บาท เลือกเนื้อสัตว์ได้ 2 ชนิด เสิร์ฟพร้อมข้าวและสลัด
สำหรับบุฟเฟต์จะประกอบด้วยเนื้อ เนื้อลาย ทั้งติดมันและไม่ติดมัน
หมู เบคอน สันนอก
ไก่ เนื้อไก่สด เทริยากิ
ปลา ปลาหมึก กุ้ง
ผักย่างต่างๆ เกี้ยวซ่า ข้าวผัดกระเทียม ซุป ขนม น้ำ โค้ก ในราคา 399 บาท
มีบริการ A la Cate พร้อม สุดยอดของเนื้อจากญี่ปุ่น ออสเตรเลีย
ด้วยความเสียดายทำเลสยามสแควร์ซอย 10 จึงปรับเปลี่ยนร้าน โดยกนกพร ซึ่งจบสาขาวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเดียวกับเปาน้องชาย จบแล้วช่วยกิจการค้าทอง ของครอบครัว แต่มีฝีมืออาหารเวียดนามไม่เป็นสองรองใคร นึกสนุกอยากออกมาเห็นเดือนเห็นตะวันกับเขาบ้าง เปิดร้านโดยใช้ชื่อว่า An Deong ตกแต่งร้านเรียบง่ายแต่คลาสสิก สุขุม ลุ่มลึก มีอาหารนานาชนิดไว้ให้เลือกเช่นร้านเวียดนามทั่วไป
เมื่อลองทานแล้ว ขอแนะนำเฝอเนื้อ ก๋วยจั๊บเวียดนาม สลัดอันดอง เปาะเปี๊ยะทอด และกาแฟเวียดนาม น้ำซุปเฝอใช้เวลาเคี่ยวนานกว่า 7 ชั่วโมง จากวัตถุดิบนานาชนิด เช่น โครงไก่ กระดูกหมู (Spure) แป้งที่ใช้ห่อเปาะเปี๊ยะ เส้นเฝอ ก๋วยจั๊บ และกาแฟเวียดนาม สั่งตรงและนำเข้าจากเวียดนาม สำหรับกาแฟเวียดนาม การรับประทานใช้วิธีการเสิร์ฟแบบดั้งเดิม น้ำสลัด Home Made ได้สูตรมาจากเชฟชาวเวียดนามแท้
ผักที่ใช้ในร้านจะหาซื้อมาจากสวนของชาวบ้านแถวพุทธมณฑล ที่ทำด้วยใจและความรู้ เป็นผักปลอดสารพิษทั้งหมด ข้อสำคัญจะได้ความรู้สึกว่ากำลังนั่งรับประทานอาหารเวียดนามขนานแท้อยู่
ก่อนเปิดร้าน กนกพรบินไปฮานอยเพื่อไปศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องอาหารเวียดนามโดยเฉพาะ ให้เกิดความลึกซึ้งยิ่งขึ้น
OHO Katsu สยามสแควร์ซอย 5 เตรียมเพิ่มเมนู "พิซซาญี่ปุ่น" และพิเศษสำหรับผู้ที่ชื่นชอบ "ราเมง" จะได้ลิ้มรสในเร็ววันนี้เช่นกัน หลังได้สูตรที่ถูกปากคนไทยจากการไปญี่ปุ่นครั้งล่าสุดนั่นเอง
แต่โปรดระวัง ถ้าผู้ใดชอบเดินแถวสยามสแควร์อาจจะได้เป็นตัวละครจำเป็น เพราะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยชอบมีฉากรักวัยรุ่น รักกระหนุงกระหนิง มิวสิกวิดีโอ นิยมถ่ายทำที่นี่เป็นประจำ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|