เมื่อจีนเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีก


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ภาคบริการเป็นสาขาที่จีนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง หลังการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิตของตนได้ประสบความสำเร็จอย่างสูง จนสามารถครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกได้เกือบทั่วโลกในเกือบทุกรายการสินค้า

หากเปรียบเทียบภาคการผลิตเป็นฮาร์ดแวร์ ภาคบริการก็คือซอฟต์แวร์ และเป็นซอฟต์แวร์ที่จีนขาดทักษะในการผลิตและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัญหาหนึ่งก็คือ การพัฒนาให้พนักงานชาวจีนมีหัวใจบริการ ดังเช่นพนักงานชาวญี่ปุ่นที่เอาใจใส่ลูกค้าตลอดเวลา นับจากวินาทีที่ลูกค้าเดินเข้าร้าน จนเดินออกจากร้าน พนักงานโค้งคำนับลูกค้าครั้งแล้วครั้งเล่าจนนับไม่ถ้วน

จีนสามารถผลิตอะไรก็ได้ให้กับคนทั้งโลก แต่กลับ (ยัง) ไม่สามารถพัฒนา บุคลากรในภาคบริการของตนให้สามารถครองใจลูกค้าได้

จีนก็ตระหนักถึงข้อด้อยด้านนี้ของตน จึงหันมาให้ความสนใจต่อภาคบริการ และต้องการพัฒนาภาคบริการอย่างต่อเนื่องให้เป็นภาคที่ทำเงินให้กับประเทศ หลังภาคการผลิตกำลังเผชิญกับทางตัน ยอดการส่งออกลด กอปรกับต้นทุนในการ ผลิตที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้จีนอาจไม่สามารถ แข่งขันกับทั่วโลกในด้านการผลิตสินค้าราคาถูกแต่เพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป

แผนการพัฒนาภาคบริการจึงได้รับ การบรรจุไว้ในแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (แผน 5 ปี) ฉบับที่ 11 ปี 2005-2010 (the 11th Five-Year Plan for National Economic and Social Development 2005-2010) โดยจีนตั้งเป้าไว้ว่า จะพัฒนาภาคบริการของตนให้ทำ รายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 43.3% ของรายได้ประชาชาติทั้งหมดภายในประเทศ (GDP) ภายในปี 2010 และเพิ่มขึ้นเป็น 50% ของ GDP ภายในปี 2020

สำหรับภาคบริการที่จีนเน้นและให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ คือ บริการด้าน การขนส่ง บริการด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัย (Modern Logistics) บริการด้านการเงิน บริการด้านข้อมูลข่าวสาร และบริการด้านพาณิชยกรรมและวิชาชีพ ซึ่งล้วนแต่เป็นบริการที่เอื้อต่อการพัฒนาภาคการผลิต ซึ่งยังคงเป็นสาขาที่ทำรายได้สูงให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

ถือได้ว่าจีนยังคงตั้งมั่นที่จะพัฒนา "ฮาร์ดแวร์" (ภาคการผลิต) ของตนให้มีประสิทธิภาพสูงยิ่งๆ ขึ้นไป โดยใช้ "ซอฟต์แวร์" หรือบริการใน 5 สาขาดังกล่าวมาเป็นตัวช่วย โดยยังไม่ได้มองถึงบริการที่ให้ ความรู้สึก "ซอฟต์" หรือผ่อนคลายในความ หมายที่คนไทยมักหมายถึงเมื่อกล่าวถึงคำว่า "บริการ" เช่น บริการนวด สปา ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ฯลฯ

การเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกในจีน ภายใต้ข้อตกลงกับ WTO

ธุรกิจค้าปลีกเป็นส่วนหนึ่งของ บริการด้านพาณิชยกรรมและวิชาชีพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริการ 5 สาขาหลักที่จีน ให้ความสำคัญสูง ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และเป็นธุรกิจที่จีนได้เปิดเสรีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับมาโดยตลอด นับจากวันที่จีนเข้าเป็น สมาชิกขององค์การการค้าโลก หรือ WTO เมื่อปี ค.ศ.2001 (พ.ศ.2544)

ข้อตกลงที่จีนให้ไว้กับ WTO ในเรื่องการอนุญาตให้ห้างค้าปลีกต่างชาติ สามารถเข้ามาเปิดกิจการในจีนได้นั้น มีข้อกำหนดมากมาย คือ

1) นักลงทุนต่างชาติสามารถเข้ามาเปิดกิจการค้าปลีก ค้าส่ง แฟรนไชส์ (หรือเรียกโดยรวมว่าบริการกระจายสินค้า (Distribution Services)) ได้เฉพาะเพียงบางเมืองเท่านั้นคือ ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 5 แห่ง ได้แก่ เซินเจิ้น (Shenzhen) ชูไห่ (Zhuhai) ชานโตว (Shantou) เซียะเหมิน (Xiamen) และไหหนาน (Hainan) รวมทั้งในอีก 6 มหานคร คือ ปักกิ่ง (Beijing) เซี่ยงไฮ้ (Shanghai) เทียนจิน (Tianjin) กวางโจว (Guangzhou) ต้าเหลียน (Dalian) และชิงเต่า (Qingdao)

2) การลงทุนดังกล่าวจะต้องเป็น การร่วมทุนกับนักลงทุนชาวจีนเท่านั้น

3) เฉพาะในปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ อนุญาตให้มีการร่วมทุนระหว่างผู้ประกอบการชาวจีนและต่างชาติได้ไม่เกิน 4 ราย สำหรับในนครอื่นๆ ที่เหลือ อนุญาตให้มีการร่วมทุนไม่เกิน 2 ราย

4) ทันทีที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การ การค้าโลก จีนได้อนุญาตให้มีการร่วมทุนระหว่างชาวจีนและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นในอีก 2 เมืองคือ เฉิงโจว (Zhengzhou) และ หวู่ฮั่น (Wuhan)

5) ภายใน 2 ปีหลังจากที่จีนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก จีนอนุญาตให้นักลงทุนชาวต่างชาติสามารถเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในการร่วมทุนในธุรกิจค้าปลีกกับชาวจีน แต่เฉพาะในเมืองหลวงของทุก มณฑลของประเทศเท่านั้น

6) จีนอนุญาตให้มีการร่วมทุนในธุรกิจค้าปลีกระหว่างชาวจีนกับชาวต่างชาติเพิ่มเติมในเมืองฉงชิ่ง (Chongqing) และหนิงโบ (Ningbo)

จะเห็นได้ว่าในช่วงเริ่มแรกของการเข้าเป็นสมาชิก WTO จีนมีการคุมเข้มการเข้ามาของห้าง ค้าปลีก-ค้าส่งจากต่างชาติ และจำกัดพื้นที่ในการลงทุนจากต่างชาติ ถือเป็นการเปิดเสรีแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้เวลาผู้ประกอบการภายในประเทศได้ตั้งตัวสักระยะหนึ่งก่อน

อย่างไรก็ตาม จีนไม่อนุญาตให้บริษัทต่างชาติดำเนินธุรกิจค้าปลีกในสินค้า ต่อไปนี้ ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด

1) หนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร ไม่อนุญาตให้ต่างชาติทำธุรกิจค้าปลีกเฉพาะ ในปีแรกหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก

2) สินค้าเวชภัณฑ์ ยาฆ่าแมลง แผ่นฟิล์มพลาสติกคลุมดินที่ใช้ในการเกษตร (Mulching Films) และน้ำมันที่ผ่านกระบวน การแล้ว (processed oil) เฉพาะ 3 ปีแรก หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก

3) ปุ๋ยเคมี เฉพาะ 5 ปีแรกหลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก

แต่หากพ้นระยะเวลา 5 ปี หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก แล้ว (คือหลังจากปี 2549) เงื่อนไขในการทำธุรกิจค้าปลีกทุกประการจะได้รับการยกเลิก เช่น การจำกัดพื้นที่การลงทุนของต่างชาติเฉพาะในบางเมืองใหญ่ๆ ฯลฯ แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลจีนยังคงไม่อนุญาตให้ ต่างชาติเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในกรณีที่ธุรกิจค้าปลีกซึ่งจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตหลายรายนั้นมีสาขาย่อย (Chain stores) มากกว่า 30 สาขา และเป็นธุรกิจที่จำหน่าย สินค้าต่อไปนี้

1) จักรยานยนต์ (เฉพาะช่วงระยะเวลา 5 ปี หลังจากที่จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ซึ่งหากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ข้อกำหนดด้านการถือหุ้นจะได้รับการยกเลิก)

2) สินค้าที่ได้รับการระบุข้างต้น และในภาคผนวก 2 ของพิธีสารว่าด้วยการ เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกของจีน (Annex 2 of the Protocol of China's WTO Accession)

กฎหมายควบคุมธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่งโดยนักลงทุนต่างชาติในปัจจุบัน

เพื่อเป็นการตั้งรับการเปิดเสรีธุรกิจค้าปลีกอย่างเต็มที่ ภายหลังการควบคุมการลงทุนธุรกิจค้าปลีกจากต่างชาติ จะต้องสิ้นสุดลงในปี 2549 ตามพันธสัญญาที่จีนให้ไว้กับ WTO เมื่อขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์กร ดังนั้นในปี 2547 จีนจึง ได้ยกร่างกฎหมาย Regulations for the Administration of Foreign Invested Enterprises in the Commercial Sector (ต่อไปนี้เรียกว่า "กฎระเบียบ FIE Commercial Sector") ขึ้นมาเพื่อควบคุมการลงทุนด้านค้าปลีกของต่างชาติที่จะทะลักเข้ามาในประเทศเรื่อยๆ โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ค.ศ.2004 และครอบคลุมทั้งธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก แฟรนไชส์ และธุรกิจนายหน้าที่เรียกเก็บค่าคอมมิชชั่น เช่น นายหน้าค้าประมูล เป็นต้น

ผลของการนำกฎระเบียบ FIE Commercial Sector มาใช้คือ นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นผู้ถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว (wholly-owned) ได้ในกิจการกระจายสินค้า โดยไม่ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนชาวจีน ยกเว้นในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติได้เปิดกิจการมากกว่า 30 สาขาแล้วและทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าบางประเภทที่อยู่ในรายการควบคุม ได้แก่ เวชภัณฑ์ ยาฆ่าแมลง แผ่นฟิล์มพลาสติกที่ใช้ในการเกษตร ปุ๋ยเคมี น้ำมันที่ผ่านกระบวนการแล้ว (processed oil) อาหารหลัก (Staple food) น้ำมันพืช น้ำตาล และฝ้าย ในกรณีดังกล่าวกิจการนั้นๆ จะต้องเป็นกิจการ ร่วมทุนกับชาวจีน โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวห้ามมิให้นักลงทุนต่างชาติประกอบธุรกิจค้าส่งสินค้าเกลือและยาสูบและธุรกิจค้าปลีก ยาสูบ

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ไม่มีข้อกำหนดระบุไว้ในกฎระเบียบ FIE Commercial Sector ฉบับปี 2004 แต่ปรากฏอยู่ในกฎระเบียบว่าด้วยการจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ ปี 2007 (Regulations for the Administration of Commercial Franchising Operations: 2007 Franchising Regulations) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2007 โดยใจความสำคัญในกฎระเบียบฯ คือ ผู้ประกอบการจะสามารถดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ได้ก็ต่อเมื่อตนได้เปิดร้านของตนเองเป็นจำนวน 2 ร้านเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปีมาก่อนจึงจะสามารถขายแฟรนไชส์ธุรกิจของตนให้แก่ผู้อื่นได้

ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลจีนจากนักลงทุนต่างชาติในด้านธุรกิจค้าปลีก

ถึงแม้จะมีการเปิดเสรีในธุรกิจกระจายสินค้าภายใต้กรอบของข้อผูกพันกับองค์การการค้าโลกแล้วก็ตาม แต่กฎระเบียบอันเคร่งครัดของจีนก็ยังคงควบคุมการขยายสาขาใหม่ของธุรกิจกระจายสินค้าโดยนักลงทุนต่างชาติ โดยหอการค้า สหรัฐอเมริกาในประเทศจีนแย้งว่า กฎระเบียบ FIE Commercial Sector นี้ยังคง มีข้อกำหนดที่เลือกปฏิบัติระหว่างนักลงทุน ต่างชาติกับนักลงทุนของจีนเอง เช่น ข้อกำหนดในเรื่อง บริษัทค้าปลีกต่างชาติที่ทำการเปิดสาขาในจีนมาแล้วมากกว่า 30 สาขาและมีพื้นที่ประกอบการมากกว่า 300 ตารางเมตร ซึ่งต้องการจะเปิดสาขาทำการ เพิ่ม จะต้องยื่นใบสมัครขอเปิดสาขาเพิ่มและจะต้องได้รับการพิจารณาจากรัฐบาลจีนใน 3 ระดับคือ รัฐบาลเขต รัฐบาลมณฑล และรัฐบาลกลาง และบริษัทจะได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากหน่วยงานจดทะเบียนธุรกิจในพื้นที่ ก็ต่อเมื่อกระทรวงพาณิชย์ของจีนได้อนุมัติแล้วเท่านั้น แต่สำหรับผู้ประกอบการชาวจีนนั้น หากต้องการเปิดสาขาร้านค้าเพิ่มขึ้น ก็สามารถยื่นใบสมัครเปิดสาขาใหม่กับหน่วยงานจดทะเบียนธุรกิจในพื้นที่นั้นๆได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติถึง 3 ระดับดังเช่นในกรณีของนักลงทุนต่างชาติ (ดู http://www. amchamchina.org/article/4142)

นอกจากนี้ จีนยังคงข้อกำหนดว่าด้วยการถือครองหุ้นของชาวต่างชาติในธุรกิจต่างๆ เช่น เวชภัณฑ์ ยาฆ่าแมลง ฟิล์มพลาสติกที่ใช้ในการเกษตร ปุ๋ย อาหาร น้ำมันกลั่น น้ำมันพืช น้ำตาล ฝ้าย ฯลฯ โดยอนุญาตให้ต่างชาติถือครองหุ้นในสัดส่วน 49% เท่านั้น ยกเว้นในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติถือสัญชาติฮ่องกงหรือมาเก๊า ซึ่งสามารถถือหุ้นได้ในสัดส่วน 65% (ตามเงื่อนไขในข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างจีนกับฮ่องกงหรือ CEPA) สำหรับการค้ายาสูบ คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission: NDRC) ได้กำหนดกฎระเบียบใหม่เกี่ยวกับการออกใบอนุญาตการค้ายาสูบ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2007 โดยไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการต่างชาติทำธุรกิจใดๆ ที่เกี่ยวกับการค้ายาสูบทั้งส่งและปลีก ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกยาสูบที่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งใบอนุญาตประกอบการได้หมดอายุภายในปี 2008 แล้ว จะไม่มี สิทธิยื่นขอต่อทะเบียนประกอบการอีก

ข้อกำหนดอีกประการหนึ่งของจีนที่หอการค้าสหรัฐฯ ในประเทศจีนแย้งว่า เป็นการเลือกปฏิบัติกับนักลงทุนต่างชาติ คือข้อกำหนดที่เกี่ยวกับการจัดโซนนิ่งหรือเขตการค้าสำหรับผู้ค้าปลีก (Commercial Zoning) โดยนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการจะเปิดที่ทำการสาขาใหม่จะต้องแสดงใบ รับรองจากหน่วยงานของรัฐบาลท้องถิ่นก่อนว่า สถานที่ที่นักลงทุนยื่นขออนุญาตเปิดสาขานั้น เป็นไปตามแผนการจัดผังเมืองของเมืองนั้นๆ หรือไม่ ซึ่งหากสถานที่ดังกล่าวอยู่ภายในบริเวณแผนการจัดโซนนิ่งของเมือง ก็จะต้องมีการจัดประชาพิจารณ์ก่อน ซึ่งขั้นตอนดังกล่าวอาจใช้เวลาถึง 3 เดือน อีกทั้งในบางกรณี สถานที่บางแห่งอาจไม่ได้อยู่ภายในโซนนิ่งทั้งหมด ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นอาจไม่สามารถ ออกใบรับรองให้ได้ ซึ่งหากไม่มีใบรับรองยืนยันจากรัฐบาลท้องถิ่นว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นไปตามแผนการจัดโซนนิ่งของเมืองหรือไม่แล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็จะไม่อนุมัติแผนการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าวให้แก่นักลงทุนต่างชาติ ในทางตรงกันข้าม ไม่มีข้อกำหนดว่านักลงทุนชาวจีนจะต้องยื่นใบรับรองเรื่องโซนนิ่งให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณา

สำหรับในเรื่องทุนจดทะเบียนนั้น แม้ว่ากฎหมาย FIE Commercial Sector ไม่ได้ระบุระดับของทุนจดทะเบียนสำหรับกิจการประเภทธุรกิจค้าปลีก ค้าส่ง แฟรนไชส์ และธุรกิจนายหน้าไว้อย่างชัดเจน แต่ระบุให้บริษัทจะต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายบรรษัท (Company Law) แทน ซึ่งเป็นกฎหมายอีกหนึ่งในหลายๆ ฉบับที่นักลงทุนต่างชาติ ต้องศึกษาหากคิดจะลงทุนในจีน นอกจากนี้ ธุรกิจของการลงทุนจากต่างประเทศจะมีระยะเวลาในการประกอบการได้ไม่เกิน 30 ปี แต่เขตทางตะวันตกของประเทศจีน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่รัฐส่งเสริมการลงทุนนั้น ให้มีระยะเวลาประกอบการได้ไม่เกิน 40 ปี

จะเห็นได้ว่า แม้จีนจะเปิดเสรีธุรกิจ ค้าปลีก-ค้าส่ง ให้สอดคล้องกับคำมั่นสัญญา ที่ตนให้ไว้กับ WTO แล้วก็ตาม แต่กฎระเบียบใหม่ๆ ที่รัฐบาลจีนออกมาอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถเป็นข้อจำกัดในการลงทุนในธุรกิจดังกล่าวจากต่างชาติได้ แต่อย่างน้อย กฎระเบียบที่รัฐบาลจีนคอยพิจารณาทบทวนและปรับปรุง อีกทั้งได้ประกาศเป็นทางการอย่างชัดเจน ก็เป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกให้นักลงทุนต่างชาติทราบว่า จีนตั้งใจที่จะพัฒนาภาคบริการของตนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยพยายามรักษาสมดุลระหว่างการเปิดเสรีตลาดภายในประเทศให้กับต่างชาติกับการช่วยเหลือปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศ ให้มีเวลาตั้งตัวรองรับการแข่งขัน วิธีการเปิดตลาดแบบค่อยเป็นค่อย ไปนี้ แม้จะทำให้นักลงทุนต่างชาติปวดหัวอยู่บ้าง แต่ก็ถือเป็นกลยุทธ์ที่น่าศึกษา และได้ผลสำหรับประเทศที่มีตลาดใหญ่ขนาด 2 พันล้านคนแห่งนี้

หมายเหตุ:
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเรื่อง "เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนและการเข้าสู่ตลาดจีนของภาคบริการไทย" โดย สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (www.itd.or.th)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.