|
Operating System สถาปัตยกรรมบนมือถือ
โดย
นภาพร ไชยขันแก้ว
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ความเคลื่อนไหวของระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถือในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นระบบแอนดรอยด์ของกูเกิ้ล หรือแบล็คเบอรี่ค่ายริม รวมไปถีงวินโดวส์ โมบายของไมโครซอฟท์ ที่เดินทางมาทัวร์ในประเทศไทยสร้างสีสันให้ตลาดโทรศัพท์คึกคักไม่น้อย
ระบบปฏิบัติการหรือ operating system: OS เป็นระบบที่ออกแบบเพื่อให้โทรศัพท์มือถือสามารถใช้งานภาพ เสียง ข้อมูล ในรูปแบบมัลติมีเดียผ่านระบบอินเทอร์เน็ตง่ายมากขึ้น ทำให้โทรศัพท์มือถือใช้งานอย่างอื่นได้ นอกเหนือจากการ ใช้โทรศัพท์โทร-เข้าออก
ระบบปฏิบัติการที่ให้บริการอยู่ในเมืองไทยมีประมาณ 5 ราย คือ 1. ระบบซิมเบียน (symbian) ของพันธมิตรกลุ่มโนเกีย 2. ระบบวินโดวส์ โมบาย (windows mobile) ค่ายไมโครซอฟท์ 3. ระบบไอโฟน (i-phone) ค่ายแอปเปิล 4. ระบบแบล็ค เบอรี่ (BlackBerry) ของริม (Research In Motion) และ 5. ระบบแอนดรอยด์ (android) ของกูเกิ้ล
เป้าหมายของการสร้างระบบปฏิบัติ การบนโทรศัพท์มือถือ เพื่อตอบสนองการใช้งานของผู้ใช้ที่ต้องการใช้งานด้านอินเทอร์เน็ตเพื่อรับ-ส่งข้อมูลทุกที่ทุกเวลา แต่ ระบบปฏิบัติการจะต้องให้ผู้ใช้รู้สึกว่าใช้งานง่ายและเป็นมิตร เหมือนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บอกไว้ว่าต้องเป็นระบบ friendly user
แต่ความสำเร็จของระบบปฏิบัติการไม่ได้ขึ้นอยู่กับคำสั่งการใช้งานที่อยู่ในระบบเท่านั้น ทว่า โทรศัพท์มือถือต้องได้รับการออกแบบให้สอดคล้องกับการใช้งาน อย่างเหมาะสม และโทรศัพท์ที่ใช้ร่วมกับระบบปฏิบัติการในปัจจุบัน จะเป็นโทรศัพท์ รุ่นสมาร์ทโฟนที่มีหน้าจอกว้างเพื่อรองรับการใช้งานในรูปแบบระบบสัมผัส
จึงทำให้ระบบปฏิบัติการบนโทรศัพท์มือถือเกิดขึ้นจากการร่วมมือของผู้ผลิตโทรศัพท์เป็นหลัก อย่างเช่นระบบซิมเบียน มีพันธมิตรคือ โนเกีย อีริคสัน พานาโซนิค ซัมซุง ซีเมนส์ โซนี่ อีริคสันร่วมกันก่อตั้งบริษัท ซิมเบียน เมื่อปี 2541 และได้ขยายความร่วมมือก่อตั้งเป็นมูลนิธิซิมเบียนเมื่อมิถุนายน 2551
ซิมเบียนจึงมีพันธมิตรมากขึ้น เช่น เอนทีที โดโคโม ประเทศญี่ปุ่น เอทีแอนด์ที สหรัฐอเมริกา แอลจี อิเล็กทรอนิกส์ และซัมซุง จากเกาหลีใต้ เอสทีไมโครอิเล็ก ทรอนิกส์ เท็กซัส อินสทรูเม้นท์ และโวดาโฟน
ส่วนระบบปฏิบัติการแเอนดรอยด์ ของกูเกิ้ล เปิดตัวเมื่อปี 2550 ร่วมพัฒนากับพันธมิตรจำนวน 34 ราย เช่น โมโตโรล่า เอชทีซี แต่ในขณะที่ระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ โมบาย ค่ายไมโครซอฟท์จะร่วมมือกับพันธมิตรแตกต่างจากระบบซิมเบียน และแอนดรอยด์
ไมโครซอฟท์มีบทบาทเป็นทั้งผู้ผลิต และพัฒนาวินโดวส์ โมบายด้วยตนเอง หรือ เป็นผู้ผลิตที่อยู่ในฝั่งของซอฟต์แวร์ ส่วนพันธมิตรจะเป็นผู้ผลิตฮาร์ดแวร์เพื่อรองรับการใช้งานของระบบวินโดวส์ โมบาย และได้ร่วมมือกับพันธมิตรผู้ผลิต เช่น เอชพี เอชทีซี แอลจี ซัมซุง โซนี่ อีริคสัน และอซุส
ส่วนระบบไอโฟนของแอปเปิล และ แบล็คเบอรี่ของริม จะมีรูปแบบการทำงาน ที่คล้ายกันคือเป็นทั้งผู้ผลิตโทรศัพท์และพัฒนาระบบปฏิบัติการด้วยตนเอง
แต่ระบบปฏิบัติการของแต่ละค่าย ในการใช้งานมีทั้งข้อดีและข้อด้อย ในฝั่งของผู้ใช้เมื่อเปรียบเทียบการใช้งาน พบว่าระบบปฏิบัติการซิมเบียนของโนเกียใช้งานค่อนข้างเสถียร ไม่สร้างปัญหาง่ายๆ มีคอนเทนต์จำนวนมาก และคนไทยส่วนใหญ่จะใช้ระบบนี้ เพราะส่วนหนึ่งโทรศัพท์ ที่รองรับระบบราคาไม่สูง แต่ข้อด้อยของระบบซิมเบียนเป็นระบบปิดไม่สามารถให้นักพัฒนาภายนอกร่วมพัฒนาโปรแกรมได้
ส่วนระบบวินโดวส์ โมบาย ค่ายไมโครซอฟท์พบว่าใช้ไปสักพักจะเกิดอาการช้าและต้อง Format ใหม่บ่อยครั้ง และโปรแกรมค่อนข้างหายาก แพง ส่วนระบบสัมผัสไม่ไว
ไอโฟนของแอปเปิลมีจุดเด่นหน้าจอใหญ่ เหมาะสมใช้ระบบสัมผัส ทำให้การใช้งานว่องไวเมื่อเล่นอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะบันเทิง ดูหนัง ฟังเพลง แต่ก็พบปัญหาหลายๆ อย่าง เช่นไม่มี Flash Player ซึ่งเครื่องอื่นๆ มีและไม่สามารถอ่าน wapsite ส่วนบริการรับข้อความ SMS จะลบบางอันไม่ได้ ต้องลบทั้งหมด แต่ก็มีซอฟต์แวร์ให้เลือกใช้มากมายจาก App Store ที่มีให้เลือกถึง 40,000 รายการ
แอนดรอยด์สามารถปรับแต่งหรือนำข้อมูลที่ใช้เป็นประจำมาไว้บนหน้าจอได้ ส่งวิดีโอผ่านอีเมลและนำข้อมูลต้นฉบับเก็บไว้บนยูทูปได้โดยตรง และนักพัฒนาสามารถพัฒนาโปรแกรมได้ง่ายมาก เพราะ ระบบปฏิบัติการและแพลตฟอร์มของแอนดรอยด์เป็นโปรแกรมฟรี หรือเรียกว่า Open source
ระบบปฏิบัติการแบล็คเบอรี่มีจุดเด่นรับ-ส่งอีเมลได้รวดเร็วภายใต้บริการ push mail โดยไม่ต้องเข้าไปในระบบ แต่มีข้อเสียจะได้รับแต่ข้อความเพียงอย่างเดียวส่วนภาพรับไม่ได้
แม้ว่าระบบปฏิบัติการจะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและผู้สร้างระบบปฏิบัติการ ได้พัฒนาระบบ ให้ทันสมัยเพิ่มขึ้น พร้อมกับพ่วงการตลาดเพื่อชักจูงให้ลูกค้าหันมาใช้ระบบปฏิบัติการของตนเองให้มากที่สุด
ปัจจุบันจากการใช้ระบบปฏิบัติการทั่วโลก พบว่าระบบซิมเบียนมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดถึง 46.6% ระบบไอโฟนมีส่วนแบ่ง 17.3% ระบบแบล็คเบอรี่ มีสัดส่วน 15.3% และวินโดวส์ โมบายมีสัดส่วน 13.5% สำหรับระบบแอนดรอยด์เป็นบริการใหม่จึงยังไม่มีส่วนแบ่งการตลาด ชัดเจน
แต่สำหรับประเทศไทยในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ระบบปฏิบัติการหลายค่ายเริ่มสร้างสีสันในตลาดเพิ่มขึ้น โดยร่วมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์และผู้ผลิตมือถือร่วมมือกันทำตลาด
โดยเฉพาะระบบแอนดรอยด์ของกูเกิ้ลที่บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ร่วมมือกับบริษัท เอชทีซี (ไทยแลนด์) จำกัด เปิดตัวโทรศัพท์รุ่นสมาร์ทโฟน HTC Magic ไป เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โดย จัดรายการโปรโมชั่นและจำหน่ายสมาร์ทโฟน HTC Magic ราคา 25,900 บาท
แม้ว่าระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จะเป็นระบบใหม่ล่าสุดที่เข้ามาในตลาด แต่ก็มีการคาดการณ์ไว้ว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยหลายปัจจัย คือราคาจำหน่ายของเครื่องมีแนวโน้มจะต่ำกว่าระบบปฏิบัติการอื่น และการใช้โครงสร้างโอเพ่นซอร์สที่รองรับแอพพลิเคชั่นอิสระ รวมถึงการรองรับบริการคลาวด์คอมพิวติ้งของกูเกิ้ล เช่น บริการฝากไฟล์ไม่จำกัดพื้นที่ หรือแอพพลิเคชั่นออนไลน์หลายรูปแบบ
นอกจากเอไอเอสจะร่วมทำตลาดกับบริษัท เอชทีซี เปิดตัวระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์แล้ว ยังได้ร่วมกับค่ายริมเปิดตัวโทรศัพท์มือถือแบล็คเบอรี่รุ่น BlackBerry Storm ในราคา 29,900 บาท ซึ่งเป็นการกลับมาทำตลาดอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่บริษัทริมเงียบหายไปจากตลาดไทยกว่า 4-5 ปี ทำให้ยอดขายรวมของแบล็คเบอรี่มีประมาณ 2 หมื่นเครื่องเท่านั้น และที่ผ่านมาบริษัทริมทำตลาดร่วมกับผู้ให้บริการ เพียง 2 ราย คือ เอไอเอส และทรู รวมถึง ล่าสุดทรูได้จัดรายการส่งเสริมการขายร่วมกับแบล็คเบอรี่ รุ่นโบลด์ ในราคา 22,900 บาท
ยอดขายที่มีจำนวนไม่มากของแบล็คเบอรี่ อาจเป็นเพราะว่าระบบปฏิบัติการแบล็คเบอรี่มีจุดแข็งให้บริการ push mail ที่เหมาะกับองค์กรธุรกิจและมีค่าใช้จ่ายสูงและต้องติดตั้งระบบเซิร์ฟเวอร์ เพิ่มเติมเพื่อรองรับบริการ push mail ในช่วงแรกที่เข้ามาทำตลาดในเมืองไทย
แต่การกลับมาใหม่ครั้งนี้ บริษัทริมได้พัฒนาระบบปฏิบัติแบล็คเบอรี่ให้ผู้ใช้ทั่วไปใช้งานง่ายมากขึ้น ด้วยการออกแบบโทรศัพท์ให้หน้าจอเป็นระบบสัมผัส ที่บริษัทเรียกว่า clickable และสิ่งที่บริษัทพยายามจะสร้างให้เป็นจุดขายอีกส่วนหนึ่ง คือโปรแกรมการพูดคุย หรือที่เรียกว่า Instant Massage ที่รองรับการทำงานของ Fackbook Window Live Messenger ยาฮู และกูเกิ้ล
ความเคลื่อนไหวของค่ายไมโครซอฟท์ได้จัดนิทรรศการผ่านบริษัทไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ภายใต้ชื่อว่า Windows Mobile Experience Tour ระหว่างวันที่ 10-14 มิถุนายน และเป็นโปรแกรมที่เดินทางให้ความรู้เกี่ยวกับระบบการใช้งานของระบบปฏิบัติการวินโดวส์ โมบายทั่วเอเชีย
สำหรับระบบปฏิบัติการวินโดวส์โมบายรุ่นล่าสุดที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน คือ เวอร์ชั่น 6.1 เป็นรุ่นใหม่ที่บริษัทพยายามพัฒนาการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือให้เทียบเท่ากับการใช้งานคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะการโต้ตอบผ่านระบบข้อความ ทำให้ข้อความเชื่อมโยงกันหมด ผู้ใช้ไม่สับสนว่ากำลังคุยเรื่องอะไร
และไมโครซอฟท์ได้แสดงให้เห็นจุดเด่นอีกส่วนหนึ่งในการเข้าถึงบริการต่างๆ ที่มี 2 หมื่นรายการ แต่บริการเหล่า นั้นลูกค้าต้องรู้ว่าบริการของไมโครซอฟท์มีทั้งเสียค่าใช้จ่ายและฟรี
ด้านไอโฟนที่ร่วมมือกับบริษัททรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือทรู ได้สร้างกระแสตื่นตัวให้กับผู้ใช้เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ที่ขายเครื่องไอโฟนรองรับการใช้งานระบบโครงข่าย 3G ของค่ายทรู ช่วยให้ตลาดไอโฟนขยายวงกว้างมากขึ้น
แม้ว่าทุกค่ายจะพยายามสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นในตลาดมากเพียงใดก็ตาม แต่คนที่ตัดสินใจว่าระบบไหนเหมาะสมที่สุดก็คือ ลูกค้า และสิ่งที่ลูกค้าต้องการมากที่สุดก็คือ การใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อนยุ่งยาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|