|
GMS in Energy Sector ธุรกิจพลังงานกับโอกาสที่ใกล้ตัว
โดย
รับขวัญ ชลดำรงกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ฉบับที่แล้ว ดิฉันมีโอกาสเขียนถึงภาพกว้างของกรอบความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion) ให้ท่านผู้อ่านได้ทราบถึงความเป็นมาและความร่วมมือที่สำคัญ ซึ่งรัฐบาลประเทศต่างๆ ร่วมกันสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อประโยชน์โดยรวมของประชาชนในอนุภูมิภาคดังกล่าวแล้ว สำหรับฉบับนี้ ดิฉันจะนำท่านผู้อ่านเข้าไปทำความรู้จักกับโครงการที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือนี้ให้มากขึ้น
ดังที่เกริ่นถึงการพัฒนาโครงการต่างๆ ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าวในฉบับที่แล้ว จะเห็นได้ว่าโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือนี้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยจุดประสงค์ที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามวัตถุประสงค์ 3C คือ Connectivity Competitiveness และ Community
โครงการหนึ่งที่แสดงให้เห็นการพัฒนาที่ต่อเนื่องของกรอบความร่วมมือ GMS นี้ ได้แก่ โครงการเปิดสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว สายที่สอง ช่วงวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากแผนการสร้างความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ในด้านการขนส่ง ซึ่งจะเปิดประตูการค้าเชื่อมโยงกัน จากจังหวัดมุกดาหาร ประเทศไทย ผ่านไปยังประเทศลาว แขวงสะหวันนะเขต และเชื่อมโยงไปปลายทางที่ประเทศ เวียดนาม เส้นทางเส้นนี้เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างทั้งสามประเทศได้อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการท่องเที่ยว และทางด้านการขนส่งระหว่าง ประเทศ
การพัฒนาโครงการอีกด้านหนึ่งซึ่งดิฉันอยากจะนำเสนอให้เห็นภาพกว้างมากขึ้นในฉบับนี้คือ โครงการพัฒนายุทธศาสตร์ ในด้านพลังงานของอนุภูมิภาค (GMS Energy Strategy) ทั้งนี้ เนื่องจากโครงการดังกล่าวได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดมาภาย ใต้วิสัยทัศน์เดียวกันของรัฐบาลทุกประเทศสมาชิกว่า การพัฒนาทางด้านพลังงานที่ยั่งยืนย่อมเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ในการ นำไปสู่ความยั่งยืนทางด้านเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ ต่อไป
- ความพร้อมและความได้เปรียบของประเทศต่างๆ ใน GMS ด้านพลังงานอันจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
ประเทศสมาชิกของกรอบความร่วมมือ GMS นั้น ล้วนแต่มีความโดดเด่นในด้าน ของทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถนำมาผลิต เป็นเชื้อเพลิงได้ที่แตกต่างกันไป
สำหรับประเทศไทย ทรัพยากร ธรรมชาติที่มีอยู่ค่อนข้างมาก ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติที่พบอยู่ทั่วไปในบริเวณอ่าวไทย นอกจากข้อได้เปรียบทางด้านทรัพยากร ธรรมชาติแล้ว ทรัพยากรทางด้านบุคคลและเทคโนโลยีของประเทศไทยนั้นก็มีค่อนข้างสมบูรณ์
สำหรับประเทศลาวนั้น มีแหล่งแร่ธาตุเชื้อเพลิงแฝงตัวอยู่ในประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งถ่านหิน และแร่ธาตุเชื้อเพลิง อื่นๆ นอกจากนี้ ประเทศลาวยังเป็นประเทศ หนึ่งที่มีการพัฒนาทางด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายที่ต้องการเป็นแบตเตอรี่ของเอเชีย มีการพัฒนาผลิตกระแสไฟฟ้าในลักษณะของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจำนวนมาก
ประเทศพม่า เป็นประเทศที่ถือว่า มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากร ธรรมชาติสูงมาก และทรัพยากรเหล่านั้น ถือว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ด้วยนโยบายของประเทศซึ่งยังค่อนข้างปิดประเทศ ไม่เปิดรับการลงทุนของต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศทางตะวันตกเท่าใดนัก แต่สำหรับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคเดียวกันเช่นนี้ย่อมเป็นโอกาสอันดีของนักธุรกิจไทย
ประเทศกัมพูชานั้น แม้แหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้นั้นจะไม่ได้มีอยู่ในลักษณะที่โดดเด่นเท่าใดนัก แต่ด้วยความมั่นคงทางด้านปัจจัยทางการเมือง จะช่วยส่งเสริมให้ การพัฒนาทางด้านพลังงานทางเลือกใหม่ๆ ดังเช่น พลังงานนิวเคลียร์นั้นสามารถดำเนินการให้เป็นจริงได้รวดเร็วและมั่นคง
ประเทศเวียดนาม มีการพัฒนาทางด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากความสำเร็จของประเทศเวียดนามในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ได้สำเร็จแล้ว และยังคงมีโครงการที่จะพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์เพิ่มเติมอีกในอนาคต
สุดท้าย สำหรับแคว้นยูนนานของประเทศจีนนั้น ประเทศจีนถือเป็นมหาอำนาจ ในการพัฒนาทางด้านพลังงานที่สำคัญอีกประเทศหนึ่งของโลก มีความพร้อมทั้งทางด้านของทรัพยากรธรรมชาติ ขนาดของพื้นที่ จำนวนประชากร นโยบายส่งเสริมของรัฐบาล เทคโนโลยีทางด้านธุรกิจพลังงานทุกด้าน
จากข้อมูลความได้เปรียบทั้งหมดของ ทุกประเทศที่กล่าวมาข้างต้น ย่อมสามารถแสดงให้เห็นศักยภาพที่มีอยู่ของแต่ละประเทศ ในกลุ่ม GMS ได้อย่างชัดเจน ดังนั้น กรอบความร่วมมือที่ได้มีการจัดตั้งขึ้นเพื่อเสริมสร้างยุทธศาสตร์ทางด้านพลังงานนี้ ย่อมถือว่าเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพ ความอุดมสมบูรณ์ที่มีอยู่เดิมของประเทศเหล่านี้ให้สามารถพัฒนาไปได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ด้วยการเปิดโอกาสให้นักลงทุนประเทศหนึ่งไปลงทุนในอีกประเทศหนึ่ง ช่วยในการลดอุปสรรคในการลงทุน
- กฎหมายและกฎระเบียบที่ควบคุมเกี่ยวกับธุรกิจทางด้านพลังงานของประเทศต่างๆ ใน GMS
หากพิจารณาในแง่ของนโยบาย หรือ วิสัยทัศน์ของประเทศต่างๆ ในกลุ่มประเทศ GMS ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานที่สะท้อน ออกมาทางด้านกฎหมายและระเบียบของแต่ละประเทศแล้ว จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศ มีนโยบายทางด้านพลังงานที่มีความสอด คล้องกัน กล่าวคือ ธุรกิจพลังงานถือเป็นธุรกิจที่รัฐบาลส่งเสริมให้นักลงทุน ไม่ว่านักลงทุนภายในประเทศ หรือนักลงทุนต่างประเทศเข้ามาดำเนินการพัฒนาอย่างมากและต่อเนื่อง แต่เนื่องจากธุรกิจพลังงานนั้น มีความสำคัญที่อาจส่งผลกระทบไปถึงความ เป็นอยู่ที่สำคัญของประชาชนในประเทศ รัฐบาลในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในประเทศย่อมต้องการคงอำนาจในการควบคุมการดำเนินการบางส่วนไว้ โดยผ่านการขอใบอนุญาต หรือการขอสัมปทานในการดำเนินธุรกิจพลังงาน
ประเทศไทย ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ได้มีการพัฒนาทางด้านธุรกิจพลังงานมาเป็นระยะเวลานาน โดยมีการกำหนดนโยบายที่ชัดเจนในส่วนของการส่งเสริมธุรกิจพลังงานทุกประเภท แต่การส่งเสริมดังกล่าวก็ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของภาครัฐ และในปัจจุบันได้มีการออกพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 ขึ้น ซึ่งถือเป็นพระราชบัญญัติหลักที่จะควบคุมการดำเนินการทั้งหมดของธุรกิจพลังงาน ได้แก่ กิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน โดยได้มีการกำหนด ให้มีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Regulator) ขึ้น มีระบบการขอ รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน โดยจะมีการออกระเบียบหลักเกณฑ์มากำหนดลักษณะและคุณสมบัติของผู้ประกอบกิจการ พลังงานในการดำเนินโครงการต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน ซึ่งจะครอบคลุมทั้งทางด้านอัตราค่าบริการ มาตรฐานการดำเนินการกิจการพลังงาน เป็นต้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านไฟฟ้า เป็นหน่วยงานหลัก คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ประเทศลาว ในส่วนของประเทศลาว นั้น ในด้านของกฎหมายทางด้านพลังงาน จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยไฟฟ้า และกฎหมายว่าด้วยบ่อแร่ ซึ่งสำหรับกฎหมายว่าด้วยไฟฟ้า เพิ่งได้รับการรับรองและประกาศใช้โดยสภาแห่งชาติ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2008 ที่ผ่านมา ส่วนของกฎหมายว่าด้วยบ่อแร่นั้น กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาแห่งชาติในการออกกฎหมายฉบับใหม่ สำหรับรูปแบบการควบคุมธุรกิจพลังงาน ทั้งในด้านของธุรกิจไฟฟ้า หรือธุรกิจการขุดแร่ของ ประเทศลาวนั้น ต้องดำเนินการขออนุญาตลงทุนในลักษณะของการขอสัมปทานจากรัฐบาล โดยระยะเวลาสัมปทานนั้นได้สูงสุด 30 ปี แต่สามารถต่ออายุได้อีกไม่เกิน 10 ปี
หน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านไฟฟ้า เป็นหน่วยงานหลักคือ การไฟฟ้าแห่งประเทศ ลาว (Electricite Du Laos: EDL)
ประเทศพม่า ธุรกิจด้านพลังงานของ พม่านั้น มีการพัฒนาไปในหลายรูปแบบด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากทรัพยากร ธรรมชาติจำพวกก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน พลังงานทางด้านการผลิตไฟฟ้า พลังงานถ่านหิน พลังงานชีวภาพ โดยแยกความรับผิดชอบไปแต่ละหน่วยงาน แล้วแต่ลักษณะของเชื้อเพลิงที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า เช่น พลังงานไฟฟ้า จะเป็นกระทรวงพลังงาน ไฟฟ้า การขุดแร่จะเป็นกระทรวงบ่อแร่และ ส่วนของพลังงานชีวภาพจะขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรกรรม การดำเนินการธุรกิจพลังงานไฟฟ้าจะอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยไฟฟ้า และระเบียบย่อยที่ออกตามกฎหมายดังกล่าว ซึ่งนำใช้ตั้งแต่ปี 1984
หน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านไฟฟ้าเป็นหน่วยงานหลักคือ รัฐวิสาหกิจผลิตไฟฟ้าพม่า (Myanmar Electric Power Enterprise: MEPE)
ประเทศกัมพูชา การดำเนินธุรกิจทาง ด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศกัมพูชานั้น อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยไฟฟ้า ซึ่งออกมาใช้เมื่อปี 2001 โดยกระทรวงที่รับผิดชอบการประกอบกิจการพลังงานทั้งหมดของประเทศ คือกระทรวงอุตสาหกรรม บ่อแร่ และพลังงาน โดยนักธุรกิจที่ต้องการเข้าไปดำเนินธุรกิจทางด้านพลังงานไฟฟ้า ต้องดำเนินการขอใบอนุญาตจากการไฟฟ้าของประเทศกัมพูชา โดยรูปแบบของใบอนุญาตนั้นจะแบ่งออกตามรูปแบบของธุรกิจแต่ละประเภท กล่าวคือ ใบอนุญาตสำหรับการผลิต ใบอนุญาตสำหรับการขนส่ง ใบอนุญาต สำหรับการขายไฟฟ้า เป็นต้น
หน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านไฟฟ้า เป็นหน่วยงานหลักคือ การไฟฟ้าแห่งประเทศ กัมพูชา ((Electricite Du Cambodge: EDC)
ประเทศเวียดนาม การดำเนินธุรกิจทางด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศเวียดนาม นั้น อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยไฟฟ้า ซึ่งออก ใช้เมื่อปี 2005 โดยภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าว รัฐบาลของประเทศเวียดนามยังคงรักษาอำนาจในการผูกขาดการจัดการระบบ สายส่งไฟฟ้าของประเทศ และการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีขนาดใหญ่ซึ่งอาจส่งผลไปถึงปัจจัยพื้นฐานของประเทศบางส่วนอยู่ ส่วนของการขอรับใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการไฟฟ้านั้น กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้ออกใบอนุญาตดังกล่าว และมีการกระจายอำนาจให้แก่หน่วยงานส่วนภูมิภาคบางส่วนสำหรับธุรกิจพลังงานขนาดย่อม
หน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านไฟฟ้า เป็นหน่วยงานหลักคือ การไฟฟ้าแห่งประเทศเวียดนาม (Electricity of Vietnam: EVN)
ประเทศจีน สำหรับประเทศจีนนั้น รัฐบาลมีนโยบายที่ส่งเสริมการดำเนินการผลิตไฟฟ้าค่อนข้างมาก ดังที่ปรากฏชัดเจนในกฎหมายว่าด้วยไฟฟ้า โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบส่วนของการออกหลักเกณฑ์และระเบียบ พิจารณาการดำเนินการธุรกิจไฟฟ้า ทั้งหมด คือคณะบริหารส่วนของไฟฟ้าของสภาแห่งชาติ ต้องมีการขอรับใบอนุญาตเพื่อประกอบกิจการไฟฟ้าเช่นกัน หากเป็น การดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในชนบทหรือพื้นที่ห่างไกลจะได้รับการส่งเสริมอย่างเต็มที่ โดย หากนักธุรกิจดำเนินการโดยสอดคล้องกับกฎหมายทั้งหมด ย่อมได้รับการคุ้มครองจาก รัฐบาลอย่างเต็มที่เช่นกัน
หน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านไฟฟ้า เป็นหน่วยงานหลัก สำหรับแคว้นทางตอนใต้ของจีนคือ บริษัท China Southern Power Grid: CSG
- กรอบความร่วมมือที่มีภายใต้กรอบความ ร่วมมือ GMS
ความร่วมมือทางด้านพลังงาน ภายใต้กรอบความร่วมมือ GMS นั้น ประเทศต่างๆ ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาธุรกิจ พลังงานค่อนข้างมาก โดยถือเป็นหนึ่งในภาคธุรกิจ ที่มีโครงการพัฒนาเป็นรูปธรรมขึ้นจำนวนมาก โดยได้รับความร่วมมือทางด้านการเงินและทางวิชาการจากธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย
สำหรับเหตุผลหลักของการดำเนินความร่วมมือทางด้านพลังงานดังกล่าว เนื่อง มาจากความจำเป็นที่ต้องมีการแสวงหาทรัพยากรที่ขยายออกไปข้ามพรมแดน ด้วยรัฐบาลทุกประเทศต่างมองเห็นความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ และปัจจัยความได้เปรียบอื่นๆ ของประเทศร่วม อนุภูมิภาคว่า หากมีการร่วมลงทุนระหว่างประเทศย่อมนำไปสู่การพัฒนาอย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นปัจจัยที่ว่าตลาดของธุรกิจพลังงานของแต่ละ ประเทศนั้น มีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก หากแต่ละประเทศร่วมกันย่อมทำให้ตลาดของธุรกิจพลังงานนั้นมีความน่าสนใจและมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น มีความหลากหลาย มากขึ้น และเหตุผลสุดท้าย ซึ่งกรอบความร่วมมือ GMS นี้ให้ความสำคัญมากตลอดมาคือ ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้มีการพัฒนามาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศอนุภูมิภาคขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมโดยรวมของอนุภูมิภาค
เป้าหมายหลักในการพัฒนายุทธศาสตร์ทางด้านธุรกิจพลังงานของกลุ่ม GMS สำหรับการพัฒนาตั้งแต่ปี 2006 ถึงปี 2020 นั้น เป็นไปเพื่อตอบสนองเป้าหมายหลัก 3 ด้าน กล่าวคือเป้าหมายในการพัฒนา ธุรกิจพลังงานของนักลงทุนที่ลงทุนในแต่ละประเทศอย่างเต็มที่ เพื่อตอบสนองความต้องการทางด้านพลังงานที่เพิ่มมากขึ้นทุกขณะของอนุภูมิภาค เป้าหมายในการขยายกรอบความร่วมมือในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศอนุภูมิภาคให้มากขึ้น และเป้าหมายในการพัฒนาเชื่อมโยงระบบสาย ส่งไฟฟ้าระหว่างประเทศ ให้มีความเชื่อมต่อกัน ลดปัญหาทางด้านการขนส่งและลดการสูญเสียพลังงานไประหว่างการขนส่ง
Road Map สำหรับโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางด้านพลังงานใน GMS
รูปแบบความร่วมมือที่จะมีการดำเนินการตามที่มีการประกาศ Road Map จากการประชุมในการพัฒนายุทธศาสตร์ ทางพลังงาน เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2009 แบ่งออกเป็นหลายลักษณะ ได้แก่ การแลกเปลี่ยนทางด้านข้อมูลทางวิชาการและประสบ การณ์ โดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานทางเลือก โดยจะได้มีการจัดตั้งองค์การร่วมในการตรวจสอบพัฒนาทางด้านพลังงานสะอาด การวางแผนร่วมกันในการพัฒนาธุรกิจพลังงานให้สอดคล้องกับความต้องการโดยรวมของทั้งอนุภูมิภาค การดำเนินการสร้างเครือข่ายการขนส่งทางด้านพลังงาน ทั้งการขนส่งกระแสไฟฟ้า ด้วยระบบสายส่ง และการขนส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะได้มีการเจรจาเพื่อดำเนินการทำท่อขนส่งน้ำมันข้ามประเทศ รวมถึงจะได้มีการวางแผนการส่งเสริมให้แก่นักลงทุนเอกชนที่สนใจดำเนิน การลงทุนในธุรกิจพลังงาน ในลักษณะของ incentive packages
ข้อตกลงด้านการเชื่อมเครือข่ายพลังงานในภูมิภาค
รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขงได้มีการเข้าทำข้อตกลงด้านการเชื่อมเครือข่ายพลังงานในภูมิภาค โดยจะมีการพัฒนาโครงการย่อยประมาณ 32 โครงการ เพื่อดำเนินการก่อสร้างระบบสายส่งไฟฟ้าและสถานีรองรับไฟฟ้าระหว่างประเทศ การเพิ่มการลงทุนและระดมการลงทุนเพิ่มเติมของนักลงทุนเอกชนในด้านพลังงานของเอกชน โดยการปรับปรุงนโยบาย และสภาพกฎระเบียบต่างๆ ให้สามารถอำนวยความสะดวกและช่วยส่งเสริมการดำเนินธุรกิจพลังงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงโครงการพัฒนาตลาดพลังงาน และระบบการค้าพลังงานระหว่างประเทศสมาชิก
ภายหลังการดำเนินการเข้าทำความ ตกลงดังกล่าวแล้ว มีโครงการจำนวนมากที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การเชื่อมโยงขั้นต้นจากสถานีไฟฟ้าพลังน้ำของลาว/แคว้นยูนนาน/พม่าเพื่อส่งออกสู่ไทยและเวียดนาม การเชื่อมโยงเครือข่ายสำหรับสถานีพลังงาน ขนาดใหญ่ไปที่กัมพูชาและอีกแห่งจากเวียดนามตอนใต้ และอีกแห่งจากไทยถึงด้านตะวันตกของกัมพูชา เครือข่ายเชื่อมโยงระหว่างไทย ลาว และเวียดนาม ขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อเสริมเครือข่ายทางตะวันออกเฉียงเหนือของไทย
ความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค GMS
ความตกลงระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการซื้อขายไฟฟ้าในภูมิภาค (Intergovernmental Agreement on Regional Power Trade in the Greater Mekong Subregion) ภายใต้ความตกลงฉบับนี้มีแผนการที่จะดำเนินการพัฒนาร่วมกันทางด้านการค้าพลังงาน ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการประสานงานทางด้านการค้าพลังงานในอนุภูมิภาคขึ้น (Regional Power Trade Committee: RPTC) ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวจะเป็นกลไกที่สำคัญในการออกกฎระเบียบ นโยบายเพิ่มเติม เพื่อต่อยอดโครงการเดิมให้มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยเฉพาะหลักเกณฑ์ในส่วนของมาตรฐานกลางทางด้านการค้าพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศอนุภูมิภาค
ภายใต้ความตกลงดังกล่าว ประเทศ สมาชิกยังได้มีการกำหนดหลักการปฏิบัติที่ดีของนักธุรกิจที่สนใจดำเนินการเกี่ยวกับภาคธุรกิจพลังงาน เป็นแนวทางปฏิบัติเบื้องต้น โดยได้มีการนำเสนอให้มีการปรับ ปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับ ความร่วมมือที่กำลังจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น การแยกกฎระเบียบให้ชัดเจน สำหรับส่วนของการควบคุมทางด้านระบบการผลิตไฟฟ้า และระบบการขนส่งไฟฟ้า มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนทางด้านเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สำหรับธุรกิจพลังงาน ส่งเสริมให้มีกฎหมายที่เปิดโอกาสและให้สิทธิประโยชน์สำหรับนักลงทุนที่ต้องการดำเนินโครงการผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าอิสระ (IPP) มากขึ้น โดยจะมุ่งเน้นที่การสร้างและปรับปรุง ระบบกฎหมายให้สามารถส่งเสริมการประกอบ ธุรกิจพลังงานได้เต็มที่ สร้างบรรยากาศการ ลงทุนให้มีความน่าสนใจและมั่นคง ทั้งในแง่ของความโปร่งใสของระบบการควบคุมของรัฐบาล ความรวดเร็วและคล่องตัวของระบบการขอรับใบอนุญาตต่างๆ
บันทึกความเข้าใจเบื้องต้นว่าด้วย แนวทางสำหรับการจัดตั้งปฏิบัติข้อตกลงดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างภูมิภาค (Memorandum of Understanding on the Guidelines for the Implementation of the Regional Power Trade Operating Agreement)
คณะกรรมการประสานงานทางด้าน การค้าพลังงานในอนุภูมิภาคได้เสนอร่างบันทึกความเข้าใจฉบับดังกล่าวขึ้น โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศสมาชิกทั้งหมดได้ร่วมกันลงนาม เพื่อร่วมดำเนินการจัดระบบการซื้อขายระหว่างภูมิภาคให้สมบูรณ์
ภายหลังการจัดทำบันทึกความเข้าใจ ดังกล่าวแล้ว จะได้มีการดำเนินการจัดทำข้อตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศสมาชิกกันอีกในภายหลัง สำหรับการติดตั้งและเชื่อมโยงระบบสายส่งให้มีความครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดของอนุภูมิภาค และกำหนดเงื่อนไข รวมถึงข้อตกลงในรายละเอียดเกี่ยวกับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกัน จุดส่งมอบไฟฟ้า การบริหารจัดการ ความรับผิดชอบของรัฐบาลทั้งสองฝ่ายที่เข้าทำสัญญาร่วมกัน การชำระราคาค่าไฟฟ้าที่มีการซื้อขาย รวมไปถึงวิธีการแก้ไขข้อพิพาทต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ โดยถือเป็นข้อตกลงมาตรฐานที่สามารถปรับใช้ได้ตามการเจรจา และตกลงระหว่างประเทศต่างๆ
กล่าวโดยสรุป โครงการต่างๆ ที่ได้มีการพัฒนาต่อยอดจากหลักการที่ตกลงร่วมกันที่จะขยายศักยภาพในการพัฒนาทางด้านธุรกิจพลังงานของประเทศต่างๆในอนุภูมิภาค GMS นั้น ได้มีการดำเนินการพัฒนาจัดตั้งปฏิบัติขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าความร่วมมือส่วนใหญ่ที่ได้มีการจัดทำขึ้นนั้น ก็มุ่งเน้นที่จะมีการปรับปรุงโครงสร้างกฎหมายและระเบียบการต่างๆ ให้เหมาะสมกับการลงทุนของนักลงทุนเอกชนในประเทศสมาชิกแต่ละประเทศ และสามารถอำนวยความสะดวก พร้อมทั้งสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุนดังกล่าวให้มากขึ้น หากโครงการและหลักการดังกล่าวได้มีการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ย่อมถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนของประเทศไทยในการใช้ช่องทางดังกล่าว ในการดำเนินธุรกิจได้อีกมาก
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|