|
การสร้างบ้านแปงเมืองอย่างมีนัยสำคัญของลาว
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
คนที่เคยมาเวียงจันทน์ก่อน 5 ปีที่แล้ว หากมีโอกาสกลับมาอีกครั้งในวันนี้ คงพบความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เพราะเมืองหลวงของ สปป.ลาว ณ วันนี้ กำลังมีการก่อสร้างเกิดขึ้นอย่างขนานใหญ่ เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศที่คาดว่าจะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้
กระดานอิเล็กทรอนิกส์ขนาดใหญ่ นับเวลาถอยหลังก่อนถึงพิธีเปิดมหกรรมซีเกมส์ครั้งที่ 25 ที่สาธารณรัฐประชา ธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้เป็นเจ้าภาพครั้งแรก ตั้งตระหง่านอยู่ด้านข้างตลาดเช้า ศูนย์การค้าซึ่งเป็นที่นิยมของทั้งชาวลาว และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์
เบื้องหลังจออิเล็กทรอนิกส์ดังกล่าว เป็นภาพการก่อสร้างส่วนปรับปรุงใหม่ของตลาดเช้า เพื่อให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจับจ่ายสินค้ายังศูนย์ การค้าแห่งนี้ได้มากขึ้น
ถัดจากที่ตั้งของตลาดเช้าไปเพียง 1 ช่วงถนน กำลังมีการก่อสร้างตลาดนัดกลางคืนขนาดใหญ่ ยาวตลอดแนวถนนเป็น การลงทุนโดยนักธุรกิจชาวลาว 4 คน ตาม ผังโครงการ จะสร้างคล้ายกับตลาดนัดสวน จตุจักร แต่ตัวอาคารสร้างตามเอกลักษณ์ของลาว เป็นอาคาร 2 ชั้น มีทางเดินอยู่ตรงกลางยาวไปตลอดแนวถนน
ไม่ห่างจากเขตก่อสร้างตลาดนัดกลางคืน ตรงประตูชัย แลนด์มาร์คอีกจุดหนึ่งของ สปป.ลาว การก่อสร้างอาคารที่ทำการรัฐบาลแห่งใหม่กำลังเร่งมือเพื่อให้เสร็จทันภายในปลายปีนี้
ตัวอย่างข้างต้น เป็นภาพที่ปรากฏอยู่เฉพาะในพื้นที่เพียงไม่กี่ตารางกิโลเมตร บริเวณใจกลางนครหลวงเวียงจันทน์เท่านั้น แต่ในพื้นที่ซึ่งห่างไกลจากจุดนี้ รวมถึงในแขวงอื่นๆ ของ สปป.ลาว การก่อสร้างในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ก็กำลังเกิดขึ้นอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน
สปป.ลาวเพิ่งเริ่มเปิดประเทศอย่างจริงจังในช่วง 10 ปีมานี้ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีการก่อสร้างมากมาย เช่นนี้เกิดขึ้น
แต่จุดที่น่าสนใจคือการก่อสร้างที่ว่า กลับไม่มีทีท่าจะชะลอตัวลง แม้ว่าสถาน การณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกแทบทุกประเทศ กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤติอย่างหนัก
ซึ่งแสดงให้เห็นว่าวิกฤติเศรษฐกิจโลกรอบนี้ สปป.ลาวได้รับผลกระทบน้อยมาก ขณะที่การพัฒนาประเทศก็ยังเดิน หน้าตามกำหนดเดิมที่ได้มีการวางยุทธศาสตร์เอาไว้ ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ชะลอหรือล้มเลิกโครงการใดๆ ลงไป
เพียงแต่เพื่อความไม่ประมาท รัฐบาล สปป.ลาวได้มีการปรับตัวเลขอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงจากเดิมที่คาดว่าจะโตประมาณ 8% เหลือเพียง ประมาณ 5-6% เท่านั้น
ความหมายของกำหนดการพัฒนาประเทศที่ได้มีการวางยุทธศาสตร์เอาไว้ นอกจากการปรับจุดด้อยให้กลายเป็นจุดเด่น โดยการเปลี่ยนตำแหน่งภูมิศาสตร์ของประเทศจากที่เคยเป็น Land Lock มาสู่การเป็น Land Link และการยกระดับประเทศให้เป็นแบตเตอรี่ของเอเซีย โดยใช้ข้อได้เปรียบในทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างเหลือเฟือ นำมาใช้เป็นแหล่งผลิตพลังงานป้อนให้กับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว
สปป.ลาวยังมีวาระที่จะต้องจัดพิธีการสำคัญๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดภาค การท่องเที่ยว
เมื่อปลายเดือนมีนาคมปีที่แล้ว (2551) สปป.ลาวเป็นเจ้าภาพจัดประชุม ผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงครั้งที่ 3 (Third GMS Summit) มีผู้นำสูงสุดของประเทศที่อยู่ในอนุภูมิภาค นี้ 6 ประเทศ ประกอบด้วยสาธารณรัฐประชาชนจีน (สป.จีน) สปป.ลาว พม่า ไทย เวียดนาม และกัมพูชา เข้าร่วมประชุม กันที่นครหลวงเวียงจันทน์
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (2552) เส้นทางรถไฟสายแรกจากหนองคาย ไปยังสถานีรถไฟท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ได้เริ่มเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ (2552) ลาว เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 25
เดือนตุลาคมปีหน้า (2553) ลาวเตรียมจัดพิธีการยิ่งใหญ่ นั่นคือการเฉลิมฉลองในวาระครบรอบ 450 ปีของนคร หลวงเวียงจันทน์
รวมถึงอีก 6 ปีข้างหน้าจะมีการเฉลิมฉลองวันชาติครบรอบ 40 ปี ในเดือน ธันวาคม 2558
ยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและพิธีการต่างๆ ที่ถูกกำหนดวาระเอาไว้ชัดเจนเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดการก่อสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากตามมาทั่วประเทศ
"ภาพความคึกคักของการก่อสร้าง เริ่มเห็นอย่างจริงจังตั้งแต่ปี ค.ศ.2000 (พ.ศ.2543) เป็นต้นมา จากนั้นก็เริ่มขยับตัวขึ้นมาเรื่อยๆ การเติบโตก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ" วัดดานา สุขบัณฑิต ประธานกรรมการบริหาร บริษัทสุวันนี อิมพอร์ต-เอ็กซพอร์ต ซึ่งถือเป็นตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ที่สุด รายหนึ่งของ สปป.ลาว อธิบายให้ ผู้จัดการ 360 ํ เห็นภาพ
"สปป.ลาวมีนโยบายเปิดประเทศ อย่างชัดเจนในปี 1989 แต่มาเริ่มเอาจริง ในปี 1990 แต่ว่าตอนเริ่มต้นก็ยังไม่มีอะไรเลย ระบบกฎหมายต่างๆ ยังไม่สามารถดึงดูดการลงทุนได้มาก รัฐมาเริ่มพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ปรับปรุงกฎระเบียบ ต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม เมื่อประมาณปี 2000" วัดดานากล่าวเสริม
ปัจจุบันวัดดานาอายุ 43 ปี จบปริญญาตรีสถาปัตยกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ในปี 1989 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่รัฐบาล สปป.ลาว มีนโยบาย เปิดประเทศ ดังนั้นทันทีที่เรียนจบ วัดดานาจึงเริ่มจับธุรกิจค้าขายวัสดุก่อสร้างเปิดบริษัทสุวันนี การค้า และขยายมาเปิดบริษัทสุวันนี อิมพอร์ต-เอ็กซพอร์ต ในอีก 4 ปีต่อมา
หลังจากนโยบายเปิดประเทศ เริ่มเห็นภาพที่ชัดเจนในปี 2000 วัดดานาได้ข้ามฝั่งเพื่อมาเรียนปริญญาโทจนจบ MBA จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี 2002
วัดดานาให้ภาพรวมการก่อสร้างที่เกิดขึ้นใน สปป.ลาว ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาว่ามีแรงผลักดันมาจาก 3 แหล่งใหญ่
แหล่งแรกคือ โครงการที่รัฐบาลดำริหรือผลักดัน โครงการประเภทนี้ อาทิ การก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้า ถนนหนทาง และสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งการก่อสร้างสนามกีฬา และบ้านพักนักกีฬา เพื่อใช้รองรับการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันซีเกมส์ที่กำลังจะมาถึง
หลายโครงการ รัฐบาล สปป.ลาว เป็นผู้ดำเนินการออกแบบ จัดจ้างผู้รับเหมา ก่อสร้างเอง แต่อีกหลายโครงการซึ่งจำเป็น ต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก รัฐบาลเปิดให้บริษัทจากต่างชาติเข้ามาก่อสร้าง หรือขอรับสัมปทานดำเนินการ หรือเป็นลักษณะ การขอรับการช่วยเหลือจากต่างชาติ
อย่างกรณีการก่อสร้างสนามกีฬาซีเกมส์ที่ได้รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนหรือการก่อสร้างบ้านพักนักกีฬาซีเกมส์ที่ได้รัฐบาลเวียดนามสนับสนุน
นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดงโพสี ใกล้กับสถานีรถไฟท่านาแล้ง ที่รัฐบาลเพิ่งเซ็นสัญญากับ กลุ่มทุนจากมาเลเซียและเวียดนาม คาดว่า จะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณปลายปีนี้ รวมถึง ยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน ที่เตรียมการก่อสร้างอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต
ในการเตรียมเฉลิมฉลองกรุงเวียงจันทน์ครบรอบ 450 ปี ในปีหน้า ทาง นครหลวงเวียงจันทน์ก็มีโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากถึง 60 โครงการ อาทิ การก่อสร้างถนนเส้นใหม่เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสนี้ เป็นถนนที่ตัดจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรก เข้า มายังกรุงเวียงจันทน์ บริเวณบ้านดงโดก เป็นถนนขนาดใหญ่ 6 เลน เพื่อให้รถบรรทุก สินค้าวิ่งโดยเฉพาะ ถนนเส้นนี้สามารถร่นระยะทางจากสะพานมิตรภาพเข้ามายังกรุงเวียงจันทน์จากเดิม 36 กิโลเมตร เหลือเพียง 20.5 กิโลเมตร
รวมถึงการปรับปรุงอาคารสำนัก งานของนครหลวงเวียงจันทน์ การปรับปรุง ภูมิทัศน์รอบกรุงเวียงจันทน์ทั้งหมด และโครงการสร้างพนังกั้นแม่น้ำโขง ช่วงฝั่งตรง ข้ามอำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย ซึ่งเฉพาะโครงการนี้เพียงโครงการเดียว ต้องใช้เงินลงทุนถึง 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ใครที่เดินทางไปยังนครหลวงเวียงจันทน์ในช่วงนี้ และมีโอกาสนั่งรถไปตามถนนสาย 13 เหนือ ผ่านสนามบินวัดไต หากมองเห็นบ้านเรือนริมถนนที่อยู่ดีๆ ก็มีเสาไฟฟ้าไปตั้งไว้กลางบ้านก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะรัฐบาลกำลังมีโครงการจะขยายถนน สาย 13 โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้ เพียงแต่ช่วงนี้ได้เริ่มต้นโดยการขยายแนวเสาไฟฟ้าริมถนนให้กว้างขึ้นออกไปก่อน
ขณะที่สนามบินวัดไตเอง ปัจจุบันก็เริ่มแออัด รัฐบาลมีโครงการก่อสร้างสนาม บินแห่งใหม่บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 21-27 จากกรุงเวียงจันทน์ ขณะนี้อยู่ในขั้นสำรวจ แนวพื้นที่ก่อสร้างโดยบริษัทบูยองจากเกาหลี
ฯลฯ
แรงผลักดัน แหล่งที่ 2 คือโครงการ ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพื่อรองรับกับการขยายตัวของ สปป.ลาว ภายหลังจากการนำร่องลงทุนจากโครงการต่างๆโดยภาครัฐ ตามแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนา ประเทศที่ได้กำหนดไว้
โครงการประเภทนี้ อาทิ การก่อ สร้างศูนย์กลางเศรษฐกิจและการค้าแห่งใหม่บนพื้นที่กว่า 1,000 เฮกตาร์ (6,250 ไร่) ที่ดำเนินการโดยกลุ่มทุนจากจีน บริเวณ ด้านหลังวัดพระธาตุหลวง การก่อสร้างสนามกอล์ฟขนาด 54 หลุม บนเนื้อที่ 330 เฮกตาร์ (2,062.5 ไร่) บนถนนสาย 13 ใต้ ติดกับสถานที่ก่อสร้างสนามกีฬาซีเกมส์ที่ดำเนินการโดยบริษัทบูยองอีกเช่นกัน
ยังไม่นับรวมโครงการก่อสร้างโรงแรม และแหล่งบันเทิงขนาดใหญ่ ในลักษณะ entertainment complex ในแขวงต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด
(อ่าน "เซินเจิ้นลาวบนสามเหลี่ยมทองคำ" นิตยสารผู้จัดการ 360 ํ ฉบับเดือน มีนาคม 2552 ประกอบ)
แรงผลักดัน แหล่งที่ 3 คือการก่อสร้างโรงแรมที่พัก รวมถึงบ้านเรือน และอาคารพาณิชย์ เพื่อรองรับการขยายตัวของ ชุมชน และผู้คนอันเกิดจากแรงผลักดันของ 2 แหล่งแรก ซึ่งการก่อสร้างประเภทนี้มีมูลค่าไม่น้อย ถึงเกือบครึ่งหนึ่งของการก่อ สร้างที่เกิดขึ้นจากแรงผลักดัน แหล่งที่ 2
การก่อสร้างอันเกิดเนื่องมาจากทั้ง 3 แรงผลักดันข้างต้น เป็นปรากฏการณ์ที่เริ่มเกิดขึ้นใน สปป.ลาว เมื่อ 10 ปีก่อน และเริ่มถี่ขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะยังคงมีต่อเนื่องไปอีกหลายปี
"ลาวยังต้องมีการพัฒนาอีกมาก เราเคยหยุด ไม่มีการก่อสร้างมาเลยถึง 30-40 ปี ตอนนี้ถือว่ายังเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น" วัดดานาให้มุมมอง
อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างต่างๆ ของ สปป.ลาว จะกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตแขวงตอนกลาง ตั้งแต่นคร หลวงเวียงจันทน์ลงไปถึงแขวงทางตอนใต้ อย่างสะหวันนะเขต หรือจำปาศักดิ์ ขณะที่ แขวงทางตอนบน ซึ่งสภาพภูมิประเทศเป็น ป่าเขา การก่อสร้างจะเกิดขึ้นน้อยกว่า
หากใช้พัฒนาการของบริษัทสุวันนี อิมพอร์ต-เอ็กซพอร์ตของวัดดานา เป็นเสมือนดัชนีที่ชี้ให้เห็นภาพการขยายตัวของ การก่อสร้างของ สปป.ลาว จากจุดเริ่มต้น ที่เปิดร้านขายวัสดุก่อสร้างเมื่อ 20 ปีก่อน ปัจจุบันสุวันนี อิมพอร์ต-เอ็กซพอร์ต เป็นตัวแทนจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง เครื่องสุขภัณฑ์ และอุปกรณ์ตกแต่งบ้านแทบจะทุกยี่ห้อ ที่มีขายอยู่ในประเทศไทย อาทิ กระเบื้องคอตโต โสสุโก้ คัมพานา กระเบื้องหลังคา โอลิมปิค ตรา 5 ห่วง สุขภัณฑ์อเมริกันแสตนดาร์ด โคห์เลอร์ สีทีโอเอ ฯลฯ
จากร้านค้าเพียงร้านเดียวเมื่อ 20 ปี ที่แล้ว ปัจจุบันในนครหลวงเวียงจันทน์ สุวันนี อิมพอร์ต-เอ็กซพอร์ตมีโชว์รูมขนาด ใหญ่มีพื้นที่ใช้สอย 4 พันตารางเมตรอยู่ถึง 3 แห่ง และกำลังก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง รวมทั้งยังมีแผนจะไปเปิดสาขายังแขวงสะหวันนะเขต และเมืองปากเซ แขวงจำปาศักดิ์ในปีหน้า
ทุกวันนี้ สุวันนี อิมพอร์ต-เอ็กซพอร์ตเป็นตัวแทนจำหน่ายปูนซีเมนต์รายใหญ่ของ สปป.ลาว ทั้งปูนซีเมนต์ที่นำเข้าจากประเทศไทย เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้าง ขนาดใหญ่ต่างๆ และปูนซีเมนต์ที่ผลิตจาก โรงงานใน สปป.ลาว โดยมีปริมาณการขายตกปีละเกือบ 7 หมื่นตัน
ตัวอย่างของผู้ค้าวัสดุก่อสร้างเพียง 1 ราย คงทำให้มองเห็นภาพใหญ่ของการก่อสร้างที่กำลังเกิดขึ้นใน สปป.ลาวได้ชัดเจนขึ้น
คำเปรียบเปรยที่ว่า ถ้าใครที่เดินทาง เข้าไปใน สปป.ลาวบ่อยๆ จะต้องได้พบถนนหนทาง ตึกรามบ้านช่อง และอาคารใหม่ๆ เกิดขึ้นทุกครั้งที่เดินทางไปถึง คงไม่ผิดจากความเป็นจริงไปนัก
โดยเฉพาะในปีหน้า (2553) ที่รัฐบาลลาวประกาศชัดเจนแล้วว่า จะเริ่มต้นการก่อสร้างอาคารที่ทำการตลาดหุ้นเวียงจันทน์ บนถนนสายฉลอง 450 ปีกรุงเวียงจันทน์ ที่คาดว่าจะมีบริษัทและรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ประมาณ 20 บริษัท อาทิ บริษัทเบียร์ลาว บริษัทน้ำหวานลาว (ผู้ผลิตเครื่องดื่มเป๊ปซี่) ธนาคารพงสะหวัน ธนาคารอินโดจีน ฯลฯ เข้ามากระจายหุ้น
ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเชื่อมโยงระบบการเงินเข้าสู่สากล ก่อให้เกิดการไหลเข้า-ออกของเงินทุนระหว่างภายนอกประเทศกับภายในประเทศ
เงินที่เคยสะพัดอยู่แล้ว จากภาคอุตสาหกรรม พลังงาน การก่อสร้าง ท่องเที่ยว และบริการ คงต้องยิ่งสะพัดเพิ่ม ขึ้นมาอีก
อีกทั้งรัฐบาล สปป.ลาวก็มีแผนจะขยายจำนวนประชากร จากปัจจุบันที่มีอยู่ประมาณ 6 ล้านกว่าคน ขึ้นเป็นประมาณ 13-15 ล้านคน เพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศให้มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการลงทุนจากภายนอกเพียงอย่างเดียว
โอกาสใน สปป.ลาวยังเปิดอยู่!!!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|