“วิกฤติ” โรงแรมไทยในทัศนะอดีตนายกสมาคมฯ

โดย สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

“ปัญหาเศรษฐกิจโลกกับไข้หวัด 2009 ก็ยังไม่เท่าไร แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เราโดนกระทบมากที่สุดคือวิกฤติทางการเมือง” อดีตนายกสมาคมโรงแรมไทยกล่าวด้วยน้ำเสียงเบื่อหน่าย

รายได้เกือบ 3.8 พันล้านบาท กำไรกว่า 2 ร้อยล้านบาท กับจำนวนโรงแรมในประเทศไทย 19 แห่ง และในต่างประเทศ อีกกว่า 10 แห่ง ไม่นับรวมอีก 10 กว่าแห่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววัน ...ตัวเลขเหล่านี้เหมือนไม่ได้สะท้อนถึงผลกระทบจากวิกฤติซ้ำซ้อนที่มีต่อเครือดุสิตมากนัก

"ดุสิตก็เหมือนโรงแรมในประเทศไทยทุกแห่ง คงจะดีกว่านี้เยอะแต่เรามาถูกกระทบด้วยปัญหาการเมือง จริงๆ เศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ควรจะดีกว่านี้ แต่การเมืองไทยทำทุกอย่าง พัง" ชนินทร์ โทณวณิก รีบบอก

หลังเหตุการณ์จลาจลที่พัทยาและกรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน เขาต้องใช้เวลาร่วม 2 สัปดาห์ ในการติดต่อกับพาร์ตเนอร์ที่เซ็นสัญญากับเขาแล้วและที่กำลังเจรจากันอยู่จนแทบจะไม่ได้ทำอย่าง อื่นเลย ทั้งนี้เพื่อยืนยันว่าเครือดุสิตไม่มีปัญหาและทุกอย่างจบแล้ว

"ถ้าบริษัทดุสิตฯ ตั้งอยู่ในสิงคโปร์หรือฮ่องกง ผมไม่เดือดร้อนเลย"

จากประสบการณ์ในวงการธุรกิจโรงแรมร่วม 30 ปี ชนินทร์สังเกตว่า แต่ก่อนทุก 5-6 ปี ประเทศไทยจะมีปัญหาการเมืองสักครั้ง แต่ช่วงหลังๆ เขาเห็นว่าปัญหานี้มักกลับมาทุก 3-6 เดือน และแย่กว่านั้นคือ ทุกครั้งที่เหตุการณ์จบ ก็ไม่ได้หมายความว่าจบจริง จึงยากจะคาดเดาได้ ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า

ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติหนีไปเที่ยวในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามและอินโดนีเซีย แทนที่จะมาเสี่ยงกับวิกฤติการเมืองบ้านเรา เชนโรงแรมไทยก็จำเป็นกระจายความเสี่ยงด้วยการออกไปหารายได้ในต่างประเทศให้มากขึ้น แทนที่จะพึ่งพารายได้จากในประเทศ ที่มีการเมืองไม่สงบแทบทุกไตรมาสเช่นนี้

นอกจากความวุ่นวายทางการเมืองซึ่งอยู่เหนือการควบคุมและเกินเยียวยา ดูเหมือนว่า อุตสาหกรรมโรงแรมไทยยังมีวิกฤติภายในที่น่าเป็นห่วงไม่แพ้กัน

"ธุรกิจโรงแรมมีขนาดใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย แต่ถ้าโรงแรมดีๆ เชนฝรั่งเข้ามาคุมหมด ผู้ประกอบการและผู้บริหารก็เป็นต่างชาติหมด นั่นหมายถึงอุตสาหกรรมที่สร้างเม็ดเงินสูงถึง 8-10% ของ GDP กลับต้องพึ่งต่างประเทศ ไม่ใช่แค่คนในวงการโรงแรมที่แย่ แต่ประเทศชาติเสียหายแน่นอน" ชนินทร์ห่วงใย

เพื่อสานต่อความฝันของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้ก่อตั้งโรงแรมดุสิต ที่อยากเห็นโรงแรมไทยสู้โรงแรมต่างประเทศได้ และผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมนี้อยู่ดีด้วยกันทุกคน สิ่งที่ชนินทร์พยายามทำก็คือเปิดประตูรับเจ้าของโรงแรมคนไทยมาดูและเรียนรู้งานจากดุสิต

วันนี้ ชนินทร์ยังเป็นห่วงว่าภาคตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวของคนไทยกำลังจะถูกบริษัท ยักษ์ใหญ่จากต่างชาติเข้ามาครอบงำตลาด เหมือนกับเกิดขึ้นแล้วในธุรกิจโรงแรมไทย

อีกส่วนปัญหานี้คงไม่ได้อยู่ที่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเพราะแก้ได้ไม่ยาก แต่ที่แก้ยากกว่าคือพฤติกรรมของคนไทยด้วยกันเองที่ไม่ยอมเปิดใจให้แบรนด์ไทยด้วยกัน รวมทั้งเจ้าของโรงแรมคนไทยที่ยังเชื่อว่าเชนต่างชาติดีกว่า

ขณะที่ชนินทร์เองก็ดูเหมือนเขาจะไม่อยากรับบริหารโรงแรมในเมืองไทยสักเท่าไร นอกจากเป็นเพราะการเมือง อีกปัญหาก็คือรีเทิร์นที่ไม่คุ้มค่า

"เมืองไทยเป็นประเทศที่ดีมากและสวยมาก แต่นโยบายของหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวราคาถูก ค่าห้องที่กรุงเทพฯ วันนี้ ถูกกว่าเกือบทุกแห่งในเอเชีย ถูกกว่าเวียดนามเท่าตัว พอค่าห้องถูก เจ้าของและผู้บริหารโรงแรม ก็เหนื่อย แต่ค่าบริหารได้น้อย สู้ไปรับงานข้างนอกได้มากกว่าเป็น 5 เท่า 10 เท่า"

สำหรับเชนดุสิต อีก 2 ปีข้างหน้า โรงแรมในต่างประเทศส่วนใหญ่จะเปิดดำเนินงานได้ เมื่อนั้นพอร์ตรายได้ของเครือก็จะมีรายได้จากต่างประเทศเข้ามาบาลานซ์ ขณะเดียวกันความเสี่ยง คนไทยก็จะได้ประจักษ์เสียทีว่าเชนโรงแรมไทยก็ดีพอและเป็นที่ยอม รับในตลาดต่างประเทศ และเขาก็หวังว่า เมื่อวันนั้นมาถึงคนไทยจะเชื่อมั่นในแบรนด์โรงแรมไทยมากขึ้น

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น ก็ได้แต่ภาวนาว่าคงจะไม่มีวิกฤติการเมืองร้ายแรงอะไรเข้ามา ทำให้อดีตนายกสมาคมโรงแรมไทยผู้นี้สิ้นหวังกับการเมืองไทยและหมดกำลังใจในการผลักดันอุตสาหกรรมโรงแรมไทยไปเสียก่อน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.