|
Threat or Take-Off
โดย
สุภัทธา สุขชู
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
“ในวิกฤติมีโอกาส” ได้ยินกันมานานแต่ก็คงไม่มีครั้งไหนที่คำปลุกปลอบใจนี้จะดังกระหึ่มไปทั่วทุกแห่งหนในวงการท่องเที่ยวและโรงแรมไทยบ่อยเท่า 2-3 ปีนี้ แต่แม้จะมีวิกฤติซ้อนวิกฤติ อย่างน้อยก็ยังมี “โอกาสทางธุรกิจ” ซ่อนอยู่สำหรับคนที่มองเห็น เช่นเดียวกับเชนโรงแรมไทยที่ใช้โอกาสนี้เพื่อการเติบใหญ่ในต่างประเทศ
การท่องเที่ยวนับเป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยและสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมหาศาล คิดเป็น 8-10% ของมูลค่า GDP โดยอุตสาหกรรมโรงแรมมีเม็ดเงินลงทุนจมอยู่เยอะที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของเมืองไทย ประมาณตัวเลขมูลค่าการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท หรืออาจมากถึงหลักล้านล้านบาทเลยทีเดียว
แม้จะได้ชื่อว่าเป็น "ยักษ์" ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว แต่ธุรกิจโรงแรมก็ถือว่ามีผิวบางและอ่อนไหวง่ายเสียเหลือเกินกับปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในหรือนอกประเทศ
นับจากวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ซึ่งเป็นวิกฤติการเงินที่กระทบเศรษฐกิจไทยร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งแต่ดูเหมือนว่าโรงแรม ไทยได้ประโยชน์จากวิกฤติครั้งนั้น เพราะแม้ว่าคนไทยจนลงเพราะค่าเงินที่ลดลง แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเมืองไทยกลับมีกำลังซื้อมากขึ้น
5 ปีถัดมา เหตุการณ์ 9/11 ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวต้อง สะดุด ส่วนหนึ่งเพราะบริษัทประกันไม่รับประกันเครื่องบิน แต่ที่สำคัญ กว่าคือความไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว หลายชาติจึงหยุดเดินทาง แต่ก็กินเวลาอย่างมากไม่เกิน 3 เดือน
ตามมาด้วยเหตุการณ์ร้ายรายปี เช่น ระเบิดใหญ่ที่บาหลีและโรคซาร์สที่ระบาดหนักในฮ่องกง แต่ก็ส่งผลดีต่อประเทศไทยเพราะหลังเกิดเหตุไม่นานนักท่องเที่ยวหลายชาติเบนเข็มทิศมาเที่ยว เมืองไทยแทนมากขึ้น หรือแม้แต่เหตุการณ์สึนามิที่มีนักท่องเที่ยวล้มตายหลายพันคน แต่พอคลื่นยักษ์ผ่านพ้น ภาพลักษณ์ของความมีน้ำใจไทยก็ทำให้นักท่องเที่ยวสแกนดิเนเวียหลายคนต่างชวนเพื่อน ฝูงญาติมิตรบินมาเที่ยวเมืองไทยซ้ำแล้วซ้ำอีก
จากนั้นก็ตามมาด้วยวิกฤติราคาน้ำมัน กระทั่งมาถึง "สึนามิเศรษฐกิจโลก" อันเนื่องจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่นำมาซึ่งการล้มหายตายจากของสถาบันทางการเงิน โรงงาน และบริษัทห้างร้านต่างๆ ในหลายประเทศ ทำให้ลูกจ้างนับร้อยล้าน คนทั่วโลกต้องตกงาน และส่งผลให้กำลังซื้อและความมั่นใจในการบริโภคลดลงจนเกิดสภาวะขาดสภาพคล่องทั่วทั้งโลก
เฉพาะวิกฤติเศรษฐกิจโลก โรงแรม ไทยก็ตกที่นั่งลำบากมากพออยู่แล้ว ทว่าเป็นเวลากว่า 2 ปีนับตั้งแต่รัฐประหาร โดยเฉพาะครึ่งปีที่ผ่านมา ปัญหาการเมืองไทยรุมเร้าซ้ำเติมอุตสาหกรรมโรงแรมไทยอยู่หลายครั้ง โดยเฉพาะการปิดสนามบินสุวรรณภูมิที่ฉุดให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไตรมาส 4/51 ติดลบเกือบ 30% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เหมือนทุกอย่างกำลังจะดีขึ้นนับแต่ ต้นปี 2552 โดยเฉพาะเดือนมีนาคมที่ตัวเลขรายได้ของโรงแรมส่อแววสดใส ซึ่งเป็นแนวโน้มเดียวกันทั่วโลก แต่แล้วทุกอย่างจะกลับมาเลวร้ายอีกครั้งเมื่อเกิดเหตุล้มการประชุมสุดยอดอาเซียนที่พัทยา และ "มหาสงคราม" ในช่วงสงกรานต์ ส่งผลให้ ยอดจองห้องพักหายวับไปกับตา อัตราเข้า พักเฉลี่ยเดือนนี้เหลือ 43.3% จาก 55.4% ในปีที่แล้ว ส่วนยอดนักท่องเที่ยวหายไปมากกว่า 10% ทันที
ระหว่างที่ธุรกิจโรงแรมไทยยังโงหัวไม่ขึ้นจากการถูกขโมยโอกาสโกยเงินก้อนโตในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ประเทศไทยก็ยังต้องเผชิญกับ "ไข้หวัด 2009" ที่เข้ามาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว ทว่า ภาครัฐก็ทำแค่เตือนประชาชนว่าอย่าตระหนก
ส่วนมาตรการสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยตกเป็นภาระของเอกชน ในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมที่ต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเอง
"ตลอดหลายปีที่บริหารโรงแรมในเมืองไทย ปีนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่หนักที่สุด เพราะทุกปัญหาที่เคยเกิดปีละเรื่อง มาปีนี้มันรุมเร้าเข้ามาพร้อมกัน วิกฤติครั้งนี้เลยกินวงกว้างและกินเวลายืดเยื้อกว่าครั้งอื่น"
ผู้บริหารโรงแรมเชนไฮแอทให้ความเห็นเพิ่มเติม ในงานแถลงข่าวเปิดตัวห้องประชุมคอนเซ็ปต์ใหม่ เพื่อกระตุ้นรายได้จากธุรกิจไมซ์และจัดเลี้ยงทดแทนรายได้จากห้องพัก (อ่านรายละเอียดในคอลัมน์ Manager Leisure ฉบับนี้)
ขณะที่โรงแรมเชนต่างชาติในเมืองไทยกำลังดิ้นรนฝ่าฟันวิกฤติ ฟากเชนโรงแรมไทยยักษ์ใหญ่ก็กำลังมีมูฟเม้นต์ที่สำคัญ
เครือ "ดุสิต" เซ็นสัญญาบริหาร "เทวารัณย์ สปา" สาขาแรกในอิตาลี เพื่อเป็น การชิมลางตลาดยุโรป ส่วน "อนันตรา" เพิ่งเซ็นสัญญาเงินกู้ระยะยาว 7 ปี ยอดเงิน 4 พันล้านบาท และ "เซ็นทารา" เพิ่งแถลงกลยุทธ์เดินหน้าขยายธุรกิจ โดยเฉพาะการรับบริหารโรงแรม (Management Fee)
"ผมมองวิกฤติเป็นโอกาสเสมอ ถ้าเศรษฐกิจดี ผมเฉยๆ แต่เมื่อไรมีวิกฤติผมจะใช้ อันนั้นเป็นโอกาส" สุทธิเกียรติ จิราธิวัฒน์ เจ้าสัวแห่งบริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) เจ้าของเชนเซ็นทารา กล่าวในงานแถลงข่าว
ขณะที่เครือไมเนอร์และกลุ่มเซ็นทรัลพลาซา เจ้าของอาณาจักรใหญ่มูลค่าสินทรัพย์หลักหมื่นล้าน ประกอบด้วยธุรกิจร้านอาหารและธุรกิจโรงแรม ถือโอกาสนี้ขยายธุรกิจด้วยการเทกโอเวอร์ตามวิสัยบริษัทที่มีฐานะทางการเงินดีและมีสภาพคล่องสูง
ปัญหาโอเวอร์ซัปพลายของห้องพักในประเทศไทยที่เรื้อรังและหมักหมมมานานหลายปี พอเกิดวิกฤติร้ายแรงขึ้นมาจึงกระทบต่อโรงแรมที่มีระบบงานไม่ดี จึงมีปัญหาหลายรายประกาศขายโรงแรมในราคาต่ำ
นี่จึงเป็นหนึ่งเหตุผลที่เครือไมเนอร์เจ้าของอาณาจักรกว่า 2.5 หมื่นล้าน กู้เงินเพิ่มอีก 4 พันล้านบาท ทั้งที่มีเงินสดที่เบิกมาถือในมือได้ไม่ต่ำกว่า 2 พันล้านบาท อีกทั้งยังมีผลกำไรจากปีที่แล้วสูงเกือบ 2 พันล้านบาท
"เตรียมตัวเอาไว้ เพราะรู้ว่าครึ่งปีหลัง โอกาสในการขยายธุรกิจน่าจะมา เราควรจะพร้อมมากที่สุด วันนี้สินทรัพย์ที่ไหนดีเราไปดูไว้ หลังไตรมาส 2 ค่อยตัดสินใจ เพราะราคามันลงกว่านี้แน่" ปรารถนา มงคลกุล กล่าวในฐานะ CFO แห่งเครือไมเนอร์
ทุกวันนี้ นอกจากบินไปโรดโชว์ เธอยังบินไปเทกโอเวอร์ดีลโรงแรมดีๆ ราคาถูกๆ ในหลายประเทศมาเก็บไว้ในพอร์ต แม้จะเหนื่อยแต่ก็ดูมีความสุข ไม่ต่างจากเวลาที่สาวนักช้อปกำลังสนุกกับการเลือกเสื้อผ้าในหน้า SALES!
เครือเซ็นทาราก็ถือวิกฤตินี้เป็นโอกาสในการเทกโอเวอร์โรงแรมที่มีปัญหาราคาไม่แพงมาร่วมเครือข่าย แม้จะไม่หวือหวาเท่าเครือไมเนอร์ที่มีสภาพคล่องทางการเงินเป็นจุดแข็ง (อ่านรายละเอียดใน "พลิก "วิกฤติ" ตามวิถีคิดแบบ CFO")
การเทกโอเวอร์เป็นเรื่องน่ารื่นรมย์ในยามวิกฤติของผู้มีอำนาจซื้อในมือ แต่เชนที่เข้มแข็ง มีประสบการณ์บริหารยาว นาน และมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร ระบบไอทีและเครือข่ายการตลาดอย่างเครือ ดุสิต กลยุทธ์ Light Asset หรือการรับบริหาร น่าจะเป็นแนวทางขยายธุรกิจที่รวดเร็วและไม่ต้องลงทุนสูง
"ยิ่งเศรษฐกิจแบบนี้โอกาสเรายิ่งเยอะ" ชนินทร์กล่าว
ทั้งนี้ก็เพราะท่ามกลางการแข่งขันที่มีวิกฤติเข้ามาซ้ำเติม ผู้ประกอบการโรงแรมต่างก็พยายามรักษาธุรกิจให้ผ่านพ้น หลายรายเลือกใช้เชนโรงแรมมาบริหาร เพื่อหวังพึ่งชื่อเสียง ความเป็นมืออาชีพ และเครือข่ายการขายและการตลาดของเชน
ขณะที่เชนโรงแรมจะมีแหล่งรายได้ มาเสริม เป็นการใช้ทรัพยากรที่มีให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Economy of Scales) และยังเป็นโอกาสขยายธุรกิจ รวมทั้งได้พีอาร์แบรนด์ไปด้วยในตัว
หากเป็นยามปกติที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีเงินสะพัด เจ้าของโรงแรมคนไทยบางรายอาจเลือกใช้เชนต่างชาติเข้ามาบริหาร เพราะเชื่อมั่นมากกว่าและต้องการภาพลักษณ์อินเตอร์ แต่ในช่วงที่วิกฤติท่องเที่ยวยังอึมครึมเช่นนี้ หลายคนจึงหันมาพึ่งเชนไทย
เจ้าสัวแห่งเครือเซ็นทาราอ้างว่า หลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจโลกก็มีผู้ประกอบการโรงแรมไทยและสถาบันการเงินที่มีลูกค้าเป็นโรงแรมรายย่อยเข้ามาขอเจรจาอยู่เรื่อยๆ
ขณะที่เครือดุสิตดูจะเต็มอิ่มกับพอร์ตโรงแรมในเมืองไทยที่มีมากถึง 19 แห่ง ทั้งนี้ เพราะประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติการเมืองไทยบ่อยครั้ง (อ่านรายละเอียดใน "วิกฤติโรงแรมไทยในทัศนะอดีตนายกสมาคมฯ")
"ผมคิดว่าสาเหตุที่ดุสิตอยากไปทำอะไรต่างประเทศ เพราะเรามีโรงแรมในไทยค่อนข้างเยอะ ครึ่งหนึ่งเราเป็นเจ้าของเอง ฉะนั้นทรัพย์สินของเราที่นี่ค่อนข้างสูง พอเกิดอะไรขึ้นมาในเมืองไทยทีหนึ่ง เราก็เซเต็มๆ"
เพราะไม่มีธุรกิจอาหารเข้ามาเสริมด้านรายได้ เครือดุสิตจึงมีหนทางหลักในการกระจายความเสี่ยงด้านที่มาของรายได้ด้วยการออกไปต่างประเทศ โดยฐานที่มั่นแห่งใหม่ ของเชนนี้อยู่แถบตะวันออกกลาง กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและยังเติบโตได้อีกแม้ในยามวิกฤติเศรษฐกิจโลก
เชนไทยอย่างอนันตรากำลังเข้าไปบริหารโรงแรมอีกหลายแห่งในดินแดนทะเลทราย
นอกจากเพื่อกระจายความเสี่ยงจากวิกฤติการเมือง อีกเหตุผลที่ทั้ง 3 เชนพยายาม ออกไปหารายได้ในต่างประเทศ นั่นก็คือตลาดเมืองไทยที่แคบลง อันเนื่องมาจากการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ภูเก็ต และสมุย ที่วันนี้แทบจะกลายเป็นสมรภูมิที่เชนโรงแรมเล็กใหญ่จากต่างชาติเข้ามาฟาดฟันกันอย่างดุเดือด
การออกไปสู่ "มหาสมุทร" ที่กว้างใหญ่ของเชนโรงแรมไทยจึงดูมีอนาคตที่สดใสกว่า
ในบรรดา 3 เชนไทย ดุสิตนับเป็นโรงแรมไทยเชนแรกที่พยายามและมีประสบการณ์ ในการออกสู่ตลาดต่างประเทศก่อนใคร ตั้งแต่ 18 ปีก่อน ด้วยเหตุผลที่ว่าตลาดเมืองไทย เล็กเกินไปแล้วสำหรับกลุ่มดุสิต ซึ่งในยุคท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ดุสิตเป็นบริษัทโรงแรม ที่มีความแข็งแกร่งทางการเงินค่อนข้างมาก ดังนั้น กลยุทธ์ในการออกต่างประเทศจึงเป็นวิธีเทกโอเวอร์
ณ วันนั้นอาณาเขตในการขยายอาณานิคมของเครือดุสิตช่างกว้างไกล เริ่มจากซีกโลกตะวันออกข้ามมหาสมุทรไปจรดอีกซีกโลกหนึ่งและยังขยายแบรนด์ โดยใช้ทางลัดผ่านการซื้อเครือข่ายโรงแรมของกลุ่ม Kempinski
หากไม่เกิดวิกฤติการเงินในปี 2540 ที่ทำให้จู่ๆ หนี้สินที่ถืออยู่เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า จนท่านผู้หญิงชนัตถ์ต้องตัดสินใจขายทิ้งเครือข่ายในต่างประเทศทั้งหมด บางทีวันนี้ดุสิตอาจกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของเชนระดับโลก อย่างแอคคอร์, ไฮแอท และสตาร์วู้ด ก็เป็นได้
หรือตรงกันข้าม หากไม่เคยล้มครั้งนั้น ชนินทร์ โทณวณิก CEO และ MD คนปัจจุบัน อาจไม่ได้เรียนรู้บทเรียนสำคัญ ที่ช่วยต่อยอดแบรนด์ "ดุสิต" ให้แข็งแรงและเป็นที่ยอมรับเช่นทุกวันนี้
"ตอนนั้นชื่อเสียงโรงแรมไทยยังไม่ดีพอจึงต้องเข้าไปลงทุนเพื่อเอาแบรนด์คนอื่นมา แต่ตอนนี้โรงแรมดุสิตในต่างประเทศ ล้วนแต่เป็นเม็ดเงินของคนอื่น และถ้าไม่ใช่ เมืองที่ดีจริงเราก็ไม่อยากแตะเพราะรับไม่ไหว เพราะโจทย์เปลี่ยนไปแล้ว แบรนด์เราเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลก"
แม้วันนี้เครือดุสิตมีโรงแรมในตะวันออกกลางอยู่หลายแห่ง แต่ก็ยังมีเจ้าของโรงแรมติดต่อเข้ามาเรื่อยๆ จนชนินทร์ต้องบอกปฏิเสธมากกว่าตอบรับ
เพียง 4 ปีหลังออกสู่ตลาดต่างประเทศครั้งใหม่ วันนี้ เครือดุสิตมีโรงแรม 10 กว่า แห่งในฟิลิปปินส์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และจะเปิดอีกกว่า 10 แห่งในจีน อินเดีย และบาห์เรน อนาคตอันใกล้ก็ยังอาจจะมีโรงแรมอยู่ในยุโรปด้วยก็เป็นได้ ในเมื่อได้ส่งแบรนด์ สปาไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มโรงแรมหรูในอิตาลีก่อนแล้ว
แม้แบรนด์อนันตรามีอายุเพียง 9 ปี แต่ด้วยประสบการณ์กับเชนต่างชาติยักษ์ใหญ่ อย่างโฟร์ซีซั่นและแมริออท และเครือข่ายธุรกิจร้านอาหารที่มีในต่างประเทศ บวกกับอำนาจทางการเงิน วันนี้ เชนอนันตราก็มีโรงแรมกระจายในหลายประเทศ ทั้งในอาเซียน เอเชียใต้ แอฟริกา และแถบตะวันออกกลาง
"เกณฑ์ของเรามีอยู่ว่า 8 ชั่วโมงบินจากกรุงเทพฯ จนถึงพร็อพเพอร์ตี้ เรารับบริหาร แต่ถ้าเกินกว่านั้นยังไม่เอาเพราะไกลไป ทำไมต้อง 8 ชั่วโมง เพราะว่า 8 ชั่วโมงนี่ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้น พรุ่งนี้เราก็ไปถึงเลย ส่วนประเทศที่ลงทุนเองคือประเทศที่บินสัก 3 ชั่วโมง หรือเราคุ้นเคย อย่างมัลดีฟส์บินตั้ง 5 ชั่วโมงแต่ก็เรายอมลงทุนเอง แต่ประเทศใกล้ๆ แต่เราหมายหัวว่าไม่ลงทุนแน่ๆ เพราะเสี่ยงที่จะไม่คุ้มทุน บริหารอย่างเดียวพอ คือแถบตะวันออกลาง อินเดีย และจีน" ปรารถนาอธิบาย
เครือเซ็นทาราเพิ่งมีโรงแรมในต่างประเทศแห่งแรกที่มัลดีฟส์ กำลังจะรับบริหาร โรงแรมในอินเดียและบังกลาเทศซึ่งอยู่ขั้นเจรจา (ดูใน Thai Hotel Expansion Map)
จุดขายของเชนไทยในธุรกิจเชนบริหารโรงแรมระดับโลก คงหนีไม่พ้น "การบริการ แบบไทย" หรือ "Thai Touch" ซึ่งเป็นเสมือน "Service Quality Assurance" ที่นักท่อง เที่ยวต่างชาติให้การยอมรับและเป็นสัญลักษณ์ที่สร้างความแตกต่างให้เชนโรงแรมไทย
ทั้งนี้ แบรนด์เอเชียยังถือเป็นทางเลือกใหม่ของตลาดที่กำลังมาแรงอีกด้วย ซึ่งเชนดีๆ ยังมีอยู่ไม่ถึง 10 เชนด้วยซ้ำ ขณะที่เชนระดับโลกดูจะกลายเป็น "แมส" ที่หาสุนทรีย์และเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมได้ยาก
"ถ้าเราไปทำโรงแรมแล้วออกมาเป็นฝรั่ง ถ้าบริการไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่าเชนนี้แตกต่าง มีบริการแบบคนไทย โอกาสที่เราจะสู้เขาก็ไม่มี" ชนินทร์กล่าว
สำหรับปัจจัยชี้วัดโอกาสในการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด และเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ Light Asset อยู่ที่ความพร้อมทางด้านบุคลากร
เครือดุสิตถือได้ว่ามีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรมากกว่าใคร เพราะมีทั้งวิทยาลัยดุสิตธานี เปิดเมื่อ 13 ปีก่อน มีนักเรียนระดับ ปริญญาตรีกว่า 2 พันคน และปริญญาโทอีกกว่าร้อยคน และยังมี "เลอ กอร์ดอง เบลอ" โรงเรียนสอนทำอาหาร ที่เปิดสอนมาเป็นปีที่ 2 แล้ว
แต่ถึงอย่างนั้น จำนวนบุคลากรที่ผลิตได้ก็ยังไม่ทันกับการขยายตัวของดุสิต โดยเฉพาะในแถบตะวันออกกลาง ปลายปีที่แล้ว ดุสิตจึงลงนามร่วมมือกับ Lyceum of Philippines University มหาวิทยาลัยใหญ่ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งมีนักเรียนด้าน การโรงแรมเกือบหมื่นคน เพื่อรับบริหารหลักสูตรการโรงแรมให้ นอกจากจะได้ผลิต บุคลากรป้อนสู่เครือ ยังได้ขยายธุรกิจการศึกษาออกต่างประเทศอีกด้วย
นอกจากบุคลากร การลงทุนด้านไอทีก็ถือเป็นอีกกุญแจแห่งความสำเร็จของเชนบริหารโรงแรม และดูเหมือนว่าทั้ง 3 เชน จะเห็นความสำคัญของกุญแจดอกนี้เหมือนกันหมด
"เมื่อเลือกจะแข่งฟอร์มูล่าวันก็ต้องลงทุนซื้อรถฟอร์มูล่าวัน ถ้าซื้อกระบะไปแข่งวิ่งให้ตายก็คงสู้ไม่ได้" ชนินทร์เปรียบเปรย
หากเปรียบแล้ว การรับบริหารเชนก็เหมือนการนำ "สินค้า" ไปเสนอขาย ยิ่งหากมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย โอกาสในการขายก็ยิ่งสูงขึ้น เหมือนกับที่เครือดุสิตกำลังจะมีโรงแรมมากถึง 9 แห่งอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมี 5 แบรนด์ใน 6 แบรนด์ (ดูตาราง "ตะกร้าแบรนด์ของเชนไทย") ไม่มีเพียง "Dusit D2" ซึ่งเป็นแบรนด์สำหรับโรงแรมที่มีคาแรกเตอร์ ทันสมัย
วันนี้ เซ็นทาราใช้ความพยายามไม่น้อยที่จะเร่งเพิ่มแบรนด์ในตะกร้าให้หลากหลายขึ้น โดยเฉพาะแบรนด์สำหรับโรงแรม 3 ดาว ทั้งนี้ก็เพื่อให้เหมาะกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้นักท่องที่ยวใช้เงินทุกเม็ดแบบต้องคำนึงถึง "Value for Money"
ขณะที่อนันตราดูจะพอใจกับการมีเพียง 2 แบรนด์สำหรับโรงแรมหรู แต่เวลาไปเสนอขายเจ้าของโรงแรม อนันตรายังมีตัวเลือกเป็นแบรนด์กลุ่ม "Kempinski" กลุ่มโรงแรม 5 ดาวในยุโรป โดยทำหน้าที่เสมือนตัวแทนขายให้แก่กัน
"ทำอย่างนี้แปลว่า เราจะมีพาร์ตเนอร์ที่สามารถเก็บแบรนด์ของเขาไว้ในกระเป๋า เวลาไปเสนอใครเราก็มีสองแบรนด์ ไม่ชอบอนันตราก็มีแคมเปนสกี้ ไม่ต้องไปขอลิขสิทธิ์อะไรกัน และเราเองก็มีสปาอยู่ในโรงแรมที่แพงที่สุดของเขาในตะวันออกกลางด้วย" ปรารถนากล่าวถึงพันธมิตรเพื่อ Economy of Scales ซึ่งอาจจะเป็นผู้ปูทางให้อนันตราเข้าสู่ยุโรปในเร็ววัน
ทั้งนี้ เชนโรงแรมไทยทั้ง 3 แบรนด์ ล้วนมีเป้าหมายในการกระจายความเสี่ยงด้านการลงทุน ด้วยการบาลานซ์พอร์ตโรงแรมในเครือเหมือนๆ กัน คือภายใน 5 ปีจะมีโรงแรมที่เป็นเจ้าของเองกับรับจ้างบริหารในสัดส่วน 50:50
สำหรับการโตจาก Regional Brand เป็น Global Brand ดูเหมือนจะไม่ง่ายนัก เพราะว่ากำลังอยู่ท่ามกลางวิกฤติและความไม่แน่นอน จึงไม่มีใครยืนยันว่าจะมุ่งไปสู่การเป็นเชนระดับโลกได้เมื่อไร แต่เชื่อได้ว่า เมื่อผ่านพ้นวิกฤติซ้ำซ้อนครั้งนี้ไปได้อย่างสวยงาม โอกาสที่ทั้ง 3 เชนจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในยามเศรษฐกิจดีก็ย่อมมี
หรือแม้ในยามที่ใครต่อใครร้องระงมว่าเป็น "วิกฤติ" โอกาสใหม่ๆ ย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ แต่คงจะมีเพียงธุรกิจที่มีแผนตั้งรับไว้และบริหารความเสี่ยงมาเป็นอย่างดี จึงจะพลิกวิกฤติเป็นโอกาสได้สำเร็จ!!
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|