Xue Qian Xun คดีเด็กถูกทิ้งที่กระทบหลายประเทศ

โดย ชาคริต เทียบเธียรรัตน์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ในเดือนกันยายน 2007 ผมเชื่อว่าบรรดาหนังสือพิมพ์ชาวจีนที่ตีพิมพ์ทั้งในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อเมริกา ฮ่องกง และเมืองจีน คงไม่มีเรื่องไหนที่ได้รับความสนใจเท่าคดี ซู เฉียนซุน หรือหนูน้อย พัมพ์กิ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เริ่มจากเหตุที่เล็กมาก เป็นคดีที่ถือเป็นเรื่องปกติในหลายๆ ประเทศ คือ คดีเด็กถูกทิ้งก่อนที่จะขยายไปเป็นคดีฆาตกรรมอำพรางไปจนถึงคดีตามล่าฆาตกร

เหตุของคดีซู เฉียนซุนนั้นเริ่มมาจากวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.2007 มีคนพบเด็กน้อยเชื้อสายจีนวัย 3 ขวบ หลงอยู่ในสถานีรถไฟเซาเทิร์นครอสที่นครเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในขั้นแรกตำรวจเมืองจิงโจ้เริ่มจากการค้นหาผู้ปกครองของหนูน้อยดังกล่าวเช่นเดียวกับมหานครใหญ่ๆ ทั่วโลก นครเมลเบิร์นมีชาวเอเชียอาศัยเป็นจำนวนมาก เหตุเด็กหลงจึงดูเหมือนว่าไม่รุนแรง อะไร ตำรวจออสเตรเลียสืบหาผู้ปกครองเด็กจากกล้องรักษาความปลอดภัยในสถานีรถไฟก่อนที่จะพบภาพบิดาของซู เฉียนซุน จูงหนูน้อยคนนี้เข้าไปในสถานีรถไฟ ในขั้นแรกตำรวจไม่สามารถหาข้อมูลจากหนูน้อยวัย 3 ขวบได้จึงเรียกชื่อเธอว่า พัมพ์กิ้น ตามยี่ห้อเสื้อพัมพ์กินแพช เสื้อผ้าเด็กที่นิยมกันมากในนิวซีแลนด์ซึ่งหนูน้อยคนนี้สวมอยู่

ต่อมาตำรวจเปลี่ยนสถานะหนูน้อยพัมพ์กิ้นจากเด็กหลงเป็นเด็กถูกทิ้งเพราะภาพที่สถานีรถไฟชี้ชัดว่าพ่อของหนูน้อยพัมพ์กิ้นนั้นนำเด็กมาทิ้งไว้โดยจงใจก่อนที่จะเดินออกจากสถานีในเวลาอันสั้น ทางตำรวจเมืองออสซีได้ตรวจสอบข้อมูลต่อมาพบว่าบิดาของเด็กน้อยคนนี้ไม่ใช่ชาวออสเตรเลียนไชนีสอย่างที่ตำรวจเข้าใจในตอนแรก แต่เป็นชาวจีน ที่มาจากนิวซีแลนด์ และเดินทางออกจากเมลเบิร์น ไปยังลอสแองเจลิสในวันที่ทิ้งหนูน้อยพัมพ์กิ้น จากข้อมูลตำรวจพบว่าบุรุษนิรนามนี้ชื่อ ซู ไนยิน วัย 54 ปี หนูน้อยปริศนานี้ชื่อว่า ซู เฉียนซุน สองพ่อลูกเดินทางมายังนครเมลเบิร์นในวันที่ 13 กันยายนจากนครโอ๊กแลนด์ประเทศนิวซีแลนด์

เมื่อได้ข้อมูลแล้วตำรวจออสเตรเลียจึงประสานไปยังตำรวจนิวซีแลนด์ทันทีในวันที่ 17 กันยายน ตำรวจนครบาลโอ๊กแลนด์เริ่มสืบหาข้อมูล ของซู ไนยิน พบว่าเป็นเจ้าของโรงฝึกกังฟูในนครโอ๊กแลนด์ มีลูกศิษย์ลูกหาพอสมควร นอกจากนี้ ไนยินยังเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ภาษาจีนรายสัปดาห์ในโอ๊กแลนด์ แต่ที่สำคัญคือทางท่าอากาศ ยานนานาชาติโอ๊กแลนด์รายงานว่าตำรวจยึดกระบี่ จีนจากไนยินที่ท่าอากาศยาน ซึ่งไนยินชี้แจงว่าเป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับสอนกังฟูซึ่งตนจะนำไปสอนที่ต่างประเทศ แต่ทางการไม่ยอมและได้ยึดไว้พร้อมกับออกหนังสือว่าจะให้ไนยินมารับคืนเมื่อกลับมาถึงโอ๊กแลนด์

หลังจากได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ทางการพบว่า ซู ไนยินมีภรรยาต่างวัยชื่อ หลิว อันอัน อายุ 27 ปี ตำรวจนิวซีแลนด์รุดไปยังบ้านของอันอันทันที เพื่อให้มารดาของเด็กไปรับลูกสาวที่ถูกนำไปทิ้งที่เมลเบิร์น ส่วนไนยินนั้นตำรวจออสซีดำเนินคดีทิ้งเด็กเท่านั้น สถานการณ์ในตอนแรกยังดูไม่รุนแรงนักแม้ว่ารูปคดี จะเปลี่ยนจากเด็กหลงเป็นเด็กถูกทิ้ง หนังสือพิมพ์ ในเมืองกีวีรายงานว่า ธุรกิจหนังสือพิมพ์ของไนยินนั้นดูเหมือนจะประสบปัญหาสภาพคล่องจึงทำให้มีข้อสันนิษฐานว่า การไปแอลเอนั้นคงจะไปรับสอนกังฟูเพื่อหาเงินเพราะไนยินเคยไปสอนกังฟูที่แอลเอ อยู่หลายหน

แต่แล้วรูปคดีก็เปลี่ยนไปเป็นแม่เด็กหายสาบสูญ เพราะบ้านของไนยินและอันอันนั้นถูกปิดเงียบอยู่ ทางการจะบุกเข้าไปโดยไม่มีหมายค้นก็ไม่ได้ จึงต้องกลับไปตั้งหลักก่อน เพราะรูปคดีดูแล้วไม่สามารถออกหมายค้นได้เพราะอันอันไม่ได้เป็นอาชญากร ตำรวจนครบาลโอ๊กแลนด์ได้ค้นหาอันอัน และสืบหาพบว่าอันอันไม่ได้ติดต่อญาติหรือเพื่อนสนิทมาตั้งแต่วันที่ 13 กันยายนและไม่ได้มีชื่อในสายการบินหรือโรงแรมใดๆ ในนิวซีแลนด์ ในวันที่ 18 กันยายนตำรวจนครบาลโอ๊กแลนด์ตัดสินใจปรับสถานะอันอันให้เป็นบุคคลสูญหายและออกหมายค้นบ้าน ต่อมาตำรวจพบรถยนต์ฮอนด้าสีเงิน จอดห่างจากตัวบ้านเล็กน้อย ตำรวจจึงงัดรถเพื่อตรวจสอบและพบว่าในที่เก็บของท้ายรถมีศพหญิงชาวเอเชียซึ่งเสียชีวิตมาแล้วหลายวัน

คราวนี้คดีเด็กหลงในเมลเบิร์นได้ขยายวงกว้างขึ้นไปอีก ตำรวจได้นำกระบี่จากท่าอากาศยาน โอ๊กแลนด์ไปตรวจสอบ รวมทั้งสืบจากเพื่อนและญาติสนิทของสองสามีภรรยา และได้ติดต่ออินเตอร์ โพลเพื่อให้ตำรวจนครลอสแองเจลิสจับกุมไนยินทันที ตำรวจแอลเอพบว่าไนยินเข้าพักในโรงเตี๊ยม ย่านไชน่าทาวน์ก่อนหายสาบสูญ โดยตำรวจอเมริกา ลงประกาศตามโทรทัศน์ว่าอยู่ในข่ายอาชญากรที่ ทางการต้องการตัวสูงสุด

ปัญหาที่ตามมาก็คือสิทธิในการเลี้ยงดูหนูน้อย พัมพ์กิ้น โดยยายของเฉียนซุนคือนางหลิว เสี่ยวผิงเดินทางมาจากเมืองจีน โดยมีความหวังว่าจะนำหนูน้อยเฉียนซุนกลับไปเลี้ยงที่จีน ด้านพี่สาวต่างมารดาของหนูน้อยเฉียนซุนชื่อ เกรซ ซู วัย 27 ปีได้แจ้งความประสงค์ต่อศาลว่าจะนำหนูน้อยเฉียนซุน ไปเลี้ยงที่นครโอ๊กแลนด์ต่อไป โดยให้เหตุผลว่าตนเอง ก็เป็นลูกสาวของไนยินและถูกพ่อนำไปทิ้งเมื่ออายุ 19 ปี จึงเข้าใจสถานะของหนูเฉียนซุนดีกว่าใคร เธอชี้แจงต่อศาลว่าเธอเองอยู่ในฐานะการงานที่ดีพอสมควรและชี้ว่าหนูน้อยพัมพ์กิ้นยังถือสัญชาติ นิวซีแลนด์ไม่ใช่จีน ทำให้เรื่องของหนูน้อยพัมพ์กิ้น ถูกนำไปสู้ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวที่นครโอ๊กแลนด์ ซึ่งผู้พิพากษาตัดสินให้ยายเป็นผู้มีสิทธิในตัวหนูน้อยคนนี้และสามารถพาเฉียนซุนกลับไปเมืองจีนได้

จากเหตุเล็กๆ ที่มีเด็กหลงในเมลเบิร์นได้ขยายไปเป็นคดีทิ้งเด็ก คดีฆาตกรรม และเป็นคดีแย่งชิงสิทธิการเลี้ยงดูหนูน้อยเฉียนซุนจากยายและพี่สาว ในชุมชนชาวจีนเรื่องการตายของอันอันนั้น ดังยิ่งกว่าเรื่องของลูกสาวที่ฝรั่งให้ความสนใจ ข่าวลือนั้นปลิวว่อนไปทั่ว ทั้งเรื่องพฤติกรรมของไนยินซึ่งชอบนำภรรยาไปใช้เป็นกระสอบทรายในการซ้อมกังฟู เพราะภรรยาคนแรกได้หย่ากับไนยินหลังโดนซ้อมจนเป็นเรื่องขึ้นโรงขึ้นศาล

หลังจากหนีมาได้เกือบครึ่งปี ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2008 ไนยินก็โดนจับในตำบลแชมบรีซึ่งอยู่ในเขตมหานครแอตแลนตา การโดนจับก็ออกจะเป็นเรื่องแปลกสักหน่อยเพราะคนที่ลงมือจับไม่ใช่ตำรวจแต่เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีน 6 คน ซึ่งอ่านข่าวแล้วมีความโกรธแค้นที่ไนยินทำให้ชาวจีนเสียชื่อเสียงในเมืองฝรั่ง หนึ่งในหกคนนั้นพักอยู่ที่อพาร์ตเมนต์เดียวกับไนยินจึงหลอกให้มาพบ โดยทำทีว่าจะชวนไปทานหยำฉ่า เมื่อไนยินเข้าไปในห้องพักหกพลเมืองดีก็ใช้ยุทธการปิดประตูตีแมว ไนยินพยายามสู้โดยหัวหน้าของหกพลเมืองดีได้โดนศอกเข้าไปเต็มๆ

แต่ในที่สุดก็เสร็จ 6 พลเมืองดีซึ่งเป็นการชี้ว่าไนยินไม่เก่งจริงตามที่โม้เพราะแฟนหนังจีนมักจะชินกับภาพนักกังฟูอย่าง บรูซ ลี, เฉิน หลง, หรือหลี่ เลี่ยงจี กระโดดเตะต่อยตัวร้าย 6-7 คนเป็นพัลวันโดยบรรดาคนที่มารุมในหนังมักจะได้แว่นตาเป็นของฝากกลับบ้านไปทุกเรื่อง แต่ในความเป็นจริงพลเมืองดี 6 คนกลับเป็นฝ่ายรุมอัดนักกังฟู แถมด้วยความกลัวว่าจะหนีจึงถอดกางเกง ของนักกังฟูมามัดขาและเอาเข็มขัดมามัดมือไนยินไว้ จากนั้นหัวหน้าขบวนการก็กระโดดนั่งทับไว้อีกชั้นหนึ่งก่อนส่งพรรคพวกไปแจ้งตำรวจ ทำให้ไนยินตกอยู่ในสภาพเหมือนหมูที่ถูกมัดก่อนเอาไปเชือด ส่วนคนเชือดหมูหรือตำรวจอเมริกันมาถึงก็ตกตะลึงในฝีมือ 6 พลเมืองดีเพราะโดยมากพลเมืองดีจะไม่ยอมเจ็บตัว มักจะรอให้ตำรวจมาฟัดกับคนร้าย เอาเอง ขนาดสารวัตรตำรวจที่มาจับคนร้ายด้วยตน เองยังบอกว่าเป็นสภาพที่เหลือเชื่อมากที่เห็นนักกังฟูโดนมัดได้พิสดารที่สุด

งานนี้ทั้งรัฐบาลอเมริกาและนิวซีแลนด์ต่างประกาศเกียรติคุณหกพลเมืองดีและมีรางวัลค่านำจับให้อีก 6,500 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะเอาหมูที่โดนมัดแล้วขึ้นรถฉลามบกไปส่งห้องขังต่อไปโดยกรมตำรวจนิวซีแลนด์มีข้อตกลงในการส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับทางอเมริกาจึงส่งตัวอาชญากรตัวร้ายให้ทางการนิวซีแลนด์เอาไปดำเนินคดีต่อไปในชั้นศาลต่อไป

โดยศาลอาญานครโอ๊กแลนด์เริ่มนำสืบคดีซึ่งเอเย่นต์ขายตั๋วเครื่องบินในโอ๊กแลนด์ให้การว่าไนยินขอซื้อตั๋วไปเมลเบิร์นและไม่มีท่าทีผิดปกติแต่อย่างใด แต่เอเย่นต์ที่เมลเบิร์นได้ให้การว่าเมื่อไนยิน มาถึงเขามีท่าทีเร่งร้อนและต้องการตั๋วไปลอสแองเจลลิสในคืนนั้น และต้องไม่แวะที่นิวซีแลนด์ซึ่งทำให้คนขายตั๋วค่อนข้างแปลกใจเพราะเส้นทางบินตรงเมลเบิร์นไปแอลเอนั้น ผูกขาดโดยสายการบิน แควนตัสทำให้คนส่วนมากต้องการลดค่าใช้จ่ายโดยบินไปโอ๊กแลนด์หรือไครส์เชิร์ช เพื่อจับสายการบินแอร์นิวซีแลนด์ หรือสายการบินแอร์แปซิฟิกของฟิจิ ถ้าต้องการตั๋วราคาพิเศษ ซึ่งพนักงานได้บอกว่า ไฟลท์ได้ออกไปแล้วจำเป็นต้องรอวันรุ่งขึ้น

นอกจากบินไปโอ๊กแลนด์ก่อนทำให้ไนยินมีท่าทีหงุดหงิดอย่างผิดปกติก่อนจะเดินไปดูแผนที่ โลกแล้วถามว่าถ้าไปลอนดอนล่ะ ซึ่งทำให้พนักงาน แปลกใจและบอกว่าไฟลท์ออกไปแล้ว จึงถามถึงโยฮันเนสเบิร์กซึ่งพนักงานตอบไปว่าไฟลท์ออกไปถึงเพิร์ธแล้ว ตรงนี้เองที่ทำให้พนักงานมองเห็นความผิดปกติเพราะไนยินบอกว่าต้องการบินออกจากเมลเบิร์นภายในวันนั้น และจะเป็นที่ไหนก็ได้ในโลก สุดท้ายไนยินจำใจต้องรอบินตรงไปแอลเอในวันรุ่งขึ้น จากคำให้การของพนักงานทำให้เราเห็น ภาพว่าไนยินเป็นคนฆ่าอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การ ฆาตกรรมน่าจะมาจากอุบัติเหตุพลั้งมือมากกว่า เพราะถ้าเป็นการวางแผนฆ่าไนยินคงไม่มีท่าทีพิรุธอย่างที่พยานได้ให้การ

การพิจารณาคดีไนยินยังคงดำเนินอยู่ แต่อาจจะเป็นโชคของไนยินว่ารัฐบาลนิวซีแลนด์ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตไปแล้ว ถึงแม้ว่าไนยินจะรอดพ้นจากที่ประหารหัวสุนัขไปได้ แต่บทสรุปของคดีที่ยืดเยื้อเกือบสองปีนี้ก็คงต้องเป็นไปตามกฎแห่งกรรมซึ่งคนผิดย่อมหนีไม่พ้นการถูกจำคุก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.