ควันหลงเลือกตั้งอินเดีย

โดย ติฟาฮา มุกตาร์
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

การเลือกตั้งทั่วไป 2009 ของอินเดียผ่านพ้นไปอย่างค่อนข้างราบรื่น โดยพรรคคองเกรสได้รับเลือกด้วยเสียงข้างมากให้เข้ามาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสม และมีมานโมฮัน ซิงห์ เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่สอง แม้ว่าผลโดยทั่วไปไม่ถึงกลับพลิกโผ แต่ชัยชนะของพรรคคองเกรสครั้งนี้ถือว่าทิ้งห่างคู่ต่อสู้เกินความคาดหมาย เราลองมาสำรวจดูว่ามีอะไรเป็นปัจจัยและเป็นสัญญาณบ่งชี้อะไรบ้าง

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลหรือในชื่อ United Progressive Alliance (UPA) ในการนำของพรรคคองเกรสได้รับเลือกด้วยจำนวน ส.ส. 262 ที่นั่ง โดยพรรคคองเกรสมีถึง 206 ที่นั่ง นำห่างแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเดิม หรือ National Democratic Alliance (NDA) ภายใต้การนำของ Bharatiya Janata Party (BJP) ได้เพียง 157 ที่นั่ง ขณะที่บีเจพีเองมีแค่ 72 ที่นั่ง

ชัยชนะหนนี้ถือว่าเกินความคาดหมาย เพราะ ในช่วงรณรงค์หาเสียงบรรดาคีย์แมนของพรรคคองเกรสคาดการณ์ว่า ตนจะได้รับเลือกระหว่าง 150-160 ที่นั่ง อันหมายถึงว่าทางพรรคจะต้องหาแนวร่วมใหม่มาเสริม อย่างพรรค Janata Dal หรือกลับไปจีบแนวร่วมฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาลชุดก่อนแต่ตีจากไปด้วยความเห็นขัดแย้งในเรื่องสนธิสัญญานิวเคลียร์ที่ทำกับสหรัฐอเมริกา และชัยชนะนี้ทำให้มานโมฮัน ซิงห์ เป็นนายกฯ คนแรกที่ดำรงตำแหน่งครบเทอมและได้รับเลือกต่อเนื่อง เป็นสมัยที่สอง ส่วนนายกฯ คนสุดท้ายที่ได้รับเลือกเป็นสมัยที่สองคือ จาวาฮาร์ลัล เนห์รู เมื่อปี 1962

บรรดาผู้สังเกตการณ์การเมืองของอินเดียมีความเห็นพ้องกันว่า ปัจจัยสำคัญต่อชัยชนะของพรรคคองเกรสคือ หนึ่ง-ประชาชนโดยรวมต้องการ เสถียรภาพและความต่อเนื่องของการเมืองที่ปราศจากการแบ่งขั้วทางศาสนา และมองว่า ณ วันนี้ พรรคคองเกรสเท่านั้นที่จะสามารถเป็นแกนนำของรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้ สอง-ผลงานที่ผ่านมาของรัฐบาลนายกฯ มานโมฮัน ซิงห์ โดยเฉพาะโครงการประกันการมีงานทำในเขตชนบท (National Rural Employment Guarantee Scheme-NREGS) และโครงการปลดหนี้แก่คนยากจน สาม-การเทคะแนนเสียงของชาวมุสลิมจากพรรคเดิมๆ ที่เคยให้การสนับสนุนมาให้พรรคคองเกรส

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสริม อาทิ ความเชื่อถือของผู้คนที่มีต่อบารมีของโซเนีย คานธี ประธานพรรคคองเกรส และราหุล คานธี บุตรชาย ซึ่งดำรง ตำแหน่งเลขาธิการพรรคและได้รับการสร้างภาพอย่างชัดเจนจากทางพรรคในฐานะทายาททางการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีราจีฟ คานธี ผู้บิดา ซึ่งคะแนนเสียงที่เขาและสมาชิกพรรคได้รับจากรัฐอุตรประเทศพิสูจน์ถึงการตอบรับเป็นอันดีจากประชาชน ขณะเดียวกันบรรดาพรรคคู่ต่อสู้นับจากบีเจพี อาร์เจดี (Rashtriya Janata Dal) เอส.พี. (Samajwadi Party) และบีเอสพี (Bahujan Samaj Party) ล้วนแต่อยู่ในสภาพทำตัวเอง โดยเฉพาะบีเจพีนั้นเสียคะแนนไปอย่างมากในช่วงครึ่งทางของ การรณรงค์หาเสียง เมื่อสมาชิกพรรคบางส่วนหันมาชูธงว่า นาเรนทรา โมดี้ ผู้ว่าการรัฐคุชราต คือผู้ที่เหมาะสมแก่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของอินเดีย ซึ่งนอกจากจะทำให้นายอัดวานีหัวหน้าพรรคที่ควรจะเป็นนายกฯ หากพรรคชนะการเลือกตั้งต้องเสียหน้า ยังสร้างความสับสนจนเกิดอาการฐานเสียงแตกในหมู่ประชาชนผู้สนับสนุน

ปัจจัยเสริมหากสำคัญไม่น้อยอีกประการ ส่งผลมาจากการเมืองระดับท้องถิ่น ที่เห็นได้ชัดคือกรณีของรัฐเบงกอลตะวันตก เกรละ และอันธราประเทศ ซึ่งประชาชนต้องการสอนบทเรียนแก่พรรค รัฐบาลท้องถิ่นไม่ให้นิ่งนอนใจต่อเสียงสนับสนุนของประชาชน ทำนองว่าอย่าคิดว่าประชาชนเป็นของตายยังไงก็เลือกตน โดยเฉพาะเบงกอลตะวันตกและเกรละ สองรัฐของอินเดียที่รัฐบาลท้องถิ่นมาจาก พรรคฝ่ายซ้ายมากว่าสามทศวรรษ การสวิงเสียงไปเลือกตัวแทนจากแนวร่วมของพรรคคองเกรส (พรรคฝ่ายค้านในระดับการเมืองท้องถิ่น) ในการเลือกตั้งทั่วไป เช่นในกรณีเบงกอลฯ หนนี้แนวร่วมฝ่ายซ้ายที่เป็นรัฐบาลท้องถิ่นได้เพียง 15 ที่นั่งจากเดิม 35 ที่นั่ง ขณะที่ตรีนามุล คองเกรสพรรคฝ่ายค้านชนะท่วมท้นได้ 19 ที่นั่งจนได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลกลาง ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นการตบหน้ารัฐบาลท้องถิ่นครั้งใหญ่เหมือนจะบอกว่า หากจะเป็นซ้ายก็จงเป็นซ้ายก้าวหน้า ถ้าทำตัวเป็นซ้ายแบบ เช้าชามเย็นชามก็อย่าหวังว่าประชาชนจะยอมกินเกลือกินอุดมการณ์ตามไปด้วย

การลดคะแนนนิยมต่อพรรคฝ่ายซ้ายที่เห็นได้ชัดนี้ ยังทำให้นักวิเคราะห์จำนวนมากและบรรดาบรรษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายมองว่าประชาชนส่งสัญญาณให้รัฐบาลเดินหน้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ แต่คอลัมนิสต์ประจำของนิตยสาร ฟรอนไลน์เห็นต่างและเตือนว่า อันที่จริงคะแนน เสียงจำนวนไม่น้อยที่พรรคคองเกรสได้รับ ก็เนื่องมาจากนโยบายเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่พรรคฝ่ายซ้ายและองค์กรภาคประชาชนเป็นแกนในการผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นโครงการประกันการมีงานทำในเขตชนบท กฎหมายป่าชุมชน และกฎหมายอื่นๆ ที่ประกันสิทธิชนพื้นเมือง สิทธิในการเข้าถึงข้อมูล ซึ่งผ่านร่างในช่วงรัฐบาลมานโมฮันซิงห์ นอกจากนี้การที่เศรษฐกิจอินเดียยังคงฝ่าคลื่นลมวิกฤติเศรษฐกิจโลกมาโดยไม่บอบช้ำนัก ก็เป็นผลจากการไม่เปิดเสรี ทางเศรษฐกิจในหลายภาคส่วน และล้วนมาจากการต่อสู้แบบหัวชนฝาของอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่มีมาตลอดหลายทศวรรษทั้งสิ้น

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังถือเป็นสมัยที่สองที่ ส.ส.ของอินเดียจะต้องมีการแจกแจงทรัพย์สิน ซึ่งถือเป็นไฟลท์บังคับที่เพิ่งเริ่มมีตามคำสั่งศาลสูงเมื่อปี 2003 จากรายการแสดงทรัพย์สิน หนังสือพิมพ์ ฮินดูสถาน ไทม์ ได้จัดอันดับ ส.ส.ที่รวยสุดและจนสุดเอาไว้ โดยผู้ที่รวยที่สุดคือ Lagadapati Rajagopal สส.พรรคคองเกรสจากรัฐอันธราประเทศ มีทรัพย์สินรวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,950 ล้านรูปี หากถามต่อว่าร่ำรวยมาจากไหน ต้องบอกว่าสร้างตัวมาจากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างก่อนจะขยายไปทำธุรกิจซอฟต์แวร์ในสหรัฐฯ ภายใต้ชื่อ Lanco Group ถัดมาเป็น ส.ส.จากรัฐเดียว กันแต่มาจากพรรคเตลูกู เดสัม ชื่อ Nama Nageswara Rao รายนี้จบแค่ชั้นมัธยมและสร้างตัวจากธุรกิจก่อสร้าง ปัจจุบันอายุ 50 ปีและประกาศชัดว่า ผมรวยพอแล้วจึงมาทำงานการเมือง มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 1,730 ล้านรูปี อันดับสามคือ Naveen Jindal ส.ส.พรรคคองเกรสจาก รัฐฮาเรียนา คนนี้มีดีกรีนอกร่ำรวยจากธุรกิจของ Jindal Steel ในวัย 39 ปี เขามีสินทรัพย์รวม 1,310 ล้านรูปี

สำหรับ ส.ส.หญิงที่รวยที่สุดและถือเป็นอันดับเจ็ดของ ส.ส.รวยสุด คือ Harsimrat Kaur ส.ส.พรรค Shiromani Akali Dal จากรัฐปัญจาบ มีทรัพย์สินรวม 603 ล้านรูปี เฉพาะเครื่องเพชรพลอยมีมูลค่า 20 ล้านรูปี เรื่องที่มานั้นไม่ต้องสงสัยเพราะเธอเป็นภรรยารองผู้ว่าการรัฐฯ ซึ่งตระกูลของเขาทรงอิทธิพลมาแต่ไหนแต่ไร

คราวนี้ลองมาดู ส.ส.คนยากกันบ้าง เริ่มจาก ส.ส.หญิงคือ Mamata Banerjee ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหญิงเหล็กจากรัฐเบงกอลตะวันตก หัวหน้าพรรคตรีนามุล คองเกรส ซึ่งได้ร่วมจัดตั้งรัฐบาลและขณะนี้มีตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการรถไฟ เธอมีทรัพย์สินรวมเพียง 473,173 รูปี ไม่มีทั้งบ้านที่ดิน หรือแม้แต่รถยนต์ สำหรับฝ่ายชายที่น่าสนใจคือ Pradip Kumar Singh ส.ส.จากรัฐพิหาร แสดงทรัพย์สินแล้วพบว่ามีอยู่ 257,000 รูปี แต่มีหนี้เป็นเงินกู้ยืมถึง 7 แสนรูปี

ส่วน ส.ส.ที่ติดอันดับจนที่สุดได้แก่ Chandradas Mahant ส.ส.พรรคคองเกรส วัย 54 ปี จากรัฐชัตติสการ์ ทั้งเนื้อทั้งตัวมีเพียงเงินสดอยู่ 12,000 รูปี

หลังจากเสร็จสิ้นการจัดตั้งรัฐบาล "โลกสภา" หรือรัฐสภาของอินเดียชุดที่ 15 ก็เปิดสมัยประชุมแรกขึ้นเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา สีสันที่น่าสนใจคือ ส.ส.จำนวนมากมารายงานตัวในชุดประจำท้องถิ่น ที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็น Takom Sanjay ส.ส.พรรคคองเกรส จากรัฐอรุณาชัลประเทศ ที่มาพร้อมกับหมวกประจำเผ่า Nyishi เป็นรูปนกเงือก แต่งานนี้เขาเด่นอยู่เพียงครู่เดียวก็โดนประณามทั้งจาก ส.ส.พรรคฝ่ายค้านและบรรดานักอนุรักษ์ จนกลายเป็นข่าวในวันถัดมา ฐานปฏิบัติตัวไม่เหมาะสมในความเป็นผู้แทนราษฎร เพราะนกเงือกถือเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และการมีส่วนหนึ่งส่วนใดในครอบครองถือว่าผิดกฎหมาย งานนี้นายสัญเจย์แก้ตัวไปขุ่นๆ ว่าปากนกเงือกที่เห็นเป็นของปลอม แต่ไม่ยอมเอ่ยถึงที่มาของขนนกเงือกที่ประดับอยู่ที่ส่วนหลัง

นอกจากนี้ในการสาบานตนเข้ารับตำแหน่ง ส.ส.ส่วนใหญ่ยังกล่าวด้วยภาษาประจำท้องถิ่น อาทิ โอริยา ภาษาถิ่นของรัฐโอริสสา เตเลกู ภาษาถิ่นของรัฐทมิฬนาฑู กันนาดของรัฐกรณาฏกะและบ้างก็ใช้ภาษาสันสกฤต

จุดน่าสนใจประเด็นสุดท้ายจากการเลือกตั้งและสมัยประชุมแรกของรัฐสภาอินเดีย คือการเลือก ให้ Meira Kumar ทำหน้าที่เป็น Speaker ในการประชุมรัฐสภา ซึ่งถือเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเลือก โดยเธอเป็นบุตรสาวของอดีตผู้นำชาวดาลิต (คนนอกวรรณะของอินเดีย) คนสำคัญ เดิมเป็นนักการทูตก่อนจะหันมาเล่นการเมืองและได้รับเลือกติดต่อกันมา 5 สมัย เธอจะรับบทบาทอันท้าทายและรับมือบรรดาเสือสิงห์ประจำสภาอย่างไร เป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไป

ระบอบประชาธิปไตยของอินเดียแม้จะอ่อนวัยกว่าของไทยร่วมสองทศวรรษ ทั้งอินเดียมีอัตราการรู้หนังสือต่ำกว่าและมีปัญหาความยากจนหนักหนากว่าบ้านเรามากนัก แต่เมื่อดูการเมืองทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศแล้ว คงต้องยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยของอินเดียแข็งแรงและสูงด้วยวุฒิภาวะกว่าเมืองไทยหลายขุม


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.