ความท้าทายของผู้นำรุ่นที่ 5 (ตอนจบ)

โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ต้นเดือนมิถุนายน 2552 ที่ผ่านมา สื่อมวลชนทั่วโลกรวมถึงสื่อมวลชนไทยต่างจับตามองวาระของการครบรอบ 20 ปีของโศกนาฏกรรมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน อันเป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและปัญญาชนชาวจีนนับล้านๆ คนออกมาประท้วงรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ในปี พ.ศ.2532 (ค.ศ.1989)

การปลุกกระแสครบรอบ 20 ปีของโศกนาฏกรรมที่เทียนอันเหมินเกิดขึ้นจากสื่อมวลชนตะวันตก ซึ่งพยายามนำเรื่องราวต่างๆ มาปะติดปะต่อเข้ากับ การเปิดตัวหนังสือ Prisoner of the State: The Secret Journal of Premier Zhao Ziyang ซึ่งเป็นบันทึกลับของจ้าว จื่อหยาง อดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนผู้ออกมาแสดงทีท่าเห็นอกเห็นใจนักศึกษาและปัญญาชน และคัดค้านการใช้กำลังทหารเข้าสลายการชุมนุม จนกระทั่งเขาถูกปลด จากตำแหน่งและถูกกักบริเวณ ก่อนที่จะเสียชีวิตในเดือนมกราคม 2548

ด้านสื่อมวลชนไทย ส่วนใหญ่ต่างก็รายงานถึงเรื่องราวดังกล่าวตามกระแสของสื่อตะวันตก โดยบางคนถึงกับเปิดตำราตามฝรั่งและวิเคราะห์ไปไกลถึงว่า เหตุการณ์ประท้วงที่เทียนอันเหมินเมื่อ 20 ปีก่อนนั้นกำลังแพร่กระจายไปเป็น "เทียนอันเหมินน้อยๆ" ทั่วประเทศจีน อีกทั้งยังตบท้ายด้วยความเชื่อมั่นว่าประเทศจีนน่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยในเร็ววันนี้

จากความเห็นส่วนตัว ผมไม่ค่อยเห็นด้วยกับทัศนะของสื่อมวลชนตะวันตกส่วนใหญ่และสื่อมวลชน ไทยจำนวนหนึ่งที่ได้ยินฝรั่งพูดอะไรมาก็เออออตามฝรั่งไปเสียหมด เพราะจริงๆ แล้ว พรรคคอมมิวนิสต์ จีน ผู้นำจีนรุ่นถัดๆ มา รวมถึงคนจีนทุกวันนี้เองจำนวนไม่น้อยต่างก็รู้ดีและรู้อยู่แก่ใจว่า การตัดสินใจ ของผู้นำสูงสุดในพรรคเมื่อปี 2532 ถูกต้องหรือผิดพลาดอย่างไร

ในแง่มุมของพรรคคอมมิวนิสต์จีน โศกนาฏกรรมที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน หากจะกล่าวไปแล้วนับว่า เป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจผู้นำอย่างทุลักทุเลซ้ำสอง หลังจากที่ครั้งแรกในการหาผู้สืบทอดอำนาจต่อจาก เหมา เจ๋อตง ส่งผลให้เกิด "การปฏิวัติวัฒนธรรมครั้งใหญ่ (พ.ศ.2509-2519)" ก่อความทุกข์ยากให้แก่ประชาชนชาวจีนนานถึง 10 ปี ก่อนที่อำนาจจะถูกเปลี่ยนถ่ายจากผู้นำรุ่นที่ 1 (เหมา) มายังผู้นำรุ่นที่ 2 คือ เติ้ง เสี่ยวผิง สำเร็จในที่สุด

ผมค่อนข้างจะเห็นตรงกับศาสตราจารย์พอล เอส รอปป์ (Paul S. Ropp) นักประวัติศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษาจากมหาวิทยาลัยคลาร์ก (Clark University) สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้รับเชิญจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้มาบรรยายถึงความเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนในรอบ 30 ปี เมื่อวันศุกร์ที่ 12 มิถุนายน ณ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

การบรรยายวันนั้น เมื่อพูดถึงโศกนาฏกรรม ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ศ.รอปป์กล่าวว่า "ผมไม่เห็นว่าเหตุการณ์ที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 2532 จะลุกลามใหญ่โตไปเหมือนที่ชาวตะวันตกบางส่วนวิเคราะห์ เพราะแม้แต่วิกฤติการณ์ของสังคมจีนซึ่งกินเวลายาวนานถึง 10 ปีอย่างการปฏิวัติวัฒนธรรม พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็สามารถรอดพ้นมาได้ ดังนั้นเหตุการณ์ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นเพียงไม่กี่เดือน ก็ไม่น่าที่จะส่งผลให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องถึงกับล่มสลาย แต่อย่างใด"

นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเชิงประจักษ์อีกหลายประการ ที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้พิสูจน์ให้ประชาชนชาวจีนและประชาคมโลกเห็นแล้วว่า การตัดสินใจนำกำลังทหารเข้าสลายการชุมนุมเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2532 นั้น เป็นการตัดสินใจที่เอื้อประโยชน์สำหรับสังคมจีนโดยรวม ก็คือ 20 ปีที่ผ่านมาพรรคคอมมิวนิสต์ จีนได้บริหารงานให้ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้ กลับกลายเป็นมหาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจที่คนทั่วโลกต้องยอมรับอีกครั้ง

หลังเหตุการณ์ที่เทียนอันเหมิน การบริหารและการจัดการเพื่อสร้างดุลอำนาจภายในพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็มีการเปลี่ยนแปลงจนก่อให้เกิดการผ่องถ่ายอำนาจอย่างนิ่มนวลสำเร็จเป็นครั้งแรก เมื่อครั้งเจียง เจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่ 3 โอนอำนาจในการปกครองให้กับหู จิ่นเทา ผู้นำรุ่นที่ 4 เมื่อราว 6-7 ปีก่อน

ด้วยเหตุนี้เองแม้ว่าปัจจุบันในพรรคคอมมิวนิสต์ จีนจะมีการแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจนระหว่างกลุ่มถวนไพ่ หรือนักประชานิยม (Populists) และกลุ่มลูกท่านหลานเธอ (Princelings หรือ Elitists) ซึ่งทั้งสองฝ่ายมีตัวแทนสำหรับผู้นำรุ่นถัดไป (รุ่นที่ 5) ก็คือ หลี่ เค่อเฉียง ของ ฝ่ายประชานิยม และสี จิ้นผิง ของฝ่ายลูกท่านหลานเธอ แต่บุคลากรของทั้งสองขั้วต่างก็จำเป็นต้องประสานความแตกต่าง โดยมีบทเรียนสำคัญคือโศกนาฏกรรมที่เทียนอันเหมิน

สี จิ้นผิง ดาวรุ่งของกลุ่มลูกท่านหลานเธอ เกิดเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2496 (ค.ศ.1953) ปัจจุบันอายุ 56 ปี เป็นบุตรคนที่สามของสี จ้งซุน อดีตสมาชิกระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและรองนายกรัฐมนตรีจีน (ในช่วงปี 2502-2505) จบการศึกษาด้านวิศวกรรมเคมีจากมหาวิทยาลัยชิงหัว นอกจากนี้ ในเวลาต่อมายังศึกษาวิชาทฤษฎีการเมืองและแนวคิดของลัทธิมาร์กซ์ในสถาบันสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ รวมถึงจบปริญญาเอกด้านนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย ชิงหัวอีกด้วย

ด้วยพื้นฐานทางครอบครัวและการศึกษาที่ยอดเยี่ยม ทำให้สีมีโอกาสได้รับผิดชอบงานในมณฑล เมืองสำคัญๆ เกือบทั้งสิ้น คือ ส่านซี เหอเป่ย ฝูเจี้ยน เจ้อเจียงและ เซี่ยงไฮ้ โดยสังเกตได้ว่าทั้งฝูเจี้ยน เจ้อเจียงและเซี่ยงไฮ้นั้นต่างก็เป็นพื้นที่ชาย ฝั่งทางตะวันออก ของจีนอันเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศทั้งสิ้น โดยจากฝีมือการบริหารเศรษฐกิจ อย่างเช่นระหว่างที่ดำรงตำแหน่งที่เจ้อเจียง เขาสามารถรักษา ระดับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมณฑลได้เฉลี่ยร้อยละ 14 ต่อปีโดยตลอด จนได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้บริหารสูงสุดของมหานครเซี่ยงไฮ้ ประกอบกับผลงานในการปราบคอร์รัปชั่นทำให้ในที่สุด ในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์สมัยที่ 17 เมื่อเดือนตุลาคม 2550 สีได้รับแต่งตั้งให้เป็น 1 ใน 9 ของสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง อีกทั้งยังได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีในปีถัดมา

ในส่วนของหลี่ เค่อเฉียง ตัวแทนของกลุ่มถวนไพ่ เป็นชาวมณฑลอันฮุย เกิดเมื่อปี 2498 (ค.ศ. 1955) ปัจจุบันอายุ 54 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง นอกจากนี้ ยังศึกษาเพิ่มเติมทางกฎหมายในคณะนิติศาสตร์ และจบปริญญาโทและเอกด้านเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน

หลี่ฉายแววในการเป็นผู้นำมาตั้งแต่สมัยเป็นนักศึกษา โดยเคยดำรงตำแหน่งประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยปักกิ่ง และเลขาธิการคณะกรรมการสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์จีนสาขามหาวิทยาลัย ปักกิ่ง ก่อนที่จะทำงานไต่เต้าขึ้นเป็นผู้นำระดับสูงของสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ จีน โดยในช่วงนี้ที่เขามีโอกาสได้ทำงานใกล้ชิดกับหู จิ่นเทา ผู้นำของจีนคนปัจจุบัน

ก่อนที่ในเวลาต่อมา หลี่จะย้ายไปทำงานให้กับพรรคที่มณฑลเหอหนานและ เหลียวหนิง โดยผลงานที่มณฑลเหอหนาน และเหลียวหนิงนี้เอง ได้ไปเข้าตาผู้นำพรรคเข้า เพราะหลี่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจของเหอหนาน มณฑลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในมณฑลที่ประชากรมีชีวิตแร้นแค้นที่สุด (เนื่องจากข้อจำกัดทางทรัพยากร ปัญหาภัยธรรมชาติและจำนวนประชากรที่มีจำนวนมหาศาล) ให้ฟื้นฟูขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ในปี 2550 ระหว่างที่เป็นผู้นำสูงสุดของมณฑลเหลียวหนิง เขตเศรษฐกิจที่สำคัญทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีน

หลี่ยังมีผลงานในการจัดการประชุมเศรษฐกิจระดับโลกอย่าง World Economic Forum (WEF) ที่เมืองต้าเหลียนอีกด้วย

จากผลงานและความคุ้นเคยกับหู จิ่นเทา ทำให้ในปี 2550 หลี่ก็ถูกผลักดันให้เข้าเป็น 1 ใน 9 ของสมาชิกถาวรประจำกรมการเมือง ขณะที่ปีถัดมาเขาก็รับตำแหน่งทางบริหารเป็นรองนายกรัฐมนตรีคนที่หนึ่งของจีนรองจากเวิน เจียเป่า

เมื่อกล่าวถึงเหตุการณ์ในปี พ.ศ.2532 ซึ่งเกิดการลุกฮือขึ้นของนักศึกษาและปัญญาชนชาวจีนเพื่อเรียกร้องการปฏิรูป เศรษฐกิจและเรียกร้องประชาธิปไตย แม้สี จิ้นผิง และหลี่ เค่อเฉียง ซึ่งอยู่ในวัยกำลังทำงานให้กับ พรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่ก็มิใช่ว่าทั้งคู่จะไม่เคยผ่านวิกฤติการณ์ทางการเมืองมาเลย

ว่าที่ผู้นำรุ่นที่ 5 และชาวจีนที่เกิดในทศวรรษ 1940-1950 ถือเป็นคนจีนรุ่นที่น่าสงสารที่สุดรุ่นหนึ่งในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ก็ว่าได้ โดยภาษาอังกฤษเรียกคนจีนรุ่นนี้ว่าเป็น Lost Generation เพราะคนที่เกิดในยุคดังกล่าว นี้ต้องประสบกับ "10 ปีของยุคสมัยแห่งความทุกข์เข็ญ" อันหมายความถึงการปฏิวัติวัฒนธรรม ครั้งใหญ่ในช่วงปี พ.ศ.2509-2519 (ค.ศ.1966-1976)

ในการปฏิวัติวัฒนธรรมทั้งสี จิ้นผิง หลี่ เค่อเฉียง และว่าที่ผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีนซึ่งอยู่ในวัยเรียน ต่างต้องออกจากโรงเรียนเหมือนเด็กจีนในยุคนั้นทุกคน ซ้ำต้องจากพ่อแม่และบ้านเกิด ลงไปใช้แรงงานในถิ่นทุรกันดารตามนโยบายขึ้นภูเขาลงชนบทของ ประธานเหมา โดยสีซึ่งบิดาถูกลงโทษโดยส่งไปใช้แรงงาน ณ โรงงานในเมืองลั่วหยาง มณฑลเหอหนาน ก็ไม่ได้รับอภิสิทธิ์และถูกส่งไปอยู่ที่ตำบลเล็กๆ ในมณฑลส่านซี ส่วนหลี่นั้นก็ถูกส่งไปทำงานในชนบทของมณฑลอันฮุยเช่นกัน

กล่าวกันว่าประสบการณ์ในการใช้แรงงานและผ่านความทุกข์ยาก ได้หล่อหลอมให้ผู้นำของจีนในรุ่นต่อไปนั้นมีความเข้าใจประเทศจีนในองค์รวม อย่างเช่น สีเคยกล่าวถึงประสบการณ์ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม ของตัวเองว่า "เป็นจุดเปลี่ยน" ในชีวิตของตัวเอง

นอกจากนี้ หากวิเคราะห์ความเหมือนในความแตกต่างของว่าที่ผู้นำในรุ่นที่ 5 ของจีน โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาจากประวัติการศึกษาของสีและหลี่ จะเห็นได้ชัดว่าผู้นำจีนในยุคต่อไปจะมีพื้นฐานทางสังคมศาสตร์อันประกอบไปด้วยเศรษฐกิจ สังคม การเมืองและกฎหมายที่แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผู้นำจีนในรุ่นก่อนๆ ที่มักจะจบการศึกษาจากสายวิทยาศาสตร์

ทั้งนี้นักวิเคราะห์หลายคนเห็นตรงกันว่า จากเหตุการณ์ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมและโศกนาฎกรรม ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ได้สร้างบทเรียนชิ้นสำคัญให้ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนสองประการคือ หนึ่ง ทุกคนมีภารกิจที่สำคัญที่สุด คือการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง และ สอง อย่าเปิดเผยรอยร้าวหรือความแตกแยก ในพรรคให้สาธารณชนรับรู้เป็นอันขาด

ภายใน 1-2 ทศวรรษข้างหน้า ภายใต้การชี้นำของผู้นำรุ่นที่ 5 ของจีน จีนจะต้องเผชิญกับความท้าทาย ใหม่ๆ อีกมาก เช่น การปฏิรูประบบเศรษฐกิจ การปฏิรูป ระบบประกันสังคม การปฏิรูประบบกฎหมาย ความท้าทายที่ใหญ่ขึ้นจากระบบโลกาภิวัตน์ ปัญหาด้านพลังงาน-สิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคมของคนแก่ และที่สำคัญที่สุดการปฏิรูปการเมือง

เชื่อแน่ได้ว่า ในยุคถัดไปพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะต้องพึ่งพาความเชี่ยวชาญของบุคลากรระดับมันสมองจากทั้งสองกลุ่มในพรรค เพื่อสร้างสมดุลให้กับการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและการต่างประเทศของจีน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีนัยสำคัญอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในศตวรรษที่ 21


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.