ตลาดใหม่สินค้าตกแต่งบ้าน


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

การส่งออกสินค้าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นกรอบรูปไม้ รูปแกะสลักไม้ ดอกไม้ประดิษฐ์ ของชำร่วยที่ทำด้วยเซรามิก รวมถึงประทีปโคมไฟ และของใช้ในเทศกาลและงานรื่นเริง ต้องเผชิญกับการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง

การแสวงหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพหรือที่มีกำลังซื้อสูงสวนกระแสเศรษฐกิจซบเซาเช่นปัจจุบัน จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนและพยุงไม่ให้การส่งออกสินค้า เครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยในปี 2552 ทรุดตัวลงเลวร้ายจนเกินไปนัก

กลุ่มตลาดใหม่ๆ ที่ผู้ประกอบการไทยพยายามบุกเบิกเปิด ตลาดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมานั้นพบว่า หลายประเทศมีทิศทางการปรับตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน รัสเซีย ยุโรปตะวันออก หรือตลาดตะวันออกกลาง ตลอดจนประเทศที่ไทยเปิดเจรจาการค้าเสรีในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นชิลี หรือออสเตรเลีย ที่ก้าวขึ้นมามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ถึงแม้ว่า ตลาดใหม่ดังกล่าวข้างต้นจะมีสัดส่วนรวมกันเพียงร้อยละ 15.8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทยในปี 2551 ที่ผ่านมาก็ตาม แต่พบว่าอัตราการเติบโตของมูลค่าการส่งออกสูงถึงร้อยละ 17.6

โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลางที่มีสัดส่วนของมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในบรรดากลุ่มตลาดใหม่ อีกทั้งยังมีอัตราการ เติบโตของมูลค่าการส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 14.5 ในปี 2551 ซึ่งสวนทางกับอัตราการเติบโตโดยรวมของสินค้ากลุ่มนี้ ของไทยที่เติบโตลดลงร้อยละ 2.2

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2552 ไทยน่าจะสามารถส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ไปยังตลาดตะวันออกกลางได้เพิ่มขึ้นด้วยอัตราการเติบโตประมาณร้อยละ 4-7 หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 780-800 ล้านบาท ภายใต้ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญคือการเป็นตลาด ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกไม่มากนักเมื่อเทียบกับนานาประเทศทั่วโลกในขณะนี้

ขณะเดียวกัน ด้วยเหตุที่ตลาดตะวันออกกลางไม่มีวัตถุดิบ ในการผลิตเครื่องประดับตกแต่งบ้านอย่างเพียงพอ ทำให้ต้องอาศัย การนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก และด้วยกำลังซื้อที่สูงจากรายได้การส่งออกน้ำมัน ที่แม้ว่าความต้องการน้ำมันในตลาดโลก จะลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และราคาน้ำมันในปัจจุบันจะค่อนข้างผันผวนพอสมควร แต่ทุกประเทศในตลาดตะวันออกกลางก็ยังมีรายได้ที่ดี

ประกอบกับพฤติกรรมที่นิยมตกแต่งบ้านใหม่ประมาณปีละ 1 ครั้งในช่วงหลังเดือนรอมฎอน (เดือนถือศีลอดของชาวมุสลิม) รวมถึงจำนวนคู่แต่งงานหนุ่มสาวที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดตะวันออกกลางเป็นตลาดที่เครื่องประดับตกแต่งบ้านยังมีโอกาสเติบโตได้อีก ทั้งนี้กลุ่มผู้บริโภคในตลาดตะวันออกกลางกลุ่มที่มีรายได้สูงมักจะนิยมสินค้าที่มีคุณภาพสูงซึ่งเป็นสินค้าแบรนด์เนมจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปเป็นส่วนใหญ่

ขณะที่กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางและชาวต่างชาติ ที่เข้าไปทำงานในตลาดตะวันออกกลาง มักนิยมสินค้าที่มีคุณภาพรองลงมา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าจากประเทศในแถบเอเชีย เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน อินเดีย รวมถึงไทยด้วย โดยสินค้ากลุ่มนี้ของไทยจะมีความโดดเด่นที่ความสวยงาม และความประณีตของชิ้นงาน ภายใต้ระดับราคาที่เหมาะสม ทำให้โอกาสในการขยายตัวของสินค้ากลุ่มนี้ของไทยจึงน่าจะมีแนวโน้ม ที่ดีพอสมควร

นอกจากนี้ โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่จำนวนมากส่งผลให้แนวโน้มความต้องการใช้เครื่องประดับตกแต่งบ้านในปี 2552 มีอัตราขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งแม้ว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในดูไบ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการค้าของตลาดตะวันออกกลางอาจจะชะลอ การก่อสร้างลงบ้างในช่วงไตรมาสแรกปี 2552 เพราะได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีโครงการใน ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ทยอยเปิดใช้ประโยชน์ตั้งแต่ปี 2550 และบางโครงการในส่วนอื่นที่ไม่ใช่ในดูไบ ก็กำลังอยู่ระหว่าง การก่อสร้าง จึงน่าจะส่งผลให้ความต้องการเครื่องประดับตกแต่ง บ้านในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยรวมยังขยายตัวได้บ้าง

ส่วนรัฐบาลซาอุดีอาระเบียก็มีการระดมทุนพัฒนาประเทศ เพื่อสร้างเมืองใหม่และเคหสถานเพื่อคนจนทั่วประเทศ รองรับการขยายตัวของประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีความเป็นไปได้ว่าความต้องการใช้เครื่องประดับตกแต่งบ้านของตลาดตะวันออกกลางในปี 2552 ก็น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับประเทศในแถบตะวันออกกลางหลายประเทศต่างหันมาให้ความสนใจในการตกแต่งอาคารภายใต้แนวคิดอิงธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ของไทยหลายรายการก็มีการพัฒนารูปแบบที่สามารถสอดรับแนวคิดดังกล่าวได้ดีพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นกรอบรูปไม้ที่มีการนำวัสดุธรรมชาติมาตกแต่ง หรือดอกไม้ประดิษฐ์ของไทยที่สามารถผลิตได้ใกล้เคียงกับธรรมชาติมากขึ้น

ทั้งนี้ ตามรายงานของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่าเครื่องประดับตกแต่งบ้านของไทยได้รับความนิยมอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมา จากมูลค่า 336.7 ล้านบาทในปี 2545 ปรับเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 747.7 ล้านบาทในปี 2551 หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งแม้ว่าในช่วง 4 เดือนแรกปี 2552 สินค้ากลุ่มนี้ของไทยจะสามารถส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง เป็นมูลค่า 164.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบ กับช่วงเดียวกันปี 2551 แต่เมื่อเทียบกับการส่งออกไปยังภูมิภาคอื่นที่ล้วนหดตัวแล้ว ก็นับว่าเป็นตลาดที่มีสถานการณ์ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน

นอกจากนี้ การเติบโตของมูลค่ายังเป็นไปในทิศทางที่สวน กระแสอย่างชัดเจนกับมูลค่าการส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้โดยรวมของไทยในช่วงเวลาดังกล่าวที่เติบโตลดลงถึงร้อยละ 17.8 ด้วย

อย่างไรก็ตาม ประเด็นว่าด้วยการขนส่งสินค้าที่ยังไม่สะดวก เท่าที่ควร รวมถึงต้นทุนการขนส่งที่สูงและค่าดำเนินการในการเข้าแสดงสินค้าในตลาดตะวันออกกลาง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ กาตาร์ หรือโอมานต่างมีมูลค่าค่อนข้างสูง ยังถือเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการส่งออก

แม้ว่าปริมาณความต้องการเครื่องประดับตกแต่งบ้านและ อาคารในตลาดตะวันออกกลางในปี 2552 ยังมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเข้าไปบุกตลาดตะวันออกกลาง จำเป็นต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวหลากหลายด้านควบคู่กันไป เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาทางด้านคุณภาพของสินค้า ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหาร ต้นทุนการผลิต เพื่อพยุงกำไรไว้ให้ได้ท่ามกลางภาวะที่ไทยยังคงเสียเปรียบคู่แข่งทางด้านต้นทุนการผลิตเช่นนี้


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.