กล่อง...ฉากหน้าเพื่อภาพลักษณ์


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค มิได้ส่งผลให้ตลาดเครื่องดื่มนานาชนิดเติบโตอย่างต่อเนื่องเท่านั้น หากในทางกลับกันสำหรับผู้ประกอบการด้านบรรจุภัณฑ์ นี่คือโอกาสทางธุรกิจที่เติบโตควบคู่ไปด้วย

จากข้อมูลของเต็ดตรา แพค ระบุว่าในปี พ.ศ. 2551 ที่ผ่านมา เต็ดตรา แพค ผลิตกล่องเครื่องดื่มจำนวนกว่า 141,000 ล้านกล่อง เพื่อป้อนให้กับบริษัท ชั้นนำด้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก โดยกว่า 70,600 ล้านลิตร เป็นเครื่องดื่มประเภทนม น้ำผลไม้ ผลไม้ และผลิตภัณฑ์อื่นๆ สู่ผู้บริโภค โดยตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้น 3% จากปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มต่างๆ จากกล่องเครื่องดื่มที่ผลิตโดยเต็ดตรา แพค ในปี พ.ศ.2550

"สถิติบ่งชี้ว่าผู้บริโภคจะใช้เวลาประมาณ 1.6 วินาทีในการตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ยี่ห้อหนึ่ง หรืออาจจะหันไปสนใจยี่ห้ออื่นแทน หรือแม้แต่เปลี่ยนใจไปซื้ออย่างอื่นแทน ซึ่งหมายความว่ากว่า 70-80% เป็นการตัดสินใจซื้อที่เกิดขึ้นภายในร้านค้าหรือซูเปอร์ มาร์เก็ต" กลอยตา ณ ถลาง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เต็ดตรา แพค (ประเทศไทย) จำกัดระบุ

กรณีดังกล่าวทำให้การออกแบบกล่องเครื่องดื่มจำเป็นต้องพัฒนาให้ทำหน้าที่ได้มากกว่าการ "บรรจุ" เพื่อปกป้องคุณค่าอาหารและเครื่องดื่มที่อยู่ภายใน แต่ต้องสามารถตอบสนองต่อพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

"เพศ อายุ ไลฟ์สไตล์ รวมถึงกำลังซื้อของกลุ่มเป้าหมาย ทำให้กล่องเครื่องดื่มมีบทบาทในการแสดงให้เห็นถึงความแตกต่าง ของแบรนด์อย่างชัดเจน และจูงใจให้ผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์นั้นๆ นอกเหนือจากการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์ในมิติดั้งเดิม"

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องภาวะโลกร้อน ทำให้ผู้บริโภคหันมาให้ความใส่ใจกับการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวด ล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศในแถบสหภาพยุโรป ที่ได้ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตอาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทั้งในส่วนของผู้ผลิต ทั้งการส่งเสริมการผลิตและบริโภค อย่างยั่งยืน

โดยในขณะนี้ทั้งในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป เอเชีย รวมถึงประเทศไทย ริเริ่มให้มีการติดฉลากคาร์บอน (Carbon Label) ควบคู่กับฉลากคุณค่าทางโภชนาการ (Nutrition Facts) บนกล่องเครื่องดื่ม เพื่อเป็นข้อมูลให้ผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำจากกระบวนการผลิต

ซึ่งหมายถึงการให้ข้อมูลบนกล่องจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นอีก

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือนอกเหนือจากราคาที่ผู้บริโภคต้องจ่ายให้กับผลิตภัณฑ์ในกล่องแล้ว ในแต่ละครั้งที่มีการเลือกซื้อสินค้าแต่ละชนิด เราจ่ายค่ากล่องเพื่อภาพลักษณ์ขององค์กรผู้ผลิต และภาพลักษณ์ในการบริโภคของเราไปเท่าใด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.