มองติดลบ


นิตยสารผู้จัดการ 360 องศา( กรกฎาคม 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

จากผลสำรวจผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด 12 ประเทศ เกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกพบว่าประเทศไทยมองเชิงลบมากที่สุด

ยูพีเอส เอเชีย บิสิเนส มอนิเตอร์ เปิดเผยผลวิจัยผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีจำนวน 1,200 รายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด 12 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวันและไทย

ผลวิจัยได้สำรวจระหว่างวันที่ 8 มกราคม-27 มกราคม 2552 โดยสัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์เจ้าของธุรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กรรมการผู้จัดการและผู้บริหารระดับสูง ซึ่งมีบริษัท ทีเอ็นเอส ฮ่องกง ทำหน้าที่สัมภาษณ์ใช้เวลาพูดคุย 25 นาทีต่อราย

ส่วนธุรกิจที่ให้ข้อมูลจะอยู่ในอุตสาหกรรมหลักๆ ในภูมิภาคนี้ เช่น ธุรกิจสิ่งทอ ไอที ท่องเที่ยว ยานยนต์

ภาพรวมการสำรวจในครั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงทัศนคติเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก ยังไม่มีความมั่นใจว่าเศรษฐกิจฟื้นขึ้นได้ในปีนี้ แต่คาดหวังว่าจะดีขึ้นในปี 2553 แต่ดูเหมือนว่าผู้ประกอบ การเอสเอ็มอีไทยกลับมองแตกต่างและไม่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเร็วในปีหน้าแต่คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีในปี 2554

ทั้งนี้เป็นเพราะว่าผู้ประกอบการไทยยังกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่จะส่งผลกระทบให้ต้นทุนของธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงการบริหารกระแสเงินสดและหนี้สินที่เพิ่มขึ้น

ส่วนความเชื่อมั่นในการทำงานของภาครัฐยังไม่มีความมั่นใจมากนัก เพราะมองว่ายังเป็นรัฐบาลใหม่ที่เริ่มเข้ามาทำงานเมื่อต้นปีเท่านั้นและนโยบายต่างๆ ยังมองไม่เห็นในเชิงรูปธรรม

ส่งผลให้เอสเอ็มอีไทยขาดความเชื่อมั่นทั้งเศรษฐกิจภายใน และต่างประเทศไปพร้อมๆ กัน จึงทำให้ผู้ประกอบการไทยเริ่มวางแผนรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้และหนึ่งในนั้นก็คือการลดจำนวนพนักงานลง 11% ในขณะที่จีนและเกาหลีมีแผน ลดจำนวน 9%

นอกจากลดพนักงานลงแล้วผู้ประกอบการได้วางแผนฉุกเฉินรับมือกับสถานการณ์ใน 1-2 ปีข้างหน้าด้วยการบริหารเงินสดอย่างระมัดระวัง ควบคุมสินเชื่อ มีแผนเก็บเงินที่เข้มงวดขึ้นและลดต้นทุน เช่น ค่าเช่า ค่าสาธารณูปโภค เบ็ดเตล็ดรวมไปถึงมองหาธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างรายได้

จากผลวิจัยได้บอกว่าโอกาสที่จะอยู่รอดในธุรกิจได้นั้น ผู้ประกอบการต้องมองหาตลาดใหม่ๆ ซึ่งไทยมองว่าประเทศใหม่ๆ คือ ตะวันออกกลาง เอเชียแปซิฟิกและแอฟริกา ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเปลี่ยนผลิตภัณฑ์และบริการให้มีมูลค่าสูงขึ้นรวมถึงจ้างบุคลากรที่มีความสามารถ

ส่วนธุรกิจที่เอสเอ็มอีไทยคาดว่ายังมีโอกาสเติบโตในอีก 3-5 ปีข้างหน้า คือ เกษตรกรรม บันเทิงและท่องเที่ยว โรงงานผลิต ในขณะที่เอสเอ็มอีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมองว่าธุรกิจที่จะเติบโต คือ ธุรกิจทางด้านไอที เกษตรกรรม ป่าไม้ ประมง ธุรกิจสุขภาพ และเภสัชกรรม

อย่างไรก็ดี เอสเอ็มอีให้เหตุผลว่าปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวก็คือกฎระเบียบและนโยบายของภาครัฐ เพราะเอสเอ็มอีต้องการความช่วยเหลือหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เงินกู้ การสนับสนุนวิจัยพัฒนาและการปรับ กฎระเบียบราชการที่มีขั้นตอนยุ่งยากทำให้กลายเป็นอุปสรรคในการทำงานของเอสเอ็มอี

ธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นธุรกิจที่สร้างรากฐานหลักให้กับเศรษฐกิจ โดยรวมในภูมิภาคนี้ เพราะจากการประชุมสภาที่ปรึกษาทางธุรกิจ เอเปกเมื่อเดือนสิงหาคม 2551 เผยว่าจำนวนเอสเอ็มอีในเอเชียแปซิฟิกมีถึง 95% จากจำนวนธุรกิจที่มีทั้งหมดและเป็นผู้ว่าจ้าง 80% ของตลาดแรงงาน

เสมือนว่าเอสเอ็มอีรอด ประเทศในภูมิภาคนี้ก็รอด แต่ถ้าเอสเอ็มอีไม่รอด...คำตอบก็น่าจะเดาไม่ยาก


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.