เติมศักดิ์ กฤษณามระวัย 60 ที่ยังต้องการทำงานอีก 5 ปี

โดย ทรงเกียรติ ชาติวัฒนานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

เติมศักดิ์ กฤษณามระ ไม่ใช่นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ แต่นักธุรกิจที่ยิ่งใหญ่ ในบ้านเราต่างให้ความเคารพและเกรงใจ โดยเฉพาะเจ้าของธนาคารและสถาบันการเงินต่าง ๆ หลายคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า สาเหตุเนื่องจาก เติมศักดิ์ กฤษณามระ เป็นเจ้าของสำนักงานตรวจสอบบัญชี ไชยยศ ซึ่งเป็นสำนักงานตรวจสอบบัญชีที่เก่าแก่ มีลูกค้าใหญ่ ๆ มากมายมานาน ไม่ว่าคำวิพากษ์วิจารณ์นั้นจะเป็นจริงหรือไม่อย่างไร แต่ข้อสรุปอย่างหนึ่งที่เป็นจริงก็คือว่า เงินสนับสนุนจีบ้าที่ เติมศักดิ์ กฤษณามระ เป็นผู้อำนวยการอยู่นั้น เกือบทั้งหมดที่นักธุรกิจในประเทศไทยบริจาคให้มีสาเหตุมาจากความเกรงใจต่อศาสตราจารย์กิตติคุณ เติมศักดิ์ กฤษณามระผู้นี้

ทุก ๆ วันชีวิตของเติมศักดิ์ กฤษณามระ จะเริ่มต้นตั้งแต่เช้าตรู่ นำพาเรือนร่างวัย 60 ปีของเขาถึงสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จีบ้า) ในเวลาไม่เกิน 8.00 น. นั่งทำงานอยู่ที่นี่จนกระทั่งถึงเที่ยง แล้วก็ตรงไปยังสำนักงานตรวจสอบบัญชีไชยยศในตอนบ่าย วุ่นวายอยู่กับธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่นั่นจนกระทั่งดึก จึงกลับบ้าน ล้มตัวลงนอน

"ผมจะกลับถึงบ้านตอนตีสาม" เขาย้ำกับ "ผู้จัดการ" มันเป็นกิจวัตรที่เขากล่าวว่า เขาต้องทำอยู่ทุก ๆ วัน ดุจหนึ่งโปรแกรมที่วางเอาไว้ และหากไม่มีเหตุการณ์กะทันหันอย่างเช่น ต้องเข้าประชุมกับสมาคมที่เขาได้รับเชิญให้เป็นกรามการอยู่อีกกว่า 10 สมาคมโปรแกรมชีวิตของศาสตราจารย์กิตติคุณเติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็จะเดินไปอย่างนี้ทุกวัน

"ผมก็ยังรู้สึกประหลาดใจอยู่ว่า มีอย่างหรือว่ากลับบ้านตอนตีสาม แล้วก็ตอนเช้ามานั่งทำงานตอนแปดโมงเช้าได้โดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย ก็ทำได้ มันคงจะมีความพอใจหรือมีบุญอะไรสักอย่าง"

"บุญอะไรสักอย่าง" ที่เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" นั้นก็หมายถึงบุญกุศลที่เขาได้รับจากการที่ได้มีโอกาสไปนั่งฝึกสมาธิเมื่อสมัยที่เขายังเป็นหนุ่มแน่นอายุได้ประมาณ 30 ปี ณ สำนักฝึกสมาธิแห่งหนึ่งแถววงเวียนใหญ่

ถึงแม้ทุกวันนี้ เติมศักดิ์ กฤษณามระ จะเลิกฝึกสมาธิแล้ว แต่เขาก็คิวด่าสิ่งต่าง ๆ ที่เขาทำอยู่ได้อย่างที่หลายคนทำไม่ได้ในปัจจุบันนั้น คงจะมีผลมาจากการฝึกสมาธิของเขาเมื่อครั้งนั้นนั่นเอง

"ผมเลิกเพราะผมคิดว่า บุญผมคงไม่พึงและผมก็เป็นคนขี้สงสัย คือ การที่เราจะไปนั่งสมาธิเขาก็จะสอนเราก่อนว่า ให้ตั้งจิตใจเป็นกุศลให้ตั้งจิตใจเผื่อแผ่ ผมเองไม่ได้เป็นคนเผื่อแผ่นะครับ ผมเองไม่สามารถเผื่อแผ่ได้ ผมมานั่งหลับตาและคิดถึงว่าหากเราสามารถที่จะทำสำเร็จได้ แล้วเราก็สามารถที่จะมีตาทิพย์ที่จะมองเห็นหมดได้ในตัวคน ปัญหาอะไรต่าง ๆ เราแก้ปัญหาให้ได้กับทุกคนแก้ให้คนที่หนึ่ง คนที่หนึ่งก็ไปบอกกับคนที่สอง คนที่สองก็ไปบอกกับคนที่สาม ทุก ๆ คนต่างก็มานั่งถามและปรึกษาผม เดี๋ยวคนนั้นก็ป่วยด้วยโรคนั้นมา เดี๋ยวคนก็ป่วยด้วยโรคนี้มา ชีวิตผมก็มิต้องทำอะไรกันซิครับ ผมเองก็มองตัวเองว่าผมไม่ใช่คนอย่างนั้นก็เลยเกิดสงสัย"

การเกิดสงสัยนั้น เขาอธิบายให้ "ผู้จัดการ" ฟังต่อมาว่า

"ผมสงสัยว่า เราทำไปทำอะไร ทำไปเอาไว้หลอกตัวเอง คือ กลางวันผมมาทำงานใครทำผิดผมไล่ออก ตัดเงินเดือนสะบั้นหั่นแหลกเลย แต่พอกลางคืนก็แหมมานั่งแผ่เมตตา ไปช่วยคนที่เจ็บป่วยแล้วมาหาเราไปเป็นกุลีคนหนึ่งที่สำนักจนถึงตีสอง แหมมัน INCONSISTENT ในชีวิตผมน่ะครับ ก็เลยมานั่งสรุปว่าผมคงบุญน้อย"

เติมศักดิ์ กฤษณามระ อาจจะโชคดีกว่าหลาย ๆ คนตั้งแต่เกิด เขาถือกำเนิดขึ้นมาในตระกูลขุนนางเก่า เป็นบุตรคนโตของพระยาไชยยศสมบัติ (เสริม กฤษณามระ) และคุณหญิงศรีไชยยศสมบัติ

พระยาไชยยศสมบัติเป็นขุนนางเก่าที่มีความคิดที่ค่อนข้างจะทันสมัย และกว้างขวางในหมู่คนรวยยุคนั้น เป็นคนหนึ่งในการเข้าร่วมก่อตั้งแบงก์สยามกัมมาจลซึ่งเป็นธนาคารแห่งแรกในประเทศไทย โดยเมื่อพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นมหิศรราชหฤทัย ได้รวบรวมบรรดาพวกเจ้านาย ขุนนาง พ่อค้า และตัวแทนของธนาคารในต่างประเทศ เพื่อทำการจัดตั้งแบงก์สยามกัมมาจลขึ้นมา เมื่อปี พ.ศ. 2450 พระยาไชยยศสมบัติเป็นผู้หนึ่งที่มีความคิดเห็นด้วยกับการจัดตั้งครั้งนี้ จึงเข้าร่วมก่อตั้งเป็นผู้ถือหุ้นด้วยเป็นจำนวน 77 หุ้นมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท

นอกจากจะเป็นผู้เข้าร่วมในการก่อตั้งธนาคารพาณิชย์แห่งแรกของเมืองไทยแล้ว ในปี พ.ศ. 2478 ซึ่งขณะนั้นเติมศักดิ์ กฤษณามระ มีอายุได้เพียง 8 ขวบ พระยาไชยยศสมบัติผู้บิดาก็ยังได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในปีนั้นอีกด้วย เรียกว่า บารมีนั้นไม่ต้องพูดถึง

มิหนำซ้ำ พระยาไชยยศสมบัติผู้นี้ ยังเป็นผู้ก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขึ้นในปี พ.ศ. 2482 และดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของคณะนี้อีกด้วย

และในปีที่ได้ก่อตั้ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีนี้เอง พระยาไชยยศสมบัติได้เริ่มมองถึงธุรกิจของตัวเอง และได้ทำการก่อตั้งสำนักงานตรวจสอบบัญชีไชยยศขึ้นมา

ด้วยบารมีที่พระยาไชยยศได้สร้างขึ้นมา ดังที่กล่าวมาแล้วตั้งแต่ต้น สำนักงานตรวจสอบบัญชีไชยยศ จึงเต็มไปด้วยลูกค้าที่เก่าแก่มากมาย ในจำนวนธนาคารของเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันจำนวน 12 ธนาคารเป็นธนาคารที่ให้สำนักงานไชยยศเป็นผู้ตรวจสอบบัญชีอยู่ถึง 5 ธนาคาร ซึ่งประกอบด้วยธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารสหธนาคาร และธนาคารแหลมทอง จำกัด

"ธุรกิจการตรวจสอบบัญชี ย่อมเป็นธุรกิจที่ใคร ๆ ต่างให้ความเกรงใจอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นคนที่สองที่รู้เรื่องตัวเลขที่แท้จริงของลูกค้านอกเหนือจากตัวลูกค้าเอง และลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่าง ๆ ก็เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินและธนาคาร คุณจะไม่ให้ธนาคารเขาซูฮกเจ้าของสำนักงานเหล่านี้ได้อย่างไร" แหล่งข่าวรายหนึ่งให้ทัศนะต่อ "ผู้จัดการ"

เติมศักดิ์ กฤษณามระเริ่มลืมตาดูโลก เป็นวันแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 12 กันยายน 2470 เขายัมีน้องอีก 5 คน คนแรกเป็นผู้หญิง คือ รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงเสริมศรี สินธวานนท์ ปัจจุบันอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ คนที่สองชื่อ ทวีเกียรติ กฤษณามระ ปัจจุบันเป็นรองอธิบดีกรมธนารักษ์ คนที่สามชื่อ เฉลิมขวัญ นิวาตวงศ์ ทำงานอยู่ที่สำนักงานไชยยศ คนที่สี่ คือ ชฎา วัฒนศิริธรรม ปัจจุบันเป็นผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายการธนาคารต่างประเทศและวิชาการของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด คนที่ห้าซึ่งเป็นคนสุดท้องและจบมาจาก INSTITUTE OF BANKER ในประเทศอังกฤษ ชื่อ สมฤกษ์ กฤษณามระ ปัจจุบันทำงานอยู่ที่สำนักงานไชยยศ

"น้องชายของผมทั้งสองคนรวมทั้งตัวผมเอง ล้วนแต่จบบัญชีมาทั้งนั้น ดังนั้นที่สำนักงานของผมจึงมีคนช่วยกันเยอะและเนื่องจากผมเป็นพี่ใหญ่จึงต้องคอยดูแลและคอยเซ็นชื่อ" ประธานกรรมการสำนักงานไชยยศที่ชื่อ เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

อายุได้ 6 ขวบ เติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็เริ่มเข้าโรงเรียนที่โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยเป็นแห่งแรก เรียนอยู่ที่นี่ได้ไม่นานก็เกิดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นบุกทิ้งระเบิดทุกวัน เจ้าขุนมูลนายในยุคนั้นหลายคนต่างกลัวว่า ลูกไปโรงเรียนแล้วจะมีอันตราย จึงมีการย้ายโรงเรียนวชิราวุธไปยังบางปะอิน นักเรียนส่วนใหญ่ก็ถูกส่งไปประจำยังที่นั่น พระยาไชยยศสมบัติไม่อยากที่จะให้ลูกของตัวเองไปถึงบางปะอินจึงให้เด็กชายเติมศักดิ์ กฤษณามระ ย้ายโรงเรียน โดยช่วงที่ย้ายโรงเรียนนั้น เติมศักดิ์ กฤษณามระ จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนวชิราวุธ พอดี เติมศักดิ์ กฤษณามระ ย้ายไปเรียนยังโรงเรียนอำนวยศิลป์พระนครในชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนแห่งใหม่นี้ เมื่อ พ.ศ. 2486

หลังจากนั้น จึงเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7-8 ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และสอบได้ประโยคเตรียมอุดมศึกษาที่นี่

ในปี 2489 เขาเริ่มเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย โดยเริ่มต้นที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่บิดาของตัวเองเป็นคณบดีอยู่ เรียนอยู่ได้แค่ชั้นปีที่ 2 ก็มีอันต้องย้ายสถาบันการศึกษาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ย้ายไปไกล โดยไปเรียนยัง THE VICTORIA UNIVERSITY OF MANCHESTER ประเทศอังกฤษในสาขาวิชาการบัญชี และจบปริญญาตรีที่นี่ แล้วไปทำการฝึกงานและศึกษาอยู่ที่ THE INSTITUTE OF CHARTERED จนได้เป็นผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของสถาบันผู้สอบบัญชีแห่งอังกฤษและเวลส์ เมื่อ พ.ศ. 2498

กลับประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2499 เริ่มหน้าที่การงานรับราชการอย่างเป็นจริงเป็นจัง เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2499 โดยเริ่มในตำแหน่งอาจารย์ตรี ของคณะพาณิชยศาสตรและการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะที่ตัวเขาเองเคยลาออกเมื่อปี 2491

เติมศักดิ์ กฤษณามระ ได้สมรสกับสายจิตร ณ สงขลา ซึ่งเป็นธิดาของเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศร์ มีบุตรด้วยกัน 2 คน คนแรกชื่อ ศุภศักดิ์ กฤษณามระ ปัจจุบันกำลังศึกษา MBA อยู่ที่ KELLOGG มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น โดยก่อนหน้านั้นเขาจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์เช่นเดียวกับคุณพ่อ คนที่สอง คือ ณัฐวัฒน์ กฤษณามระ ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ทางด้านสาขาวิชานิติศาสตร์

หลายคนที่ใกล้ชิดเติมศักดิ์ กฤษณามระ ได้เล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟังว่า เขาเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีความคิดที่ทันสมัยคล้าย ๆ พระยาไชยยศสมบัติผู้เป็นบิดา ในขณะที่เป็นอาจารย์รับราชการอยู่ในจุฬาฯ เขามีความคิดอยู่เสมอในการที่จะปรับปรุงหลักสูตรของคณพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของจุฬาฯ ให้ทันสมัย ตลอดจนพยายามที่จะเร่งเร้าให้เหล่าอาจารย์ทำการค้นคว้าแต่งตำราขึ้นเอง เพื่อให้นิสิตได้มีหนังสืออ่านประกอบ แทนที่จะใช้ตำราฝรั่งอย่างเดียว ซึ่งนิสิตอ่านไม่ค่อยเข้าใจ

ในปี 2502 เติมศักดิ์ กฤษณามระ ซึ่งขณะนั้นเป็นเพียงอาจารย์โทอยู่ในคระพาณิชยศาสตร์และการบัญชีแห่งนี้ ก็เป็นผู้วิ่งเต้นเริ่มจัดทำหลักสูตรปริญญาโททางพาณิชยศาสตร์และการบัญชีขึ้น ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ปี 2530 ซึ่งเป็นปีแรกที่ทางคณะฯ มีการรับสมัครนั้น ตามข้อมูลที่ได้รับปรากฏว่า มีมหาบัณฑิตทางด้านพาณิชยศาสตร์เป็นจำนวน 77 คน และมหาบัณฑิตทางด้านบัญชีอีก 108 คน ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่ไม่เลวเลย สำหรับการเริ่มต้นในปีแรก

ในปี 2507 เติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็ได้เลื่อนขึ้นนั่งในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการบัญชี ซึ่งในปีนี้นี่เองที่เขาได้พัฒนาหลักสูตรโดยเปิดสาขาการธนาคารและการเงินขึ้นเป็นหมวดวิชาเอกหมวดหนึ่งในภาควิชาการบัญชี และต่อมาหมวดวิชาเอกหมวดนี้ก็ได้พัฒนาขึ้นไปจนกลายเป้นแผนกเรียกว่า แผนกวิชาการธนาคารและการเงิน เมื่อปี 2511

จากการที่พยายามที่จะคิดค้นและพัฒนาหลักสูตรของเขานี่เอง ในช่วงที่เขานั่งในตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาการบัญชี ประกอบกับการสนใจต่อปัญหาธุรกิจและเศรษฐกิจในบ้านเมืองอยู่ตลอดเวลา เติมศักดิ์ กฤษณามระ ยังเป็นผู้ริเริ่มในการเปิดสาขาการต้นทุนในภาควิชาการบัญชีขึ้น ในปี 2509 ซึ่งนับเป็นหมวดวิชาเอกอีกหมวดหนึ่งในภาควิชาการบัญชีจนถึงปัจจุบัน

ปี 2514 นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเติมศักดิ์ กฤษณามระ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อเขาได้รับแต่งตั้งจากสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ดำรงตำแน่งคณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีของจุฬาฯ ต่อจากศาสตราจารย์อุปการคุณอาภรณ์ กฤษณามระ ผู้เป็นอาของเขาเอง

เมื่อได้ขึ้นนั่งในตำแหน่งคณบดีแล้ว เติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็เริ่มทำการเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการวัดผลการศึกษาระบบรายปีมาตั้งแต่ดั้งเดิมเขาก็เปลี่ยนใหม่เป็นระบบหน่วยกิต ซึ่งมีการวัดผลการศึกษาเป็นรายภาค โดยวิธีนี้เขาคาดว่าจะทำให้นิสิตมีความตั้งใจเรียนโดยสม่ำเสมอยิ่งขึ้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้นิสิตที่มีสติปัญญาและความสามารถในระดับที่ต่าง ๆ กัน มีโอกาสได้วางแผนการเรียนของตัวเองได้ตามความสามารถและความเหมาะสมของตัวเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีผลทำให้นิสิตในคณะที่เรียนไม่จบมีจำนวนน้อยลง

"ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ ได้เริ่มตั้งสถาบันวิจัยธุรกิจขึ้นในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี เมื่อ พ.ศ. 2515 … นอกจากนี้ เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะมีการปรับปรุงหลักสูตรให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนไป ศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ ยังเป็นผู้ริเริ่มตั้งคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรของคณะฯ ขึ้น เพื่อจะได้คอยติดตามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ของประเทศอยู่เสมอ ตลอดจนยังได้จัดตั้งฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะฯ เพื่อให้มีการวางแผนขยายงานให้รับกับการปรับตัวที่จำเป็น…"

บทความตอนหนึ่ง ในคำชี้แจงแสดงประวัติ หน้าที่ ปริมาณ และคุณภาพของงานของศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ เพื่อประกอบการพิจารณาของพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก (ม.ป.ช.) กรณีพิเศษ ว่าเอาไว้

วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2515 เขาได้เลื่อนตำแหน่งอีกครั้ง ครั้งนี้ขึ้นไปนั่งในตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา ซึ่งนับเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคนแรกของจุฬา

วันที่ 6 สิงหาคม 2516 เติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สิน ซึ่งก็นับเป็นรองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินคนแรกเช่นกัน ถึงแม้ว่าตำแหน่งนี้ดูเหมือนจะมีผลประโยชน์มากที่สุดในจุฬาฯ ก็ตาม แต่สถานการณ์ทางการเมืองในช่วงนั้น ซึ่งก็เป็นช่วงที่เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่ได้มีผลดีต่อ เติมศักดิ์ กฤษณามระ เท่าใดนักเลย เมื่อเขาตัดสินใจขึ้นค่าเช่าในพื้นที่ของจุฬาฯ ในปีนั้น เขาก็พบกับประสบการณ์ครั้งแรกเมื่อผู้เช่าที่ดินของจุฬาฯ เดินขบวนประท้วงการขึ้นค่าเช่า

อย่างไรก็ดี ชีวิตของเติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็หาได้ตกอับตามสถานการณ์ไม่ชีวิตของเขาช่างโชคดีกว่าหลาย ๆ คนดั่งที่กล่าวแล้วในตอนต้น ในปี 2518 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ถัดมารจากการเดินขบวนประมาณ 2 ปี เขาก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่เขาก็ดำรงตำแหน่งสูงสุดในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนี้ ได้เพียงหนึ่งสมัยหรือ 2 ปีเท่านั้นก็ลาออกในปี 2520 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐบาลหอยครองเมืองอยู่ เขาให้เหตุผลสั้น ๆ ว่า "เนื่องจากประสงค์จะพัฒนาจุฬาลงกรณ์ให้เข้าสู่ระบบสมัยใหม่" ซึ่งก็ไม่ทราบว่า เป็นคำประชดประชันรัฐบาลในช่วงนั้นหรือไม่ อย่างไร "ผู้จัดการ" ไม่ขอออกความเห็น

แต่ชีวิตการรับราชการของเขายังคงอยู่

"ผมลาออกแล้ว แต่ถูกยับยั้ง โดยทางมหาวิทยาลัยเขาไม่ต้องการให้ผมลาออก แล้วเขาก็ขอให้ผมไปทำสถาบันภาษาของจุฬาฯ ซึ่งสถาบันนี้เป็นโครงการที่ผมเองริเริ่มทำขึ้นมาตั้งแต่เป็นรองอธิการบดีอยู่" เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

เขาเป็นผู้อำนวยการสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ได้เพียง 2 เดือน จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2521 ชีวิตการรับราชการมากว่า 30 ปีก็จบสิ้นลง ณ สถาบันแห่งนี้

เหตุผลของการลาออกในครั้งนั้น เนื่องจากบิดาคือ ศาสตราจารย์อุปการคุณพระยาไชยยศสมบัติ ได้ถึงแก่อนิจกรรม เติมศักดิ์ กฤษณามระ ต้องเข้าไปรับผิดชอบสำนักงานตรวจสอบบัญชีไชยยศ อย่างเต็มตัว

การเริ่มต้นกับธุรกิจส่วนตัวที่เป็นจริงเป็นจังของเขา ก็ได้เริ่มต้น ณ จุดนี้

ต้องยอมรับกันจุดหนึ่งว่า เติมศักดิ์ กฤษณามระ นั้นเป็นนักการศึกษาที่เก่งเอามาก ๆ ทีเดียว แต่นักการศึกษาก็หาใช่ว่าจะทำธุรกิจเก่งทุกคน เท่าที่ผ่านมาแม้ว่าสำนักงานไชยยศ จะมีชื่อเสียงมานานแล้วก็ตาม และในช่วงหลัง เติมศักดิ์ กฤษณามระ ได้เข้าไปบริหารเต็มตัวแล้ว แต่สำนักงานไชยยศก็ไม่ได้เติมโตขึ้นกว่าเดิมเท่าใดนักเลย และในภายหลังที่เริ่มมีสำนักงานตรวจสอบบัญชีจากต่างประเทศเข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งคนไทยก็เริ่มมีสำนักงานตรวจสอบบัญชีเพิ่มขึ้นเป็นลำดับทุก ๆ วัน การแข่งขันในตลาดนี้ก็นับวันจะสูงขึ้นเป็นลำดับ จนภายหลังถ้าดูกันจริง ๆ แล้วสำนักงานไชยยศ มีมาร์เก็ตแชร์หรือส่วนแบ่งในตลาดนี้อยู่ในระดับกลาง ๆ เท่านั้นเอง

ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น บารมีของพระยาไชยยศสมบัติ ยังคงมีอยู่กับนักธุรกิจรุ่นเก่า ๆ ทำให้ส่งผลมาจนถึงรุ่นหลัง คือ เติมศักดิ์ กฤษณามระ ที่เรากำลังกล่าวถึง

เมื่อเติมศักดิ์ กฤษณามระ เริ่มเข้าจับงานที่สำนักงานไชยยศเต็มตัว เขาก็เริ่มที่จะผลักดันให้สำนักงานแห่งนี้เป็นสำนักงานตรวจสอบบัญชีระดับ INTERNATIONAL ให้ได้ และไม่นานต่อมา เขาก็ได้ทำสัญญาข้อตกลงร่วมกันกับสำนักงานสอบบัญชี TOUCHE ROSS INTERNATIONAL แห่งประเทศอเมริกาขึ้นมาในการที่จะทำงานตรวจสอบบัญชีร่วมกัย

อย่างไรก็ดี ชีวิตของเขาก็ดูเหมือนจะถูกฟ้าลิขิตและขีดเส้นเอาไว้แล้ว ว่าให้เดินบนหนทางเส้นนี้ บนหนทางการศึกษา !!

ในการประชุมสภามหาวิทยาลัยของจุฬาฯ เมื่อปี 2524 กรรมการสภามหาวิทยาลัยท่านหนึ่งที่ชื่อ บัญชา ล่ำซำ ได้เสนอต่อที่ประชุมสภาในวันหนึ่งว่า ขณะนี้ความต้องการนักบริหารระดับ MBA มีสูงมาก เนื่องจากองค์กรธุรกิจเพิ่มมากขึ้นทุกที เราพอจะมีทางเปิดหลักสูตรหรือว่าตั้งอะไรขึ้นมาได้ไหม เพื่อตอบสนองความต้องการอันนี้

"นักธุรกิจไทยนั้น ด้วยความเป็นห่วงในการหาตัวนักบริหาร เพื่อจะรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งในตอนนั้นก็มีโครงการที่สำคัญออกมาอันหนึ่ง คือ โครงการอีสเทอร์นซี บอร์ด ซึ่งถ้าหากเราไม่มีการเตรียมตัวในการผลิตนักธุรกิจขึ้นมาแล้ว นักธุรกิจที่มีอยู่ก็จะไม่เพียงพอกับความต้องการ เราจึงเห็นว่า จำเป็นต้องตั้งองค์กรที่จะผลิตนักบริหารรุ่นใหม่ขึ้นมา ขณะเดียวกันก็มองเห็นว่าแนวโน้มของธุรกิจมันเป็นลักษณะธุรกิจข้ามชาติมากขึ้นเป็นลำดับ และมันก็ไม่ได้ข้ามมาอย่างเดียว เราก็ข้ามออกไปด้วย แต่การที่จะตั้งองค์กรผลิตนักบริหารมันก็มีอุปสรรคหลายอย่าง ประการแรก มหาวิทยาลัยของรัฐที่มีอยู่นั้นสอนภาษาต่างประเทศให้พูดได้ปฏิบัติได้แค่ไหน เนื่องจากการสื่อสารระหว่างทำธุรกิจมันเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง และการหาตัวเอาโปรเฟสเซอร์จากต่างประเทศ จะให้มหาวิทยาลัยของรัฐติดต่อก็คงไม่มีความคล่องตัวพอ" เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงความคิดของนักธุรกิจและนักการศึกษาหลายคนที่จะก่อตั้งองค์กรการศึกษาขึ้นมาใหม่อีกองค์กรหนึ่ง

โดยสรุป ในที่สุด ทางด้านนักธุรกิจกับภาครัฐบาลก็จับมือกันในการที่จะตั้งองค์กรนี้ขึ้นมา โดยทางภาครัฐบาลจะช่วยเหลือด้านสถานที่ ภาคเอกชนจะช่วยเหลือด้านการเงิน

โครงการผลิตนักบริหารหรือที่เรียกกันในปัจจุบันว่า สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ GIBA (GRADUATE INSTITUTE OF BUSINESS ADMINISTRATION) จึงเกิดขึ้น และได้เปิดรับนักศึกษาอย่างจริงจังก็ในปี 2525

แล้วเติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็ถูกเชิญให้มาเป็นผู้อำนวยการโครงการแห่งนี้

ซึ่งก็เป็นอีกครั้งหนึ่ง ที่เขาต้องนำพาชีวิตเขาสู่เส้นทางสายนี้

หลายคนได้วิพากษ์วิจารณ์ สาเหตุที่กลุ่มนักการศึกษาหลายคน ได้เชิญเติมศักดิ์ กฤษณามระ เข้ามาเป็นผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้นั้น เนื่องจากนักธุรกิจหลายคนต่างให้ความเกรงใจเขา เงินที่จะได้รับการสนับสนุนจากนักธุรกิจเหล่านั้นก็คงมีมาก ส่วนความเชี่ยวชาญทางด้านการศึกษารของเขาคงจะเป็นตัวประกอบที่รองลงมา

"เขาไปเอาตัวผมมาเนื่องจากว่า เขาบอกว่า ตัวผมนั้นมีประสบการณ์ทางด้านการบริหารธุรกิจอยู่แล้ว และก็ยังมีประสบการณ์พิเศษทางด้านภาษาอังกฤษอยู่ด้วย" เติมศักดิ์ กฤษณามระ ให้เหตุผลกับ "ผู้จัดการ"

ไม่ว่าจะอย่างไร ชีวิตของเขาก็คว่ำหวอดอยู่กับสถาบันแห่งนี้จนถึงปีที่ 5 ในปีนี้แล้ว ทั้ง ๆ ที่ความจริงเขาน่าจะหมดสมัยตั้งแต่เมื่อปี 2529 แล้วเนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันแห่งนี้ ถูกกำหนดอายุไว้เพียง 4 ปี แต่เติมศักดิ์ กฤษณามระ ก็ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ต่อไปอีกวาระหนึ่ง จนถึงปี 2533

เติมศักดิ์ กฤษณามระ มีผลต่อการหาเงินทุนของจีบ้ามาก เงินที่ได้รับการบริจาคจาก ชาตรี โสภณพนิช ประจิตร ยศสุนทร น.พ.ชัยยุทธ กรรณสูต เฉลิม ประจวบเหมาะ ศุกรีย์ แก้วเจริญ ธรรมนูญ หวั่งหลี จรัส ชูโต ฯลฯ ซึ่งผ่านมาในรูปขององค์กรหรือบริษัทที่คนเหล่านี้ทำงานอยู่องค์กรละ 6 แสนบาทต่อปีนั้น ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งจะเนื่องมาจากนักธุรกิจใหญ่เหล่านี้อยากสนับสนุนการศึกษา แต่อีกส่วนหนึ่งซึ่งแทบจะเรียกได้ว่า เป็นส่วนข้างมาก นั่นก็คือ ความสัมพันธ์สนิทสนมส่วนตัว และความเกรงใจต่อกันระหว่างนักธุรกิจเหล่านี้กับเติมศักดิ์ กฤษณามระ

"เป็นผู้บริหารจีบ้ามันก็เหนื่อยตรงนี้ เหนื่อยตรงที่ต้องวิ่งขอเงินคน" เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวสั้น ๆ กับ "ผู้จัดการ" เมื่อถูกถามถึงเรื่องการหาเงินของจีบ้า

"ผมได้เรียนกับท่านอธิการบดีไปแล้วว่า ผมเองคงทำงานตลอดไปไม่ได้ ก็คิดว่า ภายในสองหรือสามปีนี้ เราต้องหาคนแทนให้ได้ เนื่องจากงานส่วนตัวของผมเองก็มีอยู่ ท่านก็บอกว่า หาคนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เนื่องจากงานนี้ไม่ใช่เป็นแค่เพียงการบริหารงานภายในเท่านั้น ยังต้องบริหารความศรัทธาและความเชื่อมั่นจากคนภายนอกที่เขาจะให้เงินแล้วก็มาสนับสนุนกิจการด้วย พวกนี้ซิครับไม่ใช่เรื่องง่าย ลำพังการหาพวกมืออาชีพมาทำไม่ใช่เรื่องง่ายหรอก"

เติมศักดิ์ กฤษณามระ ยอมรับกับ "ผู้จัดการ" อย่างตรงไปตรงมา เมื่อถูกถามว่า ถ้าหากเขาลาออกแล้ว จะมีผลต่อเงินทุนที่ได้รับอยู่หรือไม่

"ผมก็ไม่ใช่ว่าเป็นคนเดียวที่ทำได้แต่บังเอิญงานเก่าของผมมันมาสายตรงกัน และโดยเหตุที่ว่าผมเป็นผู้ตรวจสอบบัญชี ผมก็รู้จักคนมากและได้รับความเชื่อถือ มันก็ทำให้เหนื่อยน้อยกว่าคนอื่น แต่คนอื่นเขาก็เหนื่อยได้ ถ้าหากว่ายังมีแรง ก็คงต้องมีคนเข้ามาทำงานแทนเข้าสักวันหนึ่ง" เขากล่าวย้ำกับ "ผู้จัดการ" อีกครั้งหนึ่ง

ถ้านับปี 2530 นี้เข้าไปด้วยแล้ว เป็นเวลา 30 ปีแล้วที่เติมศักดิ์ กฤษณามระ ต้องใช้ชีวิตบนหนหนทางสายนี้ ปัจจุบันเขาอายุได้ 60 ปีเต็ม เพื่อน ๆ และลูกศิษย์ลูกหาของเขาได้ก่อตั้งกองทุนให้กับเขาขึ้นมาแล้ว เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยใช้ชื่อว่า "กองทุนศาสตราจารย์เติมศักดิ์ กฤษณามระ" เพื่อเป็นทุนการศึกษา แล้วแต่ว่าเติมศักดิ์ กฤษณามระ จะให้ใคร และจะมีการจัดงานครบรอบให้กับเขาในวันที่ 15 กันยายน 2530 อีกด้วย

"ผมจะวางมือทุกอย่างเมื่ออายุ 65" เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"

คำว่าทุกอย่างของเขานั้น เขาอธิบายว่ารวมทั้งธุรกิจส่วนตัวที่เขาเองต้องรับผิดชอบอยู่ด้วย

"ทำไมผมไม่ปลดตัวเองตั้งแต่อายุ 60 ก็เพราะว่าลูกผมยังเรียนไม่จบสักคน ลูก ๆ เขาบอกว่าเขาจะเลิกเรียนแล้ว เขาบอกว่าเขาไม่ต้องเรียนแล้ว ผมก็บอกว่า ไม่เป็นไร พ่อยังทำงานไหว" เติมศักดิ์ กฤษณามระ กล่าวถึงภาระที่ตัวเองยังต้องทำ

ถ้าเป็นหน่วยงานราชการ เขาก็ต้องเกษียณอายุแล้ว แต่ชีวิตของเขาดูเหมือนจะถูกฟ้าลิขิตว่าหยุดนิ่งไม่ได้ แม้ว่าที่สำนักงานไชยยศจะมีน้อง ๆ ช่วยอยู่อีกหลายคน

"ที่นั่น ผมเพียงแค่ไปนั่งเซ็นชื่อ" แม้ว่าเติมศักดิ์ กฤษณามระ จะย้ำอยู่กับ "ผู้จัดการ" หลายครั้งถึงคำนี้ แต่การนั่งเซ็นชื่อจนถึงตีสามอย่างที่เขาว่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่ใครต่อใครจะทำได้แน่

เติมศักดิ์ กฤษณามระ ยัคงต้องบุกต่อไป ด้วยไฟอันร้อนแรงที่ยังมีอยู่ ถึงแม้อายุจะปาเข้าไปถึง 60 ปีแล้วก็ตาม อย่างน้อยช่วงเวลาที่เหลืออีก 5 ปีดังที่เขาบอกว่า มันเป็นช่วงสุดท้ายที่เขาจะหยุดพักเสียทีนั้น ก็พอที่จะกระตุ้นให้เขาทำงานด้วยความกระตือรือร้นที่คนหนุ่ม ๆ หลายคนไม่มีความกระตือรือร้นขนาดนี้

เติมศักดิ์ กฤษณามระ ชีวิตที่ง่าย ๆ ไม่โลดโผน ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนถูกบันทึกว่าเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ดั่งเช่นที่เขากำหนด !!!!



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.