บางกอก ดาต้าฯยุคฟ้าเปลี่ยนสี


นิตยสารผู้จัดการ( กันยายน 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

บางกอก ดาต้า เซ็นเตอร์ บีดีซี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2514 ภายหลังสนามม้านางเลิ้งซื้อคอมพิวเตอร์มาติดตั้งใช้งานได้ไม่นานนัก "เรื่องมันก็มีอยู่ว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมา งานหลักก็เพื่อควบคุมงาแข่งม้า เผอิญช่วงวันธรรมดาเครื่องอยู่ว่าง ๆ สนามม้าก็เกิดความคิดที่จะนำเครื่องไปใช้ประโยชน์เพิ่ม จึงได้ตั้งบีดีซีขึ้น แรก ๆ ก็เป็นเซอร์วิสเซ็นเตอร์ ตอนหลังถึงขายคอมพิวเตอร์…" คนที่อยู่ในวงการคอมพิวเตอร์มานานเล่าให้ฟัง

บีดีซี ขายคอมพิวเตอร์มาแล้วหลายยี่ห้อ แต่ท้ายที่สุดก็ได้เป็น EXCLUSIVE DISTRIBUTOR ให้กับผลิตภัณฑ์ของ DEC (DIGITAL EQUIPMENT CORPORATION) ซึ่งมีชื่อเสียงและศักยภาพพอจะหาญทาบรัศมีไอบีเอ็มได้ โดยเฉพาะเครื่องระดับมินิคอมพิวเตอร์ดูเหมือนว่าจะแซงหน้ายักษ์ใหญ่ไอบีเอ็มด้วยซ้ำ

บีดีซีผ่านวันชื่นคืนสุขกับ DEC นานหลายปี กระทั่งไม่นานมานี้ ความสุขก็ส่อเค้าสุกๆ ดิบๆ เข้าเต็มเปา

บีดีซีถูกถอนสิทธิการเป็น EXCLUSIVE DISTRIBUTOR จาก DEC เรียบร้อยแล้ว…ว่ากันว่าอย่างนั้น

ซึ่งผลที่ติดตามมาก็คือ ลูกค้าของบีดีซีต้องมีอันตรวจสอบข่าวกันวุ่นวาย และหลายรายที่ไม่ชอบหน้าบีดีซีก็แสดงท่าเงื้อง่าจะอัดซ้ำ

ร้อนรนทดไม่ได้ ในที่สุด อนุวัตร์ วนานุเวชพงศ์ กรรมการบริหารของบีดีซีก็ต้องรับหน้าที่ออกมาชี้แจงทำความเข้าใจ

อนุวัฒน์ ยอมรับว่า ฐานะ EXCLUSIVE DISTRIBUTOR ของบีดีซีนั้น ก็คงจะต้องถูกยกเลิกไป แต่ก็อย่าเพิ่งสับสนการยกเลิกนี้มีที่มาจากการที่ DEC ได้ตัดสินใจข้ามาตั้งสาขาของตนเองขึ้นแล้วในไทย เพราะฉะนั้นฐานะ EXCLUSIVE DISTRIBUTOR ซึ่ง DEC จะใช้เฉพาะกับประเทศที่ไม่มีสาขาของ DEC ตั้งอยู่ก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพข้อเท็จจริงดังกล่าว

"ส่วนว่าจะเป็นตัวแทนจำหน่ายแบบไหนระหว่างนี้เรากำลังเจรจากันอยู่" อนุวัฒน์บอก

DEC นั้นเข้าเมืองไทยแบบซุ่มเงียบ !!

ว่ากันว่าเป้าหมายอยู่ที่การเข้ายึดหัวหาดแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดคอมพิวเตอร์กับไอบีเอ็มโดยเฉพาะ

เมื่อเดือนมีนาคม 2530 DEC ตัดสินใจแบบไม่ไว้หน้าบีดีซีมาแล้วด้วยการแต่งตั้งบริษัท ไมโครเนติคให้เป็นผู้ขายผลิตภัณฑ์ของ DEC ในประเทศไทยอีกราย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ยกเลิกฐานะความเป็นตัวแทนจำหน่ายของบีดีซี

แหล่งข่าวในวงการคอมพิวเตอร์ถึงกับบอกว่า "ไม่ใช่ตบหน้าบีดีซีเท่านั้น ยังตบหน้าผู้บริหารของบีดีซีบางคนด้วย…"

ไมโครเนติคก่อตั้งเมื่อปี 2520 เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญทางด้าน DATA COMMUNICATION สร้างผลงานติดตั้งระบบ SWITCHING ให้กับธนาคารพาณิชย์มาแล้วหลายแห่ง มีตระกูลบุนนาคเป็นเจ้าของกิจการ

ไมโครเนติคในช่วงไม่กี่ปีมานี้อยู่ภายใต้การบริหารงานของ ดร.ดนัย มิลินทวณิช อดีตผู้บริหารของบีดีซี

ดร.ดนัย จริง ๆ แล้วก็คือ คนที่ติดต่อกับ DEC มานานและเล่ากันว่า การอำลาบีดีซีของเขามีเบื้องหลังที่เจ็บปวดพอประมาณกับคนโตของบีดีซีในปัจจุบัน

"ก็อาจจะเป็นได้ในแง่ที่ ดร.ดนัย ดึง DEC กลับไปทำได้อีก คนที่เคยฟาดฟันกันมาในอดีตก็ต้องรู้สึกบ้างเป็นธรรมดา…" แหล่งข่าวคนหนึ่งพูดกับ "ผู้จัดการ"

ความเจ็บช้ำสำหรับบีดีซีและผู้บริหารของบีดีซีแล้วก็ดูเหมือนว่าจะโดนทั้ง 2 ชั้น

และภายหลังไมโครเนติคถูกเทคโอเวอร์โดยเครือซิเมนต์ไทยเมื่อเร็ว ๆ นี้เข้าด้วยความแข็งแกร่งที่เพิ่มขึ้นของไมโครเนติคก็อดจะทำให้บีดีซีรู้สึกร้อน ๆ หนาว ๆ อย่างช่วยไม่ได้

บีดีซี จะยังอยู่ในฐานะคนขาย DEC อีกต่อไปหรือไม่ ?

และถ้าอยู่จะอยู่ในฐานะเยี่ยงไร ?

คนในวงการคอมพิวเตอร์พูดกันว่า DEC นั้นแต่งตั้งไมโครเนติคให้เป็นผู้แทนจำหน่ายประเภทที่เรียกว่า OEM หรือ ORIGINAL EQUIPMENT MANUFACTURING ซึ่งเป็นฐานะตัวแทนจำหน่ายที่นำผลิตภัณฑ์ของ DEC เข้าตลาดโดยไม่ต้องผูกพันกับเครื่องหมายการค้าของ DEC

"เป็นได้ที่จะต้องแต่งตั้งให้มีฐานะเพียงนั้น เพราะ DEC เองยังไม่ได้ยกเลิกฐานะการเป็นตัวแทนจำหน่ายแต่ผู้เดียวของบีดีซี เข้าใจว่า DEC เองก็ระวังในแง่ข้อกฎหมาย ส่วนถ้ายกเลิกฐานะเก่าของบีดีซีได้แล้ว DEC จะแต่งตั้งไมโครเนติคด้วยการยกฐานะขึ้นหรือไม่นั้นก็ยังมอง ๆ อยู่…" แหล่งข่าวรายหนึ่งแสดงความเห็น

ส่วนท่าทีของบีดีซีค่อนข้างชัดเจนในแง่ที่ ถ้าต้องถูกยกเลิกฐานะ EXCLUSIVE DISTRIBUTOR แล้วก็จะต้องได้ฐานะที่ "เป็นที่น่าพอใจ"

ข่าวคืบหน้า "ผู้จัดการ" จะรายงานให้ทราบต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.