|
SPPTฟุ้งชิ้นส่วนอิเล็กฯเริ่มฟื้น
ASTV ผู้จัดการรายวัน(29 มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้บริหาร “ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท” มั่นใจ ไตรมาส 2 ผลงานโดดเด่น เหตุอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่งสัญญาณฟื้นตัวเร็วกว่าคาด เชื่อเห็นการเติบโตชัดเจนในไตรมาสสุดท้ายเตรียมจัดทัพรับมือธุรกิจฟื้นไว้ ทั้งการปรับปรุงระบบการผลิต ปรับยุทธศาสตร์ เพื่อให้องค์กรมีประสิทธิภาพ คาดปี 53 กลับมาโดดเด่นอีกครั้ง
นายประพจน์ พลพิพัฒนพงศ์' ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SPPT เปิดเผยถึงสถานการณ์ของธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ว่า ได้เริ่มส่งสัญญาณปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ตามทิศทางเดียวกับภาวะเศรษฐกิจที่กระเตื้องขึ้นเร็วกว่าที่คาด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสต์ไดร์ฟและชิ้นส่วนกล้องถ่ายรูป Single Len Reflect ( กล้องถ่ายรูปโปร ) ที่แต่ละบริษัทเริ่มกลับมาเพิ่มการผลิตอีกครั้ง หลังจากปล่อยให้สินค้าคงคลังลดลงไปเป็นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา
"จะเห็นได้ชัดว่าในไตรมาสที่ 2 นี้ธุรกิจเริ่มฟื้นตัวมาแล้ว ซึ่งถือว่าฟื้นเร็วกว่าคาด ปัจจัยหลักๆ น่าจะมาจากความต้องการในตัวสินค้าที่มีเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ชะลอตัวมานานกว่า 5-6 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ปัจจัยที่สอง คือ ความเชื่อมั่นกลับคืนมาในตลาดแถบอเมริกา ยุโรป ทำให้คนเริ่มกล้าใช้จ่าย จึงส่งผลดีต่อธุรกิจโดยตรง เพราะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เป็นสินค้าที่ถึงอย่างไรผู้บริโภคก็ต้องใช้ ส่วนปัจจัยที่ 3 เป็นเพราะต้องการเพิ่มสต็อกสินค้าคลัง เพราะอย่างที่บอกว่าในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมาลูกค้าสั่งซื้อสินค้าน้อยมาก จึงทำให้ปริมาณ สต็อกสินค้าลดลง แล้วทุกคนก็ต้องเร่งเพิ่มสต็อกขึ้นมาเพื่อให้รองรับกับความต้องการของผู้บริโภคที่ส่งสัญญาณว่าจะกลับคืนมาแล้ว"
ส่วนอีกสัญญาณหนึ่งที่ชี้ว่ากำลังการผลิตเริ่มปรับตัวดีขึ้นมาก จะเห็นได้จากป้ายรับสมัครพนักงานของโรงงานที่ผลิตฮาร์ดดิสต์ไดร์ฟและชิ้นส่วนฮาร์ดดิสต์ไดร์ฟ รวมทั้งโรงงานผลิตกล้องถ่ายรูปในย่านนิคมอุตสาหกรรมนวนคร นิคมอุตสาหกรรมไฮเท็ค บางปะอิน สวนอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมสุรนารี นครราชสีมา นิคมอุตสาหกรรม 304 กบินทร์บุรี ซึ่งเป็นแหล่งผลิตใหญ่ของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีให้เห็นมากขึ้น
ในขณะเดียวกันแต่ละบริษัทเริ่มมีการออกสินค้าใหม่เร็วขึ้น หลากหลายรุ่น เนื่องจากสินค้าที่ออกใหม่จะขายได้มากในภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มมีสัญญาณในทางบวก ดังนั้นบริษัทคาดการณ์ว่ายอดขายและผลประกอบการในไตรมาส 2/2552 จะดีขึ้น เมื่อเทียบกับผลประกอบการในไตรมาสที่หนึ่งที่ผ่านมา
ปัจจุบัน SPPT ใช้กำลังการผลิตโดยแยกเป็นธุรกิจฮาร์ดดิสต์ไดร์ฟอยู่ที่ 80% และธุรกิจที่ไม่ใช่ฮาร์ดดิสต์ไดร์ฟอยู่ที่ 85% เมื่อเทียบกับไตรมาสหนึ่งที่อยู่ที่ประมาณ 55% และ 45%ของกำลังผลิตรวมตามลำดับและคาดว่าจะปรับตัวดียิ่งขึ้นในไตรมาส 3 และ 4 หลังจากได้รับข้อมูลจากลูกค้าว่าปริมาณการสั่งซื้อจะเพิ่มมากขึ้น และขอให้บริษัทฯตระเตรียมวัตถุดิบ และบุคลากรให้พร้อมเพื่อรองรับแผนงานดังกล่าว ซึ่งคาดว่ากำลังการผลิตของธุรกิจฮาร์ดดิสต์ไดร์ฟมีโอกาสจะฟื้นตัวกลับมาที่ 90% และธุรกิจที่ไม่ใช่ฮาร์ดดิสต์ไดร์ฟจะคืนกลับมาที่ 100% ในไตรมาส 4 ของปี
ดังนั้น เพื่อรองรับกับโอกาสทางธุรกิจที่จะมาถึง บริษัทฯ ได้สั่งซื้อเครื่องจักรเพื่อผลิตชิ้นส่วนกล้องถ่ายรูปเข้ามาติดตั้งเพิ่มขึ้น ที่โรงงานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังจากได้รับคำสั่งซื้อชิ้นส่วนดังกล่าวเพิ่มเข้ามา โดยคาดว่าเครื่องจักรจะติดตั้งแล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคมนี้
นายประพจน์ กล่าวว่า สำหรับในครึ่งปีหลัง บริษัทฯ ได้กำหนดแผนการดำเนินธุรกิจไว้ให้โรงงานการผลิตในสิงห์บุรีเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสต์ไดร์ฟอย่างสมบูรณ์เพื่อรองรับลูกค้าทั้งหมด ส่วนโรงงานในอยุธยา ปัจจุบันมี 3 โรงงานจะเป็นฐานการผลิตชิ้นส่วนธุรกิจที่ไม่ใช่ฮาร์ดดิสต์ไดร์ฟ โดยโรงงาน 1 และ 2 จะใช้เพื่อการผลิตรองรับลูกค้าทั้งเก่าและใหม่ส่วนโรงงาน 3 ใช้ประกอบมอเตอร์กล้องถ่ายรูปสำหรับบริษัท นิคอน ประเทศไทย จำกัด นอกจากนั้น ได้เตรียมพื้นที่ในโรงงาน 1 รองรับโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจากับลูกค้าเพื่อขยายโครงการผลิตชิ้นส่วนกล้องถ่ายรูปให้ครบวงจรมากขึ้น โดยคาดว่าโครงการนี้น่าจะเริ่มได้ในไตรมาส 3 ของปีนี้ และตระเตรียมการปรับปรุงพื้นที่ในโรงงาน 2 เพื่อรองรับโครงการใหม่ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาเช่นกันโดยคาดว่าจะเจรจาจบภายในปีนี้ เพื่อรองรับแผนการผลิตในต้นปีหน้า
“จากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทฯ ได้มีโอกาสทำการปรับปรุงระบบการผลิตและค้นหาจุดอ่อนเพื่อทำการปรับปรุงทั้งในแง่ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เพื่อให้องค์กรมีประสิทธิภาพและมีการควบคุมที่ดีขึ้นเพื่อรองรับการฟื้นตัวของธุรกิจที่จะกลับมาในปี 2553 โดยเห็นผลจากการที่ลูกค้าหลายรายได้เจรจากับบริษัทฯ ให้เตรียมรองรับโครงการใหม่ที่จะมีการโยกย้ายฐานการผลิตจากญี่ปุ่น เข้ามาเพิ่มในไทยมากขึ้น”นายประพจน์ กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|