|
SCBAMขายกองหุ้นกู้หมื่นล้าน รับตกขบวนบอนด์ไทยเข้มแข็ง
ASTVผู้จัดการรายวัน(29 มิถุนายน 2552)
กลับสู่หน้าหลัก
บลจ.ไทยพาณิชย์ จ่อคิวกองทุนลุยหุ้นกู้เอกชน 4 โครงการ มูลค่ารวมหมื่นล้าน หวังรองรับนักลงทุนตกขบวนพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง ประเดิมส่งกองแรกขาย 20 ก.ค.นี้ พร้อมลุยขายกองพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ แต่เน้นขายเฉพาะอายุ 6 เดือนและ 12 เดือนเป็นหลัก
นางโชติกา สวนานนท์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์เฉพาะเจาะจง (SCBAMGCORP) จำนวน 4 กองทุน มูลค่าโครงการรวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นลงทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในหุ้นกู้คุณภาพดีในประเทศ และมีอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิต เรตติ้ง) ตั้งแต่ A- ขึ้นไป โดยจะเป็นกองทุนแบบปิดที่มีอายุประมาณ 3 ปี และสามารถให้ผลตอบแทนประมาณ 4.15% ต่อปี คาดว่าจะสามารถเปิดเสนอขายหน่วยลงทุนครั้งแรก (IPO) ของกองทุนในซีรีส์เดียวกันนี้ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไป และมีมูลค่าเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 10,000 บาท
ทั้งนี้ บริษัทจะทยอยเปิดขายกองทุนเปิดที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้ชั้นดีอย่างต่อเนื่อง โดย 2 โครงการแรกจะมีมูลค่าโครงการละ 1,500 ล้านบาท และอีก 2 กองทุนหลังจะมูลค่าโครงการละ 3,500 ล้านบาท และจะออกมาภายหลังจากการพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็งวงเงิน 50,000 ล้านบาทของทางภาครัฐแล้ว ขณะเดียวกัน ยังเป็นการออกมารองรับนักลงทุนที่พลาดหวังจากการลงทุน และยังมีระยะเวลาในการลงทุนสั้นกว่าด้วย
นอกจากนี้ บริษัทยังไม่ให้ความสนใจออกกองทุนแบบที่มีการตั้งเป้าหมายผลตอบแทน (ทาร์เก็ต ฟันด์) เนื่องจากลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่จะต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง แต่หากมีช่องทาง และโอกาสดีก็จะออกกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้น SET50 ด้วยเช่นกัน ซึ่งบริษัทมีเพียงกองทุนที่ลงทุนในหุ้น SET100 เท่านั้น แต่คาดว่าจะออกมาเป็นกองทุนประเภทเปิด
กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า บริษัทมีแผนงานที่จะเปิดขายกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ของประเทศเกาหลีใต้จะมีออกมาอย่างต่อเนื่องทุกสัปดาห์เช่นกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับนักลงทุน โดยเตรียมเปิดขายกองทุนเปิดไทยพาณิชย์ ฟอร์เรน โนท 6M18 (SCBFRN6M18) มูลค่าโครงการ 3,500 ล้านบาท เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น และเปิดขายหน่วยลงทุนครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน – 8 กรกฎาคม 2552 นี้ และมีมูลค่าเม็ดเงินลงทุนขั้นต่ำที่ 10,000 บาทเช่นกัน
ขณะเดียวกัน บริษัทจะเปิดขายกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ที่มีอายุโครงการ 6 เดือนและ 12 เดือนเป็นหลัก เนื่องจากได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน เนื่องจากยังสามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ โดยก่อนหน้านี้มีการออกกองทุนที่มีอายุโครงการ 9 เดือนมาด้วย แต่ไม่ได้รับความสนใจเท่ากับ 2 กองทุนข้างต้น ส่งผลให้บริษัทไม่ออกกองทุนดังกล่าวมาอีก
สำหรับกองทุนพันธบัตรเกาหลีใต้อายุโครงการ 6 เดือนจะสามารถให้ผลตอบแทนประมาณ 2.5% ต่อปี ขณะที่กองทุนที่มีอายุโครงการ 12 เดือนจะสามารถให้ผลตอบแทนประมาณ 3.0%ต่อปี
นางโชติกา กล่าวว่า ในช่วงก่อนหน้านี้มีการออกกองทุนที่เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยที่มีอายุโครงการ 6 เดือนออกมา เนื่องจากผลตอบแทนของตราสารหนี้ทุกช่วงอายุมีการปรับขึ้น และออกมารองรับลูกค้าบางส่วนที่ไม่ให้ความสนใจลงทุนในกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้ ซึ่งนักลงทุนบางส่วนอาจจะลงทุนในกองทุนพันธบัตรรัฐบาลเกาหลีใต้เป็นจำนวนมากแล้ว รวมทั้งยังเป็นรองรับนักลงทุนที่ลงทุนในกองทุนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ครบกำหนดอายุโครงการด้วย
ส่วนกองทุน SCBFRN6M18 จะเน้นลงทุนในตราสารแห่งหนี้ที่มีคุณภาพและให้ผลตอบแทนที่ดีเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่เสนอขายในต่างประเทศ อาทิ ตราสารแห่งหนี้ที่ออกโดยภาครัฐและ/หรือรัฐวิสาหกิจ ตราสารแห่งหนี้ภาคเอกชนหรือตราสารหนี้ที่ออก โดยธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเอกชนชั้นดี ตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับที่ได้รับการยอมรับจากสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. เป็นต้น โดยอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหรือของผู้ออกตราสารอยู่ในอันดับที่สามารถลงทุนได้ (investment grade) นอกจากนี้ กองทุนอาจลงทุนในหรือมีไว้ซึ่งตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง (Structured Note) ทั้งนี้ การลงทุนในตราสารที่เสนอขายในต่างประเทศจะมีมูลค่ารวมกันทั้งสิ้นไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน
ส่วนที่เหลือบริษัทจัดการอาจพิจารณาลงทุนในเงินฝาก หรือตราสารแห่งหนี้ในประเทศโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรองเงินไว้สำหรับการดำเนินงาน รอการลงทุน หรือรักษาสภาพคล่อง การลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าวข้างต้นอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ตลอดจนหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่น หรือการหาดอกผลโดยวิธีอื่นอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง ตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. หรือสำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนดหรือให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ กองทุนจะ เข้าทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedging) เช่น การทำสัญญาสวอปและ/หรือสัญญาฟอร์เวิร์ดที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Foreign Exchange Rate Risk) เป็นต้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|