ถึงเวลา 'โลว์คอสต์ โฮเทล' เปิดเกมรุกชิงจ้าวตลาด


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

สถานการณ์การแข่งขันในตลาดโรงแรมราคาประหยัด(โลว์คอสต์โฮเทล)กลับมาร้อนแรงอีกครั้ง เมื่อแต่ละค่ายทั้งไทยและเทศต่างลงมาเคาะตลาดเล่นสงครามราคาถูก ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มเปลี่ยนไปหันมาใช้บริการกันเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมหลายค่ายเชื่อว่าจากปัจจัยดังกล่าวที่เป็นอยู่ในขณะนี้ น่าจะเป็นแรงส่งหนุนให้ธุรกิจโรงแรมในเซกเมนต์นี้เติบโต และไม่หายตายจากไปในตลาดธุรกิจโรงแรม

อันที่จริงเซกเมนต์โรงแรมราคาประหยัดในปัจจุบันมีผู้ประกอบการหลายค่ายเข้ามาเปิดตัวนานแล้วจึงไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทย หากจำกันได้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีโรงแรมประเภทนี้จำนวนมากเคยรุกตลาดนี้มาก่อน อาทิ ปริ้นเซส และ ดีทู ในเครือของดุสิตธานี หรือแม้แต่เชนของแอคคอร์ที่ใช้แบรนด์ อีบิส รุกตลาด ด้วยการนำเสนอโปรโมชั่นเรื่องของราคาถูกในช่วงเปิดตัว ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์คนไทยอย่าง 'อิมม์'ที่ขอเข้ามาร่วมแจมบนเส้นทางนี้

ขณะเดียวกันเชื่อกันว่าเป็นเพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มเปลี่ยนไปและตลาดของธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดยังมีช่องว่างอยู่ โดยเฉพาะโรงแรมที่มีราคาห้องพักต่ำกว่า 1,500 บาทต่อคืนลงมาในขณะที่บริการจะมีมาตรฐานแบบสากลไม่ต่างกันมากนักและนำเทคโนโลยีทันสมัยใส่เข้าไปเพื่อให้ความสะดวกสบายกับลูกค้า ส่งผลให้โรงแรมรถที่มีอยู่ในมือลงตลาดด้วยกลยุทธ์ราคาที่ต่ำเป็นใบเบิกทาง

ว่ากันว่าภาพรวมตลาดโรงแรมราคาประหยัดกำลังเติบโตขึ้นมาก วัดได้จากเชนโรงแรมขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มมีแนวคิดที่จะหันมาบุกตลาดโรงแรมในระดับนี้มากขึ้นอาทิ เครือเซ็นทารา เครืออมารี ดุสิตธานี เป็นต้น ขณะที่ กลุ่มของ ทีซีซีของเจริญ สิริวัฒนภักดี มีการตั้งเป้าไว้ว่าภายในเวลา 3-5 ปี จะขยายการลงทุนในระดับนี้ไปยัง 7 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ หัวหิน สมุย พัทยา ภูเก็ตและกระบี่และเมืองค้าขายและราชการ อาทิ โคราช อุดร หาดใหญ่ เป็นต้น

ซึ่งปัจจุบันทีซีซีมีโรงแรมแบรนด์ "อิมม์" 2 แห่ง ได้แก่ อิมม์ฟิวชั่น สุขุมวิท ,อิมม์ อีโค เชียงใหม่ ล่าสุดได้ปรับปรุงโรงแรมสุรวงศ์ พลาซ่า พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น "อิมม์ ท่าแพ เชียงใหม่" จำนวน 106 ห้อง เปิดให้บริการเดือนมิถุนายน ขายห้องพักราคาโปรโมชันในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคมนี้ ราคาเพียงแค่ 777 บาทรวมอาหารเช้า เน้นตลาดคนไทยเป็นหลัก

นอกจากนี้ยังมีแผนจะเปิดโรงแรม 2 แห่ง ที่หัวหินและเกาะสมุย โดยกลุ่มเป้าหมายจะเน้นที่เอฟไอที (นักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง) กลุ่มคนไทยกว่า 50-60% ใช้ช่องทางขายผ่านทางเว็บไซต์เป็นหลัก เนื่องจากแนวโน้มนักท่องเที่ยวในปัจจุบันจะเน้นแบบValue for Money มากขึ้น

เมื่อหันไปดูกลุ่มของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา พบว่ามีแผนจะเปิดโรงแรมราคาประหยัดภายใต้แบรนด์ 'Select' ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยจะเปิดแห่งแรกที่กรุงเทพฯ รูปแบบจะเน้นราคาประหยัดเริ่มต้นที่ 1,000 บาท

ขณะนี้โรงแรมราคาประหยัดอย่างอีบิส โฮเต็ล กลับกลายเป็นที่ต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเห็นได้จากตัวเลขอัตราเข้าพักทุกแห่งในไทยสูงกว่าโรงแรมระดับเชนในแบรนด์อื่นๆ เฉลี่ยอยู่ที่ 5-10% เนื่องจากนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจที่ต้องการลดต้นทุนการเดินทางแต่ยังต้องการบริการมาตรฐานซึ่งตรงจุดนี้เอง อีบิสสามารถตอบโจทย์ได้ ซึ่งส่งผลให้ขณะนี้อีบิสมีการเซ็นสัญญาร่วมกับเอราวัณ กรุ๊ป เปิดโรงแรมอีบิสในไทยจำนวน10 แห่งภายใน 2-3 ปีนี้ ขณะนี้เปิดให้บริการแล้ว 5 แห่ง ได้แก่ อีบิสป่าตอง ภูเก็ต,อีบิส พัทยา ,อีบิส สาธร กรุงเทพฯ,อีบิส บ่อผุด เกาะสมุย และ อีบิส กรุงเทพฯ นานา โดยปลายปีนี้มีแผนที่จะเเปิด อีบิส กะตะ ภูเก็ต ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเปิด อีบิส กรุงเทพฯ เจ้าพระยา ออกมารองรับตลาด

นับจากนี้ไปเทรนด์ความต้องการของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่หลั่งไหลเข้ามาท่องเที่ยวเมืองไทยจะเปลี่ยนไป ด้วยกำลังซื้อที่มีอยู่ไม่จำกัดบวกกับความต้องการใช้บริการห้องพักราคาประหยัดและได้มาตรฐานสากล ส่งผลให้โรงแรมบริการระดับกลางของไทยต่างเร่งปรับกลยุทธ์บ้างก็หันไปพึ่งเชนต่างประเทศ บ้างก็ใช้ศักยภาพความพร้อมของคนไทยที่มีอยู่ดึงออกมาต่อสู้แข่งขันกันอย่างเข้มข้น

หลังจากที่เล็งเห็นว่าอัตราการเติบโตของอัตราการเข้าพักและการเพิ่มรายได้จะทำได้อย่างรวดเร็วเหมาะกับสมัยนิยม สามารถขยายฐานตลาดแบบก้าวกระโดดได้โดยไม่ยากเย็นนัก

จากราคาห้องพักผสมผสานกับดีไซด์นอกกรอบของโรงแรมราคาประหยัดในปัจจุบัน เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันให้ตลาดโรงแรมระดับนี้กลับมาแจ้งเกิดอีกครั้ง เมื่อแต่ละค่ายเข้ามาฟาดฟันกันในตลาดโรงแรมระดับนี้ หวังว่าจะใช้กลยุทธ์เรื่องของกลยุทธ์แนวใหม่โดยเฉพาะเรื่องของราคาถูกในมาตรฐานสากลเข้ามาเป็นตัวเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้บริการ เพราะก่อนหน้านี้บรรดาผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมค่ายใหญ่ๆ มองว่าโรงแรมขนาดใหญ่ที่มีจำนวนห้องมากๆและราคาสูงๆเริ่มทำตลาดค่อนข้างยาก ดังนั้นจะเห็นได้ว่าหลายกลุ่มจึงหันไปเน้นโรงแรมราคาประหยัดกันเพิ่มขึ้น โดยปรับปรุงห้องพักและนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้าไปไว้ให้บริการกันเป็นจำนวนมาก

แต่ด้วยปัจจัยในเรื่องของสภาวะเศรษฐกิจ อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ นักท่องเที่ยวต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้บริการโรงแรม โดยหันมาใช้โรงแรมที่ให้ประสิทธิภาพความปลอดภัยไปพร้อมกับคุ้มค่ากับความประหยัดเพิ่มมากขึ้น ซึ่งโรงแรมประเภทนี้จึงเป็นทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภค

ขณะที่การตอบรับกระแสของแบรนด์นอกซึ่งเป็นเชนต่างประเทศในช่วงเริ่มแรกนั้นดูจะทำให้ยอดขายห้องพักมีอัตราเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 และด้วยพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การเข้ามารุกตลาดโรงแรมราคาประหยัดในช่วงนี้จึงเป็นสิ่งยืนยันว่าตลาดโรงแรมขนาดนี้ในประเทศไทยยังมีช่องว่างให้เจาะอีกมาก

ปัจจุบันยังไม่สามารถบอกถึงบทสรุปของตลาดโรงแรมราคาประหยัดได้ว่าจะ เติบโตแบบฟูฟ่องต่อเนื่องตลอดไป หรือ จะกลายเป็นตลาดที่บูมกันเป็นพักๆ เพียงเท่านั้น

แต่ที่แน่ๆ สมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจโลว์คอสต์โฮเทลในตอนนี้ถือว่าเริ่มกลับมาดุเดือดอีกครั้ง หลังจากหลายค่ายแบรนด์ดังหันมาจับรุกตลาดนี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.