พันธบัตรจ่อคิวขาย'สิ้นยุคดอกเบี้ยต่ำ'น้ำมันมีสิทธิ์ดันเงินเฟ้อ-รัฐแบกต้นทุนแพง


ASTV ผู้จัดการรายสัปดาห์(22 มิถุนายน 2552)



กลับสู่หน้าหลัก

ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลพุ่งดักหน้า หลังฤกษ์เสนอขายใกล้คลอด นักการเงินชี้ผู้มีเงินออมได้ผลบวก ส่วนคนมีภาระผ่อนอาจต้องทำใจ ดอกเบี้ยไม่ลงอีก วัดดวงน้ำมันดันเงินเฟ้ออาจเร่งดอกเบี้ยระยะสั้นเพิ่ม

หลังจากพระราชกำหนดกู้เงินเริ่มเดินหน้า พร้อมทั้งมีการแย้มว่าจะมีการออกพันธบัตรสำหรับผู้สูงอายุ ดอกเบี้ยขั้นต้น 2.5% รวมถึงการเตรียมออกพันธบัตรรุ่นแรก 3 หมื่นล้านบาท ทำให้อัตราผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรเริ่มขยับขึ้น ประกอบกับการที่ธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1% ยิ่งทำให้ผลตอบแทนในพันธบัตรอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะดอกเบี้ยระยะ 3 ปีและ 5 ปี ในช่วงครึ่งเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 0.5-0.7%

แน่นอนว่าจากนี้ไปอัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ในทิศทางที่สูงขึ้น เพื่อตอบรับกับพันธบัตรรัฐบาลที่เตรียมตัวจะคลอดในอีกไม่ช้า ส่วนจะปรับขึ้นมากน้อยเพียงใดคงต้องรอวันที่พันธบัตรรัฐบาลรุ่นแรกวางจำหน่าย

ผู้จัดการกองทุนรวมรายหนึ่งกล่าวว่า หากจะกล่าวว่าดอกเบี้ยเงินฝากถึงจุดต่ำสุดแล้วก็คงไม่ผิด เพราะเมื่อพระราชกำหนดกู้เงินผ่านได้แล้วนั่นหมายความว่ารัฐบาลก็ต้องเร่งออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาใช้จ่าย และพันธบัตรส่วนใหญ่จะมีอายุ 3 ปีหรือ 5 ปี เห็นได้จากผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 ปีขยับมาอยู่ที่ 2.79% เพิ่มขึ้นจากสิ้นเดือนพฤษภาคมขึ้นมาถึง 0.72% ผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปีเพิ่มขึ้น 0.5% มาอยู่ที่ 3.36%

ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นผลจากการคาดการณ์ของตลาด ส่วนจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงกว่านี้ตลาดจะเป็นตัวกำหนด

จากนั้นทางสำนักบริหารหนี้สาธารณะได้ออกมากล่าวถึงการเตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์ไทยเข้มแข็ง เพื่อเสนอขายผู้สูงอายุที่ผลตอบแทนในปีแรกอาจอยู่ที่ 2.75-3% หลังจากนั้นจะเป็นดอกเบี้ยขั้นบันได ปีสุดท้ายอาจเป็น 4.5% เฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่า 3.75-4%

เขากล่าวต่อไปว่า ในด้านของผู้มีเงินออม อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรที่เพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องดี เนื่องจากผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวน่าจะสูงกว่าเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ ส่วนธนาคารพาณิชย์จะปรับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นมาสู้หรือไม่ คงต้องขึ้นกับการปล่อยสินเชื่อของธนาคารด้วย หากแบงก์ปล่อยสินเชื่อมากขึ้นก็ต้องระดมเงินฝาก

อย่างไรก็ตามเงินฝากระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่อาจจะมี 36 เดือน 48 เดือนหรือ 60 เดือนแต่ส่วนใหญ่ผู้ฝากเงินมักไม่ค่อยนิยมฝากเงินระยะยาวประเภทนี้กับธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นแบงก์อาจไม่เข้ามาเล่นในตลาดนี้

เมื่อแบงก์พาณิชย์เริ่มปรับดอกเบี้ยระยะยาวเพิ่มขึ้น เท่ากับเป็นการเร่งให้ผลตอบแทนระยะยาวเพิ่มขึ้น ด้านหนึ่งผู้ฝากเงินย่อมได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งกลับเป็นการเพิ่มภาระให้กับรัฐบาลไม่น้อย เพราะผลตอบแทนที่สูงขึ้นหมายถึงรัฐต้องออกพันธบัตรในต้นทุนที่แพงขึ้นเช่นกัน

'รัฐคงไม่มีปัญหาหากพันธบัตรที่จะออกมาน่าจะมีผลตอบแทนราว 3% แต่หากรัฐออกได้ที่ต้นทุนต่ำกว่านี้น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เว้นแต่รัฐอาจต้องการใช้ดอกเบี้ยสูงเป็นทางออกให้กับประชาชนอีกทางหนึ่ง'

สิ่งที่จะตามมาหลังจากที่ผลตอบแทนพันธบัตรในตลาดซื้อขายตราสารหนี้ได้ขึ้นมาตอบรับพันธบัตรรุ่นใหม่ของรัฐบาลนั่นคือดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวเริ่มอยู่ในทิศทางขาขึ้น เห็นได้จากพันธบัตรอายุ 1 ปีขึ้นไปเริ่มให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิมไม่น้อย

ขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจของโลกเข้าสู่ภาวะฟื้นตัว ความต้องการเงินเพื่อฟื้นเศรษฐกิจย่อมมีมากขึ้น รวมถึงเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มเข้าไปลงทุนตามแหล่งลงทุนทั่วโลกอีกครั้ง เช่น ในตลาดหุ้นที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงในประเทศไทยที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนอีกครั้ง ส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายและดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทะลุ 600 จุดได้อย่างง่ายดาย

เช่นเดียวกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่เริ่มมีนักเก็งกำไรเข้าไปมาลงทุนมากขึ้น จนราคาน้ำมันในตลาดโลกขยับขึ้นสูงกว่า 70 เหรียญต่อบาเรล

แม้ว่าช่วงก่อนหน้านี้อัตราเงินเฟ้อในประเทศไทยจะมีตัวเลขติดลบ แต่หากราคาน้ำมันปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่เงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกนั้นมีความเป็นไปได้สูง

ตรงนี้ถือเป็นสัญญาณว่าดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นก็หมดสิทธิที่จะปรับลดลงเช่นกัน เพราะนอกจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่อยากเห็นดอกเบี้ยเงินฝากลดต่ำกว่าที่เป็นอยู่แล้ว ยังอยากเห็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ปรับลดลงไปอีก ซึ่งเป็นไปได้ยากหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น

อย่างน้อยดอกเบี้ยเงินกู้อาจจะนิ่งไม่ปรับลดลงไปอีก และหากธนาคารพาณิชย์เริ่มปรับดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นขึ้น อีกไม่นานดอกเบี้ยเงินกู้ก็ต้องปรับตัวตาม แม้ว่าจะดูเหมือนเป็นข่าวร้ายสำหรับภาคธุรกิจหรือประชาชนที่มีภาระกับธนาคาร แต่ยังน้อยกว่าการที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ยอมปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจและประชาชนตามปกติ

ทิศทางที่ดอกเบี้ยถึงจุดต่ำสุด และผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวเริ่มปรับตัวขึ้น ยังกระทบไปถึงกิจการที่เตรียมตัวออกหุ้นกู้ด้วยเช่นกัน หากพันธบัตรรัฐบาลกำหนดดอกเบี้ยไว้สูง หุ้นกู้เอกชนย่อมต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล เพื่อจูงใจให้คนหันมาซื้อหุ้นกู้ เนื่องจากหุ้นกู้มีความเสี่ยงมากกว่าพันธบัตรรัฐบาล

การตีกลับของอัตราดอกเบี้ยถือว่าเป็นข่าวดีสำหรับผู้มีเงินออม แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ที่มีภาระต้องผ่อนชำระและธุรกิจเอกชนที่ต้องการระดมเงินด้วยการออกหุ้นกู้ รวมถึงรัฐบาลที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจอาจทำได้ยากขึ้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.