"ลินตาส" เป็นบริษัทโฆษณาที่ครองความเป็นหนึ่งมาโดยตลอดนับสิบ
ๆ ปี "กำธร กมลวรินทิพย์" กัปตัน ที่คุมบังเหียนลินตาสผู้ก้าวสู่ความสำเร็จเกรียงไกร
ก็เป็นหนึ่งในวงการคนโฆษณาที่ได้รับการยอมรับ ทั้งในและต่างประเทศว่าเยี่ยมยอดที่สุด
บนถนนสายโฆษณา เส้นทางที่เต็มไปด้วยสิ่งท้าทายที่ให้ทั้งรสชาติ สีสันความมีชีวิตวีวา
และความเจ็บปวด แต่ก็เป็นเส้นทาง ที่มีเอกลักษณ์อันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวคอยดึงดูให้ผู้ที่วิญญาณของนักต่อสู้ทั้งหลายใฝ่ฝันที่จะเข้ามาสัมผัส
แม้ว่าบางครั้งมันเจ็บปวดเกินไปที่จะร้องไห้ และอาจดีเกินไปที่จะหัวเราะก็ตามที
วันแรกบนถนนสายยั่วยวนสายนี้ กำธร กมลวรินทิพย์ จำได้ไม่ลืมว่าความหวังดีชิ้นแรกที่ได้รับจากนายคนแรกช่างเป็นกำลังใจที่น่าตลกขบขันสิ้นดี
เพราะสิ่งที่เขาได้รับเป็นยาแก้ปวดแอสไพริน 1 เม็ด พร้อมกับบันทึกข้อความสั้น
ๆ วางบนโต๊ะทำงานว่า "คุณคงไม่ต้องใช้มัน"
อะไรกัน มันน่าปวดหัวและสับสนโกลาหลนักหรือ จึงต้องปลอบใจล่วงหน้ากันอย่างนี้
อย่างที่แน่ ๆ ยี่สิบปีของรอบเท้าที่ประทับย้ำไปบนถนนสายนี้ กำธรยังไม่สบโอกาสที่จะได้หยิบยาเม็ดนั้นมาใช้สักครั้งเดียวและดูเหมือนว่าสมการของความยุ่งยากต่าง
ๆ นับวันช่างอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริงไปทุกขณะ
เขาคงไม่มีโอกาสใช้มันหรอกนะ
ไม่ง่ายนักที่จะเกิดปรากฏการณ์ว่าคนเอเชีย มิหนำซ้ำเป็นคนไทยจะสำแดงความสามารถออกมาให้เป็นที่ชื่นชม
ถึงกับขนาดที่ว่าได้รับการยอมรับอย่างสูงให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทของบริษัทโฆษณาอันดับหนึ่งของโลก
มันสูงยิ่งและยากกว่าตำแหน่งประธานกรรมการและผู้ประสานงานภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ที่เคยปืนป่ายไขว่คว้ามาแล้ว
นับว่าคนที่สร้างผลงานระดับนี้ได้ย่อมต้องเป็นคนที่เหนือชั้นจริง ๆ
ไม่มีใครในวงการโฆษณาในเมืองไทย จะไม่รู้จัก "ลินตาส" และไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า
"ลินตาส" ได้ครองความเป็นหนึ่ง เหนือบรรดาบริษัทโฆษณาทั้งปวงมาช้านาน
ไม่เพียงแต่เท่านั้นความอหังการ์ดังกล่าวยังไม่ผงาดง้ำในทำเนียบความเป็นผู้นำบดบังรัศมีบริษัทเครือลินตาสทั่วเอเชียอาคเนย์อีกด้วย
นับถึงการสั่งสมอายุงานที่ยังไม่เต็มยี่สิบขวบปีดี นั่นก็เพียงพอแล้วมิใช่หรือที่จะเป็นเครื่องหมายรับประกันคุณภาพให้กับคน
ๆ หนึ่งซึ่งเป็นกัปตันของเรือลำนี้และเป็นผู้ที่ยืนเคียงไหล่กับ "ลินตาส"
มาตลอดนับตั้งแต่วันแรกของการตั้งไข่
คุณภาพคับทวีปของ "ลินตาส" เมืองไทย เพียงพอแล้วที่จะการันตีคามสามารถของหัวเรือใหญ่อย่าง
กำธร กมลวรินทิพย์ คนโฆษณาที่เคยมีอดีตกับยาแอสไพรินผู้นี้ให้เป็นที่ยอมรับจากบริษัทแม่ให้เป็นคนเอเชียคนแรกที่ได้รับเกียรติสูงส่งดังกล่าว
นอกเหนือไปจากบำเหน็จความดีที่เป็นคนไทยคนเดียวที่ถือครองหุ้นของบริษัทสาขาไว้แล้วไม่น้อยกว่า
20%
กำธรในวัย 42 ปีกับผลงานระดับนี้นับว่าเขาเป็นคนที่ประสบความสำเร็จสูงคนหนึ่ง
รายได้ในแต่ละเดือนว่ากันที่เลขหกหลักขึ้นไป ไม่นับรวมถึงสวัสดิการตาง ๆ
ที่ย่อมไม่น้อยหน้าผู้บริหารใหญ่ค่ายอื่น ๆ และยังต้องรวมเงินโบนัส เงินปันผลประจำปีอีกด้วย
ว่ากันว่าเขาเป็นคนโฆษณาที่มีรายได้สูงสุดในปัจจุบัน
มันเป็นรายได้ที่กำธรก็บอกกับตัวเองไม่ถูกเหมือนกันว่า ถ้าเส้นทางชีวิตของเขาไม่หักเหเข้าสู่ถนนสายยาแอสไพรินสายนี้แล้วนั้น
เขาจะมีโอกาสได้รับรายได้ที่สูงไปกว่านี้หรือไม่
กำธรเป็นคนที่มีบุคคลโหวงเฮ้งเปล่งปลั่งดีมาก หน้ามันอวบอิ่มคางอวบอูม
และพวงแก้มที่แดงระเรื่อยิ่งกว่าเม็ดทับทิมสุกบ่งถึงความเป็นผู้มีอันจะกินและคนที่จะพบแต่วิถีชีวิตของความรุ่งเรือง
แต่บางคนบอกว่ากำธรเป็นคนที่แฝงความเศร้าปวดร้าวอยู่ในที
หลายคนบอกว่าแววตาหม่นเศร้าและครุ่นคิดคำนึง เงียบ ๆ ไม่สะทกสะท้านหวั่นไหวต่อความแปรปรวนใด
ๆ ของเหตุการณ์ที่โหมกระหน่ำสู่เขาและลินตาส ดูราวกับเป็นคนเลือดเย็นที่ไม่มีความอิงนังขังขอบใด
ๆ ทั้งสิ้น เขาเหมือนเป็นเฉกเช่นเอกบุรุษที่พบความสำเร็จแล้วกลายเป็นคนที่มีแต่ภาวะ
"ไร้น้ำใจ"
เขาเป็นคนที่สิ้นรักสิ้นเมตตา เป็นคนที่ไม่มี "หัวใจ" อย่างนั้นหรือ
"บางทีเขาก็เป็นคนที่ดูยากนะ เรียบเร้นเสียจนคาดเดาไม่ถูก แต่ต้องยอมรับว่าเป็นคนที่มีอารมณ์นิ่งมากคนหนึ่ง
เก็บความรู้สึกได้เก่งจนดูคล้ายกับหัวใจกระด้างและเย็นชา ดูก็แต่ตอนที่คุณวินิจหรือใคร
ๆ ที่เคยเป็นมือดีคู่เคียงจากไป เขากลับดูเฉย ๆ ไม่แสดงความรู้สึกเสียใจออกมาเลย"
คนในวงการท่านหนึ่งกล่าว
ภาพยนต์ยุโรปตะวันออกยุคหนึ่งเคยฉายภาพให้เห็นความเป็นคนตายด้านของโจเซฟ
สตาลิน รัฐบุรุษชื่อดังของรัสเซียที่ในห้วงสงครามโลกอันดุเดือดแล้วรับทราบข่าวการตายของลูกชาย
ทว่าสตาลินกลับมิได้สำแดงความรู้สึกเสียอย่างใหญ่หลวงส่วนตัวออกมาเลย
เนื่องเพราะสตาลินตระหนักดีว่า กองทัพอยู่ในภาวะหัวเลี้ยวหัวต่อของสงครามขวัญที่เข้มแข็งของผู้นำ
ย่อมปลุกปลอบใจขุนทหารให้ฮึกเหิมและง่ายต่อการที่จะเอาชนะข้าศึก
เฉกเช่นกำธรกับลินตาสประสบชะตากรรมสูญเสียมือดี ๆ อยู่เนือง ๆ ไม่ว่าจะเป็นจารุวรรณ
วนาสิน วินิจ สุรพงษ์ชัย สุชาติ วุฒิชัย กิตติ ชัมพุนท์พงศ์ สุรินทร์ ธรรมนิเวศ
ไกรฤทธิ์ บุณยเกียรติ ฯลฯ คนเหล่านี้ได้ชื่อว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากนักของวงการแน่ละว่าหากกำธรและลินตาสไม่มี
"หัวใจ" ไหนเลยจะยืนหยัดดำรงความเป็นหนึ่งมาได้จนถึงทุกวันนี้
การที่ไม่ปรากฏความเสียใจมิได้หมายความว่า ภาวะไร้น้ำใจจะเป็นเอกลักษณะของเขาไปเสีย
แต่เป็นเพราะรู้ดีว่าลินตาสไม่ได้มีชีวิตที่จะต้องเลี้ยงดูหนึ่งหรือสองคน
ทว่าลินตาสวันนี้มีพนักงานร่วม 160 คน เมื่อใดที่หัวใจของเขายังไม่คลอนแคลนมีหรือที่เรือลำนี้จะอับปาง
และนั่นก็เป็นปรากฏการณ์ที่พ้องกับความเข้าใจของคนทั่วไปว่า กำธรเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นต่อตนเองค่อนข้างสูง
ไม่ว่าเรื่องใดยากหรือง่ายถ้าลองทำแล้วจะต้องสู้กันจนถึงที่สุดเพื่อชัยชนะที่เฝ้าหา
ความเชื่อมั่นอย่างนี้อาจเป็นเพราะ การถูกหล่อหลอมจากครอบครัวที่มีความเป็นพ่อค้าและเป็นครอบครัวที่ผู้นำต้องจากไปขณะที่เขายังมีอายุได้เพียง
3 ขวบเท่านั้น
กำธรเป็นคนที่มีบุคลิกโหวงเฮ้งเปล่งปลั่งบ่งถึงความเป็นผู้มีอันจะกิน และคนที่จะพบแต่วิถีชีวิตของความรุ่งเรืองแต่บางคนบอกว่าเขาเป็นคนที่แฝงความเศร้าปวดร้าวอยู่ในที
ภาวะกำพร้าและความเป็นผู้ชายสั่งสอนให้กำธรเป็นคนที่กล้าและเชื่อมั่นมาตั้งแต่เด็ก
ๆ เขาเติบโตขึ้นมาท่ามกลางมรสุมที่ไร้เสาหลักประคับประคอง แต่นั่นก็เป็นจุดดีเด่นที่ทำให้เขาไม่หวั่นไหวที่จะท้าทายกับความแปลกใหม่ต่าง
ๆ ขอเพียงเพื่อความสำเร็จเท่านั้นเป็นพอ
กำธรอาจเป็นคนที่ความสำเร็จตามรับใช้เขาอย่างจงรักภักดีมาโดยตลอด พอกับที่ลินตาสได้ชื่อว่า
เป็นมหาวิทยาลัยโฆษณาที่เป็นสนามสร้างเสือป้อนสู่วงการอย่างไม่ขาดสาย ทว่าความเป็นจริงอันน่าชื่นชมเหล่านั้นจะมีใครรู้บ้างไหมว่า
กลับเป็นความว้าเหว่าและเงียบเหงาอยู่ในใจลึก ๆ ของกำธรอย่างมากมาย
เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าในชีวิตการสูญเสียที่เขาเสียใจมากที่สุดก็คือ
เสียคนที่เคยร่วมงานกันมา อาจมองได้ว่าความเสียใจนั้นเป็นเพราะลินตาสต้องประสบคู่แข่งที่มีฝีมือเพิ่มขึ้นในตลาด
เพราะถ้าไม่มีการสูญเสียอย่างสืบเนื่องหลายครั้งหลายครา "ลินตาสอาจยิ่งใหญ่เกินไปกว่านี้แล้วก็เป็นได้"
แต่ด้านหนึ่งการเสียคนที่ทำให้กำธรเสียใจเท่ากับเป็นการฟ้องร้องว่า การที่ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำจนนับครั้งไม่ถ้วนย่อมชี้ให้เห็นว่า
ในฐานะหัวเรือใหญ่กำธรล้มเหลวโดยสิ้นเชิงในการบริหาร มันเป็นความล้มเหลวในความสำเร็จของเขากระนั้นหรือ
กำธรได้แต่ปลอบใจตนเองว่า "เขาได้ทีดีที่สุดแล้วองค์กรก็ถูกจัดวางแบบแผนปฏิบัติเป็นอย่างดีแล้วช่วยไม่ได้หากจะมีใครคิดเป็นปลาใหญ่ในหนองน้ำเล็ก"
แต่คำปลอบใจเท่ากับเป็นคำถามที่ท้าทายอย่างชะงัดว่า ในข้อต่อของกาลเวลาที่ลินตาสจะต้องใหญ่
และเผชิญหน้ากับคู่แข่งที่แข็งแกร่งมากขึ้นหากสภาวะมันสมองไหลล่องยังปรากฏขึ้นบ่อย
ๆ ความยิ่งใหญ่ของลินตาสเป็นไปได้ไหมที่จะรอวันบุบสลาย"
และเท่ากับเป็นการพิสูจน์ตัวของกำธรเองว่า ที่เขายอมรับว่าเหนือฟ้านั้นมีฟ้า
และเหนือความสามารถของการเป็นนักโฆษณามือทองยังมีงานที่ลองของความสามารถของเขายากยิ่งกว่า
งานนั้นก็คือการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ตัวเขาเองเปรยว่า "ผมไม่อยากเห็นมันเกิดขึ้นอีก"
ครั้งที่เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการที่เป็นคนไทยคนแรก กำธรได้รับของขวัญชิ้นหนึ่งจากนายเก่าเป็นรูปปั้นกวางสีเขียว
แล้วก็บอกกับใคร ๆ เป็นสุภาษิตฝรั่งของขวัญชิ้นหนึ่งจากนายเก่าเป็นรูปปั้นกวางสีเขียว
แล้วก็บอกกับใคร ๆ เป็นสุภาษิตฝรั่งบนหนึ่งว่า "THE BUCK STOP HERE"
อันบ่งถึงความหมายว่า งานทุกอย่างถ้ามาอยู่บนโต๊ะนายใครจะรับผิดชอบไม่ได้
นายต้องเป็นคนรับผิดชอบคนเดียว
ดังนั้นงานทุกชิ้นถ้ากำธรมีเวลาเหลือพอที่จะไม่ถูกจับจ่ายไปกับการเดินทาง
เขาเป็นต้องลงไปคลุกคลีตีโมงกึ่งประสานความคิด และความบคุมดูแลอย่างใกล้ชิดที่สุด
และยังใจกว้างพอที่จะเปิดประตูห้องทำงานไว้ต้อนรับพนักงานทุกคนตลอดเวลา ทว่าสุดท้ายของการตัดสินจะอยู่ที่เขาเป็นตัวเด็ดขาด
บ่อยครั้งทีเดียวเขามักมีความคิดแย้งขัดกับงานด้านครีเอทีฟ เนื่องจากแนวคิดบริการลูกค้าของเขา
มุ่งเน้นการส่งเสริมการขายที่ตรงเป้าผู้บริโภคเป็นหลัก แนวคิดองคนทำโฆษณาที่ต้องการ
สร้างสรรค์งานให้ดีจากที่เป็นอยู่ใช่ว่าเขาจะไม่ยอมรับเสียทีเดียว แต่น่าเสียดายที่ไม่อาจรับไว้ได้ทั้งหมดเพราะผลสรุปกำธรบอกว่าตราบใจที่เขายังผูกพันกับลินตาสอยู่
ผลสำเร็จของงานโฆษณาไม่ใช่รางวัลประกวดแต่ต้องทำให้สินค้าของลูกค้าขายได้มาก
ๆ
กำธรได้รับบทเรียนที่ว่านี้มาแล้วกับบริษัทโฆษณาสปรินท์ บริษัทโฆษณาที่มีหลักการทำงานที่ว่า
"WHEN WE CREATE A CONCEPT, WE CREATE A FUTURE" แนวคิดการแยกสปรินท์อกจากลินตาสเพือ่รับงานบางประเภทที่ลินตาสไม่อาจรับได้นั้นแม้จะเป็นเรื่องที่ดี
ทว่ากับความผันผวนของตลาดโฆษณาเมืองไทยหลายคนบอกว่าสปรินท์เกิดเร็วเกินไป
เกิดโดยที่ยังไม่แก่ตัวเต็มที่จนต้องถึงฉากสุดท้ายอย่างน่าสลดหดหู่
บิลลิงของสปรินท์ถีบตัวสูงขึ้นถึง 67% ในปี 2526 จากที่เคยมีเพียง 42 ล้านบาทในปี
2525 ความสำเร็จนั้นดูเหมือนว่า กำธรกับกิตติซึ่งเป็นมือดีคู่ใจอีกคนหนึ่งจะหลงไหลได้ปลื้มเอามาก
ๆ แต่ก็เป็นคราวเคราะห์เมื่อปีถัดมาสปรินทร์ต้องเสียลูกค้ารายใหญ่ 2 รายที่มีปัญหาด้านการเงินไปคือสวนพลูพาเลซกับที.เจ.
บิลลิงที่เสียแม้จะเป็นเงินเพียง 18 ล้านบาทแต่เปรียบเทียบกับบริษัทเล็ก
ๆ อย่างสปรินท์ก็อยู่ในขั้นตกเลือกน่ากลัวยิ่งนัก
สปรินท์ซวนเซบอบช้ำจนรั้งไม่อยู่ที่สุดกำธรจำต้องยอมรวมกลับมาไว้ที่ลินตาสเหมือนเดิม
เรื่องนี้แม้ว่าตัวเขาจะไม่ยอมรับเสียทีเดียวว่า "เป็นความล้มเหลว"
โดยอ้างเหตุผลบางประการที่ว่าเป็นเรื่องของวัฎจักรที่มีเกิดก็ต้องมีดับ แต่กรณีเดียวกันนี้ถูกยกขึ้นมาเป็นกรณีศึกษาของคนในวงการโฆษณาอยู่บ่อย
ๆ
"คุณกำธรแกอาจลืมไปว่า การที่ดึงคนบางส่วนของลินตาสไปเทคแอคเคาท์ของสปรินท์ที่มีขนาดเล็กกว่านั้นในแง่ความรู้สึก
และการให้บริการก็แตกต่างกันมากทีเดียวอีกอย่างการตั้งอัตราเงินเดือนของสปรินท์
โดยใช้หลักเดียวกับลินตาสถึงจะเป็นการสร้างกำลังใจที่ดี แต่เมื่อบิลลิงมีปัญหาก็ต้องปิดฉาก"
คนที่เคยร่วมงานกับเขากล่าว
แต่ถ้าพูดถึงความสำเร็จอันโดดเด่น และยิ่งใหญ่ของ "ลินตาส" ที่ครองความเป็นหนึ่งอย่างเหนียวแน่นต้องยอมรับว่ามากทีเดียวเกิดจากฝีมือและมันสมองอันเข้มข้นของกำธร
ย้อนกลับไปเมื่อครั้งแรกเริ่มลินตาสด้วยพนักงานเพียง 40 คนในปี 2513 สภาพ
5 ปีแรกของลินตาสตกที่นั่งกระอักเลือกไม่น้อย ดีที่มีฐานสินค้าลีเวอร์คอยพยุง
จุดพลิกผันของ "ลินตาส" ก้าวมาพร้อมกับการที่กำธรได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการผู้จัดการในปี
2519 เมื่อสามรถชิงลูกค้ารายใหญ่อย่างโอวัลตินและสีไอซีไอ. มาได้สำเร็จพร้อมกับงานโฆษณาบางส่วนให้กับเชลล์
จอห์นสัน และสยามซีเมนต์ ลูกค้าเหล่านี้ทำให้ลินตาสลืมตาอ้าปากได้อย่างที่ตั้งใจ
แน่นอนสินค้าเหล่านี้หลั่งไหลเข้ามาด้วยฝีมือการเจรจาอย่างถึงลูกถึงคนของกำธรปัจจุบันก็ใช่ว่าเขาจะวางมือเสียทีเดียว
ลูกค้าเหล่านี้ถ้าเขามีเวลาอยู่บ้างจะต้องออกไปพบปะพูดคุยด้วยตนเองเสมอ ๆ
และนี่เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ว่าทำไมเมื่อเสียมือดี ๆ กำธรจึงไม่หวั่นไหว
ทั้งนี้เพราะเข้าใจลึกซึ้งดีกว่าตัวเขาเองนั้นพร้อมเสมอที่จะเป็นซุปเปอร์ซับ
(ตัวสำรองชั้นดี) ที่มีประสิทธิภาพไม่ยิ่งหย่อนหรืออาจดีกว่าตัวจริงเสียด้วยซ้ำไป
กำธรได้เปรียบคนโฆษณาอื่นอยู่บ้างตรงที่ว่า ช่วงหนึ่งของการทำงานได้ผ่านการเพาะบ่มความเจนจัดด้านการตลาดมาบ้างกับลีเวอร์ฯ
จึงทำให้ล่วงรู้ลึกซึ้งว่าจะเข้าไปคุมหัวใจลูกค้าไม่ให้หนีหายไปไหนได้อย่างไรก็เป็นเรื่องที่ยอมรับกันว่า
ลินตาสไม่ค่อยเสียลูกค้าในแต่ละปีมากนักมีแต่จะได้เพิ่มเข้ามา ถึงกับทำให้ความหวังที่จะเพิ่มบิลลิงปีนี้ให้ได้ไม่น้อยกวา
800 ล้านบาท
ความหวังนี้กำธรยิ้มก่อนตอบอย่างสบาย ๆว่า เป็นเรื่องที่สบาย ๆ เหลือเกิน
ถึงแม้เรื่องงาน อาจไม่มีใครลวงหลอกเขาได้ง่าย ๆ แต่เรื่องส่วนตัวเขากลับได้ชื่อว่าเป็นคนที่ถูกต้มจนเปื่อยมากที่สุดคนหนึ่งในชีวิตนี้ของเขาเคยถูกหลอกอย่างจังถึง
3 ครั้ง 3 หน
หนึ่ง - ตอนที่ได้เป็นกรรมการผู้จัดการที่เป็นคนไทยแรก และมีอายุน้อยที่สุดถึงจะรู้ตัวล่วงหน้ามาบ้างแล้วว่าต้องสวมหัวโขนบทนี้แต่ก็ไม่อาจระงับความดีใจไว้ได้ดังนั้นเมื่อจู่
ๆ กลับได้รับหนังสือขอลาออกจากกรรมการทุกคน ทำให้ตกอกตกใจตื่นต้องรีบโทรศัพท์ไปสอบถามทันทีว่า
"เป็นความจริงหรือเปล่า"
นั่นล่ะจึงถึงบางอ้อว่าเพื่อนพนักงานกุเรื่องขึ้นมาล้อเล่นในวัน APIRL
FOOL'S DAY (1 เมษายน)
สอง - เช้าวันหนึ่งที่อากาศสดใสระหว่างที่นั่งรถมาทำงาน จากการที่เป็นหนอนรายการของจิม
เดวิดสัน ขณะที่ฟังรายการอยู่เพลิน ๆ เสียงจิมก็ประกาศขึ้นว่าได้เวลา 08.00
น. แล้ว กำธรตกใจตื่นจากภวังค์ที่กำลังเคลิบเคลิ้มโดยไม่ทันได้ดูนาฬิกาข้อมือเขารีบโทรศัพท์เข้าสำนักงานเพื่อสั่งงานทันที
นั่นล่ะจึงถึงได้รู้ว่าเวลานั้นเพิ่งแค่ 7 โมงเช้าเท่านั้นเอง และวันนั้นก็เป็นวันที่
7 เมษายนอีกครั้ง
สาม - เขาพยายามทำตัวเป็นศิลปินอารมณ์ละเมียดละไมด้วยการหันมาสะสมของเก่า
เสาร์-อาทิตย์หากไม่ต้องพาครอบครัวไปพักผ่อนชายทะเลหรือเข้าครัวเป็นพ่อครัวหัวป่าก็ให้กับเพื่อนฝูง
จะต้องปลีกเวลาไปหาของเก่ามาเก็บ
เขาเคยอวดเครื่องลายครามชิ้นแรกที่ได้มาว่าเป็นของที่มีอายุหลายร้อยปี
แต่เมื่อให้คนที่เชี่ยวชาญในเรื่องนี้ดูจึงได้รู้ว่า "ถูกต้มอีกแล้วเพราะของเก่าชิ้นนี้อายุอาจน้อยกว่าคนที่เจ้าของและกำลังหลงใหลเสียอีก"
กำธรพูดสำเนียงไทยไม่ชัดเท่าไรนักเขาเป็นคนที่ไม่สามารถ PLANING เวลาเป็นของตัวเองได้
ยิ่งในระยะหลังด้วยแล้วต้องปล่อยให้เคลื่อนไหลไปตามจังหวัดงาน ไม่สามารถไปพักผ่อนหรือเล่นเทนนิสกับลูก
ๆ ได้ แต่ยังคงฝีมือการทำสปาเก็ตตี้และสุกี้ยากี้ที่เป็นหนึ่งไม่รองใคร เขาดีมาก
ๆ ตรงที่ไม่ดื่มและสูบบุหรี่ใด ๆ ทั้งสิ้น
กำธรมีน้องสาวที่กำลังเป็นนักการตลาดมือทองคนหนึ่งคือ กรรณิการ์ ชลิตาภรณ์
(ครือลีเวอร์ฯ) เขารักน้องคนนี้มาก เมื่อตัวเองเรียนจบปริญญาตรีจากโคโรลาโด
ก็สนับสนุนให้กรรณิการ์ไปเรียนต่อทันทีครอบครัวเขามีพื้นฐานการค้าด้านส่งออกที่มีแม่เป็นคนกุมบังเหียน
เขาเป็นศิษย์เก่าอัสสัมชัญที่มีประวัติการเรียนดีมาตลอด สอบติดอันดับ 1
ใน 5 เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะด้านภาษาด้วยแล้วเป็นตัวเอ้เลยทีเดียว ในกลุ่มนี้มีเพื่อนรักที่ต่างได้ดิบได้ดีในปัจจุบันนี้หลายคนเช่น
ดร.สาธิต อุทัยศรี คนดังแบงก์กรุงเทพ สุนทร อรุฌานนท์ชัย อดีตกรรมการผู้จัดการแบงก์มหานคร
และธวัชชัย ซอโสตถิกุล ทายาทคนสำคัญของนันยาง
จริง ๆ แล้วเขาใฝ่ฝันที่จะเป็นวิศวกรมากกว่าคนโฆษณา ตอนสอบเทียบ ม.8 ได้ในขณะที่เรียน
ม.6 ตั้งใจจะเป็นนิสิตวิศวแต่ทนแรงชักชวนของเพื่อน ให้ไปสอบเป็นนักศึกษาคณะศิลปศาสตร์รุ่นแรกของธรรมศาสตร์ไม่ได้แต่ก็เรียนที่ธรรมศาสตร์ได้เพียง
6 เดือนเท่านั้น ความร้อนรุ่มอยากจะเป็นนักเรียนนอกก็ชักพา ให้ไปเรียนต่อที่จูเนียร์คอลเลจ
หรือที่เปลี่ยนมาเป็นโคโรลาโด ยูนิเวอร์ซิตี้ จนจบปริญญาตรีเมื่ออายุเพียง
21 ปี
เขาภาคภูมิใจมากกับการเป็นนักเรียนนอก มักพูดคุยเรื่องนี้ด้วยอารมณ์ยิ้มแย้มเสมอว่า
ตอนเรียนต้องช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง หาเงินใช้ด้วยการไปเป็นเด็กรับจ้างล้างจานหรือไม่ก็วิ่งขายฮอทดอก
ขายไอสครีมมันเป็นความแปลกที่คนอย่างเขาได้สัมผัส
เส้นทางชีวิตค่อนข้างราบรื่นมากหลังกลับเมืองไทย ก็สมัครเข้าทำงานในตำแหน่ง
TRANIEE MANAGEMENT กับลีเวอร์ฯ ตำแหน่งนี้คนที่เคยผ่านลีเวอร์ฯ ย่อมรู้ดีทุกคนว่า
เป็นตำแหน่งที่ฝึกความอดทนในการทำงานให้มากน้อยเพียงใด อยู่ลีเวอร์ฯ เพียง
2 ปี ก็ลาออกในตำแหน่งสุดท้ายที่เป็น SALE ADMIN
ปรีดา ชนะนิกร ปรมาจารย์การส่งออกสมัยที่ยังเป็น ACCOUNT DIRECTOR กับบริษัทโฆษณาแมคแคน
อีริคสัน เป็นคนแรกที่ยั่วยุให้เขาเข้าไปปลาบปลื้มสนุกและเจ็บตัวกับงานโฆษณา
โดยที่คนถูกชวนยังไม่รู้เลยว่าโลกของงานโฆษณานั้นจะมีความซับซ้อนเพียงไร
เข้าทำงานในตำแหน่ง ACCOUNT DIRECTOR ที่แมคแคน อีริคสัน ถือสินค้าชื่อดังหลายรายไม่ว่าจะเป็นเนสท์เล่
ริชาร์ด สัน-วิคส์ หรือชีสด์เดอร์พอน ได้เรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์ความชำนาญงานด้านนี้เพียง
2 ปีที่แมคแคนฯเมื่อลีเวอร์ฯตั้ง "ลินตาส" จึงถอนสมอกลับรังเดิมเป็นพนักงานรุ่นบุกเบิกทันที
เขาทำหน้าที่ไคลน์ เซอร์วิส (CLIENT SERVICE) แผนกที่ลินตาสให้ความสนใจเป็นพิเศษเพราะถือเป็นทัพหน้าในการทะลวงใจลูกค้า
ด้วยความสามารถที่แสดงออกเพียง 5 ปีของการทำงานจึงได้รับเลื่อนขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการที่มีอายุน้อยที่สุดของงานโฆษณาในขณะนั้น
(31 ปี)
กำธรตักตวงความสำคัญงานด้านโฆษณาที่พลัดหลงเข้ามาสัมผัสอย่างไม่ตั้งใจกับ
"ลินตาส" อย่างไม่คิดที่จะหนีย้ายไปไหนลำดับความรุ่งโรจน์ของหน้าที่การงานจากกรรมการผู้จัดการ
ก็ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานฯ และผู้ประสานงานภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ที่ต้องดูแลทุกบริษัทในเครือลินตาสทั่วภูมิภาคนี้
สุดท้ายที่ผ่านพ้นไปหมาด ๆ ก็ได้รับเลื่อนขึ้นเป็นกรรมการบริหารของบริษัทแม่ในอเมริกา
ตำแหน่งที่ยังไม่มีคนเอเชียคนไหนจะเคยได้รับมาก่อน และไม่แน่นักว่าจะมีคนโฆษณาคนไหนจะสามารถทำได้อย่างเขาอีกหรือไม่
ภายให้องทำงานสีแดงเพลิงกำธร ต้องชื่นชมกับภาพวาดรูปดินสอซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ
"ลินตาส" พุ่งทะลุโลกตรงตำแหน่งประเทศไทยอยู่เสมอ ๆ เป็นภาพวาดแสดงความยินดีที่เพื่อนพนักงานทำให้คราวที่ได้รับแต่งตั้ง
เป็นกรรมการบริษัทปีที่ผ่านมา
ภาพนั้นประกาศให้ชาวโลกรู้ว่า คนไทยไม่เคยอาภัพในฝีมือ
และภาพนั้นก็เป็นการ ย้ำเตือนให้รู้ว่า นับว่าอุตสาหกรรมโฆษณาในประเทศไทยมีแต่จะขยายใหญ่ขึ้น
กลายเป็นแขนงงานที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โฆษณาเป็นส่วนจำเป็นของชีวิตตั้งแต่หลับจนตื่น
ในการขยายตัวนี้ "ลินตาส" จะต้องแผ่ขยายความสำเร็จเป็นเงาตามตัวไปด้วยและนั่นก็เป็นเป้าหมายที่ทำให้ใครต่อใครพากันจ้องที่จะล้มลินตาสลงให้จงได้
กำธรเองก็รู้แก่ใจเป็นอย่างดีว่า เขาและลินตาสมาถึงจุดที่ต้องพยายามรักษาความเป็นหนึ่งไว้
จะพลาดไม่ได้ล้มไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีกันแล้ว
เขาบอก กรุงเทพฯ และประเทศไทยเปลี่ยนแปลงตลอดมา จากสมัยโกร๊กจนถึงคาเธ่ย์
มาแกร้นท์ ไม่เคยมีอะไรหยุดนิ่ง ไม่เคยมีอะไรแน่นอน แต่สิ่งหนึ่งที่เขาอยากให้มันแน่นอนเห็นจะเป็นความยิ่งใหญ่ของ
"ลินตาส" ที่จะธำรงสภาพดั่งปัจจุบันนี้ไปจนอสงไขย
ทุกอย่างอาจเปลี่ยนไปตามกาลเวลาแต่ "ลินตาส" ที่เป็นหนึ่งจะต้องไม่แปรเปลี่ยนไป
ไม่เช่นนั้นแล้วกำธรอาจได้ฤกษ์กินยาแอสไพรินเม็ดนั้น แอสไพรินเม็ดที่เขาไม่เคยต้องการให้ร่วงหล่นลงไปอยู่ในกระเพาะ