ทนง ลี้อิสสระนุกูล รุ่นที่ 3 ปลดเปลื้องอาถรรพณ์


นิตยสารผู้จัดการ( สิงหาคม 2530)



กลับสู่หน้าหลัก

คนจีนถือว่าความรุ่งเรืองของธุรกิจ จะไม่พ้นรุ่นที่ 3 กลุ่มสิทธิพลของ "ลี้อิสสระนุกูล" ซึ่งยิ่งยงอยู่ในแวดวงอุตสหกรรมยานยนต์ มาหลายสิบปี ได้ก้างมาถึงรุ่นที่ 3 แล้วในวันนี้ และเป็นรุ่นที่ 3 ที่เปลี่ยนแปลงในการทำการค้าอย่างมากมายภายใต้การนำของ "ทนง ลี้อิสสรุนุกูล" ทายาทคนโตของกลุ่มอนาคตของกลุ่มสิทธิผลจะเป็นไปเช่นไรหนอ

วัยหนุ่ม 27 ปีของเขาโลดแล่นท้าทายไปกับ "ความเร็ว" เสียทุกเรื่องจนเป็นบทสรุปสั้นๆ ของชีวิตแล้วว่า "ความเร็วไม่ใช่มัจจุราชที่จงใจมอบความตายเพียงถ่ายเดียว หากได้สอนให้เกิดความหนักแน่น สุขุมและแน่วแน่ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตไม่น้อยไปกว่ากัน"

รถสปอร์ตสีดำในความรู้สึกที่เข้มแข็งบึกบึน ปราดเปรียวและงามสง่า กับความเร็วของเข็มไมล์ที่ไม่ควรต่ำกว่า 160 กิโลเมตร/ชั่วโมงบนไฮเวย์สายไหนก็ได้ที่อยู่นอกเหนือการควบคุม-นั่นเป็นความสุขที่เขาอยากเสพย์โดยไม่ใส่ใจกับ "ความตาย" หรือ "ความพิการ" ของร่างกายที่อาจมาเยือนอย่างฉับพลัน

เขารักรถเป็นชีวิตจิตใจ ปัจจุบันมีรถใช้ส่วนตังถึง 6 คันคือ กาแลนท์ซิกมา MITSUBISHI STARIO BMW.316 นิวแลนเซอร์ รถแข่งแรลลี่ LANCER TERBO และ MITSUBISHI DEBONAIR ซึ่งเป็นรถที่ผลิตขึ้นเพียง 9 คันเท่านั้นในโลกและมีเพียงคันเดียวในเมืองไทย รถทุกคันเขาเจาะจงสีดำเป็นพิเศษเพราะมันดูฉกาจฉกรรจ์ดี

MITSUBISHI DEBONAIR เป็นรถสำหรับบุคคลระดับ EXECUTIVE ที่คุณปู่เขาได้รับเมื่อ 20 ปีก่อนในฐานะประธานบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์มิตซูบิชิในเมืองไทย โชคดีผ่านมาสู่มือเขาเป็นของขวัญในวันแต่งงานเพราะเป็นหลานคนเดียวที่ใกล้ชิดและเป็นที่รักใครของปู่มาตั้งแต่เด็ก ๆ

หลายคนอาจรู้จักเขาบ้างในฐานะนักแข่งรถอาชีพคนหนึ่ง ที่ผ่านความโลดโผนขับเคี่ยวความเร็วในสนามประลองมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่ปัจจุบันหลายคนได้รู้จักเขาในฐานะทายาทรุ่นหลายคนแรกของ "ลี้อิสสระนุกูล" ที่กระโดดเข้ามารับผิดชอบธุรกิจของตระกูลในวัยเพียง 24 ปีเท่านั้น

อาจเร็วเกินไปในความรู้สึกนึกคิดของบางคน แต่เขาย้ำ - ด้วยความเชื่อมั่นว่า "ดีเสียอีกที่ส่งผมมารับตำแหน่งสูง ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย ๆ ทำให้ได้เปรียบที่จะเรียนรู้งานในมุมกว้างและสั่งสมความชำนาญอีกหลายสิบปี เมื่อถึงวันที่น้อง ๆ กลับมาจากเมืองนอก มาร่วมงานเป็นทีมครบทุกคน เราจะพิสูจน์ให้รู้ว่ารุ่นที่ 3 ไม่ใช่เป็นรุ่นที่นำความหายนะมาสู่ธุรกิจของตระกูลอย่างที่คนจีนเก่า ๆ เชื่อถือกันมา"

"ลี้อิสสระนุกูล" อาจไม่รู้จักกว้างขวางเหมือนตระกูลธุรกิจบางกลุ่ม แต่ถ้าเอ่ยถึง "กลุ่มสิทธิผล" หรือ "สิทธิผลมอเตอร์" เป็นที่ยอมรับกันมากในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีบริษัทในเครือนับสิบบริษัท นอกเหนือไปจากเป็นผู้ประกอบและจำหน่ายรถยนต์ "มิตซูบิชิ" แล้วยังเป็นเจ้าของโรงงานผลิตยางรถจักรยานยนต์ใหญ่ที่สุดของประเทศ-ไออาร์ซี เจ้าของโรงงานผลิตหลอดไฟและโคมไฟสำหรับยานพาหนะทุกชนิด-ไทยสแตลนเลย์การไฟฟ้า

"ลี้อิสสระนุกูล" ผ่านยุคของการตั้งตัวที่ค่อนข้างจะโชคดีมาแล้วในสมัยของกนกลี้อิสสระนุกูล (คุณปู่รุ่นที่ 1) ที่จับพลัดจับพลูได้เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ "มิตซูบิชิ" เมื่อปี 2504 แล้วตามเก็บดอกผลความสำเร็จอย่างยั้งไม่หยุดในยุคที่ 2 รุ่นของปริญญาลี้อิสสระนุกูล วิทยา ลี้อิสสระนุกูล และกัลยาณี พรรณเชษฐ์ ซึ่งเป็นรุ่นลูกที่มีการขยายตัวเข้าไปลงทุน "INVESTMENT) ในธุรกิจต่าง ๆ อีกหลายสิบประเภทอย่างไม่หยุดหย่อน

"ลี้อิสสระนุกูล" ก้าวมาถึงรุ่นที่ 3 แล้วภายใต้การนำของ "ทะนง ลี้อิสสระนุกูล" ลูกชายคนโตของวิทยาคนหนุ่มที่ชมชอบวัดความเสี่ยงด้วย "ความเร็ว" เขาต้องทำหน้าที่เป็นข้อต่อสำคัญที่จะปลดเปลื้องอาถรรพ์ของคำทำนายแต่เก่าก่อนได้หรือไม่

วิทยาพ่อของทนงแม่แรงคนสำคัญของรุ่นที่สองเก่งมากในการดูโหงวเฮ้ง ก่อนทำสัญญาการค้ามักเสียเวลาไม่น้อยต่อการดูโหงวเฮ้งคู่ค้า เมื่อวิทยาส่งมอบกิจการให้ทนงก็พร้อมด้วยความั่นใจที่ผ่านการดูโหงวเฮ้งแล้วว่า เขาจะต้องเป็นผู้สืบสานภารกิจของตระกูล ให้พุ่งทะยานไปสู่ความสำเร็จได้แน่นอน

มันเป็นโซ่ตรวนที่ผูกมัดเขาไว้แล้วห่วงหนึ่ง

ทนงผ่านการหล่อหลอมความคงทนในการเป็นพ่อค้ามาตั้งแต่เล็ก ๆ จากปู่ที่ถ่ายทอดเคล้ดวิชาอย่างหมดไส้หมดพุง เขาผูกพันกับปู่มาก ขนาดที่ยอมนั่งในตำแหน่ง TOP EXECUTIVE ของบริษัทสิทธิผล 1919 จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ไม่ค่อยมีคนคุ้นชื่อมากนัก หากแต่เป็นบริษัทแรกที่ปู่ตั้งขึ้นมา

หน้าที่ของเขาในวันนี้จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะพัฒนา "สิทธิพล 1919" ให้เป็นเสาหลักของกลุ่มสิทธิผลได้อีกต่อไปอย่างไม่คลอนแคลน และนี่ก็เป็นห่วงโซ่อีกห่วงที่รัดรึงเขาเอาไว้ สมบัติชิ้นสำคัญของปู่ที่ตายจากไปแล้วจะรุ่งโรจน์หรือล้มเหลว-เขานั้นแหละตัวกำหนด

ทนงเข้ารับผิดชอบธุรกิจของกลุ่มโดยเริ่มงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการกับบริษัทอินโนเว รับเบอร์ (ผู้ผลิตยางไออาร์ซี) หลังจากเรียนจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจการค้าจากมหาวิทยาลัยนานซาน ประเทศญี่ปุ่น เหตุที่ต้องเริ่มงาน ณ ที่นี้เป็นเพราะช่วงเรียนเขาเคยผ่านการฝึกงานที่อินโนเว รับเบอร์ ประเทศญี่ปุ่นมาก่อน

เขารู้ตัวดีว่าต้องพบกับแรงกดดันในหลาย ๆ ด้าน อย่างน้อยต้องสำแดงฝีมือให้เป็นที่ยอมรับทั้งผู้บริหารฝ่ายญี่ปุ่นที่ถูกส่งเข้ามาช่วยเหลือและพนักงานหลายร้อยคนที่เฝ้ามองว่า "คนอย่างเขาจะถึงครึ่งหนึ่งของพ่อหรือเปล่า"

ปีแรกที่เริ่มต้นทำงานจริงจังก็เป็นปีที่ทำให้เขาหัวแทบระเบิด เพราะสถานการณ์ช่วงนั้นอยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาทและค่าเงินเยนเกิดการแข็งกระด้างอยางกะทันหัน ทำให้ธุรกิ่จของกลุ่มสิทธิผลที่เกี่ยวพันกับญี่ปุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ต้องตกอยู่ในสภาพของคนที่เป็นอัมพาตไปครึ่งตัว

ช่างเป็นการท้าทายความสามารถอย่างน่าหวานอมขมกลืนเสียนี่กระไร

เขาต้องเข้าควบคุมงานอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นด้านการผลิต การตลาด การเงิน และไม่รีรอที่จะปรับเปลี่ยนระบบบริหารภายในแบบยกเครื่อง เขากร้าวพอที่จะสลายความสัมพันธ์ของการทำงานแบบครอบครัวที่ปลูกฝังกันมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นพ่อ ด้วยการอัดฉีดระบบบริหารสมัยใหม่เข้าไป มีการรับสมัครพนักงานวัยหนุ่ม-สาวจนแทบเรียกได้ว่าพนักงานของบริษัทตั้งแต่ระดับบริหารยันคนงานเฉลี่ยแล้วมีอายุไม่เกิน 25 ปี

"ผมรู้ว่าความคิดของเขาค่อนข้างเสี่ยงต่อการร้าวฉานกับคนเก่า ๆ เป็นอันมาก แต่คนคนนี้ชอบที่จะทำอะไรอย่างรวดเร็วไม่รั้งรอ ก็ดีที่เขาพยายามปรับความเข้าใจกับพนักงานเก่า ๆ ที่มีอายุมาก ๆ ได้อย่างแสนสนิทจนไม่มีปัญหาในการทำงาน" ปิติ มโนมัยพิบูลย์ แห่งไทยคาวาซากิ เล่าให้ฟัง

ถึงวันนี้เขาบอกตัวเองได้แล้วว่าการตัดสินใจในครั้งนั้นไม่ผิดแม้แต่น้อย เพราะสถานการณ์ของอินโนเวฯ หายใจได้คล่องขึ้นตามลำดับ สามารถทำกำไรได้มากกว่ายุคก่อน ๆ ถึงปีละไม่น้อยกว่า 30% และกำลังรุกไปข้างหน้าด้วยการส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศในเร็ว ๆ นี้

ระหว่างที่อาการของอินโนเวฯกะปลกกะเปลี้ยการเป็นนักขับรถแข่งยังประโยชน์ต่อการทำงานไม่น้อย เพราะเขาจะขับรถไปตรวจงานและเยี่ยมเยียนลูกค้าทั่วประเทศด้วยตนเอง จึงทำให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับลูกค้าได้อย่างสนิทใจ และยังทำให้ได้ข้อมูลที่เป็นจริงเพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงได้ถูกจุด

นั่นเป็นข้อสรุปที่บอกเขาว่า เพราะความเป็นตีนผีไฮเวย์ทำให้ยางไออาร์ซีเป็นผู้ครองตลาดได้ในปัจจุบัน

เขาหลงไหลความเร็วและเชื่อมั่นในความเร็วทุกเรื่องจริง ๆ แม้แต่การแต่งงานก็เป็นไปอย่างรวดเร็วเพียงเวลาไม่ถึง 1 ปีที่ไปกล้อมแกล้มจะซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จนได้สนิทชิดเชื้อกับกนกวิภา วิริยะประไพกิจทายาทสาวของ "สหวิริยากรุ๊ป"

เป็นที่น่ามองมากกว่า เดิมที "ลี้อสสระนุกูล" บนถนนการค้านั้นค่อนข้างโดดเดี่ยวไม่มีความสัมพันธ์กับตระกูลธุรกิจอื่นมากนัก ไม่มีความสัมพันธ์กับตระกูลธุรกิจอื่นมากนักทว่าในรุ่นที่ 3 "ลี้อิสสระนุกูล" เริ่มต้นที่จะสร้างฐานความแน่นหนานั้นแล้ว

"ทนงเป็นคนบ้าบิ่นและถือดีในความสามารถอยู่ไม่น้อย" บางคนของวงการยานยนต์พูดถึงเขา

บางทีเขาอาจไม่บ้าบิ่นอย่างเดียว แต่ยังแผลงที่จะกล้าได้กล้าเสียอีกด้วย เพราะ "ลี้อิสสระนุกูล" ในรุ่นก่อนนั้นไม่กล้าพอที่จะขยายตัวเองออกไปธุรกิจอื่นมากนักแต่ในรุ่นที่ 3 "ลี้อิสสระนุกูล" กำลังจะแหกคอก DIVERSIFY ตัวเองออกไปยังธุรกิจแนวอื่นดูบ้าง

อย่างแรกก็คือ การลงทุนทำสตูดิวโอที่ได้มาตรฐานที่สุดในเอเชีย ทนงหวังไว้มากกว่าสตูดิวโอที่จะเปิดตัวในเดือนตุลาคมแห่งนี้จะเป็นโปรดักชั่นเฮ้าส์ที่มีความเพียบพร้อมที่สุด เขาทุ่มเทให้กับงานนี้เป็นเงินไม่น้อยกว่า 100 ล้าน เหตุที่เขาเสี่ยงลงทุนเป็นเพราะว่า "ผมไม่เคยพอใจงานโฆษณาของกลุ่มสิทธิผลที่ออกมาเลย"

ก็เป็นที่รู้กันเงียบ ๆ ว่าทนงมีความเป็นนักโฆษณาอยู่ในตัวไม่น้อย ปฏิทินโฆษณาของยางไออาร์ซี ที่คัดเลือกเอานางแบบสาวประเภทปลุกใจเสือป่า มาเป็นแบบ จนเป็นที่ฮือฮาไม่แพ้ปฏิทินแม่โขงก็เป็นแนวคิดของเขาเช่นกัน เขาบอกว่า "ขายสินค้าประเภทนี้ต้องโฆษณาให้มันหวาดเสียวอย่างนี้ลูกค้าจึงจะชอบ"

ทนงคิดที่จะปรับฐานะของบริษัทสิทธิผล 1919 ซึ่งปัจจุบัน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายขายให้กับสินค้าของบริษัทในเครือ (ยกเว้นรถยนต์มิตซูบิชิ) ให้ทำหน้าที่เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วยการเป็น "เทรดดิ้ง คัมปะนี" ในอนาคตอันใกล้ ซึ่งฝันอันนี้เขาบอกว่าเป็นสุดยอดของการท้าทาย

แน่ละคนอื่น ๆ ก็เฝ้ามองเหมือนกันว่าความบ้าบิ่นของเขากำลังจะขุดหลุมฝังตัวเองหรือไม่

คนในวงการบอกว่าเหตุที่พ่อ ลุง และน้าของเขายอมรับในการตัดสินใจที่เขาคิดจะลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ก็ด้วยผลงานที่เขาสร้างจนเป็นที่ประจักษ์มาแล้วเมื่อครั้งที่เสนอความคิดให้กลุ่มสิทธิผลร่วมทุนกับบริษัทเถาหยวนไบซิเคิล จากไต้หวันตั้งโรงงานผลิตพรีจักรยานขึ้นมาเป็นรายแรกของประเทศ (บริษัทไทยเซต้า) จนเรียกลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตรถจักรยานมากุมไว้ได้เกือบทั้งหมด

"ถ้าเปรียบเขากับรุ่นที่ 3 คนอื่น ๆในลี้อสสระนุกูล บุคลิกภายนอกอันมาจากรูปร่างที่ดูอุ้ยอ้าย และออกจะเป็นนักซิ่งเหลือกำลังลากนั้น เห็นที่เครดิตส่วนนี้เขาต้องแพ้อย่างไม่เป็นท่า แต่ถ้าคนที่ใกล้ชิดกับตระกูลนี้แล้วรู้กันว่า ทนงนั่นล่ะที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของรุ่นที่ 3 เลยที่เดียว" คนในวงการท่านหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ"

ทนงเคยประสบอุบัติเหตุจนไม่สามารถสอบเข้าเรียนวิศวะ ได้ดั่งใจ แต่เขาก็ยังมีความจำที่ดีเป็นพิเศษ ในบริษัทไทยสแตนเลย์การไฟฟ้าที่เข้าไปเป็นกรรมการผู้จัดการเขาสามารถจำชื่อพนักงานไว้ได้เกือบหมดด้วยเทคนิคง่าย ๆ ที่เปลี่ยนชื่อภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษเพียงตัวเดียว

และนั่นทำให้เขาให้ลืมว่า วันนี้วันนั้นถึงวันเกิดของพนักงานคนใดที่จะต้องมีของขวัญพิเศษให้ทุก ๆ คน

แต่บนถนนความสำเร็จเขากลับมีความลำบากใจไม่น้อยกับการวางตัวติดต่อลูกค้าเนื่องจากสิทธิผลนั้นเป็นตัวแทนรถยนต์มิตซูบิชิ และที่บริษัทในเครืออย่างไทยสแตนเลย์ฯก็เป็นผู้ผลิตไฟยานพาหนะให้กับผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ยี่ห้ออื่น เพื่อเคารพในความลับของลูกค้าที่เขาอาจล้วงรู้ดังนั้นทุกครั้งที่ไปติดต่อเขาจะสวมหมวกของไทยสแตนเลย์ฯเพียงใบเดียว

ทั้ง ๆ ที่เบื้องหลังความสำเร็จของมิตซุบิชิใครบ้างจะไม่เชื่อว่าเขาต้องมีส่วนเกี่ยวข้องเอามาก ๆ เช่นกัน

หรือว่านี่เป็น "จุดบอด" ที่อาจมาเยือนเขาโดยไม่รู้ตัวในอนาคต

"คือความลำบากใจจริง ๆ ที่จะทำให้ทุกคนเชื่ออย่างสนิทใจว่าผมไม่ได้เกี่ยวข้องกับมิตซูบิชิ คู่แข่งของเราเองก็พยายามใช้จุดนี้มาโจมตี ยังดีที่ผู้ผลิตรถยนต์ที่เป็นลูกค้าเขาเชื่อในความจริงใจของผม" เขาบอกกับเราและต้องการให้เชื่อเช่นนั้นด้วย

ทนงเกลียดความฝันในการทำงานแบบอเมริกันที่เพ้อเจ้อตามตำราโดยไม่ใส่ใจกับพฤติกรรมปลีกย่อยและสภาพแวดล้อมของแต่ละแห่ง เขาศรัทธากับการทำงานของคนญี่ปุ่นยุคหลังพ่ายแพ้สงคราม ที่ล้างแค้นความอัปยศอดสูจนมาเป็นผู้ทรงอิทธิพลของโลกการค้าทุกแขนงในปัจจุบัน

วันหนึ่งเขาจะทำงานอย่างทุ่มเทไม่น้อยกว่า 10 ชั่วโมง แต่ก็ยังน้อยเกินไปเมื่อเทียบกับคนญี่ปุ่นที่สละเวลาให้กับงานถึบวันละ 16 ชั่วโมง แต่มันก็มากเกินไปสำหรับคนหนุ่มอย่างเขาที่กำลังหาเวลาให้กับครอบครัวเพื่อสร้างรุ่นที่ 4 ของ "ลี้อิสสระนุกูล" ขึ้นมาบ้าง

งานของเขาเริ่มขึ้นเมื่อเวลา 8 โมงเช้าของทุกวันที่บริษัท สิทธิผล 1919 ชั่วโมงแรกให้กับการอ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ อาจแทรกบ้างเกี่ยวกับนิตยสารยานยนต์ต่างๆ ทั่วโลกที่เขาหาซื้อมาอ่านจนเต็มตู้ในห้องทำงาน จากนั้นใช้เวลาช่วงเช้ารับแขกแล้วเหลือช่วงบ่าย เพื่อตรวจงานตางๆ ในแต่ละวันโดยเฉพาะด้านการเงินที่เขาคุมเอง 4 บริษัทคือสิทธิผล 1919 ไทยสแตนเลย์ฯ ไทยเซต้า และอินโนเว รับเบอร์

เขาแตกฉานภาษาญี่ปุ่นไม่น้อย เคยฝันว่าวันหนึ่งอยากจะแปลหนังสือการบริหารของญี่ปุ่นกับเขาดูบ้าง

ในหนึ่งสัปดาห์ต้องมี 2 วันสำหรับการไปตรวจโรงงาน 3 แห่งที่ปทุมธานี และไม่น้อยกว่า 20 วันของทุกเดือนเพื่อการขับรถไปเยี่ยมเยียนลูกค้าในต่างจังหวัด หน้าที่เขาบอกว่าคงต้องทำโดยไม่รู้เวลาเกษียณเนื่องจากเขาไม่วางใจความเป็นตีนผีของตนเองคนเดียวเท่านั้น

ทนงเป็นคนที่มีอารมณ์ละเมียดละไมอยู่ลึก ๆ ชอบฟังเพลงแจ๊ส บางปีของการทำปฏิทินยางไออาร์ซี เขาอาจเป็นคนเลือกนางแบบด้วยตนเอง แต่ก็น่าแปลกที่ว่ากลับไม่ชอบชีวิตราตรี "บางทีอาจต้องขออนุญาตแฟนออกไปดูบ้าง อาจได้ความคิดหาเงินกับคนย่ำราตรี" เขาเปรยขึ้นเบา ๆ

เขาไม่ค่อยปิดบังชีวิตหรูหราในฐานะทายาทของ "ลี้อิสสระนุกูล" มากนัก นอกจากรถยนต์ใช้ส่วนตัวที่ตกแต่งอย่างเป็นเลิศถึง 6 คันแล้วนั้น เขายังจ่ายเงินส่วนหนึ่งเพื่อซื้อเรือเร็วมาเป็นสมบัติส่วนตัวอีก 1 ลำพร้อมกับความตั้งใจที่ว่า วันหนึ่งจะขับเรือเร็วลำนี้จากกรุงเทพฯไป พัทยาหรือทุก ๆ แห่งที่ใจปรารถนา

ในสมัยเรียนที่ญี่ปุ่นเขาเคยมีรถ MITSUBISHI CORDIA ซึ่งเป็นรถคูเป้ขับเคลื่อนสี่ล้อไว้ใช้สำหรับท่องเที่ยวและหาประสบการณ์ และครั้งหนึ่งเขาก็เคยซื้อ TOYOTA SOARER เครื่อง 2,800 ซีซี. ที่ได้รับสมญาว่าเป็นเบนซ์ญี่ปุ่นมาใช้ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็นรถสปอร์ตที่โตโยต้าผลิตมาเพียง 20 คันเพื่อใช้แข่งที่สนามเมืองนาโกย่า

รถยนต์คันสุดท้ายของเขาในญี่ปุ่น คือ MITSUBICHI STARION เครื่องเทอร์โบ 2,500 ซีซี. ซึ่งเป็นรถสปอร์ตคูเป้ที่ตกแต่งเป็นพิเศษ ที่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องเสียงหรือการสลักชื่อบนเบาะนั่งและพวงมาลัย รถคันนี้นำกลับมาใช้ในเมืองไทยด้วย โดยขับมาทำงานทุกวันเสาร์

ทนงเกิดและเติบโตขึ้นมาท่ามกลางความอบอุ่นของครอบครัว และทุกวันนี้ก็ยังอาศัยรวมอยู่กับครอบครัวที่บ้านหลังใหญ่ย่านถนนจันทน์ สาธุประดิษฐ์ วันอาทิตย์ที่ไม่มีงานยุ่งนักอาจพบเห็นคนหนุ่มร่างอ้วนท้วนขบรถคันหนึ่งคันใดใน 6 คันไปจอดซื้อของที่ฟูจิซุปเปอร์มาร์เก็ต เอกมัย-นั่นแหละเขาล่ะ

ธุรกิจของกลุ่มสิทธิผลวันวานที่ผ่านมายิ่งใหญ่ในความสงบเสงี่ยม แต่ภาระท้าทายความโดดเด่นในรุ่นที่ 3 คงไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว สิทธิผลกับ "ลี้อิสสระนุกูล" ในรุ่นนี้มาดมั่นไปด้วยความเร่าร้อนเอาจริงเอาจังของทายาททั้งหลายโดยเฉพาะเขา-ทะนง ลี้อิสสระนุกูล"

เมื่อวันแรกที่ทนงเข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของบริษัทอินโนเวรับเบอร์ เขามีเพียงห้องทำงานเล็ก ๆ ไม่กว้างใหญ่หรูหรามากนัก บนชั้นที่ 4 ของอาหาคารกนกโสภา ถนนเจริญกรุง ไม่มีแม้กระทั่งเลขาฯหน้าห้องเสียงหวาน ๆ ที่ต้องคอยช่วยเหลือจัดตารางเวลาในการพบปะกับผู้คนต่าง ๆ อย่างเช่นปัจจุบัน

วันนี้เขาถอยลงมาทำงานในชั้นล่างสุดของอาคาร ปรับเปลี่ยนห้องทำงานใหม่ให้ดูวิจิตรงดงามมากมายขึ้น หลายเท่าตัวภายในห้องทำงานตั้งโชว์ด้วยถ้วยรางวัลที่ได้จากการแข่งรถในสนามต่าง ๆ มุมหนึ่งเป็นโต๊ะประชุมสำหรับทีมงานบริหารคนหนุ่มสาวที่เขากำลังสร้างขึ้นมา เพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มสิทธิผลที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

พรุ่งนี้เขาใฝ่ฝันเอาไว้แล้วว่า ภายในอีก 5 ปีข้างหน้ากลุ่มสิทธิผลจะผลิดอกแตกหน่อเข้าไปยังธุรกิจแขนงอื่นให้ครถ้วนเพื่อให้เป็นไปตามนโยบาย 11 ข้อที่ตั้งเอาไว้ให้จงได้ และเมื่อวันนั้นมาถึงห้องทำงานก็อาจถึงคราวขยับขยายเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง !!??



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.